-
Category: ประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในประเทศไทย (โดยคพ.สุรชัย)
-
Published on Monday, 19 October 2015 01:44
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2712
ความเจริญก้าวหน้าและอุปสรรคของงานเผยแพร่ความเชื่อ
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา
มิสซังสยามเจริญก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะนโยบายทางการเมืองในการเปิดประเทศให้แก่ชาวตะวันตก รวมทั้งให้เสรีภาพในการเผยแพร่พระศาสนาด้วย นอกจากนี้ เวลานั้นประเทศฝรั่งเศสกำลังเริ่มมีอิทธิพลอยู่ในดินแดนแถบนี้ ซึ่งมีผล ทำให้การประกาศพระวรสารเป็นไปได้ง่ายขึ้น และบทบาทของบรรดามิชชันนารีเด่นชัดขึ้นด้วย คุณพ่อ Marini ได้บรรยายเกี่ยวกับงานแพร่ธรรมของ Valguarnera ไว้ดังนี้
ในปี ค.ศ. 1657 ชาวเมือง 8 คน ได้รับศีลล้างบาป... ชาวโคจินจีนอีกประมาณ 30 คน ซึ่งหนีภัยสงครามครั้งสุดท้ายมา ก็ได้เข้ารับศีลล้างบาปในสยาม... ยิ่งกว่านั้น คุณพ่อธิการ (คุณพ่อ Valguarnera) ก็ไม่ยอมเสียเวลาให้น่าเบื่อ... ท่านออกเยี่ยมตามคุกต่างๆ ไปตามวัดวาอารามต่างๆ ของพระภิกษุพุทธ ซึ่งท่านก็ได้สนทนาเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของทางคริสตศาสนา ซึ่งก็ไม่ไร้ผล ท่านทำให้มีจิตตารมณ์เดียวกัน
คุณพ่อ Marini ยังเสริมด้วยว่าคุณพ่อ Valguarnera ยังได้พยายามทุกวิถีทางที่จะกลับใจพระภิกษุพุทธ เพราะการกลับใจพระภิกษุพุทธนั้นมีความสำคัญมาก เนื่องจากจะมีอิทธิพล อย่างลึกซึ้งเหนือคนอื่นๆ ทั้งหลาย คุณพ่อ Launay ก็ได้เล่าให้เราฟังถึงเหตุผลของคุณพ่อ Laneau และความสำเร็จของท่านในการกลับใจพระภิกษุพุทธ
เราทราบกันดีว่ามีการขัดขวางการเปลี่ยนศาสนามาก โดยเฉพาะการเปลี่ยนศาสนาของพระภิกษุ เพราะถือว่าพระภิกษุนั้นได้ก้าวเข้าสู่วัยกลางคนโดยยึดถือความเชื่อเหล่านั้นเป็นวิถีของชีวิต อีกทั้งเป็นผู้ที่ต้องถ่ายทอดความเชื่อนี้ให้กับชนรุ่นหลังด้วยด้วยพระเมตตาของพระผู้เป็นเจ้า ประกอบกับพลังจิตและสติพระบิดาของคุณพ่อลาโน ทำให้อุปสรรคต่างๆ ผ่านพ้นไปได้ ปรากฏว่ามีพระภิกษุมาขอรับศีลล้างบาป และกลายเป็นสาวกของพระองค์ ตัวอย่างนี้และการแพร่ธรรมอย่างจริงจังของคุณพ่อ ทำให้ชาวสยามหลายคนเปลี่ยนมานับถือศาสนาคาทอลิกบ้าง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เรายังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า นี่คือความสำเร็จและความก้าวหน้า เพราะจากท่าทีภายหลังจะเป็นอุปสรรคประการสำคัญประการหนึ่งต่องานเผยแพร่พระศาสนาคุณพ่อ Robert Costet ได้ศึกษาถึงท่าทีประการนี้ และได้เขียนไว้อย่างน่าสนใจดังนี้
ความคิดด้านเทวศาสตร์ของคนสมัยนั้นเกี่ยวกับศาสนาที่ไม่ใช่คริสตศาสนา
เราทุกคนเป็นผลผลิตของสมัยของเรา คริสตศาสนาที่ได้มาแพร่ในเมืองไทย 300 ปีก่อนนี้ มาจากยุโรป เราควรจะได้ศึกษาความคิดของนักเทวศาสตร์ของยุโรปสมัยโน้นเกี่ยวกับคนต่างศาสนาบ้าง เพราะธรรมทูตที่มาเมืองไทยได้คิดวินิจฉัยและปฏิบัติดังที่อาจารย์ของเขาได้สอนเราต้องทราบด้วยว่าคำสอนด้านเทวศาสตร์นั้นจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงจนถึงสิบปีก่อนสังคายนาวาติกันที่ 2
เมื่อธรรมทูตคาทอลิกมา (พ.ศ. 2205 / ค.ศ. 1662) ลูเธอร์ตาย 100 ปีมาแล้ว (ค.ศ. 1546) ในยุโรปเป็นการแตกแยกและต่อสู้ระหว่างคาทอลิกและโปรเตสตันท์ และการขัดแย้งกันนั้นจะขยายมาถึงประเทศสยามโดยการกีดกันระหว่างโปรตุเกส (คาทอลิก) ฮอลันดา และอังกฤษ (คริสเตียน)
ตอนที่ธรรมทูตมา การปฏิรูปและการฟื้นฟูชีวิตคริสตังในยุโรปได้เริ่มแล้ว เป็นสมัยที่อาจารย์ทางชีวิตฝ่ายวิญญาณเขียนหนังสือที่มีชื่อเกี่ยวกับชีวิตทางใจ และตั้งคณะนักบวชใหม่ เช่น พระคาร์ดินัลเบรีเลอะ (Bérire) ผู้ตั้งคณะโอราโตเรียน กองแดรง (Condren), นักบุญเออแดส (Eudes) ผู้ตั้งคณะเออดิสต์, นักบุญวินเซนต์เดอปอล ผู้ตั้งคณะลาซาริสต์ และธิดาเมตตาธรรม, นักบุญฟรังซัว เดอ ซาล ผู้ตั้งคณะวิซิตาโอ, คุณพ่อโอลีเอร์ (Olier) ผู้ตั้งคณะซืลปิเซียน และอีกหลายคน ระยะนั้นเป็นสมัยรุ่งเรืองสำหรับพระศาสนจักรจริงๆ อาจารย์เหล่านั้นได้เป็นครูหรือเพื่อนของพระคุณเจ้า ปัลลือ พระคุณเจ้าลังแบรต์ และพระคุณเจ้าลาโน ที่ได้นำคำสอนของอาจารย์เหล่านั้นมาประยุกต์ ในการแพร่ธรรมที่เมืองไทย ครั้งก่อนความเฉื่อยชาของคริสตังในยุโรปได้เป็นเหตุอย่างหนึ่งที่ได้เกิดการปฏิรูปของลูเธอร์
แต่เวลานี้ การปฏิรูปชีวิตคริสตังจะนำความรุ่งเรืองแก่พระศาสนจักร แต่ทุกคนไม่ได้เป็นนักบุญ การปฏิรูปคริสตังบางครั้งจะเลยเกินขอบเขตจึงจะมีลัทธิยันเซนิสระบาดทั่วฝรั่งเศสหัวหน้าของลัทธินี้เรียกกันสั้นๆ ว่าเซนต์ ซีรัง (Saint Cyran) เป็นผู้ยืนยันว่าคนต่างศาสนาไม่รับพระหรรษทานแม้แต่หยดเดียวสมัยนั้นอาจารย์เทวศาสตร์อธิบายคำของนักบุญซีปริอาโนที่ว่า "ไม่มีความรอดภายนอกพระศาสนจักร (คาทอลิก)" อย่างแคบๆ ท่านสอนว่าต้องรับศีลล้างบาปจริงๆ จึงจะเข้าสวรรค์ได้ ฉะนั้นเด็กๆ ที่ตายก่อนรับศีลล้างบาปไปอยู่ที่แห่งหนึ่ง ที่ในภาษาไทยเราได้แปลว่า "ใต้บาดาล" คนต่างศาสนาที่ถึงอายุรู้ความแล้ว แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีโอกาสที่จะรู้จักแผนการณ์แห่งความรอด คือ ไม่มีความผิดที่ไม่ได้เป็นคริสตัง คนเหล่านั้นไม่มีทางไปสวรรค์เช่นกัน ถ้าเขาได้ประพฤติดีตามมโนธรรม เขาจะไปในที่แห่งหนึ่งที่เขาจะมีความสุขตามธรรมชาติ แต่จะไม่เห็นพระเป็นเจ้า แม้แต่ในศตวรรษนี้ (ค.ศ. 1900-1920) พระคาร์ดินัลบีโย (Billot) อธิบายว่าคนต่างศาสนาที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ที่ไม่เคยได้ยินพูดถึงการไขแสดงเรื่องพระคริสต์ เขาเป็นผู้ใหญ่ตามปฏิทิน ก็จริง แต่ฝ่ายชีวิตวิญญาณเป็นเหมือนเด็กที่ยังไม่รู้เดียงสา ฉะนั้นจะไปอยู่กับเด็กใต้บาดาล
โดยทั่วไปเชื่อกันว่า การไขแสดงของพระเป็นเจ้าได้ถูกป่าวประกาศทั่วโลกแล้ว แต่มนุษย์ส่วนมากไม่ได้สนใจและลืมไปหมด ฉะนั้นเขาต้องรับผิดชอบในการไม่ปฏิบัติตามคำสอนของ พระเป็นเจ้า ธรรมทูตจึงได้มาเพื่อให้ชาวไทยได้กลับใจไปสวรรค์ได้ คำสอนนี้ช่วยเราให้เข้าใจความเอาใจใส่ของธรรมทูตสมัยก่อนในการล้างบาปเด็กเล็กๆ ของคริสตังและคนพุทธ เมื่อเด็กป่วยจวน จะตาย เพราะเหตุเดียวกัน สมัชชาอยุธยาบัญญัติให้ตั้งผู้หญิงคริสตังเป็นหมอตำแยที่มีหน้าที่ไปตามหมู่บ้านต่างๆ เพื่อหาเด็กจวนจะตายล้างบาปเขา ไม่ว่าเป็นลูกคริสต์ หรือลูกคนพุทธ การล้างบาปเด็กจวนจะตายนี้ บางครั้งจะเป็นงานเดียวที่ธรรมทูตและสังฆราชจะทำได้ เพราะเหตุเดียวกัน รัชกาลที่ 1 คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้รับศีลล้างบาปจากหมอชาวโปรตุเกส ชื่อ ซิกซ์โต ริเบโร ตอนที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์และทรงพระประชวร ในการรายงานถึงกรุงโรมจนถึงไม่กี่ปีมาก่อน สังฆราชต้องบอกจำนวนเด็กลูกคริสตังและคนต่างศาสนาที่ได้ล้างบาปจวนจะตาย
ธรรมทูตรุ่นแรกได้มีท่าทีอย่างไรต่อพุทธศาสนา
เมื่อเราได้ศึกษาภูมิหลังของธรรมทูตเกี่ยวกับการศึกษา เราพอจะเดาท่าทีของท่านต่อพุทธศาสนา สำหรับท่าน พุทธศาสนาช่วยให้รอดไปสวรรค์ไม่ได้ ก่อนที่จะพูดถึงความคิดและการปฏิบัติต่อชาวพุทธ เราควรจะพิจารณาพุทธศาสนาในประเทศสยามสมัยพระนารายณ์ คนเดิมในประเทศสยามนับถือผีสางเทวดา เมื่อพวกมอญ ละว้า เขมร มาครอบครองประเทศสยามเดิม ได้นำพุทธศาสนาทั้งสองนิกายและศาสนาพราหมณ์ (อินเดีย) มาเป็นรากฐาน ชาวไทยที่ลงมาจากประเทศจีนได้นำพุทธศาสนาหินยานนิกาย (นิกายเถรวาท) ผลสุดท้ายชาวไทยหันมานับถือศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และยังนับถือผีสางเทวดา นับเป็นการผสมผสานลัทธิความเชื่อถือให้เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน ธรรมทูตจะสามารถเข้าใจธรรมะของพุทธศาสนาที่ปนกับ "ลัทธิ" ต่างๆ มากมายหรือ? เราไม่ควรจะลืมว่าสมัยนั้นยุโรปเกือบไม่รู้จักพระพุทธศาสนาเลย ไม่มีใครสนใจศึกษาศาสนาที่ไม่ใช่คริสตศาสนา คุณพ่อโนบิลิ (NOBILI) ที่อินเดีย เป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้เรียนภาษาสันสกฤต เพื่อศึกษาศาสนาของพราหมณ์ ดูเหมือนยังไม่มีใครได้เรียนภาษาบาลี ธรรมทูตที่ได้เรียนเทวศาสตร์ในยุโรปต้องมีอคติต่อศาสนาอื่นที่ไม่เป็นศาสนา "เที่ยงแท้" และไม่สามารถช่วยเราให้รอด คุณพ่อ ลาโน (ที่ได้มาพร้อมกับพระคุณเจ้าปัลลือ) ได้สังเกตเหมือนพระคุณเจ้าลังแบรต์ว่า พระภิกษุ มีอิทธิพลมากในเมืองไทย ชาวไทยทุกคนเคารพพระ ชายหนุ่มเกือบทุกคนไปบวชเรียนระยะหนึ่ง
คุณพ่อลาโนไปเรียนที่วัดพุทธ 3 ปี เรียนทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี และศาสนาพุทธด้วย คิดว่าเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ได้เรียนภาษาบาลี ในจดหมายที่คุณพ่อลาโนจะเขียนเมื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชองค์แรกของประเทศสยามปี พ.ศ. 2225 / ค.ศ. 1682 ท่านทูลสันตะปาปาขออนุญาตให้พระสงฆ์คาทอลิกแต่งกายเหมือนพระภิกษุ ท่านอธิบายชีวิตของพระว่าดังนี้
พระมีระเบียบวินัยมากมาย แต่ดูเหมือนระเบียบวินัยทั้งหลายแหล่เหล่านี้จะมุ่งไปยังจุดเดียวกัน คือ เพื่อช่วยให้พระภิกษุถือความยากจน ปราบกิเลส สละโลกียสมบัติให้ได้มากที่สุด พระภิกษุไม่โกรธ รักษาความบริสุทธิ์ตราบเท่าที่ยังอยู่ในสมณเพศ แต่ก็จะลาสิกขาเสียเมื่อไรก็ได้ พระภิกษุเป็นคนมักน้อยในอาหาร ไม่ดื่มสุราเด็ดขาด ไม่รับประทานอาหารค่ำ ที่จะเว้นอาหารค่ำ ก็เพราะเพื่อป้องกันกามตัญหารบกวนเวลานอน ไม่สนับสนุนการถือผีสาง ไม่ยอมรับพิธีถวายบูชา ที่งมงายทั้งปวง พระภิกษุไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่สงฆ์เหมือนสงฆ์คาทอลิก แต่คงทำหน้าที่สงฆ์ในการ สั่งสอนประชาชนจากธรรมาสน์ สวดมนต์เป็นทำนองทั้งในโบสถ์ และในบ้านคนป่วย
เท่าที่ทราบ คุณพ่อลาโนซึ่งเป็นคนแรกที่ได้ศึกษาพุทธศาสนาอย่างดี ท่านไม่เคยเอ่ยชื่อ "พระพุทธเจ้า" เมื่อกล่าวถึงพระพุทธรูป ท่านพูดว่ารูปฏิมากร (พระเท็จเทียม) เมื่อท่านกล่าวถึงพระหรือชาวบ้านกราบไหว้พระ ท่านพูดว่าเขานมัสการ (อย่างนมัสการพระเป็นเจ้า) ฉะนั้นมีปัญหาอยู่ว่า คุณพ่อลาโนที่ชมเชยชีวิตพระและบางครั้งยกตัวอย่างวีรกรรมของพระ และธรรมทูตรุ่นแรกนี้ได้เข้าใจพุทธศาสนาอย่างจริงจังหรือเปล่า? ท่านได้เข้าถึงหัวใจของพุทธศาสนา ถึงธรรมะ หรือว่าได้เข้าใจว่าลัทธิต่างๆ เป็นส่วนประกอบของพุทธศาสนา? ธรรมทูตคงจะไม่ได้เข้าใจพุทธศาสนาอย่างลึกซึ้ง ท่านอาจจะไม่ได้มีอาจารย์ที่สามารถสอนท่านอย่างดี แต่ที่สำคัญกว่า ท่านรับไม่ได้เมื่อคำสอนของสมัยนั้นเกี่ยวกับศาสนาอื่นสอน อย่างที่ได้อธิบายมาพุทธศาสนาเป็นแต่ศัตรู เป็นอุปสรรค ธรรมทูตเรียนศาสนาพุทธเพื่อสามารถจะชนะคนพุทธ สำหรับธรรมทูตตั้งแต่สมัยแรกจนถึงไม่กี่สิบปีก่อนสังคายนาวาติกัน พุทธศาสนาเป็น "อาณาจักรของปีศาจ" หรือ "อาณาจักรแห่งความมืด" ท่าทีต่อศาสนาพุทธนี้ได้เป็นท่าทีของคริสตังต่อทุกศาสนาทั่วโลก
4.1 ความเจริญก้าวหน้าของงานแพร่ธรรมในกรุงศรีอยุธยา
แม้ว่าจะไม่มากนัก แต่ก็เกิดผลดีหลายอย่างต่อประเทศสยามเอง และต่อพระศาสนจักรในอนาคต มีองค์ประกอบอยู่หลายประการที่ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้านี้ได้ เช่น ความสัมพันธ์อันดีกับพระมหากษัตริย์ จนกระทั่งต่อมามีความสัมพันธ์ทางการติดต่อทางการทูต ความกระตือรือร้นของบรรดามิชชันนารี การวางแผนงานด้วยความรอบคอบ เป็นต้น
1. ความสัมพันธ์กับประเทศสยามของการติดต่อทางการทูต
ทูตโปรตุเกสจากมะละกาซึ่งมีดูอาร์เต เฟอร์นันเดส เป็นหัวหน้าคณะ ได้เข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ค.ศ. 1491-1529 / พ.ศ. 2034-2072) เมื่อปี พ.ศ. 2059 (ค.ศ. 1516) เพื่อทำสนธิสัญญาทางการค้าและตั้งคลังสินค้า ซึ่งก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งที่พำนักอาศัยอยู่ในพระนครได้ (ไม่แน่ว่าที่ตรงไหน)
นอกจากนั้นจนถึงปี ค.ศ. 1538 (พ.ศ. 2081) ยังมีชาวโปรตุเกสเข้ามาพำนักอยู่ที่ปัตตานี นครศรีธรรมราช ทวาย และตะนาวศรีอีกด้วย เมื่อเฟอร์นันเดสกลับไป ทางกรุงศรีอยุธยาก็ได้ส่งทูตเดินทางไปมะละกาด้วย
ต่อมาในสมัยพระไชยราชาธิราช (ค.ศ. 1534-1546 / พ.ศ. 2077-2089) ทหารชาวโปรตุเกสได้ช่วยกองทัพไทยตีได้เมืองเชียงกรานและเชียงใหม่ จึงได้พระราชทานที่ดินให้พวกโปรตุเกสตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลบ้านดิน ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือคลองตะเคียน ทหารโปรตุเกสรับราชการในกองทัพไทยจนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา (แต่ในกองทัพพม่าก็มีทหารอาสาชาวโปรตุเกสด้วยเหมือนกัน)
นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1597 (พ.ศ. 2140) ฮอลันดาเริ่มมีอำนาจขึ้นแข่งขันกับสเปน ซึ่งรวมโปรตุเกสไว้ด้วยเป็นเวลาถึง 60 ปี (ค.ศ. 1580-1640 / พ.ศ. 2123-2183) เข้ามาแย่งเส้นทางการค้าทางตะวันออกจากชาวโปรตุเกสและประสบผลสำเร็จ เมื่อพวกฮอลันดาเข้ามาติดต่อค้าขายด้วยในรัชสมัยพระเอกาทศรถ (ค.ศ. 1605-1620/ พ.ศ. 2148-2163) ก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากไทย เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจของโปรตุเกส ในปี ค.ศ. 1607 (พ.ศ. 2150) พระเอกาทศรถทรงส่งทูตไปยังประเทศฮอลันดา นับเป็นทูตไทยคณะแรกที่ไปยุโรป ไทยได้ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับฮอลันดาในปี ค.ศ. 1617 (พ.ศ. 2160) ซึ่งทำความไม่พอใจแก่โปรตุเกสเป็นอย่างมาก ราชสำนักไทยยังคงมีความประสงค์จะติดต่อกับโปรตุเกสต่อไปดังเดิม ในปี ค.ศ. 1618 ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งทูตไปยังเมืองกัว เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศโปรตุเกส แต่ในที่สุดได้แต่ส่งเพียงพระราชสาสน์และบรรณาการไปเท่านั้น ตัวทูตไปถึงเพียงเมืองกัว อำนาจของโปรตุเกสทางภาคตะวันออกได้เสื่อมทรามลง จนในที่สุดมะละกาก็ถูกฮอลันดายึดไปได้ในปี ค.ศ. 1641 (พ.ศ. 2184)
ในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม (ค.ศ. 1620-1628 / พ.ศ. 2163-2171) ทางไทยได้ส่งทูตไปเมืองกัว เพื่อขอบคุณที่โปรตุเกสได้ช่วยเหลือในการรบกับพม่า และยินดียกเมืองเมาะตะมะให้โปรตุเกสใช้เป็นฐานทัพเรือ (ค.ศ. 1620 / พ.ศ. 2163) ในโอกาสนี้ได้ทรงขอร้องรัฐบาลโปรตุเกส ที่เมืองกัวให้ส่งธรรมทูตมาดูแลคริสตชนที่กรุงศรีอยุธยาด้วย เป็นการเอาใจโปรตุเกสไว้ป้องกันภัยจากชาวฮอลันดา แต่ดูเหมือนว่าไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะเมื่อโปรตุเกสเข้ายึดเรือสินค้าของฮอลันดาในปี ค.ศ. 1624 / พ.ศ. 2167 ไทยต้องใช้มาตรการแข็งกร้าวเข้ายึดเรือโปรตุเกส เพื่อบังคับให้คืนเรือแก่ฮอลันดา ทำให้โปรตุเกสไม่พอใจอย่างมาก ต่อมาในปี ค.ศ. 1628 (พ.ศ. 2171) โปรตุเกสยังนำเรือเข้าปล้นเรือสำเภาหลวงและเรือสินค้าญี่ปุ่นอีก ในปีนั้นเองพระเจ้าทรงธรรมก็เสด็จสวรรคต
ในรัชกาลต่อมา คือ รัชการพระเจ้าปราสาททอง (ค.ศ. 1630-1655 / พ.ศ. 2173-2198) ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพ่อค้าชาวโปรตุเกสเสื่อมทรามลง แต่เมื่อทางการโปรตุเกสส่งทูตเข้ามาอีกในปี ค.ศ. 1633 / พ.ศ. 2176 ความสัมพันธ์ก็ค่อยดีขึ้นบ้างจนถึงปลายรัชกาล โดยเฉพาะเมื่อชาวฮอลันดาพยายามจะติดต่อทางการค้าโดยตรงกับญี่ปุ่นโดยไม่ผ่านทางไทย และเมื่อไทยขอร้องให้ฮอลันดาช่วยปราบจลาจลที่ปัตตานีก็ไม่ได้รับความร่วมมือ ทำให้เรือไทยถูกปล้นไปด้วย ความ สัมพันธ์ระหว่างไทยกับฮอลันดาจึงอยู่ในภาวะตึงเครียดตอนปลายรัชกาลนี้ ไทยไม่ยอมขายข้าวให้ฮอลันดา และยังมีข้อพิพาทกันเรื่องเมืองสงขลาและตะนาวศรีอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าในยุคแรกนี้ ไทยทำการติดต่อกับชาวยุโรปเพื่อผลประโยชน์ทางการค้ามากกว่าอย่างอื่น การติดต่อทางการเมืองระหว่างไทยกับโปรตุเกสก็มีจุดประสงค์เพื่อจะถ่วงดุลอำนาจไว้ป้องกันการรุกรานเอาเปรียบจากฮอลันดา แม้ว่าการแข่งขันกันระหว่างสองชาตินี้ ทีแรกก็เป็นแต่เพียงการแข่งขันกันด้านการค้าและทางการเมือง แต่ความแตกต่างกันเรื่องศาสนาก็มีส่วนอยู่ด้วยไม่น้อย ในความสัมพันธ์ด้านการเมืองซึ่งพระเจ้าแผ่นดินสยามก็ได้ใช้เรื่องนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วย
