-
Category: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยาม
-
Published on Friday, 26 October 2018 03:38
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 1433
ข้อมูลจากหนังสือ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน
พระสังฆราชผู้ยิ่งใหญ่ ชาวคริสต์ ผู้มีชัยและเป็นผู้ตื่นรู้ในธรรม
ซิสเตอร์ซีมอนนา สมศรี บุญอรุณรักษา เขียน
สำหรับเคานต์ ดอ ฟอร์แบง ที่เดินทางเข้ามาพร้อมกับคณะทูตฝรั่งเศสและต้องพำนักอยู่ในประเทศสยามนานถึง 3 ปี เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงขอตัวไว้ช่วยงานในราชอาณาจักร แต่สุดท้ายต้องออกจากประเทศสยามเพราะขัดใจกับฟอลคอน พระสังฆราชลาโนเสียดายการจากไปของฟอร์แบงเป็นอย่างมาก พระคุณเจ้าได้เขียนจดหมายแสดงความรู้สึกนี้ต่อผู้บริหารบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศว่า
“ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะแสดงให้ทราบถึงความไม่พอใจ ในการจากไปของเชอวาลิเยร์เดอฟอร์แบง บุคคลที่เราสามารถพึ่งพาอาศัยได้เป็นอย่างมากสำหรับความก้าวหน้าของมิสซัง ความกระตือรือร้นในตัวเขาไม่ได้ทำให้เราผิดหวังเลย เขามีความรักใคร่ผู้ร่วมงานโดยแสดงอออกให้เป็นที่ประจักษ์ทุกครั้งที่มีโอกาส ความตั้งใจดีของเขาสอดคล้องกับพระเมตตาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระนารายณ์) ที่ทรงแสดงออกและทรงแต่งตั้งให้มีตำแหน่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พวกเราหวังว่าจะเกิดประโยชน์แก่การประกาศพระวรสารเป็นอย่างมาก เขาเรียกคุณพ่อมานูแอลมาที่บางกอกเพื่อสอนคำสอนให้คนจำนวนมากที่อยู่ในความปกครอง แต่เคราะห์ร้ายเพราะมีเหตุการณ์ที่น่าหดหู่ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดฝันมาก่อน (กบฏมักกะสัน) เขาจึงต้องออกจากประเทศสยามให้เร็วที่สุด ขอคุณพ่อช่วยขอบคุณเขา (ฟอร์แบง) ที่กรุงปารีสให้ด้วย เพราะถ้าเขายังอยู่ที่นี่เราจะขอบคุณด้วยตัวเอง ไม่เพียงแต่เขาจะช่วยพวกเราเมื่อมีโอกาสเท่านั้น แต่ยังพยายามอย่างกระตือรือร้นที่จะหาโอกาส”
สำหรับประวัติย่อ เคาน์เดอ ฟอร์แบง เกิดวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1656/พ.ศ.2199 ที่การ์ดานน์ ใกล้ๆ เอ็กอองโปรว็องต์ ประเทศฝรั่งเศส เดินทางเข้ามาในประเทศสยามโดยการชักชวนของเชอวาลิเยร์ เดอ โชมองต์ แต่ไม่แน่ใจจึงไปปรึกษากับพระคาร์ดินัลจอห์นสัน (พระสังฆราชของสังฆมณฑลโบเวส์ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติ) และอเล็กซองดร์ บ็องต็อง (หัวหน้าสำนักพระราชวังของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) ทั้งสองได้แนะนำฟอร์แบงให้ตอบตกลง
ที่จริงการขอให้ฟอร์แบงอยู่ช่วยงานที่ประเทศสยามนั้นเป็นเพียงข้ออ้าง แต่เหตุผลที่แท้จริงก็คือสมเด็จพระนารายณ์ทรงปรารถนาจะเอาตัวฟอร์แบงไว้เป็นตัวประกัน แทนคณะทูตที่พระองค์ทรงส่งไปที่ประเทศฝรั่งเศส จนกว่าคณะทูตชุดนี้จะเดินทางกลับประเทศสยาม ครั้งแรกชาวฝรั่งเศสไม่ตกลงให้เอาตัวฟอร์แบงไว้ แต่ฟอลคอนเข้ามาไกล่เกลี่ยโดยกล่าวกับลับเบเดอ ชัวซี ว่า “ขอให้เชอวาลิเยร์เดอ ฟอร์แบง ไม่ต้องหนักใจเกี่ยวกับอนาคต ข้าพเจ้าจะเป็นคนจัดการเอง เขายังไม่รู้จักประเทศและคุณค่าของที่นี่ดีพอ เราจะแต่งตั้งเขาเป็นแม่ทัพ และนายพลในกองทัพของพระเจ้าอยู่หัว และเจ้าเมืองบางกอก ที่นี่เขาจะสร้างป้อมปราการที่พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสจะส่งคนมาดูแล”
เมื่อเป็นดังนี้ ฟอร์แบง จึงจำต้องอยู่ที่ประเทศสยามตามที่เชวาลิเยร์เดอ โชม็องต์ หัวหน้าคณะทูตขอร้องว่า “ข้าพเจ้าไม่สามารถปฏิเสธการขอของพระเจ้าอยู่หัว ที่รับสั่งเป็นการส่วนพระองค์กับข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอให้คำแนะนำแก่ท่านดุจดังเพื่อนรักว่า ให้รับสิ่งเขาจะมอบให้ เพราะถึงอย่างไรก็ตาม เมื่อพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์แน่วแน่ ท่านก็จำเป็นต้องทำตาม”
แต่ฟอลคอนเป็นคนขี้อิจฉาและช่างระแวงสงสัย ทนดูไม่ได้ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีพระเมตตาต่อฟอร์แบง โดยเฉพาะเมื่อพระองค์พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น “ออกพระศักดิ์สงคราม” ที่จริงหลังจากได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองบางกอกแล้ว ฟอร์แบงอยากกลับไปทำงานที่ลพบุรีมากกว่าเขาได้เล่าต่อมาภายหลังว่า “...ข้าพเจ้าอยากกลับไปที่พระราชวัง ข้าพเจ้าได้เขียนไปหาเมอซิเออก็องสต็องซ์ แต่เขาไม่ต้องการให้ข้าพเจ้าเข้าใกล้พระเจ้าอยู่หัวเลย ดังนั้น เขาพยายามหาเหตุผลปฏิเสธการขอของข้าพเจ้า”
แม้ว่าสมเด็จพระนารายณ์จะทรงมีพระเมตตาต่อฟอร์แบง แต่เขาก็ทนอยู่ที่ประเทศสยามต่อไปไม่ได้ และเก็บความไม่ดีไว้ในความทรงจำอย่างที่แสดงออกในเวลาต่อมาว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกมีความสุขอย่างมากที่ได้ออกจากประเทศที่เลวร้ายนี้ ขณะนี้ข้าพเจ้าลืมความเจ็บปวดทุกอย่างขณะที่อยู่ที่นั่น”
ขณะที่ฟอร์แบงกำลังจะออกจากประเทศสยาม พระสังฆราชลาโนได้เขียนจดหมายไปหาผู้บริหารบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศว่า “ข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยว่าฟอร์แบงจะไม่พูดบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้เข้าใจว่า (ฟอลคอน) หาทางหลอกลวงพวกเรา จงอย่าแปลกใจเลยเพราะเขาจากไปอย่างไม่พอใจ”
พระคุณเจ้าลาโนได้เขียนจดหมายไปถึงเมอซิเออเลอ มาควิส เดอ แซเยอเล ในทำนองเดียวกันว่า “เป็นเรื่องจริงว่าได้เกิดปัญหานี้ระหว่างเขา (ฟอลคอน) และชาวฝรั่งเศสที่นี่ แต่ทุกอย่างเกิดจากความวิตกกังวลหลายประการ ข้าพเจ้าพยายามใช้อำนาจที่มีอยู่ขจัดสิ่งร้ายๆ ที่จะเกิดขึ้น (...) มีก็แต่เมอซิเออเดอ ฟอร์แบง ที่ด่วนจากไป เขาประพฤติตัวเป็นสุภาพบุรุษตลอดเวลาเมื่ออยู่ที่นี่ แต่พระเมตตาของพระเจ้าอยู่หัวที่มีต่อเขา มีมากจนก่อให้เกิดความอิจฉาขึ้น ทำให้เขาต้องจากไปด้วยความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง”
ฟอร์แบงเองได้บันทึกในภายหลังเกี่ยวกับคำแนะนำของพระสังฆราชลาโนว่า “จงดูตัวท่านให้ดี โดยมอบตัวไว้ในความคุ้มครองของคนโปรตุเกสเหล่านี้ ข้าพเจ้ารู้จักเมอซิเออก็องสต็องซ์ดีอย่าสงสัยในตัวพวกเขา เพราะมีคำสั่งให้พวกเขาสังหารท่านในระหว่างทาง จากนั้นเสนาบดีคนนี้ (ฟอลคอน) จะสั่งจับคนเหล่านี้ไปแขวนคอ เพื่อที่คนโปรตุเกสจะได้ไม่สามารถกล่าวหาเขาและเขาจะกราบทูลพระเจ้าอยู่หัวว่า เขาต้องสังหารคนเหล่านี้เพื่อแก้แค้นที่พวกเขาฆ่าเชอวาลิเยร์เดอฟอร์แบง พระเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อทุกอย่างที่เขาพูดอย่างซื่อบริสุทธิ์ เชื่อข้าพเจ้าเถิด จงเอาตัวรอดออกห่างจากเงื้อมมือของศัตรูที่จอมปลอมและโหดร้าย เพราะท่านฉลาดพอที่จะไม่ตกในเล่ห์เหลี่ยมของเขา”
เหตุการณ์ร้ายๆ หลังจากคณะทูตกลับไป
ตลอดปี ค.ศ. 1686/พ.ศ.2229 ได้เกิดเหตุการณ์ร้ายๆ หลายอย่างที่ประเทศสยาม
1. เดือนมกราคม สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระประชวร
2. เดือนมิถุนายน ช้างหลวงเชือกหนึ่งได้หนีเข้าป่า ต้องใช้เวลาหนึ่งเดือนจึงหาพบ
3. ประมาณกลางเดือนกรกฎาคม เกิดกบฏมักกะสัน หรือแขกมากัสซาร์ (Makassar ปัจจุบันอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย) มีการต่อสู้และมีคนตายจำนวนมาก เหตุการณ์สงบลงในเดือนกันยายน ดังนั้น วันที่ 7 ตุลาคม ฟอลคอนได้ขอมิสซาโมทนาคุณพระเป็นเจ้า พระสังฆราชลาโนเป็นประธานในพิธี ระหว่างมิสซามีการขับบทเพลงเตเดอุม