-
Category: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยาม
-
Published on Friday, 26 October 2018 03:38
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3932
ข้อมูลจากหนังสือ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน
พระสังฆราชผู้ยิ่งใหญ่ ชาวคริสต์ ผู้มีชัยและเป็นผู้ตื่นรู้ในธรรม
ซิสเตอร์ซีมอนนา สมศรี บุญอรุณรักษา เขียน
ก่อนที่ขุนนางสยามจะเดินทางกลับประเทศสยาม พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงแต่งตั้งคณะทูตของพระองค์เพื่อเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักสยาม ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นราชทูตคือ เชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ ขุนนางจากตระกูลเก่าแก่ เคยนับถือศาสนาคริสต์ นิกายโปรแตสตันท์ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาเป็นนิกายโรมันคาทอลิก เคยเป็นกัปตันเรือในกองทัพของพระเจ้าหลุยส์มาก่อน ส่วนผู้ทำหน้าที่เป็นอุปทูตคือลับเบเดอ ชัวซี (ขณะเดินทางมายังเป็นเพียงสามเณรเท่านั้น) มีขุนนางและผู้ติดตามอีกจำนวนหนึ่ง สมาชิกคณะมิสซังต่างประเทศ 3 องค์ คือ คุณพ่อวาเชต์ สามเณรบาสเซท์ และสามเณรมานูแอล พระสงฆ์เยสุอิตนักคณิตศาสตร์อีก 6 องค์ ดังมีรายนามต่อไปนี้ คุณพ่อฟองเตอเนย์ คุณพ่อตาชารด์ คุณพ่อเลอก็องต์ คุณพ่อบูเว คุณพ่อแชร์บิลองและคุณพ่อวิสเดอลู คุณพ่อทั้งหมดนี้เป็นสมาชิกของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศฝรั่งเศส
จุดมุ่งหมายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ในการส่งคณะทูตมายังราชสำนักสยามก็คือ จากการบอกเล่าของบรรดามิชชันนารีฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์จึงทรงมีความหวังที่จะทำให้สมเด็จพระนารายณ์กลับใจเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ เพราะทรงคาดการณ์เช่นเดียวกับมิชชันนารีว่า ถ้าสมเด็จพระนารายณ์ทรงเป็นคริสตัง ชาวสยามทั้งหมดก็จะเข้ามาเป็นคริสตังตาม และบางทีอาจทำให้กษัตริย์ของประเทศเพื่อนบ้านเปลี่ยนศาสนาด้วยเช่นกัน นอกนั้นคณะทูตชุดนี้จะสามารถช่วยชาวฝรั่งเศสให้ถ่วงดุลกับคณะทูตที่พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสได้รับสั่งให้อุปราชของพระองค์ ที่ประจำอยู่ในหมู่เกาะอินเดีย ส่งทูตเข้ามาในประเทศสยาม ตังเกี๋ย และโคชินจีน
เหตุผลอีกประการหนึ่งคือด้านการค้าขาย เพราะประเทศสยามมีสินค้าสำคัญๆ อยู่หลายอย่าง เช่น ดีบุก ตระกั่ว เหล็ก ดินปืน ดินประสิวขาว หญ้าฝรั่น น้ำตาลแดง ขี้ผึ้ง รังนกนางแอ่น ยางพารา กำยาน พริกไทย หมาก น้ำมันมะพร้าว หนังสัตว์ ฝ้าย ฯลฯ
ชาวฝรั่งเศสคิดว่า ถ้าทูตฝรั่งเศสประสบความสำเร็จในการเจรจากับทางประเทศสยาม พวกเขาก็จะสามารถกราบทูลขอสมเด็จพระนารายณ์ ให้ทรงขายทองแดงให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของเขาในราคาที่ซื้อมาจากประเทศญี่ปุ่น และจ่ายเพิ่มเพียงค่าขนส่งให้กับทางสยามเท่านั้น เพราะค่าขนส่ง ค่าเจ้าหน้าที่ และค่าลูกเรือชาวสยามนั้นถูกมาก และจะขอให้ทางราชสำนักสยามเปิดทางให้กับบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส เดินทางไปค้าขายกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเป็นการง่ายและสะดวกต่อบรรดามิชชันนารีที่จะเดินทางเข้าไปในประเทศจีน
คณะทูตฝรั่งเศสออกเดินทางจากเมืองเบรสเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1685/พ.ศ.2228 โดยเรือ “ลัวโซ” และ “มาลิญ” ในคณะทูตชุดนี้มีจำนวนพระสงฆ์และนักบวชทั้งหมด 12 คน การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น คณะทูตฝรั่งเศสเดินทางมาถึงชายฝั่งของประเทศสยามตอนเย็นวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1685/พ.ศ. 2228
