-
Category: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยาม
-
Published on Friday, 26 October 2018 03:39
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 1550
ข้อมูลจากหนังสือ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน
พระสังฆราชผู้ยิ่งใหญ่ ชาวคริสต์ ผู้มีชัยและเป็นผู้ตื่นรู้ในธรรม
ซิสเตอร์ซีมอนนา สมศรี บุญอรุณรักษา เขียน
มิชชันนารีได้ตั้งข้อสังเกตว่า เวลาเข้าเฝ้า สมเด็จพระนารายณ์จะทรงชื่นชมพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นอย่างมาก พระองค์ทอดพระเนตรพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระสังฆราชปัลลือนำมาถวายอย่างสนพระทัย รับสั่งขอมิชชันนารี 2 องค์ จากพระสังฆราชลาโนให้เดินทางไปกับผู้แทนที่พระองค์จะทรงส่งไป พระสังฆราชลาโน ได้เขียนถึงผู้บริหารบ้านเณรที่กรุงปารีสว่า “พระองค์รับสั่งขอพระสงฆ์สององค์เพื่อเป็นผู้นำจดหมายเหล่านี้ไป แม้ว่าการขอของพระองค์จะทำความลำบากให้เรา แต่เราก็ไม่สามารถหาเหตุผลมาปฏิเสธได้ เพราะเป็นหน้าที่ที่เราจะต้องตอบแทนพระเมตตาและพระทัยดีที่ทรงมีต่อพวกเราเสมอมา” พระคุณเจ้าจึงส่งคุณพ่อวาเชต์ และคุณพ่อปัสโกไปกับผู้แทนของสมเด็จพระนารายณ์ โดยให้เหตุผลว่าที่ส่งคุณพ่อวาเชต์ไปก็เพื่อจะได้ไปรักษาโรคนิ่ว ส่วนคุณพ่อปัสโกเป็นคนสุขภาพแข็งแรงจะได้ไม่เป็นปัญหาในการเดินทาง
หลังจากที่ส่งคุณพ่อทั้งสองไปแล้ว พระสังฆราชลาโนไม่ต้องการให้มิชชันนารีทั้งสององค์นี้เดิทางกลับมาที่ประเทศสยามอีก เพราะคุณพ่อปัสโกไม่สามารถปรับตัวได้ นอกนั้น คุณพ่อยังทำตัวไม่เหมาะสม ส่วนคุณพ่อวาเชต์เป็นคนที่ไม่มีความแน่นอน และยังติดสุราอีกด้วย ก่อนออกเดินทางพระคุณเจ้าได้ให้ระเบียบที่คุณพ่อทั้งสององค์จะต้องปฏิบัติ ในระหว่างเดินทาง การพักอยู่ที่กรุงลอนดอนและที่ประเทศฝรั่งเศส
ผู้แทนทั้งสองที่ถูกส่งไปไม่ถือว่าเป็นทูต เพราะสมเด็จพระนารายณ์ไม่ได้มีพระราชสาส์นไปถึงพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ขุนนางทั้งสองคนนี้คือ ออกขุนพิชัยวาลิต และขุนพิชิตไมตรี คนหนึ่งจากกรมอาสาจาม อีกคนหนึ่งจากกรมท่า ในการเดินทางครั้งนี้สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งเด็กหนุ่มจำนวนหนึ่งไปศึกษาด้านศิลปะที่ประเทศฝรั่งเศสด้วย
นอกจากเหตุผลที่ส่งขุนนางทั้งสองคนนี้ให้ถือจดหมายไปมอบให้แก่เมอซิเออกอลแบรต์ และเมอซิเออเดอ ครัวซี แล้ว สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชประสงค์ให้ไปหาข่าวคราวเกี่ยวกับคณะทูตชุดแรกด้วย คณะของขุนนางที่ส่งไปนี้ออกเดินทางวันที่ 25 มกราคม ค.ศ.1684/พ.