1.1 ความสัมพันธ์กับต่างประเทศสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ
การศึกกับพม่าตอนต้นรัชกาลทำให้พระราชทรัพย์ในพระคลังลดน้อยลงอย่างมาก การค้า ขายซบเซาลงไปด้วย เมื่อเสร็จศึกแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงทรงผูกขาดการค้ากับต่างประเทศไว้ทั้งหมด ทำความไม่พอใจกับบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดาเป็นอย่างมาก ในปี ค.ศ. 1661 (พ.ศ. 2204) พวกฮอลันดาได้ยึดเรือสินค้าของไทยที่ใกล้มาเก๊า ทำให้เกิดกรณีพิพาทกันต่อมาจนถึงปี ค.ศ. 1664 (พ.ศ.2207) เพราะฮอลันดาต้องการมีอำนาจทางการค้าแต่ฝ่ายเดียว ในปีนั้นเอง ชาวจีนที่กรุงศรีอยุธยาได้เข้ายึดคลังสินค้าของฮอลันดา ฮอลันดาจึงถือโอกาสประกาศสงครามกับไทย และส่งเรือรบ 2 ลำมาปิดอ่าวไว้ ทางไทยไม่มีเรือรบจะไปสู้ และยังติดศึกทางลานนาและเมืองมอญอีกด้วย จึงจำต้องยอมทำสัญญากับฮอลันดา ซึ่งไทยต้องเสียเปรียบอย่างมาก ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้เสียอิสรภาพแก่ออลันดาอย่างชวาและสุมาตรา สัญญานี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1664 (พ.ศ.2207) นั่นคือ 2 ปีพอดี หลังจากที่พระสังฆราชลังแบรต์มาถึงกรุงศรีอยุธยา และ 8 เดือนหลังจากพระสังฆราชปัลลือมาถึง
สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้บรรดาธรรมทูตเข้าเฝ้า และได้พระราช ทานที่ดินสำหรับสร้างวัดและโรงเรียนดังที่ได้กล่าวแล้ว ทำให้พระสังฆราชมีความหวังว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯ อาจจะทรงกลับใจเปลี่ยนศาสนาในไม่ช้า พระสังฆราชลังแบรต์มีความคิดต่อไปว่า การมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชสำนักกรุงศรีอยุธยากับราชสำนักฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 น่าจะเป็นโอกาสช่วยให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ มีความเอนเอียงเข้ามารับคริสตศาสนาได้ง่ายขึ้น
ท่านได้เขียนแสดงความคิดเช่นนี้ในจดหมายลงวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1667 (พ.ศ. 2210) ถึงพระสังฆราชปัลลือซึ่งขณะนั้นกลับไปยุโรปแล้ว โดยขอร้องให้รัฐบาลฝรั่งเศสจัดตั้งบริษัททำการค้าขายกับตะวันออก โดยมาตั้งสำนักงานที่กรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งจัดส่งคณะทูตมายังราชสำนักสยามด้วย เช่นเดียวกับที่พวกฮอลันดาได้ทำสำเร็จมาแล้ว และโดยสัมพันธภาพนี้เอง พระเจ้าหลุยส์จะสามารถโน้มนำสมเด็จพระนารายณ์ฯ ให้เปลี่ยนพระทัยมานับถือคริสตศาสนาได้โดยง่าย เพราะคริสตศาสนา "เป็นศาสนาที่เที่ยงแท้และบันดาลให้พระมหากษัตริย์ที่ทรงนับถือศาสนานี้มีอำนาจปกครองยิ่งใหญ่ เพราะบทบัญญัติของศาสนานี้บังคับคริสตชนโดยคาดโทษ (ผู้ฝ่าฝืน) ไว้ถึงนรก..." อันที่จริงทางรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้จัดตั้งบริษัทอินเดียตะวันออกของตนขึ้นแข่งขันกับฮอลันดาแล้วเมื่อ 3 ปีก่อนหน้านั้น ค.ศ. (1664 /2207) บรรดาธรรมทูตที่ต้องเดินทางด้วยความยากลำบาก จึงหวังจะได้รับบริการจากเรือของฝรั่งเศสเองในการเดินทางและจัดส่งสัมภาระต่างๆ ด้วย พระสังฆราชลังแบรต์เห็นว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างสมเด็จพระนารายณ์ฯ กับพระมหากษัตริย์อย่างพระเจ้าหลุยส์คงจะมีน้ำหนักมากกว่ามิชชันนารีคนหนึ่งในการชักชวนพระองค์ให้ทรงเปลี่ยนศาสนา ซึ่งท่านคิดว่าเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงกลับใจเปลี่ยนศาสนาแล้ว ประชาชนพลเมืองก็คงจะเปลี่ยนศาสนาตามพระเจ้าแผ่นดินของตนไปด้วย ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับพระเจ้าคอนสแตนติน กษัตริย์ โคลวิส และกษัตริย์ในยุโรปอีกหลายพระองค์ รวมทั้งในกรณีของชาวมุสลิมในหลายประเทศด้วย ในเรื่องนี้ดูเหมือนว่าพระสังฆราชลังแบรต์จะเล็งผลเลิศเกินไปสักหน่อย ท่านอาจไม่ทราบว่าในราชสำนักกรุงศรีอยุธยานั้น ได้เริ่มมีขบวนการต่อต้านอิทธิพลของธรรมทูตขึ้นแล้ว และพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีอิสระมากนักในการตัดสินพระทัย
พระสังฆราชปัลลือเห็นพ้องกับความคิดของท่านลังแบรต์ และระหว่างปี ค.ศ. 1667-1672 (พ.ศ. 2210-2215) ท่านได้ส่งสาสน์ไปถึงพระเจ้าหลุยส์ บรรดาเสนาบดีและผู้อำนวยการบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส ขอร้องให้ติดต่อทางการค้ากับกรุงสยาม และตั้งคลังสินค้าขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา โดยเน้นให้เห็นว่าเป็นผลดีและเพิ่มความยิ่งใหญ่ให้ราชสำนักฝรั่งเศสมากขึ้น และก่อนจะเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ท่านปัลลือได้ขอพระราชทานพระราชสาสน์จากพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 และจากพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 มาถวายสมเด็จพระนารายณ์ฯ แห่งกรุงสยามด้วย ท่านกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1673 (พ.ศ. 2216) เมื่อทางราชสำนักได้ทราบถึงพระราชสาสน์จากพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสและพระสันตะปาปา ก็ได้จัดการต้อนรับพระราชสาสน์และพระสังฆราชอย่างเอิกเกริก แต่มาติดขัดอยู่ว่าจะให้พระสังฆราช (ในฐานะผู้นำพระราชสาสน์) เข้าเฝ้าตามธรรมเนียมไทย โดยถอดรองเท้าคลานเข้ามากราบเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระนารายณ์ฯ (ซึ่งพระสังฆราชเห็นว่าเป็นการเสื่อมเกียรติของพระเจ้าหลุยส์ และพระสันตะปาปา) หรือว่าจะให้เข้าเฝ้าแบบยุโรป การเจรจายืดเยื้ออยู่ถึง 4 เดือน ในการนี้ ฟอลคอนเข้ามามีบทบาทด้วยอย่างมาก และในที่สุดก็ตกลงกันได้ว่าให้พระสังฆราชเข้าเฝ้าตามธรรมเนียมยุโรป ทำให้บรรดาขุนนางไทยส่วนใหญ่ไม่พอใจเป็นอย่างมาก (18 ตุลาคม ค.ศ. 1673)
หลังจากการเข้าเฝ้าทางการครั้งนี้แล้ว อีก 1 เดือนต่อมา คือวันที่ 22 พฤศจิกายน สมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็ให้พระสังฆราชและธรรมทูตเข้าเฝ้าอย่างไม่เป็นทางการที่เมืองละโว้ เพื่อทรงไต่ถามถึงเรื่องประเทศฝรั่งเศส และพระสันตะปาปาเพิ่มเติมอีก เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงรู้จักบรรดาธรรมทูตฝรั่งเศส ก็คงจะทรงคิดว่ามิชชันนารีเหล่านี้คงถูกส่งมาโดยพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสเช่นเดียวกับธรรมทูตโปรตุเกส ในการเข้าเฝ้าครั้งนี้ สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงถามธรรมทูตเหล่านี้ว่ามีแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้บรรดาธรรมทูตยอมเสี่ยงอันตรายเดินทางมาด้วยความยากลำบากเช่นนี้ และทำไมพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจึงส่งข้าแผ่นดินของพระองค์มาไกลถึงเพียงนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่า คำตอบของธรรมทูตไม่ได้แก้ความเข้าใจผิดที่มีอยู่ประการนี้ พระสังฆราชได้ตอบว่า ความปรารถนาจะช่วยวิญญาณเป็นเหตุผลสำคัญประการเดียวที่ทำให้บรรดาธรรมทูตบุกบั่นมาถึงแดนไกลเช่นนี้ ยังเสริมด้วยว่าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงมีพระประสงค์อย่างแรงกล้าด้วยเช่นกันที่จะขยายพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า คำตอบเช่นนี้ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงรู้สึกนิยมชมชอบพระเจ้าหลุยส์ก็จริง แต่ก็ทำให้เกิดความสับสนได้เช่นกัน
หลังจากรับพระราชสาสน์เป็นทางการแล้ว ทางราชสำนักกรุงศรีอยุธยาก็ตั้งใจจะส่งคณะทูตไปยุโรปถึงพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสและพระสันตะปาปาด้วยเป็นการตอบแทน ทูตคณะนี้จะเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 โดยจะยกเมืองท่า (สงขลา) ให้ชาวฝรั่งเศสสร้างป้อมและคลังสินค้า เพื่อทำการค้าได้โดยปลอดภัยด้วย แต่การส่งทูตคณะนี้ต้องล่าช้าไป เพื่อรอฟังผลการสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับฮอลันดาเสียก่อน
1.2 ทูตไทยคณะแรกไปฝรั่งเศส
เมื่อสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับฮอลันดา (ค.ศ. 1672-1678 / พ.ศ. 2215-2221) สงบลงโดยฝรั่งเศสมีชัยชนะ สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงทรงส่งทูตคณะแรกไปยุโรป มีออกญาพระพิพัฒน์ราชไมตรี เป็นราชทูต ออกหลวงศรีวิศาลสุนทร เป็นอุปทูต ออกขุนนครวิชัย เป็นตรีทูต และมีคุณพ่อเกม (Gaymes) เป็นล่าม โดยออกเดินทางเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1680 (พ.ศ. 2223) ไปกับเรือของบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสซึ่งเข้ามาเปิดคลังสินค้าที่กรุงศรีอยุธยาและเดินทางกลับ จุดประสงค์ของทูตคณะนี้ก็คือ
1. เพื่อทราบถึงพระราชอำนาจของพระเจ้าหลุยส์และความเจริญของฝรั่งเศสโดยตรงเพื่อเทียบกับเมืองจีน
2. เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับพระเจ้าหลุยส์และสมเด็จพระสันตะปาปา เพื่อช่วยเหลือไทยให้พ้นจากการ คุกคามจากฮอลันดา
3. เพื่อขอให้ทางฝรั่งเศสจัดส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีเช่นเดียวกัน
แต่คณะทูตนี้เดินทางไปไม่ถึงฝรั่งเศส เนื่องจากเรือไปอับปางใกล้เกาะมาดากัสกา ส่วนทางกรุงศรีอยุธยา ทุกคนกำลังรออนาคตอันแจ่มใสด้วยความยินดี บรรดาธรรมทูตคิดว่าถ้าสัมพันธไมตรีสถาปนาขึ้นแล้ว งานพระศาสนาจะได้รับความคุ้มครองให้เจริญก้าวหน้าได้เต็มที่ สมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็ทรงพระกรุณาต่อบรรดาธรรมทูตต่อไป เช่น พระราชทานที่ดินเพิ่มเติม ถึงกระนั้นเมื่อท่านลังแบรต์ได้ทราบว่าพระเจ้าแผ่นดินโคชินจีนให้อิสระทางศาสนาแก่พลเมืองแล้ว ก็อยากจะเดินทางไปในเขตปกครองของท่าน แต่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งยังทรงต้องการความช่วยเหลือจากพระสังฆราชในการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศสอยู่ จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระสังฆราชออกจากกรุงศรีอยุธยา พระสังฆราชจึงทูลให้ทราบว่าท่านจะอยู่ต่อไปถ้าจะทรงให้อิสระทางศาสนาอย่างกับโคชินจีน แต่ก็ได้รับคำตอบโดยผ่านทางขุนนางผู้หนึ่งว่า "มากเกินไป" ท่านลังแบรต์จึงพอจะเข้าใจว่าแม้สมเด็จพระนารายณ์ฯ จะทรงแสดงพระทัยกรุณาต่อบรรดา ธรรมทูต แต่ท่านจะไม่มีโอกาสจะได้รับอย่างที่ต้องการในเรื่องอิสรภาพการถือศาสนา.
พระสังฆราชลังแบรต์ถึงแก่มรณภาพ
คุณพ่อลาโนได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังสยามตั้งแต่ปี ค.ศ. 1674 (พ.ศ. 2217) แล้วก็จริง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว พระสังฆราชลังแบรต์ยังคงบริหารงานคล้ายกับประมุขอยู่ต่อไปพระสังฆราชลาโนทำตัวเหมือนกับผู้ช่วยพระสังฆราชลังแบรต์ตลอดมาจนถึงปีค.ศ. 1679 (พ.ศ. 2222) อันเป็นปีที่พระสังฆราชลังแบรต์ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน หลังจากอาพาธอยู่เป็นเวลาหลายเดือน เมื่อถึงแก่มรณภาพ ท่านมีอายุได้ 55 ปี (ท่านเกิดที่เมืองลาบัวเซียร์ สังฆมณฑลลีซิเออซ์ เมื่อ 2 มกราคม ค.ศ. 1624 / พ.ศ. 2167)
ออกญาวิชาเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน
เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างธรรมทูตกับราชสำนักกรุงศรีอยุธยาและกรุงฝรั่งเศสนี้ จะเว้นไม่กล่าวถึงบุคคลผู้หนึ่งเสียไม่ได้ นั่นคือ ออกญาวิชาเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน ขุนนาง "ฝรั่งเศส" ผู้นี้เป็นที่โปรดปรานยิ่งของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นที่วางพระราชหฤทัยอย่างยิ่งในนโยบายต่างประเทศขณะนั้น ความเห็นเกี่ยวกับบุคคลผู้นี้ออกจะลึกลับสับสนอยู่ไม่น้อย แล้วแต่ว่าจะฟังความเห็นของใคร ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเขาก็ยกย่องเสียเลอเลิศ เช่น คุณพ่อตาชารด์ และพระสงฆ์คณะเยสุอิตชาวฝรั่งเศส แต่ชาวไทย ฮอลันดา อังกฤษ และธรรมทูตคณะมิสซังต่างประเทศมีความเห็นว่า ขุนนางผู้นี้พยายามใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ และผลประโยชน์ของตนเองเท่านั้น
เท่าที่ทราบกัน ฟอลคอนมีชื่อเดิมว่า คอนสแตนติน เยรากี (Hieraki) เกิดที่เกาะเซฟาโลนี ซึ่งเวลานั้นเป็นของรัฐเวนิส เมื่อปี ค.ศ. 1648 (พ.ศ. 2191) ครอบครัวของเขาดูเหมือนจะเคยเป็นผู้ดีเก่า แต่ยากจน เมื่ออายุ 10 ปี เขาได้หนีออกจากบ้านไปแสวงหาโชคด้วยตนเอง โดยสมัครรับใช้อยู่ในเรือพ่อค้าชาวอังกฤษและเปลี่ยนชื่อเป็นฟอลคอน (Phaulcon) ซึ่งมีความหมายเดียวกับชื่อเก่า ต่อมาจึงได้เป็นพนักงานในเรือสินค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ เดินทางมายังอินเดียและเมืองบันตัม (ชวา) ความดีความชอบที่ช่วยให้คลังสินค้าของอังกฤษรอดพ้นจากไฟไหม้ที่นี่ ทำให้เขาได้รับรางวัลเป็นจำนวนเงิน 1000 เอกู ด้วยเงินจำนวนนี้ ฟอลคอนได้ตกลงใจเสี่ยงโชคเข้ามาค้าขายส่วนตัวในประเทศสยามโดยการสนับสนุนของยอร์จ ไวท์ และริชาร์ด บาร์บานี ผู้จัดการคลังสินค้าอังกฤษ หลังจากเรืออับปางหลายครั้ง เขาก็ยังไม่ละความพยายาม ในที่สุดเข้ามาฝากตัวทำราชการสังกัดกรมพระคลังสินค้า (ข้อมูลอีกทางหนึ่งกล่าวว่า เขาได้ประสบภัยเรืออับปางที่ฝั่งมาลาบาร์ และได้พบกับราชทูตไทยซึ่งเดินทางกลับจากเปอร์เซีย ซึ่งเรืออับปางเช่นกัน จึงได้ใช้เงินที่เหลือซื้อเรือกลับมากับราชทูตผู้นั้น ซึ่งได้แนะนำตัวเขากับพระยาพระคลัง) เมื่อเริ่มรับราชการ ฟอลคอนยังไม่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ และขณะเดียวกันยังคงทำการค้าส่วนตัวต่อไป มีหลักฐานกล่าวถึงการปรากฏตัวของฟอลคอนในราชสำนักเมื่อ พ.ศ. 2217 (ค.ศ. 1674) โดยเป็นผู้ไปรายงานให้บรรดาธรรมทูตชาวฝรั่งเศสทราบว่าได้ทรงรับหนังสือที่พระ สังฆราชลังแบรต์ทูลเกล้าถวายนั้นด้วยความพอพระทัย
ในครั้งนั้น ฟอลคอนอายุราว 27 ปี ชาวยุโรปร่วมสมัยกล่าวว่าเขาเป็นคนรูปงาม ร่างสันทัด มีไหวพริบ ขยัน คุยสนุก และติดจะเพ้อฝัน การเดินเรือและการคลุกคลีอยู่กับการค้าเป็นเวลานาน ทำให้เขามีความชำนาญในการเดินเรือและการค้าเป็นอย่างยิ่ง รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมและวิธีการค้าของพวกพ่อค้าชาวมุสลิมที่มีอิทธิพลในย่านนี้เป็นอย่างดี นอกจากนั้น ฟอลคอนยังรู้จักปรับตัวได้รวดเร็วด้วย เช่น สามารถศึกษาราชาศัพท์ ขนบธรรมเนียมของราชสำนักไทยจนสามารถพูดภาษาไทยได้เป็นอย่างดี สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยให้ฟอลคอนก้าวขึ้นมามีอำนาจในประเทศไทยซึ่งกำลังประสบปัญหาทางด้านการค้าอยู่ในขณะนั้น เมื่อเข้ามารับราชการแล้วก็ได้แสดงความสามารถหลายอย่าง ได้จัดการจำหน่ายสินค้าของพระคลังหลวงได้กำไรถึงสองเท่าที่พวกแขกมัวร์เคยทูลเกล้าถวาย เมื่อออกญาโกษาธิบดีนำเขาเข้าเฝ้า และสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงปฏิสันถารกับเขาก็ทรงพอพระทัยในความเฉลียวฉลาดและกิริยามารยาทเป็นอันมาก จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น "ออกหลวงสุรสงคราม" มีหน้าที่ควบคุมการต่อกำปั่นหลวงและจัดส่งสินค้าไปขายโดยสังกัดกรมท่า
จากประสบการณ์ด้านการค้าของเขา ฟอลคอนได้จัดการค้าของหลวงให้มีระเบียบ ทำให้รายได้ของแผ่นดินเพิ่มขึ้น ดังนั้น เมื่อออกญาโกษาธิบดีถึงแก่สัญญกรรมเมื่อปี ค.ศ. 1684 (พ.ศ. 2227) สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงมีพระประสงค์ให้เขาเข้ารับตำแหน่งพระคลังสืบแทน แต่ฟอลคอนเกรงว่าจะเป็นที่ริษยาของขุนนางผู้ใหญ่ จึงไม่ยอมรับ ยอมรับเพียงบรรดาศักดิ์ "ออกญาพระฤทธิกำแหงภักดี" ผู้ช่วยออกญาพระเสด็จซึ่งดำรงตำแหน่งพระคลังคนใหม่ แต่ออกญาผู้นี้ไม่สันทัดในการค้าและการต่างประเทศ ดังนั้น ฟอลคอนจึงเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และมีอำนาจอย่างแท้จริง ตำแหน่งสุดท้ายของเขาคือ "ออกญาวิชาเยนทร์" ทั้งๆ ที่ฟอลคอนไม่เคยเกี่ยวข้องกับราชสำนักใดในยุโรปเลย แต่การที่เขาเป็นนักผจญภัย เขาจึงมีความพยายามและกระตือรือร้นที่จะรับราชการอย่างขยันขันแข็งและสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
ดังนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงโปรดปรานยิ่งขึ้น และโปรดให้ตามเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยทุกแห่ง ฟอลคอนมีอำนาจมากเทียบเท่าอัครมหาเสนาบดี และในระยะหลังมีอำนาจปฏิบัติราชการโดยไม่ต้องนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ฐานะของเขาจึงเปรียบเหมือนผู้เผด็จการ ซึ่งแน่นอนที่บรรดาขุนนางไทยและต่างชาติในขณะนั้นจะต้องตระหนักถึงอิทธิพลของเขา (พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถ์เลขา กล่าวว่าเขาเข้ามารับราชการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2217 / ค.ศ. 1674 เท่านั้น)
ฟอลคอนทราบดีว่าอนาคตของตนผูกไว้กับสมเด็จพระนารายณ์ฯ ไม่ได้ตลอดไปเขาจึงพยายามที่จะเข้าหาอำนาจของชาติยุโรปไว้อุปถัมภ์ต่อไป ขณะนั้นไทยไม่นิยมฮอลันดา เพราะคิดว่าฮอลันดาต้องการจะเข้าครอบครองไทย อังกฤษก็ไว้ใจไม่ได้ สเปนและโปรตุเกสก็อ่อนแอเกินไป ฟอลคอนจึงเข้าหาชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้แก่บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสที่เพิ่งได้รับสิทธิจากรัฐบาลไทยและบรรดาธรรมทูต เขาจึงกลับใจเป็นคาทอลิกโดยแสดงความเชื่อต่อคุณพ่ออันตน โทมัส พระสงฆ์เยสุอิตในค่ายโปรตุเกส ซึ่งมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาระหว่างปี ค.ศ. 1681-82 (พ.ศ. 2224-5) ก่อนจะไปปักกิ่ง นอกนั้นยังทำพิธีแต่งงานกับสาวคริสตังญี่ปุ่นชื่อ มารีย์ Gimard ซึ่งเป็นเหลนของคริสตังที่นักบุญฟรังซิส เซเวียร์ ล้างบาปที่ญี่ปุ่น จดหมายของคุณพ่อเดอ ลีออน ลงวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1684 (พ.ศ. 2227) ถึงสามเณราลัยที่กรุงปารีสกล่าวชมเชยฟอลคอนว่าได้ช่วยเหลือบรรดาธรรมทูตอย่างมากมาย พระสังฆราชลาโนก็ได้เขียนแบบเดียวกันในเดือนต่อมา (17 พฤศจิกายน) ฟอลคอนไม่กลัวที่จะแสดงตนเป็นคริสตังก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ตั้งตนเป็นผู้อารักขาทางการของศาสนาคาทอลิกในสยาม ซึ่งหมายความว่ากิจการทางศาสนาคาทอลิกทุกเรื่องจะต้องผ่านทางตัวเขาเท่านั้น พระสังฆราชลาโนและบรรดาธรรมทูตไม่สามารถเข้าเฝ้าสมเด็จ พระนารายณ์ฯ ได้โดยตรงอีกต่อไป เขาจัดการสร้างสามเณราลัยที่ตำบลมหาพราหมณ์ และให้เณรไปอยู่ที่นั่น โดยที่พระสังฆราชลาโนไม่เต็มใจนัก พระสังฆราชลาโนพยายามจะปลีกตัวออกจากฟอลคอน แต่ก็สายไปแล้ว
1.3 ทูตไทยคณะที่สองไปฝรั่งเศส
พระสังฆราชปัลลือกลับจากยุโรปครั้งที่สองเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1682 (พ.ศ. 2225) โดยนำพระราชสาสน์จากพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมาถวายสมเด็จพระนารายณ์ฯ ด้วย จึงทราบว่าพระราชสาสน์ที่คณะทูตนำไปเมื่อ 2 ปีก่อนนั้นไม่ถึงฝรั่งเศส ทางกรุงศรีอยุธยาได้จัดการต้อนรับพระราชสาสน์อย่างสมเกียรติเหมือนครั้งก่อนสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงพระกรุณาสร้างวัดให้ชาวคริสต์ ที่ลงรากเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1683 (พ.ศ. 2226) และในเดือนพฤษภาคมปีนั้นเอง พระสังฆราชปัลลือก็ออกจากประเทศไทยไปประเทศจีนผ่านมาเก๊า โดยเรือของไทย
เมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1683 (พ.ศ. 2226) เรือที่มาจากลอนดอนก็ส่งข่าวที่ กรุงศรีอยุธยาว่า เรือ Soleil d'Orient ที่คณะทูตไทยอาศัยไปนั้นยังไม่ถึงฝรั่งเศส สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงทรงตัดสินพระทัยส่งขุนนางไทย 2 ท่านไปฝรั่งเศสในฐานะทูตพิเศษคือ ออกขุนวิชัยวาทิต และออกขุนพิชิตไมตรี โดยมีคุณพ่อวาเชต์ (Vachet) เป็นล่ามและที่ปรึกษา หน้าที่ของทูตคณะนี้คือไปสืบเรื่องราวเกี่ยวกับราชทูตคณะก่อนที่หายไป รวมทั้งทูลเชิญพระเจ้าหลุยส์ให้ส่งราชทูตมาไทยด้วย นอกจากนั้นยังเพื่อร่วมแสดงความยินดีในการประสูติของ Duc de Bourgogne (ค.ศ. 1682) อีกด้วย ทูตคณะนี้ออกจากกรุงศรีอยุธยาโดยเรืออังกฤษเมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1684 (พ.ศ. 2227) โดยไปแวะที่กรุงลอนดอนเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ก่อนจะเดินทางต่อไปยังฝรั่งเศส นับเป็นทูตไทยชุดแรกที่ไปเฝ้าพระเจ้ากรุงอังกฤษ แม้ว่าทูตคณะนี้ไม่ได้นำพระราชสาสน์มาด้วย พระเจ้าหลุยส์ก็โปรดให้จัดการต้อนรับอย่างดี และให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ที่เฉลียงกระจกในพระราชวังแวร์ซายส์
1.4 ทูตฝรั่งเศสคณะแรกมายังกรุงศรีอยุธยา
หลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ทรงชั่งพระทัยถึงผลประโยชน์ที่ฝรั่งเศสจะได้รับแล้ว (โดยเฉพาะการโค่นอำนาจทางการค้าของฮอลันดาในตะวันออก) จึงทรงจัดส่งคณะทูตมายังราชสำนักกรุงศรีอยุธยาโดยมีเชอวาลีเอร์ (อัศวิน) เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) เป็นราชทูต และมี Abbé de Choisy เป็นอุปทูต โดยทรงกำชับให้ราชทูตชักชวนสมเด็จพระนารายณ์ฯ ให้เป็นคริสตังให้ได้ รวมทั้งให้จัดการเจรจาเกี่ยวกับการค้าให้เป็นประโยชน์แก่ฝรั่งเศสด้วย
ในคณะทูตยังมีขุนนางหนุ่มอีก 12 คน (ในจำนวนนี้มี Chevalier de Forbin ซึ่งต่อมาจะรับราชการอยู่ในกรุงสยามเป็นที่ "ออกพระศักดิสงคราม" และจะเป็นคู่ปรับกับฟอลคอน) ธรรมทูตคณะมิสซังต่างประเทศ 4 ท่าน และพระสงฆ์เยสุอิตอีก 6 ท่าน ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ที่อินเดียและจีน (ในจำนวนนี้มีคุณพ่อ Guy Tachard รวมอยู่ด้วย)
สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้ยกเมืองสงขลาให้ฝรั่งเศสตามที่เดอโชมองต์ทูลขอ เพื่อฝรั่งเศสจะได้มีที่มั่นร่วมกับไทยในการต่อสู้กับฮอลันดา แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของฝรั่งเศสคือ ต้องการจะสร้างเมืองสงขลาให้เป็นคู่แข่งกับปัตตาเวียของฮอลันดา สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงทาบทามให้ฝรั่งเศสทำสัญญารุกรบและต้านรับ (Offensive and Defensive Alliance) เพื่อต่อต้านอำนาจของฮอลันดา แต่เดอโชมองต์ปฏิเสธโดยอ้างว่าตนไม่มีอำนาจทำสัญญาดังกล่าวได้ สมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงขอเพียงแต่ให้มีเสียงเล่าลือว่าไทยกับฝรั่งเศสได้ทำสัญญารุกรบและต้านรับ เพื่อ ให้รู้ไปถึงฮอลันดาด้วย ถึงแม้ว่าไทยจะไม่ได้ทำสัญญารุกรบและต้านรับดังพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ก็ตาม แต่ก็ได้ทำอนุสัญญาทางศาสนาและการค้ากับฝรั่งเศส สนธิสัญญาทางการค้ากระทำกันได้โดยไม่ชักช้านัก บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสได้รับสิทธิทำการค้าและผูกขาดแร่ดีบุกที่เกาะภูเก็ตและเข้าครอบครองเมืองสงขลา แต่สัญญาทางศาสนาทำได้ไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะสมเด็จพระนารายณ์ฯ ยังไม่มีพระราชประสงค์จะเปลี่ยนศาสนาในเวลานั้น และอีกประการหนึ่ง ฟอลคอนก็เห็นว่าการที่พระมหากษัตริย์จะทรงเปลี่ยนศาสนาเป็นเรื่องการเมืองมากกว่า แต่ท่านทูตเดอโชมองต์ต้องการให้มีการทำสัญญาให้เสรีภาพเรื่องศาสนาเพื่อประกันความสะดวกในการประกาศศาสนาตามที่บรรดาธรรมทูตอยากจะได้ แต่ฟอลคอนไม่เห็นด้วยกับสัญญานี้ โดยกล่าวว่าไม่จำเป็น เพราะบรรดาธรรมทูตก็มีอิสระอยู่แล้วที่กรุงศรีอยุธยา จึงพยายามถ่วงเวลาไว้โดยหันเหความสนใจของท่านทูตไปยังการรับรองในโอกาสต่างๆ จนเมื่อฟอลคอนเสนออนุสัญญาเรื่องนี้ให้แก่ท่านทูตในนาทีสุดท้าย ก็ไม่มีเวลาจะพิจารณาแก้ไขอะไรได้อีก เพราะข้อความในสัญญาดังกล่าวมีข้อแม้ซึ่งฟอลคอนอาจจะตีความได้หลายอย่างให้เข้ากับตัว (ข้อความสัญญานี้ดูได้ใน พลับพลึง มูลศิลป์ "ความสัมพันธ์ ไทย-ฝรั่งเศส สมัยอยุธยา" หน้า 303-306) และฟอลคอน ก็ไม่ได้ประกาศใช้สัญญานี้เป็นทางการ โดยอ้างว่าเสรีภาพทางศาสนานั้นชาวไทยมีอยู่แล้ว ซึ่งอันที่จริงแล้วหามีอยู่ไม่ เพราะผู้ปกครองคอยขัดขวางและข่มขู่ไม่ให้ผู้อยู่ใต้บังคับเปลี่ยนใจเข้าเป็นคริสตชน หรือปฏิบัติศาสนกิจได้โดยสะดวก การที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ให้เสรีภาพทางศาสนาแก่ ชาวยุโรป ไม่ได้หมายความว่าชาวไทยจะมีเสรีภาพเช่นเดียวกัน โดยวิธีนี้จึงไม่มีข้าราชการไทยคนใดเข้าเป็นคริสตัง นอกจากฟอลคอนซึ่งเป็นคนกลางแต่ผู้เดียวระหว่างธรรมทูตกับทางราชสำนัก
เราได้เห็นแล้วว่าท่านทูตเดอโชมองต์ไม่ยอมทำสัญญารุกรบและต้านรับอย่างที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงมีพระประสงค์ โดยอ้างว่าไม่มีอำนาจที่รับมา ฟอลคอนซึ่งมีความสนใจเรื่องนี้มากกว่าเรื่องการค้าและศาสนา จึงเข้าหาพวกเยสุอิตที่มากับคณะทูตฝรั่งเศส เพื่อใช้เป็นหนทางเข้าถึงราชสำนักฝรั่งเศสได้
ท่านลาโนทราบแล้วว่าพระสงฆ์ชุดนี้ไม่ได้รับอนุมัติจากกรุงโรมและมีแต่หนังสือนำตัวจากราชสำนักฝรั่งเศสเท่านั้น จึงหาทางออกโดยถือว่าพระสงฆ์เหล่านี้เป็นเพียงนักดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์เท่านั้น ไม่ใช่ธรรมทูต จึงเลี่ยงคำสั่งของสมณกระทรวงเรื่องการสาบานจะเชื่อฟังต่อผู้แทนพระสันตะปาปาได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเยสุอิตเหล่านี้จึงกลายเป็นเครื่องมือของฟอลคอนไปโดยปริยาย ฟอลคอนได้ขอร้องให้ส่งพระสงฆ์เยสุอิต นักคณิตศาสตร์มาอีก 12 ท่าน เพื่อปฏิบัติงานที่หอดูดาวซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้สร้างที่อยุธยาและละโว้ คุณพ่อตาชารด์จึงกลับไปฝรั่งเศสเพื่อเจรจาเรื่องนี้
นอกจากนั้น ฟอลคอนยังมีข้อเสนออย่างที่คุณพ่อมัลโดนาต์เคยเสนอไปแล้ว คือ ให้เปิดบ้านเยสุอิตที่มีการเจริญชีวิตตามแบบพระภิกษุ โครงการดัดแปลงปรับปรุงให้เข้ากับวินัยของพระภิกษุ เช่นนี้มิใช่ของใหม่หรือเป็นความคิดริเริ่มของฟอลคอนเลย คุณพ่อโนบีลีได้เคยทำมาแล้วที่อินเดียกับพวกพราหมณ์ อันที่จริงเมื่อปี ค.ศ. 1677 (พ.ศ. 2220) คุณพ่อลาโนได้ไปเทศน์ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีพระภิกษุรูปหนึ่งต้องการเป็นคริสตัง แต่อยากรักษาเครื่องแบบภิกษุไว้อย่างเดิม (บางทีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเกณฑ์ให้ไปทำงานหลวง) คุณพ่อลาโนจึงมีความคิดจะแต่งกายเช่นเดียวกับพระภิกษุด้วย โดยคิดว่าจะได้รับความเคารพนับถือมากขึ้นจากชาวบ้าน พระสังฆราชลังแบรต์ได้มีหนังสืออนุญาตเมื่อวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1677 และบรรดาธรรมทูตก็แต่งกายเช่นนั้นในขณะออกไปทำงานแพร่ธรรม
หลังจากที่พระสังฆราชลังแบรต์ถึงแก่มรณภาพแล้ว พระสังฆราชลาโนได้รับการวิพากษ์ วิจารณ์จากพวกเยสุอิต จึงได้เขียนหนังสือเป็นทางการไปขออนุญาตจากกรุงโรมเมื่อปี ค.ศ. 1682 (พ.ศ. 2225) โดยมั่นใจว่าทางกรุงโรมคงไม่ขัดข้อง แต่ทางกรุงโรมได้ตอบปฏิเสธมาเมื่อวันที่ 20มีนาคม ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228) ไม่ให้ใช้แม้กระทั่งสีเหลือง (ของจีวรพระภิกษุ) บรรดาธรรมทูต จึงต้องเลิกใช้เครื่องแต่งกายอย่างพระภิกษุซึ่งเคยใช้มาเป็นเวลาเกือบ 9 ปีแล้ว ฟอลคอนไม่ทราบถึงข้อห้ามนี้ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อตาชารด์จะกลับไปฝรั่งเศสพร้อมกับคณะทูต เพื่อเจรจาเรื่องราวต่างๆ ตามความประสงค์ของฟอลคอน ซึ่งเป็นเรื่องการเมืองและการทหารมากกว่าการศาสนา คุณพ่อ Fontaney อธิการสงฆ์เยสุอิตที่กรุงศรีอยุธยาไม่ได้เห็นด้วยกับแผนของฟอลคอน และได้มีหนังสือเตือนไปทางกรุงปารีสด้วย
1.5 ทูตไทยคณะที่สามไปฝรั่งเศส
สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงตัดสินพระทัยที่จะมีสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสอย่างแน่นแฟ้น ยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อราชทูตเดอโชมองต์ทูลลา จึงได้ทรงพระราชทานตะลุ่มทองคำและของมีค่ามากมาย พร้อมกันนี้ก็โปรดส่งราชทูตไทยและเครื่องบรรณาการดีที่สุดไปถวายพระเจ้าหลุยส์และราชวงศ์ฝรั่งเศส คณะราชทูตไทยมีบุคคลสำคัญคือ ออกพระวิสุทธิ์สุนทร (โกษาปาน) เป็นราชทูต ออกหลวงกัลยาราชไมตรี เป็นอุปทูต ออกขุนศรีวิศาลวาจา เป็นตรีทูต และคุณพ่อเดอลีออน เป็นล่ามและที่ปรึกษา เช่นเดียวกับที่คุณพ่อวาเชต์ได้ทำหน้าที่นี้ในการส่งทูตคณะที่สองไป ดังได้กล่าวแล้ว คุณพ่อตาชารด์ได้เดินทางกลับไปฝรั่งเศสพร้อมกับคณะทูตนี้ด้วย นอก จากนั้น ยังมีเณรจากสามเณราลัยนักบุญยอแซฟที่กรุงศรีอยุธยาเดินทางไปศึกษาต่อที่กรุงโรมด้วย คือ อันโตนิโอ ปินโต จุดมุ่งหมายของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ในการส่งคณะทูตไทยชุดนี้ไปฝรั่งเศส นอกจากจะเกี่ยวกับเรื่องพระราชไมตรีและเรื่องการค้าแล้ว ยังมีพระราชประสงค์ให้คณะทูตได้ไปสืบพระเกียรติคุณของพระเจ้าหลุยส์ เพื่อนำมากราบทูลให้ทรงทราบอย่างละเอียด คณะทูตไทยซึ่งมีผู้ติดตามเกือบ 40 คน ได้ออกเดินทางจากประเทศไทยราวกลางเดือนธันวาคม ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228) และไปถึงฝรั่งเศส ขึ้นบกที่เมืองเบรสต์เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1686 (พ.ศ. 2229)
คณะทูตได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ ขณะที่เดินทางผ่านเมืองต่างๆ จนถึงกรุงปารีสเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ในขบวนมีรถเทียมม้า 6 ถึง 60 คัน พระเจ้าหลุยส์ได้ทรงจัดการต้อนรับพระราชสาสน์ของสมเด็จพระนารายณ์ฯ อย่างใหญ่โต คณะทูตไทยได้เข้าเฝ้าตามธรรมเนียมไทยเมื่อวันที่ 1 กันยายน ซึ่งเป็นที่ประทับใจชาวฝรั่งเศสอย่างมาก ระหว่างที่อยู่ที่กรุงปารีส คณะทูตไทยได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมดูกิจการด้านต่างๆ ของฝรั่งเศส ซึ่งราชทูตไทยได้แสดงความสนใจและซักถามเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ อย่างละเอียด ท่านยังได้ไปร่วมฟังอันโตนิโอ ปินโต สอบรับปริญญาที่มหาวิทยาลัย ซอร์บอนด้วย
นอกจากนั้น คณะราชทูตไทยยังได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์และพระราชวงศ์เป็นการส่วนพระองค์อีก ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง คณะทูตไทยอยู่ที่ฝรั่งเศสจนปลายฤดูหนาว ในที่สุดราชทูตก็ได้กราบถวายบังคมลาเมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1687 (พ.ศ. 2230) คณะราชทูตไทยชุดนี้ ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยเป็นอันมาก โดยเฉพาะออกพระวิสุทธิ์สุนทรนั้นเป็นที่สรรเสริญว่าเฉลียวฉลาดรอบคอบ จะทำสิ่งใดก็นึกถึงทางได้ทางเสียก่อนทุกครั้ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผู้สรรเสริญออกพระวิสุทธิ์สุนทร แต่เซเบเรต์ (ซึ่งจะเข้ามากับทูตฝรั่งเศสชุดที่สอง เพื่อดูแลผลประโยชน์ของบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส) กล่าวว่าท่านราชทูตผู้นี้ประพฤติตนตามที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงเห็นชอบเท่านั้น ที่เป็นเช่นนี้อาจจะเป็นเพราะว่าเซเบเรต์ไม่ชอบออกพระวิสุทธิ์สุนทรที่รู้ทันฝรั่งเศส และได้แสดงปฏิกิริยาไม่เต็มใจให้ฝรั่งเศสไปอยู่เมืองไทย และยังขัดผลประโยชน์ของฝรั่งเศสที่บอกปัดเกี่ยวกับเรื่องอนุสัญญาการค้าฉบับเดอโชมองต์นั่นเอง คณะราชทูตไทยแล่นเรือออกจากเมืองเบรสต์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1687 พร้อมกับคณะราชทูตฝรั่งเศสชุดที่สอง และเดินทางกลับมาถึงปากน้ำเมื่อวันที่ 27 กันยายน ปีเดียวกัน
ขณะที่คณะราชทูตไทยอยู่ที่ฝรั่งเศส และไปเยี่ยมชมสถานที่ต่างๆ อยู่นั้น ผู้ที่ทำการวิ่งเต้นติดต่อกับทางราชการฝรั่งเศสคือคุณพ่อตาชารด์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากฟอลคอนให้เจรจาในเรื่องต่างๆ โดยกีดกันคุณพ่อวาเชต์และเดอลีออนออกจากการเจรจาเหล่านี้ด้วย ได้เกิดมีปัญหาขึ้นอีกเกี่ยวกับพระสงฆ์เยสุอิต 14 รูปที่ได้รับเลือกให้มาประเทศสยามว่า จะต้องสาบานตนเชื่อฟังผู้แทนพระสันตะปาปา Vicarii Apostolici ตามคำสั่งของทางกรุงโรมหรือไม่ เพราะทางราชสำนักฝรั่งเศสห้ามมิให้ทำเช่นนั้น ทางกรุงโรมได้ตำหนิพระสังฆราชลาโนที่ยอมให้พระสงฆ์เยสุอิตที่ไปกับคณะทูตของเดอโชมองต์ไม่ต้องทำการสาบานนี้ และทำให้ทางสมณกระทรวงไม่ไว้ใจคณะธรรมทูต มิสซังต่างประเทศอย่างแต่ก่อน อย่างไรก็ตาม ทางกรุงโรมก็ไม่ยอมยกเว้นให้พวกเยสุอิตในเรื่องการสาบานดังกล่าว ทำให้พวกเยสุอิตไม่พอใจอย่างมาก ถึงกระนั้นพระสงฆ์เยสุอิตเหล่านี้ก็ทำการสาบานต่อหน้าคุณพ่อเดอลีออนที่เมืองเบรสต์ก่อนจะออกเดินทาง