เช้าวันรุ่งขึ้นคุณพ่อวาเชต์ได้เดินทางโดยเรือบดเพื่อแจ้งข่าวการมาถึง ขุนนางสองคนที่ไปฝรั่งเศสรู้สึกเศร้าใจอย่างมากที่ไม่ได้ขึ้นบกพร้อมกับคุณพ่อวาเชต์ เชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ เขียนจดหมายฝากคุณพ่อวาเชต์ไปให้พระสังฆราชลาโน ขอให้ท่านเดินทางมาที่เรือเพื่อปรึกษาหารือเรื่องต่างๆ เมื่อทราบข่าวการมาถึงของคณะทูตแล้ว ท่านลาโนได้กราบทูลให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบ พระองค์รับสั่งให้พระคุณเจ้า คุณพ่อเดอ ลีออนน์ และคุณพ่อวาเชต์ เข้าเฝ้า แม้ว่าขณะนั้นจะเป็นเวลาสี่ทุ่มแล้วก็ตาม แต่พระองค์ยังทรงมีประชุมอยู่กับคณะองคมนตรี พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้พระคุณเจ้าลาโนและคุณพ่อเดอ ลีออนน์ ไปเจรจากับคณะทูตล่วงหน้า
เรือเข้ามาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยาวันที่ 24 กันยายน และต่อมาวันที่ 29 กันยายน พระสังฆราชลาโนได้ไปพบกับทูตฝรั่งเศส เคานต์เดอ ฟอร์แบง เล่าว่า “ผู้แทนพระองค์ (พระคุณเจ้าลาโนและคุณพ่อเดอ ลีออนน์) ได้กล่าวต้อนรับท่านราชทูตในพระนามของพระเจ้าอยู่หัว และในนามของเมอซิเออก็องสต็องซ์” ลับเบเดอ ชัวซี เพิ่งเคยพบพระสังฆราชลาโนเป็นครั้งแรก บันทึกไว้ว่า “ตลอดคืนที่แล้วพระคุณเจ้าเดอ เมแตลโลไปลิศ ได้เดินทางถึง 2 ลิเยอ เพื่อมาที่นี่ พระคุณเจ้าเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง รูปร่างหน้าตาดี มีอายุเพียง 45 ปี แต่ดูเหมือนคนอายุ 60 ปี เพราะการมาอยู่ในมิสซังนานถึง 24 ปี ทำให้ท่านรู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก” พระคุณเจ้าลาโนเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยาในวันรุ่งขึ้น 30 กันยายน เพื่อจัดเตรียมเรื่องต่างๆ เวลาที่พระคุณเจ้าออกเดินทางได้มีการยิงสลุต 9 นัด
วันที่ 1 ตุลาคม พระสังฆราชลาโนได้เขียนจากบางกอกเพื่อแจ้งแก่คณะทูตว่า เวลาเที่ยงคืนสมเด็จพระนารายณ์รับสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งไปจัดการเรื่องที่พักสำหรับทูตฝรั่งเศส และให้เดินทางไปลพบุรีเพื่อเตรียมบ้านพักสำหรับคณะทูตที่นั่นด้วย
ด่านขนอน ที่พักคณะทูตฝรั่งเศสก่อนเดินทางเข้ากรุงศรีอยุธยา
เช้าวันที่ 8 ตุลาคม พระสังฆราชลาโน คุณพ่อเดอ ลีออนน์ และขุนนางสองคนเดินทางไปที่เรือของคณะทูต เพื่อไปกล่าวต้อนรับเชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ ในนามของสมเด็จพระนารายณ์
ทันทีที่เรือทอดสมอ สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งเสนาบดีอีกคนหนึ่งมาคำนับทูตฝรั่งเศส เสนาบดีท่านนี้ได้กล่าวว่า “ฯพณฯ ที่เคารพ ข้าพเจ้าทราบว่า ฯพณฯ มาถึงแล้ว เป็นเวลานานนับพันปีมาแล้วที่ประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยามมีสัมพันธภาพต่อกัน และได้กลับมารื้อฟื้นอีกครั้งหนึ่งโดยพระมหากษัตริย์ที่ทรงปกครองประเทศทั้งสองนี้” เชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ รู้สึกแปลกใจในคำกล่าวต้อนรับที่เกินความจริงของขุนนางผู้นี้
เชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ เขาพักที่ด่านขนอนซึ่งอยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยาหนึ่งลิเยอ เพื่อเตรียมตัวเข้ามากรุงศรีอยุธยาและเตรียมเข้าเฝ้า ช่วงเวลานี้มีการสนทนาระหว่างทูตฝรั่งเศส คอนสแตนติน ฟอลคอน โดยมีพระสังฆราชลาโนเป็นล่าม พระคุณเจ้ารู้สึกชื่นชมทูตฝรั่งเศส และในเวลาต่อมาท่านได้เขียนไปถึงผู้บริหารบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศว่า “ความน่าเลื่อมใสศรัทธา การผ่อนหนักผ่อนเบา และคุณสมบัติด้านอื่นๆ เป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระเจ้าอยู่หัวและคนที่นี่ ถ้าคุณพ่อมีโอกาส ขอคุณพ่อช่วยแสดงการขอบคุณแทนข้าพเจ้าและมิสซังทั้งหมดด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง”
วันที่ 17 ตุลาคมคณะทูตฝรั่งเศสได้รับการต้อนรับจากผู้แทน 43 ประเทศ ทุกคนต่างแต่งชุดทหารตามชาติของตน มีเพียงโปรตุเกสชาติเดียวที่ไม่มาร่วมพิธีนี้
การเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์อย่างเป็นทางการของคณะทูตฝรั่งเศส ถูกกำหนดขึ้นวันที่ 18 ตุลาคม คณะทูตฝรั่งเศสได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติจากบรรดาขุนนางจำนวนหลายพันคนและขบวนช้างจำนวนมาก เคานต์เดอ ฟอร์แบง ได้บันทึกการเข้าเฝ้าไว้ว่า
“ขบวนเรือของบรรดาขุนนางติดตามเรือพระที่นั่งเพื่อไปรับท่านราชทูตที่บ้านพัก เรือที่กล่าวนี้เป็นเหมือนบ้านเล็กๆ ซึ่งมีเป็นจำนวนมากมายที่ใช้ทั่วๆ ไปในประเทศนี้ เราต้องอาศัยเรือในการเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพราะทั่วทั้งประเทศจะมีน้ำท่วมนาน 6 เดือน เพราะที่นี่เป็นที่ลุ่มและมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในบางฤดู
เรือพระที่นั่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เรือเหล่านี้ขุดจากต้นไม้ทั้งต้น ขนาดเล็กสุดมีความแคบเพียงแค่คนพายสามารถเข้าไปนั่งได้เท่านั้น ขนาดใหญ่มีความกว้างไม่เกิน 4-5 ฟุต แต่มีความยาวมากที่สามารถมีฝีพายในเรือลำเดียวได้ถึง 80 คน หรืออาจมากถึง 120 คน ไม้พายมีความกว้างด้านล่าง 6 นิ้ว และทำเป็นรูปมน มีด้านยาวกว่า 3 ฟุต คนพายเรือพายตามจังหวะและทำสัญญาที่ให้อย่างน่าชมเชย เรือมีรูปร่างแตกต่างกันออกไป เช่น มังกร และสัตว์ประหลาดอื่นๆ เรือพระที่นั่งเป็นสีทองทั้งลำ
จำนวนเรือมากมายที่มาที่บ้านราชทูต มีไม่กี่ลำที่ไม่โอ่งโถง ขุนนางจำนวนหนึ่งขึ้นบกมาแสดงความเคารพท่านราชทูต เราลงเรือและทำตามหมายกำหนดการ พระราชสาส์นของพระเจ้าอยู่หัว (พระเจ้าหลุยส์ที่ 14) ถูกวางบนพระแท่นยกสูงในเรือลำหนึ่ง ท่านราชทูตลับเบเดอ ชัวซี และผู้ติดตาม ลงเรือพระที่นั่งและเรือของทางราชการ ขุนนางผู้ใหญ่ลงเรือของตน เมื่อขบวนเรือเริ่มเคลื่อน มีการตีกลอง สองข้างฝั่งแม่น้ำจนถึงที่ที่เจะไปขึ้นบก แน่นขนัดไปด้วยผู้คนที่ดูเหมือนไม่มีที่สุดสิ้น และเมื่อเรือพระราชสาส์นแล่นผ่านตรงหน้า พวกเขาก็หมอบกราบลง
ขบวนเรือยาวต่อเนื่องไปจนถึงพระราชวัง เมื่อขึ้นจากเรือท่านราชทูตเห็นเสลี่ยง คลุมด้วยผ้าสักหลาดสีแดงเข้ม ข้างบนเป็นเก้าอี้เท้าแขนสีทอง มีเสลี่ยงอีก 2 หลัง ประดับตกแต่งน้อยกว่าหลังแรก หลังหนึ่งสำหรับลับเบเดอ ชัวซี อีกหลังหนึ่งสำหรับประมุขมิสซัง เขาแบกเสลี่ยงไปจนถึงพระบรมมหาราชวัง ตามด้วยขบวนทหารม้า
ขบวนเรือพระที่นั่งสมัยกรุงศรีอยุธยา
ครั้งแรกสุดเราเข้าไปในลานที่กว้างมาก ที่นี่มีช้างจำนวนมากมายตั้งขบวนเป็นสองแถวซ้อน เราได้เห็นช้างเผือกที่ชาวสยามให้ความนับถือแยกอยู่ต่างหาก จากนั้นได้ผ่านเข้าไปในสานที่สองที่ลานนี้มีผู้ชาย 500-600 คนนั่งอยู่ที่พื้น สักที่แขนและโพกผ้าสีฟ้าเหมือนที่เราเห็นตรงทางเข้าปากแม่น้ำ คนเหล่านี้คือเพชฌฆาต แต่ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นมหาดเล็กรักษาพระองค์ด้วย เราผ่านลานอีกหลายลานทีเดียว และมาถึงท้องพระโรง ซึ่งเป็นห้องสี่เหลี่ยมยาว ต้องขึ้นบันไดไป 7-8 ขั้น
ท่านราชทูตถูกจัดให้นั่งบนเก้าอี้เท้าแขน มือถือด้ามถาดที่ใส่พระราชสาส์นของพระเจ้าอยู่หัว ลับเบเดอ ชัวซี นั่งบนม้านั่งไม่มีพนักงานทางด้านขวาของราชทูต แต่เตี้ยกว่า ประมุขมิสซังอยู่อีกข้างหนึ่งของราชทูต นั่งบนพรมที่เตรียมไว้ ปูทับพรมผืนใหญ่ที่ปูบนพื้นอีกทีหนึ่ง ผู้ติดตามราชทูตทั้งหมดนั่งขัดสมาธิที่พื้นเช่นเดียวกัน เขาได้ขอให้ทุกคนนั่งเก็บเท้า ไม่ให้คนอื่นมองเห็น เพราะเป็นการขาดความเคารพต่อผู้ที่สูงกว่า ราชทูต ลับเบเดอ ชัวซี และประมุขมิสซัง อยู่แถวเดียวกันตรงหน้าพระบัลลังก์ พวกเราทุกคนอยู่แถวเดียวกันด้านหลังราชทูต ทางด้านซ้ายมีอัครเสนาบดีและเสนาบดีผู้ใหญ่ลดหลั่นกันไปตามลำดับจนถึงประตูท้องพระโรง”
