-
Category: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยาม
-
Published on Friday, 26 October 2018 03:37
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2360
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 หรือสุริยกษัตริย์ ตามพระฉายาที่ทรงได้รับ ทรงแต่งตั้งคณะทูตชุดที่สองเพื่อเข้ามาเจรจาเรื่องศาสนาและการค้ากับราชสำนักสยาม ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่นี้คือ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ และ โคล้ด เซเบอเรต์ ดือ บูเล คณะทูตชุดนี้ได้ออกเดินทางมาพร้อมกับคณะทูตของสมเด็จพระนารายณ์ที่เดินทางกลับมาประเทศสยาม
คณะทูตได้นำพระราชสาส์นลงวันที่ 20 มกราคม ค.ศ.1687/พ.ศ.2230 ของพระเจ้าหลุยส์เข้ามาถวายสมเด็จพระนารายณ์ ในพระราชสาส์นฉบับนี้ พระเจ้าหลุยส์ไม่ได้ตรัสถึงเรื่องศาสนาเพียงแต่ขอบคุณสำหรับมิตรภาพ ของกำนัล และพูดถึงพระสงฆ์เยสุอิตนักคณิตศาสตร์ 12 องค์ ที่ส่งมาเพื่อจัดตั้งหอดูดาวที่กรุงศรีอยุธยาและลพบุรี นอกนั้นยังมีจดหมายของรัฐมนตรีเดอ แซเยอเล ที่เขียนถึงฟอลคอน จดหมายของคุณพ่อเดอ ลา แชส ที่นำมาถวายสมเด็จพระนารายณ์ เพื่อฝากฝังพระสงฆ์เยสุอิตทั้ง 12 องค์ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณสำหรับกางเขนทองคำที่ทรงฝากไปให้ จดหมายฉบับนี้เขียนในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1687/พ.ศ.2230
คณะทูตได้มาพบกันที่เมืองเบรสวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1687/พ.ศ.2230 เพื่อออกเดินทางโดยเรือสี่ชั้น 2 ลำ คือ เลอ กายยารด์ และลัวโซ เรือสำเภา 3 ลำ คือ เลอ โดรมาแดร์ ลา ลัวร์ และลานอร์มังด์ และเรือฟรีเกต (เรือรบ) 1 ลำ คือ ลา มาลีญ รวมผู้โดยสารทั้งสิ้นจำนวน 1,361 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารทั้งหมด 636 นาย ทหารเหล่านี้ถูกส่งมาดูแลป้อมปราการที่เมืองบางกอกและเมอร์กุย (มะริด)
เมอซิเออเดอ ลา ลูแบร์ ได้รับมอบหมายให้เข้ามาจัดการเรื่องผลประโยชน์ด้านการเมืองและศาสนา เมออซิเออเซเบอเรต์ได้รับมอบหมายให้มาทำสนธิสัญญาด้านการค้า ส่วนผู้นำทหารคือ นายพลเดฟาร์จ อดีตนายพันในกองทหารรักษาพระองค์ของสมเด็จพระราชินีฝรั่งเศส
คณะทูตได้เดินทางมาถึงสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ.1687/พ.ศ.2230 หลังการเดินทางนาน 6 เดือน 27 วัน จำนวนทหารที่ออกเดินทาง 636 คน ได้ล้มตายจำนวนไม่น้อยมีเพียง 492 คน ที่รอดชีวิต เมื่อเรือลัวโซมาถึงปากแม่น้ำ คุณพ่อตาชารด์ได้รีบเดินทางล่วงหน้าเพื่อไปสนทนากับฟอลคอน