แต่คุณพ่อตาชารด์ก็ได้เขียนหนังสือคัดค้านการกระทำดังกล่าวเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1687 นับเป็นการแสดงออกของทฤษฎี Gallicanism อย่างชัดเจน
1.6 เหตุการณ์ในประเทศสยามระหว่างที่ราชทูตอยู่ในฝรั่งเศส
หลังจากเดอโชมองต์กลับไปแล้ว ฟอลคอนก็ล้มป่วย สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงเป็นห่วงใยอย่างมาก หลังจากนั้น พระสังฆราชลาโนก็ล้มป่วยด้วย ต่อมาช้างทรงของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้หนีเข้าป่าไป ประชาชนถือว่าเป็นลางร้าย ต้องใช้ผู้คนถึง 2 หมื่น ตามหาอยู่ถึงหนึ่งเดือนจึงได้ตัวกลับมา พระสงฆ์เยสุอิตที่มากับคณะทูตของเดอโชมองต์ได้พักอาศัยอยู่ในค่ายโปรตุเกส และเมื่อเรียนรู้ภาษาโปรตุเกสบ้างแล้วก็เริ่มทำงานอภิบาล เทศน์ และสอนคำสอนบ้าง ในที่สุดเมื่ออยู่ในประเทศสยามได้ 10 เดือน ก็ออกเดินทางต่อไปประเทศจีน เว้นแต่คุณพ่อ Comte ซึ่งอยู่คอยพระสงฆ์ชุดใหม่ที่จะมาจากฝรั่งเศสกับคุณพ่อตาชารด์
ฟอลคอนที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนชาวอังกฤษ ได้เสนอให้ตั้งริชารด์ บาร์นาบี เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี และให้ตั้งแซมมวล ไวท์ (น้องชายของยอร์จ ไวท์) เป็นเจ้าท่าเมืองมะริด ตั้งแต่ พ.ศ. 2225 (ค.ศ. 1682) เพื่อควบคุมเส้นทางการค้าในอ่าวเบงกอล เป็นการเพิ่มพูนรายได้ของพระคลังสินค้า และบรรดาขุนนางไทยต่างก็พอใจที่ได้ขจัดอิทธิพลของพวกมุสลิมด้วย ต่อมา แซมมวล ไวท์ กลับมีพฤติกรรมเป็นโจรสลัดในอ่าวเบงกอล เพราะถือว่าฟอลคอนกับเขาเป็นเพื่อนกันและเป็นคนมีอำนาจสูงสุดของไทย นอกจากนั้นดูเหมือนว่าฟอลคอนจะได้รับผลประโยชน์จากการนี้ด้วย หลักฐานของพวกมุสลิมยังกล่าวด้วยว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงรู้เห็นกับการเป็นโจรสลัดของไวท์
อย่างไรก็ตาม บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษประสบกับการขาดทุน เพราะฟอลคอนได้ชักชวนพ่อค้าเอกชนทำการค้าแข่งขันด้วย จึงได้เรียกร้องค่าเสียหายจากสมเด็จพระนารายณ์ฯ แต่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงเห็นว่าอังกฤษไม่ให้ประโยชน์แก่ไทยไม่ว่าในทางใด และมีความมั่นใจในอำนาจของฝรั่งเศส จึงไม่ทรงสนพระทัยในคำเรียกร้องของอังกฤษ อังกฤษจึงคิดจะเข้ายึดเมืองมะริดตัดหน้าฝรั่งเศส โดยติดสินบนไวท์ แม้ว่าไวท์ปฏิเสธไม่ยอมเล่นด้วย แต่ชาวเมืองคิดว่าไวท์จะยกเมืองมะริดให้อังกฤษ จึงลุกฮือขึ้นต่อต้านทำการฆ่าฟันชาวอังกฤษ รวมทั้งชาวสเปนและโปรตุเกสด้วยเพราะแยกกันไม่ออก (14 กรกฎาคม ค.ศ. 1687 / 2230) การนี้ทำให้การดำเนินการค้าขายของฟอลคอนร่วมกับพ่อค้าเอกชนชาวอังกฤษสิ้นสุดลง แต่ฟอลคอนก็มีอำนาจเต็มที่แล้ว
สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงประหารชีวิตข้าราชการไทยที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าฟันชาวอังกฤษครั้งนี้และได้ส่งตัวเมอซิเออร์เดอ โบเรอการด์ (M. de Beauregard) ซึ่งมากับคณะทูตของเดอโชมองต์และรับราชการอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ให้ไปเป็นเจ้าเมืองมะริด และให้อำนาจสิทธิในการเจรจากับอังกฤษ จึงทำให้สงคราม (กับบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ) ครั้งนี้ไม่ลุกลามไป แต่ก็ทำให้สัมพันธภาพระหว่างไทยกับอังกฤษสมัยอยุธยายุติลง
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1686 /2229 ได้เกิดกบฏมักกะสันโดยการยุยงของพวกอิหร่าน ที่น้อยใจว่าทางราชสำนักให้เกียรติแก่ทูตฝรั่งเศสมากกว่าแก่ทูตของตน จุดประสงค์ของการกบฏคราวนี้ก็คือยึดประเทศไทย ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ แล้วปลงพระชนม์สมเด็จพระนารายณ์ฯ และฆ่าคริสตัง พร้อมกับบังคับราษฎรให้นับถือศาสนาอิสลาม การกบฏของพวกมักกะสันเกิดที่อยุธยาและบางกอก ผู้อำนวยการปราบปรามที่อยุธยาก็คือฟอลคอน โดยมีชาวอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้ช่วย พวกมักกะสันต่อสู้อย่างกล้าหาญ แม้ฟอลคอนก็เกือบจะเอาชีวิตไม่รอด พวกฝรั่งถูกฆ่าตายหลายคน แต่ในที่สุดฟอลคอนก็สามารถปราบปรามพวกกบฏได้ พวกมักกะสันถูกฆ่าตายหมด เว้นแต่ลูกชายเล็กของหัวหน้า 2 คน ซึ่งภายหลังฟอลคอนส่งไปเรียนที่ฝรั่งเศสและเข้ารับราชการในกองทัพเรือฝรั่งเศส ส่วนทางบางกอก De Forbin ต้องใช้เวลาถึงหนึ่งเดือนในการปราบปราม กบฏมักกะสัน ในคราวนี้มีผลทำให้สูญเสียชีวิตผู้คนรวมทั้งชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องใหญ่ที่ทำความสยดสยองให้แก่ราษฎรเป็นอันมาก จนทำให้ขวัญเสีย โดยคิดว่าเป็นลางร้ายที่เกิดขึ้นกับพระมหากษัตริย์ การที่ฟอลคอนสามารถปราบกบฏมักกะสันได้ ทำให้อำนาจของเขามั่นคงขึ้น และทำให้เขาสามารถขจัดอิทธิพลของมุสลิมไปได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงมีพระอนุชาอยู่สองพระองค์ที่มีสิทธิในการสืบราชสมบัติ องค์ใหญ่คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ ซึ่งพิการเป็นง่อย มีพระนิสัยฉุนเฉียว มุทะลุดุดัน มักจะแสดงความเกรี้ยวกราด ขาดความเคารพยำเกรงในสมเด็จพระนารยณ์ฯ ในที่สุดจึงรับสั่งให้คุมตัวไว้ในตำหนักที่อยุธยา พระอนุชาพระองค์นี้ทรงเลื่อมใสในคริสตศาสนา ส่วนพระอนุชาอีกองค์หนึ่งทรงพระนามว่า เจ้าฟ้าน้อย มีพระจริยวัตรและรูปร่างงดงาม สุภาพและกว้างขวางในหมู่ชนทุกชั้น เป็นที่นิยมในหมู่ราษฎร สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพระดำริจะให้พระราชธิดาองค์เดียวของพระองค์คือ เจ้าฟ้าหญิงกรมหลวงโยธาเทพ อภิเษกด้วย แต่เจ้าฟ้าน้อยได้เป็นชู้กับพระสนมเอกว่าที่ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ น้องสาวของพระเพทราชา พระสนมถูกสำเร็จโทษ ส่วนพระอนุชาถูกโบยโดยมีพระเพทราชาและพระปีย์เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เมื่อฟื้นจากสลบเจ้าฟ้าน้อยก็ทรงเป็นใบ้ เมื่อคราวกบฏมักกะสัน มีผู้กล่าวโทษว่าพระอนุชาทั้งสองมีส่วนร่วมในการกบฏด้วย สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้ทรงเชื่อและให้พระปีย์เป็นผู้โบยพระอนุชาทั้งสองพระองค์ พระปีย์เป็นบุตรบุญธรรมของสมเด็จพระนารายณ์ฯ เป็นบุตรขุนไกรสิทธิ์ศักดิ์ ชาวบ้านแก่ง เมืองละโว้ ถูกนำตัวมาถวายตั้งแต่ยังไม่หย่านม พระปีย์แม้ไม่ฉลาดและไม่มีปฏิภาณ แต่ก็รู้จักเอาพระทัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ จึงเป็นที่โปรดปราน เมื่อเจ้าฟ้าน้อยต้องพระอาญาครั้งแรก สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงพระดำริจะให้เจ้าฟ้าหญิงอภิเษกกับพระปีย์ แต่เจ้าฟ้าหญิงไม่ทรงยินยอม เพราะทรงรักเจ้าฟ้าน้อย และทรงรังเกียจตระกูลต่ำของพระปีย์
การที่พระปีย์เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโบยพระอนุชา ชวนให้คนทั่วไปเชื่อว่าพระปีย์เป็นผู้ทูลกล่าวหาพระอนุชาทั้งสอง เพื่อแก้แค้นเจ้าฟ้าหญิงที่สบประมาทตนว่าเป็นไพร่ และอิจฉาพระอนุชาทั้งสอง จึงคิดกำจัดเสีย เพื่อจะได้รับตำแหน่งรัชทายาทแทน สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงทราบดีว่าพระปีย์ไม่เป็นที่นิยมของประชาชน จึงดำริจะส่งไปปกครองเมืองพิษณุโลก โดยที่พระปีย์ไม่ทราบ การที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ยังมิได้แต่งตั้งใครเป็นรัชทายาท จึงมีการสะสมอำนาจ บรรดาขุนนางแตกกันเป็นสองพวก ฝ่ายหนึ่งคือพระเพทราชา ซึ่งโฆษณาว่าจะป้องกันพระบัลลังก์ให้พระอนุชา จึงมีขุนนางสมัครเข้าร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก อีกฝ่ายหนึ่งคือฟอลคอน ซึ่งคิดจะใช้กำลังฝรั่งเศสช่วยยกพระปีย์ขึ้นเป็นกษัตริย์ นี่คือ สภาพการณ์ทางการเมืองที่กรุงศรีอยุธยา ก่อนที่ทูตฝรั่งเศสคณะที่สองจะมาถึง
1.7 ราชทูตฝรั่งเศสคณะที่สองมาถึงกรุงศรีอยุธยา
คณะทูตฝรั่งเศสที่กลับมาพร้อมกับคณะทูตไทยชุดที่สามในปี ค.ศ. 1687 / พ.ศ. 2230 ประกอบด้วย บุคคลสำคัญต่อไปนี้คือ
1. เมอสิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ (M. de la Loubère) เป็นราชทูต มีหน้าที่เจรจาเรื่องการเมืองและศาสนา
2. เมอสิเออร์ เซเบเรต์ (M. Cébéret) เป็นอุปทูต มีหน้าที่เจรจาเรื่องการค้า
3. นายพลแดฟาร์จ (Desfarges) เป็นผู้คุมกองทหารฝรั่งเศสจำนวน 636 นาย ที่จะมาประจำในประเทศสยามที่บางกอกและมะริด
4. คุณพ่อตาชารด์ คุณพ่อเดอ ลีออน (คุณพ่อวาเชต์ไม่กลับมาอีก)และมีพระสงฆ์คณะเยสุอิต 14 รูปติดตามมาด้วย ดังได้กล่าวแล้ว
คณะทูตออกเดินทางจากเมืองเบรสต์เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1687 แต่เมื่อมาถึงปัตตาเวีย คุณพ่อตาชารด์ได้ลงเรือลำอื่นล่วงหน้าคณะทูตมาถึงกรุงศรีอยุธยา เพื่อพบกับฟอลคอนก่อน คณะทูตมาถึงปากน้ำเมื่อวันที่ 27 กันยายน จุดมุ่งหมายของฝรั่งเศสในการส่งทูตมาครั้งนี้เนื่องจากความล้มเหลวในการเจรจาเรื่องศาสนาและการค้าของเดอโชมองต์ เพราะฝรั่งเศสไม่พอใจอนุสัญญาทางการค้า ไม่ทราบว่าทางไทยต้องการอะไรตอบแทนการยอมให้ฝรั่งเศสผูกขาดการค้าดีบุกที่เกาะถลาง
นอกจากนั้น เดอโชมองต์ได้รับเมืองสงขลาโดยไม่ได้คำนึงถึงเมืองอื่นที่มีทำเลทางยุทธศาสตร์ดีกว่า ราชทูตคณะนี้จึงได้รับคำสั่งให้ทำการเจรจาทำสัญญาการค้าใหม่กับไทยอีกฉบับหนึ่ง เพื่อให้ได้เปรียบไทยยิ่งขึ้น (สัญญาดังกล่าวทำที่เมืองละโว้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1687 / พ.ศ. 2230 แต่ไม่ได้เกิดประโยชน์ให้แก่ฝรั่งเศส เพราะได้เกิดรัฐประหารขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาเสียก่อน) ส่วนเรื่องการทหารนั้น ฝรั่งเศสขอตั้งกองทหารไว้ที่บางกอกและมะริด ดังนั้น เมื่อคณะทูตมาถึงปากน้ำก็ได้มีการเจรจาขอให้ยกเมืองทั้งสองให้ฝรั่งเศสตั้งกองทหารทันที ฟอลคอนฉวยโอกาสที่จะเข้าบัญชาการกำลังทหารฝรั่งเศส โดยรับจะจัดการให้เป็นไปตามความต้องการของฝรั่งเศส (กองทหารฝรั่งเศสจึงเข้าไปตั้งอยู่ที่บางกอกเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1687 / พ.ศ. 2230 ส่วนที่จะไปมะริดก็ออกเดินทางพร้อมกับเซเบเรต์เมื่อวันที่ 31 ธันวาคมปีเดียวกัน และไปถึงเมืองมะริดเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1688 / พ.ศ. 2231) แต่ราชทูตจะต้องทำสัญญาลับโดยให้ฟอลคอนมีอำนาจบังคับบัญชาทหารฝรั่งเศสที่บางกอกและมะริดได้แต่เพียงผู้เดียว ท่านราชทูตจำใจต้องยอมทำสัญญานี้ เพราะพวกทหารอยู่ในสภาพอิดโรยจากการเดินทางอย่างมาก
สมเด็จพระนารายณ์ฯ โปรดให้ทำพิธีต้อนรับราชทูตเช่นเดียวกับครั้งก่อน และโปรดให้คณะราชทูตเข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1687 เมื่อเดอลาลูแบร์ถวายพระราชสาสน์นั้น พระองค์ไม่ได้วางไว้เหนือพระเศียรเหมือนเมื่อครั้งเดอโชมองต์ แต่ทรงคำนับ ทั้งนี้เพื่อเลียนแบบพระเจ้าหลุยส์ ท่านราชทูตได้ถวายบรรณาการจากพระเจ้าหลุยส์ รวมทั้งนำของประทานจากพระเจ้าหลุยส์มาให้ฟอลคอนด้วยนั่นคืออิสริยาภรณ์ Saint-Michel พระราชโองการประทานสัญชาติฝรั่งเศสรวมทั้งตำแหน่งเคานต์สำหรับบุตรชายของฟอลคอนด้วย
เมื่อคณะทูตเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ที่ละโว้ ทรงรับสั่งจะช่วยเหลือบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสให้ทำการค้า และตรัสเป็นทำนองว่าให้พนักงานของบริษัทอยู่ในบังคับบัญชาของฟอลคอน แต่ในที่สุด เซเบเรต์ก็ได้เจรจาทำสัญญาการค้ากับไทยได้ใหม่ดังได้กล่าวแล้ว ส่วนเดอลาลูแบร์ได้เตือนฟอลคอนให้กราบ ทูลถึงเรื่องสัญญาทางศาสนา แต่ฟอลคอนพยายามบ่ายเบี่ยง โดยกล่าวโทษพระสังฆราชลาโนว่าพูดภาษาไทยไม่ดี ทำให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงฟังคำสอนไม่เข้าพระทัย และคุณพ่อตาชารด์เสริมว่าต้องรอให้พระสงฆ์เยสุอิตที่มาใหม่เรียนรู้ภาษาไทยให้เชี่ยวชาญก่อน จึงจะเริ่มสอนศาสนาได้ ส่วนการประกาศอนุสัญญาทางศาสนานั้น ต้องรอให้มีผู้เข้ารีตจำนวนหนึ่งเสียก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดการจลาจลเพราะราษฎรไม่พอใจอย่างคราวกบฏมักกะสันขึ้นได้ ฟอลคอนได้จัดการให้พระสงฆ์เยสุอิตที่มาใหม่พวกนี้ไปศึกษาภาษาไทยกับพระภิกษุในวัดพุทธศาสนาแห่งเมืองละโว้
1.8 ฟอลคอนกับพระสังฆราชลาโน
เพื่อแก้แค้นพระสังฆราชลาโนที่เข้ากับราชทูตลาลูแบร์ ไม่สนับสนุนแผนการของตน ฟอลคอนได้กล่าวหาพระสังฆราชว่าแม้จะอยู่ประเทศไทยมาตั้ง 20 ปีแล้ว แต่ยังพูดไทยไม่ได้ จึงทำให้สมเด็จพระนารายณ์ฯ ไม่ได้กลับใจ ในจดหมายที่ฝากไปกับคุณพ่อตาชารด์ในฐานะทูตไทยไปฝรั่งเศส ฟอลคอนยังได้กล่าวหาพระสังฆราชและบรรดาธรรมทูตในความผิดหนักๆ หลายข้อ แต่ผู้ที่รู้จักพระสังฆราชและธรรมทูตเหล่านี้ดี ก็เห็นชัดว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสี เท่านั้นยังไม่พอ ฟอลคอนยังกล่าวหาพระสังฆราชไปยังกรุงโรมด้วย ในเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างคณะนักบวชและพระสังฆราชผู้แทนพระสันตะปาปา (Vicarii Apostolici) เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นที่ตังเกี๋ย ทางสมณกระทรวงได้เรียกธรรมทูตเยสุอิตของ Padroado กลับมาจากที่นั่น คุณพ่อฟูชีติซึ่งเป็นคนหนึ่งในจำนวนนี้ ได้เข้ามากรุงศรีอยุธยากับเดอโชมองต์ มีข่าวส่งมาจากตังเกี๋ยว่าคริสตังที่นั่นไม่ยอมรับพระสงฆ์พื้นเมืองที่สนับสนุนพระสังฆราชผู้แทนพระสันตะปาปา และขอให้พวกเยสุอิตกลับไป ฟอลคอนจึงใช้ความขัดแย้งในเรื่องนี้กล่าวหาพระสังฆราชลาโนด้วย คุณพ่อฟูชีติเขียนบอกให้ครูสอนคำสอนจากตังเกี๋ยชื่อ Denis ly Thank มาหาท่านพร้อมกับเพื่อนอีก 3 คน เพื่อขอพระสังฆราช ลาโนให้อนุญาตให้พวกเยสุอิตกลับไปตังเกี๋ยอีก พระสังฆราชตอบว่าท่านไม่มีอำนาจจะทำเช่นนั้นได้ ครูสอนคำสอน 2 คนจึงกลับไป คนที่สามชื่อ Michel Phuong ขออนุญาตเข้าบ้านเณรที่กรุงศรีอยุธยา
ก่อนจะเดินทางไปฝรั่งเศสในฐานะราชทูตพิเศษในปี ค.ศ. 1687 / 2230 คุณพ่อตาชารด์ให้ Denis Ly Thank เขียนจดหมาย "จากคริสตังชาวตังเกี๋ย" ถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 และพระสันตะปาปา โดยอ้างว่าตนเป็นผู้พูดแทนคริสตังจำนวน 3 แสน และครูสอนคำสอนทั้งหลายในตังเกี๋ย (อันที่จริงเขาไม่ได้เป็นครูสอนคำสอนมาตั้ง 8 ปีแล้ว และเขาก็เป็นผู้แทนคริสตังราว 2 หมื่นคนเท่านั้น) และว่าตังเกี๋ยเป็นเหมือนลูกกำพร้าเพราะขาด "บิดาที่สอนเขาให้มีความเชื่อ" และเขาเหล่านั้นยินดีตายโดยไม่มีโอกาสรับศีลศักดิ์สิทธิ์ดีกว่าจะไปพึ่งพระสงฆ์พื้นเมืองและธรรมทูตฝรั่งเศส เพื่อที่จะให้มีพยานเพิ่มขึ้น จึงได้มีการลักพาตัว Michel Phuong ขึ้นเรือไปกับคุณพ่อตาชารด์และ Denis Ly Thank ด้วย เณร Michel Phuong ผู้ที่จะรู้ถึงข้อความในจดหมายก็เมื่อไปถึงปารีสแล้วเท่านั้น "ผู้แทน" ชาวตังเกี๋ยทั้งสองสวมบทบาทที่ถูกยัดเยียดให้เป็นอย่างดี ว่ากันว่าพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 ถึงกับทรงพระกันแสงเมื่ออ่านจดหมายนี้ จึงทรงมีคำสั่งลงวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1689 / พ.ศ. 2232 อนุญาตให้คณะสงฆ์เยสุอิตกลับไปตังเกี๋ยได้ และให้ยกเลิกข้อบังคับที่ให้นักบวชธรรมทูตสาบาน จะเชื่อฟังต่อพระสังฆราชผู้แทนพระสันตะปาปา
Michel Phuong ได้กลับมาที่กรุงศรีอยุธยาและเข้าบ้านเณรอีก และในที่สุดได้เป็นพระสงฆ์ ที่ดีมาก ส่วน Denis Ly Thank ได้กลับไปตังเกี๋ยและภายหลังถูกกล่าวหาเรื่องฆาตกรรม เมื่อเรื่อง "จดหมายจากผู้แทน" นี้ทราบถึงพระสงฆ์พื้นเมืองที่ตังเกี๋ย พระสงฆ์ทั้ง 11 องค์ที่นั่นได้เขียนหนังสือส่งถึงพระสันตะปาปา แต่ก็สายเกินไป พวกเยสุอิตได้กลับเข้าไปตังเกี๋ยแล้ว ส่วนพระสังฆราชลาโน ทั้งๆ ที่ทราบดีว่าฟอลคอนและคุณพ่อตาชารด์เป็นอริกับท่าน ท่านก็ยังให้อำนาจทุกอย่างแก่พระสงฆ์เยสุอิตที่จะทำงานอภิบาลแพร่ธรรมได้โดยเสรี โดยเฉพาะเรื่องสั่งสอนเยาวชน แต่คุณพ่อ ตาชารด์ก็ยังไม่พอใจ หลังจากกลับถึงฝรั่งเศสแล้วได้เขียนจดหมายถึงคุณพ่อเดอ ลา แชส (De la Chaize) ลงวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1688 / พ.ศ. 2231 กล่าวหาว่าการที่พระสังฆราชไม่ต้อนรับพระสงฆ์คณะเยสุอิต เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านต้องกลับมาฝรั่งเศส ท่านต้องนำครูสอนคำสอนชาวตังเกี๋ยทั้งสองมาด้วย ก็เพราะพระสังฆราชลาโนไม่ยอมรับฟังและแก้ปัญหาของพวกเขา