ลับเบเดอ ชัวซี ได้บันทึกเหตุการณ์นี้ไว้อย่างยืดยาวเช่นเดียวกัน แต่ช่วงที่สำคัญที่สุดคือ ช่วงการถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แด่สมเด็จพระนารายณ์ ลับเบเดอ ชัวซี ได้เล่าเหตุการณ์ตอนนี้ไว้อย่างอารมณ์ดีว่า “หลังจากได้กล่าวรายงานเสร็จ ท่านราชทูตก้าวตรงไปยังพระราชบัลลังก์อย่างมั่นใจ โดยถือพระราชสาส์นที่วางอยู่บนถาดทองมีด้าม ไปทูลถวายสมเด็จพระนารายณ์ราชทูตไม่ยอมยกแขนขึ้น เลยดูเหมือนว่าพระเจ้าอยู่หัวจะอยู่ต่ำกว่าเขา เมอซิเออร์ก็องสต็องซ์ที่กำลังหมอบกราบอยู่ด้านหลังพวกเรา ได้ร้องตะโกนออกมาว่า ยกขึ้น! ยกขึ้น! แต่ราชทูตไม่ได้ทำตามเลย พระเจ้าอยู่หัวจึงต้องทรงก้มพระวรกายลงมาครึ่งพระองค์นอกพระบัญชร เพื่อมารับพระราชสาส์น พระองค์ทรงพระสรวล และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะพระองค์รับสั่งกับฟอลคอนก่อนหน้านี้ว่า เราให้ท่านเป็นคนจัดการเรื่องข้างนอกเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ท่านราชทูต ส่วนเราจะดูแลเรื่องข้างใน”
โชวาลิเยร์ เดอ โชม็องต์ถวายพระราชสาส์นพระเจ้่าหลุยส์ที่ 14 สมเด็จพระนารายณ์
พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน อยู่ทางด้านซ้ายของราชทูตฝรั่งเศส
หลังจากการเข้าเฝ้าสิ้นสุดลง ฟอลคอนได้ไปพบเชอวาลิเอยร์เดอ โชม็องต์ ราชทูตกล่าวกับฟอลคอนว่าเข้ารู้สึกประหลาดใจที่พระบัลลังก์สูงมาก เพราะเขาตั้งใจก่อนหน้านั้นแล้วว่าจะไม่ยกแขนขึ้นถวายพระราชสาส์น และไม่ได้รู้สึกเลยว่าได้ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเคืองพระทัย ฟอลคอนตอบว่า “สำหรับข้าพเจ้ายิ่งประหลาดใจมากยิ่งกว่าอีก ฯพณฯ มีพระเจ้าอยู่หัวองค์เดียวที่ต้องทำให้พระองค์พอพระราชหฤทัย ส่วนข้าพเจ้ามีสองพระองค์” เพราะในระหว่างการเข้าเฝ้าฟอลคอนได้แนะนำพระขนิษฐาภาดาของพระเจ้าแผ่นดินเขมรที่กำลังหมอบกราบอยู่เหมือนคนอื่นๆ ฟอลคอนจึงกล่าวเสริมกับเชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ ว่า “แต่เท้าของ ฯพณฯ อยู่ในระดับเดียวกับพระพักตร์ของสมเด็จพระอนุชา”
หลังจากที่เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์แล้ว เคานต์เดอ ฟอร์แบง ได้บรรยายพระลักษณะของพระองค์เพิ่มเติมไว้ว่า “พระเจ้าแผ่นดินสยามมีพระชนมายุประมาณ 50 ปี พระวรกายผอมเล็กไม่มีพระฑาฐิกะ (เครา) ที่พระหนุ (คาง) ด้านซ้ายมีหูดที่มีพระโลมาสองเส้นเหมือนขนม้า”
ต่อไปนี้เป็นข้อความในพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
“พระผู้สูงส่งทรงอานุภาพเป็นเลิศ และทรงพระมหากรุณาธิคุณ
พระสหายที่รักยิ่ง
ขอพระเป็นเจ้าเพิ่มพูนให้ฝ่าพระบาทมีพระเกษมสำราญ
ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจที่รับทราบว่าคณะทูตที่พระองค์ทรงส่งมาหาข้าพเจ้าเมื่อ ค.ศ. 1681 ได้สาบสูญ เราได้ทราบข่าวจากพระสงฆ์มิชชันนารีที่มาจากประเทศสยามและจากจดหมายของอัครเสนาบดีของฝ่าพระบาทที่ส่งไปยังรัฐมนตรีของข้าพเจ้าว่า ฝ่าพระบาททรงมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะสร้างความสัมพันธ์กับข้าพเจ้า เพื่อการนี้ข้าพเจ้าจึงได้ให้สุภาพบุรุษเชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ เป็นราชทูตเข้ามาเฝ้าฝ่าพระบาท ท่านราชทูตจะทูลให้ฝ่าพระบาททราบเป็นพิเศษถึงความตั้งใจทุกประการที่จะช่วยให้มิตรภาพระหว่างเรามั่นคงยั่งยืนตลอดไป ขอถือโอกาสนี้แสดงความกตัญญูรู้คุณที่ข้าพเจ้าได้รับทราบว่า ฝ่าพระบาทได้ให้ความคุ้มครองพระสังฆราชและมิชชันนารีที่สั่งสอนพระศาสนาแก่พสกนิกรของฝ่าพระบาท ความปรารถนาอย่างสูงของข้าพเจ้าคือ ขอฝ่าพระบาทได้โปรดสดับฟังพวกมิชชันนารีเหล่านี้ด้วย เพื่อจะได้ทราบถึงข้อคิดและอัตถ์ลึกล้ำในพระศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์เพื่อจะได้รู้ถึงพระเจ้าเที่ยงแท้ พระองค์ผู้เดียวที่จะประทานความสุขนิรันดร์ให้แก่ฝ่าพระบาท หลังจากที่ได้ทรงครองราชย์ต่อพสกนิกรด้วยพระสิริอันยาวนาน
ข้าพเจ้าได้มอบหมายให้ราชทูตนำสิ่งของแปลกๆ ในราชอาณาจักรของเรามาถวายเพื่อเป็นเครื่องหมายถึงมิตรภาพ ท่านราชทูตจะได้กราบทูลฝ่าพระบาทในเรื่องที่เรามีความประสงค์จะดำเนินการค้าขาย ขอวิงวอนพระเป็นเจ้าโปรดเพิ่มพูนความยิ่งใหญ่ไพศาล และความผาสุกแก่ฝ่าพระบาท