ตอนแรกที่มาถึง คณะทูตไม่ประสบความสำเร็จดังที่ได้คาดหมายไว้ พวกเขาได้รับการต้อนรับค่อนข้างเย็นชาและไม่ยิ่งใหญ่เท่าคณะทูตชุดก่อน แต่หลังจากได้เจรจาต่อลองกันหลายครั้งในที่สุด สมเด็จพระนารายณ์ทรงยอมตกลงยกเมืองบางกอกให้เป็นที่พำนักของทหารฝรั่งเศส นายพลเดฟาร์จมีผู้อยู่ใต้บัญชาทั้งชาวฝรั่งเศสและคนไทยจำนวนเท่าๆ กัน ในจำนวนนี้มีลูกผู้ชายสองคนของเขารวมอยู่ด้วย
ทหารฝรั่งเศสกำลังออกจากเมืองเมอร์กุย (มะริด)
ทหารฝรั่งเศสได้ครอบครองบางกอกและมะริดสมดังที่เขาต้องการ ท่ามกลางความไม่พอใจของเสนาบดีผู้ใหญ่ที่เริ่มบนว่า ทรงราชสำนักยกประเทศให้แก่ชาวตะวันตก เมื่อเป็นเช่นนี้ชาวฮอลันดาจึงฉวยโอกาสยุยงขุนนางเหล่านี้ โดยคิดว่าถ้ามีอะไรเกิดขึ้นพวกเขาก็เป็นฝ่ายได้ ไม่ต้องเสียอะไรเลย แม้ว่าขณะนี้ฟอลคอนจะมีอำนาจสูงสุด แต่เขาก็ไม่สามารถควบคุมเสนาบดีเหล่านั้นได้และฐานะทางการเงินของเขาก็ไม่มั่นคงเหมือนแต่ก่อน
ในการเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูตครั้งนี้ ข้างฝ่ายฝรั่งเศสได้วางแผนผิดพลาดจากเหตุผล 2 ประการ ประการแรกคือ การแบ่งอำนาจให้บุคคลถึง 3 คน คือเมอซิเออเดอ ลา ลูแบร์ เมอซิเออ เซเบอเรต์ และนายพลเดฟาร์จ ที่จริงเรื่องการกระจายอำนาจในคณะทูต ฝรั่งเศสเองก็ได้ทำผิดพลาดมาแล้วครั้งที่ไปตัวเกี๋ย ประการที่สองคือ การเลือกผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้า หรือพูดง่ายๆ ก็คือสองในสามคนที่บุคลิกภาพที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำและผู้ที่จะไปติดต่อกับคนอื่น เมอซิเออ ลา ลูแบร์ มีนิสัยเป็นคนหยิ่งจองหองและขี้โมโห เป็นการยากที่เขาจะประสบความสำเร็จในงานที่ต้องการผ่อนหนักผ่อนเบามากกว่าความกระด้างกระเดื่อง ส่วนนายพลเดฟาร์จเป็นคนหัวรั้นและอวดดี โลเล นิสัยหงุดหงิดง่ายและขี้น้อยใจ คุณสมบัติดีที่เขามีเพียงอย่างเดียวก็คือความกล้าหาญ
มีเพียงเมอซิเออเซเบอเรต์คนเดียวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับสถานการณ์ เขาเป็นคนสุขุมไม่ประมาท คมคาย สุภาพ และซื่อตรง ถ้าเขาเป็นหัวหน้าในคณะทูต บางทีเรื่องต่างๆ อาจจะดีขึ้นและประเทศฝรั่งเศสคงจะไม่ต้องมีประวัติศาสตร์ในด้านการเมืองที่ต้องถูกบันทึกไว้อย่างเจ็บปวดและเสียหายอย่างมากเช่นนี้ แต่เซเบอเรอต์ได้ทำหน้าที่เพียงแค่เรื่องการค้า และเมื่อเสร็จภารกิจแล้วเขาก็เดินทางออกจากประเทศสยามทันที
เมื่อผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยเดินทางออกจากประเทศสยามไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างเมอซิเออลา ลูแบร์ และฟอลคอน เริ่มไม่ราบรื่น การใช้คำพูดกลายเป็นเหมือนยาขม จนบางครั้งถึงกับกระโชกโฮกฮากต่อกัน และในที่สุดก็ถึงขั้นแตกหักไม่มีใครสามารถช่วยให้ทั้งสองกลับมาคืนดีกันได้ ไม่ว่าจะเป็นมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส หรือแม้แต่คุณพ่อตาชารด์