ในระหว่างนั้น ฟอลคอนแสดงอำนาจมากขึ้น แต่ก็มีศัตรูเพิ่มขึ้นด้วย ยิ่งกว่านั้นออกพระวิสุทธิ์สุนทร ซึ่งเป็นราชทูตไปฝรั่งเศสเข้าใจถึงจุดประสงค์ของฝรั่งเศส และแผนการของฟอลคอนกับคุณพ่อตาชารด์เป็นอย่างดี จึงไม่ยอมเป็นเครื่องมือของบุคคลทั้งสอง
1.9 ทูตไทยชุดที่สี่ไปฝรั่งเศส
สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงวิตกเรื่องความขัดแย้งระหว่างฟอลคอนกับราชทูตเดอลาลูแบร์ ซึ่งจะทำให้พระราชไมตรีระหว่างประเทศทั้งสองเสื่อมลง จึงได้โปรดให้คุณพ่อตาชารด์เป็นราชทูตพิเศษอันเชิญพระราชสาสน์และเครื่องบรรณาการไปฝรั่งเศส การที่สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงเลือกคุณพ่อตาชารด์เป็นราชทูต นับว่าเป็นเรื่องพิเศษผิดปรกติ คงจะเนื่องมาจากการที่ท่านผู้นี้เป็นคนสนิทของฟอลคอน ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ฯ ไว้พระทัยว่าพอที่จะกล่าวโทษถึงความประพฤติของคณะราชทูตเดอลาลูแบร์ว่าพยายามขัดขวางความมุ่งหมายอันดีของพระองค์และเสนาบดี (ฟอลคอน) เหตุผลอีกประการหนึ่งก็คือ คุณพ่อตาชารด์เป็นสงฆ์คณะเยสุอิตซึ่งพระเจ้าหลุยส์ทรงโปรดปราน การเจรจาเพื่อรักษาพระราชไมตรีนี้คงจะดำเนินไปด้วยความราบรื่น
คณะราชทูตพิเศษของไทยนี้ประกอบด้วยขุนนางไทย 3 คนคือ ออกขุนวิเศส ออกขุนชำนาญ และออกหมื่นพิพิธ ครูสอนคำสอนชาวตังเกี๋ย 2 คนที่กล่าวในตอนที่แล้ว และบุตรข้าราชการไทยอีก 12 คน ที่จะไปเรียนที่ฝรั่งเศส คณะทูตออกจากอยุธยาเมื่อวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1688 / พ.ศ. 2231 และถึงเมืองเบรสต์ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเดินทางมาถึงฝรั่งเศสและจัดเตรียมข้อชี้แจงต่างๆ แล้ว คุณพ่อตาชารด์ได้เดินทางไปเฝ้าพระสันตะปาปาในปลายเดือนธันวาคม คุณพ่อ ตาชารด์ได้ถวายพระราชสาสน์และจดหมายของฟอลคอนซึ่งชี้แจงเรื่องการประกาศพระวรสารในประเทศสยาม และอุปสรรคต่างๆ รวมทั้งการแก้ไข โดยเน้นว่าอุปสรรคที่สำคัญคือ การแตกความสามัคคีกันระหว่างธรรมทูตคณะนักบวชและคณะมิสซังต่างประเทศ คุณพ่อตาชารด์ได้กราบทูลเหตุการณ์นี้ต่อพระเจ้าหลุยส์เช่นกัน ซึ่งพระองค์คงจะเกิดความหวังที่จะส่งเสริมการเผยแพร่พระศาสนาในประเทศสยามต่อไป
การเจรจาครั้งนี้เกี่ยวกับการทหารเป็นส่วนใหญ่ ได้มีการทำสัญญาระหว่างมาร์ควิส เดอ แซเญอเล (Marquis de Seignelay) กับคุณพ่อตาชารด์ผู้แทนฝ่ายไทยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1689 / พ.ศ. 2232 ข้อความในสัญญาแสดงให้เห็นว่าฝรั่งเศสหวังว่าจะเข้าควบคุมสำนักไทยด้วย แต่ความ หวังของฝรั่งเศสประการนี้ก็ต้องล้มละลาย เพราะในเวลาที่คุณพ่อตาชารด์พร้อมกับกองทหารที่จะส่งมาเมืองไทยเตรียมตัวจะขึ้นเรือที่เมืองเบรสต์ ฝรั่งเศสก็ได้ทราบข่าวการรัฐประหารของพระเพทราชา ซึ่งทำลายอิทธิพลของฟอลคอนและฝรั่งเศสลงโดยสิ้นเชิง
2. การสมัชชาที่กรุงศรีอยุธยาปี ค.ศ. 1664
นับเป็นการวางแผนที่รอบคอบก่อนจะเริ่มต้นการทำงานใดๆ ของบรรดามิชชันนารีที่เดินทางเข้ามาในสยาม ตามที่เราได้เรียนรู้มาแล้ว เมื่อบรรดามิชชันนารีเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วได้พบว่าสภาพของการเผยแพร่ศาสนาในสยามนั้นแย่มาก
2.1 สภาพของคริสตศาสนาในประเทศสยามเมื่อธรรมทูตของสมณกระทรวงการเผยแพร่ความเชื่อมาถึง
พระคุณเจ้าลังแบรต์มาถึงตะนาวศรีวันที่ 16 (หรือ 19) พฤษภาคม ค.ศ. 1662 สมัยนั้น เมืองตะนาวศรีอยู่ในปกครองของกษัตริย์ไทย เวลานั้นมีคนต่างชาติมากมายมาทำการค้าขายที่นั่น มีพระสงฆ์คาทอลิกคณะเยสุอิตชื่อ ยวง การโดโซ ประจำอยู่ที่วัดตะนาวศรี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1659 ท่านได้ต้อนรับพระคุณเจ้าและพระสงฆ์ที่ร่วมเดินทางมาด้วยดี คุณพ่อได้ขอให้พระคุณเจ้าโปรดศีลกำลังแก่คริสตังที่ยังไม่ได้รับด้วย พระคุณเจ้าลังแบรต์รู้สึกประทับใจในอิสรภาพที่ชาวสยามให้แก่คริสตังในการปฏิบัติศาสนา
คุณพ่อยาโกเบ เดอ บูรช์ เพื่อนเดินทางคนหนึ่งของพระคุณเจ้าลังแบรต์ ได้บันทึกไว้ว่า กรุงศรีอยุธยาสมัยนั้นเป็นเมืองที่พ่อค้าจากตะวันออกและตะวันตกมาพบกัน มีคนมาจากจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ เขมร จามปา (เวียดนามใต้) อินเดีย ชาวโปรตุเกส ชาวฮอลันดา และอังกฤษ มีโรงเก็บสินค้าที่นั่น ส่วนสำคัญของเมืองอยู่ที่เกาะกลางน้ำเจ้าพระยา พระราชวังตั้งอยู่ทางเหนือของเกาะ ล้อมรอบด้วยกำแพง 2 ชั้น ตึกต่างๆ ของราชวังตั้งอยู่ในอุทยานที่มีธารน้ำ ทำให้อากาศเย็นสบายตลอดเวลา ร้านของนายช่างอยู่ในส่วนอื่นของเกาะ มีต้นไม้ปลูกตามถนน ทำให้ร่มดี ถนนบางสาย ปูด้วยอิฐ เวลาเช้าเย็นทุกวันมีตลาดนัด มีปลา ผลไม้ และผักขาย ในเมืองมีวัดประมาณ 500 วัด ซึ่งมีพระพุทธรูปปิดทองสวยงามมาก
ย่านของคนต่างชาติอยู่ทางทิศใต้และทางตะวันออกตามริมฝั่งแม่น้ำคนต่างชาติอยู่รวมกันเป็นค่าย (คำนี้ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม เรียกว่า AMP หรือ AMPU เป็นที่มาของคำว่าอำเภอ) แต่ละชาติมีค่ายของตน โดยมีคนหนึ่งในชาตินั้นเป็นหัวหน้า มีค่ายของชาวจีน ของญี่ปุ่น ของโปรตุเกส ซึ่งเป็นค่ายที่ใหญ่กว่าทั้งหมด และเก่ากว่าหมดด้วย เพราะชาวโปรตุเกสได้อพยพมาอยู่ประเทศสยามเป็นจำนวนมาก เมื่อชาวฮอลันดาได้ยึดเมืองมะละกา (ปี ค.ศ. 1641) และเมืองมากาซาส ในสมัยนั้นสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงรับคนต่างชาติด้วยดี และให้อิสรภาพในการปฏิบัติศาสนาของเขา
ตอนนั้นคอนสตันติน ฟอลคอน เป็นคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์ฯ แล้ว ที่จริงคริสตังในประเทศสยามได้รับอิสรภาพในการปฏิบัติศาสนาตั้งแต่นานมาแล้ว เป็นสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมที่อนุญาตเป็นทางการให้คริสตังปฏิบัติศาสนาในปี ค.ศ. 1622 พระองค์เองได้ทรงขอให้สังฆราชแห่งมะละกา พระคุณเจ้าโกงซาลเวส ดา ซิลวา (Gonzalvez Da Silva) ส่งพระสงฆ์มาดูแลชาวโปรตุเกสที่กรุงศรีอยุธยา
ตามความจริง มีพระสงฆ์คาทอลิกในประเทศสยามแต่นานแล้ว เราไม่ทราบว่ามีพระสงฆ์หรือไม่ ในคณะทูตโปรตุเกส ที่อุปราชอัลบูเคอร์ก (Albuquerque) ได้ส่งมายังพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับประเทศสยามปี ค.ศ. 1511 ธรรมทูตคนแรกในประเทศสยามที่เรารู้จัก ซึ่งเป็นพระสงฆ์คณะโดมินิกัน 2 องค์ มาจากมะละกาปี ค.ศ. 1555 (คุณพ่อเยโรม แห่งไม้กางเขน และคุณพ่อเซบัสเตียน ดา กันโต) แต่คุณพ่อทั้งสองถูกฆ่าตาย คนแรกวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 1609 และคนที่สองวันที่ 11 มกราคม ค.ศ. 1569 พระสงฆ์คณะเยสุอิตคนแรกที่มาคือ คุณพ่อบารเทเลอมี เซเกอีรา (Barthelemy Sequeyra) ปี ค.ศ. 1609
ต่อมาคุณพ่อยุลีโอ เซซาร์ มักยิโก (Julius Cesar Margico) เยสุอิต มาถึงปี ค.ศ. 1624 คุณพ่อองค์นี้พยายามตั้งวัด ตามคำบอกเล่าของคุณพ่อเดอ โรดส์ ที่ได้รู้จักท่านเป็นอย่างดี คุณพ่อมักยิโก ได้ผูกมิตรภาพกับพระมหากษัตริย์ และขุนนางคนสำคัญในแผ่นดินสยาม แต่คริสตังไม่ดีที่คุณพ่อ ติความประพฤติได้วางยาพิษ คุณพ่อจึงถึงแก่ความตาย
ปี ค.ศ. 1655 คุณพ่อเยสุอิตจากมาเก๊าส่งคุณพ่อโทมาส วัลคาเนรา (Thomas Vlguanera) เพื่อดูแลพวกชาวญี่ปุ่นคริสตังที่ได้หนีการเบียดเบียนศาสนาในประเทศของตน และมาอาศัยในประเทศสยาม คุณพ่อองค์นี้ได้สร้างโบสถ์ด้วยหินที่เอามาจากมาเก๊า ได้ทาสีและปิดทองหน้ามุขของโบสถ์อย่างสวยงาม
แต่ในปี ค.ศ. 1658 เกิดไฟไหม้โบสถ์นี้ สมเด็จพระนารายณ์ฯ ได้พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อสร้างโบสถ์ใหม่ในที่ที่เหมาะสมกว่า
พระสงฆ์โดมินิกัน ฟรังซิสกัน และเยสุอิต ทำงานในประเทศสยามมากกว่า 100 ปี แต่ได้ผลน้อยที่สุด แม้ท่านเหล่านั้นจะได้พยายามสอนสุดความสามารถ เพื่อให้คนไทยกลับใจพระสงฆ์เหล่านั้นจึงหันมาเอาใจใส่กับเพื่อร่วมชาติมากกว่า ใช้นโยบายใหม่ ซึ่งคิดว่าเป็นวิธีที่ดีกว่าทั้งหมดเพื่อให้คนกลับใจคือ ให้คนโปรตุเกสแต่งงานกับหญิงไทยที่เขาสามารถบังคับให้เข้านับถือศาสนาคริสต์ ตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา เมื่อชาวไทยอยากบอกว่ามีคนไทยเข้ามานับถือศาสนาคริสต์ เขาพูดว่า ได้เข้าเป็นโปรตุเกส
ในปี ค.ศ. 1662 ที่กรุงศรีอยุธยา มีพระสงฆ์ 11 องค์ เป็นเยสุอิต 4 องค์ โดมินิกัน 2 องค์ ฟรังซิสกัน 2 องค์ และพระสงฆ์ที่ไม่ใช่นักบวชอีก 3 องค์ ใน 11 องค์นี้ 2 องค์เป็นชาวสเปน นอกนั้นเป็นชาวโปรตุเกส นักบวชแต่ละคณะมีโบสถ์ของตน แม้พระสงฆ์ที่ไม่ใช่นักบวชก็มีโบสถ์ประจำของตนด้วย ปีนั้นมีคริสตังประมาณ 2,000 คน ส่วนมากเป็นโปรตุเกสหรือลูกครึ่ง ในค่ายญวนมีชาวโคชินไชนาเป็นคริสตังประมาณ 40 คน
เมื่อมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว พระคุณเจ้าลังแบรต์ได้คำนับหัวหน้าโปรตุเกสที่ได้ต้อนรับพระสังฆราชอย่างดี และเชิญชวนท่านให้พักอาศัยที่ค่ายของโปรตุเกส พระคุณเจ้าแจ้งให้หัวหน้าฮอลันดาทราบความมุ่งหมายของท่านในการมาในเอเซียอาคเนย์นี้ ท่านยังมีจดหมายถึงมะนิลาและมาเก๊าให้ผู้ใหญ่ของคณะนักบวชทราบ ทีแรกทุกสิ่งเป็นไปอย่างเรียบร้อย
ปีเดียวกันนั้น ก่อนฉลองพระคริสตสมภพเล็กน้อย มีคำสั่งจากอุปราชเมืองกัว กำชับให้กีดกันทุกวิถีทางไม่ให้ธรรมทูตชาวฝรั่งเศสเข้าไปในสังฆมณฑลของตน ตั้งแต่เวลานั้นมา ชาวโปรตุเกสในค่ายแสดงตัวเป็นปรปักษ์กับธรรมทูต จนจะอยู่ในค่ายโปรตุเกสไม่ปลอดภัย ธรรมทูตปฏิเสธคำเชิญของหัวหน้าฮอลันดาให้ไปอาศัยในค่ายของฮอลันดา และเข้าไปอยู่ในค่ายของญวน มีการโจมตีกันระหว่างโปรตุเกสและธรรมทูต บางครั้งถึงขั้นรุนแรง เป็นเรื่องที่น่า สลดใจที่เห็นพระสงฆ์ซึ่งได้มีความเสียสละมากเพื่อพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า กลับมาถกเถียงกันต่อหน้าคนต่างศาสนา พระคุณเจ้าลังแบรต์อยู่เมืองสยามไม่ถึง 6 เดือน ท่านติเตียนความเสื่อมเสียในการปฏิบัติศาสนา เช่น ด้านพิธีทางศาสนา ไม่มีมิสซาขับ ไม่มีการเทศน์ ไม่มีกิจศรัทธา นอกจากวันฉลองนักบุญผู้ตั้งคณะปีละครั้ง ในด้านคำสอน พระคุณเจ้าลังแบรต์เห็นว่าคริสตังญวนมีความรู้น้อยมาก เขาเกือบไม่ได้เรียนคำสอน หรือเรียนวันเดียว สองวันก่อนพิธีล้างบาป โดยทั่วไป พระคุณเจ้าลังแบรต์บอกว่าคริสตังเป็นที่สะดุด เฉื่อยชา ไม่มีความรู้ด้านศาสนา ท่านโจมตีพระสงฆ์ เป็นต้นสงฆ์เยสุอิต ที่สะเพร่าในการปฏิบัติหน้าที่สงฆ์ เราทราบอยู่แล้วว่าพระคุณเจ้าลังแบรต์เป็นผู้มุ่งความศักดิ์สิทธิ์ เป็นคนเคร่งครัดกับตัวเองและคนอื่น เป็นคนค่อนข้างใจร้อน จึงทนไม่ได้เมื่อเห็นความบกพร่องเหล่านั้น
ฝ่ายโปรตุเกสตอบว่า ธรรมทูตไม่มีสิทธิ์ และไม่มีอำนาจที่อยุธยา ประเทศโปรตุเกสไม่ได้รับรองท่าน ท่านมาอย่างผิดกฎหมาย พระสงฆ์โปรตุเกสประกาศห้ามคริสตังติดต่อกับท่าน ทั้งพยายามจับท่านเพื่อส่งเข้าคุกในเมืองกัว
พระคุณเจ้าลังแบรต์เขียนรายงานถึงโรเกี่ยวกับสภาพของมิสซังในเมืองไทย และเขียนใบลาออกจากการเป็นประมุขของเทียบสังฆมณฑล เพื่อนำสันติคืนมาในวงการคริสตศาสนา ที่อยุธยา แต่กรุงโรมไม่อนุมัติใบลานั้น
ที่จริง พระคุณเจ้าลังแบรต์มีความลำบากใจ เพราะท่านไม่ได้รับอำนาจปกครองคริสตังของอยุธยา ท่านมีเพียงอำนาจเหนือคริสตังญวนที่มาจากสังฆมณฑลของท่าน
วันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1663 พระคุณเจ้าลังแบรต์ลงเรือออกเดินทางพร้อมกับคุณพ่อเดดีเอร์ มุ่งไปทางตอนใต้ของประเทศจีนที่เป็นสังฆมณฑลของท่าน แต่เรืออับปางลงใกล้ชายฝั่งของประเทศเขมร ท่านจึงต้องเดินทางกลับมายังค่ายญวนที่อยุธยา
วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1664 พระสังฆราชปัลลือมาถึงกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับคุณพ่อลาโน คุณพ่อแบรงโด และพระสงฆ์เพื่อนเดินทางของพระคุณเจ้าโกโตลังดีที่ได้ตายที่มาสุลีปาตัม (อินเดีย) วันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 2205 สังฆราชทั้งสองอยากไปเวียดนามซึ่งเป็นเทียบสังฆมณฑลของท่าน แต่ท่านได้รับจดหมายจากตังเกี๋ยและโคชินไชนา ขอให้เลื่อนการไปเยี่ยม เพราะระยะนั้นมีการเบียดเบียนศาสนา จึงตัดสินใจจะทำประชุมสมัชชา (Synod) เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติในการแพร่ธรรมต่อไป การตกลงกันนี้ได้ร่างเป็น "คำแนะนำธรรมทูต" ที่จะกล่าวต่อไป
วันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1664 พระคุณเจ้าปัลลือและคณะเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา พระสังฆราชทั้งสองพร้อมกับพระสังฆราชผู้ร่วมงานก็ร่วมใจกันจัดประชุมสมัชชา (Synod) ขึ้นที่กรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ. 1664 นั่นเอง โดยมีพระคุณเจ้าลังแบรต์เป็นประธานของการประชุม เราจะแยกแยะการประชุมครั้งนี้ออกได้ดังนี้
1. การก่อตั้งบ้านเณร
เนื่องจากเป็นจุดหมายเอกของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ที่ประชุมได้ตัดสินใจก่อตั้งบ้านเณรขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งสอนที่รับมา เพื่อผลิตพระสงฆ์พื้นเมือง ท่านลังแบรต์ทำให้ผลการประชุมเรื่องนี้สำเร็จไป เมื่อท่านตั้งบ้านเณรขึ้นสำเร็จในปี ค.ศ. 1665
อย่างไรก็ตาม พระสังฆราชก็ต้องการฉวยโอกาสขณะที่ท่านพบกับความพร้อมทางด้านภายนอกที่ดีต่างๆ ที่มาจากพระมหากษัตริย์ จึงขอพระบรมราชานุญาตจัดตั้งบ้านเณรด้วยการยื่นขอเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1665... หนังสือที่ท่านกราบทูลขอต่อสมเด็จพระนารายณ์ฯ ซึ่งได้เขียนขึ้นจากจิตตารมณ์แห่งความเชื่อและความรู้ในเรื่องขนบธรรมเนียมของชาวสยามนั้นทำให้พระองค์ พระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งในหมู่บ้านมหาพราหมณ์ ซึ่งห่างจากเมืองอยุธยาหนึ่งร้อยเส้น และวัสดุที่จำเป็นสำหรับสร้างวัดและบ้านเณรด้วย
บ้านเณรนี้ถือเป็นวิทยาลัยแห่งแรกของคณะสงฆ์ M.E.P.มีจุดมุ่งหมายที่จะผลิตสงฆ์พื้นเมือง โดยรับเณรจากประเทศต่างๆ ใกล้เคียงนั้นมาอบรมให้เป็นพระสงฆ์ บ้านเณรแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลมหาพราหมณ์ ไม่ไกลจากกรุงศรีอยุธยามากนัก บรรดามิชชันนารียกให้อยู่ภายใต้อารักขาของท่านนักบุญยอแซฟ นอกจากจะเป็นวิทยาลัยสำหรับอบรมผู้ที่มีกระแสเรียกเป็นพระสงฆ์แล้ว ยังเปิดเป็นโรงเรียนสอนภาษาและวิทยาศาสตร์แก่เด็กๆ ลูกหลานของข้าราชการในสมัยนั้นด้วย โดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายสำหรับเด็กๆ เหล่านั้น คุณพ่อ Pascal M. D'Elia ได้บันทึกไว้ในหนังสือของท่านดังนี้
เนื่องด้วยจำนวนของบรรดามิชชันนารีมีน้อย และการเบียดเบียนศาสนาต่างๆ บรรดาพระสังฆราช มิชชันนารีของคณะได้ตัดสินใจในปี ค.ศ. 1664 เปิดบ้านเณรรวมขึ้นแห่งหนึ่งเพื่อเยาวชนทางภาคตะวันออกนี้ โดยมีความหวังที่ดี บรรดาเยาวชนเหล่านี้จะมาจากอาณาจักรต่างๆ ของตะวันออกไกล เช่น อินเดีย จีน อันนัม ตังเกี๋ย กัมพูชา โคชินจีน และญี่ปุ่น บ้านเณรรวมแห่งนี้เปิดขึ้น ที่อยุธยา 2 ปี หลังจากการบวชพระสงฆ์พื้นเมืองครั้งแรกที่อยุธยา ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1669 พระคาร์ดินัล Barberini เจ้ากระทรวง Propaganda Fide ได้แสดงความยินดีต่อพระคุณเจ้าลังแบรต์ว่า "ตามที่พระคุณเจ้าได้เขียนถึงเราเกี่ยวกับการบวชพระสงฆ์พื้นเมือง คุณสมบัติทั่วๆ ไปของพวกเขา ความกระตือรือร้นและการงานของพวกเขา ทำให้เราเต็มเปี่ยมไปด้วยความยินดี ดังนั้นเราจึงขอเตือนย้ำมายังพระคุณเจ้าในนามของพระสวามีเจ้า ที่จะใช้ความพยายามทุกอย่างเท่าที่เป็นไปได้ในวันที่จะทวีจำนวนของพระสงฆ์พื้นเมือง