เขียนที่พระราชวังแวร์ซายส์ วันที่ยี่สิบเอ็ดเดือนมกราคม ค.ศ. 1685
จากสหายที่รักของพระองค์
หลุยส์”
ระหว่างการเข้าเฝ้าเพื่อถวายพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แด่สมเด็จพระนารายณ์ เชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ ได้กล่าวคำกราบทูลรายงานสมเด็จพระนารายณ์ ต่อไปนี้เป็นบทสรุปคำกล่าวของราชทูตฝรั่งเศส
“ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
พระเจ้าอยู่หัวของข้าพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งขณะนี้ได้มีพระนามเลื่องลือไปทั่วโลกจากชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ และสันติภาพที่พระองค์ทรงมีต่อริราชศัตรูอยู่เนืองๆ ได้รับสั่งให้ข้าพระพุทธเจ้ามาเข้าเฝ้าพระองค์เพื่อยืนยันถึงมิตรภาพพิเศษที่ได้ทรงริเริ่มขึ้น พระเจ้าอยู่หัวของข้าพระพุทธเจ้าทรงรู้ถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการปกครองบ้านเมือง ราชสำนักที่โอ่อ่า ความยิ่งใหญ่ไพศาลของราชอาณาจักรของพระองค์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเคารพนับถือที่พระองค์ทรงมีต่อพระเจ้าอยู่หัวของข้าพระพุทธเจ้าผ่านทางคณะทูตของพระองค์ และการพิทักษ์ปกป้องอย่างสม่ำเสมอต่อพสกนิกรของพระองค์ โดยเฉพาะบรรดาพระสังฆราชที่กำลังอยู่ข้างๆ ข้าพระพุทธเจ้า พระคุณเจ้าเหล่านี้เป็นเสมือนผู้แทนของพระเจ้าเที่ยงแท้
พระเจ้าอยู่หัวของข้าพเจ้าทรงตระหนักที่จะตอบรับมิตรภาพที่ฝ่าพระบาททรงมีต่อพระองค์ตามอำนาจที่ทรงมี สำหรับเรื่องนี้พระองค์ทรงส่งผู้แทนมาเจรจาเพื่อความก้าวหน้าด้านการค้าขายเพื่อแสดงถึงมิตรภาพที่จริงใจ และเป็นการเริ่มความสัมพันธไมตรีระหว่างราชสำนักทั้งสองให้ยั่งยืนสืบไป แม้ว่าราชอาณาจักรของพระองค์จะอยู่ห่างไกลจากราชสำนักของพระเจ้าอยู่หัวของข้าพระพุทธเจ้า เพราะมีทะเลใหญ่ๆ ขวางกั้น แต่ไม่มีอะไรที่เป็นเครื่องยืนยันถึงสัมพันธภาพได้แนบแน่นเท่ากับการมีความเชื่อเดียวกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงปราดเปรื่องของข้าพระพุทธเจ้า ทรงให้แต่คำแนะนำและความคิดเห็นที่ดีๆ แก่พระมหากษัตริย์ของประเทศเพื่อนบ้านของเรา รับสั่งให้ข้าพระพุทธเจ้ามาเป็นผู้แทนพระองค์ พระองค์ทรงนับฝ่าพระบาทเป็นเหมือนเพื่อนที่จริงใจที่สุด และทรงพิจารณาว่าพระเกียรติยศทั้งหมดที่ฝ่าพระบาทมีนั้นมาแต่พระเจ้าเที่ยงแท้ พระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพที่บรรดาคริสตังเคารพนับถือ พระเจ้าผู้ทรงปกครองเหนือกษัตริย์ทุกพระองค์ และปกครองเหนือโชคลาภของมนุษย์ทั้งปวง
ขอจงมอบความยิ่งใหญ่ไพศาลพระบาทไว้ในพระเป็นเจ้าผู้ทรงปกครองฟ้าและดินจะเป็นการสมควรยิ่งกว่าที่จะมอบให้แก่พระอื่นๆ ที่นับถืออยู่ในดินแดนตะวันออก...
ฝ่าพระบาทจะทรงประจักษ์แจ้งยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าฝ่าพระบาทได้สดับฟังการเทศน์สอนของบรรดาพระสังฆราชหรือมิชชันนารีที่อยู่ที่นี่
สิ่งที่น่ายินดีที่สุด ที่ข้าพระพุทธเจ้าจะสามารถนำกลับไปทูลรายงานพระเจ้าอยู่หัวของข้าพระพุทธเจ้าก็คือ ฝ่าพระบาททรงประจักษ์ในความจริงและทรงเรียนรู้ถึงคริสต์ศาสนา เรื่องนี้จะทำให้ทรงชื่นชมและนับถือฝ่าพระบาท และจะเป็นการเร่งให้ชาวฝรั่งเศสเดินทางมาที่ราชอาณาจักรของฝ่าพระบาทด้วยความมั่นใจยิ่งขึ้น การทำเช่นนี้จะทำให้ฝ่าพระบาทเต็มไปด้วยโรจนาการฝ่าพระบาทจะได้รับความสุขตลอดนิรันดร์ในสวรรค์ หลังจากได้ครองราชย์บนโลกนี้ความด้วยมั่งคั่งผาสุก”
คำกล่าวรายงาน ของเชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ เป็นการหว่านล้อมอย่างเปิดเผยให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ คำกล่าวนี้แปลเป็นภาษาโปรตุเกสโดยพระสังฆราชลาโน และแปลเป็นภาษาสยามโดยคอนสแตนติน ฟอลคอน เขาไม่ได้แปลทั้งหมดเพราะเห็นว่าคำพูดของราชทูตเรื่องการชักชวนสมเด็จพระนารายณ์ให้ทรงเปลี่ยนศาสนานั้นแจ้งชัดเกินไป
