-
Category: การเลือกตั้งพระสันตะปาปา
-
Published on Wednesday, 21 October 2015 04:31
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3350
พระสันตะปาปาคือผู้สืบทอดตำแหน่งของนักบุญเปโตร ที่ได้รับอำนาจสืบทอดมาจากพระคริสตเจ้าอีกทีหนึ่ง ท่านเป็นผู้แทนของพระคริสตเจ้าบนโลกนี้ นอกนั้นยังถือว่าพระสันตะปาปาคือ พระสังฆราชแห่งโรมอีกด้วย
การเลือกตั้งพระสันตะปาปา ในยุคแรกๆ นั้น เริ่มกันอย่างไรก็ไม่แจ้งชัดนัก เราทราบเพียงแต่ว่าบรรดาพระสงฆ์และประชาชนชาวโรม เป็นผู้เลือกพระสังฆราชของตนจากบุคคลที่น่านับถือในสายตาของพวกเขา มีการใช้ระบบเลือกอย่างเสรี คือเอาคะแนนเสียงส่วนใหญ่เป็นเกณฑ์เรื่อยมาจนถึงศตวรรษที่ 8 ต่อมาระบบนี้ก็ใช้ได้อีกแต่เนื่องจากอำนาจของพระสันตะปาปาเริ่มมีมากขึ้น ไม่เพียงแต่ในด้านพระศาสนจักรแต่ในด้านอาณาจักรด้วย บรรดาขุนนางผู้มีอำนาจและโลภมากในทรัพย์สมบัติได้เข้ามาสอดแทรกมีอิทธิพลในระบบการเลือกตั้งเดิม ทำให้เกิดความด่างพร้อยในระบบ เพราะพวกเขาสนับสนุนเอาญาติพี่น้องของตนเข้ามามีอำนาจในสภาบริหารวาติกัน และมีอำนาจเหนือพระสันตะปาปาด้วยในบางครั้ง ยุคนี้เลยเรียกกันติดปากว่าเป็นยุคเหล็กแห่งการเลือกตั้งพระสันตะปาปา
มาถึงศตวรรษที่ 11 แนวโน้มของการเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการเลือกตั้งพระสันตะปาปามีมากขึ้น พระสันตะปาปานิโคลัส ที่ 2 (ค.ศ.1058-61) จึงได้ประกาศกฤษฎีกาออกมาว่า ผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปานั้นต้องเป็นพระคาร์ดินัลระดับสังฆราชเท่านั้น (พระคาร์ดินัล ระดับสังฆราชนี้ โดยทั่วไปจะมีวัดของตนอยู่รอบๆ โรม) ต่อมาพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 3 (ค.ศ.1159-81) และสังคายนาลาเตรัน ครั้งที่ 3 ในปี ค.ศ.1179 ได้ขยายความออกไปว่า พระคาร์ดินัลทุกองค์มีสิทธิ์ได้รับเลือ กให้เป็นพระสันตะปาปา (พระคาร์ดินัลมีหลายระดับ เช่น พระคาร์ดินัลสังฆราช พระคาร์ดินัลสงฆ์ และพระคาร์ดินัลสังฆานุกร) หลักเกณฑ์นี้ใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
การประชุมลับเพื่อเลือกพระสันตะปาปานั้นเริ่มใช้ในศตวรรษที่ 13 เนื่องจากมีกรณีเลือกพระสันตะปาปาที่ไม่ลงตัว และใช้เวลานานเกือบสามปีกว่าจะมีการเลือกกันได้ พระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 10 (ค.ศ. 1272-76, บุญราศี) ได้ประกาศเป็นกฎในสังคายนาเมืองลีญอง ในปี ค.ศ. 1274 ว่าในการเลือกตั้งพระสันตะปาปาในคราวต่อไปนั้น พระคาร์ดินัลทุกองค์ต้องอยู่ในห้องประชุ มและห้ามออกมาจนกว่าจะเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ได้ คำสั่งนี้ใช้ได้ระยะหนึ่งและต่อมาก็เลิกใช้ชั่วคราว และต่อมาถึงสมัยของ พระสันตะปาปาเซเลสทีน ที่ 5 ก็ได้รื้อฟื้นระบบประชุมลับนี้ขึ้นมาใช้อีกครั้งและเพื่อไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงอีกในอนาคต พระสันตะปาปาโบนิฟาส ที่ 8 ทรงสั่งให้ใส่ระเบียบนี้ไว้ในกฎหมายของพระศาสนจักรเป็นการถาวร
วิธีการเลือกตั้งพระสันตะปาปานั้นมี 3 แบบคือ
1. เลือกโดยอาศัยแรงดลใจจากพระจิตเจ้า
วิธีนี้คือในวันแรกของการประชุม บรรดาพระคาร์ดินัลเลือกคนหนึ่งคนใดแล้วประกาศให้คนนั้นเป็นพระสันตะปาปาเลย โดยไม่ต้องมีการลงคะแนนเสียง แต่ถือเอาสียงส่วนใหญ่ที่ได้จากการซาวเสียงเป็นเกณฑ์ วิธีนี้เรียกว่า Viva Voce
2. เลือกโดยอาศัยหลักการประนีประนอมกัน
วิธีนี้เมื่อคะแนนมาถึงจุดที่เท่ากันจึงต้องใช้การเจรจาประนีประนอมและบรรดาพระคาร์ดินัลจะให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้าแล้วจะมี 3 คน 5 คน หรือ 7 คน ก็แล้วแต่เป็นตัวแทนเลือกพระสันตะปาปาในนามของคณะกรรมการนี้ถือเป็นเด็ดขาดที่ประชุมต้องยอมรับ
3. เลือกโดยอาศัยหลักการลงคะแนนลับ
วิธีนี้คือ วิธีที่ใช้มากที่สุดในประวัติการเลือกตั้ง พระสันตะปาปา และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ ผู้ที่จะได้รับเลือกนั้นจะต้องได้คะแนน 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด หากจำนวนสมาชิกไม่สามารถแบ่งได้เป็น 2 ใน 3 ก็จะให้เพิ่มคะแนนเข้าไปอีกหนึ่งเพื่อให้ครบตามจำนวน และเมื่อการลงคะแนนแต่ละครั้งผ่านไป จะมีการเผากระดาษคะแนนทุกๆ สองครั้ง
เมื่อเลือกพระสันตะปาปาได้แล้ว พระคาร์ดินัลอาวุโสจะถามความสมัครใจว่าจะรับตำแหน่งพระสันตะปาปาหรือไม่ ถ้ารับก็ถือว่ากระบวนการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลง ถ้าไม่รับก็จะมีการเลือกกันใหม่ ถ้าผู้ได้รับเลือกยอมรับตำแหน่งก็จะมีการถามว่า พระองค์ จะใช้ชื่ออะไร จากนั้นก็จะประกาศให้ประชาชนทราบว่าเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ได้แล้ว และใช้ชื่อว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ต่อมาก็จะมีการสวมมงกุฎสามชั้นแด่พระสันตะปาปาองค์ใหม่ โดยพระคาร์ดินัลผู้เป็นประธานในพิธี จากนั้นพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะสวมอาภรณ์และคล้องคอที่เป็นเครื่องหมายถึง ตำแหน่งพระสันตะปาปา เสร็จแล้วก็จะขึ้นประทับบนเสลี่ยงที่จะมีคนหามและเดินเป็นกระบวนแห่เสลี่ยงนี้ เรียกว่า พิธี Sedes Gestatoria เมื่อเสร็จแล้ว พระสันตะปาปาก็จะประกอบพิธีมิสซา เมื่อพิธีมิสซาเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระองค์จะเสด็จมาที่เฉลียงของพระมหาวิหารนักบุญเปโตร ตรงหน้าต่างที่เปิดออกไปสู่ลาน ทรงโบกพระหัตถ์ทักทายบรรดาสัตบุรุษที่รอชมพระพักตร์อยู่เบื้องล่าง จากนั้นพระองค์จะเสด็จไปประทับนั่งบนบัลลังก์ มีการร้องเพลงตามธรรมเนียม เสร็จพิธีแล้วพระคาร์ดินัลหัวหน้าจะก่อสวดบทข้าแต่พระบิดา จบแล้วก็จะถอดหมวกสูงที่ใส่ตอนพิธีมิสซาออก แล้วสวมหมวก Tiara หรือมงกุฎสาม ชั้นให้แทน ต่อมาพระคาร์ดินัลผู้เป็นประธานประกอบพิธีจะคุกเข่าลงพร้อมกับกล่าวว่า “ขอพระองค์โปรดรับ Tiara มงกุฎสามชั้นอันเป็นเครื่องหมายว่าพระองค์คือ บิดาของบรรดากษัตริย์และเจ้าชายทั้งหลาย พระองค์เป็นพระสันตะปาปาของโลกและเป็นผู้แทนของพระคริสตเจ้าพระผู้ช่วยให้รอดของชาวเราบนพื้นพิภพนี้ ซึ่งพระเกียรติมงคลของพระองค์ดำรงอยู่ตลอดทุกยุคทุกสมัย”
พระสันตะปาปาองค์ใหม่จะลุกขึ้นยืน และอวยพระพรแรกของพระองค์แก่กรุงโรม และโลกทั้งมวล