ความจริงเรารู้เรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไปในบ้านเณรกลางนี้น้อยมาก พระสังฆราชกล่าวถึงโครงการที่จะสร้างวิทยาลัยกลางนี้ไว้ว่า "จะสร้างสามเณราลัยและวิทยาลัยถาวรแห่งหนึ่ง ที่รับคนทุกชาติ และจุคนได้ 100 คน" หลังจากที่วิทยาลัยกลางได้ก่อตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้ว อธิการองค์แรกของวิทยาลัยกลางนี้ได้แก่ คุณพ่อลาโน (ต่อมาเป็น ฯพณฯ ประมุของค์แรกของมิสซังสยาม)
ในบรรดาสามเณรที่มาจากที่ต่างๆ นี้ หลายๆ คนได้เริ่มเรียนเทววิทยาที่เมืองมาเก๊าและเมืองกัวมาแล้ว ที่เด่นมีประมาณ 10 คน วันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1666 พระสังฆราชประกอบพิธีโกน (Tonsure) ให้แก่สามเณรในพวกเขา คุณพ่ออาเดรียง โลเนย์ เล่าเรื่องชีวิตในวิทยาลัยกลางนี้ไว้ค่อนข้างชัดเจนดังนี้
ในสำนักนี้ มีการพิจารณารำพึงวันละ 2 ครั้ง คือเวลาเช้าและเวลาค่ำ พระสังฆราชกับพวกพระสงฆ์มิชชันนารีร่วมในการพิจารณารำพึงเวลาเช้า กฎวินัยยังกำหนดให้มีการพิจารณามโนธรรมเฉพาะเรื่อง (เพื่อแก้นิสัยไม่ดีข้อใดข้อหนึ่งโดยเฉพาะ) การอ่านหนังสือเวลารับประทานอาหารและการให้โอวาทอบรม นักเรียนสวมเสื้อหล่อสีม่วงตามแบบโปรตุเกสอย่างน้อยในวันอาทิตย์ กล่าวโดยย่อ วิทยาลัยแห่งนี้ได้รับการจัดให้มีระเบียบเหมือนสถาบันที่คล้ายคลึงกันในประเทศฝรั่งเศส อธิการองค์แรกของวิทยาลัยดังกล่าวคือ คุณพ่อลาโนซึ่งท่านลังแบรต์กล่าวว่าเป็น "คนน่านิยมยกย่องที่สุดคนหนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้จัก" ท่านทำงานด้วยความเอาใจใส่และตั้งอกตั้งใจอย่างเหลือเชื่อ
วิทยาลัยกลางนี้มีความเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ วันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1668 บุตรของชาวโปรตุเกสคนหนึ่งชื่อ ฟรังซิสโก เปเรส ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ เขาได้เริ่มเรียนที่เมืองกัว แล้วมาเรียนต่อจนจบที่วิทยาลัยกลางโดยพระสังฆราชลังแบรต์เป็นจิตตาธิการ หลังจากนี้ไม่กี่เดือนได้มีการบวชผู้สอนคำสอนชาวตังเกี๋ยสองคนซึ่งคุณพ่อเดดีเอร์เป็นผู้สอนอบรมให้เป็นพระสงฆ์ แล้วต่อมาก็มีการบวชผู้สอนคำสอนชาวโคชินจีนอีกบางคนที่คุณพ่อแฮงก์ (Hainques) เป็นผู้สอนอบรม
ในปี ค.ศ. 1670 หรือ 1671 คุณพ่อลาโนได้มีคุณพ่อลังคลัวส์ (Langlois) ซึ่งเป็นคนขยันและสติปัญญาเฉียบแหลมมากมาเป็นผู้ช่วย ในปี ค.ศ. 1672 ท่านได้รับตำแหน่งอธิการวิทยาลัยต่อจากคุณพ่อลาโน คุณพ่อลังคลัวส์มีผู้ช่วยคนหนึ่งเป็นฆราวาสซึ่งเราไม่รู้จักชื่อ กับผู้ชายอีกคนหนึ่งเป็นสงฆ์คณะฟรังซิสกันชื่อ Louis de la Mère de Dieu คุณพ่อหลุยส์เป็นชาวโปรตุเกสแต่ท่านไม่มีอคติต่อพวกมิชชันนารีฝรั่งเศสเหมือนเพื่อนร่วมชาติของท่าน ท่านมีความสามารถพิเศษในด้านการแนะนำเยาวชนและการสอน นอกเหนือจากการถือวินัยอย่างเคร่งครัดและมีจิตตารมณ์การถือความยากจน
ในปี ค.ศ. 1675 บ้านเณรใหญ่ประกอบไปด้วย รองสังฆาณุกร (Subdeacon) 1 คนจากมาเก๊า, ผู้รับศีลโกนชาวโคชินจีน 6 คน, นักบวช 1 คน (Clerc) จาก Tenasserim และเยาวชนอีก 20 คนจากชาติต่างๆ รวมทั้งหมด 28 คน ส่วนบ้านเณรเล็กถูกแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ชั้นของเณรที่มาจากอันนัม, ตังเกี๋ย และโคชินจีน ซึ่งพูดภาษาเดียวกันแม้จะมีการออกเสียงต่างกัน อีกชั้นหนึ่งเป็นชั้นของเณรที่มาจากจีน, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, อินเดีย, โปรตุเกส และอื่นๆ ประมาณทั้งหมด 20 คน ชั้นสุดท้ายเป็นชั้นของพวกสยามซึ่งมีจำนวนมากที่สุด นอกจากนี้คุณพ่อลาโนและคุณพ่อลังคลัวส์ยังได้เปิดสอนวิชาภาษาบาลีแก่พวกเณรด้วย เพื่อจะสามารถทำงานกับชาวพุทธได้ดีขึ้น
ปี ค.ศ. 1680 ฯพณฯ ลาโน ได้ตัดสินใจย้ายวิทยาลัยกลางไปอยู่ที่หมู่บ้านมหาพราหมณ์ และมอบวิทยาลัยกลางนี้ให้อยู่ในความอุปถัมภ์ของอารักขเทวดา (Saints Anges) (ในส่วนที่เป็นบ้านเณรจึงเรียกว่า "บ้านเณรยอแซฟ")
สาเหตุที่ย้ายวิทยาลัยกลางในครั้งนี้ ผู้บันทึกเหตุการณ์คนหนึ่งบันทึกไว้ว่า "เป็นเพราะลิ้นและยุงชุม จนนักเรียนเรียนหนังสือไม่ได้" นอกจากนั้น ยังมีเหตุอื่นอีก เช่น เนื่องจากวิทยาลัยกลางอยู่รวมกับสำนักพระสังฆราช บ้านพักพระสงฆ์ และโบสถ์ ซึ่งคริสตังและคนต่างศาสนาพากันมา ไม่ขาดสาย จึงไม่ใช่สถานที่ที่นักเรียนจะมีความสงบได้เท่าที่พึงปรารถนา พระคุณเจ้าลาโนเข้าใจ ท่านจึงขอพระราชทานที่ดินแห่งหนึ่งที่มหาพราหมณ์ จัดให้สร้างบ้านที่ทำด้วยไม้ไผ่และใบไม้หลายหลัง และอุทิศสิ่งก่อสร้างนี้แด่เทวดาทั้งหลาย ท่านส่งสามเณรเล็กจำนวนราวสามสิบคนไปก่อน และต่อมาไม่นาน สามเณรใหญ่ก็ได้ยกไปอยู่ที่มหาพราหมณ์ด้วย เรื่องนี้คุณพ่อลาโน ได้บรรยายไว้โดยละเอียด พร้อมทั้งให้ชื่อของบรรดาอาจารย์ต่างๆ ที่สอนในบ้านเณรด้วย
ปี ค.ศ. 1682 มีเณรทั้งหมด 39 คน ซึ่งกำลังฝึกอบรมที่วิทยาลัยกลางแห่งนี้ โดย 11 คน มาจากตังเกี๋ย, 8 คน จากโคชินจีน, 3 คน จากมะนิลา, 1 คน มาจากเบงกอล, 3 คน จากสยาม และ 1 คน จากจีน ที่เหลือก็เป็นชาวโปรตุเกส, ชาวเปรู หรือเชื้อชาติญี่ปุ่น คุณพ่อ D'Elia กล่าวว่า บรรดาสามเณรเหล่านี้ได้รับการฝึกอบรมอย่างดีเยี่ยม จะเห็นได้จากตารางเวลา ซึ่งท่านได้พบจากบันทึกของพวกเณรจีนในประเทศจีน (สามเณรจีนได้มาเรียนที่วิทยาลัยกลางอยุธยา)
5.00 น. ตื่นนอน
5.30 น. ภาวนา
6.00 น. เรียน (Study)
7.00 น. มิสซา
8.00 น. อาหารเช้า และหย่อนใจ
9.00 น. เรียน (Study)
10.00 น. เข้าห้องเรียน (Class)
11.30 น. หัดขับร้อง หรือสวดมนต์ (Phain Chant)
12.00 น. อาหารเที่ยง และหย่อนใจ
14.00 น. เรียน (Study)
15.30 น. เข้าห้องเรียน (Class)
17.00 น. ทำงาน (Manual Work)
18.30 น. สวดสายประคำ อาหารค่ำ และหย่อนใจ
20.00 น. สวดทำวัตรเย็น อ่านหนังสือศรัทธา และเรียนจนถึงเวลานอน
พระสงฆ์จีนที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งชื่อ Andrew Lee (ค.ศ. 1692-1774) เกิดที่เมืองฮานจุง ในแคว้นเชนสี เป็นผู้ที่ผ่านการอบรมที่สยามและรับศีลบวชในปี ค.ศ. 1725 คุณพ่อผู้นี้ถูก นับว่าเป็นพระสงฆ์ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์พระศาสนจักรจีนมากที่สุดผู้หนึ่ง และเป็นผู้ที่ถูกเสนอให้เป็น Apostolic Vicar แม้ในขณะที่ท่านอายุ 72 ปีแล้ว
วันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1685 ทูตฝรั่งเศสโดยการนำของเชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ (Chevalier de Chaumont) มาถึงสยามและได้มาเยี่ยมสามเณราลัยนักบุญยอแซฟ และวิทยาลัยกลางมหาพราหมณ์ L'abbé de Choisy ได้บรรยายถึงพระสงฆ์ สามเณรจากชาติต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งบรรยายถึงความสามารถต่างๆ ของสามเณร ในด้านภาษาลาติน และอื่นๆ ไว้ด้วย ท่านกล่าวว่าท่านเชื่อว่าท่านอยู่ในบ้านเณรของ Saint Lazare ในฝรั่งเศส มีการสอนปรัชญาและเทวศาสตร์เหมือนที่กรุงปารีส
ปี ค.ศ. 1686 พระคุณเจ้าลาโนได้ส่งสามเณรไทยผู้หนึ่งอายุ 20 ปี ชื่ออันโตนิโอ ปินโต (Antoine Pinto) มาศึกษาที่วิทยาลัยของ Propaganda Fide ที่โรม ในขณะที่อยู่ระหว่างทางและหยุดที่กรุงปารีส สามเณรผู้นี้ได้รับอนุมัติให้เสนองานเขียนชิ้นหนึ่งต่อหน้าบรรดาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ โดยทำการเสนอเป็นภาษาลาติน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างงดงาม งานเขียนชิ้นนี้ไม่ใช่เป็นงานเขียนเพื่อปริญญาเอก แม้จะเรียกว่าเป็นวิทยานิพนธ์ก็ตาม แต่เรื่องเกี่ยวกับงานเขียนด้านการศึกษาเชิงวิชาการ และนำมาเสนอต่อหน้าผู้ฟังอย่างสง่าเท่านั้น วันรุ่งขึ้นสามเณรปินโตก็ได้กระทำเช่นเดียวกันนี้ที่ Notre-Dame ในห้องที่ชื่อว่า L'Officialire ที่โรม ท่านก็ได้อภิปรายต่อหน้า พระสันตะปาปา พระคาร์ดินัล และสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ และก็ประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน
ตัวอย่างทั้งหมดนี้ย่อมแสดงว่า งานของวิทยาลัยกลางที่อยุธยานี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แม้จะเพิ่งเปิดมาได้เพียง 20 ปีเท่านั้น องค์ประกอบประการหนึ่งของความสำเร็จนี้ก็คือ การอบรมอย่างเข้มงวด อย่างมีวินัย ซึ่งก็เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในสมัยนั้น คุณพ่อ Guennou ยังเสริมด้วยว่าการใช้ภาษาลาตินเป็นภาษาพูดแต่เพียงภาษาเดียวในวิทยาลัยกลาง เป็นองค์ประกอบหนึ่งสำหรับความสำเร็จของวิทยาลัยกลางที่อยุธยา
ในปี ค.ศ. 1686 เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือ Constantine Phalcon เสนอพระคุณเจ้าลาโนให้ย้ายวิทยาลัยกลางมาอยู่ที่อยุธยา ซึ่งท่านลาโนก็เห็นด้วย ในปีนั้นมีสามเณรใหญ่ 22 คน และสามเณรเล็กอีก 47 คน แต่ก็อยู่ที่อยุธยาไม่นาน ก็ย้ายกลับมาอยู่ที่มหาพราหมณ์อีกครั้งหนึ่งเพื่อความสงบเงียบ วิทยาลัยกลางแห่งนี้มีอยู่ที่มิสซังสยามจนถึงปี ค.ศ.1760 เมื่อพม่าเริ่มบุกกรุงศรีอยุธยา และทำลายกรุงศรีอยุธยาได้ในปี ค.ศ. 1767
วิทยาลัยกลางถูกย้ายไปอยู่ที่ฮอนดัท (Hondat) ในกัมพูชา, ที่ Viramparnam ในอินเดีย และในปี ค.ศ. 1808 ย้ายมาอยู่ที่ปีนัง
2. จัดพิมพ์เผยแพร่ “คู่มือมิชชันนารี”
ที่ประชุมได้ตัดสินใจที่จะจัดพิมพ์คำสั่งสอนที่มีชื่อเสียงปี ค.ศ. 1659 ซึ่งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้ให้มา รวมทั้งคำแนะนำต่างๆ สำหรับบรรดามิชชันนารีจะได้ใช้สำหรับทำงาน หนังสือคู่มือนี้ประกอบไปด้วย 10 บท เต็มไปด้วยหลักวิชา Missiologie เป็นการกำหนดแนวปฏิบัติในการแพร่ธรรม ร่างคู่มือมิชชันนารีเล่มนี้ พระคุณเจ้าปัลลือได้นำไปขออนุญาตจัดพิมพ์ที่โรม และได้รับอนุมัติในปี ค.ศ. 1669 สมณกระทรวงได้จัดพิมพ์เองครั้งแรกในปี ค.ศ. 1669 นั่นเอง โดยใช้ชื่อว่า "Instructions ad Munera Apostolica rite Obeunda Perutiles" หนังสือเล่มนี้ได้ถูกจัดพิมพ์ใหม่ถึง 11 ครั้ง รวมเป็น 12 ครั้ง เป็นภาษาลาติน 10 ครั้ง และภาษาฝรั่งเศส 2 ครั้ง โดยนับตั้งแต่ครั้งที่สี่ ชื่อหนังสือเปลี่ยนเป็น "Monita ad Missionaires" สำหรับภาษาฝรั่งเศสใช้ชื่อว่า "Instructions aux Missionnaires"
นับว่าเป็นหนังสือวิชาธรรมทูต (Missiology) ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ทีเดียว มิใช่เฉพาะสำหรับสยามเท่านั้น
3. จิตตารมณ์ผู้แพร่ธรรม
เนื่องจากพวกเขาได้พบกับการเป็นที่สะดุดจากความประพฤติของพวกมิชชันนารีที่พวกท่านพบที่กรุงศรีอยุธยา พระคุณเจ้าลังแบรต์จึงปรารถนาที่จะสร้างจิตตารมณ์แห่งกระแสเรียกพิเศษนี้ขึ้น
ที่ประชุมได้รับอิทธิพลจาก
* บุคคลิกลักษณะของพระสังฆราชลังแบรต์ ท่านเป็นคนใจเร่าร้อน มุ่งถึงความศักดิ์สิทธิ์ขั้นสูง ตามแบบและคำสอนของอาจารย์ชีวิตภายในของสำนักฝรั่งเศส ท่านมีความศรัทธาพิเศษต่อพระมหาทรมานของพระเยซูคริสตเจ้า ตามคำสอนของแบรนีเอร์ (Bernieres) และต้องการปฏิบัติทุกสิ่งตามการดลใจของพระจิต ท่านลังแบรต์เป็นผู้นำในการประชุมนี้ และความคิดที่ปรากฏใน "คำแนะนำธรรมทูต" มาจากท่านเป็นส่วนมาก
* การเห็นสภาพของมิสซังในเมืองไทย และความประพฤติของพระสงฆ์โปรตุเกสบางคน ที่สะเพร่าในการทำหน้าที่สงฆ์ ขาดความศรัทธา ไม่เทศน์ ถือกษัตริย์ของตนสำคัญกว่า พระสันตะปาปา ทำการค้าขาย
* การประทับใจจากชีวิตของพระภิกษุที่มีวินัย ที่มีความอดทน เป็นที่เคารพนับถือและเลื่อมใสของชาวบ้าน เพราะความศักดิ์สิทธิ์ในการดำเนินชีวิต
จิตตารมณ์ (Spirituality) ของสงฆ์ผู้แพร่ธรรม
ชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์
* ต้องเป็นคนเคร่งครัด อดทนต่อความยากลำบาก ไม่เป็นห่วงถึงความสุขสบาย ไม่ผูกใจกับเงินทอง รำพึงถึงการประจญของพระเยซูเจ้าบ่อยๆ เอาอย่างนักบุญฟรังซิส ซาวีเอรี
* ไม่ต้องไว้ใจในกำลังของตนมากเกินไป ไม่ต้องวุ่นกับงานมากจนเกินไปจนไม่มีเวลาทำกิจศรัทธา ต้องรักษาความถ่อมตน รำพึงถึงตัวอย่างของพระเยซูเจ้า ปรึกษากับพระจิตเจ้าก่อนลงมือทำอะไร
* ต้องเป็นคนจน ไม่ปราถนาจะได้ทรัพย์สมบัติ แต่ต้องมีชีวิตยากจน เสียสละ ไม่ต้องรับของถวาย หรือเมื่อรับแล้วจะมอบให้ผู้อื่น
หลักการทางปฏิบัติในการแพร่ธรรม
* เริ่มงานแพร่ธรรมทุกครั้งด้วยการเข้าเงียบ ดูตัวอย่างของพระวรสารและชีวิตของนักบุญฟรังซิสซาวีเอรี
* พื้นฐานของการแพร่ธรรม
1. การบำเพ็ญตบะ (การทุกข์ทรมาน) และการอดอาหาร
2. ภาวนา รำพึง วิปัสสนา ธรรมทูตเป็นเครื่องมือของพระเป็นเจ้า ฉะนั้น ก่อนจะทำอะไรต้องแสวงหาพระเป็นเจ้าด้วยการวิปัสสนา ผู้ที่ถูกส่งไปต้องฟังเสียงของผู้ที่ส่งตนไปอยู่เสมอ
3. ไม่สนใจในเครื่องมือที่เป็นแต่เครื่องมือของมนุษย์ เช่น การค้าขายเพื่อมีเงินบำรุงมิสซัง
4. ธรรมทูตต้องต่อสู้เพื่อแย่งชิงอาณาจักรของปีศาจ เป็นต้นด้วยการเทศนา
5. ต้องรู้จักสภาพของมิสซังของตน ศึกษาอุปนิสัยของชาวบ้าน ธรรมเนียมประเพณี และความประพฤติของเขา ศึกษาค่านิยม คุณสมบัติและตำหนิความบกพร่องสำคัญของเขา
6. ต้องดูสิ่งที่จูงใจเขาได้ ดูท่าทีของผู้ปกครองต่อคริสตศาสนา
7. ต้องศึกษาทุกสิ่งที่เกี่ยวกับศาสนาของชาวบ้าน พิธีทางศาสนาของเขา ความผิดในคำสอนของเขา ต้องศึกษาวิชาความรู้ของพระภิกษุ วิธีปฏิบัติของเขา อำนาจที่พระภิกษุมีเหนือชาวบ้าน รวมทั้งอุบายต่างๆ ของเขา หาดูคนที่มีความประพฤติและจิตตารมณ์คล้ายคริสตัง แต่ในเรื่องนี้ต้องปฏิบัติอย่างรอบคอบ
8. ต้องศึกษาประวัติของมิสซัง
เราต้องสังเกตว่าในปัจจุบัน เพลิงแห่งความเชื่อได้ถูกนำถึงเกือบทุกเมืองสำคัญ ต้องศึกษาสมัยเริ่มแรกของการนำความเชื่อเข้ามาในประเทศของเรา ศึกษาวิธีปฏิบัติของธรรมทูต เพื่อให้ความเชื่อมั่นคงขึ้น ดูว่าวิธีไหนที่ได้ผลดีมากกว่า ถ้าการแพร่พระศาสนาหยุดชะงักไป เป็นเพราะเหตุใด และธรรมทูตได้ปฏิบัติอย่างไร
โครงการของพระสังฆราชลังแบรต์คณะ "รักไม้กางเขน"
ในขณะที่ท่านลังแบรต์ถึงกรุงศรีอยุธยา ในนครหลวงมีพระภิกษุประมาณ 2,000 รูป ที่อาศัยอยู่ในวัด 500 แห่ง ท่านลังแบรต์ได้สังเกตว่า ทุกคนตั้งแต่พระมหากษัตริย์ลงมา จนถึงคนธรรมดาเคารพนับถือพระภิกษุมาก เพราะความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน เหมือนชาวอินเดียนับถือสันยสี เขาถือเพศพรหมจรรย์ อดอาหารทุกวัน ไม่ดื่มสุรา ไม่ฉันเนื้อ วิปัสสนาหลายชั่วโมง ไม่ใช้ยารักษา ในระหว่างการประชุมสมัชชา พระสังฆราชลังแบรต์เขียนจดหมายถึงอธิการคณะฟรังซิสกันในเมืองตุลูส (ฝรั่งเศส) เพื่อขอนักบวชคณะนั้น เพราะเขามีชีวิตคล้ายพระภิกษุ เหมาะสมเพื่อทำงานในประเทศสยาม แต่ว่าน่าเสียดายที่ได้รับคำตอบว่า "ส่งนักบวชมาไม่ได้"
ความคิดสำคัญของพระสังฆราชลังแบรต์คือ ถ้าเราอยากแพร่ธรรมให้ได้ผล ต้องมีคณะ "แพร่ธรรม" ที่มุ่งชีวิตศักดิ์สิทธิ์ยิ่ง คนจะกลับใจอาศัยการภาวนา อดทนทรมานตน คณะที่พระคุณเจ้าเสนอจะตั้งชื่อขึ้นนั้นต้องมีชื่อว่า "คณะรักไม้กางเขน" แบ่งออกเป็น 3 สาขา
1. สาขาสังฆราช พระสงฆ์
จะปฏิญาณตน ถือศีลบนภายใน 3 ประการ
* ถือความยากจนภายในคือ สละ ไม่ใช้สมรรถภาพของตนเองสำหรับตนเอง (Faculty)
* ถือความบริสุทธิ์ภายในคือ สละ ไม่มีความรักพิเศษสำหรับตนเอง
* ถือความนอบน้อมเชื่อฟังภายใน ปฏิบัติงานภายใต้การนำของพระจิต และปรึกษาผู้ใหญ่ในเรื่องสำคัญ
* ใช้วินัยของพระภิกษุในทางปฏิบัติ ไม่ดื่มสุรา ไม่รับประทานเนื้อ และอดอาหารทุกวัน เว้นวันฉลองพระคริสตสมภพ ปาสกา และฉลองพระจิต รำพึง (วิปัสสนา) วันละ 2 ชั่วโมง ไม่ใช้ยารักษา
* จิตตารมณ์ (Spirituality)
จากหนังสือจำลองแบบพระคริสต์ภาค 2 บทที่ 11, 12 ซึ่งเป็นคำอธิบายพระวาจาของพระคริสต์ที่ตรัสว่า "ถ้าใครอยากตามเรามา ก็ให้เขาเสียสละตนเอง แบกกางเขนของตน และตามเรามา" (มธ. 16, 24 / มก. 8, 34 / ลก. 9, 23)
ธรรมทูตทั้ง 8 คน ที่ร่วมประชุมตกลงกันเริ่มปฏิบัติตามวินัยของคณะรักไม้กางเขน
2. สาขานักบวชหญิง
3. สาขาฆราวาส (ประเภทที่ 3) ดูเหมือนไม่เคยมี
การแพร่ธรรมตามสมัชชาสมัยอยุธยา (ค.ศ. 1664)
ก. คนต่างศาสนาไม่บรรลุถึงความรอด
ในสมัชชานี้ได้อธิบายถึงคำสอนเกี่ยวกับความรอดของคนต่างศาสนาอย่างชัดเจนดังนี้
ปัญหา
ถ้าพระบัญญัติของพระเจ้าจำเป็นทีเดียวเพื่อความรอดตลอดนิรันดร ทำไมพระองค์ทรงล่าช้าในการส่งธรรมทูตมา? ถ้าพระองค์ทรงเมตตาไม่ได้ทรงปล่อยให้บรรพบุรุษของเราเสียวิญญาณไป?