ราชทูตได้นำจดหมายของเมอซิเออกอลแบรต์ เดอ ครัวซี รัฐมนตรีฝรั่งเศสที่เขียนมาถึงเจ้าพระยาพระคลังมาด้วย ในจดหมาย เดอ ครัวซี ได้แสดงความซาบซึ้งใจที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งทูตไปยังราชสำนักฝรั่งเศส และแสดงความเสียใจกับการสูญเสียคณะทูตชุดนี้ พร้อมทั้งบอกว่าพระเจ้าหลุยส์สนพระราชหฤทัยที่จะผูกไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์ แม้ว่าราชสำนักทั้งสองจะอยู่ห่างไกลกันมากก็ตาม และได้กล่าวขอบคุณที่เจ้าพระยาพระคลังได้ส่งของขวัญไปให้
วันที่ 19 ตุลาคม ตอนเช้า มีประชุมที่พระบรมมหาราชวังเพื่อแปลพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นภาษาไทย เริ่มด้วยการแห่พระราชสาส์นไปยังพระที่นั่งต่างๆ ในพระบรมมหาราชวัง ในท้องพระโรงที่แปลพระราชสาส์น มีคณะองคมนตรีทั้ง 40 คน ของสมเด็จพระนารายณ์ เจ้าพระยาพระคลัง คอนสแตนติน ฟอลคอน พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน คุณพ่อเดอ ลีออนน์ และคุณพ่อวาเชต์ การแปลได้ทำต่อหน้าทุกคนด้วยเสียงอันดังและคำต่อคำ ด้วยภาษาไทยที่น่าฟัง หลังจากแปลเสร็จแล้ว ขุนนางจำนวนหนึ่งได้นำพระราชสาส์นที่แปลแล้วไปทูลเกล้าถวายสมเด็จพระนารายณ์
วันที่ 20 ตุลาคม เชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ และผู้ติดตาม ได้ไปเยี่ยมพระสังฆราชลาโน
วันที่ 25 ตุลาคม สมเด็จพระนารายณ์ทรงอนุมัติให้เชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ เข้าเฝ้าเป็นการส่วนตัว ลับเบเดอ ชัวซี เล่าว่า “ท่านราชทูตลงเรือที่กำหนดไว้สำหรับท่านคนเดียว พระสังฆราชคุณพ่อเดอ ลีออนน์ และข้าพเจ้า ลงเรืออีกลำหนึ่ง เขานำพวกเราไปในห้องลับห้องหนึ่งของพระราชวัง ไม่มีชาวต่างชาติคนใดเคยมาที่มี่มาก่อน ที่นั่นมีสวนร่มรื่นมาก ตัดด้วยคลองและทางเดินที่สวยงาม มีสุภาพบุรุษบางคนอยู่ที่นั่น ท่านราชทูตนั่งบนเก้าอี้ พระสังฆราชอยู่ทางขวาของราชทูต ส่วนข้าพเจ้าอยู่ทางซ้าย เราทั้งสองนั่งบนพรม เมอซิเออก็องสต็องส์หมอบอยู่ที่พื้นเพื่อทำหน้าที่ล่าม พวกเราถวายคำนับเหมือนที่ทำในการเข้าเฝ้าครั้งแรก พระเจ้าอยู่หัวทรงปรากฏพระองค์บนเก้าอี้ที่ตั้งอยู่บนบันไดเล็กๆ”
วันที่ 29 ตุลาคม เชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ ไปพบพระเจ้าพระยาคลังโดยมีพระสังฆราชลาโน และลับเบเดอ ชัวซี เป็นผู้ติดตาม
ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้เชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ เข้าเฝ้าเป็นกรณีพิเศษ ราชทูตมีผู้ติดตามเหมือนเช่นเคยคือพระสังฆราชลาโน ลับเบเดอ ชัวซี ในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ราชทูตฝรั่งเศสได้กราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ว่า บรรดามิชชนารีได้อุทิศตนอย่างเต็มใจเพื่อพระสิริโรจนาการของพระเป็นเจ้า สมเด็จพระนารายณ์มีรับสั่งเสริมว่า พระสังฆราชลาโนและมิชชันนารีฝรั่งเศสทุกองค์มีหน้าที่ 2 อย่างที่ต้องทำคือ ทำให้พระศาสนาและพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ของพวกเขาก้าวหน้าไป
วันที่ 22 พฤศจิกายน คุณพ่อเยสุอิตที่เดินทางมากับคณะทูต ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนารายณ์ให้เข้าเฝ้าเฉพาะพวกเขา คุณพ่อตาชารด์เล่าว่า “วันที่ยี่สิบสองเดือนพฤศจิกายน พวกเราได้รับแจ้งว่าพระเจ้าอยู่หัวโปรดให้เข้าเฝ้าเป็นกรณีพิเศษ เวลาสี่นาฬิกาตอนเย็น ฯพณฯก็องสต็องส์ ได้นำพวกเราไปที่พระราชวัง เราผ่านลานกว้างสามชั้นที่มีบรรดาขุนนางจำนวนมากหมอบกราบอยู่ทั้งสองข้าง เมื่อเข้ามาถึงลานชั้นในสุด ท่านเสนาบดี (ฟอลคอน) ให้เรานั่งบนพรมผืนใหญ่ผืนหนึ่ง พวกเราไม่ได้ใส่ชุดสำหรับงานฉลอง เขาไม่บังคับให้เราถอดรองเท้าซึ่งถือเป็นการให้เกียรติ ทันทีที่ให้เรานั่ง พระเจ้าอยู่หัวเพิ่งเสด็จออกมาจากการทอดพระเนตรการต่อสู้ของช้าง (...) แต่ท่านเสนาบดี (ฟอลคอน) สังเกตเห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงรีบเสด็จเลยไป จึงได้ทูลพระองค์ถึงพวกเรา พระองค์ทอดพระเนตรพวกเราทีละคนอย่างสนพระทัย พร้อมทั้งทรงแย้มพระโอษฐ์และมีพระจริยวัตรที่เต็มไปด้วยพระกรุณา” สิ่งที่น่าสังเกตคุณพ่อตาชารด์เล่าว่าโปรดให้เข้าเฝ้า แต่สมเด็จพระนารายณ์กลับจะทางพระดำเนินเลยไป และในบันทึกของคุณพ่อตาชารด์ไม่ได้เล่าว่าพระองค์มีพระราชปฏิสันถารกับคุณพ่อเยสุอิต อาจเป็นไปได้ที่เป็นการจัดการของคอนสแตนติน ฟอลคอน