ศ.2227 โดยเรือของอังกฤษ พวกเขาไปขึ้นบกที่กรุงลอนดอน เมอซิเออบาริย็อง ทูตฝรั่งเศสประจำประเทศอังกฤษได้แนะนำคุณพ่อวาเวต์กับพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เพราะสมเด็จพระนารายณ์ทรงฝากฝังเป็นพิเศษ เพื่อขอยกเว้นการเสียภาษีสำหรับของขวัญที่จะนำไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หลังจากที่ได้พักอยู่ที่อังกฤษชั่วคราวแล้ว พระเจ้าชาร์ลส์ทรงให้เรือ “ชาร์ล็อต” เรือยอร์ชส่วนพระองค์ไปส่งคณะผู้แทนชาวสยามที่เมืองกาแล ประเทศฝรั่งเศส
ที่เมืองกาแล คณะผู้แทนได้รับการต้อนรับจากเมอซิเออเลอ ดุ๊ก เดอ ชารอสท์ หัวหน้ามหาดเล็กรักษาพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ และเมอซิเออเลอ ดุ๊ก เดลเบอ เจ้าเมืองกาแล จากนั้นคณะผู้แทนได้ไปที่เมืองโบมองต์ คุณพ่อเดอ บริสาซีเยร์ อธิการบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศรออยู่ที่นั่น จากที่นี่คณะได้เดินทางต่อไปที่แซงต์เดอนีส์และกรุงปารีส ตลอดทุดถนนที่เดินทางผ่าน ชาวบ้านต่างพูดว่า “พวกเขาคือทูตของพระเจ้ากรุงสยาม”
เมื่อมาถึงกรุงปารีส คุณพ่อวาเชต์ถูกเรียกให้เข้าพบเมอซิเออเลอ มาควิส เดอ แซเยอเล โดยมีลับเอเดอ ชัวซี เป็นคนพาไปพบ ท่านมาควิสได้สอบถามว่า ทำไมพระเจ้าแผ่นดินสยามจึงส่งพวกเขามา คุณพ่อวาเชต์ให้เหตุผลทั้งหมด 3 ประการ ประการแรกเพื่อมาหาข่าวเกี่ยวกับคณะทูตชุดแรก ประการที่สองเพื่อมาแสดงความยินดีกับการประสูติของดุ๊กเดอ บูร์กอน และประการสุดท้าย พระเจ้าแผ่นดินสยามทรงปรารถนาจะแสดงความยินดีกับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 สำหรับชัยชนะที่ได้รับ และเพื่อขอเชื่อมสัมพันธไมตรีกับพระองค์
พระสังฆราชลาโนได้เป็นพยานว่า สมเด็จพระนารายณืทรงยินดีเกี่ยวกับการประสูติของดุ๊กเดอ บรูร์กอน พระราชนัดดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พระคุณเจ้าเขียนในจดหมายฉบับหนึ่งว่า “หลังจากที่ได้ทรงรับทราบเรื่องการประสูติมองแซนเยอร์เลอ ดุ๊ก เดอ บูร์กอน พระองค์ทรงแสดงพระทัยยินดี และภาวนาขอพระเป็นเจ้าโปรดประทานพระพรแก่ราชวงศ์ฝรั่งเศสให้มั่งคั่งทุกประการ”
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดเกล้าให้คณะผู้แทนของสมเด็จพระนารายณ์เข้าเฝ้าที่พระราชวังแวร์ซายส์วันที่ 27 พฤศจิกายน ค.ศ.1684/พ.ศ.2227 ในห้องกระจกที่เพิ่งสร้างเสร็จในปีนั้น มิชชันนารีฝรั่งเศสได้บันทึกไว้ว่า การเข้าเฝ้าหรือการเข้าพบบุคคลต่างๆ ขุนนางแต่งตัวสะอาดเรียบร้อยเหมือนเวลาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวที่ประเทศสยาม พวกเขาสวมลอมพอกทุกครั้ง ในการเข้าเฝ้าวันนั้น คุณพ่อวาเชต์ได้กราบทูลพระเจ้าหลุยส์ว่า
“ฝ่าพระบาท
