บันทึกโดยสังเขปเกี่ยวกับอาณาจักรสยาม

                    เขียนโดย  บาทหลวง ฌอง เดอ บูรช์ (Jean de Bourges)

 

หนึ่งปีที่เราพำนักอยู่ในสยาม ทำให้เรามีเวลาแสวงหาความรู้เกี่ยวกับลักษณะสำคัญๆ ของประเทศ ด้วยเหตุนี้เราจึงบรรยายได้ถูกต้องกว่าดินแดนอื่นๆ ที่เราเพียงแต่ผ่านไป

อาณาจักรสยามมีอาณาเขตจากทิศเหนือจดใต้ยาวกว่า ๓๐๐ ลิเยอ  แต่จากทิศตะวันออกไปตะวันตกมีความยาวน้อยกว่า

ทิศเหนือจดพะโค ทิศตะวันตกจดอ่าวเบงกอล ( La mer de Gange )  ทิศใต้จดรัฐเล็กๆ ของมะละกา ซึ่งทีแรกขุนนางคนหนึ่งได้ยกให้แก่พระเจ้าแผ่นดินสยาม ซึ่งไม่สามารถปกป้องรัฐนี้จากโปรตุเกสได้ ต่อมาโปรตุเกสก็ได้ปกครองรัฐนี้มากกว่า ๖๐ ปี แต่ปัจจุบันฮอลันดาทำสงครามยึดได้จากโปรดตุเกส ทิศตะวันออกมีอาณาเขตส่วนหนึ่งติดทะเล  และอีกส่วนหนึ่งติดเทือกเขาที่แบ่งแยกสยามออกจากเขมรและลาว

ที่ตั้งของอาณาจักรแห่งนี้อำนวยประโยชน์ให้เนื่องจากมีชายฝั่งกว้างใหญ่ และติดกับทะเล ๒ แห่ง  จึงเปิดทางให้ติดต่อกับประเทศใกล้เคียงทุกประเทศโดยทางทะเลได้  ชายฝั่งนี้ยาวประมาณ ๕๐๐-๖๐๐  ลิเยอ มีเรือจากทุกประเทศทอดสมอที่นี่ เช่น จากญี่ปุ่น  จีน  หมู่เกาะฟิลิปปินส์  จำปา เขมร เกาะชวา  สุมาตรา  อาณาจักรกอลกอนดาเบงกอล และตลอดแนวฝั่งโคโรมอนเดล ดังนั้น ฮอลันดาได้เข้ามาก่อตั้งบริษัทร้านค้าของตนที่นี่ ส่วนอังกฤษเริ่มเข้ามาในปี ค.ศ. ๑๖๖๒

อาณาจักรสยามแบ่งออกเป็น ๑๑ แคว้น คือ สยาม เมาะตะมะ ตะนาวศรี ถลาง ไทรบุรี เประ ยะโอร์ ปะหัง ปัตตานี นครศรีธรรมราช และสงขลา (Siara) 

เมื่อก่อนนี้แคว้นเหล่านี้มีฐานะเป็นอาณาจักร แต่ปัจจุบันอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าแผ่นดินสยาม โดยทรงส่งคนไปเป็นเจ้าเมือง ซึ่งพระองค์จะทรงถอดถอนเขาจากตำแหน่งได้ตามความพอพระทัย

สยามเป็นแคว้นที่สำคัญและเป็นชื่อเรียกอาณาจักรทั้งหมด รวมทั้งเมืองหลวงซึ่งอยู่ที่ละติจูด ๑๔.๕ บนฝั่งแม่น้ำที่สวยงามมากสายหนึ่ง ซึ่งเรือสำเภาบรรทุกสินค้าสามารถแล่นขึ้นมาจนถึงประตูเมืองได้  แม้ว่าจะอยู่ห่างจากทะเลมากกว่า ๖๐ ลิเยอก็ตาม

แคว้นเมาะตะมะ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นสยาม มีเมืองสำคัญตั้งอยู่ที่ละติจูด ๑๖ และเมืองท่า ชื่อเดียวกันกับแคว้นซึ่งก็เป็นเหมือนกับแคว้นอื่นๆ ทั้งหมด แคว้นตะนาวศรีอยู่ทางใต้ของแคว้นเมาะตะมะ และทางตะวันตกเฉียงใต้ของแคว้นสยาม คือตั้งอยู่ที่ละติจูด ๑๑

แคว้นถลางตั้งอยู่ใต้เส้นละติจูด ๘ แคว้นไทรบุรี (เกดะห์) ที่ละติจูด ๖ แคว้นเประ  ซึ่งติดอยู่กับรัฐมะละตั้งอยู่ใต้เส้นละติจูดที่ ๔  ห่างจากแคว้นยะโฮร์ ซึ่งมีเมืองหลวงชื่อเดียวกันและตั้งอยู่ที่ละติจูนที่ ๑๐  เมื่อเดินทางต่อไปอีก ๒-๓ นาที  แล้วเลี้ยวเลียบชายฝั่งและขึ้นไปทางแคว้นสยามก็จะถึงแคว้น ปะหัง ปัตตานี นครศรีธรรมราชและสงขลา แคว้นทั้งสี่นี้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศราช โดยเหตุที่ผู้ครองเมืองมิได้ขึ้นตรงโดยเด็ดขาดต่อพระเจ้าแผ่นดินสยามเพียงแต่ส่งเครื่องบรรณาการบางอย่าง มาถวายเท่านั้น ดังนั้นอาณาเขตแท้จริงของอาณาจักรสยามซึ่งยาวตั้งแต่ละติจูด ๗ ถึง ๑๘  มีเนื้อที่ทั้งหมดจากทิศใต้จดเหนือประมาณ  ๒๗๕ ลิเยอ

ตลอดทั้งอาณาจักร อากาศค่อนข้างดี ซึ่งชาวต่างชาติปรับตัวให้เคยชินได้ง่ายและรู้สึกค่อนข้างสบาย แม้ว่าในบางฤดูอากาศจะร้อน แต่ความร้อนก็ไม่รุนแรงเหมือนที่อื่นๆ บริเวณชายฝั่งทะเลมีประชาชนอาศัยอยู่เกือบหนาแน่น เราจะพบหมู่บ้านจำนวนมาก และเมืองสำคัญทางการค้าตั้งอยู่ พื้นดินไม่เพียงแต่อุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังเหมาะสมสำหรับการเพาะปลูกด้วย เนื่องจากสามารถขายผลผลิตผลที่ปลูกให้แก่ชาวต่างชาติจากถิ่นต่างๆ ที่เดินทางมาซื้อได้ง่าย การจับปลาเพื่อเป็นอาหารหลักของประเทศที่นิยมกันมาก ส่งที่ช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์คือ การที่มีฝนตกนานถึง 3-4 เดือน ต่อปี  ทำให้น้ำในแม่น้ำลำคลองเต็มเปี่ยมและล้นฝั่งท่วมไร่นา แต่กฎทั่วไปมีว่า  ยิ่งเกิดอุทกภัยมากยิ่งทำให้การเก็บเกี่ยวของชาวสยาม ผู้ซึ่งไม่เคยร้องทุกข์ในเรื่องนี้เลย นอกจากความแห้งแล้งได้ผลดีมากขึ้น ข้าวเจ้าคืออาหารหลักของชาวสยาม ส่วนข้าวสาลีไม่นิยมปลูกกัน ข้าวเจ้าเจริญเติบโตได้ในน้ำและไร่นา ที่ปลูกข้าวอยู่ก็ดูคล้ายหนองหรือบึงมากกว่า จะเป็นพื้นดินที่ไถแล้วด้วยคันไถ ข้าวงอกงามได้เสมอ แม้มีน้ำขังอยู่สูงถึง ๖ หรือ ๗ ปิเยด์ก็ตาม ลำต้นจะโผล่สูงขึ้นและเติบโตตามได้ตามสัดส่วนความสูงของน้ำที่ขังอยู่ในนา ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการปลูกข้าวสาลีเลยในประเทศนี้ ซึ่งต้องการผืนดินที่แห้งและมีความชุ่มชื้นปานกลาง

แม้ว่าดินแดนทั้งหมดของอาณาจักรสยามจะอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ยังมีที่ดินรกร้างและถูกทอดทิ้งอยู่มาก  เนื่องจากไม่มีผู้อยู่อาศัยหรือผู้อยู่อาศัยลดจำนวนลงอย่างน่าพิศวง เพราะเหตุของสงครามครั้นก่อนๆ นอกจากนี้ชาวสยามไม่ชอบทำงานและรักความสบาย จึงปล่อยให้ทุ่งนาสวยงามที่พวกเราเดินทางผ่านไปมีหญ้าขึ้นรก ซึ่งทุ่งนาเหล่านี้สามารถให้ผลผลิตอย่างเยี่ยมยอด อีกทั้งใช้เลี้ยงพลเมืองทั้งหมดได้ถ้าทำให้มันมีค่าขึ้น มีราบที่ถูกทอดทิ้งและป่าหนาทึบที่เราเห็นอยู่บนภูเขานั้น ได้กลายเป็นที่อยู่ของช้าง เสือ วัวป่า กวาง แรด และสัตว์อื่นๆ ซึ่งอยู่รวมกันเป็นฝูง

เนื่องจากอาณาจักรสยามมั่งคั่งด้วยทรัพยากรที่ธรรมชาติมอบให้ จึงดึงดูดพ่อค้าต่างชาติให้เข้ามารับทราบถึงความมั่นคั่งนี้ได้ ในบรรดาประเทศตะวันออกทั้งหมดมีบางประเทศเท่านั้นที่มีชนเผ่าต่างๆ อยู่รวมกันมากมายเท่ากับในสยาม ที่นี่มีภาษาพูดมากกว่า ๒๐ ภาษา

ประเทศนี้มีทองคำอยู่มากแต่คุณภาพต่ำ นอกจากนี้ก็มี เงิน ดีบุก ตะกั่ว เหล็ก ซัลเฟต งาช้างซึ่ง (ลักลอบ) ค้ากัน หนังสัตว์ หนังกวางอย่างดี คราม (Indig) และไม้ Sapaon สำหรับย้อมผ้า ซึ่งมีอยู่มากมายในป่า เราสามารถซื้อพริกไทย กำยาน ครั่ง ข้าว และผลไม้หลายชนิดที่มีคุณภาพเยี่ยมได้เช่นกัน ความมั่งคั่งของทรัพยากรนี้ได้ทำให้เกิดมีการค้าขึ้น ชาวสยามมีทุกสิ่งซึ่งที่อื่นมีและสิ่งที่เรือจากภายนอกนำเข้ามา  ชาวสยามไม่ใช่นักเดินเรือยิ่งใหญ่และมักไม่ค่อยไปไกลจากชายฝั่ง

ชาวสยามไม่จำเป็นต้องทำการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากในประเทศมีทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นแล้ว พวกเขาไม่กระตือรือร้นกับสิ่งอื่นซึ่งถือเป็นเพียงสิ่งเกิดความจำเป็นไม่เกี่ยวข้องกับตน สิ่งที่ต้องการคือผ้าไหมสวยๆ  สำหรับใส่ในวันมีงานเลี้ยงหรืองานพิธีการเท่านั้น.