หลังจากที่คณะทูตฝรั่งเศสได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์หลายครั้ง พระสังฆราชลาโนได้เรียบเรียงสิทธิพิเศษเกี่ยวกับศาสนาที่คุณพ่อเดอ ลีออนน์ ร่างไว้บ้างแล้ว เพื่อทูลสมเด็จพระนารายณ์ขอให้ทำการประกาศ แต่ฟอลคอนได้ตัดทิ้งเป็นจำนวนมากและที่เหลือเขาได้แก้ไขเป็นอย่างอื่น
วันที่ 27 พฤศจิกายน สมเด็จพระนารายณ์เสด็จไปล่าสัตว์และทรงมอบหมายให้ฟอลคอนเป็นคนเจรจากับทูตฝรั่งเศสในพระนามของพระองค์ วันที่ 30 พฤศจิกายน มีการลงนามในสนธิสัญญาที่ลพบุรี ในสนธิสัญญานี้ได้ให้สิทธิแก่มิชชันนารีฝรั่งเศส แต่ที่จริงไม่เคยได้รับการปฏิบัติเลย
ต่อไปนี้คือข้อความที่บรรจุอยู่ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศฝรั่งเศส และราชอาณาจักรสยาม ในหัวข้อที่เกี่ยวกับด้านศาสนา
1.พระเจ้าแผ่นดินสยามจะทรงออกประกาศอนุญาตทั่วราชอาณาจักรถึงเรื่องที่พระองค์ได้ทรงอนุมัติให้มิชชันนารีเทศน์สอนพระวรสารแก่ประชาชนที่สนใจในพระคริสตศาสนา
2. บรรดามิชชันนารีจะสามารถสอนนักเรียนที่วิทยาลัยและในที่พักของท่านได้ โดยที่เราจะไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้พวกเขา
3. ชาวสยามทุกคนที่นับถือศาสนาคริสต์ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องไปทำงานที่บ้านขุนนางที่ตัวเองสังกัดอยู่ในวันอาทิตย์และวันฉลอง
4. ถ้าคริสตังคนใดมีอายุมากและป่วยไม่สามารถทำงานได้ เขาจะได้รับยกเว้น โดยจะต้องไปแสดงตัวกับขุนนางคนหนึ่งที่ได้รับแต่งตั้งเพื่อรับผิดชอบเรื่องนี้
5. เพื่อหลีกเลี่ยงความอยุติธรรม ขุนนางคนหนึ่งจะได้รับแต่งตั้งเพื่อพิจารณาคดีให้คริสตังใหม่โดยไม่คิดค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งสิ้น
เกี่ยวกับด้านการค้า สนธิสัญญาฉบับนี้ให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสใรการเข้าออกอย่างเสรีเต็มที่ แต่ห้ามนำสินค้าเถื่อนไม่เสียภาษีเข้ามา และบังคับให้ซื้อสินค้าที่คลังสินค้าของพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น การให้สิทธิ์แก่หัวหน้าสถานีการค้าในการลงโทษคนงานของตนที่ทำผิดตามระเบียบที่วางไว้ ยกเว้นในกรณีที่ทำงานให้พระเจ้าแผ่นดิน สนธิสัญญาฉบับนี้ได้ให้สัมปทานแก่ฝรั่งเศสในการค้าดีบุกที่เกาะยงเซลัง (ภูเก็ต) และอนุญาตให้ตั้งสำนักงานตัวแทนจำหน่าย โดยมีสัญญาพิเศษที่ให้สิทธิ์ในการตั้งสำนักงานตัวแทนได้ทั่วราชอาณาจักร แต่ต้องได้รับอนุมัติจากคอนสแตนติน ฟอลคอน เสียก่อน
ระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศสยาม วันที่ 7 ธันวาคม ลับเบเดอ ชัวซี ได้รับศีลน้อยขั้นต่างๆ วันที่ 8 ได้เป็นอนุสังฆานุกร วันที่ 9 ได้รับศีลบวชเป็นสังฆานุกร และวันที่ 10 พระสังฆราชลาโนได้บวชลับเบเดอ ชัวซี เป็นพระสงฆ์
หลังจากพำนักอยู่ที่ประเทศสยามนานกว่าสองเดือน วันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1685/พ.ศ. 2228 สมเด็จพระนารายณ์ได้พระราชทานวโรกาสให้คณะทูตฝรั่งเศสเข้าเฝ้า เพื่อกราบทูลลากลับประเทศของตน ลับเบเดอ ชัวซี ได้บันทึกการเข้าเฝ้าครั้งนี้ไว้ว่า