ชาวสยามที่พระองค์ทรงเห็นอยู่ในขณะนี้ พระเจ้ากรุงสยามได้ทรงส่งให้มาขอร้องท่านรัฐมนตรีให้ช่วยกราบทูลในสิ่งที่พระเจ้ากรุงสยามทรงหวังในพระทัยยิ่งนัก ขุนนางเหล่านี้ได้เข้าชี้แจงกับเมอซิเออเดอ แซเยอเล และเมอซิเออเดอ ครัวซี แล้ว พวกเขาหวังว่ารัฐมนตรีทั้งสองจะนำความขึ้นกราบทูลฝ่าพระบาท พวกเขามีความปีติยินดีที่ได้มีโอกาสมาเข้าเฝ้าเพื่อถวายบังคม”
พระเจ้าหลุยส์ได้มีพระราชดำรัสตอบก่อนจะไปร่วมพิธีมหาบูชามิสซาว่า “จงยืนยันกับขุนนางเหล่านี้ว่าเรารู้สึกปลาบปลื้มที่ได้พบพวกเขา เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะทำในสิ่งที่พระเจ้าแผ่นดินสยาม พระอนุชาของเรา มีพระราชประสงค์จากตัวเรา”
วันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1685/พ.ศ.2228 วันฉลองพระคริสต์แสดงองค์ หรือบางครั้งเรียกว่าวันฉลองพญาสามองค์ ขุนนางผู้แทนจากประเทศสยามได้ไปร่วมพิธีมหาบูชามิสซาในวัดน้อยของบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ เพราะเป็นวันฉลององค์อุปถัมภ์ของบ้านเณรและวัดน้อยแห่งนี้ หลังมิสซาพวกเขาได้ร่วมรับประทานอาหารกับผู้ทรงเกียรติที่มาร่วมงานหลายคน เช่น เมอซิเออเดอ โวม็องต์ เมอซิเออเดอ ฟรงเตอนัค เมอซิเออเดอ ชาวิยี เมอซิเออเดอ ชารอสท์ เมอซิเออปัลลือ ดือ รือโอ และพระสงฆ์นักบวชเชื้อสายขุนนางที่เป็นเพื่อนกับบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศอีกจำนวนมาก
ขุนนางสยามได้รับของขวัญจำนวนมากจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่อนำกลับไปถวายสมเด็จพระนารายณ์และสำหรับตัวเอง แต่ช่วงที่อยู่ในประเทศฝรั่งเศส พวกเขาได้สร้างปัญหาหลายอย่าง เขาไม่พบอะไรที่ถูกใจเลย ไม่ยอมไปร่วมรับประทานอาหารที่จัดไว้ต้อนรับ โดยคนหนึ่งอ้างว่าปวดหัว อีกคนหนึ่งปวดท้อง และไม่ยอมออกจากห้องพักของตัวเอง
พระเจ้าหลุยส์มีพระราชประสงค์ให้พาพวกเขาไปเที่ยวชมสถานที่สำคัญๆ แต่เขากลับอยากนอนมากกว่าไปดูปราสาทราชวัง คุณพ่อวาเชต์ทนไม่ได้ถึงกับกล่าวว่า “พอแล้ว กลับกันดีกว่า” เขาก่อเรื่องหลายอย่างจนคุณพ่อวาเชต์รู้สึกไม่พอใจและบอกกับเขาว่า เมื่อกลับไปถึงประเทศสยามแล้วจะกราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ แต่พวกเขากลับสั่นหัวและตอบว่า “พระองค์จะทรงทำอะไรได้ โทษหนักสุดคือสั่งประหารชีวิต ชีวิตของพวกเรามีค่าน้อยกว่าเกียรติยศ”
หลังจากกลับมาถึงประเทศสยามแล้ว พระสังฆราชลาโนได้รับรายงานเรื่องการต้อนรับของพระเจ้าหลุยส์ที่ทรงมีต่อมิชชันนารีและขุนนางที่ถูกส่งไป พระคุณเจ้าเขียนจดหมายไปกราบทูลเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสว่า “การที่ฝ่าพระบาทพอพระราชหฤทัยต้อนรับพวกเราที่เดินทางกลับมาที่ยุโรป ทำให้ข้าพระพุทธเจ้ารู้สึกไม่ขัดเขินที่จะกราบทูลขออย่างสุภาพว่า ขอโปรดสนับสนุนเกื้อกูล มิสซังเหล่านี้ด้วย”