หลังจากที่คณะทูตเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้มีกำหนดให้เข้าเฝ้าวันที่ 2 พฤศจิกายน แต่วันรุ่งขึ้นเป็นวันที่สมเด็จพระนารายณ์จะเสด็จไปล่าสัตว์ที่ลพบุรี ดังนั้น พระองค์จึงทรงมอบให้ฟอลคอนจัดการเรื่องการต้อนรับทูตฝรั่งเศส เพราะช่วงหลังๆ พระองค์ทรงปล่อยเรื่องการบริหารบ้านเมืองให้ฟอลคอนเสียเป็นส่วนมาก เมื่อเป็นเช่นนี้การเข้าเฝ้าจึงถูกเลื่อนออกไป ฟอลคอนและคุณพ่อตาชารด์รีบตามเสด็จไปลพบุรีทันที คณะทูตได้เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน เมอซิเออเซเบอเรต์ทำงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ เพราะสนธิสัญญาด้านการค้าได้ลงนามในวันรุ่งขึ้น (วันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1687/พ.ศ.2230) สนธิสัญญาฉบับนี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุกรุงปารีสมีทั้งหมด 3 ชุด ชุดแรกเป็นภาษาโปรตุเกส ชุดที่สองเป็นภาษาไทย และชุดที่สามเป็นภาษาฝรั่งเศส
หลังจากที่ทำงานสำเร็จแล้ว วันที่ 13 ธันวาคม เมอซิเออเซเบอเรต์ได้เข้าเฝ้ากราบทูลลาสมเด็จพระนารายณ์ และวันที่ 16 ธันวาคม ได้เดินทางออกจากบางกอก ข้างฝ่ายเมอซิเออลา ลูแบร์ ก็ต้องการเดินทางกลับเช่นเดียวกัน เขาได้ไปลาฟอลคอน แต่ทั้งสองไม่สามารถจะพูดจากันได้อีก ดังนั้น วันที่ 23 ธันวาคม สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้เมอซิเออลา ลูแบร์ เข้าเฝ้าเพื่อกราบทูลลาหลังจากเข้าเฝ้าแล้วเขารีบเดินทางออกจากประเทศสยามทันที
เมอซิเออเซเบอเรต์เดินทางกลับทางชายฝั่งโคโรมันเดลโดยเรือ “ลัวโซ” ส่วนคุณพ่อตาชารด์ และเมอซิเออลา ลูแบร์ โดยสารเรือ “เลอ กายยารด์” ตลอดระยะเวลาในการเดินทาง 7 เดือน ทั้งสองทะเลาะกันอย่างเปิดเผย เรือที่เขาโดยสารมาถึงเมืองเบรสเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1688/พ.ศ.2231 ส่วนเรือของเมอซิเออเซเบอเรต์เดินทางมาถึงก่อนหนึ่งสัปดาห์ ในเรือลำนี้เคานต์เดอฟอร์แบง ซึ่งเดินทางออกจากประเทศสยามก่อนหน้านี้ ได้ร่วมเดินทางมากับเมอซิเออเซเบอเรต์ด้วย
นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า ดูเหมือนการเจรจาของคณะทูตฝรั่งเศสจะประสบความสำเร็จ แต่มีความขมขื่นซ่อนอยู่ จากการเข้ามาของคณะทูตชุดนี้ ทำให้สามารถเห็นตัวตนของฟอลคอนได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เขาไม่มีความจริงใจต่อพระสังฆราชลาโนและมิชชันนารีฝรั่งเศสแต่กลับไปสมคบกับคุณพ่อตาชารด์ ท่านลาโนเองตระหนักดีถึงสถานการณ์นี้ พระคุณเจ้าได้เขียนจดหมายไปถึงผู้บริหารบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศว่า
“ข้าพเจ้าไม่ได้ถูกเรียกให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับอะไรเลย ในการเดินทางมาของคณะทูตชุดนี้ ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้ยื่นมือเข้าไปยุ่งเกี่ยว และไม่ทราบว่าบทสรุปเป็นอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าท่านสุภาพบุรุษทั้งหลายที่ถูกส่งมาไม่พอใจเลย ที่จริงข้าพเจ้าได้ยินข่าวลือว่า สนธิสัญญาด้านการค้าไม่ได้เลวร้ายนัก ส่วนเรื่องเกี่ยวกับศาสนาแทบจะไม่มีการพูดถึง แต่เขาก็บอกว่าได้รับผลประโยชน์มากและเป็นเรื่องที่เป็นไปในทางบวก แต่ไม่ทราบว่าหมายถึงเรื่องอะไร สิ่งที่น่ากลัวคือพระเจ้าอยู่หัว (พระเจ้าหลุยส์) จะไม่ทรงพอพระทัยและตำหนิว่าทำได้น้อยมาก ท่านสุภาพบุรุษได้รับคำสั่งให้มาสนทนากับข้าพเจ้า และมาถามข้าพเจ้าถึงจำนวนคริสตังที่ประเทศนี้ เพื่อจะนำไปทูลรายงานพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าบอกกับพวกเขาในสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์กับพระศาสนา และได้บอกจำนวนคริสตังและสถานที่ตั้งของกลุ่มคริสตชนไปด้วย”
สำหรับการเดินทางเข้ามาของคณะทูตชุดที่สองนี้ ฟอลคอนให้ความสนใจเฉพาะด้านการค้าเท่านั้น แต่พระสังฆราชลาโนมีความประสงค์จะให้สนธิสัญญาด้านศาสนาเป็นไปเหมือนสนธิสัญญาฉบับที่แล้วที่ทำไว้ใน ค.ศ. 1685/พ.ศ. 2228 คุณพ่อตาชารด์ซึ่งอยู่ข้างฟอลคอนได้พยายามขัดขวางหลายครั้งไม่ให้มีการพูดเกี่ยวกับเรื่องศาสนา และหลังจากที่เมอซิเออลา ลูแบร์ แตกหักกับฟอลคอนและคุณพ่อตาชารด์อย่างขาดสะบั้น ในเดือนธันวาคมก่อนที่จะเดินทางกลับ เมอซิเออลา ลูแบร์ ยังพยายามที่จะใส่เรื่องศาสนาและพยายามนำเสนอ แต่เวลาไม่อำนวย และไม่มีความเป็นไปได้สำหรับข้อเสนอของเขา คุณพ่อตาชารด์เห็นดีเห็นงามกับฟอลคอนในทุกเรื่อง สำหรับข้อเสนอเรื่องศาสนาฟอลคอนได้เรียกประชุมและพูดกับพระสังฆราชลาโนต่อหน้าที่ประชุมว่า ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะประกาศเรื่องสิทธิในด้านศาสนา แผนการของเขาก็คือ ต้องการทำให้ท่านลาโนยอมจำนนต่อเขาด้วยการพูดด้วยเสียงตะคอก แต่พระคุณเจ้าได้ย้อนว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ ท่านพูดอย่างอ่อนโยน สุภาพ และอดทน กับการเอะอะโวยวายของฟอลคอน ที่อยู่ในฐานะได้เปรียบท่านเป็นอย่างมาก
แม้ว่าท่านลาโนจะใช้ความพยายามเพื่อทำให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี แต่ก็เป็นไปไม่ได้เพราะฟอลคอนมีอำนาจอยู่ในมือ และทูตที่ถูกส่งมามีข้อจำกัดในเรื่องบุคลิกภาพดังที่ได้กล่าวมาแล้ว