“พวกเราเพิ่งออกจากการเข้าเฝ้าทูลลา ท่านราชทูต พระสังฆราช และข้าพเจ้า ได้ขึ้นเสลี่ยงเหมือนที่เคยปฏิบัติ ตลอดทางเต็มไปด้วยขุนนางทั้งยืนและขี่ม้า มีขบวนช้างที่ไว้ใช้ออกสงครามมากกว่าสองร้อยเชือก มีขุนนางนั่งอยู่ข้างบน แต่งเครื่องแบบและสวมหมวกเต็มยศสำหรับวันฉลองดูสง่างามมาก ที่ลานพระราชวังเต็มไปด้วยขุนนางหมอบกราบอยู่ที่พื้น พวกเราเดินทางไปเข้าเฝ้าแบบชาวฝรั่งเศส โดยเข้าไปในห้องที่พระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่บนบัลลังก์ ห้องนี้คงสวยมากยิ่งขึ้นถ้ากระจกที่สั่งจากประเทศฝรั่งเศสมาตั้งอยู่ที่นี่ ท่านราชทูตนั่งที่เก้าอี้ พระสังฆราชและข้าพเจ้านั่งบนพรมที่อยู่ข้างๆ ท่าน เมอซิเออก็องสต็องส์และขุนนางผู้ใหญ่หมอบอยู่ที่พื้น คุณพ่อเดอ ลีออนน์และคุณพ่อวาเชต์นั่งอยู่ด้านหลังพระสังฆราช การเข้าเฝ้าดำเนินไปด้วยการกราบทูลรายงานต่างๆ พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งให้ขุนนางคนหนึ่งยศออกพระ ยกตู้ทองคำเล็กมามอบให้ราชทูตเป็นเหมือนเกียรติสูงสุดที่พระองค์พระราชทานให้ท่าน และพระราชทานกางเขนและชุดบาทหลวงให้คุณพ่อวาเชต์และคุณพ่อเดอ ลีออนน์ ทรงอวยพรให้พวกเราเดินทางโดยสวัสดิภาพ ทุกคนต่างปีติยินดี ข้าพเจ้ามีความรู้สึกที่บอกไม่ถูกที่ต้องจากพระองค์ไป ขอพระเป็นเจ้าโปรดให้เราได้ไปพบกันในสวรรค์ พระเจ้าอยู่หัวตรัสถึงพระเป็นเจ้าอยู่เสมอๆ และโดยคุณงามความดีที่ทรงมี พระองค์ทรงสมควรได้รับการแก้ไขแสดงจากพระเป็นเจ้าผู้ทรงพระเมตตา พระองค์ทรงมาถูกทางแล้ว พระองค์จะทรงได้รับการแบ่งปันจากพระสังฆราย พวกเราจากไปด้วยความหวัง”
วันที่ 22 ธันวาคม เวลาสองนาฬิกาตอนเช้า เชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยาพร้อมคณะทูตของสมเด็จพระนารายณ์ ที่จะนำพระราชสาส์นของพระองค์ไปถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จดหมายของคอนสแตนติน ฟอลคอน ถึงคุณพ่อเดอ ลา แชส และรัฐมนตรีฝรั่งเศสของขวัญที่มีค่าและหลากหลายสำหรับพระเจ้าหลุยส์ พระราชินี และพระราชโอรส เช่น ผ้าชนิดต่างๆ เครื่องลายคราม หีบ อาวุธ ถ้วยแกะสลัก เหยือกทองคำ ขวดจากประเทศญี่ปุ่น กาน้ำชาทำด้วยเงิน เป็นต้น คณะทูตชุดนี้ได้ทำงานประสบความสำเร็จ เพราะสามารถทำให้มีการลงนามในสนธิสัญญาที่ให้ผลประโยชน์หลายด้านแก่ประเทศฝรั่งเศส
คณะทูตที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่งตั้ง ประกอบด้วย ออกพระวิสูตรสุนทร หรือ โกษาปาน ราชทูต หลวงกัลยาราชไมตรี อุปทูต และขุนศรีวิสารวาจา ตรีทูต คณะทูตชุดนี้มีคุณพ่อเดอ ลีออนน์ เป็นล่าม ที่จริงคุณพ่อไม่ต้องการทำหน้าที่นี้ แต่พระสังฆราชลาโนได้ใช้อำนาจของท่านในการออกคำสั่งให้ปฏิบัติตาม ลับเบเดอ ชัวซี เป็นพยานถึงเรื่องนี้ว่า “คุณพ่อเดอ ลีออนน์ ไม่ต้องการเลยที่จะกลับมาประเทศฝรั่งเศส แต่คุณพ่อต้องทำด้วยความนบนอบ พระสังฆราชพิจารณาถึงความจำเป็นและออกคำสั่ง”
นอกจากเพื่อทำหน้าที่ล่ามแล้ว พระสังฆราชลาโยมีความจำเป็นที่ส่งคุณพ่อเดอ ลิออนน์ ไปฝรั่งเศสเพื่อศึกษาเกี่ยวกับการเขียนระเบียบวินัยสำหรับมิสซัง เรื่องความรับผิดชอบและอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารคณะที่กรุงปารีสและพระสังฆราชประมุขมิสซังที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ และปัญหาเรื่องการบริหารมิสซัง
คณะทูตที่พระเจ้าแผ่นดินสยามส่งไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ใน ค.ศ.1686/พ.ศ. 2229
(จากซ้าย) ออกพระวิสูตรสุนทร หรือโกษาปาน ออกหลวงกัลยาราชไมตรี และออกขุนศรีวิสารวาจา
ก่อนที่คณะทูตจะเดินทางกลับ ฟอลคอนได้เขียนจดหมายลับถึงคุณพ่อตาชารด์ฝากให้ไปทำเรื่องสำคัญๆ เช่น ไปกราบทูลสมเด็จพระสันตะปาปา ไปหารือกับคุณพ่อมหาธิการคณะเยสุอิตและคุณพ่อเดอ ลา แชส เพื่อขอให้คุณพ่อเดอ ลา แชส กราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เรื่องการจัดตั้งสถาบันคาทอลิกขึ้นที่ประเทศสยาม ฟอนคอนได้เขียนจดหมายถึงคุณพ่อชาร์ลส์ โนแยล ขอให้ส่งพระสงฆ์เยสุอิตจำนวน 10-12 คน เข้ามาในประเทศสยาม
ลับเบเดอ ชัวซี ได้สังเกตเห็นความผิดปกติในความสัมพันธ์ระหว่างฟอลคอนและคุณพ่อตาชารด์จึงบันทึกไว้ว่า “เชอวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ และข้าพเจ้าเป็นเพียงหุ่นเชิดเท่านั้น คุณพ่อตาชารด์ต่างหากที่เป็นทูตที่แท้จริงในการสนทนาลับ”