ตอบ
ศีลธรรมตามธรรมชาติ
มนุษย์ทุกคนแม้คนป่าเถื่อนเข้าใจว่าต้องนมัสการและรับใช้พระผู้สร้าง และไม่ต้องโกหกไม่ต้องขโมย ไม่ต้องฆ่า หรือผิดความยุติธรรม ไม่ต้องลามก เพราะพระเป็นเจ้าได้ทรงฝังความรู้สึกนั้นในที่ลึกของหัวใจของทุกคน
การช่วยเหลือพิเศษของพระเป็นเจ้า
ถ้ามนุษย์คนใดปฏิบัติตามเสียงของมโนธรรมของตน นักบุญโทมัสสอนไว้ว่า "พระผู้เป็นเจ้าองค์ความสว่างของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้จะทรงไขแสดงภายในจิตใจในสิ่งที่เขาต้องเชื่อ หรือพระองค์จะทรงส่งผู้ประกาศความเชื่อคนใดคนหนึ่ง ดังที่พระองค์ได้ทรงปฏิบัติสำหรับข้าราชการของราชินีแห่งเอธิโอเปีย สำหรับนายร้อยโครเนลิโอและคนอื่นๆ อีกหลายคน"
มนุษย์ไม่ยอมรับความสว่าง
มนุษย์ส่วนมากมีความประพฤติขัดต่อพระบัญญัติของพระเจ้า เขาไม่ได้รับแสงสว่างมากกว่านั้น และถูกลงโทษเพราะเขาได้ละเมิดต่อบัญญัติของธรรมชาติ เขาได้ปิดตาของสติปัญญาต่อแสงแห่งความเชื่อที่พระเป็นเจ้าทรงเตรียมจะส่งให้แก่เขา
การมาเยี่ยมของธรรมทูตเป็นพระหรรษทานอันใหญ่หลวง เวลานี้เขาต้องโมทนาพระคุณพระผู้เป็นเจ้าที่ได้ทรงส่งผู้ป่าวประกาศพระวรสารมาหาเขา ทั้งที่เขาไม่สิทธิ์และไม่สมจะได้รับ
บรรพบุรุษ
เพราะฉะนั้นเขาไม่ต้องแปลกใจที่จะเรียนรู้ว่าบรรพบุรุษของเขาได้รับการพิพากษาถูกพบเป็นฝ่ายผิดที่เขาเต็มใจได้ละเมิดพระบัญญัติของพระเป็นเจ้า ที่เขาได้รู้จักบ้างอาศัยหลักเหตุผลตามธรรมชาติ เราคิดว่านักเทวศาสตร์ปัจจุบันคงจะไม่เห็นดีกับการสรุปดังกล่าว
การเทศนา
เป็นหน้าที่อันสำคัญของผู้แพร่ธรรมและคู่กันกับการวางตัวเป็นแบบฉบับในชีวิตของตน
* มีความเสียสละและไม่ผูกใจกับทรัพย์สิน
* เป็นตัวอย่างในความศรัทธา ความศักดิ์สิทธิ์
* เสียสละเยี่ยงบิดาต่อสัตบุรุษ ใจดีและช่วยเหลือเขา
ต้องเตรียมเทศนา
* ด้วยการศึกษา
* ด้วยการรำพึง (วิปัสสนา)
การเทศนาต้องเป็นผลของการรำพึงมากกว่าการศึกษา
ต้องทำอย่างไรเพื่อให้คนต่างศาสนากลับใจ
* ข้อความเชื่ออันสำคัญที่พิสูจน์ความจำเป็นของคริสตศาสนา
1. มีพระเจ้าผู้พระทัยดีพระองค์เดียวที่รักเรา
2. วิญญาณของเราไม่รู้ตาย (อมตะ)
3. ความสุขแท้ไม่ได้อยู่ในโลกนี้ แต่อยู่ในโลกหน้า
4. ความสุขของเราไม่ได้ขึ้นกับความพยายามของเรา แต่ขึ้นกับพระทัยดีของพระเป็นเจ้า
5. อาศัยความช่วยเหลือของพระเป็นเจ้า มนุษย์ต้องทำทุกสิ่งเพื่อบรรลุถึงความสุข
ต้องใช้วิธีสอนให้คนต่างศาสนาที่ฟังคำสอนรู้สึกว่า ไม่ใช่เป็นคำสอนใหม่ แต่พูดกับเขาเหมือนว่าเขาได้รู้เรื่องเหล่านี้บ้างแล้ว ต้องพิสูจน์ความจำเป็นที่จะต้องมีพระเป็นเจ้า และเน้นความเป็นบิดาของพระเจ้า และพระญาณสอดส่อง พระปรีชาญาณ และความศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
* เกี่ยวกับการไหว้นมัสการพระเท็จเทียม
1. ต้องให้เขาเลิกการบูชาพระ โดยแสดงให้เขาเห็นที่มาของธรรมเนียมนี้ (ปีศาจ)
2. เตือนคนต่างศาสนาให้เขาเสียใจ ขอโทษด้วยน้ำตา สำหรับบาปการบูชาพระเท็จเทียม (พระพุทธรูป)
3. ให้เขาทราบว่าการอดทนใช้โทษบาป และการทำบุญในศาสนาของเขาไร้ประโยชน์ เตือนเขาให้คิดถึงความตาย การพิพากษาของพระเจ้า และนรกที่ไม่มีวันสิ้นสุด
4. ก่อนจะอธิบายศาสนาของเรา ให้เขาอธิบายความเชื่อถือในศาสนาของเขา รวมทั้งที่มาของศาสนาของเขา คำตอบของธรรมทูตจะเป็นการพิสูจน์หักล้างความเชื่ออันบัดซบของเขา เป็นวิธีที่นักบุญฟรังซิส ซาวีเอรี ได้ใช้
5. ข้อสังเกต ประวัติศาสตร์ได้พิสูจน์ว่า การปฏิบัติเช่นนี้มีผลร้ายมากกว่าผลดี และไม่ตรงกับคำแนะนำของสมณกระทรวงในด้านจิตวิทยา การวิจารณ์และประมาทศาสนาของคนอื่น ทำให้เขาเสียใจ และเขาจะไม่ยอมฟังเราอีกต่อไป เพราะพุทธศาสนามีคำสอนที่ดีหลายข้อหลายประการ
การอบรมผู้เตรียมตัวจะรับศีลล้างบาป
* ต้องปฏิบัติอย่างไรต่อผู้สมัครรับศีลล้างบาป
1. สอบสวนหาสาเหตุที่เขาสมัครเป็นคริสตัง
2. ใช้วิธีสอนที่มีระเบียบแบบแผน ก้าวหน้าเป็นลำดับ อนึ่ง ต้องมีความอดทนต่อความบกพร่องของผู้สมัคร
3. ใช้พิธีไล่ปีศาจและปรกมือบ่อยๆ
* หลักเพื่อให้คนกลับใจ
1. อดอาหาร ภาวนา ไม่วางใจในวิธีหรือเครื่องมือที่เป็นมนุษย์ล้วนๆ ผลขึ้นอยู่กับการอดทนทรมานและการภาวนา
2. รู้จักภาษาวรรณคดี และภาษาธรรมดาของชาวบ้าน การใช้ล่ามไม่ค่อยได้ผลดี
* การล้างบาป
1. เตรียมตัวผู้สมัครนานพอสมควร ไม่มีคริสตังที่เลวกว่าคนที่ได้รับศีลล้างบาปเร็วเกินไป
2. ลงทะเบียนในบัญชีผู้สมัครอย่างน้อย 40 วันก่อนวันล้างบาป และยืดเวลาเตรียม ถ้าผู้สมัครยังไม่พร้อม
3. ทำพิธีล้างบาปในวันที่กำหนดไว้ วันปาสกา วันฉลองพระจิตเสด็จลงมา ธรรมทูตต้องสอนเอง ให้มีการสอบ เพื่อจะรู้จักความเชื่อ ความไว้ใจ และความรักของผู้สมัคร
4. เขาต้องเรียน ท่องบท "ข้าแต่พระบิดา" และบท "ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า" ให้ได้ขึ้นใจ
5. ผู้สมัครต้องดัดสันดานเปลี่ยนนิสัยไม่ดีจริงๆ ก่อนพิธีล้างบาป ไม่ใช่เพียงสัญญาจะเปลี่ยนเท่านั้น
ระบบการปกครองกลุ่มคริสตัง (วัด)
บ่อยครั้งกลุ่มคริสตังไม่มีพระสงฆ์ประจำ เพราะมีพระสงฆ์น้อย และวัดอยู่ห่างไกลมาก ฉะนั้นสมัชชาบัญญัติระเบียบการปกครองวัดดังนี้
1. แต่ละวัดต้องมีหัวหน้า
* เลือก 1 หรือ 2 คน แล้วแต่มีคริสตังมากหรือน้อย
* หัวหน้าต้องรู้จักศาสนาดีพอสมควร เป็นคนศรัทธา มีความประพฤติดี
* แต่งตั้งหัวหน้าโดยพระสังฆราช หรือผู้แทน
- ให้หัวหน้าปฏิญาณความเชื่อต่อหน้าพระสังฆราช และคริสตชนที่ชุมนุมกันในโอกาสนั้น
- ให้สัญญาที่จะสอนคำสอน โดยไม่เปลี่ยนแม้แต่ข้อเดียว และจะไม่ใช้ของถวายของสัตบุรุษสำหรับตนเอง
2. หน้าที่ของหัวหน้า
* เป็นประธานในการประชุมวันอาทิตย์ และวันฉลอง ภาวนาที่กำหนด เช่น หนังสือบำรุงศรัทธา หรืออธิบายคำสอน ประกาศการแต่งงาน
* ล้างบาปเด็ก และผู้ใหญ่ที่ใกล้จะสิ้นใจ และบันทึกในบัญชีวัด
* เอาใจใส่คนป่วย และเป็นประธานพิธีฝังศพ
* เอาใจใส่การเรียนคำสอนของเด็กๆ
* ดูแลแม่ม่ายและเด็กกำพร้า
* รักษาความสามัคคีในหมู่บ้าน แต่ไม่ได้เป็นผู้พิพากษาตัดสินเมื่อมีคดี
* อ่านจดหมายเวียนของสังฆราช
* ประกาศวันฉลอง
* รักษาบัญชีของวัด
3. ผู้ช่วยหัวหน้า
* มี 2-3 คน เพื่อช่วยประนีประนอมกันเมื่อมีเรื่องขัดแย้งกันในกลุ่มคริสตัง (เป็นเฒ่าแก่)
* มีครูสอนหนังสือ
* มีหญิงหมอตำแย (ผดุงครรภ์) เป็นคริสตังดี เพื่อล้างบาปเด็ก
* มีตัวแทนที่รายงานถึงสังฆราชเกี่ยวกับชีวิตในหมู่บ้าน
ครูสอนคำสอน
1. คุณสมบัติที่ครูสอนคำสอนควรมี
* ความประพฤติเรียบร้อย
* เป็นคนสุภาพถ่อมตน ไม่แสวงหาทรัพย์สมบัติ ไม่เล่นการพนัน
* เอาใจใส่ในชีวิตทางใจ อดทน
* กระตือรือร้นเพื่อการแพร่ธรรม ใจเมตตาต่อผู้อื่น
* สอนได้ มีวิชาความรู้ และความศรัทธา
* อ่านหนังสือของศาสนาอื่นได้ รู้จักคำสอนของศาสนาอื่น สามารถโจมตีความผิดที่ศาสนาเหล่านั้นสอน และรู้จักรับความดีของเขาด้วย
* สอนเป็น รู้จักวิชาครู สามารถตอบคำถามและปัญหา
* ควรจะถือเพศพรหมจรรย์ แต่ก็รับคนที่แต่งงานแล้วด้วย
* ไม่มีตำหนิ ไม่เป็นคนพิการ และพูดคล่องเพื่อไม่เป็นเหตุให้คนอื่นรังเกียจหรือหัวเราะเยาะ
* ต้องให้ปฏิญาณความเชื่อและได้รับการรับรองจากผู้ใหญ่ของมิสซัง
* ต้องผ่านบ้านเณรนานพอสมควร เพื่อให้ผู้ใหญ่รู้จักสมรรถภาพ และความถนัดของเขาก่อน
* เริ่มการสอนคำสอนจากการสอนผู้สมัครที่ยังไม่มีความรู้เมื่อชำนาญแล้วจะสอนชั้นสูงกว่าได้
2. คำแนะนำแก่ครูสอนคำสอน
* การสอนคำสอนเป็นงานที่เกี่ยวกับพระเป็นเจ้าโดยตรง ฉะนั้น ไม่ควรจะสอนเมื่อตัวเองรู้สึกว่ามีบาปหนัก
* ต้องมีความศรัทธาต่อนักบุญองค์อุปถัมภ์ และเทวดารักษามิสซัง
* เมื่อสอนคำสอนไม่เกิดผล ต้องโทษตัวเอง อาจจะสวดภาวนาและทรมานตนไม่เพียงพอ
* สอนตามที่ธรรมทูตสอน ถ้าตอบคำถามไม่ได้ก็ยอมรับว่าไม่มีความรู้เพียงพอ
* ต้องมีมารยาทดี สุภาพเรียบร้อย กับผู้หญิงเป็นต้น ไม่เย้ยหยันคนอื่น
* มีใจรักความจน ไม่ติดใจกับสิ่งของ ไม่ขอสิ่งตอบแทนจากคริสตัง
* มีใจกล้า ทนการสบประมาท
ในสมัชชาได้กล่าวถึงเงื่อนไขเพื่อผู้ที่บวชเป็นพระสงฆ์ สมัยนั้นก่อนบวชเป็นพระสงฆ์ ต้องเป็นครูสอนคำสอน และบวชเมื่ออายุ 40 ปี
พระสังฆราชปัลลือกลับไปยังกรุงโรม
บรรดาพระสังฆราชที่ประชุมกันที่อยุธยา ได้มีความคิดเห็นว่าจำเป็นต้องมีคนกลับไปยุโรป
* เพื่อรายงานถึงสภาพความเป็นอยู่ของมิสซังในภาคเอเชียอาคเนย์
* เพื่อขอให้รับรองคณะแพร่ธรรม "รักไม้กางเขน"
* เพื่อรายงานเกี่ยวกับการค้าขายที่คณะนักบวชทำกัน
* เพื่อขออำนาจปกครองประเทศสยาม จะได้จัดเป็นศูนย์กลางของมิสซังในเอเชีย
* เพื่อขอธรรมทูตมาทำงานเพิ่มขึ้นในมิสซัง
เมื่อปรึกษากันแล้ว เห็นว่าพระสังฆราชปัลลือเป็นผู้เหมาะสมที่จะไปที่กรุงโรม
หลังจากอยู่ในประเทศไทยได้ 1 ปี พระสังฆราชปัลลือก็ออกเดินทางเมื่อวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1665 ท่านกลับไปทางเส้นทางเดียวกัน ถึงกรุงโรมวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1667 ใช้เวลาเดินทาง 2 ปี กับ 3 เดือน จะเป็นครั้งสุดท้ายที่ท่านและธรรมทูตจะเดินทางไปทางนี้ เพราะต้องใช้เวลามากเกินไป และมีอันตรายมากทีเดียว ประเทศฝรั่งเศสได้ตั้งบริษัท "อินเดียตะวันออก" ที่เป็นบริษัทเดินเรือ ต่อมาธรรมทูตจะลงเรือที่ "ลารอแซล" (ฝรั่งเศส) และจะมาประเทศสยามโดยไม่ต้องเกี่ยวกับเรือโปรตุเกส
การตัดสินของกรุงโรม
เมื่อพระสังฆราชปัลลือถึงกรุงโรม พระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 7 ประชวรหนัก และสวรรคต 2 เดือนต่อมา ฉะนั้นท่านต้องรอ 2 ปี ก่อนที่จะตกลงอะไรกันได้ ปี ค.ศ. 1669 ได้มีสมณกฤษฎีกาดังนี้
* ประกาศแต่งตั้งเทียบสังฆมณฑลสยาม (4 กรกฎาคม ค.ศ. 1669) อยู่ในปกครองของธรรมทูตของสมณกระทรวง
* ห้ามนักบวชทำการค้าขาย
* ต่ออายุการขออนุญาตบวชพระสงฆ์ที่ไม่เข้าใจภาษาลาติน
* รับรอง "คำแนะนำธรรมทูต" ที่ได้ร่างในการประชุมสมัชชาที่อยุธยาปี ค.ศ. 1664
สมณกระทรวงจัดพิมพ์เอง จะเป็นหนังสือวิชาธรรมทูตที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และได้พิมพ์ 12 ครั้ง ภาษาลาติน 10 ครั้ง ภาษาฝรั่งเศส 2 ครั้ง
* ส่วนคณะแพร่ธรรม "รักไม้กางเขน" สมณกระทรวงไม่รับรอง เพราะทางกรุงโรมไม่อยากให้ธรรมทูตมีศีลบนเหมือนนักบวช ไม่เห็นดีด้วยที่ไม่ใช้ยารักษา และรู้สึกว่าเคร่งเกินไป กลัวว่าจะมีคนสมัครไปเป็นธรรมทูตน้อย
คณะแพร่ธรรม “สตรีรักไม้กางเขน”
1. การตั้งคณะสาขาที่สอง (ฝ่ายหญิง)
เมื่อสมัชชาอยุธยาปี ค.ศ. 1664 สิ้นสุดลงแล้ว พระสังฆราชปัลลือได้กลับไปกรุงโรม ส่วนธรรมทูตอื่นๆ ได้แยกย้ายกันไป คุณพ่อแบรงโดไปประเทศจีน คุณพ่อเดดีเอร์ไปที่ตังเกี๋ย คุณพ่อ เชอเกริลทีแรกไปโคชินไชนา ต่อมาย้ายไปอยู่เขมร และคุณพ่อแฮงก์ไปอยู่ที่โคชินไชนาแทน ในประเทศสยามจึงเหลือเพียง 2 องค์ คือ พระสังฆราลังแบรต์และคุณพ่อลาโน
ทั้งสองท่านเริ่มทำการแพร่ธรรมทันทีที่อยุธยา และบริเวณใกล้เคียง ในเวลาเดียวกัน ท่านทำการรักษาคนป่วย และไปเยี่ยมนักโทษตามเรือนจำ การแพร่ธรรมครั้งแรกนี้ไม่ค่อยได้ผล นอกจากการประกาศศาสนาของคุณพ่อลาโนในหมู่บ้านคนลาว ซึ่งมีประมาณ 70 คน อยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยาหนึ่งลี้ (4 กม.) ท่านไปสอนคำสอนที่นั่นเป็นประจำ และได้สร้างวัดเล็กที่นั่น เริ่มทำมิสซาครั้งแรกวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1666
ในระยะแรกนั้น พระสังฆราชลังแบรต์เขียนว่า "ตามประสบการณ์ของธรรมทูต ยิ่งวันยิ่งเข้าใจมากขึ้นว่าเป็นความจริงที่พระเป็นเจ้าพระองค์เดียว ทรงสามารถบันดาลให้คนกลับใจได้" ท่านยังบอกวิธีปฏิบัติว่า "พระเป็นเจ้าทรงบันดาลให้คนหลายคนกลับใจ ต่อเมื่อบริกรของพระองค์ทนทุกข์ทรมาน รำพึง และแสดงเมตตาธรรมอย่างพิเศษ" ท่านตัดสินใจจะสร้างโรงพยาบาลใกล้บ้านพักของพระสงฆ์ เพื่อแสดงความเมตตาจิตต่อเพื่อนบ้าน
ในปี ค.ศ. 1666 พระสังฆราชลังแบรต์ยังไม่ทราบว่า ทางกรุงโรมจะไม่รับรองคณะรักไม้กางเขน (ฝ่ายชาย) ได้รวบรวมสตรีใจศรัทธากลุ่มหนึ่ง และตั้งเป็นคณะสตรีรักไม้กางเขน ในปี ค.ศ. 1669 พระสังฆราชลังแบรต์ไปเยี่ยมสังฆมณฑลตังเกี๋ยแทนพระสังฆราชปัลลือที่ยังอยู่กรุงโรม ท่านได้เข้าร่วมประชุมสมัชชาที่ตังเกี่ย ในปี ค.ศ. เมื่อประชุมจบแล้ว ท่านได้ตั้งคณะสตรีรักไม้กางเขนที่ตังเกี๋ย ตามคำขอร้องของคุณพ่อเดดีเอร์ เราได้รู้จุดมุ่งหมายและโอกาสตั้งคณะนี้ที่ตังเกี๋ย จากจดหมายของท่านลังแบรต์เอง ท่านเขียนว่าดังนี้
แผนการของพระเป็นเจ้าขณะที่พระองค์สิ้นพระชนม์บนกางเขนเพื่อความรอดของมนุษย์คือให้มนุษย์ตายแก่ตนเอง และมีชีวิตเพื่อพระองค์เท่านั้น ตามคำสอนของนักบุญเปาโลในจดหมายถึงชาวโครินทร์ว่า "พระเยซูสิ้นพระชนม์เพื่อทุกคน เพื่อว่าทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ จะได้ไม่มีชีวิตเพื่อตนเองอีกต่อไป แต่เพื่อพระองค์ผู้ได้สิ้นพระชนม์ และได้ทรงกลับคืนชีพขึ้นมาเพื่อเขา" (2 คร. 5, 15) ฉะนั้น หน้าที่ของชุมพาบาลโดยเฉพาะในถิ่นที่พระศาสนจักรเพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นใหม่ คือการประกาศอัตถ์ความจริงข้อนี้ที่บรรดาคริสตังยังไม่รู้จัก
เพราะเหตุนี้ ตั้งแต่หลายปีมาแล้ว ข้าพเจ้าได้เสาะหาวิธีที่จะนำคริสตังให้ลุถึงจุดมุ่งหมายอันสูงส่งนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาจะตั้งคณะ "ผู้รักไม้กางเขนของพระเยซูคริสตเจ้า" ในทุกมิสซังของเรา สมาชิกของคณะนี้มุ่งจะอุทิศตนเพื่อรำพึงตลอดชีวิต ถึงพระมหาทรมานของพระเยซู และมีส่วนร่วมทุกวันในพระมหาทรมานของพระองค์
ได้มีสตรีใจศรัทธาในแคว้นตังเกี๋ย ที่ได้ปฏิญาณตนถือพรหมจรรย์ตั้งแต่นานแล้ว เมื่อสตรีเหล่านั้นได้ทราบแผนการณ์ที่จะตั้งคณะเช่นนี้ เขาก็เชื่อว่าเพื่อเป็นการแสดงความรู้คุณต่อพระหรรษทานที่เขาได้รับจากพระเป็นเจ้า ไม่มีวิธีใดดีกว่าการเข้าคณะนี้ ความรักต่อพระเยซูคริสตเจ้าได้กระตุ้นเขามาก พวกเขาจึงได้แสดงความปรารถนาอย่างเร่าร้อนที่จะทราบว่า พวกเขาต้องทำอย่างไร เพื่อจะถวายตัวแด่พระเป็นเจ้าอย่างสิทธิ์ขาด พวกเขาจึงเป็นเครื่องมือที่พระเป็นเจ้าทรงพระกรุณาใช้เป็นพื้นฐานของชีวิตนักบวชที่ตังเกี๋ย และเป็นคณะพิเศษที่ยึดเอาความรักต่อไม้กางเขนของพระบุตรของพระเป็นเจ้าเป็นคติพจน์
ในจดหมายถึงซิสเตอร์อักแนส และเปาโล ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1670 เขียนจากบนเรือที่สันดอนปากแม่น้ำแดงในตังเกี๋ย พระสังฆราชสรุปจิตตารมณ์ของคณะอย่างชัดเจนดังนี้
