-
Category: ประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในประเทศไทย (โดยคพ.สุรชัย)
-
Published on Monday, 19 October 2015 01:46
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2575
การเข้ามาของคริสตศาสนาในสยาม
1. ร่องรอยแรกเริ่ม
การศึกษาที่ผ่านมาไม่นานนี้โดยนักประวัติศาสตร์ J.C. England: The Earliest Christian Communities in South East and North East Asia: An Outline of the Eividence Available in Seven Countries before 1500 A.D., in East Asian Pastoral Review, Vol. XXV, 2 (1988) 145 ได้ให้ข้อมูลที่มาจากผลงานการศึกษาของนักประวัติศาสตร์ชาวซีเรีย (Syria) และอาหรับ (Arab) ซึ่งศึกษาถึงเส้นทางการค้าที่เชื่อมโยงระหว่างเอเชียตะวันตกและเอเชียตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางทะเล
"พระชาวอียิปต์รูปหนึ่งชื่อ Cosmas Indiclopluestes ได้ให้เรื่องราวที่พบเห็นด้วยตนเองเกี่ยวกับกลุ่มคริสตชนในเอเชียอาคเนย์ จากรายงานต่างๆ ที่ท่านได้พบในระหว่างปี ค.ศ. 520-525 A.D. โดยรวมถึงอินเดีย, ศรีลังกา, พม่าทางใต้, โคจินจีน, สยาม และตังเกี๋ย"
หลักฐานชิ้นนี้ให้ภาพรวมๆ ว่ามีกลุ่มคริสตชนอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เหล่านี้แล้ว แต่ก็ยังไม่ทราบว่าเป็นพวกใด และมาได้อย่างไร อีกทั้งยังไม่ทราบว่าจะมีจริงหรือไม่ เพราะเรายังไม่ได้พบเห็นหลักฐานเหล่านี้ด้วยตนเอง
นักศึกษาประวัติศาสตร์อีกผู้หนึ่งชื่อ B.C. Colles, The Trades of the Pearl: The Mercantile and Missionary Activities of Persian and Armenian Christian in South East Asia, in Abr. Nahrain, XIII (1973) 118 ff., 125-129 ได้กล่าวว่า "ลูโดวิโก ดี วารทิมา (LudovicodiVarthima), ชาวโบโลญ เดินทางเข้ามาในเอเชียอาคเนย์ในปี ค.ศ. 1503 หรือ 1504 บอกว่าได้พบกับพ่อค้าชาวเนสตอเรียนที่มาจากอยุธยาในเบงกอล เราทราบจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ อีกว่ามีชาวเอเชียตะวันตกในตะนาวศรี (Tenasserim) ตั้งแต่ต้นๆ ศตวรรษที่ 4, ในจัมปาและในตังเกี๋ยในศตวรรษที่ 11 และในสยามในศตวรรษที่14 และ 15 จากหลักฐานชี้ว่ามีพวกคริสตชนอยู่ท่ามกลางพวกเขาด้วย เพื่อนๆ คริสตชนของ Varthima จาก "Sarnau" ถูกระบุว่ามาจากลพบุรี หรือไม่ก็ "Shangshiu" ทางเหนือของอยุธยา"
เรื่องที่ว่า Varthima เป็นใครและเขียนหนังสืออะไรไว้นั้น มีอธิบายไว้อย่างละเอียดในหนังสือ The Siam Society, Vol. VIII เขียนโดย Ulrich Guehler ตั้งแต่หน้า 239-276 เป็นภาษาอังกฤษ มีคำที่น่าสังเกตอยู่คำหนึ่งคือคำว่า Sornau นั้นหมายถึงสยามอย่างแน่นอนเพราะมีแหล่งข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า Sornau ใช้เป็นชื่อเรียกสยามในสมัยก่อน รายละเอียดเรื่องนี้มีอธิบายอยู่ใน The Siam Society Vol.VIII เช่นเดียวกัน เขียนโดย Dr. Joachim de Campos, Early Portugese Accounts of Thailand ตั้งแต่หน้า 211-237 ซึ่งอธิบายไว้อย่างน่าสนใจมากทีเดียว และยังกล่าวไว้ในตอนท้ายด้วยว่า ยังมีแหล่งข้อมูลของโปรตุเกสมากมายซึ่งยังไม่มีใครไปศึกษาเลย เปิดโอกาสและ รอให้นักศึกษาทั้งหลายไปศึกษาค้นคว้าอยู่จนกระทั่งบัดนี้
เป็นอันว่าจากข้อมูลเบื้องต้นเหล่านี้เราอาจสรุปได้ว่ามีความเป็นไปได้ที่พวกเนสตอเรียนนิสต์ (Nestorianism) จะเข้ามาในดินแดนส่วนที่เป็นสยามแล้วตั้งแต่ศตวรรษที่ 6 หรือไม่ก็ราวๆ ศตวรรษที่ 13 และ 14 แต่จะเข้ามาในรูปแบบใด และมีการพัฒนามากน้อยเพียงใดนั้น เรายังไม่อาจทราบได้จนกว่าจะมีการศึกษาอย่างจริงจัง การศึกษาเรื่องนี้ก็ไม่ง่าย เพราะแหล่งข้อมูลที่จะชี้ให้เห็นถึงเรื่องเหล่านี้คงหายากมากจริงๆ และคำถามที่น่าถามก็คือว่ามีความสำคัญเพียงใดที่จะศึกษาถึงเรื่องนี้อีกด้วย เพราะเมื่อมีบรรดามิชชันนารีเข้ามาในระยะแรกๆ ก็ไม่ปรากฏร่องรอยของพวก Nestorians หรือ ศาสนาคริสต์หลงเหลืออยู่เลย
2. การเข้ามาของพวกโปรตุเกส กับศาสนาคริสต์
นักประวัติศาสตร์ไทยและต่างประเทศต่างก็ยอมรับว่า ชาติโปรตุเกสนั้นเป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาในประเทศไทย จากหนังสือที่วาสโก ดา โกมา (Vascoda Gama) เขียนไว้เกี่ยวกับการเดินทางของท่านในปี ค.ศ. 1497-1498 โดยมี อัลวาโร เวลโฮ (Alvaro Velho) เป็นเพื่อนร่วมเดินทางมาด้วย และเป็นผู้บันทึกเรื่องราวที่ชื่อว่า "Roteiro da Viagem de Vasco da Gama" ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางมาที่ประเทศสยามซึ่งถูกเรียกว่า "Xarnaus" ในสมัยของพระรามาธิบดีที่ II ซึ่งครองราชย์อยู่ระหว่างปี ค.ศ. 1491-1529 นอกจากนี้ มานูแอล เตอิเซอิรา (Manuel Teixeira) นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากท่านหนึ่ง ได้รวบรวมเรื่องราวและเอกสารเกี่ยวกับพวกโปรตุเกสในประเทศสยามตั้งแต่แรกเริ่ม โดยใช้ชื่อหนังสือเป็นภาษาโปรตุเกสว่า "Portugal na Thailandia" พิมพ์ในปี ค.ศ. 1983 ก็ได้เน้นว่าพวกโปรตุเกสได้เริ่มติดต่อกับสยามตั้งแต่สมัยพระรามาธิบดีที่ II นี้เช่นเดียวกัน
จุดเริ่มต้นของการติดต่อระหว่างพวกโปรตุเกสกับชาวสยาม เริ่มต้นอย่างจริงจังก็ตั้งแต่ อัลฟอนโซ ดัลบูเคอร์ก (Afonso d'Albuquerque) เข้ายึดครองเกาะมะละกาในปี ค.ศ. 1511 เรื่องราวนี้เราสามารถค้นหาอ่านได้จากหนังสือประวัติศาสตร์ทั่วๆ ไป และต่างก็ยืนยันเหมือนกันถึงเรื่องการส่งทูตติดต่อและมีการทำการค้าระหว่างกัน มีบทความภาษาอังกฤษอีกบทความหนึ่งที่น่าจะกล่าวถึงคือ A Short Survey of Luso Siamese Relations From 1511 to Modern Times เขียนโดย Antonio da Silva Rego ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากได้รวบรวมเอกสารและเขียนหนังสือไว้มากมาย บทความนี้อยู่ในหนังสือที่ชื่อว่า "470 ปี แห่งมิตรสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส" (Thailand and Portugal 470 years of Friendship) พิมพ์ที่ Lisbon ปี ค.ศ. 1982 ได้ให้เรื่องราวอย่างละเอียดเกี่ยวกับพวกโปรตุเกสในไทย แต่หากนำมาเปรียบเทียบกับรายละเอียดที่ Teixeira เขียนไว้จะเห็นว่า Teixeira ได้ให้รายละเอียดไว้มากกว่า เสียดายที่เป็นภาษาโปรตุเกสเท่านั้น นอกจากบทความของ Silva Rego แล้ว ยังมีอีกบทความหนึ่งเขียนโดย Alberto Iria ใช้ชื่อบทความว่า "A Selection of Sixteenth Century Portugese Texts on Siam" ได้แปลเอกสารเก่าแก่ต่างๆ ที่เกี่ยวกับสยามเป็นภาษาอังกฤษ เป็นเอกสารที่มีข้อมูลที่น่าสนใจ และสามารถยืนยันถึงเรื่องราวการยึดครองมะละกาของอัลบูเคอร์ก รวมทั้งการแลกเปลี่ยนทูตระหว่างสยามและโปรตุเกส ผู้ที่สนใจก็สามารถหาอ่านได้
ในระหว่างที่แลกเปลี่ยนทางการทูตอยู่นี้ ชาวโปรตุเกสเข้ามาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยากันบ้างแล้วเพื่อทำการค้าขาย ประวัติศาสตร์ไทยยังได้กล่าวถึงบทบาทของทหารโปรตุเกสในการทำสงครามระหว่างสยามกับอาณาจักรทางภาคเหนืออันได้แก่ เชียงใหม่ และเชียงกราน ไว้ด้วย มีความเป็นไปได้ว่าในขณะที่มีการแลกเปลี่ยนทางการทูตนั้น อาจจะมีบาทหลวงบางองค์ซึ่งทำหน้าที่เป็นวิญญาณรักษ์ประจำเรือของโปรตุเกส เข้ามาในสยามเพื่ออภิบาลชาวโปรตุเกสที่อยู่ในสยามในเวลานั้น แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆ เลยที่กล่าวถึงเรื่องนี้แม้แต่หลักฐานของชาวโปรตุเกสเองก็ตาม หลักฐานที่น่าสนใจชิ้นหนึ่งของชาวโปรตุเกส ซึ่งนักประวัติศาสตร์ชาวโปรตุเกสชื่อ มานูแอล เดอ ฟาเรีย เอ ซูซา (Manuel de Faria e Sousa) เขียนไว้ในหนังสือของเขา Asia Portugeusa, III, 1945, pp.126-127 เขาได้เอ่ยถึงชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งชื่ออันโตนิโอ เดอ ปายวา (Antonio de Paiva) ซึ่งเดินทางเข้ามาในสยาม มีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินสยาม เป็นผู้คุ้นเคยกับราชสำนัก และที่สุดมีโอกาสสนทนากับพระชัยราชาธิราชเกี่ยวกับเรื่องศาสนา จนในที่สุด พระเจ้าแผ่นดินได้รับศีลล้างบาป ได้รับพระนามเป็นภาษาโปรตุเกสว่า Dom Joao หรือนักบุญยวงที่เรารู้จักกันดีนี่เอง เอกสารชิ้นนี้ต้องมีอยู่จริงแน่นอน หนังสือเล่มหนึ่งที่รวบรวมเอกสารสำคัญๆ ไว้ในระหว่างปี ค.ศ. 1540-1549 ชื่อ Documenta Indica, Vol.I รวบรวมอยู่ใน Monumenta Historica Societatis Iesu และได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1948 ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนในหน้า 138 นักประวัติศาสตร์หลายท่านก็ได้อ้างถึงเรื่องนี้ด้วยเช่น Jose Maria Recondo, s.j., San Francesco Javier: Vida y Obra, Madrid: Biblioteca de Autores Chistianos, 1988, p. 606 และใน Documenta Indica II หน้า 421 ก็ยังพูดถึงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง G. Schurhammer, s.j. ก็ได้อ้างถึงในงานเขียนของเขาปี ค.ศ. 1932 ด้วย แสดงว่ามีนักประวัติศาสตร์หลายคนรวมทั้ง Teixeira และ Silva Rego ได้อ้างถึงเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องนี้
อาจารย์บุญยก ตามไท ได้เขียนเรื่องนี้ไว้ในวารสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 9 หน้า 88 เกี่ยวกับเรื่องการเข้ามาของชาวโปรตุเกสในประเทศสยามไว้อย่างน่าสนใจ มีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า "มีเกร็ดประวัติศาสตร์บันทึกโดยฝรั่งว่า เมื่อ พ.ศ.2087 (1544) อันโตนิโอ เด ปายวา (Antonio de Paiva) ชาวโปรตุเกสได้เดินทางเข้ามากรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินสมเด็จพระชัยราชาธิราช และมีโอกาสได้เข้าเฝ้าและสนทนาเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนากับพระองค์จนเลื่อมใส และพระองค์ทรงประกอบพิธี Baptise (พิธีล้างบาป) ได้รับพระราชทินนามเป็นภาษาโปรตุเกสว่า Dom Joao ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์พิเศษอย่างยิ่ง" แต่นอกจากอาจารย์บุญยก ตามไทแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามี นักประวัติศาสตร์ไทยคนใดกล่าวถึงเรื่องนี้อีกเลย อาจารย์บุญยก ตามไท เองก็คงยังไม่ได้เห็นเอกสารจริงๆ เพียงแต่ได้อ่านหนังสือที่เขียนถึงเรื่องนี้ไว้เท่านั้น เพราะท่านได้พูดเพียงว่า "เกร็ดประวัติศาสตร์บันทึกโดยฝรั่ง"
ผมเองได้อ่านเอกสารที่บันทึกไว้ใน Documenta Indica ทั้ง 2 เล่มแล้ว ก็รับรองได้ว่ามีบันทึกอยู่จริงตามนั้น แต่การรับศีลล้างบาปของพระมหากษัตริย์ไทยนั้นคงไม่ง่ายอย่างที่เอกสาร เล่าเอาไว้แน่ๆ จนต้องทำให้มานั่งคิดกันเล็กน้อยว่า พระชัยราชาได้เรียนรู้อะไรเรื่องคริสตศาสนาบ้าง และมีความเชื่อแบบใด การรับศีลล้างบาปของพระองค์มีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และหากว่ามีจริง ศีลล้างบาปนั้นจะถือว่าใช้ได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะรับศีลล้างบาปจริงๆ ก็ไม่มีผลอะไรต่อคริสตศาสนาในสยามเลยแม้แต่น้อย เพราะยังไม่มีหลักฐานอื่นบอกถึงความพิเศษที่คริสตศาสนาได้รับเลย หากเราติดตามเรื่องนี้ให้ดี หนังสือประวัติศาสตร์ไทยบางฉบับได้วงเล็บการสิ้นพระชนม์ของพระชัยราชาว่า ถูกลอบวางยาพิษสิ้นพระชนม์ หากเราจะมาอธิบายกันเล็กน้อยเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คงสามารถแยกแยะออกมาได้ 2 สาเหตุ หากการวางยาพิษนี้เกิดขึ้นจริง ก็อาจจะมีเหตุผลทางด้านการเมือง การแย่งชิงอำนาจ หรืออาจมาจากการที่ราชสำนักไทยไม่พอใจที่พระเจ้าแผ่นดินเปลี่ยนศาสนา เรื่องนี้ก็คงต้องจบลงเพียงเท่านี้ เพราะเหตุว่าเราไม่สามารถศึกษาถึงสาเหตุที่แท้จริงได้ และผลที่เกิดขึ้น ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงไปจากนี้แล้ว เราเพียงแต่รับทราบถึงความเป็นไปได้ของเหตุการณ์เท่านั้น
สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเข้าใจได้ก็คือ คริสตศาสนาได้เข้ามาในอยุธยาแล้วอย่างแน่นอนเพราะตามประวัติของ Antonio de Paiva ใน Documenta Indica ก็บอกว่าเขาชอบที่จะสอนคริสตศาสนาในดินแดนที่เขาเข้าไป นอกจากแผ่นดินสยามแล้ว เขายังเคยสอนคริสตศาสนาให้กับกษัตริย์แห่ง Supa (Macacar) ด้วย เข้าใจว่าคงเป็น Madacascar ในปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีชาวโปรตุเกสที่อาศัยอยู่ในสยามเวลานั้นจำนวนหนึ่งด้วย การติดต่อทางการทูตและการค้าขายคงต้องไม่ลืมเรื่องศาสนาและพิธีกรรมต่างๆ การสอนคำสอนแก่ลูกหลานก็ต้องมีผู้ปฏิบัติด้วย แต่หากจะพูดถึงหลักฐานก็คงต้องเริ่มกันที่ Antonio de Paiva ที่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ เหตุการณ์ที่น่าสนใจอีกเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งน่าจะถือว่ามีความสำคัญทั้งต่อประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในสยาม และต่อประวัติศาสตร์ไทยด้วยก็คือนักบุญผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งคือ นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ นักแพร่ธรรมผู้ยิ่งใหญ่แสดงความตั้งใจที่จะเข้ามาในสยาม ทั้งนี้เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศจีนอันเป็นความปรารถนาสูงสุดของท่าน
ฟรังซิส เซเวียร์ เป็นพระสงฆ์ชาวสเปน และเป็นเพื่อนรุ่นแรกของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่อีกองค์หนึ่งคือ นักบุญอิกญาซีโอ ผู้ก่อตั้งคณะเยสุอิต เมื่อก่อตั้งคณะแล้วท่านได้ส่งฟรังซิสไปที่ลิสบอน (Lisbon) เมืองหลวงของโปรตุเกส เพื่อเดินทางต่อไปยังดินแดนแพร่ธรรมที่อยู่ห่างไกล ฟรังซิสมาถึงลิสบอนในปี ค.ศ. 1541 เหตุผลที่ต้องออกเดินทางจากลิสบอนนั้นก็เป็นเรื่องของสิทธิพิเศษที่ประเทศโปรตุเกสได้รับจากพระสันตะปาปา ซึ่งผมจะอธิบายให้เข้าใจต่อไปข้างหน้า ฟรังซิสเดินทางไปจนถึงเมืองกัว (Goa) ประเทศอินเดียในปี ค.ศ. 1542 ต่อมาก็เดินทางไปที่มะละกา และเกาะโมลูลัส ที่มะละกานี้เองท่านพบกับชาวญี่ปุ่นซึ่งทำให้ท่านมีแรงบันดาลใจที่จะไปญี่ปุ่นในที่สุดท่านก็เดินทางมาถึงเมืองคาโกชิมาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1549 การแพร่ธรรมของท่านที่ญี่ปุ่นนี้บังเกิดผลดีมาก ท่านได้พบกับคนญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมสูง ต่อมาท่านทราบว่าวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นมีความคล้ายคลึงกับจีน ท่านจึงมีความปรารถนาที่จะเดินทางไปแพร่ธรรมยังประเทศจีน
บันทึกฉบับหนึ่งที่เขียนโดยมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 เราไม่ทราบว่าเป็นใคร เพราะไม่ได้ลงชื่อและวันเวลา แต่บันทึกนั้นเป็นภาษาฝรั่งเศสเกี่ยวกับประวัติการแพร่ธรรมในประเทศไทย ได้เริ่มต้นบันทึกด้วยการกล่าวว่า
"ฟรังซิส เซเวียร์อาจจะถูกพิจารณาเป็นเหมือนกับธรรมทูต (Apostle) องค์แรกแห่งสยาม ท่านนักบุญโดยแท้จริงแล้วได้ประกาศพระวรสารในมะละกา ซึ่งขึ้นอยู่กับสยามในสมัยนั้น และหากท่านไม่สิ้นชีวิตเสียก่อน ท่านก็จะเป็นผู้นำเอาแสงสว่างแห่งความจริงเข้ามาสู่ใจกลางของอาณาจักรแน่นอน เพราะท่านได้แสดงเจตนารมณ์นี้ในจดหมายหลายฉบับของท่าน"
บันทึกนี้ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในห้องเอกสารของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ นอกจากนี้ในประวัติของคณะเยสุอิตในประเทศไทยเอง ซึ่งได้ส่งไปเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุของคณะที่กรุงโรมด้วย ก็ได้บันทึกถึงเหตุการณ์นี้เอาไว้ เพราะเหตุว่าท่านนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ เป็นสมาชิกของคณะนี้ด้วย
ความปรารถนาของท่านที่จะเดินทางเข้ามาในสยามนั้นมีเหตุผล เพราะท่านต้องการเดินทางจากสยามไปประเทศจีนโดยอาศัยการติดต่อการค้าระหว่างสยามกับจีนในเวลานั้น เพราะหนทางอื่นที่จะเข้าประเทศจีนนั้นมีอุปสรรค ความปรารถนานี้แสดงออกในจดหมายทั้ง 4 ฉบับของท่าน
จดหมายฉบับแรกเขียนเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 1552 เขียนที่เมือง Sancian ถึงเพื่อน ชื่อ ดีเอโกเปเรอีรา (Diego Pereira) ซึ่งอยู่ที่มะละกาว่า "หากปีนี้ยังไม่สามารถเข้าประเทศจีนได้ ข้าพเจ้าจะไปที่สยามพร้อมกับดีเอโก วาซ เดอ อารากอน (Diego vaz de Aragon) โดยจะขอไปร่วมกับทูตสยามที่จะไปพบกษัตริย์แห่งประเทศจีน..."
อีก 1 เดือนต่อมาท่านเขียนถึงฟรังซิสโก เปเรซ (Francisco Perez) ที่มะละกา เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1522 โดยเขียนจากซานเซียน (Sancian) เช่นเดียวกัน
"..ข้าพเจ้าจะไปที่สยามเพื่อขอร่วมเดินทางไปกับเรือที่พระมหากษัตริย์สยามจะส่งไปที่ Canton" และวันเดียวกันนั้น ก็เขียนจดหมายอีกฉบับหนึ่งถึงดีเอโก เปเรอีรา บอกถึงความตั้งใจ อันเดียวกัน จดหมายฉบับสุดท้ายเขียนวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1552 เขียนถึงบุคคล 2 คน คือ ฟรังซิสโก เปเรซ ที่มะละกา และกาสปาร์ บารเซโอ (GasparBarzeo) ที่เมืองกัว เขียนจากเมืองซานเซียนเช่นกัน โดยกล่าวว่าจะหาทางทุกอย่างที่จะเดินทางไปประเทศจีนให้ได้ในปีหน้านี้
จดหมายทั้ง 4 ฉบับนี้ เราสามารถหาอ่านได้จากหนังสือของ P.F. Zubillaga, s.j., Cartas y Escritos de San Francisco Javier, Madrid; Biblioteca Autores Cristianos, 1953 ผู้รวบรวมได้รวบรวมเอาจดหมายต่างๆ และงานเขียนของท่านนักบุญมาตีพิมพ์เสียใหม่ ดังนั้นจะตรงกับต้นฉบับ เพียงแต่ว่าเมื่อตรงกับต้นฉบับก็จะต้องเป็นภาษาสเปนเท่านั้น ซึ่งจะทำให้คนไทยอย่างเราเข้าใจยากสักหน่อย
อย่างไรก็ตาม นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ก็ไม่สามารถไปได้ทั้งจีนและสยามด้วย เพราะว่าท่านสิ้นชีวิตลงเสียก่อนเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1552 ที่เมืองซานเซียนนั่นเอง และในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1553 ศพที่ไม่เน่าเปื่อยของท่านที่ถูกส่งมาถึงมะละกาวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1553 ก็ถูกส่งไปที่เมืองกัวในอินเดีย และวางไว้ในมหาวิหาร Bom Jesus บางส่วนของร่างกายของท่านนี้ได้ถูกนำไปเป็นพระธาตุตามวิหารต่างๆ ในยุโรปด้วย
แม้ว่าท่านจะมิได้เดินทางมาสยามอย่างที่ตั้งใจ เพียงแต่เอ่ยชื่อสยามในจดหมายของท่านนั้นก็นับว่าเป็นเกียรติต่อพระศาสนจักรของเราแล้ว เพราะอย่างน้อยที่สุดในใจของท่านก็มีเราชาวสยามอยู่บ้าง นอกจากนี้ท่านยังได้ช่วยคลี่คลายข้อข้องใจส่วนหนึ่งเกี่ยวกับชื่อประเทศ "สยาม" ของเรา
อันที่จริงคำว่า "สยาม" นั้น เราต่างก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า เราคนไทยใช้เรียกชื่อประเทศหรือชาวต่างประเทศใช้เรียกชื่อประเทศของเรา เพราะไม่สามารถบอกได้ว่าเริ่มใช้ชื่อนี้กันมาตั้งแต่เมื่อไร มองซิเออร์ ซิมอน เดอ ลา ลูแบร์ (Monsieur Simon de la Loubère) ซึ่งเป็นผู้แทนพิเศษของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส เดินทางมาเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ไทยในปี ค.ศ. 1687 และ 1688 ได้กล่าวไว้ในหนังสือที่ท่านเขียนเกี่ยวกับประเทศสยาม และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ. 1693 ได้กล่าวไว้ในหน้าที่ 6 และ 7 ว่า
"ชื่อ สยาม นั้นไม่เป็นที่รู้จักของชาวสยาม มันเป็นคำๆ หนึ่งในหลายๆ คำ ที่ชาวโปรตุเกสในหมู่เกาะอินเดียใช้ และเป็นคำที่ยากมากที่จะค้นพบที่มาของคำๆ นี้ ชาวสยามมักเรียกตัวเองว่า ไทย หรือหากจะแปลก็แปลว่า เสรี ตามความหมายในภาษาของพวกเขา"
แม้ว่า เดอ ลา ลูแบร์ จะอยู่ในเมืองไทยเป็นระยะเวลาเพียง 1 ปี แต่หากเราได้อ่านหนังสือของเขาแล้ว เราจะพบว่าเขาเป็นผู้สนใจการเขียนมาก ชอบศึกษาและจดจำ ข้อมูลต่างๆ ที่เราได้รับจากหนังสือของเขานับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง สำหรับเราคริสตชน เขาได้พูดถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแพร่ธรรมเอาไว้อย่างน่าฟังมาก น่าจะหาโอกาสแปลออกมาให้อ่านกัน รวมทั้งได้เขียนบทข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย บทวันทามารีอา ที่ใช้กันในสมัยพระนารายณ์นั้นด้วย ปัจจุบันหนังสือของเขาถูกตีพิมพ์ขึ้นมาอีกหลายครั้ง แม้แต่ที่ร้านหนังสือดีๆ อย่างเช่น ดวงกมลก็มีจำหน่ายด้วย
เป็นอันว่าในปี ค.ศ. 1687 นั้นเราก็ยังไม่ทราบที่มาของคำว่า "สยาม" หนังสืออีกเล่มหนึ่ง ที่เขียนโดย H.E. Smith ที่ชื่อว่า "Historical and Cultural Dictionary of Thailand" พิมพ์ในปี ค.ศ. 1976 ได้ให้ข้อมูลอีกตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่น่าสนใจมากโดยกล่าวว่า "คำว่าสยาม ถูกใช้ครั้งแรกโดย เซอร์ เจมส์ แลงคาสเตอร์ (Sir James Lancaster) ในปี ค.ศ. 1592 ในศตวรรษที่ 17 คำว่าสยามนี้จึงถูกใช้โดยทั่วไปในฐานะที่เป็นชื่อประเทศ จากบรรดาชาวยุโรป" ผู้สนใจก็ขอให้ไปเปิดหนังสือเล่มนี้ดูที่หน้า 164 นักประวัติศาสตร์ของไทยคนหนึ่งคือ อาจารย์รอง ศยามนันท์ อาจารย์ประวัติศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้สรุปผลเรื่องนี้ในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า "A History of Thailand" พิมพ์ในปี ค.ศ. 1981 ในหน้า 4 ท่าน กล่าวว่า
"คำว่า สยาม ถูกใช้โดยเซอร์ เจมส์ แลงคาสเตอร์ ในการเดินทางสู่ตะวันออกไกลครั้งแรกในปี ค.ศ. 1592 และในศตวรรษที่ 17 คำว่าสยามก็กลายเป็นชื่อที่ได้รับการยอมรับโดยทั่วไปของประเทศในท่ามกลางชาวยุโรป หนังสือของเดอ ลา ลูแบร์เอง ที่เขียนเกี่ยวกับสยาม เป็นพยานยืนยันในเรื่องนี้ได้ หนังสือของท่านที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1691 และเป็นภาษาอังกฤษก็ออกที่ลอนดอนในปี ค.ศ. 1693"
สมิธ (Smith) อาจจะพบหลักฐานของเซอร์ เจมส์ แลงคาสเตอร์ ที่ใช้คำว่าสยามในปี ค.ศ. 1592 ก็เป็นได้ และนับว่าเป็นหลักฐานที่เก่าแก่มากที่ใช้คำว่าสยาม ในขณะที่นักประวัติศาสตร์ไทยเองก็ยังไม่มีหลักฐานการใช้คำนี้ที่เก่าและก่อนหน้าปี ค.ศ. 1592 หรือหากมี ก็ขอให้กรุณาแนะนำมาด้วยเพื่อจะได้ศึกษาร่วมกันต่อไป
เวลาที่เราจะมาติดตามดูเอกสารของทางฝ่ายคริสตศาสนาดูบ้าง เพราะอาจเป็นแนวทางให้เห็นว่าการใช้คำว่า "สยาม" นั้นคงมีมาก่อนหน้าปี ค.ศ. 1592 แล้วอย่างแน่นอน ก็จำเป็นที่จะต้องอ้างไปถึงเอกสารที่ค้นพบในหนังสือ Documenta Indica เล่ม I และ II ที่กล่าวถึงไปแล้วเกี่ยวกับเรื่องของ อันโตนิโอ เดอ ปายวา ในเอกสารนั้นก็ได้ใช้คำว่า "สยาม" อยู่แล้ว นั่นหมายความว่าได้ใช้กันแล้วในปี ค.ศ. 1544 อีกไม่นานต่อมา นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ผู้นี้แหละที่เขียนในจดหมายทั้ง 4 ฉบับของท่านโดยใช้คำว่า "สยาม" เช่นเดียวกัน เราจึงเข้าใจได้อย่างแน่นอนว่าต้องมีการใช้คำว่า "สยาม" นี้มาแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1544 และในความเห็นส่วนตัวของผมแล้วคงต้องมีการใช้กันมาก่อนหน้านี้แน่นอน ข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ ชื่อสยามอาจไม่ได้เป็นที่รู้จักของชาวสยาม แต่เป็นคำที่ชาวต่างชาติเป็นผู้ใช้เรียกชื่อประเทศของเรา ก็คงต้องตั้งข้อสังเกตไว้ว่าคงเป็นได้เหมือนกันที่คำๆ นี้ถูกใช้กันมาตั้งแต่พวกโปรตุเกส ฝรั่งชาติแรกที่มาติดต่อกับไทย เข้ามาถึงหมู่เกาะอินเดียในปี ค.ศ. 1511
ดังนั้นจดหมายทั้ง 4 ฉบับของนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ก็สามารถยืนยันเรื่องชื่อของประเทศของเราได้ในระดับหนึ่ง นับว่าเป็นเอกสารที่มีคุณค่าสำหรับประวัติศาสตร์ไทยอยู่ไม่น้อย หากมีการศึกษาเอกสารที่ยังมีอยู่มากมายในหอจดหมายเหตุของโปรตุเกสและสเปน รวมทั้งเอกสารของทางฝ่ายพระศาสนจักรที่กรุงโรม ที่ปารีส และที่ประเทศไทย ให้มากกว่านี้ คงมีการค้นพบความจริงขึ้นมาอีกหลายประการทีเดียว
เมื่อเรากำลังพูดถึงคำว่า "สยาม" ก็จะถือโอกาสนี้อธิบายอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับคำๆ นี้ต่อไป จากการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย ชาวไทยมิได้เรียกประเทศของตนว่า "สยาม" แต่เรียกว่า "เมืองไทย" ยิ่งกว่านั้นชาวไทยยังนิยมเรียกประเทศของตนตามชื่อเมืองหลวงเวลานั้นอีกด้วยยกตัวอย่างเช่น ในระหว่าง พ.ศ.1238-1378 เรียกว่าอาณาจักรสุโขทัย, พ.ศ.1350-1767 เรียกว่า อาณาจักรอยุธยา ในสมัยกรุงเทพฯ ตอนแรกๆ นั้น เรียกกันว่า เมืองไทย หรือกรุงไทย ซึ่งเราสามารถยืนยันได้จากสนธิสัญญาเบอร์นี (Burney) ในปี ค.ศ. 1826 ใช้คำว่าเมืองไทย คำว่า สยาม กลายมาเป็นชื่อทางการของประเทศในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง นอกจากนั้น เมื่อครั้งทำสนธิสัญญากับอังกฤษเมื่อวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1855 ก็ยังคงใช้คำว่า "เมืองไทย" อยู่ แต่เมื่อมีการแก้ไขสนธิสัญญาที่เรียกกัน ว่า "สนธิสัญญาเบาวริ่ง" เมื่อวันที่ 5 เมษายน ค.ศ. 1856 ก็มีการใช้
คำว่า "สยาม" เป็นครั้งแรก และใช้คำนี้เรื่อยมาจนกระทั่งถึงวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1939 หลังจากการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1932 เปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลใหม่ก็ค่อยๆ กลายเป็นผู้มีจิตใจชาตินิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปลายปี ค.ศ. 1938 ก็เริ่มต้นโครงการฟื้นฟูชาติขึ้นใหม่ ชื่อประเทศก็เปลี่ยนจากสยามมาเป็นประเทศไทย ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Thailand เรื่องนี้ถูกประกาศอย่างเป็นทางการโดยกฤษฎีกาฉบับที่1 โดยมีเหตุผลว่า ชื่อใหม่นั้นสอดคล้องกับต้นกำเนิดของชาวไทยและสอดคล้องกับการปฏิบัติของประชาชน
เรื่องชื่อของประเทศนี้ยังไม่จบ แต่กลับเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้น อังกฤษและฝรั่งเศสยังคงเรียกเราว่าสยาม เพราะนิยมคำนี้ หลังจากเพิร์ล ฮาเบอร์ ถูกโจมตีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1941 กองทัพญี่ปุ่นก็เคลื่อนตัวผ่านประเทศของเรา ดังนั้นประเทศไทยจึงถูกบังคับให้ประกาศสงครามกับสหรัฐและอังกฤษเมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1942 โชคดีที่เป็นเรื่องทางการเมืองซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ฝ่ายสหรัฐและพันธมิตรถือว่าการประกาศสงครามของคนไทยนั้นเป็นโมฆะในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 และเพื่อเป็นการเอาใจฝ่ายพันธมิตร รัฐบาลไทยในเวลานั้นจึงหันมาใช้คำว่า "สยาม" อีกครั้งหนึ่งเมื่อปลายปี ค.ศ. 1945 นั่นเอง หลังจากการปฏิวัติเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นจึงประกาศเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ว่าชื่อทางการของประเทศคือ ประเทศไทย หากมีใครถามว่าชื่อนั้นสำคัญไฉน ก็ตอบได้ว่าสำคัญฉะนี้แล คำอธิบายต่อไปนี้ ผมได้พยายามแปลให้ใกล้เคียงที่สุด จากบทความของดอกเตอร์ โจอากิม เดอ คัมโปส (Dr. Joaquim de Campos),Early Portuguese Accounts of Thailand ซึ่งได้เคยกล่าวถึงมาแล้วข้างต้น ผู้สนใจประวัติศาสตร์หลายท่านเมื่ออ่านพบคำเหล่านี้จะได้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับคำว่า Sornau หรือ Siam
นักประวัติศาสตร์ในสมัยศตวรรษที่ 16 คือ Barros เขียนในปี ค.ศ. 1552 และ Castanheda,Historia do Descobrimento e Conquista da India, 1924 Edition เขียนชื่อประเทศโดยสะกดว่า "Siao", ส่วน Correa สะกดโดย
ใช้คำว่า Siam แต่ในสมัยศตวรรษที่ 15 และ 16 สยาม มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Sornau ถึงแม้จะเป็นชื่อที่ไม่ใช้อย่างกว้างขวางก็ตาม Abdur-Razzak ใช้ชื่อว่า "Shahr-i-nao" เพื่อหมายถึงชายฝั่งทะเลของอินเดียตะวันออกเมื่อต้นๆ ปี ค.ศ. 1442 แต่ก็ไม่แน่นักว่าจะหมายถึงประเทศสยาม Niccolo Conti เดินทางมาเยี่ยม Mergui ประมาณปี ค.ศ. 1430 ได้ใช้ชื่อ Cernove ซึ่งอาจจะหมายถึง Bengal หรืออาจจะหมายถึงสยามก็ได้
ในศตวรรษที่ 16 เรามีการกล่าวอ้างอย่างแน่ชัดว่า Sornau หรือ Xarnauz นั้นหมายถึงประเทศสยาม ในหนังสือ Roteiro da Viagem de Vasco da Gama ปี ค.ศ. 1498, Ludovico di Varthima ในปี ค.ศ. 1501 และ Giovanni d'Empoli ในปี ค.ศ. 1514 ก็ได้ใช้คำว่า Sornau แม้ว่าจะสะกดไม่เหมือนกัน แต่ก็หมายถึงสยามเหมือนกัน
นอกจากนี้ผู้แต่งหนังสือประวัติศาสตร์ Malay "Sejarak Malaya" กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าสยามแต่เดิมถูกเรียกว่า "Sher-i-nawi" Valentyn ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์ชาวดัชได้เล่าในปี ค.ศ. 1340 โดยประมาณ ถึงผู้ครองนครผู้มีอำนาจมาก ปกครองในอาณาจักรสยามซึ่งเวลานั้นถูกเรียกว่า "Sjaharnow หรือ Sornau"
ชื่อนี้มีกำเนิดมาอย่างไร? ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเป็นพวก Arabs ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะเหตุว่า ทั้ง Vasco da Gama และ Varthima ต่างก็รู้ชื่อนี้จากการสอบถามชาว Arabs Henry Yule ในหนังสือ Hobson-Jobson ได้รับชื่อนี้มาจากเปอร์เซีย Shar-i-naw หรือเมืองใหม่ New City นี้ถูกใช้เรียกอยุธยา อยุธยานั้นเป็นเมืองเก่าแก่อยู่แล้วเมื่อครั้งที่ใช้ชื่อนี้
นอกจากนั้นยังเป็นชื่อที่ใช้เรียกประเทศสยามทั้งประเทศ มากกว่าที่จะเรียกเมือง Braddel ได้พยายามอธิบายด้วยคำอธิบายมากมายเกี่ยวกับความคิดเรื่อง "New City" Bradde ได้ใช้การแยกแยะความแตกต่างระหว่างไทยใหญ่และไทยน้อย ซึ่ง De la Loub่re ได้ทำไว้ Yule ได้ประสานกันเข้ากับคำว่าลพบุรี ซึ่งเขาบอกว่าเป็นภาษาบาลีของคำว่า Novapuri หรือ New City และคำว่า Shar-i-nao นั่นเป็นคำแปลภาษาเปอร์เซีย ส่วน Colonel Gerini ซึ่งไม่เคยเห็นด้วยกับใครเลย ก็ได้ให้คำอธิบายที่ไม่เหมือนใคร โดยบอกว่าเป็นคำที่มาจากคำว่า Sano หรือ Nong Sano เมืองเก่าที่อยู่ติดกับอยุธยา เป็นคำสยามซึ่งหมายถึงต้นโสนนั่นเอง
Fernao Mendes Pinto ซึ่งเคยเข้ามาในสยาม 2 ครั้ง ในกลางศตวรรษที่ 16 และเคยใช้ทั้งชื่อสยามและ Sornau ชี้หนทางแก้ปัญหานี้ เขาได้ยกตัวอย่างการใช้คำว่า จักรพรรดิแห่ง Sornau ซึ่งเป็นกษัตริย์แห่งสยาม เขาได้อ้างอิงในลักษณะเช่นนี้หลายครั้ง เช่นว่า Sornau King of Siam และพระเจ้า Saleu จักรพรรดิแห่ง Sornau ทั้งมวล แต่ไม่เคยใช้คำว่า จักรพรรดิแห่งสยามเลย
ดังนั้นจึงปรากฏว่าคำว่า Sornau เป็นคำที่กษัตริย์แห่งสยามใช้เพื่อบอกถึงความเป็นจักรพรรดิของตนนั้นเป็นคำเดียวกับคำว่า SuvarnaLand หรือ Suvarnabhumi ดินแดนแห่งทองคำซึ่งตามภูมิศาสตร์แล้วรวมถึงแผ่นดินส่วนใหญ่ของแหลมอินโดจีน
คำภาษาไทย "สุวรรณ" ไม่มีการออกเสียงที่คล้ายกับ Sornau หรือ Xarnauz ก็จริง แต่ก็มีความเป็นไปได้ เพราะมีตัวอย่างภาษาไทยมากมายที่ถูกทำให้การออกเสียงเพี้ยนไปจากเดิมมาก เพราะถูกใช้ครั้งแรกโดย Arabs และก็โปรตุเกส และต่อมาโดยนักเขียนชาวยุโรปอื่นๆ เรารู้จาก Annals of Lanchang ว่ากษัตริย์แห่งลานช้างถูกเรียกด้วยว่าจักรพรรดิแห่งสุวรรณภูมิ แต่ผู้ก่อตั้ง กรุงศรีอยุธยาได้แก่เจ้าครองนครสุพรรณหรืออู่ทอง และผู้สืบต่อทุกพระองค์เรียกตนเองว่า จักรพรรดิแห่งสุวรรณภูมิ ซึ่งก็ได้แก่คำว่า Sornau นั่นเอง
3. มิชชันนารีคณะโดมินิกันในสยาม
จากหนังสือประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในประเทศไทยจัดพิมพ์โดยสารสาสน์ในปี ค.ศ. 1965 รวมทั้งหนังสืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่างก็ลงความเห็นตรงกันว่า มิชชันนารีพวกแรกที่เข้ามาในสยามนั้นเป็นพระสงฆ์คณะโดมินิกัน โดยผู้แต่งแต่ละท่านก็ให้สมมติฐานเอาไว้ว่า อาจเป็นไปได้ที่จะมีพวกพระสงฆ์บางท่านเข้ามาพร้อมกับเรือทูต หรือเรือการค้าของโปรตุเกสก่อนหน้านั้น เสียดายที่ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังเกี่ยวกับคณะโดมินิกันในสยาม จึงทำให้เรารู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับพวกท่านน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม เราก็ยังโชคดีที่พระสงฆ์คณะรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ผู้หนึ่งคือ คุณพ่อ Rocco Leotilo ได้พยายามศึกษาเรื่องนี้จากงานเขียนและเอกสารสำคัญซึ่งท่านได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามิชชันนารีคณะโดมินิกันนั้นได้แก่ผู้ใด และเข้ามาในคริสตศักราชเท่าใดแน่ รวมทั้งได้ให้ผู้อ่านได้เห็นถึงกิจการต่างๆ ที่บรรดามิชชันนารีเหล่านี้ได้กระทำที่กรุงศรีอยุธยา ผมจึงเห็นว่าควรนำมาลงในที่นี้ทั้งหมด ที่จริงคุณพ่อ Rocco เขียนเป็นภาษาอังกฤษในแสงธรรมปริทัศน์ ฉบับที่ 1 และ 2 ของปี ที่ 1 ซึ่งผู้ที่สนใจจะหาอ่านนั้นคงไม่ยากมากนัก แต่เวลาเดียวกันท่านก็ได้ให้ผู้แปลจัดแปลเป็นภาษา ไทยไว้ด้วย บทแปลบทความทั้งหมดมีดังนี้.
มิชชันนารีคาทอลิกพวกแรกที่เข้ามาในประเทศไทย
โดยคุณพ่อ Rocco Leotilo, C.S.S.
บทนำ
บทความที่จะเสนอต่อไปนี้ แบ่งเป็น 2 ภาค เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงานของพระสงฆ์คณะโดมินิกันหรือ มีชื่อเป็นทางการว่า "คณะนักเทศ" ซึ่งเป็นมิชชันนารีรุ่นแรกที่ถูกส่งมาเผยแพร่พระ วรสารในประเทศไทย พวกเขาถูกส่งมาโดยผู้ใหญ่ฝ่ายพระศาสนจักร เพื่อเผยแพร่พระวรสารใน ราชอาณาจักรสยาม ปัจจุบันคือประเทศไทย เรื่องราวทั้งหมดนี้เป็นข้อเท็จจริงที่มีเอกสารประกอบเป็นหลักฐาน ซึ่งผู้เขียนได้มาจากคุณพ่อเฟนนิง แห่งคณะโดมินิกัน คุณพ่อเฟนนิงเป็นอาจารย์ท่านหนึ่งที่สอนในมหาวิทยาลัยอันเยลีกุม ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี นอกเหนือจากเป็นอาจารย์สอนดังกล่าว ท่านยังเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาเอกสารเป็นทางการของคณะโดมินิกันอีกด้วย ปกติท่านประจำอยู่ที่สำนักมหาธิการที่ซันตา ซาบีนา ณ กรุงโรม ข้อมูลนำสำหรับบทความนี้ได้มาจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ของคณะสงฆ์โดมินิกันเปรดีกาตอรุม บทที่ 10 บันทึกทั่วไปเล่มที่ 5, กรุงโรม 1901 หน้า 149-153 เอกสารนี้เป็นภาษาลาตินเล่มเล็กๆ ผู้เขียนคือ คุณพ่อบี.เอม.ไรเคอร์ต แห่งคณะโดมินิกัน ข้าพเจ้าได้นำเอางานของคุณพ่อเบนโนเบียรมัน มาใช้ให้เป็นประโยชน์ด้วย มีชื่อเรื่องว่า "งานแพร่ธรรมของคณะสงฆ์โดมินิกันชาวโปรตุเกสในภาคตะวันออกไกล" ซึ่งคุณพ่อเฟนนิง ได้กรุณาถ่ายสำเนาให้ข้าพเจ้า บทความนั้นเขียนเป็นภาษาเยอรมัน เพื่อนชาวอิตาเลียนของข้าพเจ้า 2 คน เป็นผู้เชี่ยวชาญในภาษาอิตาเลียนและเยอรมันทั้งคู่ ได้กรุณาแปลเอกสารนั้นเป็นภาษาอิตาเลียนให้ข้าพเจ้าใช้ ผู้เขียนบทความนี้เมื่อเวลาเสนอเรื่องท่านเจาะจงเสนอเพื่อความบันเทิงของผู้อ่านก็จริง แต่ก็ได้พยายามยึดเอาความจริงทางประวัติศาสตร์ไว้เท่าที่สามารถทำได้
ภาค 1
นักประวัติศาสตร์ที่เป็นฆราวาสและนักบวชส่วนใหญ่ เมื่อกล่าวถึงชื่อของมิชชันนารี 2 องค์แรกที่มาเมืองไทยนั้นถูกต้อง อย่างไรก็ตามในการกล่าวถึงวันเดือนปี ที่ท่านทั้งสองมาถึงเมืองไทย ก็ดี เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับชะตากรรมของท่านก็ดี ยังคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เรื่องราวที่ปรากฏในประเทศไทยของท่านทั้งสอง ดูคล้ายๆ กับเป็นเรื่องบังเอิญหรือเป็นไปตามโอกาสอันควรดูเหมือนยังคลุมเครืออยู่ในความลับดำมืด
ถึงกระนั้นก็ดีการเข้ามาสู่เมืองไทยของท่านทั้งสองเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแพ่ธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับคณะโดมินิกันเท่านั้น นักประวัติศาสตร์เมื่อพูดถึงมิชชันนารีรุ่นแรกนี้ บ้างก็มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยไม่เป็นชิ้นเป็นอัน หรือความรู้เรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่เขาเอามาพูดมาเขียนนั้น เขาใช้ข้อมูลจากแหล่งที่สองรองลงมาซึ่งเขามีอยู่ ผู้อ่านส่วนใหญ่ย่อมทราบอยู่ว่า มิชชันนารี รุ่นแรกที่เข้ามาในประเทศไทยนั้น คือคุณพ่อเยโรนิโม ดาครู้ส และคุณพ่อเซบาสติอาว ดากันโต ทั้งสองท่านสังกัดอยู่กับคณะโดมินิกันชาวโปรตุเกสที่เมืองกัว ท่านทั้งสองถูกส่งมายังประเทศไทยโดยผู้ใหญ่ทางศาสนาคือ คุณพ่อเฟอร์ดินัน ดี ซันตา มารีอา ผู้เป็นเจ้าคณะแห่งมะละกาในสมัยนั้น เราสามารถยืนยันอย่างแน่นอนเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ จากจดหมายที่ส่งไปยังท่านอธิการใหญ่แห่งคณะ
จดหมายฉบับนี้เป็นจดหมายรายงานถึงภารกิจของท่านในฐานะเจ้าคณะมิสซัง นอกจากนั้นยังถือเป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ของคณะโดมินิกันในการประชุมใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1571 จึงกลายเป็นหลักฐานเอกสารอันเป็นทางการชิ้นหนึ่ง จดหมายฉบับนี้ได้เขียนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1569 จากหลักฐานอันสำคัญยิ่งของจดหมายฉบับนี้แหละ ที่ทำให้เราได้รู้ซึ้งถึงกิจกรรมของคุณพ่อทั้งสอง เช่น กิจกรรมที่ท่านกระทำ ชะตากรรมที่คุณพ่อองค์หนึ่งได้รับต่อมา พร้อมทั้งสถานการณ์แห่งราชอาณาจักรไทยด้วย
เมื่อพูดกันทางประวัติศาสตร์และระยะเวลานั้น วันเดือนปีที่อ้างถึงการเข้ามาของมิชชันนารีทั้งสองท่านนั้นไม่ถูกต้อง วันเดือนปีที่ให้ไว้ในหนังสือทุกเล่มและบทความทุกบทที่ค้นคว้าวิจัยกันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1555 นั้นไม่ถูกต้อง หนังสือแนะนำที่เกี่ยวกับคาทอลิกในประเทศไทย (The Catholic Directory; ที่พิมพ์จากบ้านเซเวียร์ ค.ศ. 1963) เสนอวันเดือนปีดังกล่าวทางประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในประเทศไทยไม่ถูกต้อง รวมทั้งพวกโปรเตส ตันท์ ก็เสนอข้อมูลที่คลาดเคลื่อนเช่นกันด้วย ดร. โรนัลฮิล ในบทความที่มีหัวข้อว่า "คริสตศาสนาในเมืองไทย" (Christianity in Thailand) เขียนสำหรับหนังสือแนะนำคริสเตียนโปรเตสตันท์ (The Protestant Christian Directory; พิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1973) ก็ใช้วันเดือนปีข้างต้นนี้เช่นเดียวกัน แม้แต่ประวัติพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยก็ยังผิดพลาดในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน วันเดือนปีที่มิชชันนารี รุ่นแรกมาเมืองไทยคือ ปี ค.ศ. 1567 ตามหลักฐานทางเอกสารโดยชัดแจ้งของคุณพ่อเบียรมัน คณะโดมินิกัน ท่านพิสูจน์ข้อความในเรื่องนี้โดยใช้หลักฐานจากจดหมายเหตุของคุณพ่อเฟอร์ดินัน ดา ซันตา มารีอา ส่งถึงมหาธิการแห่งคณะโดมินิกัน ในจดหมายนั้นได้เรียนให้อธิการใหญ่ทราบถึงการออกเดินทางใหม่ๆ ของมิชชันนารีทั้งสอง ทราบกันว่าเป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาและมีความรู้ปราดเปรื่องยิ่ง
มิชชันนารีทั้ง 2 องค์ใช้เวลา 1 เดือนในการเดินทางและได้มาถึงกรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ. 1567 (พ.ศ. 2110) ระหว่างรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (ค.ศ.1569-1590) และดูเหมือนว่ามิได้ประสบความยากลำบากในการเข้าประเทศแต่อย่างใด ในสมัยนั้นราชอาณาจักรไทยได้เปิดกว้างให้แก่อำนาจ ของชาวยุโรปเข้ามาในฐานะมิตรภาพ ซึ่งทำให้บรรดาคนต่างชาติเหล่านี้ค่อยๆ ลุกล้ำเข้ามาและแย่งชิงเอาที่ดินในพื้นที่ในลักษณะเอาเป็นเมืองขึ้นแบบบิดา
เวลานั้นในเมืองหลวงของไทยมีพวกโปรตุเกสไม่ใช่น้อยในสังคม และเป็นธรรมดาอยู่เองที่บางคนในพวกนี้ย่อมอ้าแขนต้อนรับพวกเดียวกันที่เป็นนักบวช เพราะขณะนั้นหาพระสงฆ์ที่จะมาช่วยดูแลรักษาในเรื่องวิญญาณเมื่อพวกเขาต้องการไม่มีเลย จดหมายของคุณพ่อเฟอร์ดินัลมีกล่าวถึงเรื่องนี้อยู่ด้วย ตามหลักฐานปรากฏว่าคุณพ่อเฟอร์ดินัลได้เรียนให้อธิการใหญ่ทราบด้วยว่า เขาได้ให้สถานที่พำนักอย่างสมควรในแหล่งที่ดีที่สุดในตัวเมืองแก่มิชชันนารีทั้งสอง คุณพ่อทั้ง 2 องค์ ได้เริ่มงานช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติของท่านทันที ในเวลาเดียวกันก็ได้ศึกษาภาษาไปด้วย คุณพ่อเฟอร์ดินัล กล่าวถึงคุณพ่อ 2 องค์นั้นว่า ได้กลายเป็นคนพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่ว
ด้วยเหตุนี้ท่านทั้งสองจึงสามารถสนทนาและติดต่อสังสรรกับชาวไทยได้เอง มีผู้คนเป็นอันมากได้มาเยี่ยมเยือนและติดต่อกับท่านไม่ว่าหญิงชาย หรือพวกขุนนางมียศศักดิ์ แม้กระทั่งพระภิกษุของศาสนาอื่น นี่คงหมายถึงพวกพราหมณ์ เพราะจดหมายได้กล่าวโดยระบุถึงการเยี่ยมของพระภิกษุทางพุทธหลังจากการเยี่ยมของศาสนาอื่น ทุกคนรู้สึกประทับใจในความดีของคุณพ่อ ทั้งสอง ด้วยเหตุนี้ท่านจึงค่อยๆ มีอิทธิพลขึ้น กระทั่งบริเวณพระราชฐาน อิทธิพลนั้นก็ยังเข้าถึงได้
อย่างไรก็ดี ได้มีชนกลุ่มหนึ่งที่มิได้สนใจกับมิชชันนารีทั้ง 2 พวกนี้คือพวกมุสลิม บางทีอาจจะเป็นเพราะพวกเขากลัวว่าอิทธิพลของพวกเขาจะเลื่อมลง และนี่ก็จะเป็นเพราะพวกโปรตุเกสกำลังมีอำนาจวาสนาครอบคลุมอยู่ในท้องที่นี้ อย่างไรก็ตาม ในบรรดาพวกนี้ได้มีการริษยาและความเกลียดชังต่อพวกคริสตังและชาวโปรตุเกสเกิดขึ้น เขาไม่อาจโจมตีพวกมิชชันนารีซึ่งเป็นที่นับถือรักใคร่ของคนทั่วไปอย่างเปิดเผย ด้วยเหตุที่เขาอาจจะต้องเสี่ยงกับอันตรายจากเจ้าหน้าที่ของไทย ซึ่งมีจิตใจกว้างขวางที่สุดในเรื่องของศาสนา ฉะนั้นเขาจึงรอเวลาและวางแผนหาวิธีว่า ทำอย่างไรจะได้พ้นอันตรายจากพวกคริสตัง เวลาที่เขารอคอยนั้นก็ได้มาถึงในไม่ช้าเป็นเพราะความดีของคุณพ่อ ทั้งสองแท้ๆ ที่กลับกลายเป็นการนำเอาความหายนะมาสู่ท่าน ในการรายงานถึงท่านอธิการใหญ่แห่งคณะโดมินิกัน ก็มีรายงานเหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้น คุณพ่อเฟอร์ดินัลได้กล่าวถึงแผนการณ์ของพวกมุสลิมด้วย เพื่อที่จะให้แผนนั้นสำเร็จให้จงได้ เขาได้ใช้เงินซื้อชาวบ้านอย่างไร แผนนั้นก็คือกำจัดพวกมิชชันนารีให้พ้นจากแผ่นดินไทยด้วยการฆ่าเสียให้หมด
วันหนึ่ง พวกมุสลิมได้จ้างชาวบ้านโดยยุยงให้ไปก่อความวุ่นวายขึ้นกับพวกโปรตุเกสด้วยการดูหมิ่นเขาและศาสนาของเขา ดาบได้ถูกชักออก ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครคอยห้ามปราม มิชชันนารีทั้ง 2 เมื่อได้ยินเสียงต่อสู้และเสียงร้องดังขึ้นก็ได้ออกจากที่อยู่ของท่าน และได้พยายามหยุดการต่อสู้ นั่นก็คือสิ่งที่ศัตรูของท่านต้องการ คุณพ่อเยโรนิโมถูกแทงด้วยหอกและถึงแก่กรรม ส่วนคุณพ่อ เซบาสติอาวได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการใช้ก้อนอิฐก้อนหิน
ปาจากพวกก่อความไม่สงบ หลังจากได้พักผ่อนและได้รับการรักษาดูแลจากแพทย์ไม่กี่วันท่านก็หายเป็นปกติ
ความปั่นป่วนและห่วงใยอย่างลึกซึ้งได้เกิดขึ้นทั้งเมือง พวกเด็กๆ ได้ร้องไห้เรียกหาคุณพ่อ ไม่ว่าขุนนางหรือ
ประชาชนคนสามัญทุกคนได้ใช้เครื่องหมายไว้ทุกข์กันทั่วไป หลายคนได้มาแสดงความเคารพศพคุณพ่อเป็นครั้งสุดท้าย บางคนถึงกับเข้าไปกอดจูบศพคุณพ่อ
สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นในขณะที่เกิดเหตุการณ์นี้ พระองค์มิได้ทรงประทับอยู่ พระองค์ได้ทรงพระพิโรธเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทรงทราบถึงการฆาตกรรมอันเป็นความผิดอย่างทารุณโหดเหี้ยม พระองค์ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างสุดซึ้ง และได้ทรงรับสั่งให้สืบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด เมื่อได้ทราบและได้พิสูจน์ความเป็นจริงอย่างเปิดเผยแล้ว พระองค์ได้ทรงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตผู้กระทำผิดที่เป็นชาวมุสลิม และที่มิได้เป็นคริสตัง โดยนำไปให้ช้างเหยียบ ส่วนบรรดาที่เป็นขุนนางและบรรดาข้าราชการที่พัวพันกับความผิดนั้น บางคนก็ให้ตัดศีรษะและบางคนก็ให้เนรเทศไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมุ่งเล็งถึงความยุติธรรมพระองค์ทรงตระหนักดีถึงการกระทำของมิชชันนารี และพระองค์ทรงนิยมชมชอบยิ่งนัก
ยิ่งกว่านั้น เมื่อคุณพ่อเซบาสติอาวได้หายจากบาดแผลแล้ว เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อได้เห็นการนองเลือดยังมีต่อไปอีก ท่านรู้สึกห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง และต้องการให้หยุดการฆ่ากันต่อไปทันทีที่ได้พักฟื้นเพียงพอแล้ว ท่านก็ได้เข้าพบเจ้าหน้าที่เพื่อขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อมาอีก 2-3 วันก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เข้าเฝ้า เมื่อคุณพ่อได้เข้ามาปรากฏเฉพาะพระพักตร์ พระองค์ท่านได้ทรงตบพระหัตถ์และทรงแสดงว่าพระองค์ทรงมีความสุขมากที่ได้เห็นคุณพ่อสบายดีมีชีวิตชีวาขึ้น
ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงถามคุณพ่อเซบาสติอาวถึงความประสงค์ของท่าน ซึ่งคุณพ่อก็ได้กราบทูลพระองค์ว่า "ขอทรงพระมหากรุณาสดับฟังทาสของพระองค์ด้วยเถิดพระเจ้าข้า" พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงตรัสว่า "พูดมาเถิด" คุณพ่อเซบาสติอาวจึงได้ทูลอธิบายถึงเหตุผลที่ได้ขอเข้าเฝ้าว่า ท่านปรารถนาที่จะทูลขอให้พระองค์ทรงหยุดการหลั่งเลือดเสีย พระมหากษัตริย์ไทยได้ทรงหวั่นไหวพระทัยอย่างเห็นได้ชัด และได้ทรงพระมหากรุณาประทานให้ตามที่ท่านขอ พร้อมกับตรัสว่า "ท่านเป็นคนดี และมีจิตใจที่สูงส่งยิ่งนัก" ต่อจากนั้นพระองค์ได้ทรงแสดงความรักและความเป็นมิตรต่อคุณพ่อมากยิ่งขึ้น พร้อมกับทรงขอร้องท่านอย่าได้ทอดทิ้งราชอาณาจักรของพระองค์ไปเพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ต่อจากนั้นพระองค์ได้ทรงมีรับสั่งให้หยุดการประหาร ความสงบสุขจึงเกิดขึ้นในที่สุด คุณพ่อเซบาสติอาวได้ทูลขอพระบรมราชานุญาตไปยังเมืองมะละกา เพื่อขอมิชชันนารีมาเพิ่ม พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงยินยอมให้ไปตามที่ท่านขอ พระสงฆ์ 2 องค์ได้ถูกส่งมาเพื่อปฏิบัติหน้าที่เผยแพร่พระศาสนา แต่นามของท่านทั้งสองไม่เป็นที่ทราบกัน จดหมายของคุณพ่อเฟอร์ดินัลถึงท่านอธิการใหญ่มีเพียงเท่านี้ และนี่ก็เป็นรายงานอย่างเดียวกันโดยคุณพ่อเบียรมัน แห่งคณะโดมินิกันเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นความเข้าใจผิดอีกข้อหนึ่ง ซึ่งต้องแก้ให้ถูกต้องนั่นคือ มีพระสงฆ์องค์เดียวเท่านั้นที่ถูกฆ่า ไม่ใช่ทั้งสององค์ดังที่บรรดานักประวัติศาสตร์ทางฝ่ายคาทอลิกในเมืองไทยบรรยายเอาไว้ คุณพ่อเยโรนิโม ดา ครู้ส องค์เดียวเท่านั้นที่ถูกฆ่า และที่ถูกฆ่าก็เนื่องมาจากการยุยงของพวกมุสลิม และมิใช่คนไทยหรือเจ้าหน้าที่ไทยเช่นเดียวกัน
หลักฐานเอกสารที่เป็นภาษาลาติน กล่าวถึงการคอรัปชั่นในหมู่ข้าราชการและการถูกลงโทษด้วย แต่สำหรับบรรดานักประวัติศาสตร์ได้ให้ข้อคิดว่า คนไทยได้ฆ่าพวกมิชชันนารีเพราะว่าพวกเขาไม่ต้องการได้ยินว่า คำสอนของพวกเขานั้นเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและไม่มีเหตุผล พระมหากษัตริย์ไทยทรงพระพิโรธอย่างใหญ่หลวงต่อเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้น และได้ทรงพยายามแก้ไขเรื่องราวให้ถูกต้องโดยทรงกวดขันการลงอาญาแก่พวกอาชญากรที่พัวพันเกี่ยวข้อง มรณสักขีของคุณพ่อเยโรนิโมเกิดจากพวกมุสลิมไม่ใช่ชาวไทยพุทธ ในการรายงานของคุณพ่อเฟอร์ดินัลถึงท่านอธิการใหญ่แห่งคณะโดมินิกัน ได้ยืนยันอย่างชัดแจ้งในเรื่องนี้
ส่วนอัฐิของคุณพ่อเยโรนิโมนั้น หลังจากเหตุการณ์อันร้ายแรงเกิดขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา 1 ปี จึงได้ถูกนำมายังเมืองมะละกา ที่นั่นพระสังฆราชและบรรดานักบวชได้จัดพิธีทางศาสนาอย่างสง่า ท่ามกลางคริสตชนที่มาร่วมในพิธีด้วยความเคารพในตัวคุณพ่อเป็นอย่างยิ่ง และได้ถูกฝังไว้ในสุสานที่สร้างขึ้น ทุกคนถือว่าท่านได้เป็นมรณสักขีผู้หนึ่ง ส่วนสหายของท่านคือ คุณพ่อเซบาสติอาวนั้น ทราบว่าท่านได้กลับมายังประเทศไทยเพื่อเผยแพร่พระวรสาร หลังจากความตายของสงฆ์ผู้ร่วมงานของท่าน แต่ก็มิได้มีหลักฐานอื่นใดที่กล่าวถึงท่านในสถานที่เก็บรักษาเอกสารของคณะโดมินิกันเลย เรื่องความตายของคุณพ่อเซบาสติอาวนั้นเป็นอันกล้ายืนยันโดยชัดแจ้งอย่างตรงกันข้ามว่า ท่านได้เสียชีวิตลงอย่างธรรมดา หาใช่เสียชีวิตแบบมรณสักขีตามที่นักประวัติศาสตร์บางท่านอ้างไว้ไม่
ภาคที่ 2 แห่งบทความนี้ จะกล่าวถึงเหตุการณ์ต่อมาของคณะโดมินิกัน เรื่องที่กล่าวมาแล้วเป็นเรื่องการทำงานของพระสงฆ์ 2 องค์แรก และเป็นเรื่องที่เราทราบเกี่ยวกับท่าน.
ความวิริยะอุตสาหะของมิชชันนารีคาทอลิกรุ่นแรกในประเทศไทย
ภาคที่ 2
ในบทความภาคแรกนั้น เราได้ประจักษ์แล้วว่าสงฆ์คณะโดมินิกันรุ่นแรกได้มาปฏิบัติงานเผยแพร่ศาสนาคาทอลิกในเมืองไทยอย่างไร และพระสงฆ์องค์หนึ่งในสององค์ที่มาแพร่ธรรมได้ถวายชีวิตเพื่อพระคริสตเจ้าอย่างไร บทความที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าท่านนี้จะบรรยายเรื่องราวที่จะตามมาเกี่ยวกับสงฆ์คณะโดมินิกันที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อไป
ถึงแม้ว่างานแพร่ธรรมในช่วงแรกของบรรดามิชชันนารีเหล่านี้ได้ถดถอยลง ท่านผู้กล้าหาญทรหดเหล่านี้ก็มิได้เสียน้ำใจ หากจะพูดให้ถูกความ ตายและมรณสักขีของคุณพ่อเยโร นิโมกลับเป็นเหตุกระตุ้นให้เกิดความร้อนรนที่จะดำเนินงานที่ได้เริ่มไว้แล้ว ด้วยการเสียสละอย่างใหญ่หลวงยิ่งขึ้นต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความภาคแรกว่าพระองค์ทรงประทับพระราชหฤทัยด้วยความโปรดปรานเป็นที่สุด ในการที่มิชชันนารีที่ยังเหลืออยู่ (คุณพ่อเซบาสติอาว ดากันโต) มีความใจดีและจิตใจปราณียกโทษให้แก่ศัตรูของคริสตศาสนา ด้วยการขออภัยโทษพวกเขาให้พ้นจากการลงอาญา อันเป็นชะตากรรมที่พวกเขาควรจะได้รับ เพราะการกระทำอันโหดเหี้ยมทารุณอย่างขี้ขลาดของพวกเขา เรื่องนี้ประชาชนพลเมืองทราบดี
ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงกิตติศัพท์ของมิชชันนารีคาทอลิกจึงเป็นที่นิยมนับถือจากพระเจ้าแผ่นดินและพสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างสูง พวกเขาได้เห็นว่าคำสอนของพระคริสต์นั้นท่านเองได้ปฏิบัติตามอย่างที่ท่านสอนไว้ คุณพ่อเซบาสติอาว ดา กันโต ที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยน้ำใจอันดีงามของท่านได้ทำประโยชน์ให้ท่านมาก ท่านได้ทูลขอพระ
บรมราชานุญาตไปยังเมืองมะละกาเพื่อไปขอมิชชันนารีมาช่วยงานเพิ่ม พระสงฆ์สององค์ได้กลับมาทำงานกับท่าน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่เราไม่ทราบนามของท่านทั้งสอง
เมื่อพวกมิชชันนารีได้กลับมาถึงอยุธยา เมืองหลวงแห่งราชอาณาจักรไทย ท่านก็ได้เริ่มสอนพระวรสารอย่างเปิดเผยดังเก่า ตราบใดที่ความเป็นศัตรูซึ่งเป็นเหตุให้คุณพ่อเยโรนิโมถึงแก่ความตายยังไม่หมดสิ้นไป พวกมิชชันนารีก็ต้องทำงานอยู่กับเพื่อนร่วมชาติของตนเอง คือชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชาติของเขา โดยใช้พวกนี้เป็นฐานติดต่อและทำให้ชาวพื้นเมืองสนใจคริสตศาสนา
อย่างไรก็ดี น้ำใจดีและความสนใจที่ชาวเมืองแสดงออกมา ถึงแม้จะมีการตั้งกลุ่มสนทนากันหลายครั้งหลายหนเพื่อที่จะสนับสนุนคริสตศาสนา ชาวเมืองก็ยังไม่กล้าเสี่ยงที่จะนับถือ เหตุผลหนึ่งอาจจะเป็นเพราะคริสตศาสนายังเป็นศาสนาใหม่สำหรับพวกเขา และเป็นศาสนาของชาวต่างชาติ คริสตชนบางคนก็ทำตัวอย่างไม่ดีให้เห็น บางทีอาจจะเป็นเพราะประชาชนยังไม่แน่ใจว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงมีน้ำพระทัยอย่างไร ในเรื่องนี้ต้องระลึกด้วยว่าประเทศไทยในเวลานั้นถือระบบสมบูรณาญาสิทธิราช และชาวเมืองก็ได้เคยชินอยู่กับการเดินตามผู้นำของตน ความจงรักภักดีและความเคารพนับถือ อันเป็นนิสัยซึ่งประชาชนชาวไทยมีต่อองค์พระมหากษัตริย์แห่งตนนั้น หยั่งรากลึกจนยากที่จะถอนได้ รวมทั้งศาสนาพุทธด้วยซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติที่พระมหากษัตริย์และประชากรของพระองค์นับถืออยู่ ข้าพเจ้าคิดว่าการประเมินตามสภาพการณ์ดังกล่าวก็น่าจะเห็นใจพวกเขา ตามทัศนะของนักประวัติศาสตร์ที่เป็นกลาง
ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมกมุ่นอยู่กับเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญมากกว่า ได้เกิดสงครามครั้งแรกในจำนวนสามครั้งกับประเทศพม่าซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน (1549-1563 และ 1569) ซึ่งเป็นสภาพที่ลงเอยด้วยความพินาศของกรุงศรีอยุธยา โชมีกรอน กษัตริย์ของพม่าได้เข้ามารุกรานประเทศไทยพร้อมด้วยกองทัพมหึมา และได้ประสบผลสำเร็จจนกระทั่งได้เข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา ไม่อาจต้านทานความชุลมุนวุ่นวายของสงครามได้ มิชชันนารีคณะโดมินิกันที่พำนักอยู่ในเขตของพวกโปรตุเกสในเมือง ได้เสียชีวิตทั้งหมดพร้อมกับการเสียกรุง สงครามได้ทำให้ผู้คนเสียชีวิตลงด้วย คุณพ่อเฟอร์ดินัลอยู่ในมะละกาได้ขอร้องคุณพ่อฟรังซิส เดอ อาเปรอ (1669-1674) ประมุขของคณะโดมินิกันในอินเดีย ให้ส่งมิชชันนารีองค์อื่นมายังประเทศไทย เคราะห์ร้ายที่ชื่อและจำนวนพระสงฆ์เหล่านั้นมิได้ถูกบันทึกไว้ ทำให้เราไม่สามารถทราบข่าวคราวของผู้รอดชีวิต เราจึงไม่ทราบว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับพวกท่านเหล่านั้นบ้าง
เมื่อต้องต่อสู้กับสงครามที่รบกันอยู่อย่างไม่หยุดหย่อนตลอดเวลา งานแพร่ธรรมก็ย่อมจะดำเนินไปไม่ได้ มิชชันนารีบางองค์ได้เดินทางกลับไปยังมิสซังของตน บางองค์ได้เดินทางไปยังเมืองท่าต่างๆ ในภาคตะวันออกไกล โดยหวังจะเริ่มงานเผยแพร่ศาสนาในที่ใหม่ต่อไป ทั้งๆ ที่รู้ว่า จะต้องต่อสู้กับความเจ็บป่วยและความตาย พระสงฆ์ผู้ช่วยองค์หนึ่งคือคุณพ่อเปโดร ดอส ซันตอส ได้ตกอยู่ในเงื้อมมือของพวกมุสลิมและได้เป็นมรณสักขี
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจและเป็นเรื่องที่ควรจะเข้าใจว่า เมืองกัว สังฆมณฑลของคณะโดมินิกัน ที่ต้องแบกภาระหนักอยู่แล้ว มิสซังอื่นๆ ในอาฟริกา, อินเดีย พร้อมทั้งบรรดาเกาะต่างๆ ของอินเดียที่กำลังขาดผู้คนอยู่ นอกจากนี้ยังได้รับความเสียหายกับการแพร่ธรรมใน มิสซังไทยที่ผันแปรอยู่เสมอ ที่สุดคณะโดมินิกันก็จำต้องทิ้งงานแพร่ธรรมในประเทศไทยไปด้วยความไม่เต็มใจเป็นอย่างยิ่ง
จากปี ค.ศ. 1582 จนถึงสิ้นปี ค.ศ. 1584 คณะฟรันซิสกันชาวสเปนได้พยายามดำเนินงานแพร่ธรรมที่คณะโดมินิกันได้เริ่มไว้แล้วในประเทศไทย ในที่สุดพวกท่านเหล่านี้ก็ได้ทิ้งแหล่งแพร่ธรรมนี้ไปด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามได้มีผู้แพร่ธรรมคนอื่นมารับภาระแพร่ธรรมในราชอาณาจักร มีการกล่าวถึงคุณพ่อดีเอโก เปเรีย ตีบาว แห่งคณะเยสุอิต, คุณพ่อมานูแอล เปเรรา และมาคอส โกเมซ แต่คณะโดมินิกันก็ยังคงยืดมั่นต่อความหวังในแหล่งแพร่ธรรมเดิมที่เขาได้ทำไว้ด้วยความเสียสละ และทุกข์ยากลำบากมามากต่อมากแล้ว
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำสงครามกับประเทศเขมร พระองค์ได้ทรงเอาชนะเมืองละแวกได้ บรรดามิชชันนารีที่ทำงานอยู่ในเขมรได้ตกอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ด้วย พวกท่านเหล่านี้ได้ถูกบังคับให้ต้องติดตามพระองค์ในฐานะเชลยศึกกลับมายังประเทศไทย พวกพระสงฆ์เหล่านี้ได้รับความยากลำบากมาก ณ ที่นี้ พระญาณสอดส่องก็ได้ช่วยให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากองค์พระมหากษัตริย์ เฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาพวกท่านเหล่านี้ มีคุณพ่อองค์หนึ่ง คือ คุณพ่อ ชอรเก ดา โมตา กับเพื่อนของท่านคนหนึ่งชื่อ ดีเอโก แบลโลโซ ได้ทูลขอสมเด็จพระนเรศวรผู้เป็นเจ้า ให้ทรงปล่อยพี่น้องผู้ร่วมงานคนอื่นๆ พร้อมทั้งชาวโปรตุเกสที่เป็นเชลยศึกให้ได้รับอิสรภาพหลังจากได้ดำเนินเรื่องค่าไถ่ถอนเชลยศึกจากมะนิลาในนามของพระมหากษัตริย์ได้เรียบร้อยแล้ว คุณพ่อชอรเกก็ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรเพื่อทูลรายงาน องค์พระมหากษัตริย์ได้ทรงพอพระทัยอย่างลึกซึ้ง ได้ประทานสิทธิพิเศษและเกียรติเป็นอันมากให้แก่คุณพ่อ ถึงกระนั้นความสัมพันธ์ อันดีเลิศนี้ก็ยังอยู่ได้ไม่นาน และโอกาสอันดีที่จะสอนพระวรสารได้ก็หมดไปด้วย
เพราะความทรยศของนายเบลโลโซชาวโปรตุเกส เพื่อนของคุณพ่อชอรเก ซึ่งพระมหา กษัตริย์ได้ทรงโปรดให้ไปยังเมืองมะนิลาในฐานะเป็นทูตผู้หนึ่ง และต่อมาได้หาทางเข้าประจบ ประแจงเพื่อให้ได้รับความโปรดปรานและความช่วยเหลือจากกษัตริย์ เป็นสาเหตุให้พระมหา กษัตริย์ไทยทรงแสดงความเป็นมิตรกับชาวโปรตุเกสน้อยลง อันที่จริง ในเวลานั้นมีชายผู้หนึ่งชื่อ ซูซา ได้ตำหนิเขาเรื่องความประพฤติของพวกพ่อค้าชาวโปรตุเกส และพระมหากษัตริย์ก็ได้ทรงห่างเหินกับเขาอย่างตลอดมา พระองค์ได้ทรงห้ามมิให้สอนพระวรสารซึ่งกำลังจะได้ผลอยู่แล้ว คุณพ่อหลุยส์ ดา ฟอนเซกา ได้เคยโปรดศีลล้างบาปให้แก่สตรีที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นภรรยาของพ่อค้าชาวญี่ปุ่น สาเหตุนี้ทำให้เกิดเรื่องร้ายแรงขึ้นอีกเรื่องหนึ่ง เมื่อชาวญี่ปุ่นพ่อค้าผู้นั้นรู้ถึงการกลับใจของภรรยาตนเข้า เขาจึงโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ
ในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เขาพร้อมด้วยเพื่อนชาวญี่ปุ่นบางคนได้เข้าไปในโบสถ์ และได้ฆ่ามิชชันนารีองค์นั้นถึงแก่ความตายหน้าพระแท่นนั้นเอง พวกโปรตุเกสได้รวมกันจับอาวุธป้องกันตัวและเพื่อแก้แค้นในการฆ่าครั้งนี้ คุณพ่อชอรเกเห็นว่าไม่มีอะไรที่จะสามารถทำต่อไปในเมืองไทยสำหรับเวลานั้นแล้ว ประกอบกับตัวท่านเองก็ได้รับบาดแผลในการวิวาทกันครั้งนั้นด้วย ดังนั้นท่านจึงได้ทูลขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อไปเยี่ยมเพื่อนร่วมงานของท่านผู้หนึ่งชื่อคุณพ่อจอห์น มัลโดนาโด ซึ่งอยู่บนเรือของสเปนที่วิ่งผ่านไปมาอยู่ และท่านได้ถือโอกาสไปยังมะละกาด้วย ในระหว่างนั้น พวกสงฆ์คณะโดมินิกันได้จัดเตรียมมิชชันนารีคนอื่นๆ ที่เมืองกัว และอินเดียเพื่อส่งมายังมิสซังไทย เนื่องจากระยะทางไกล และการคมนาคมก็ลำบากมาก พวกมิชชันนารีเหล่านี้ไม่ทราบถึงสถานการณ์ของมิสซังดังกล่าว หนึ่งปีต่อมาหลังจากความไม่สงบในเมืองไทย คือปี ค.ศ. 1600 ท่านอธิการใหญ่ของคณะโดมินิกัน คือ คุณพ่อเยโรนิโมดี ซันโดมินโกส ได้ส่งพระสงฆ์มาอีก2 องค์ คือ คุณพ่อเปโดร โลบาโต และ คุณพ่อเยโรนิโม มาสกาแรนอาส
อย่างไรก็ตาม เมื่อพวกที่อยู่มะละกาเหล่านี้มาถึงประเทศไทยแล้วจึงได้ทราบว่า คุณพ่อหลุยส์ได้ถูกฆ่าตายแล้ว และคุณพ่อชอรเกซึ่งเคยถูกส่งมาในฐานะเป็นทูตสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน ก็ได้สิ้นชีวิตไปแล้วด้วย บางทีอาจจะเป็นเพราะบาดแผลที่ได้รับเมื่อพวกญี่ปุ่นบุกเข้าวัดเมื่อคราวนั้นก็เป็นได้ ท่านคารโดโซบุคคลผู้หนึ่งที่มีความรอบรู้ในสมัยนั้น ได้ตั้งวันเดือนปีของการเป็นมรณสักขีของคุณพ่อหลุยส์ดา ฟอนเซกา เป็นวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1600 พวกสงฆ์เหล่านี้มิได้ทิ้งความตั้งใจในการแพร่ธรรม อาจจะเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ในมะละกาได้เตือนพวกเขาว่า สถานการณ์ในราชอาณาจักรยังไม่สมควรจะปฏิบัติงานแพร่ธรรมในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ยุ่งยากในการแพร่ธรรมก็ไม่อาจจะยับยั้งคณะโดมินิกันได้นานนัก พวกเขาได้หาวิธีอื่นเพื่อขจัดอุปสรรคให้ได้ต่อไป
หลังจากคุณพ่อชอรเกได้ไปยังมะละกาไม่นาน คุณพ่อคณะโดมินิกันองค์หนึ่ง คือ คุณพ่อแบคคีออร์ดา ลูซ ได้ลงมาที่มาร์ตาบัง ซึ่งเป็นช่องแคบเล็กๆ ของทะเลอันดามัน ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า เจ้าเมืองซึ่งรู้จักพฤติการณ์ของคุณพ่อชอรเก ได้มอบท่านให้เจ้าหน้าที่ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงกริ้วในฐานะที่เข้าประเทศโดยมิได้รับอนุญาต
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อแบคคีออร์ก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งได้ทรงปกป้องท่านและได้ประทานสิทธิพิเศษให้แก่ท่านหลายประการ พระองค์ทรงประทานอนุญาตให้มิชชันนารีเทศน์สอนได้ ยิ่งกว่านั้นพระองค์ทรงสร้างวัดสำหรับคุณพ่อและคริสตชนของท่านด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ กระทั่งเมืองมะละกาก็ยังได้รับน้ำพระทัยอันกว้างขวางจากพระองค์ด้วย โดยได้ทรงส่งเรือบรรทุกข้าวเต็มลำเพื่อไปช่วยเหลือชาวเมืองและทรงบริจาคสิ่งของแก่อารามที่นั่นด้วย นี่เป็นตัวอย่างประวัติศาสตร์ในระยะแรกๆ กล่าวถึงพระทัยอันกว้างขวางของกษัตริย์ไทย
ผู้ทรงนับถือพุทธศาสนา ซึ่งเป็นประเพณีและปฏิบัติตลอดมาจนกระทั่งทุกวันนี้
ในรัฐธรรมนูญไทยขนานนามพระมหากษัตริย์ว่าเป็นองค์อุปถัมภ์ศาสนาทุกศาสนาและทุกๆ ปีผู้แทนของศาสนาต่างๆ ยกเว้นศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ ได้รับพระราชทานให้เข้าเฝ้า พระองค์ทรงทราบและตระหนักถึงงานของพวกเขาอย่างลึกซึ้ง พระองค์ทรงสบพระทัยในการปฏิบัติในศาสนา สนับสนุนเขา และทรงบริจาคสิ่งของเพื่อช่วยเหลือทั้งด้านศาสนาและงานกุศล
กลับมากล่าวถึงคุณพ่อแบลคีออร์ด และความพยายามในการดำเนินงานแพร่ธรรมของท่านต่อไป ต้องสังเกตว่าคุณพ่อเป็นบุคคลที่กล้าหาญชาญชัยและมีหัวคิดอย่างยอดเยี่ยมผู้หนึ่ง ท่านไม่ต้องใช้ความพยายามมากนักในเรื่องเกี่ยวกับงานเผยแพร่พระคริสตศาสนา บางทีอาจจะเป็นเพราะความเป็นผู้กล้าหาญมีสติปัญญาและความไม่เกรงกลัวต่ออันตรายใดๆ ทั้งสิ้นนั้นได้ดึงดูดให้สมเด็จพระนเรศวรทรงสบพระทัยมาก ซึ่งลักษณะดังกล่าวนี้ตัวพระองค์ท่านเองก็มีอยู่อย่างพร้อมมูล ฉะนั้นชาวไทยจึงถือว่าพระองค์เป็นหนึ่งในบรรดากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย โดยขนานพระนามว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช แม้เมื่อพระองค์ได้ทรงพระประชวรหนัก คุณพ่อแบล คีออร์ก็ได้เสี่ยงกับความยุ่งยากและอันตราย เข้าไปในราชสำนักกรุงตะนาวศรี ปัจจุบันคือ ประเทศพม่า โดยเร่งด่วนในนามของมิชชันนารี และนี่ก็มิได้ทำให้ความช่วยเหลือของพระองค์ลดน้อยลงไป เมื่อพระองค์ทรงฟื้นจากพระประชวรงานแพร่ธรรมนี้ได้ประสบผลสำเร็จซึ่งยังผลให้บรรดามิชชันนารีองค์ต่อๆ มาสามารถเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรได้
เราพบว่าคุณพ่อเปโดร โลบาโต และเปโดร มาสคาเรนอาส ซึ่งได้ทำงานอยู่ก่อนในมิสซังมะละกา ในรายชื่อของบรรดามิชชันนารีที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย ต่อมาก็มีคุณพ่อเยโรนิโม เดอ ซัน โดมินโกส และคุณพ่อยอง ดี ซานโต สปีริโต มาร่วมด้วย คุณพ่อองค์สุดท้ายนี้ได้สิ้นชีวิตในประเทศไทย แต่งานแพร่ธรรมที่กำลังรุ่งโรจน์ทั้งหมดนี้หาได้เรืองรองอยู่ได้นานนักไม่ อาจจะเป็นตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนเรศวร ซึ่งสวรรคตในปี ค.ศ. 1605 คุณพ่อแบลกีออร์เองก็ได้ออกจากประเทศไทยเมื่อปี ค.ศ. 1602 เพื่อทำงานในมิสซังอาราคันในประเทศเบงกอล และที่เมืองนี้เองมิชชันนารีผู้กล้าหาญแสนทรหดผู้นี้ได้เสียชีวิตโดยจมน้ำตายในตอนที่ท่านข้ามแม่น้ำแห่งหนึ่งในเมืองนั้น
สมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชาผู้ซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อองค์พระเชษฐาได้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ทรงจดจ่ออยู่กับการที่จะพัฒนาประเทศของพระองค์ ได้ทรงเปิดการติดต่อกับประเทศดัช, ประเทศอังกฤษ และญี่ปุ่น พวกสเปนได้มาก่อนประเทศเหล่านี้นานตั้งแต่ ค.ศ. 1598 สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ คุณพ่อคณะเยสุอิตองค์แรกที่จะพักอยู่อย่างถาวรในเมืองไทยได้เดินทางมาถึง ท่านผู้นี้คือ คุณพ่อบัลทาซาร์ เดอ เซเกรา คุณพ่อเบนโน เบียรมาน นักประวัติศาสตร์คณะโดมินิกันประมาณว่าเป็นเวลาราวปลายปี ค.ศ. 1606 แต่นักประวัติศาสตร์คนอื่นๆ เช่นหนังสือพจนานุกรมคาทอลิกปี ค.ศ. 1963 ที่พระสงฆ์คณะเยสุอิตพิมพ์ที่กรุงเทพฯ ว่าเป็นปี ค.ศ. 1609 คณะฟรันซิสกันองค์หนึ่งชื่อ คุณพ่ออันดรู ได้มาทำงานในประเทศปี ค.ศ. 1616 ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1616 คุณพ่อฟรังซิสโก ดา อันนุนชีอา ได้มาถึง ท่านได้เคยแสดงความสามารถในทางเป็นทูตการเมืองในนามอุปราชอินเดียมาแล้วอย่างน่าพิศวง ดอน เยโรม เดอ อาเซวาโด และท่านได้ถูกส่งมายังเมืองไทยเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับมะละกา ซึ่งได้หยุดพักไว้ชั่วคราว ท่านทำงานที่ได้รับมอบหมายมาอย่างได้ผลดี แต่มิได้มีการกล่าวถึงมิชชันนารีคณะโดมินิกันที่ถูกส่งมาทำงานแพร่ธรรมเลย คุณพ่อเปโดร เดอ มอเรฮอน และคุณพ่ออันโตนิโอ ฟรันซิสโก การ์ดิน สามารถเข้าประเทศเพื่อดำเนินการแพร่ธรรมได้ต่อไป ในปี ค.ศ. 1619 แต่อาจจะเป็นเพราะพวกท่านเห็นว่าคงจะทำอะไรไม่ได้มากนัก และสถานการณ์ก็ไม่ค่อยจะอำนวยด้วย ท่านจึงได้ไปดำเนินงานที่ประเทศญี่ปุ่นต่อไป
อย่างไรก็ตามคุณพ่อการ์ดินก็ได้กลับมาเมืองไทยเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ คือปี ค.ศ. 1629-1630 ในปี ค.ศ. 1627 ทั้งพวกคณะฟรันซิสกันและคณะโดมินิกันก็ได้พยายามตั้งต้นทำงานแพร่ธรรมขึ้นใหม่ คุณพ่อยูลีอุส ซีซาร์ มารยีโก ได้เข้าร่วมทำงานทางฝ่ายของคณะโดมินิกันต่อมา คุณพ่อลูกาซ เดอ ซันตา กาทารีนา แจ้งให้เราทราบว่าบางครั้งบางคราวก็อาจจะลองเสี่ยงดูว่าจะได้ผลแค่ไหนเพียงใด และบางทีก็ได้มาไม่เพียงพอ แต่ตามทัศนะที่ควรเชื่อก็เห็นจะเป็นเพราะสถานการณ์นั่นเอง
ประเทศไทยในปี ค.ศ. 1631 ก็ต้องประสบกับความหายนะทางการเมืองอีก ราชวงศ์ต่อมาที่สถาปนาขึ้นครองอำนาจเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่คือ สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งได้เสวยราชย์อยู่จนถึงปี ค.ศ. 1656 ตอนแรกกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงโปรดปรานพวกดัชและไม่ทรงชอบพวกโปรตุเกส แน่นอนย่อมเป็นลางไม่ดีสำหรับบรรดามิชชันนารีที่เป็นพวกเดียวกับชาวโปรตุเกส และสำหรับชาวคริสตชนส่วนใหญ่ก็เป็นชาวโปรตุเกสเสียด้วย ศาสนาคริสต์ก็ย่อมเกี่ยวพันกับชาวโปรตุเกสนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเปลี่ยนพระทัยในเวลาต่อมาในปี ค.ศ. 1639 คราวนี้ความไม่วางพระทัยของพระองค์พุ่งตรงไปยังพวกดัช ซึ่งพระองค์ทรงเกรงว่าพวกนี้จะรุกล้ำอธิปไตยของเมืองไทย พระองค์มีพระบรมราชโองการให้ประหารพวกดัชทุกคนที่ทำการรุกล้ำดังกล่าวนั้น และทรงพยายามหาทางฟื้นฟูการติดต่ออย่างพระสหายกับพวกโปรตุเกสต่อไป
ลูกาส เดอ ซันตา มารีอา ได้บรรยายว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงส่งโปรตุเกสผู้หนึ่งไปยังมะละกาเพื่อการนี้ ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงทราบดีว่าพวกดัชรบกับพวกโปรตุเกสเพื่อความยิ่งใหญ่ในทางจะเอาเป็นเมืองขึ้นในแถบนี้ เราทราบว่าเมืองมะละกาได้เคยถูกยึดจากชาวดัชในปี ค.ศ. 1640-1641 คุณพ่อลูกาส เดอ ซันตา มารีอา ได้กล่าวในปี ค.ศ. 1639 ดังนั้นพวกโปรตุเกสจึงต้องไปที่มาเก๊า
นายพลผู้ดูแลมาเก๊าคือ ดอน เซบาสเตียน โลโบ ได้รับข้อเสนอและได้ส่งทูตมายังราชสำนักไทย และยังได้จัดส่งมิชชันนารีมาด้วยเพื่อจุดประสงค์นี้ คุณพ่อแอนโทนี ดี ซาน โดมินโคส และคุณพ่ออาซินท์ซีเมเนส ได้เข้าหาผู้ใหญ่อาสาสมัครเข้ารับใช้และได้มายังมิสซังไทยเพื่อประโยชน์ในโชคชะตาของชาวคริสต์ เมื่อท่านมาถึงเมืองไทยก็ได้พบเห็นพวกคริสตังได้ถูกเบียดเบียนและถูกข่มเหงรบกวนอย่างหนักจากชาวดัชและชาวไทย ส่วนใหญ่ถูกจับเป็นทาส ชะตากรรมนี้เกิดขึ้นกับพวกเขาในการปฏิวัติครั้งสุดท้าย คริสตชนส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่โดยไม่รู้จักศาสนาของพวกเขา เขารู้สึกท้อแท้หมดกำลังใจอย่างที่สุด แต่บรรดามิชชันนารีมิได้เสียกำลังใจ เขาได้รับพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ประทานที่อยู่อย่างดีเลิศในบริเวณที่ดีแห่งหนึ่งในตัวเมืองให้ โบสถ์เก่าๆ หลังหนึ่งได้ถูกรื้อทิ้งโดยไม่ถูกต่อต้านจากประชนชนที่ไม่ใช่คริสตัง และโบสถ์หลังหนึ่งก็ได้ถูกสร้างขึ้นบนที่ตรงนั้นเอง คุณพ่อลูกาสได้เล่าถึงเรื่องนี้อย่างภูมิใจยิ่ง ดังนี้ด้วยคำพูดด้วยตัวอย่างที่ทำให้เห็น พวกมิชชันนารีได้พยายามปลุกปลอบใจบรรดาคริสตัง และในเวลาเดียวกันก็ได้หาทางโปรดศีลล้างบาปให้คนอื่นๆ อีกเป็นอันมาก โดยมิได้เอาใจใส่ว่าเจ้าหน้าที่ในท้องที่จะคิดหรือจะขู่แต่อย่างใด
ครั้งหนึ่งเมื่อมีการกบฎต่อพระมหากษัตริย์เกิดขึ้น บรรดาพระสงฆ์ก็ได้ถูกจับจองจำในคุก แต่ในคุกนั่นเองท่านได้ดำเนินงานของท่านต่อไป ได้ทำให้ผู้คนกลับใจเป็นจำนวนมาก ท่านได้ชนะทั้งไม่ว่าผู้คนหรือนักโทษ และนักโทษหลายคนได้ขอให้ท่านโปรดศีลล้างบาปให้
ต่อมาเมื่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้สงบลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว บรรดามิชชันนารีรุ่นใหม่ก็ได้ถูกเรียกมาช่วยแพร่ธรรม ในบรรดาพวกที่มานี้ก็มี คุณพ่อโยเซ ดี ซันตา มารีอา, คุณพ่อซีเมา ดีอันนอส ยาว ดี ซัน กอนซาแลส, คุณพ่อมานูแอล ดี ฟอนเซกา, คุณพ่อยาว ดี ซานโดมินโกส และต่อมาก็มีคุณพ่อเดนิส และคุณพ่อหลุยส์ โด โรซารีโอ โดยกิจกรรมและการเสียสละของท่านเหล่านี้ผู้เป็นข้าช่วงใช้ที่แท้จริงแห่งพระวรสาร ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยได้เจริญขึ้นจนถึงปี ค.ศ. 1662 ในปีนี้เองข่าวเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวกับการแพร่ธรรมของคณะโดมินิกันในเมืองไทยก็สิ้นสุดลง ในช่วงระยะเวลา 95 ปี มีการหยุดชงักลงนี้ นับเนื่องจากความวิบัติทางการเมืองบ้าง การเบียดเบียนศาสนาบ้าง และความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน การแพร่ธรรมของสงฆ์โดมินิกันในไทยอยู่ในความอารักขาของสังฆมณฑลคณะโดมินิกันชาวโปรตุเกส และดังที่คุณพ่อลูกาส เดอ ซันตา คาทารีนาแจ้งไว้ "มันเป็นข้อมูลสำหรับประวัติศาสตร์ที่เราได้มา..."
จากเรื่องราวที่ได้บรรยายมานี้ เราสามารถที่จะเห็นได้ว่าบรรดาพระสงฆ์คณะโดมินิกันเหล่านี้ได้ทำงานเป็นเวลาอันยาวนานด้วยความยากลำบาก เพื่อจะปลูกฝังพระศาสนจักรในประเทศไทย พวกท่านเหล่านั้นสามารถที่จะภาคภูมิใจในผลงานที่เกิดขึ้น ในหนังสือบันทึกประวัติการแพร่ธรรมที่เกี่ยวกับพระศาสนจักรในประเทศไทย เป็นประวัติศาสตร์เล่มเล็ก ๆ ที่น่ารู้เล่มหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยคาทอลิกของเรา ซึ่งมีส่วนแบ่งในมรดกแห่งความเชื่อที่ได้ถูกหว่านลงโดยท่านผู้เรืองนามแห่งพระศาสนาเหล่านี้ ซึ่งได้เสียสละกระทั่งถึงถูกจองจำติดคุกติดตะรางและหลั่งเลือดในสมัยนั้นชาวไทยคาทอลิกทุกวันนี้ได้รับความสุขจากผลของความเหนื่อยยาก ความเสียสละอย่างเหนียวแน่นไม่ยอมให้หลุดพ้นไปได้ วีรชนแห่งความเชื่อเหล่านี้ไม่มีใครสรรเสริญ ไม่มีผู้ใดรู้จักมาช้านาน ถูกมองข้ามและถูกลืม ท่านควรจะได้รับตำแหน่งแห่งเกียรติยศชื่อเสียง อันพึงมีพึงได้ด้วยความเป็นธรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านได้เป็นส่วนหนึ่งแห่งกองมรดกคาทอลิก ที่ได้มอบให้แก่พระศาสนจักรของประเทศไทย
โดยพระญาณสอดส่องแห่งพระเจ้า พระศาสนจักรในประเทศไทยเป็นหนี้พระคุณอันใหญ่หลวงแก่คุณพ่อแห่งคณะนักเทศน์ (คุณพ่อคณะโดมินิกัน) เพราะว่าท่านเหล่านี้แหละที่ได้หว่านเมล็ดพืชแห่งความเชื่อลงในประเทศไทย
บทความทั้ง 2 ภาคของคุณพ่อ Rocco นี้มีประโยชน์ต่อการเรียนรู้เรื่องราวของคณะโดมินิกันในสยามอย่างมาก เอกสารที่คุณพ่อได้อ้างถึงนั้นได้แก่ จดหมายของ Fernando di S. Maria เราสามารถพบได้ใน Monumenta Ordinis Fratrum Praedicatorum Historica, Tomo X, Acta Capitulorum Generalium, vol. V, Rome, 1901, pp. 149-153 เขียนเป็นภาษาลาติน และคุณพ่อร็อคโกก็ได้ชี้แจงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยใช้เอกสารนี้ส่วนหนึ่ง เอกสารได้ชี้ให้เห็นว่าปี ค.ศ. 1567 เป็นปีที่คณะโดมินิกันเข้ามาในสยาม ไม่ใช่ปี ค.ศ. 1555 ดังที่หลายฝ่ายเข้าใจกัน
นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ Compendium Historiae Ordinis Praedicatorium เขียนโดย A. Walz พระสงฆ์คณะโดมินิกัน พิมพ์ที่กรุงโรมในปี ค.ศ. 1948 หน้า 497 ก็ได้ยืนยันปี ค.ศ. 1567 นี้เช่นเดียวกัน และได้กล่าวชื่อของมิชชันนารี 2 ท่านแรกตรงกันทีเดียว
ในระหว่างที่สยามมีสงครามกับพม่าในปี ค.ศ. 1569 ซึ่งเป็นปีที่พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ พวกพม่าได้พบมิชชันนารี 3 ท่านกำลังสวดภาวนาอยู่ในวัดพวกพม่าได้ตัดศีรษะพวกท่านเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1569 เนื่องด้วยพวกท่านทำงานอยู่ในสยาม เรื่องนี้เราสามารถพบได้ในเอกสารของชาวโปรตุเกสซึ่ง Da Silva ในหนังสือของเขาชื่อ Documentacao para a Historia das Missoes do Padroado Portugues do Oriente, หน้า 460-461และในหนังสือ Portugal na Tailandia ของ Teixeira หน้า 281 จึงเป็นไปได้ว่าทั้ง 3 ท่านนี้คงได้แก่ คุณพ่อเซบาสติอาว ดา กันโต กับมิชชันนารีอีก 2 ท่าน ที่ท่านได้นำมาจากมะละกา เพราะปี ค.ศ. 1567 และ 1569 นั้นอยู่ในระยะเวลาที่เกิดเหตุการณ์นี้พอดี เหตุการณ์เช่นนี้ได้เกิดขึ้นกับคุณพ่อ Jorge da Mota และคุณพ่อ Fonseca คือได้ถูกฆ่าตายในสยาม เราทราบจากหนังสือเล่มเดียวกันนี้ การทำงานของคณะโดมินิกันในสยามมีอุปสรรคอยู่เสมอ จนกระทั่งในระหว่างปี ค.ศ. 1601-1619 คุณพ่อ Francisco da Anunciacao ได้ปักหลักสำเร็จในสยาม งานแพร่ธรรมของคณะโดมินิกันในสยามดำเนินต่อมาโดยมีการขาดตอนอยู่บ้างจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1783
ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับคณะโดมินิกันในสยาม ผมขอแนะนำให้อ่านหนังสือของ Teixeira และขอให้มีความรู้ภาษาโปรตุเกสด้วย เพราะในหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจอีกหลายประการทีเดียว
4. มิชชันนารีคณะฟรันซิสกันและคณะเอากุสติเนียนในสยาม
เกี่ยวกับเรื่องราวของคณะฟรันซิสกันในระยะแรกนั้น เรายังไม่ทราบอะไรมากนัก จากการศึกษาเอกสารของโปรตุเกส Da Silva ได้เล่าให้เรารู้แต่เพียงชื่อของมิชชันนารีและระยะเวลาที่เข้ามาอยู่ในสยามเท่านั้น จึงเป็นเรื่องที่เราสามารถจะศึกษากันได้ต่อไป แต่ผมก็ยังเชื่อว่าเราจะรู้อะไรมากคงไม่ได้ Teixeira เองก็ยังไม่ได้ให้ข้อมูลมากนัก
ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ แต่เดิมเราเชื่อว่ามิชชันนารีฟรันซิสกันเข้ามาในสยามครั้งแรกในปี ค.ศ. 1584-1585 ผมได้รับหนังสือประวัติของคณะฟรันซิสกันเล่มหนึ่งชื่อ P. LORENZO PEREZ,O.F.M., Origen DE LAS Missiones Franciscanas en el Extremo Oriente, Madrid 1916 ซึ่งเป็นหนังสือที่ศึกษามาจากเอกสารของคณะในหอจดหมายเหตุ Archivo Ibero-Amenicano เลขที่ I, II, III, IV, V, VII, IX, XI, XIII, XV, XVIII. หนังสือนี้เขียนเป็นภาษาสเปน ได้ให้เรื่องราวส่วนหนึ่งที่น่าศึกษา เสียดายที่ผมยังไม่เข้าใจภาษาสเปนดีพอ จึงยังไม่สามารถศึกษาได้ ยังมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ P. MARENLO DE RIBADENEIRA, Historia de las Islas del Archipielago Filipino y Reinos de la Jean China, Tartaria, Cochinchina, Malaga, Siam, Cambodge y japon, Madrid 1947 โดยคณะฟรันซิสกันเป็นผู้จัดพิมพ์ขึ้น ก็มีเรื่องราวของคณะนี้ในสยามอยู่บ้างเหมือนกัน
จากหนังสือ 2 เล่มนี้รวมทั้งงานเขียนของ Da Silva และ Teixeira เราทราบว่า มิชชันนารีคณะนี้เข้ามามาในสยามครั้งแรกในปี ค.ศ. 1582 รายชื่อและกิจการต่างๆ ของพวกมิชชันนารีก็มีให้พวกเรารู้ได้บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก จึงเป็นเรื่องที่สามารถศึกาาค้นคว้าได้ต่อไป ปีสุดท้ายที่เราพบพวก ฟรันซิสกันในสยามได้แก่ปี ค.ศ. 1755 ปัจจุบันนี้มีนักบวชคณะฟรันซิสกันเข้ามาทำงานในประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้เองอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนเรื่องราวของคณะเอากุสติเนียนในสยาม เรายิ่งรู้น้อยกว่าคณะอื่นๆ เราทราบแต่เพียงชื่อของมิชชันนารีคณะนี้ที่เข้ามาในสยาม และมีการบันทึกไว้ในเอกสารเท่านั้น มิชชันนารีคณะนี้เข้ามาในสยามระหว่างปี ค.ศ. 1677-1704 จากนั้นเราก็ไม่ทราบอะไรอีกเลยเกี่ยวกับคณะนี้ในสยาม จากการอ่านหนังสือของ Teixeira ได้บอกแต่เพียงว่าในปี ค.ศ. 1704 นั้นคุณพ่อ Estevao de Sousa ได้สร้างโรงพยาบาลขึ้นมาเพื่อชาวโปรตุเกสในสยาม
ดังนั้น นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเปิดกว้างสำหรับการศึกษาต่อไป เนื่องจากยังมีเอกสารภาษาโปรตุเกสและสเปนอีกมากที่ยังมิได้รับการศึกษาเลย
5. มิชชันนารีคณะเยสุอิตในสยาม
เรื่องราวของคณะเยสุอิตในสยามนี้ ดูเหมือนว่าเราสามารถรู้ได้มากกว่าคณะอื่นๆ ในบรรดามิชชันนารีรุ่นแรกๆ ที่เข้ามาในสยาม ทั้งนี้เป็นเพราะว่ามิชชันนารีเหล่านั้นชอบบันทึกและส่งบันทึกนั้นกลับไปที่คณะของตนอยู่เสมอ ประกอบกับคณะนี้ชอบการศึกษา ดังนั้นการเก็บเอกสารต่างๆ ก็เก็บไว้อย่างดี คณะเยสุอิตในประเทศไทยก็สนใจเรื่องราวของตนเองมาก ได้ศึกษาและได้จัดทำประวัติของคณะตนเองขึ้นมาด้วย คณะเยสุอิตมีบทบาทอย่างสำคัญในพระศาสนจักร มิชชันนารีก็เป็นผู้ที่ทุ่มเทเพื่อการประกาศพระวรสาร และมีชื่อเสียงหลายต่อหลายท่าน เป็นมรณสักขีก็มากมาย ดังนั้นการศึกษาเรื่องนี้จึงน่าสนใจอยู่มิใช่น้อย.
5.1 เยสุอิตองค์แรกในสยาม
นักประวัติศาสตร์ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่าเยสุอิตองค์แรกที่เข้ามาในสยามนั้น ได้แก่ คุณพ่อบัลทาซาร์ เซเกอีรา (Balthasar Sequeira) ชื่อนั้นตรงกันหมด แต่มักจะบอกปีที่เข้ามาแตกต่างกันไป เช่น หนังสือประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในประเทศไทย ที่สารสาสน์พิมพ์ขึ้นมา บอกว่าเป็นปี ค.ศ. 1609, Wood และ Hutchinson นั้นบอกว่าเป็นปี ค.ศ. 1606 พระสงฆ์เยสุอิตผู้หนึ่งชื่อ J.Burnay, Notes Chronologiques sur les Missions Jesuits du Siam au XVII Siecle, AHSI, XXII (1953) 171 หลังจากได้ตรวจสอบเอกสารต่างๆ และศึกษาจากหนังสือต่างๆ โดยเฉพาะของ Du JARRIC แล้ว ก็ได้สรุปออกมาอย่างชัดเจนว่าคุณพ่อบัลทาซาร์ได้เดินทางออกจาก San Tome ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1606 และมาถึง Merqui, Tenasserim ประมาณเดือนธันวาคมและมกราคม และในที่สุดก็เดินทางมาถึงอยุธยาระหว่างอาทิตย์ศักดิ์สิทธิ์ของปี ค.ศ. 1607 นั่นคือประมาณระหว่างวันที่ 19-26 มีนาคม ค.ศ.1607
ผู้ที่กล่าวว่าปี ค.ศ. 1606 นั้นเราก็สามารถพูดได้ว่าไม่ผิด เพราะเวลานั้น Merqui และ Tenasserim ยังเป็นของสยามอยู่ นักเขียนในสมัยนั้นคือ S. Purchas, Relations of the World Asia (the Fifth Book) พิมพ์ที่ London ในปี ค.ศ. 1617 เป็นครั้งแรกได้ให้ความเห็นที่สอดคล้องกับเรื่องนี้ในหน้า 556 ว่า
"ในปี ค.ศ. 1606 บัลทาซาร์ เซเกอีรา เยสุอิตขึ้นบกที่ Tenassary และเดินทางผ่านไป ข้ามแม่น้ำลำธาร ข้ามห้วยเนินที่ลำบากและกันดาร ข้ามป่าเขาลำเนาไพร จนกระทั่งมาถึง Odia"
จากการศึกษาประวัติของคุณพ่อผู้นี้ โดยใช้เอกสารที่เก็บอยู่ในหอจดหมายเหตุคณะเยสุอิต ที่กรุงโรม เราทราบว่าท่านเกิดที่ลิสบอนในปี ค.ศ. 1511 รับเข้าคณะในปี ค.ศ. 1566 ออกเดินทางจากลิสบอนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1578 มุ่งสู่อินเดียด้วยเรือชื่อ เซนต์หลุยส์ ซึ่งเป็นเรือลำหนึ่งในขบวนเรือที่ออกไปสู่อินเดียทุกปี ท่านได้ถวายมิสซาแรกที่ San Roque เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1579 พร้อมกับเพื่อนๆ อีก 13 องค์ ซึ่ง 1 ใน 3 องค์นี้ได้แก่ คุณพ่อ Matteo Ricci ซึ่งเป็นมิชชันนารีที่มีชื่อเสียงมากของคณะเยสุอิตที่ทำงานในประเทศจีน
คุณพ่อบัลทาซาร์ได้เรียนและทำงานอภิบาลบ้าง สอนภาษาลาตินบ้างในอินเดิยนี้จนถึงปี ค.ศ. 1605 แรกทีเดียวคุณพ่อบัลทาซาร์ และคุณพ่อ Joao Costa ถูกกำหนดให้เดินทางไปแพร่ธรรมที่ Pegu แต่บังเอิญเกิดสงครามในพม่า จึงเห็นว่าอันตรายเกินกว่าจะเดินทางไปได้ ในระหว่างรัชสมัยของพระเจ้าเอกาทศรถ (ค.ศ. 1605-1610) ซึ่งครองราชย์สืบต่อจากพระนเรศวรคณะทูตไทยคณะหนึ่งถูกส่งไปเข้าพบผู้แทนพระมหากษัตริย์โปรตุเกสที่เมืองกัว ทั้งนี้เพื่อฟื้นฟูสัมพันธภาพกับอินเดีย ทูตผู้นั้นมิได้นำพระราชสาสน์ไปมอบให้แก่ผู้แทนพระมหากษัตริย์โปรตุเกสแต่อย่างเดียว แต่ยังได้นำจดหมายส่วนพระองค์หลายฉบับไปมอบให้แก่ชาวโปรตุเกสบางคนที่เคยอาศัยอยู่ในสยามและรู้จักกับพระองค์ด้วย และหนึ่งในจำนวนคนเหล่านั้นคือนาย Tistao Golayo ตอนนั้น Golayo อยู่ที่ San Tome และเคยมีมิตรภาพส่วนตัวกับพระมหากษัตริย์ไทยเมื่อครั้งที่พระองค์ยังทรงเป็นเจ้าฟ้าอยู่ Golayo ตัดสินใจกลับมายังสยามเพราะตระหนักดีว่ามิตรภาพเช่นนี้เอื้ออำนวยและเป็นผลดีกว่าการอยู่ที่อินเดีย Golayo เองยังเป็นเพื่อนที่ดีของคณะเยสุอิตด้วย ประจวบกับเวลานั้นที่อินเดีย คุณพ่อ เจ้าคณะแขวงของเยสุอิตอยู่ที่นั่นด้วยคือ คุณพ่อ Gaspar Fernandes เขาจึงขอให้ส่งพระสงฆ์เยสุอิตบางองค์มาที่สยามกับตน เพื่อเรียนรู้ลักษณะนิสัย และขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม
คุณพ่อเจ้าคณะแขวงผู้นี้เอง เป็นผู้มีความกระตือรือร้นเต็มเปี่ยมเพื่อพระราชัยของพระเป็นเจ้า ได้มองเห็นโอกาสสำคัญนี้ที่จะเปิดภารกิจใหม่ขึ้นมา จึงได้ส่งคุณพ่อเซเกอีราและมอบหมายภารกิจนี้ให้
เราไม่ทราบว่าท่านได้ทำอะไรไว้บ้างในสยามในขณะที่ท่านอยู่ เรารู้แต่เพียงว่าท่านอยู่ที่สยามเป็นเวลาประมาณ 2 ปีครึ่ง ท่านค่อนข้างชราแล้วเพราะท่านอยู่ที่อินเดียเป็นเวลานานถึง 30 ปี แต่เนื่องจากท่านเป็นเยสุอิตคนเดียวที่มีอยู่เวลานั้นและสามารถไปสยามได้ ท่านจึงเป็นผู้ถูกเลือก ราวๆ ปลายปี ค.ศ. 1609 ท่านป่วยและต้องการกลับไปที่เมืองกัว หรือ โคชิน (แคว้นหนึ่งในอินเดีย)
อย่างไรก็ตาม ท่านเสียชีวิตระหว่างที่ท่านเดินทางกลับนั่นเองที่เมือง Piple (ปัจจุบันคือ เมืองเพชรบุรี) ในหอจดหมายเหตุของคณะเยสุอิตได้บันทึกเรื่องราวของท่านไว้โดยบอกด้วยว่า ท่านมีอายุระหว่าง 55 หรือ 59 ปี นอกจากนี้ De Marini สงฆ์เยสุอิตอีกผู้หนึ่งที่เข้ามาสยามหลังจากท่านเขียนบันทึกไว้และพิมพ์เป็นหนังสือในปี 1663 เล่าเช่นเดียวกันว่า "เป็นเวลา 50 ปีมาแล้วที่คุณพ่อ Baldassar Sequeira สมาชิกคณะของเราได้เข้ามาและนำพระวรสารมาสู่อาณาจักรนี้ ท่านป่วยและปรารถนาจะกลับไปที่ Goa หรือ Cochin แต่ท่านก็เสียชีวิตในระหว่างการเดินทางที่เมือง Piple" จากการศึกษาของ Du Jarric เราทราบด้วยว่าท่านได้พยายามทำงานที่สยามเพื่อความรอดของวิญญาณ และท่านยังได้ติดต่อกับพระสังฆราชแห่งมะละกาหลายครั้ง เพราะเป็นผู้มีอำนาจทางพระศาสนจักรเหนือสยาม
5.2 บ้านเยสุอิตแห่งแรกในอยุธยา (ค.ศ.1626-1632)
เบื้องต้นนั้น งานของคณะเยสุอิตในสยามยังขาดบุคคลากรที่จะทำงานในสยาม งานจึงขาดช่วงอยู่นานพอสมควร การเข้ามาของสงฆ์เยสุอิตก็มีความเป็นมาแตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากการเข้ามาของคุณพ่อ Morejon, คุณพ่อ Antonio Francesco Cardim และคุณพ่อ Romano Nixi สงฆ์ญี่ปุ่น
คุณพ่อ Morejon เข้ามาในสยามโดยบังเอิญ ในขณะที่คุณพ่อ Cardim ผ่านมาเท่านั้นเพื่อเดินทางไปลาว คุณพ่อ Morejon เป็นพระสงฆ์ชาวสเปน อายุ 63 ปี เกิดในปี ค.ศ. 1562 เข้าคณะ เยสุอิตในปี ค.ศ. 1577 ออกจากยุโรปในปี ค.ศ. 1586 และทำงานเป็นเวลานานในญี่ปุ่น ท่านเดินทางกลับไปยุโรปในฐานะผู้ดูแลแขวงญี่ปุ่น แต่ด้วยกระแสเรียกแห่งธรรมทูต ท่านมีความปรารถนาที่จะกลับไปญี่ปุ่น จากหนังสือของ Marini เราทราบว่าท่านเป็นหลานชายของอัครสังฆราชแห่ง Toledo ในปี ค.ศ. 1625 ในขณะที่ท่านเดินทางกลับไปญี่ปุ่น ท่านเดินทางมาที่มะละกาและเมื่อดูสถานการณ์ต่างๆ แล้ว ท่านตัดสินใจเดินทางมาสยามเพื่อรอโอกาสที่เหมาะสมในอันที่จะเดินทางไปญี่ปุ่นต่อไป ท่านเดินทางมาถึงเมือง Ligor (ปัจจุบันคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช) และได้รับทราบจาก Antonio Gonzalves Cavalleiro ชาวโปตุเกสซึ่งเป็นเพื่อนที่ดีของคณะเยสุอิตว่า ไม่นานมานี้เกิดเหตุการณ์ ไม่เข้าใจกันระหว่างชาวสเปนที่มาจากฟิลิปปินส์ กับชาวสยาม
นอกจากนี้ยังได้เล่าให้คุณพ่อ Morejon ทราบเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการทำงาน แพร่ธรรมในสยาม เขาได้เล่าว่าFernando de Silva ผู้บัญชาการจากฟิลิปปินส์ได้เข้ายึดเรือของชาวดัชในแม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นกษัตริย์สยามจึงสั่งให้จับ Fernando พร้อมทั้งทหารทั้งหมด Fernando ได้ต่อสู้จนเสียชีวิต ทหารบางคนได้ถูกฆ่าตาย และอีก 30 คน ถูกจับขังคุก เมื่อคุณพ่อ Morejonได้ทราบเรื่องนี้แล้ว ท่านก็เปลี่ยนแผนเดินทางทันที โดยเดินทางไปกัมพูชาแทน แต่จากกัมพูชา ท่านก็ไม่สามารถหาโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นได้เลย ดังนั้นในที่สุด
ท่านก็จำต้องเดินทางไปฟิลิปปินส์ และถึงที่นั่นราวๆ ครึ่งปีแรกของ ค.ศ. 1625 โดยมุ่งหวังที่จะไปญี่ปุ่นเช่นเดิมโดยผ่านทางมาเก๊า อีกทอดหนึ่ง
ผู้ปกครองฟิลิปปินส์เวลานั้นคือ Fernando de Silva (คนละคนกับผู้บัญชาการทหารที่ถูกฆ่าตาย) ได้สนทนากับคุณพ่อ Morejon ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1624 ที่สยาม คุณพ่อ Morejon มีประสบการณ์อันยาวนานกับชาวญี่ปุ่น และทหารองครักษ์ของกษัตริย์สยามซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นด้วย ก็มีอิทธิพลมากในสยามเวลานั้น และก็เป็นชาวญี่ปุ่นนี้แหละที่ได้ร่วมต่อสู้กับผู้บัญชาการ Fernando
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อ Morejon ก็จำต้องเดินทางไป Macao ตามหมายกำหนดการ ดังนั้น ผู้ปกครองฟิลิปปินส์จึงได้เขียนจดหมายถึงอธิการคณะเยสุอิตที่ Macao โดยขอให้คุณพ่อ Morejon รับภารกิจในการไปสยามเพื่อขอเชลยศึกคืนจากสยาม ซึ่งอธิการที่มาเก๊าก็เห็นดีด้วยกับข้อเสนอนี้ จึงให้คุณพ่อ Morejon ไปสยามโดยมีจุดมุ่งหมาย 2 ประการคือ
1. ก่อตั้งสยามให้เป็นดินแดนแพร่ธรรม 2. ปลดปล่อยเชลยชาวสเปนที่อยู่ในคุก
อันที่จริง นับว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคุณพ่อด้วย เพราะเท่าที่ผ่านมาการเข้าประเทศญี่ปุ่นนั้นยากลำบากมาก เนื่องจากมีการเบียดเบียนศาสนาอยู่ในที่สุดคุณพ่อ Morejon ก็ออกจากมาเก๊าเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1625 พร้อมกับเพื่อนอีก 2 ท่าน คือ คุณพ่อ Antonio Cardim ชาวโปรตุเกส และ คุณพ่อ Romano Nixi ชาวญี่ปุ่น หลังจากหยุดพักสั้นๆ ที่ มะนิลาแล้วก็ออกเดินทางจากมะนิลาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1626 และถึงอยุธยาในเดือนมีนาคม ท่านสามารถทำให้ชาวสเปนที่อยู่ในคุกเป็นอิสระได้ ท่านจึงเดินทางกลับมาที่มะนิลาอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับนักโทษเหล่านั้น คุณพ่อ Cardim เล่าในหนังสือที่ท่านเขียนไว้ในปี ค.ศ. 1645 ว่าดังนี้
"พวกเราเดินทางไปที่มะนิลาและจากที่นั่นก็เดินทางไปสยาม พวกเราเริ่มต้นดำเนินการเพื่อปลดปล่อยชาวสเปนให้เป็นอิสระและก็เป็นผลสำเร็จ คุณพ่อเปโตร (Morejon) ก็เดินทางกลับพร้อมๆ กับชาวสเปน"
ส่วนคุณพ่อ Cardim เองในขณะที่หาโอกาสที่จะไปลาวอยู่นั้นก็เริ่มต้นเรียนภาษาสยาม ในขณะที่คุณพ่อ Nixi ก็อภิบาลชาวญี่ปุ่นประมาณ 400 คน ในหนังสือของคุณพ่อ Marini ได้เล่าว่าคุณพ่อ Morejon และคุณพ่อ Cardim ได้สร้างบ้านเยสุอิตหลังแรกในสยาม เป็นไปได้มากที่สุดว่าสร้างอยู่ในค่ายของชาวญี่ปุ่นที่อยุธยานั่นเอง เนื่องจากว่าในศตวรรษที่ 17 นั้น ในกรุงศรีอยุธยามีค่ายของชนต่างชาติอยู่หลายค่ายด้วยกันทางตะวันออกเฉียงใต้ของอยุธยา ตามชายฝั่งแม่น้ำ คุณพ่อ Cardim ก็ได้พูดถึงบ้านแห่งนี้เมื่อท่านเล่าว่า คุณพ่อ Nixi ดูแลอภิบาลชาวญี่ปุ่นในวัดที่สยามที่พวกเขาได้สร้างขึ้นมา
หลังจากที่คุณพ่อ Morejon เดินทางกลับไปมะนิลาแล้ว คุณพ่อชาวอิตาเลียนชื่อ Giulio Cesare Margico ถูกส่งมาอยุธยาเพื่อเป็นอธิการบ้าน ท่านมาถึงในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1627 พร้อมทั้งได้นำจดหมายของผู้ปกครองฟิลิปปินส์มาถวายกษัตริย์สยามด้วย ในจดหมายนั้นได้กล่าวแสดงถึงความพึงพอใจในพระมหากรุณาธิคุณในการแก้ไขปัญหาของชาวสเปนในสยามครั้งนี้ แต่ต้นๆ ปี ค.ศ. 1628 ชาวสเปนก็เริ่มต้นสงครามโจรสลัดกับการค้าของชาวสยามอีก โดยการยึดเรือและเผาเรือของชาวสยาม ชาวสเปนจึงเป็นที่หวาดกลัวของชาวสยามที่ค้าขายทางเรือ ดังนั้นชาวสยามจึง เกลียดชังคุณพ่อ Margico ด้วยโดยคิดว่าคุณพ่อมีส่วนอยู่ในการหลอกลวงของชาวสเปน ชาวสยามขู่ท่านถึงกับจะเผาท่านทั้งเป็น ข้อนี้เป็นไปตามคำเล่าของ Cardim เอง
อย่างไรก็ตาม พระเจ้าทรงธรรม (ค.ศ. 1628-1629) ก็ได้แสดงพระองค์คู่ควรกับพระนามอย่างยิ่ง ด้วยการปล่อยท่านให้เป็นอิสระ แต่ความเป็นศัตรูของชาวสยามก็ยังคงมีอยู่ ท่านจึงต้องระวังกิจการต่างๆ ที่ท่านกำลังทำ เมื่อพระเจ้าทรงธรรมเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1629 ประเทศสยาม ก็วุ่นวายไปด้วย ส่วนสงฆ์เยสุอิตเองก็ประสบกับความยุ่งยากเช่นเดียวกัน คุณพ่อ Cardim เขียนเล่าไว้ดังนี้ "สองสามเดือนหลังจากการสวรรคตของพระมหากษัตริย์เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1629 ข้าพเจ้าก็ป่วยหนักจนกระทั่งว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงอนุญาตให้ข้าพเจ้าเดินทางออกนอกประเทศได้"
ดังนั้นคุณพ่อ Cardim จึงออกจากสยามไปมะนิลา ส่วนคุณพ่อ Margico และคุณพ่อ Nixi นั้นก็ถูกคริสตังเลวคนหนึ่งทรยศ เพราะว่าต้องการให้ตนพ้นจากความผิดบางอย่างที่คุณพ่อ Margico รู้ดี คริสตังคนนี้ใส่ร้ายท่านจนกระทั่งคุณพ่อทั้งสองถูกจับและถูกคุมขัง ชาวญี่ปุ่นสามารถช่วยเหลือจนคุณพ่อ Nixi ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ แต่ไม่สามารถช่วยเหลือคุณพ่อ Margico ได้ ต่อมาท่าน
ถูกวางยาพิษโดยคริสตังผู้นั้นและเสียชีวิตในคุกในปี ค.ศ. 1630 คุณพ่อ Nixi ยังคงดูแลอภิบาลชาวญี่ปุ่นในสยามต่อไป แต่พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่นี้ไม่ไว้วางใจชาวญี่ปุ่นเหมือนเดิม ในระหว่างเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1632 ทหารของพระมหากษัตริย์ก็เข้าโจมตีค่ายญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากพร้อมกับคุณพ่อ Nixi ก็หลบหนีโดยเรือ โดยไปที่เมือง Ligor และจากนั้นก็ต่อไปที่กัมพูชา คุณพ่อ Nixi เดินทางต่อไปมาเก๊า ซึ่งท่านก็เสียชีวิตไม่นานหลังจากนั้น เป็นอันว่ายุคแรกของคณะเยสุอิตในสยามได้สิ้นสุดลงแล้ว
5.3 บ้านเยสุอิตหลังที่สอง และวิทยาลัยในอยุธยา (ค.ศ. 1655-1709)
พระสงฆ์เยสุอิตเริ่มเข้ามาในสยามอีกครั้งหนึ่งเมื่อคุณพ่อ Joao Maria Leria เข้ามากรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ. 1639 แต่เป็นเพียงทางผ่านเท่านั้น เพราะจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของท่านคือเดินทางไปลาว ดังนั้นเมื่อพักอยู่ที่สยามเป็นเวลาไม่นานแล้ว ท่านก็ออกเดินทางไปจากสยามในปี ค.ศ. 1641
ปีต่อมาคุณพ่อ Giovanni Filippo de Marini มาถึงกรุงศรีอยุธยาเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1642 คุณพ่อผู้นี้แหละที่ได้บันทึกหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งที่มีคุณค่ามากเกี่ยวกับ เยสุอิตในสยาม ซึ่งเราก็ใช้อ้างอิงหลายครั้งแล้วในงานเขียนนี้ อันที่จริงคุณพ่อ Marini มาถึง Tenasserim เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ค.ศ. 1641 และเดินทางมาถึง Piple (เพชรบุรี) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1642 หลังจากนั้น 11 วันก็มาถึงอยุธยา ครั้งนี้นับเป็นการเข้ามาสยามเป็นครั้งแรกของท่าน เป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าระยะนี้สงฆ์เยสุอิตที่เข้ามาในสยามนั้น มิได้เข้ามาเพื่อแพร่ธรรมแต่มักผ่านมาเท่านั้น คุณพ่อ Marini มีจุดหมายปลายทางคือญี่ปุ่น ดังนั้นท่านจึงออกจากสยามในปี 1643 ทิ้งสยามให้ปราศจากสงฆ์เยสุอิตจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1655 เมื่อคุณพ่อที่มีชื่อเสียงผู้หนึ่งเข้ามาในสยามคือ คุณพ่อ Tomasso Valguarnera ชาวซิซิเลียนในอิตาลี ท่านผู้นี้เองจะเป็นผู้ก่อตั้งบ้านเยสุอิตหลังที่สอง และวิทยาลัยแห่งหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า San Salvador เรื่องนี้มีรายงานไว้อย่างชัดเจนในหนังสือของ Sommervogel พระสงฆ์คณะเยสุอิต ซึ่งพิมพ์ในปี ค.ศ. 1898 คุณพ่อ Valguarnera เดินทางมาจากมาเก๊าและท่านก็อยู่ในสยามจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1670 จากนั้นท่านได้รับแต่งตั้งจากคณะให้เป็นผู้ตรวจการแขวงปกครองจีนและญี่ปุ่นด้วย ท่านกลับมาอยู่ที่สยามอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1675 และเสียชีวิตที่สยามนี้เองเมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1677
คุณพ่อ Valguarnera เข้ามาสยามครั้งนี้พร้อมกับคุณพ่อ Francisco Rivas ซึ่งต้องการมาสยามเพื่อผ่านไปโคจินจีน สาเหตุของการมาของคุณพ่อทั้งสองก็เนื่องมาจากว่าคริสตังจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่นได้ขอพระสงฆ์เยสุอิต 1 หรือ 2 องค์เพื่อมาอภิบาลดูแลวิญญาณพวกเขาในสยาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ Marini เขียนไว้ว่า
"เนื่องจากว่าในเมืองมีคริสตชนจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวญี่ปุ่น ได้ตกลงกันเป็นเอกฉันท์และส่งจดหมายฉบับหนึ่งไปที่มาเก๊า เขียนถึงผู้ตรวจการของคณะโดยขอร้องให้ท่านส่งพระสงฆ์บางองค์มาอภิบาลดูแลวิญญาณพวกเขาพวกเขาขอพระสงฆ์ 2 องค์ หนึ่งในสององค์นั้นคือ คุณพ่อ Tomasso Valguarnera ชาวซิซิเลียน"
กัปตันเรือชาวโปรตุเกสคนหนึ่งชื่อ Sebastiao Andres เดินทางมาถึงอยุธยาในเวลาไล่เลี่ยกับคุณพ่อ Valguarnera และได้ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกของคณะเยสุอิตในฐานะ Brother ผู้ช่วย เขาเสียชีวิต 7 เดือนต่อมา โดยทิ้งทรัพย์สินของเขามูลค่า 14,000 Seudi Romani ให้แก่คณะเยสุอิตเพื่อใช้ก่อสร้างวิทยาลัย เขายังไม่ทราบแน่ชัดว่าหากเปรียบเทียบกับค่าเงินในปัจจุบันนี้ ทรัพย์สินจำนวนนี้จะคิดเป็นเงินเท่าใดกันแน่
คุณพ่อ Valguarnera ได้สร้างบ้านพักหลังที่สองขึ้นพร้อมกับวัดแห่งหนึ่งในบริเวณค่ายโปรตุเกส คนละฝั่งแม่น้ำ เยื้องๆ กับค่ายญี่ปุ่น ประมาณปี ค.ศ. 1656 และประวัติของคณะเยสุอิตบันทึกว่า คุณพ่อเองได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์แรก นอกจากนี้ยังมีบันทึกไว้ด้วยว่าในปี ค.ศ. 1666 มีโรงเรียนอยู่ในบ้านพักของท่านด้วย "คุณพ่อเหล่านี้ตั้งโรงเรียนแห่งหนึ่งขึ้นในบ้านของพวกท่าน ซึ่งพวกท่านใช้ในการสอนและอภิบาลไปด้วย"
นอกจากบ้านพัก วัด และโรงเรียนแห่งนี้แล้ว วิทยาลัยที่ Sebastiao Andres มีความปรารถนาให้สร้างขึ้นด้วยทรัพย์สินของตนนั้น ก็จำเป็นต้องสร้างขึ้นด้วย และที่สุดคุณพ่อ Valguarnera ก็สร้างขึ้นมา ในจดหมายเวียนปี ค.ศ. 1671 กล่าวเอาไว้ว่า "คุณพ่อ Valguarnera ซึ่งเวลานี้เป็นผู้ตรวจการคนแรกของคณะในตะวันออกได้สร้างบ้านพัก วิทยาลัย ในอาณาจักรสยาม พระสงฆ์ 4 องค์และ Brother ผู้ช่วย 1 องค์ ทำงานในด้านอภิบาล ศีลศักดิ์สิทธิ์ ประกาศพระวาจาในวิทยาลัย สอนนักเรียนในโรงเรียน" บันทึกนี้แสดงว่าคุณพ่อ Valguarnera ต้องสร้างวิทยาลัยแล้วในระหว่างปี ค.ศ. 1660-1670 เพราะว่าท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการจีนและญี่ปุ่นในระหว่างปี ค.ศ. 1671-1675 แล้วจึงกลับมาสยามอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1675
พระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามทรงได้ยินชื่อเสียงกิตติศัพท์ของคุณพ่อ Valguarnera เกี่ยวกับความสามารถในการออกแบบก่อสร้างและวิศวกรรม ทรงมีรับสั่งให้คุณพ่อเป็นผู้สร้างป้อมปราการต่างๆ ที่กรุงเทพ, นนทบุรี, อยุธยา และหัวเมืองอื่นๆ เพื่อป้องกันราชอาณาจักร นอกจากนี้ยังทรงมีรับสั่งให้สร้างตำหนักใหม่ของพระองค์ที่ลพบุรีภายใต้การออกแบบและควบคุมการก่อสร้างของคุณพ่อ Valguarnera ผู้นี้ จากเอกสารที่ Launay รวบรวมไว้มีบันทึกไว้ว่า "ทางด้านคณะเยสุอิต คุณพ่อ Thomas Valguarnera ชาวซิซิเลียน และอธิการกำลังยุ่งทีเดียวกับการก่อสร้างต่างๆ " คุณพ่อ Valguarnera เป็นที่พอพระทัยของพระนารายณ์อย่างยิ่งจนว่าเมื่อครั้งที่วัดเยสุอิตเกิดไฟไหม้ขึ้นโดยอุบัติเหตุนั้น สมเด็จพระนารายณ์ทรงพระราชทานวัดใหม่ให้คุณพ่อซึ่งเป็นวัดที่ดีกว่าวัดเดิมเสียอีก
ไฟไหม้ครั้งนั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1658 เรื่องนี้เราทราบจากหนังสือของ Chappoulie นอกจากนี้ในเอกสารที่รักษาไว้ในหอจดหมายเหตุของคณะที่กรุงโรม หมวดญี่ปุ่นและจีน vol.162 แผ่นที่ 67 ได้แสดงให้เห็นว่าพระนารายณ์ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คุณพ่อ Valguarnera ปฏิบัติ งานแพร่ธรรมท่ามกลางประชาชนในสยามอย่างอิสระเสรีทุกประการ อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือ ตามปกติพระองค์ไม่ทรงอนุญาต
ให้ชาวต่างชาติติดตามพระองค์ไปในที่ต่างๆ มีแต่คุณพ่อผู้นี้ ที่สามารถอยู่ข้างพระกายพระองค์
ยังมีเรื่องที่น่าสนใจของคุณพ่อผู้นี้อีกประการหนึ่งซึ่งผมพบจากหนังสือของ Giovanni Gnolfo ชื่อ Un Missionario Assorino : Tommaso dei Conti Valguarnera s.j. (1609-1677) เป็นประวัติอย่างละเอียดของคุณพ่อโดยอ้างอิงเอกสารต่างๆ มากมายที่น่าเชื่อถือ หนังสือนี้บรรยายถึงวิธีการของสงฆ์เยสุอิตในเอเชียประการหนึ่งก็คือ การปรับวัฒนธรรม เช่น Matteo Ricci (+ค.ศ. 1610) ได้กระทำในประเทศจีน, Roberto de Nobile ในอินเดีย คุณพ่อ Valguarnera เองก็ได้ทำเช่นเดียวกันนี้ในเมืองกัว, มาเก๊า และที่สยามด้วย ท่านเขียนงานเขียนทางด้านศาสนาขึ้นมาหลายชิ้นโดยเขียนเป็นภาษาสยาม "ในด้านงานแพร่ธรรมของท่านด้วยงานเขียน งานเขียนที่สำคัญที่สุดได้แก่ พจนานุกรมภาษาสยาม ซึ่งธรรมทูตร่วมสมัยของท่านได้แก่ Marini ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ในงานเขียนของเขา" อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครค้นพจนานุกรมเล่มนี้เลย รวมทั้งงานเขียนอื่นๆ ของคุณพ่อด้วย หนังสือของ Gnolfo เล่มนี้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจอีกมากเกี่ยวกับคุณพ่อ Valguarnera
ในปี ค.ศ. 1659 คุณพ่อ Cardoso มาที่สยามโดยเดินทางมาจากมาเก๊า และในปี ค.ศ. 1663 ท่านก็สืบตำแหน่งอธิการที่สยามนี้แทนคุณพ่อ Valguarnera ซึ่งกำลังยุ่งมากเกี่ยวกับการก่อสร้างต่างๆ J. Burnay ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับเยสุอิตกล่าวไว้ด้วยว่า ท่านไม่ทราบว่าคุณพ่อ Cardoso ออกจากสยามไปตั้งแต่เมื่อใดเพราะไม่พบหลักฐานบันทึกไว้ ทราบแต่เพียงว่าท่านได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะแขวงญี่ปุ่นในระหว่างปี ค.ศ. 1673-1676 คุณพ่ออีกองค์หนึ่งซึ่งต่อไปจะมีบทบาทที่สำคัญในส่วนหนึ่งของคณะเยสุอิตในสยามที่ควรกล่าวถึงไว้ ณ ที่นี้ได้แก่ คุณพ่อ John Baptist Maldonado ชาวเบลเยี่ยม ท่านอยู่ในกรุงศรีอยุธยาระหว่างปี ค.ศ. 1673-1691 และหลายปีในระหว่างนี้ท่านเป็นอธิการด้วย
นอกเหนือจากพระสงฆ์ที่เอ่ยนามมาแล้วนี้ ในระหว่างระยะเวลา 54 ปี คือ ค.ศ. 1655-1709 มีพระสงฆ์เยสุอิตประมาณ 30 องค์ ผ่านมาพักที่บ้านเยสุอิตในสยาม เป็นชาวโปรตุเกส 19 องค์, เบลเยี่ยม 1 องค์, โปแลนด์ 1 องค์, ชาวญี่ปุ่น 1 องค์ และชาวฝรั่งเศส 4 องค์ เราสามารถสรุปจุดมุ่งหมายในการผ่านมาสยามได้ดังนี้ พระสงฆ์พวกนี้ประมาณ 16 องค์ ผ่านมาเพื่อเดินทางต่อไปจีน หรือไม่ก็ถูกขับไล่มาจากมิสซังอื่นๆ บริเวณนี้
ตามปกติ ที่บ้านพักของเยสุอิตนี้มีน้อยครั้งมากที่มีสมาชิกประจำ 4 องค์ ปกติมีเพียง 2 องค์ประจำเท่านั้น ราวๆ ต้นศตวรรษที่ 18 มีแต่เพียงคุณพ่อ Gaspar da Coste เท่านั้น และเมื่อท่านเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1709 ก็มีระยะเวลาประมาณ 1-2 ปี ที่ไม่มีสงฆ์เยสุอิตอยู่ที่บ้านพักเลยแม้แต่องค์เดียว.