-
Category: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยาม
-
Published on Friday, 26 October 2018 03:37
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 1699
เรื่องคณะทูตชุดที่สองซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวหลุยส์ที่ 14 มีการเขียนกันอย่างกว้างขวาง ดังนั้น ในที่นี้จะขอกล่าวแต่พอสังเขป
คณะทูตเดินทางมาถึงเมืองเบรสวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1686/พ.ศ.2229 หลังจากใช้เวลาเดินทางนานกว่า 7 เดือน พวกเขาได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริกจากบุคคลสำคัญของเมืองนี้ วันรุ่งขึ้นปืนใหญ่จำนวน 50 กระบอก และปืนคาบศิลาจากทุกค่ายทหาร รวมแล้วมากกว่า 200 กระบอก ถูกลำเลียงมาวางบนสะพานใกล้ที่จอดเรือของคณะทูต และได้ยิงต้อนรับทั้งวัน
คณะทูตสยามกำลังทูลถวายของกำนัลแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14
คุณพ่อวาเชต์บันทึกไว้ว่า “สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกประหลาดใจ และสังเกตได้ว่าท่านราชทูตของเราไม่เคยทำหน้าที่นี้มาก่อน แต่ท่านกลับปฏิบัติตัวได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ” จากนั้นผู้ปกครองเมืองได้นำคณะทูตเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของเมือง
การขึ้นบกที่เมืองเบรสของคณะทูตชาวสยามถือเป็นเกียรติของเมืองนี้ มีการตั้งชื่อถนนสายหนึ่งว่า “ถนนสยาม” (Rue du Siam) เป็นอนุสรณ์สำหรับเหตุการณ์นี้ ถนนสายนี้ยังคงปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้
เจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เป็นผู้นำทางคณะทูตจากเมืองเบรสไปจนถึงกรุงปารีส ทางราชสำนักสั่งให้ทุกเมืองที่คณะทูตเดินทางผ่านจัดการต้อนรับอย่างสมเกียรติเท่าที่จะทำได้ มีการยิงสลุตทุกเมืองที่ผ่านไป ชาวบ้านต่างออกมาดูที่หน้าบ้านของตน คณะทูตพักอยู่ที่เมืองแบร์นีในแคว้นปีร์กาดีนานประมาณหนึ่งเดือน
ช่วงที่เดินทางเข้ากรุงปารีส พระเจ้าหลุยส์ทรงส่งรถม้าพระที่นั่งมารับราชทูต ติดตามด้วยขบวนรถม้าเกียรติยศจากราชสำนัก ที่กรุงปารีส คณะทูตเข้าพักที่โรงแรมตูร์น็อง และได้รับการต้อนรับที่วิทยาลัยหลุยส์เลอกรังด์ มีการกล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับทั้งหมด 24 ครั้ง 24 ภาษา
หลังจากคณะทูตได้เยี่ยมชมสถาปัตยกรรมอาคารสำคัญและวัดวาอารามต่างๆ แล้ว พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดให้เข้าเฝ้าอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1686/พ.ศ.2229 ที่พระราชวังแวร์ซายส์
ช่วงที่พำนักอยู่ที่กรุงปารีส คณะทูตได้รับการต้อนรับที่บ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ คุณพ่อเดอ บริสาซีเยร์ อธิการใหญ่ของบ้านเณร ได้กล่าวสุนทรพจน์ต้อนรับ จากนั้นมีตัวแทนพระสงฆ์ผลัดกันกล่าวเป็นภาษาต่างๆ โดยให้เหตุผลถึงภาษาที่ใช้กล่าวสุนทรพจน์ว่า ภาษาฮีบรูเป็นภาษาของนักปราชญ์ ภาษากรีกเป็นภาษาสุภาพ ภาษาลาตินเป็นภาษาที่หนักแน่น และภาษาสยามเป็นภาษาที่จะนำความชื่นชมยินดีมาสู่คณะทูต
ที่ห้องอาหารของบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศมีการจัดเลี้ยงรับรองอย่างดี ถือเป็นการเลี้ยงส่งก่อนเดินทางกลับประเทศสยาม มาดามมิรามีอองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไม่กี่วันต่อมาคณะทูตได้ไปฟังการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ของสามเณรอันโตนิโอ ปินโต ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ สามเณรชาวสยามคนนี้ได้รับคะแนนเกียรตินิยมจากคณะกรรมการสอบ
การเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสของคณะทูตนี้ มีการโปรดศีลล้างบาปให้แก่เด็กหนุ่มชาวสยามจำนวน 11 คน ที่วัดแซงต์ซูลปิส ในเขต 6 ของกรุงปารีส ที่จริงมีทั้งหมด 12 คน แต่มีคนหนึ่งป่วย จึงต้องรอจนกว่าเขาจะหายดี
มาดามมิรามีอองเจ้าภาพจัดงานเลี้ยงคณะทูตที่บ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ มีความประสงค์จะส่งนักบวชหญิงในคณะครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ที่เธอได้ตั้งขึ้น มาทำงานที่ประเทศสยามเพื่อมาสอนคำสอนผู้หญิงและทำงานในโรงเรียน แต่โครงการนี้ไม่เคยประสบผลสำเร็จเลย จนกระทั่งนักบวชคณะนี้ถูกยุบไปสมัยการปฏิวัติใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส
สมเด็จพระนารายณ์ทอดพระเนตรสุริยุปราคาบางส่วน ร่วมกับคณะมิชชันนารีเยสุอิต
ณ พระตำหนักทะเลชุบศร เมืองลพบุรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ.1688/พ.ศ.2231
ภาพวาดสีน้ำที่คุณพ่อปูโช (Pouchot) คณะเยสุอิต มอบให้หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ.1762/พ.ศ.2305
ภาพดังกล่าวถูกเก็บรักษาอยู่ ณ หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
สมเด็จพระนารายณ์ทรงสังเกตการณ์การเกิดจันทรุปราคาเต็มดวง ร่วมกับบรรดาคุณพ่อคณะเยสุอิต
ณ พระตำหนักทะเลชุปศร เมืองลพบุรี เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ.1685/พ.ศ.2228
คุณพ่อเดอ ลีออนน์ ผู้ติดตามคณะทูตไปทุกที่ในฐานะล่าม ได้เขียนไปบอกคุณพ่อวาเชต์ว่า “พวกเขาเหล่านี้ (คณะทูตชาวสยาม) เป็นคนซื่อตรง อ่อนโยน และสุภาพ”
วันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1687/พ.ศ. 2230 คณะทูตได้ไปกราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่พระราชวังแวร์ซายส์ คุณพ่อเดอ ลีออนน์ เป็นผู้แปลสุนทรพจน์ซึ่งได้กล่าวทั้งหมด 10 ครั้ง ทุกคนรู้สึกว่าเป็นสุนทรพจน์ที่มีความสละสลวย แต่ส่วนมากจะเป็นบทสั้นๆ มีแบบที่แตกต่างกันออกไป เป็นการถอดออกมาจากต้นแบบภาษาสยามที่ดูเหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด และความอ่อนพลิ้วที่มาจากความสามารถของผู้ทำหน้าที่แปล