วันพุธรับเถ้าที่แล้ว พ่อปรารถนาจะสนทนากับพวกเธอหลังพิธีถวายตัวเป็นทางการของเธอต่อหน้าพ่อ วันนั้นพ่ออยากพูดถึงเกียรติในฐานะของพวกเธอ และความครบครันที่พระเป็นเจ้าทรงพระกรุณาให้เธอมุ่งแสวงหา แต่เนื่องจากวันนั้น พ่อจำเป็นต้องจากไปเพื่อกลับ (เมืองไทย) พ่อไม่มีเวลา วันนี้พ่อจึงคิดจะเขียนจดหมายสั้นๆ นี้ เพื่อเตือนเธอให้ระลึกไว้ว่าเธอไม่เป็นเจ้าของตัวเธออีกต่อไป แต่เป็นคนของพระเยซูคริสตเจ้า ผู้ที่เธอได้มอบสิทธิ์ขาดไว้แล้ว เพื่อมุ่งแต่จะรู้จักและรักพระองค์ ทั้งนี้ โดยการรำพึงและเลียนแบบชีวิตของพระองค์ตอนที่พระองค์ทรงทนทรมาน และโดยปฏิบัติหน้าที่ตามความมุ่งหมายของคณะของพวกเธอ พ่อขอเตือนอีกครั้ง ให้เธอสัตย์ซื่อต่อจุดมุ่งหมายของคณะ เธอรู้แล้วว่าตัวเธอและพระศาสนจักรจะรับผลประโยชน์มากมายจากการดำรงชีวิตแบบนี้ พ่อขอเตือนเป็นพิเศษอีก ให้เอาใจใส่มากต่อพวกเณรีของเธอ ต้องถือว่าพระเป็นเจ้าทรงฝากเขาไว้ในการดูแลของเธอ ต้องจำไว้และสอนเขาถึงจุดมุ่งหมายอันสำคัญของคณะของเธอ คือการทำให้ชีวิตแห่งพระมหาทรมานของพระเยซูคริสตเจ้าดำเนินต่อไปในตัวเขา และอ้อนวอนพระองค์ทุกวันด้วยการภาวนา ด้วยน้ำตา ด้วยการทำหน้าที่ และด้วยการพลีกรรม ขอให้คนต่างศาสนาและคริสตังที่ไม่ดีกลับใจ เป็นการจำเป็นยิ่งที่เขาจะทำทุกสิ่งแทนที่พระเยซูคริสตเจ้า พระองค์ทรงปรารถนาจะทำด้วยพระองค์เอง แต่พระองค์ทำไม่ได้ พระองค์จึงทรงใช้บางคนที่ พระองค์ได้ทรงเลือกสรรไว้ พระองค์ทรงหลั่งจิตตารมณ์แห่งความเป็นคนกลางในตัวเขา พระองค์ดำรงชีวิตอันเสียสละในโลกนี้จนถึงวันสิ้นพิภพ ดังนั้น ซิสเตอร์เป็นเกียรติแห่งพระกระแสเรียกของพวกเธอแล้ว เธอได้ตายแก่โลกแล้วคือ ตายต่อความรู้สึก ธรรมชาติและสติปัญญาของมนุษย์ เพื่อดำเนินชีวิตตามพระวาจา แบบปฏิบัติและชีวิตของพระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้น
2. จุดมุ่งหมายของคณะ (ตามความคิดของพระคุณเจ้าลังแบรต์)
จุดมุ่งหมายของคณะ โดยทั่วไปคือการหมกมุ่นกับรำพึงถึงมหาทรมานของพระคริสตเจ้าทุกวัน เป็นวิธีที่ดีกว่าหมด เพื่อรู้จักและรักพระองค์
ก. หน้าที่อันแรกของผู้ที่จะเข้าคณะ คือการถวายน้ำตา คำภาวนา การทนทุกข์ทรมานร่วมกับพระบารมีของพระผู้กอบกู้โลกเพื่อขอจากพระเป็นเจ้าให้คนต่างศาสนาที่อยู่ในเขตของทั้งสามมิสซังของเรากลับใจ
ข. หน้าที่อันที่สอง คือ การสอนหญิงสาวที่เป็นคริสตัง หรือต่างศาสนาให้มีความรู้ในสิ่งที่ผู้หญิงควรจะรู้ ถ้าหากปัจจุบันนี้สมาชิกของคณะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ เนื่องจากสภาพของศาสนาบังคับให้ทำงานอื่นที่ด่วนกว่า ขอให้เขาจำไว้ว่าการสอนผู้หญิงสาวเป็นหน้าที่อันสำคัญอันหนึ่งที่เขาจะต้องทำเมื่อทำได้
ค. หน้าที่อันที่สาม คือการรักษาพยาบาล ผู้หญิงและหญิงสาวที่ป่วย ไม่ว่าเป็นคริสตังหรือไม่เป็นคริสตัง เพื่อใช้งานนี้เป็นทางช่วยเขาให้รอดและกลับใจ
ง. หน้าที่ที่สี่ คือ การเอาใจใส่ในการล้างบาปเด็กเล็กที่ป่วยอยู่ในอันตรายจะตายก่อนรับศีลล้างบาป เมื่อมีกรณีจำเป็น
จ. หน้าที่ที่ห้า คือ การพยายามสุดความสามารถช่วยผู้หญิงและหญิงสาวที่มีความประพฤติไม่ดีให้ออกจากความชั่ว
3. พระวินัยฉบับแรก (เขียนเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1670)
มาตรา 1 ผู้ที่ได้รับเลือกเข้าคณะนี้ จะปฏิญาณตนถือศีลบน 3 ประการปรกติ คือ ความยากจน ความบริสุทธิ์ และความนบนอบ แต่ต้องผ่านการทดลอง 2 ปี ก่อนจะได้รับเลือก
มาตรา 2 ในปัจจุบันนี้ ในแต่ละหมู่คณะ จำนวนสมาชิกรวมทั้งอธิการิณีจะไม่เกิน 10 คน
มาตรา 3 สังฆราชหรืออุปสังฆราช เมื่อได้ปรึกษากับผู้บริหารแคว้นที่คณะอยู่ จะเป็นผู้เลือกอธิการิณี และเจ้าหน้าที่อื่นๆ
มาตรา 4 ในด้านการเงิน คณะขึ้นอยู่กับผู้ปกครองแคว้นที่คณะสังกัดอยู่ และต้องรายงานการใช้จ่ายกับผู้ปกครองแคว้นทุกปี
มาตรา 5 สมาชิกคณะนี้ไม่มีเขตพรต เนื่องจากสมาชิกมีหน้าที่พิเศษในการช่วยเพื่อนมนุษย์ให้เอาตัวรอดเมื่อสมาชิกคนหนึ่งต้องออกจากบ้าน เพื่อปฏิบัติหน้าที่นี้โดยได้รับอนุญาตจากอธิการิณีแล้ว ท่านแม่อธิการิณีต้องจัดให้มีสมาชิกอีกคนหนึ่งไปเป็นเพื่อน
มาตรา 6 ตลอดเวลาที่สมาชิกว่างไม่ได้ทำงานช่วยเพื่อนมนุษย์ เขาจะต้องทำงานที่บ้าน เว้นวันอาทิตย์ และวันฉลองบังคับ วันนั้นเขาจะสวดสายประคำ 3 สาย และจะอ่านหนังสือบำรุงความศรัทธาจากชีวะประวัติของนักบุญเหนือหนังสืออื่นๆ เป็นเวลา... ชั่งโมง
มาตรา 7 สมาชิกจะเข้าในบ้านเวลาประมาณ 21.30 น. จะพิจารณามโนธรรม 15 นาที เกี่ยวกับกิจการ ที่ กระทำวันนั้น และจะสวดพร้อมกันอีก 15 นาที แล้วจะเข้านอน
มาตรา 8 จะตื่นนอนเวลาตี 4 เพื่อทำการรำพึง จะเริ่มต้นด้วยคำภาวนาที่สัตบุรุษสวดในวัดวันอาทิตย์ก่อนมิสซา ต่อจากนั้นจะรำพึงหนึ่งชั่งโมงตามหัวข้อที่ได้เตรียมไว้เกี่ยวกับทรมาน และความตายของพระเยซูคริสตเจ้า อธิการิณีหรือผู้แทนจะอ่านข้อรำพึงให้ผู้อื่นฟัง เมื่อรำพึงเสร็จแล้ว เขาจะสวดบทเร้าวิงวอนของนักบุญทั้งหลาย บท "ข้าพเจ้าขอสารภาพบาป" เพลงสดุดีที่ 50 (ของดาวิด) ด้วยบทรับ "พระคริสตเจ้าได้ทรงนบนอบจนถึงความตาย" ลงท้ายด้วยบทวิงวอน "รับสปิเช" เขาจะเฆี่ยนตัวด้วยเครื่องทรมาน (แส้) พลางระลึกถึงทรมานอันทารุณที่พระบุตรของพระเจ้าได้ทรงรับทน เขาจะยินดีถวายการพลีกรรมเล็กน้อยนี้ร่วมกับความปราถนาของพระองค์ ถ้าพระองค์ได้ทรงทนแทนที่เขาเพื่อมีความปราถนาอันเดียวกันกับพระองค์ ถ้ามีเหตุผลให้งดการทรมานตนรวมกันแบบนี้เขาจะทรมานตนแบบอื่นก็ได้ เช่น ใช้โซ่สุด แล้วแต่ผู้ฟังแก้บาปจะแนะนำ แต่ไม่ให้เป็นการทรมานตนที่ เบากว่า
มาตรา 9 วันอาทิตย์ใบลาน และ 4 วันแรกของสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ เขาจะทรมานตนสองเท่า และวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์สามเท่า เพื่อระลึกถึงมหาทรมานและการสิ้นพระชนม์ของพระบุตรของพระเป็นเจ้า
มาตรา 10 สมาชิกจะมีความศรัทธาเป็นพิเศษต่อวันฉลองพระเยซูรับศีลตัด วันพบและวันเชิดชูไม้กางเขน
มาตรา 11 จะรับประทานอาหารวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและตอนเย็น จะอดเนื้อตลอดชีวิต เว้นวันฉลองพระคริสตสมภพ ปัสกา และพระจิตเสด็จลงมา
มาตรา 12 จะอดอาหารทุกวันศุกร์ เป็นการระลึกถึงมหาทรมานและความตายของพระเยซูคริสตเจ้า วันอดอาหารจะไม่รับประทานอาหารก่อน 10 โมงเช้า
มาตรา 13 สตรีและหญิงสาวคนบาปที่กลับใจ ถ้าสมัครเข้าคณะรับได้โดยมีความมุ่งหมายและวินัยเดียวกัน แต่จะเป็นกลุ่มต่างหาก (อยู่บ้านต่างหาก) และอธิการิณีต้องเป็นคนที่ไม่เคยมีความประพฤติไม่ดี
มาตรา 14 นักบุญองค์อุปถัมภ์ของคณะนี้จะเป็นนักบุญยอแซฟ สมาชิกของคณะจะสวดขอให้ก้าวหน้าในความศักดิ์สิทธิ์ครบครัน อาศัยคำวิงวอนของท่านนักบุญยอแซฟ ผู้ทรงศรี
ข้อสังเกต (จากผู้แปล)
ก. คณะนี้เป็นคณะ "แพร่ธรรม" ไม่ได้เรียกคณะ "นักบวช" เพราะความมุ่งหมายอันดับแรกคือการประกาศพระวรสาร ชีวิตส่วนตัวของสมาชิกเป็นพื้นฐานอันจำเป็นเพื่อการประกาศความเชื่อในท่ามกลางคนต่างศาสนา สงสัยว่าที่โรมอาจจะไม่ได้เข้าใจเอกลักษณ์ของคณะนี้
ข. แต่ละกลุ่ม แต่ละบ้านเป็นอิสระ สมาชิกทุกบ้านมีจิตตารมณ์อันเดียวกันก็จริง แต่ว่าแต่ละคณะรักษาลักษณะเฉพาะตน คงเป็นเอกลักษณ์ของคณะนี้ในสมัยเริ่มแรก และได้เป็นเอกลักษณ์ที่เหมาะสมที่สุด
ในสมัยเบียดเบียน แต่ละบ้านมีอิสระพร้อมที่จะปฏิบัติงานและไปในที่ต้องการอย่างทันเหตุการณ์ โครงสร้างแบบนักบวชในยุโรปจะถูกนำมาใช้พร้อมกับคณะนักบวชที่จะมาทำงานในประเทศไทย คณะสตรีรักไม้กางเขนจะเสียเอกลักษณ์ เพื่อปรับตัวให้เข้าแบบคณะนักบวชทั้งหลาย
4. การรับรองคณะ
พระคุณเจ้าลังแบรต์ได้คิดจะขอการรับรองจากกรุงโรม จึงเขียนจดหมายถึงพระคุณเจ้าปัลลือเพื่อช่วยติดต่อขอการรับรองสำหรับคณะใหม่ ในจดหมายที่เขียนจากสุหรัต (อินเดีย) พระคุณเจ้าปัลลือตอบว่า "เรื่องสตรีใจศรัทธาที่พระคุณเจ้าลังแบรต์ได้รวบรวมโดยมีวินัยและการปฏิญาณตัว 3 ประการ ความบริสุทธิ์ ความยากจน และความนบนอบนั้น ไม่ต้องขอการรับรองเชิงเป็นคณะนักบวชใหม่ เรายังไม่ถึงขั้นนี้ ถ้าเราไปขอแบบนี้เราคงจะผิดหวังแน่ เราต้องขอการรับรองในทำนองเป็นแต่คณะสตรีใจศรัทธาอย่างที่มีมากในยุโรป เราต้องรายงานเรื่องคณะนี้ตามความเป็นจริงแก่สมณกระทรวงวิธีปฏิบัติในการขอการรับรองที่ข้าพเจ้าเห็นจะดีก็คือ ขอพระคุณการุณสำหรับคณะสตรีที่พระคุณเจ้าได้ตั้งขึ้น"
4.1 อุปสรรคของงานเผยแพร่ความเชื่อในสมัยกรุงศรีอุยธยา
เมื่อเราพูดถึงความเจริญก้าวหน้าของงานเผยแพร่ความเชื่อ ของบรรดามิชชันนารีในสมัยกรุงศรีอยุธยา เราจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องนี้ 2 ประการ
1. ความเจริญก้าวหน้าที่กล่าวนั้นเป็นความเจริญก้าวหน้าที่น้อยและช้ามาก
2. เราต้องแยกแยะความเจริญก้าวหน้าดังกล่าวนี้ออกเป็น 2 ฝ่าย
* ฝ่ายมิชชันนารีของปาโดรอาโด ซึ่งนำความเจริญก้าวหน้าในลักษณะที่ช้าและน้อยเช่นเดียวกัน แต่ปัญหาและอุปสรรคส่วนใหญ่ของมิชชันนารีนี้ได้แก่
- จุดประสงค์ของการเข้ามาในสยามนั้นมีหลากหลายจนเกินไป เช่น เพื่อลี้ภัยการเบียดเบียน เพื่อหาโอกาสไปยังมิสซังอื่น หรือเป็นทางผ่านเพื่อไปยังมิสซังอื่น
- ผู้ที่ถูกส่งมาสยามโดยตรงนั้น อยู่ในสยามสั้นๆ และการส่งมาก็ไม่ต่อเนื่องด้วย มีการเว้นระยะเวลาที่ไม่สามารถทำให้งานแพร่ธรรมสืบเนื่องไปอย่างราบรื่น
* ฝ่ายมิชชันนารีของ M.E.P. ซึ่งทำงานในสยามอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แม้จะมีระยะเวลาที่ไม่มีมิชชันนารีอยู่ในสยามเลยบางช่วง ก็เป็นช่วงระยะเวลาอันสั้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม มิชชันนารีทั้ง 2 พวกนี้ ต่างก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาและอุปสรรคของงานแพร่ธรรมด้วยกัน ปัญหาและอุปสรรคเหล่านี้เกิดขึ้น ทั้งจากบรรดามิชชันนารีได้สร้างขึ้นมาเอง และเกิดมาจากเหตุการณ์ภายนอก ดังที่เราจะสรุปให้เข้าใจดังนี้
1. การกลับใจของชาวสยาม
บรรดามิชชันนารีเห็นว่าการกลับใจของชาวสยามนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะชาวสยามมีความผูกพันกับพุทธศาสนามาก เด็กๆ ชาวสยามต้องไปอยู่ที่วัดเพื่อเรียนหนังสือและรับการอบรม คุณพ่ออาเดรียง โลเนย์ ได้ให้ข้อสังเกตโดยนำมาจากเอกสารของบรรดามิชชันนารีไว้ดังนี้
การกลับใจนั้นประสบกับอุปสรรคโดยทั่วไป อุปสรรคประการสำคัญของการกลับใจของชาวสยามได้แก่ นิสัยความเฉื่อยชาและการศึกษา เด็กหนุ่มชาวสยามทุกคนต้องใช้เวลาอยู่ในบวรพุทธศาสนาเป็นเวลาหลายปี ท่ามกลางพระภิกษุที่บูชารูปเคารพ ยอมรับการสั่งสอนของพวกเขา และติดตามแบบอย่างของพวกเขา ในบรรยากาศเช่นนั้นจึงทำให้สติปัญญา จิตใจ และจิตสำนึกของพวกเขาซึมซาบเข้าไปในแก่นสารของลัทธิการเคารพรูปบูชา
นอกจากนี้อุปสรรคอีกประการหนึ่งของเรื่องนี้คือ ท่าทีของชาวสยามต่อชาวต่างชาติที่เข้ามาในดินแดนสำหรับชาวสยามแล้ว จุดมุ่งหมายหรือจุดประสงค์ในการเข้ามาของชาวต่างชาติ ได้แก่ การแสวงหาผลประโยชน์ แสวงหาผลกำไรจากการค้าขาย และบางทีอาจเป็นไปได้ด้วยว่า ชาวต่างชาติต้องการสยามเป็นเมืองขึ้นด้วย ดังนั้นชาวสยามจึงไม่ค่อยวางใจชาวต่างชาติมากนัก ทัศนคตินี้แพร่กระจายและครอบคลุมไปถึงบรรดามิชชันนารีซึ่งเป็นชาวต่างชาติด้วยเช่นกันลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของชาวสยามคือการยอมรับอำนาจสูงสุดของพระมหากษัตริย์โดยถือเป็นเทพ ดังนั้นแม้ว่าจะเห็นศาสนาและความเชื่ออื่นดีและพร้อมจะยอมรับ แต่ก็จำเป็นที่จะต้องมองดูท่าทีของพระมหากษัตริย์ด้วยว่า มีท่าทีอย่างไร
วิธีการที่มิชชันนารีใช้ในการกลับใจชาวสยามนั้น ก็มักจะใช้วิธีการโต้เถียงกับหลักการของพุทธศาสนา พยายามกลับใจพระภิกษุเพื่อจะได้รับความเชื่อ พร้อมทั้งลูกศิษย์ลูกหา ซึ่งก็ได้ผลอยู่บ้าง แต่น้อยเหลือเกิน เวลาเดียวกัน ท่าทีและทัศนคติที่ไม่ดีต่อพุทธศาสนาในสยามนั้น กลับกลายมาเป็นอุปสรรคสำคัญของการแพร่ธรรมในสยามในเวลาต่อๆ มาด้วย
คุณพ่อ Le Faure จึงกล่าวว่า ไม่มีความหวังที่จะกลับใจชาวสยามและชาวเขมร ดังนั้น พวกเขาจึงหันไปทางตังเกี๋ย โคชินจีน และประเทศจีนแทน
2. ความขัดแย้ง และกรณีพิพาทระหว่างมิชชันนารี
ดังที่เราได้เรียนรู้มาแล้ว เมื่อพระคุณเจ้าลังแบรต์และพระคุณเจ้าปัลลือเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว ต้องพบกับการต่อต้านอำนาจของมิชชันนารีปาโดรอาโด รวมทั้งยังต้องต่อสู้กับเรื่องการค้าขายของบรรดามิชชันนารีเหล่านี้อีกด้วย ท่าทีและการแสดงออกในเรื่องเหล่านี้ย่อมมีผลไม่ดีเลยต่อการแพร่ธรรม เพราะเป็นเรื่องที่ชาวสยามไม่อาจจะเข้าใจได้ การทะเลาะเบาะแว้งกันเอง ความแตกแยกภายใน มีผลอันใหญ่หลวงต่อการแพร่ธรรมเสมอ และเป็นที่สะดุดแก่คนทั่วไป
3. สมเด็จพระนารายณ์มีนโยบายทางการเมืองเปิดรับชาวต่างชาติทุกชาติ
ทั้งนี้เพื่อให้มีดุลถ่วงอำนาจของกันและกัน รวมทั้งทำให้สยามมีมิตรมากขึ้น เพื่อทำให้ศัตรูของสยามคือ พม่าและกัมพูชาไม่กล้าหรือเกรงที่จะทำสงครามกับสยาม ท่าทีของสมเด็จพระนารายณ์นี้ทำให้บาดหลวงกีย์ ตาชารด์, คอนสแตนติน ฟอลคอน รวมทั้งพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เข้าใจผิดคิดว่ามีความหวังที่จะกลับใจสมเด็จพระนารายณ์และคนทั้งประเทศได้ แม้ว่าคอนสแตนติน ฟอลคอน และพระคุณเจ้าลาโนจะเห็นว่าเรื่องนี้จะนำผลเสียที่ร้ายแรงมาสู่การแพร่ธรรม แต่บาดหลวงกีย์ ตาชารด์ และพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ต่างก็เล็งเห็นว่าน่าจะใช้อิทธิพลของตนทำให้เป็นจริงความคิดนี้ได้ส่งผลร้ายอย่างมากในเวลาต่อมา เมื่อพระเพทราชาได้ทำการปฏิวัติขึ้นในปี ค.ศ. 1688
4. การปฏิวัติในปี ค.ศ. 1688 และการเบียดเบียนในสมัยของพระเพทราชา
เนื่องจากพระเพทราชามีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์กับชาวต่างชาติ ดังนั้นเมื่อพระเพทราชาปฏิวัติสำเร็จแล้ว จึงเบียดเบียนการแพร่พระศาสนาทันที บรรดามิชชันนารีถูกจับและทรัพย์สมบัติทุกอย่างถูกยึด ในปี ค.ศ. 1691 สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลง พระเพทราชาได้คืนบ้านเณรและทรัพย์สมบัติให้แก่บรรดามิชชันนารี การแพร่ธรรมต้องเริ่มต้นกันใหม่
นอกจากการเบียดเบียนครั้งนี้แล้ว ในสมัยอยุธยานี้เองก็ยังมีการเบียดเบียนอยู่บ้าง เช่น ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ (ค.ศ. 1709-1733) บรรดามิชชันนารีถูกห้ามออกจากเมืองหลวง ห้ามใช้ภาษาสยามและบาลีในการสอนศาสนา ห้ามประกาศศาสนาแก่ชาวสยาม มอญ และลาว ข้อห้ามต่างๆ ถูกจารึกลงในแผ่นศิลาและตั้งไว้ที่หน้าวัดนักบุญยอแซฟ ที่อยุธยา นอกจากนี้ก็ยังมีความไม่สะดวกในการแพร่ธรรมเกิดขึ้นด้วยในระหว่างปี ค.ศ. 1730, 1743-1749
5. อุปสรรคที่สำคัญยิ่งในการแพร่ธรรม
ได้แก่การรุกรานของพม่า และการยึดครองกรุงศรีอยุธยาของพม่าในปี ค.ศ. 1767 พระคุณเจ้าบรีโกต์ถูกจับและถูกนำตัวไปพม่า วัดนักบุญยอแซฟถูกเผาและบ้านเณรถูกปล้น การแพร่ธรรมต้องหยุดโดยสิ้นเชิง ครั้นเมื่อพระเจ้าตากสินกอบกู้เอกราชคืนมาได้แล้ว บรรดามิชชันนารีซึ่งมิได้ทำตามพระประสงค์ของพระองค์ ยังต้องถูกขับไล่ออกจากอาณาจักรสยามและสามารถกลับมาได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ.