-
Category: ประวัติศาสตร์พระศาสนจักรในประเทศไทย (โดยคพ.สุรชัย)
-
Published on Wednesday, 30 September 2015 02:33
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2678
คาทอลิกกับสังคมไทยในประวัติศาสตร์ไทย
สมัยรัชกาลที่ 5
คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์
บทนำ
บรรดามิชชันนารีจากยุโรป ซึ่งอยู่ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษที่พระศาสนจักรมอบให้แก่กษัตริย์สเปนและโปรตุเกสที่เราเรียกกันว่า Padroado นั้น เริ่มเข้ามาในเขตแผ่นดินสยามเป็นครั้งแรกในสมัยพระมหาจักรพรรดิ์ พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา (ค.ศ. 1548-1569) ตามหลักฐานที่สามารถค้นพบได้นั้นเป็นปี ค.ศ. 1567 และนับจากปีนี้เป็นต้นไป ก็มีบรรดามิชชันนารีจากคณะนักบวชต่างๆ เข้ามาในประเทศไทย เช่น คณะ Dominican, Franciscan, Augustinian, Jesuit เป็นต้น พระศาสนจักรแห่งโรมเห็นว่าระบบสิทธิพิเศษ Padroado นี้ก่อให้เกิดความสับสนและเป็นผลร้ายต่อการเผยแพร่พระคริสตศาสนา อีกทั้งยังต้องการให้อำนาจในการเผยแพร่พระคริสตศาสนานี้กลับมาอยู่ในมือของพระศาสนจักรเอง จึงได้ก่อตั้งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ หรือที่เรียกกันว่า Propaganda Fide ขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1622 สมณกระทรวงนี้ได้พยายามใช้วิธีการประนีประนอมกับระบบ Padroado เสมอมา ด้วยการจัดส่งมิชชันนารีภายใต้การดูแลของผู้แทนองค์พระสันตะปาปา หรือที่เรียกกันว่า Apostolic Vicar เพื่อทำงานแพร่ธรรมตามดินแดนต่างๆ ถึงกระนั้นก็ดี ปัญหาระหว่างระบบ Padroado และ Propaganda Fide ก็เกิดขึ้นอยู่ทั่วไปและเป็นเวลานาน
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ. 1622 พระสังฆราชลังแบร์ต เดอ ลาม็อต ประมุขมิสซังโคชิน ไชน่า พร้อมกับคุณพ่อเดอบูร์ช และ คุณพ่อเดดิเอร์ ได้เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา อีก 2 ปีต่อมา คือเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1664 พระสังฆราชปัลลือประมุขมิสซังตองกิน พร้อมกับพระสงฆ์อีก 3 องค์ และฆราวาสอีก 1 คน เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาและได้จัดการประชุมซึ่งเรียกกันว่า Synod of 1664 ขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อวางแผนงานของการทำงานด้านต่างๆ ขึ้น พระสังฆราชทั้งสององค์ได้พยายามขออนุญาตจากกรุงโรมให้แต่งตั้งดินแดนสยามขึ้นเป็นมิสซัง โดยมี Apostolic Vicar ของสยามเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จด้วยเอกสาร Bull ของพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 ลงวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1669 ชื่อ "Speculatores" ได้ประกาศให้สยามเป็นดินแดนมิสซัง นอกจากนี้เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 1674 คุณพ่อ Laneau ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Apostolic Vicar แห่งสยามเป็นองค์แรก
ก. ผลงานของมิชชันนารีในสมัยอยุธยา
มิสซังสยามเจริญก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เพราะนโยบายทางการเมืองในการเปิดประเทศให้แก่ชาวตะวันตก รวมทั้งให้เสรีภาพในการเผยแพร่ศาสนาด้วย นอกจากนี้เวลานั้นฝรั่งเศสกำลังมีอิทธิพลอยู่ในดินแดนแถบนี้ ซึ่งมีผลทำให้การประกาศพระวรสารเป็นไปได้ง่ายขึ้น เมื่อพระสังฆราชทั้งสองเดินทางมาถึงอยุธยาแล้ว ก็ได้จัดให้มีการประชุมที่เรียกว่า Synod of 1664 ขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเราสามารถสรุปการประชุมได้ดังนี้
ก. เพื่อให้การแพร่ธรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมตกลงที่จะก่อตั้งคณะแพร่ธรรม (Apostolic Congugation) ขึ้นมาโดยใช้ชื่อคณะที่จะตั้งนี้ว่า "คณะรักกางเขนแห่งพระเยซูคริสต์"
ข. ที่ประชุมตัดสินใจที่จะจัดพิมพ์ "ข้อคำสอน" แก่ "Apostolic Vicars" ที่ Propaganda Fide มอบให้ในปี ค.ศ. 1659 รวมทั้งจะออก "ข้อคำสั่งสอนแก่บรรดามิชชันนารี" ด้วย
ค. จัดตั้งบ้านเณร
โครงการต่างๆ ของการประชุมครั้งนั้นได้ถูกกระทำตาม การก่อตั้งคณะรักกางเขนแห่งพระเยซูคริสต์พบกับอุปสรรคจากกรุงโรมแต่ก็ยังสามารถก่อตั้งคณะหญิงขึ้นมาได้ ส่วนข้อคำสั่งสอนต่างๆ ก็ได้ถูกจัดพิมพ์และยังนำมาใช้ต่อๆ มา โดยได้รับการพิมพ์ขึ้นอีกถึง 12 ครั้งด้วยกัน บ้านเณรก็ได้รับการจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1665 นอกจากนี้แล้วบรรดามิชชันนารียังได้จัดตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกขึ้นมาในปี ค.ศ. 1669 ด้วย
งานแพร่ธรรมในระยะแรกๆ นั้น เป็นการทำงานในระหว่างพวกชาวต่างชาติที่อยู่ในสยามเวลานั้น เช่น ชาวโปรตุเกส, ชาวญี่ปุ่น, ชาวโคชินจีน บรรดามิชชันนารีเริ่มงานในอยุธยาและค่อยๆ ไปแพร่ธรรมตามส่วนอื่นๆ อีก เช่น พิษณุโลก, ลพบุรี, สามโคก (ปทุมธานี) และบางกอก ในปี ค.ศ. 1674 มีคาทอลิกที่เป็นชาวสยามประมาณ 600 คน (ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่รวมเอาจำนวนผู้ที่รับศีลล้างบาปก่อนจะตายทั้งที่เป็นเด็กและผู้ใหญ่) งานแพร่ธรรมของบรรดามิชชันนารีต้องพบกับอุปสรรคหลายประการ และต้องพบกับอุปสรรคอันใหญ่หลวงเมื่อกรุงศรีอยุธยาตกอยู่ในมือของพม่าในปี ค.ศ. 1767
ข. อุปสรรคของการแพร่ธรรมในสมัยอยุธยา
เราจะขอสรุปอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับงานแพร่ธรรมในสมัยนี้เป็นข้อๆ ดังนี้
ก. บรรดามิชชันนารีเห็นว่าการกลับใจของชาวสยามนั้นเป็นเรื่องยากมาก เพราะชาวสยามมีความผูกพันกับพุทธศาสนามาก เด็กๆ ชาวสยามต้องไปอยู่ที่วัดเพื่อเรียนหนังสือและรับการอบรม นอกจากนี้ ท่าทีของชาวสยามต่อชาวต่างชาตินั้นก็เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจ โดยถือว่าชาวต่างชาติเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ทางการค้า คุณพ่อ Le Faure ถึงกลับกล่าวว่า ไม่หวังที่จะกลับใจชาวสยามได้
ข. เมื่อพระคุณเจ้าลังแบร์ตและพระคุณเจ้าปัลลือมาถึงกรุงศรีอยุธยา ต้องเผชิญกับการต่อต้านของมิชชันนารีภายใต้ระบบ Padroado และยังต้องมีข้อบาดหมางกับพวก Jesuit ในเรื่องนักบวชทำการค้าขาย เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกภายในซึ่งต้องมีผลต่อการแพร่ธรรมมากเพราะเป็นที่สะดุดใจแก่คนทั่วไป
ค. สมเด็จพระนารายณ์ฯ มีนโยบายทางการเมืองเปิดรับชาวต่างชาติทุกชาติ ทั้งนี้เพื่อให้มี ดุลถ่วงอำนาจของกันและกัน รวมทั้งทำให้สยามมีมิตรมากขึ้น เพื่อทำให้ศัตรูของสยามคือพม่าและกัมพูชาไม่กล้าหรือเกรงที่จะทำสงครามกับสยาม ท่าทีของสมเด็จพระนารายณ์ฯ นี้ทำให้บาทหลวงกีย์ ตาชารด์, คอนสแตนติน ฟอลคอน รวมทั้งพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เข้าใจผิดคิดว่ามีความหวังที่จะกลับใจสมเด็จพระนารายณ์ฯ และคนทั้งประเทศได้ แม้ว่าคอนสแตนติน ฟอลคอน และพระคุณเจ้าลาโนจะเห็นว่าเรื่องนี้จะนำผลเสียที่ร้ายแรงมาสู่การแพร่ธรรม แต่บาทหลวงกีย์ ตาชารด์ และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต่างก็เล็งเห็นว่าน่าจะใช้อิทธิพลของตนทำให้เป็นจริง ความคิดนี้ได้ส่งผลร้ายอย่างมากในเวลาต่อมา เมื่อพระเพทราชาได้ทำการปฏิวัติขึ้นในปี ค.ศ. 1688
ง. การปฏิวัติในปี ค.ศ. 1688 และการเบียดเบียนในสมัยของพระเพทราชา เนื่องจากพระเพทราชามีท่าทีที่เป็นปฏิปักษ์กับชาวต่างชาติ ดังนั้นเมื่อพระเพทราชาปฏิวัติสำเร็จแล้วจึงเบียดเบียนการแพร่พระศาสนาทันที บรรดามิชชันนารีถูกจับและทรัพย์สมบัติทุกอย่างถูกยึด ในปี ค.ศ. 1691 สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลง พระเพทราชาได้คืนบ้านเณรและทรัพย์สมบัติให้แก่บรรดามิชชันนารี การแพร่ธรรมต้องเริ่มต้นกันใหม่ นอกจากการเบียดเบียนครั้งนี้แล้ว ในสมัยอยุธยานี้เองก็ยังมีการเบียดเบียนอยู่บ้าง เช่น ในสมัยพระเจ้าท้ายสระ (ค.ศ. 1709-1733) บรรดามิชชันนารีถูกห้ามออกจากเมืองหลวง ห้ามใช้ภาษาสยามและบาลี ห้ามประกาศศาสนาแก่ชาวสยาม มอญ และลาว ข้อห้ามต่างๆ ถูกจารึกลงในแผ่นศิลาและตั้งไว้ที่หน้าวัดนักบุญยอแซฟที่อยุธยา นอกจากนี้ก็ยังมีความไม่สะดวกในการแพร่ธรรมเกิดขึ้นด้วยในระหว่างปี ค.ศ. 1730, 1743-1749
จ. อุปสรรคที่สำคัญยิ่งในการแพร่ธรรมได้แก่ การรุกรานของพม่าและการยึดครองกรุงศรีอยุธยาของพม่าในปี ค.ศ. 1767 พระคุณเจ้าบรีโกต์ถูกจับและถูกนำตัวไปพม่า วัดนักบุญยอแซฟถูกเผาและบ้านเณรถูกปล้น การแพร่ธรรมต้องหยุดโดยสิ้นเชิง ครั้นเมื่อพระเจ้าตากสินกอบกู้เอกราชคืนมาได้แล้ว บรรดามิชชันนารีซึ่งมิได้ทำตามพระประสงค์ของพระองค์ ยังต้องถูกขับไล่ออกจากอาณาจักรสยาม และสามารถกลับมาได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อพระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ
1. คาทอลิกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วในบทนำ ถึงงานของพระศาสนจักรคาทอลิกไทยในตอนปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งต้องประสบกับความยุ่งยากเป็นอย่างมาก นับตั้งแต่พระเจ้าตากสินทรงมีรับสั่งให้เนรเทศพวกมิชชันนารีออกจากประเทศสยาม พระคุณเจ้ากูเดได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า:
พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงรับรู้ว่า เราไม่อนุญาตให้คริสตังของเราไปเข้าพิธีสาบานดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาซึ่งเราถือว่าเป็นเรื่องนอกรีตนอกรอย และเรายังคัดค้านไม่ให้พวกเขาไปร่วมพิธีอื่นๆ ที่เกี่ยวกับศาสนาของชาวสยามอีกด้วย สำหรับเราแล้ว เราแน่ใจว่าจะมีเหตุการณ์ที่เลวร้ายบางอย่างเกิดขึ้น และก็ได้เกิดขึ้นจริงๆ
พระสังฆราชเลอบ็องและพวกมิชชันนารีได้เดินทางออกจากประเทศสยามในวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1779 เพื่อไปยังมาละกา ภายใต้การควบคุมของขุนนางจำนวนหนึ่งซึ่งพระเจ้าตากสินได้ส่งมาเพื่อให้แน่ใจว่าพวกมิชชันนารีได้เดินทางออกจากสยามจริง พวกเขาได้มาถึงมาละกา ในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1779 พระสังฆราชเลอบ็อง ประมุขมิสซังสยาม ได้ออกเดินทางต่อในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1780 เพื่อไปยังยุโรป แต่ท่านได้หยุดแวะที่เมืองกัว และได้ถึงแก่มรณภาพลงที่เมืองนี้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1780
คุณพ่อการ์โนลต์และคุณพ่อกูเดได้ตัดสินใจเดินทางต่อไปยังเมืองปอนดิเชรี เพื่อหาหนทางไปยังเมืองยงเซลัง (เกาะถลาง; ปัจจุบันคือจังหวัดภูเก็ต) จังหวัดหนึ่งที่อยู่ภายใต้การปกครองของประเทศสยาม จนกว่าสถานการณ์ในสยามจะเปลี่ยนแปลง ในปี ค.ศ. 1782 พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชวงศ์จักรี ทรงมีรับสั่งให้เชิญพวกมิชชันนารีที่ถูกเนรเทศออกจากประเทศสยามกลับมา การที่พระองค์ทรงทำเช่นนี้เพราะว่าพระองค์ทรงปรารถนาที่จะรื้อฟื้นสัมพันธไมตรีกับชาวต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง และเพื่อสนับสนุนการค้าขายกับประเทศเหล่านี้เหมือนดังที่เคยเป็นมา พระสังฆราชกูเด (ค.ศ. 1782-1785) ได้บันทึกไว้ดังนี้
พระเจ้าแผ่นดินของประเทศสยามพระองค์ใหม่มีพระประสงค์ให้พระ สังฆราช และบรรดามิชชันนารีซึ่งได้ถูกพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนเนรเทศไปให้กลับมาที่สยาม พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ทรงปรารถนา ที่จะเชื่อมความสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศทั้งหลาย และทรงสนับสนุนการค้าของพวกเขาในประเทศสยามเหมือนดังแต่ก่อน
จากเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับประวัติพระศาสนจักรในประเทศไทย ของคณะมิสซังต่างประ เทศแห่งกรุงปารีส เอกสารดังกล่าวน่าสนใจมาก เขียนโดยพระสังฆราชการ์โนลต์ (ค.ศ. 1786-1811) ลงวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1802 ถึงคุณพ่อบัวเรต์และคุณพ่อแดกูร์เวียร์ซึ่งอยู่ที่กรุงปารีส ในจดหมายนี้พระคุณเจ้าเขียนไว้ว่า:
ข้าพเจ้าขอบอกว่าพระเจ้าแผ่นดินได้เคยรับศีลล้างบาปแล้ว ในขณะที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์ โดยนายแพทย์ที่ชื่อซิสเต รีเบโร นายแพทย์ผู้นี้เห็นว่าพระองค์ทรงพระประชวรหนักและจำเป็นต้องได้รับศีลล้างบาป แต่พระองค์ไม่เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ ต่อมาไม่นานพระองค์ทรงพระประชวรหนักอยู่ในขั้นอันตราย จึงได้ส่งคนไปเชิญพระสังฆราชอาดรัง (Adran) ให้มาเข้าเฝ้า ในเวลานั้นพระคุณเจ้าไม่ว่าง พระเจ้าแผ่นดินทรงรู้ว่าพระองค์กำลังจะสิ้นพระชนม์ จึงเขียนพินัยกรรมสองสามประโยค พระองค์ทรงมอบพระศพให้แก่พระบิดาเลี้ยง และทรงมอบพระวิญญาณให้แก่ซิสเต รีเบโร
โลเนย์ได้ยืนยันว่าเรื่องที่พระพุทธยอดฟ้าฯ ได้รับศีลล้างบาปจากซิสเต รีเบโร นั้นเป็น ความจริง แต่ดูเหมือนว่าพระองค์ไม่ทรงทราบถึงเรื่องการรับศีลล้างบาปของพระองค์ "เมื่อพระองค์ทรงทราบภายหลังพระองค์ก็มิได้แสดงความสนพระทัยแต่อย่างใด"
ในที่สุดพระสังฆรากูเดก็ได้เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1784 ความยุ่งยากได้เกิดขึ้นกับมิสซังอีกครั้งหนึ่ง พระสังฆราชกูเดได้พบว่าคริสตังได้แบ่งออกเป็น 2 พวก พวกแรกคือ คริสตังโปรตุเกสที่ไม่ต้องการให้มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสมาปกครองพวกตน และร้องขอให้มีมิชชันนารีชาวโปรตุเกสมาปกครองและอีกพวกหนึ่งคือคริสตังจากวัดนักบุญยอแซฟ ซึ่งยอมรับอำนาจการปกครองของมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส คริสตังโปรตุเกสได้ปล่อยข่าวเรื่องการกลับใจมาเป็นคริสตังของข้าราชการผู้หนึ่ง พระพุทธยอดฟ้าฯ ได้ทรงมีรับสั่งบังคับให้ข้าราชการผู้นี้และครอบครัวของเขาละทิ้งศาสนาคาทอลิก แต่เขายอมตายเพื่อความเชื่อ คริสตังอื่นๆ อีก 20 คนที่อยู่ภายใต้การปกครองของมิชชันนารีฝรั่งเศสได้ถูกจับขังคุก เพราะคำกล่าวหาใส่ร้ายของคริสตังโปรตุเกส ความยุ่งยากเกิดขึ้นไม่นานนัก เพราะว่าพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้พระสังฆราช กูเดเข้าเฝ้าเพื่อชี้แจงถึงข้อเท็จจริงระหว่างคริสตังทั้ง 2 กลุ่ม และเมื่อคริสตังโปรตุเกสหมดหวังที่จะมีมิชชันนารีชาวโปรตุเกสมาปกครองพวกตนในประเทศสยาม พวกเขาก็ค่อยๆ ยอมรับอำนาจการปกครองของมิชชันนารีฝรั่งเศสในปี 1808 ดังนั้นมิสซังสยามจึงพบกับความสงบสุขในตอนต้นของศตวรรษที่ 19
ก. สถานะการณ์ทางศาสนาในประเทศสยาม
ในครึ่งแรกของศตวรรษที่ 19
โลเนย์ได้บรรยายถึงสถานะการณ์ทั่วๆ ไปของพระศาสนจักรสยาม ในตอนต้นของศตวรรษที่ 19 เมื่อเขาได้ดูจากจำนวนคริสตังไว้ดังนี้:
สภาพวัดต่างๆ ของมิสซังสยามในตอนต้นของศตวรรษที่ 19 เป็นเช่นที่ได้กล่าวมาแล้ว วัดที่ดีที่สุดและมีจำนวนคริสตังมากที่สุดคือวัดที่บางกอก, จันทบุรี และปีนัง ในปี ค.ศ. 1802 จำนวนคริสตังทั้งหมดของมิสซังมีประมาณ 2500 คน และในปี ค.ศ. 1811 มีเกือบ 3000 คน
เราจะเห็นได้ชัดว่าในระหว่างสมัยของพระสังฆราชการ์โนลต์ งานฟื้นฟูมิสซังได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พระสังฆราชการ์โนลต์เชื่อว่าปีนังจะเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดสำหรับการเริ่มต้นงานของท่าน เพราะว่าปีนังเป็นสถานที่ที่สะดวกแก่การติดต่อกับสถานที่ใกล้เคียง และเพื่อการเผยแพร่ความเชื่อเข้าไปในประเทศต่างๆ ซึ่งพลเมืองของประเทศนั้นๆ ชอบมาทำการค้าขายที่นี่ และชักจูงคริสตังของเราไปในประเทศของเขา ในปี ค.ศ. 1795 ท่านได้ก่อตั้งอาราม "ซิสเตอร์รักไม้กางเขน" ขึ้นที่ปีนัง เป็นอารามเล็กๆ และยังได้จัดพิมพ์หนังสือต่างๆ โดยใช้อักษรลาติน ออกเสียงแทนตัวอักษรและวรรณยุกต์ในภาษาไทย ท่านยังได้แต่งและพิมพ์หนังสือคำสอนคริสตังขึ้นเล่มหนึ่งด้วย
ต่อมาเมื่อท่านได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1796 ท่านได้จัดตั้งอาราม "ซิสเตอร์รักไม้กางเขน" ขึ้นที่นี่ด้วย ท่านได้เริ่มเผยแพร่ข่าวดีไปยังภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศสยาม ผลงานที่สำคัญอันดับสุดท้ายในช่วงสมัยของท่านคือ การเห็นชอบให้มีการก่อตั้งวิทยาลัยกลางของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสขึ้นที่ปีนัง ท่านได้ลงนามอนุญาตให้ก่อตั้งวิทยาลัยกลางในวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ.1809 โดยย้ายวิทยาลัยกลางจากเมืองปอนดิเชรีมาอยู่ที่ปีนังหลังจากที่ลังเลใจไม่รู้จะเลือกที่ใดระหว่างมะนิลาและปีนัง ท่านให้ความสนใจและเอาใจใส่ในเรื่องสามเณราลัยอยู่เสมอ วิทยาลัยกลางแห่งนี้ใช้กฎเกณฑ์และระเบียบการปกครองของคณะ M.E.P. และอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของกรุงปารีสโดยตรง
ในปี ค.ศ. 1827 อันเป็นสมัยของพระสังฆราชฟลอรังส์ (1811-1834) พระสันตะปาปาเลโอที่ 12 ได้ออกกฤษฎีกากำหนดให้ประมุขมิสซังสยามมีอำนาจการปกครองเหนือสิงคโปร์ และอาณานิคมของอังกฤษ นายบรูกีแยร์ (M. Bruguière) ผู้ช่วยพระสังฆราชของประเทศสยามได้ถูกส่งไปปกครองสิงคโปร์ในปี ค.ศ. 1829 แต่อำนาจการปกครองของเขาได้ถูกต่อต้านโดยมิชชันนารีโปรตุเกสปฎิเสธไม่ยอมรับคำสั่งของพระสันตะปาปา และเรียกร้องอภิสิทธิ์ปาโดอาโด (Padroado) การโต้เถียงระหว่าง 2 ฝ่าย ได้ดำเนินไปจนถึงปี ค.ศ. 1834 เมื่อสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้ยืนยันอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1834 ถึงอำนาจการปกครองเหนือสิงคโปร์ของประมุขมิสซังสยาม
เนื่องจากจำนวนคริสตังและมิชชันนารีได้เพิ่มขึ้น พระสังฆราชกูรเวอซี (ค.ศ. 1834-1841) ได้ขอให้ทางกรุงโรมแต่งตั้งพระสังฆราชผู้ช่วย ในปี ค.ศ. 1838 คุณพ่อปัลเลอกัวได้รับแต่งตั้งและได้รับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1838 โดยเอกสารฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า Universi Dominici ลงวันที่ 10 กันยายน ค.ศ. 1841 กรุงโรมได้แยกเขตการปกครองในส่วนของประเทศมาเลเซียออกจากมิสซังสยามโดยตั้งขึ้นเป็นมิสซังสยามตะวันออก ซึ่งประกอบด้วยประเทศสยามและประเทศลาว และมิสซังสยามตะวันตก ซึ่งประกอบด้วย แหลมมลายา, เกาะสุมาตรา และพม่าตอนใต้ พระสังฆราชปัลเลอกัวเป็นประมุขมิสซังสยามตะวันออก และพระสังฆราชกูรเวอซีเป็นประมุขมิสซังสยามตะวันตก
บุคคลหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในมิสซังสยามเวลานั้นก็คือ พระสังฆราชปัลเลอกัว (ค.ศ. 1841-1862) ท่านเป็นผู้มีความสามารถและมีความรู้สูงทั้งในด้านวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์และด้านภาษาต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังมีความรู้อย่างแตกฉานในภาษาสยามและภาษาบาลี ท่านมีความสัมพันธ์ฉันมิตรอย่างแน่นแฟ้นกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ในขณะที่พระองค์ยังทรงผนวชอยู่ และความสัมพันธ์อันนี้เองที่ช่วยให้ท่านสามารถสอนศาสนาได้โดยเสรี อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (รัชกาลที่ 3) ท่านได้พิมพ์หนังสือขึ้นเล่มหนึ่งในปี ค.ศ. 1846 มีชื่อว่า "ปุจฉา วิสัชนา" (คำถาม และคำตอบ) และวิจารณ์ศาสนาพุทธ อย่างรุนแรง คำวิจารณ์เกี่ยวกับศาสนาพุทธนี้พระสังฆราชปัลเลอกัวได้กล่าวไว้หลายๆ ข้อด้วยกัน ตัวอย่างเช่น:
1. เรื่องพระพุทธศาสนามิใช่เป็นศาสนาในใจความที่ถูกต้อง
2. พระพุทธเจ้าไม่ควรถูกพิจารณาเป็นที่พึ่งที่จะช่วยเหลือได้
3. คำสอนของพระพุทธศาสนาเกี่ยวกับคุณความดี, บาป, สวรรค์, ไม่เป็นความจริง
4. เรื่องการดูถูกพระภิกษุและนางชี
5. ศีลของพระพุทธศาสนาไม่มีใครรักษาได้ ผู้บัญญัติจึงเปรียบเหมือนคนเสียจริต
นี่เป็นสาเหตุทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธและชาวคาทอลิกเกิดความบาดหมางและแตกแยกกัน รัฐบาลได้ออกคำสั่งให้หยุดการเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ และขู่บรรดามิชชันนารีว่าจะถูกจับถ้าพวกเขาไม่หยุดเผยแพร่หนังสือเล่มนี้ ในปี ค.ศ. 1849 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ (รัชกาลที่ 3) ได้เนรเทศมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส 8 องค์ ออกจากประเทศสยาม เนื่องจากท่านเหล่านี้ได้แนะนำพระสังฆราชปัลเลอกัวไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องในพระราชพิธีที่พวกเขาเห็นว่าเป็นการนอกรีตนอกรอย หรือซูแปรติซัง บรรดามิชชันนารีเหล่านี้ได้เดินทางกลับมาประเทศสยามอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1851 เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ได้เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว
ในปี ค.ศ. 1856 ประเทศสยามได้ทำสนธิสัญญาฉบับหนึ่งกับประเทศฝรั่งเศส สนธิสัญญาฉบับนี้อนุญาตให้ชาวสยามมีอิสระในการเลือกนับถือศาสนา อนุญาตให้บรรดามิชชันนารีเทศน์สอนศาสนา, จัดสร้างสามเณราลัย, ก่อสร้างโรงเรียน และโรงพยาบาล และสามารถเดินทางไปยังที่ต่างๆ ได้ทั่วราชอาณาจักรโดยอิสระ สนธิสัญญาฉบับนี้มีผลทำให้บรรดามิชชันนารีมีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมากในการเผยแพร่ศาสนาคาทอลิก เพราะว่านับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงเวลานี้ยังไม่มีการอนุญาตให้เผยแพร่ศาสนาโดยอิสระมาก่อนเลย
ข. พระศาสนาจักรคาทอลิกในประเทศสยาม
ก่อนการมาถึงของพระสังฆราชเวย์
หลังจากที่อยู่ในประเทศสยามมาเป็นเวลานานถึง 25 ปีแล้ว และรักษาการณ์แทนประมุขมิสซังอยู่ในปี ค.ศ. 1864 พระสังฆราชดือปองด์ (ค.ศ. 1865-1982) ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชประมุขมิสซังสยามสืบต่อจากพระสังฆราชปัลเลอกัวในปี ค.ศ. 1864 และได้รับการอภิเษกในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1865 ที่เมืองไซ่ง่อน ในรายงานประจำปีของพระสังฆราชดือปองด์ปี ค.ศ. 1867 ได้พูดถึงสภาพทั่วๆ ไปของมิสซังไว้ดังนี้: คริสตังทั้งหมดมีจำนวน 8,000 คน ได้โปรดศีลล้างบาปให้แก่ชาวสยามจำนวน 667 คน โปรดศีลล้างบาปให้แก่เด็กจำนวน 257 คน ปีต่อมาท่านได้รายงานไว้ว่า
เป็นเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ได้มีการแบ่งแยกมิสซังสยาม เราได้ประสบกับความสำเร็จในการเผยแพร่ศาสนาในจังหวัดต่างๆ 12-15 แห่ง ซึ่งสถาน ที่เหล่านี้จะเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ศาสนาไปยังสถานที่ใกล้เคียง และค่อยๆ แพร่กระจายไปตามที่ต่างๆ ทีละน้อยๆ
ในระหว่าง 7 ปี ที่ท่านดำรงตำแหน่งพระสังฆราชนี้ จำนวนคริสตังได้เพิ่มขึ้นในทุกแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะ 4 ปีแรก ท่านได้สร้างวัด 8 แห่ง สำหรับกลุ่มคริสตชนใหม่เหล่านี้ และวัดเก่าที่มีอยู่แล้วก็กำลังเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว เราสามารถพูดได้ว่าในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาของการขยายตัวเองนับตั้งแต่ท่านได้ส่งบรรดามิชชันนารีของท่านไปเทศน์สอนประกาศข่าวดี และเปิดกลุ่มคริสตชนใหม่ในทุกๆ ที่ที่พวกเขาจะสามารถไปได้ จำนวนมิชชันนารีทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาในประเทศสยามในสมัยของพระสังฆราชดือปองด์นี้มีจำนวนทั้งสิ้น 21 องค์ มิชชันนารีแต่ละองค์ได้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เหตุการณ์ที่เด่นเป็นพิเศษในสมัยนี้ได้แก่ การเปลี่ยนศาสนาของพระภิกษุรูปหนึ่งที่มีตำแหน่งเป็นสมภารวัด สมภารปาน ซึ่งต่อมาคือ เปาโล ปาน ได้รับศีลล้างบาปจากคุณพ่อราบาร์แดลในวันสมโภชปัสกาของปี ค.ศ. 1864 ต่อจากเปาโล ปาน แล้วก็มีบรรดาสานุศิษย์ของเขาและพระภิกษุอีกหลายรูป (พระภิกษุ 2 รูป และสามเณร 3 รูป) ได้รับศีล ล้างบาปในเวลาต่อมา เปาโล ปาน มีความตั้งใจที่จะบวชเป็นพระสงฆ์แต่เขาชรามากแล้ว มีอายุถึง 72 ปี เขาได้รับศีลบวชขั้นอาโกลีตุสจากพระสังฆราชดือปองด์ หลานชายคนหนึ่งของเขาได้บวชเป็นพระสงฆ์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ เปาโล ปาน ยังได้เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นในหมู่บ้านของเขา ซึ่งทุกวันนี้หมู่บ้านแห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง มีชื่อว่าวัดเพลง
เนื่องจากพระสังฆราชดือปองด์เป็นผู้มีความกระตือรือร้น และสามารถพูดภาษาสยามได้ดีเท่าๆ กับภาษาจีน ท่านจึงได้รับมอบหมายให้ทำงานแพร่ธรรมในหมู่ชาวจีนและชาวสยาม ในช่วงสมัยของท่าน มีชาวจีนและชาวสยามกลับใจมานับถือศาสนาคริสต์เป็นจำนวนมาก เราสามารถสรุปถึงสาเหตุของการกลับใจของพวกเขาได้ดังนี้:
1. เป็นเพราะความรักและความเมตตาสงสารของพวกมิชชันนารีที่เป็นผู้ไถ่ตัวทาสจำนวนมากให้เป็นอิสระ โดยไม่ได้ต้องการให้พวกเขาเปลี่ยนศาสนา แต่ต้องการให้พวกเขาเป็นอิสระ
2. เพราะความเคารพนับถือและชื่นชมของบุคคลทั่วไปที่มีต่อพวกมิชชันนารี ผู้ซึ่งยอมอุทิศชีวิตของตนเองเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยความเสียสละ และรักเพื่อนมนุษย์เหมือนญาติพี่น้องของตน
3. พวกขุนนางชาวสยามซึ่งใช้อำนาจขัดขวางชาวสยามมิให้เข้ามานับถือศาสนาคริสต์แต่กลับสนับสนุนชาวจีนให้กลับใจ เพราะพวกเขารู้ว่าไม่มีคริสตังคนใดจะไปเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมลับของชาวจีน (อั้งยี่) ซึ่งกำลังก่อกวนความสงบสุขของประเทศอยู่ในเวลานั้น
เมื่อพระสังฆราชดือปองด์ถึงแก่มรณภาพในวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1872 มิสซังสยามมีคริสตังจำนวน 10,000 คน, มิชชันนารีชาวยุโรปจำนวน 20 องค์ และพระสงฆ์พื้นเมืองจำนวน 8 องค์
2. พระศาสนจักรคาทอลิกในสมัยรัชกาลที่ 5
ประวัติศาสตร์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 นี้เต็มไปด้วยชีวิตชีวา แผ่นดินสยามได้พบกับสิ่งใหม่ๆ มากมาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้นำการปฏิรูปต่างๆ ทรงดำเนินนโยบายทางการเมืองที่ชาญฉลาด จนพระองค์ได้รับเกียรตินาม "มหาราช" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1853 เสด็จขึ้นครองราชสมบัติในปี ค.ศ. 1868 แต่เนื่องจากพระชนมายุเพียง 16 ชันษา เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1873 พระองค์จึงขึ้นครองราชย์ด้วยพระองค์เอง
ในช่วงระยะเวลานี้เอง ทางฝ่ายพระศาสนจักรคาทอลิกได้มีผู้นำท่านหนึ่งซึ่งสามารถดำเนินงานทางศาสนาสอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าของประเทศ อีกทั้งเป็นมิตรที่ดีกับสยาม ได้แก่ พระคุณเจ้ายัง หลุยส์เวย์ (Jean Louis Vey) ประมุขมิสซังสยาม
คุณพ่อยัง หลุยส์ เวย์ เดินทางมาถึงสยามปี ค.ศ. 1865 และได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังสยามในปี ค.ศ. 1875
ก. ชีวิตการเป็นมิชชันนารีของยัง หลุยส์ เวย์
1. กระแสเรียกแห่งการเป็นมิชชันนารี
ยัง หลุยส์ เวย์ เกิดที่เมืองอาโรลส์ (Araules) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ เมืองหนึ่งที่อยู่ใกล้กับ Issingeaux Haute-Loire เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1840 บิดามารดาของท่านเป็นชาวนาและเป็นคริสตังที่ดี ท่านได้รับการศึกษาขั้นต้นในโรงเรียน มีผลการเรียนอยู่ในเกณท์ดี ท่านได้เรียนภาษาลาตินครั้งแรกจากโรงเรียนประจำตำบล ครูของท่านพบว่าท่านสามารถเรียนภาษาลาตินได้เข้าใจอย่างรวดเร็ว ท่านมีความตั้งใจในการเรียน ขณะเดียวกันท่านก็ชอบการเล่นเกม และสามารถเล่นมันได้ดีทีเดียว ความโชคร้ายจากการเล่นเกมเกมหนึ่ง ทำให้ท่านต้องเสียดวงตาข้างหนึ่งไป ดังนั้น ท่านจึงมองอะไรไม่ถนัด ความบกพร่องทางร่างกายไม่ได้มีผลเสียต่อความฉลาดปราดเปรื่องของท่าน การเรียนรู้อย่างรวดเร็วเป็นข้อสังเกตอันหนึ่งที่ทำให้ครูแนะนำบิดาของท่านให้ส่งท่านไปเข้าบ้านเณรเล็กที่มอนิสโทรล (Monistrol) ในสังฆมณฑลปืออี (Puy) ความบกพร่องของดวงตาได้เป็นอุปสรรคในการเข้าบ้านเณรแต่เพียงประการเดียวของท่าน (ตามที่กล่าวมาข้างต้น)
พระสังฆราชแห่งปืออี ซึ่งได้มาเยี่ยมเยือนที่ตำบลนี้เป็นเวลาหลายวันเพื่อโปรดศีลกำลังได้สังเกตว่าเด็กชายหลุยส์เป็นเด็กที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เหตุนี้เองทำให้ท่านกล่าวว่า "เราน่าจะส่งเด็กคนนี้ไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเณรเล็ก เราจะขัดเกลาเขาในภายหลัง"
ความคิดและการตัดสินใจของพระสังฆราชองค์นี้นับว่าเป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญมาก ที่บ้านเณรมอนิสโทรล บรรดาครูผู้สอนได้ชมเชยในความสามารถและความตั้งใจเรียนของท่าน ต่อมา อุปสังฆราชแห่งสังฆมณฑลได้ถามท่านถึงความสมัครใจในการเข้าบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (M.E.P.) ท่านได้ตัดสินใจเข้าบ้านเณรของคณะ M.E.P. ในวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1862บรรดาครูและเพื่อนๆ ของท่านรู้สึกเสียใจมากที่ต้องสูญเสียคนเก่งของสังฆมณฑลอย่างท่านไป ที่ถนนดือบัคในกรุงปารีส เมอร์ซิเออเวย์ได้ปฏิบัติตัวเป็นสามเณรที่ดี โดยมีความตั้งใจที่จะพัฒนาสิ่งที่จำเป็นสำหรับงานแพร่ธรรมในอนาคต ในที่สุดท่านก็ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ในวันที่ 10 มิถุนายน ค.ศ. 1865
ท่านได้รับมอบหมายให้เดินทางมายังมิสซังสยาม โดยออกเดินทางจากเมืองลีอองและได้พบกับบิดามารดาเป็นครั้งสุดท้าย ทั้งสองมาส่งลูกชายซึ่งได้มอบถวายแด่พระด้วยความยินดีเพื่อทำงานรับใช้พระองค์ และยังได้ให้กำลังใจแก่ท่านสำหรับการทำงานแพร่ธรรม ท่านได้ออกเดินทางมาประเทศสยามในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1865 และมาถึงในเดือนกันยายน พระสังฆราชดือปองด์พระสังฆราชใหม่ที่เพิ่งจะได้รับการอภิเษกพร้อมทั้งมิชชันนารีอีก 8 องค์ ได้มาต้อนรับท่าน
คุณพ่อเกลมังโซ (Clémenceau) ผู้ดูแลบ้านเณรของมิสซังและผู้ปกครองดูแลครอบครัวคริสตังที่อัสสัมชัญมาหลายปีแล้ว ได้ถึงแก่มรณภาพลงเมื่อเดือนมกราคมปีก่อน และยังไม่มีผู้ใดมารับหน้าที่แทน พระสังฆราชดือปองด์ไม่รีรอที่จะมอบหน้าที่นี้ให้แก่มิชชันนารีผู้มาใหม่ ซึ่งมีความกระตือรือร้นในการทำงาน และเมื่อสังเกตเห็นคุณสมบัติที่เด่นๆ ของมิชชันนารีหนุ่มผู้นี้แล้ว พระคุณเจ้าได้มอบหมายให้ท่านเป็นผู้บริหารบ้านเณรของมิสซังและดูแลโรงพิมพ์ของมิสซัง ซึ่งในเวลานั้นสำนักพระสังฆราชเพิ่งจะเริ่มก่อตั้งขึ้นในบริเวณอัสสัมชัญ นักเรียนของบ้านเณรมีจำนวนน้อย ดังนั้นท่านจึงมีเวลามาดูแลคริสตังกลุ่มอัสสัมชัญ ด้วยวิธีการและแนวทางที่ดีของท่านโดยการพูดชักชวนและให้ความสนิทสนมพูดคุยกับชาวบ้านที่อยู่ในบริเวณนั้น ในไม่ช้าท่านก็สามารถทำให้ชาวบ้านเหล่านั้นกลับใจมาเป็นคริสตัง ได้จัดตั้งเป็นกลุ่มคริสตชนและพัฒนามาจนกลายเป็นวัดอัสสัมชัญในปัจจุบันนี้
ท่านได้ใช้เวลาในปีแรกด้วยการเรียนภาษาสยาม และได้สังเกตว่าการรู้ภาษาสยามเพียงภาษาเดียวไม่เพียงพอสำหรับท่านในการทำงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับชาวพุทธ ท่านจึงเรียนภาษาบาลีเป็นภาษาต่อมาอย่างลึกซึ้ง ซึ่งการเรียนรู้ภาษานี้จะสามารถทำให้ท่านรู้รากศัพท์และที่มาของคำได้ ท่านประสบความสำเร็จด้วยดีเหมือนอย่างพระสังฆราชปัลเลอกัว (ผู้แต่งหนังสือ "พจนานุกรม 4 ภาษา คือ ภาษาไทย, ลาติน, ฝรั่งเศส และอังกฤษ" ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1854 ที่กรุงปารีส) อาจพูดได้ว่าท่านเป็นนักเรียนที่ดีที่สุดในจำนวนชาวต่างประเทศทั้งหลายที่อยู่ในประเทศสยาม วารสารของสยาม สมาคมได้ให้คำวิจารณ์เกี่ยวกับตัวท่านไว้ดังนี้:
มิสซังคาทอลิกแห่งสยามเป็นหนี้บุญคุณพระคุณเจ้า สำหรับงานเขียนที่ใช้ภาษาสยามในด้านคำสอนที่ดีหลายชิ้น โดยไม่รวมถึงการที่ท่านนำเอาพจนานุกรมของพระสังฆราชปัลเลอกัวมาจัดพิมพ์ขึ้นใหม่ ท่านได้อุทิศเวลาอย่างใกล้ชิด 2 ปี ใน การทำให้หนังสือเล่มนี้สมบูรณ์และสะดวกในการใช้ ท่านใช้เวลาอย่างรวดเร็วในการปรับตัว และเรียนรู้สิ่งต่างๆ สำหรับประเทศที่ท่านอยู่, ขนบธรรมเนียมประเพณี, กฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ, อุปนิสัยและลักษณะต่างๆ ของผู้คน
ในปี ค.ศ. 1870-1871 ระหว่างที่พระสังฆราชดือปองด์ไม่อยู่ เนื่องจากถูกเชิญไปยังกรุงโรมเพื่อเข้าร่วมการประชุมสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดขึ้นโดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ดังนั้นคุณความดีและสติปัญญาอันเฉลียวฉลาดของคุณพ่อเวย์จึงปรากฏแจ่มชัดขึ้น พระสังฆราชดือปองด์ได้ออกเดินทางไปยังกรุงโรม ก่อนไปท่านได้เลือกมิชชันนารีองค์หนึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาการณ์ มิสซังแทนท่าน คุณพ่อเปอังซึ่งเป็นผู้ดูแลคริสตังที่แปดริ้วและเป็นมิชชันนารีองค์หนึ่งที่มีความสามารถมากก็ได้ออกเดินทางไปปารีสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1868 แล้ว เพื่อไปรับตำแหน่งอธิการ คุณพ่อเวย์ก็ยังหนุ่มมากเพิ่งจะทำงานในมิสซังได้เพียง 4 ปีเท่านั้น ดังนั้นพระสังฆราชดือปองด์ จึงมอบหมายให้คุณพ่อมาร์แต็ง มิชชันนารีที่อาวุโสองค์หนึ่งเป็นผู้ดูแลมิสซัง พร้อมกับมอบอำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ ให้ด้วย อย่างไรก็ตาม มันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นสำหรับคุณพ่อเวย์ที่จะแสดงบทบาทสำคัญในหน้าที่นี้ ซึ่งเราจะสามารถเห็นได้ว่า:
พระสังฆราชดือปองด์ได้มอบให้พระสงฆ์อาวุโสองค์หนึ่งเป็นผู้ดูแลมิสซัง ซึ่งท่านต้องรับภาระหน้าที่นี้ในนามของประมุขมิสซัง แต่เนื่องจากงานที่ต้องรับผิดชอบมีเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นงานที่ยากและเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ จึงเป็นภาระของคุณพ่อเวย์ผู้ซึ่งมีความสามารถคอยให้คำแนะนำ และชี้ให้เห็นถึงวิธีการในการแก้ปัญหา
อันที่จริงคุณพ่อมาร์แต็งอายุมากเกินไปสำหรับการทำงานที่ต้องใช้การพิจารณาตัดสินใจที่ยุ่งยาก ซึ่งพวกมิชชันนารีต้องการให้ท่านช่วยตัดสินใจหรือแก้ปัญหาบางอย่างที่พวกเขามักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ พวกมิชชันนารีเหล่านี้กระจัดกระจายกันอยู่ในตำบลที่ห่างไกล
ดังนั้นเมื่อพวกเขาต้องพบกับความยุ่งยากและความลำบากในงานแพร่ธรรม พวกเขารู้สึกประหลาดใจและพึงพอใจเป็นอย่างมากเมื่อคุณพ่อเวย์ได้ชี้ให้พวกเขาเห็นว่าจะต่อสู้กับความยุ่งยากเช่นนั้นได้อย่างไร
2. ปัญหาเกี่ยวกับพระสังฆราช
ในระหว่างการประชุมสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 1 ทางกรุงโรมได้เน้นเตือนพระสังฆราชดือปองด์ให้ไปทำการเผยแพร่พระศาสนาในประเทศลาว เมื่อเดินทางกลับมายังกรุงเทพฯ แล้วท่านตระหนักว่าสุขภาพของท่านไม่เอื้ออำนวยให้ท่านดำเนินการตามโครงการนี้ได้ ท่านเกรงว่าหลังจากที่ท่านมรณภาพไปแล้ว การเลือกประมุขมิสซังองค์ใหม่จะต้องกินเวลานาน และสิ่งนี้จะเป็นสาเหตุทำให้การประกาศศาสนาในประเทศลาวต้องล่าช้าไป ดังนั้นท่านจึงสั่งให้มิชชันนารีทั้งหมดมาประชุมกันมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และขอให้เขาออกเสียงเลือกคุณพ่อเวย์ซึ่งท่านเห็นว่าเหมาะสมที่สุดในจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมดในเวลานั้น แต่มีสาเหตุหลายประการที่ทำให้ไม่เป็นไปตามที่ท่านหวัง ในทางตรงข้าม สิ่งที่พระสังฆราชดือปองด์ได้ทำไปกลับเป็นต้นเหตุของความล่าช้าทั้ง 2 เรื่อง คือเรื่องการแต่งตั้งประมุขมิสซังองค์ใหม่และเรื่องการเผยแพร่พระศาสนาในประเทศลาว เนื่องจากมิชชันนารีหลายองค์ซึ่งเป็นผู้สงวนสิทธิในการออกเสียง ได้แสดงความไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้ ในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1872 พระสังฆราชดือปองด์ได้เขียนถึงกรุงปารีสดังนี้
วันที่ 22 กรกฎาคม ข้าพเจ้าจะบอกแก่ท่านในอีกไม่นานนี้ว่าการลงคะแนนเสียงอย่างเป็นเอกฉันท์ของบรรดามิชชันนารี ลงคะแนนให้คุณพ่อเวย์เป็นผู้สืบตำแหน่งของข้าพเจ้า
คุณพ่อมาร์แต็งได้ให้ข้อสังเกตแก่กรุงปารีสและได้ลงชื่อในจดหมายของบรรดามิชชันนารีซึ่งคัดค้านการเลือกประมุขมิสซังองค์ใหม่ต่อกรุงปารีสด้วย โดยคุณพ่อมาร์แต็งได้เขียนไว้ว่า:
ข้าพเจ้าลงชื่อในจดหมายนี้พร้อมทั้งข้อสังเกตของข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าได้ถูกพระคุณเจ้าดือปองด์ถามถึงเรื่องที่เกี่ยวกับการเลือกผู้สืบตำแหน่งแทนท่าน ในส่วนที่เกี่ยวกับข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าได้แสดงความรู้สึกด้วยความมั่นใจ แต่เนื่องจากว่าเพื่อนมิชชันนารีหลายๆ คนมิได้ถูกถาม ข้าพเจ้าเชื่อว่าพระคุณเจ้าจะต้องสอบถามพวกเขาแน่ และข้าพเจ้าสนับสนุนคำเรียก ร้องนี้ด้วยการลงชื่อในจดหมาย
คุณพ่อชมิตต์ก็เขียนถึงกรุงปารีสเช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ. 1872 โดยพูดว่าเท่าที่ข้าพเจ้าทราบมาพระคุณเจ้าดือปองด์ได้ส่งจดหมายฉบับหนึ่งมายังกรุงปารีส หลังจากที่ท่านได้ขอให้บรรดามิชชันนารีทั้งหมดลงคะแนนเสียงให้คุณพ่อเวย์ สิ่งที่น่าสนใจในเวลานี้ก็คือการลงคะแนนเสียงนั้นได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ. 1872 ไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1873 บรรดามิชชันนารีทั้งหมดได้ส่งจดหมายลงคะแนนเสียงของตนไปยังกรุงปารีส ผลของการลงคะแนนเป็นดังนี้ จากบรรดามิชชันนารีทั้งหมด 15 คน ลงคะแนนเสียงให้คุณพ่อเวย์เป็นผู้รับเลือกคนแรก 5 เสียง, ให้คุณพ่อเปอัง 4 เสียง,ให้คุณพ่อชมิตต์ 3 เสียง, ให้คุณพ่อมาร์แต็ง 2 เสียง และให้คุณพ่อราบาร์แดล 1 เสียง คุณพ่อเวย์ไม่ได้ออกเสียงเพราะกำลังรักษาตาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส
ความเห็นเกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมคุณพ่อเวย์ของพระคุณเจ้าดือปองด์ ซึ่งบรรดามิชชันนารีได้ให้ไว้ในจดหมายลงคะแนน ประกอบกับเสียงลงคะแนนไม่เป็นเอกฉันท์ทำให้บรรดาผู้บริหารของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสรู้สึกขัดเขินและลังเลที่จะตัดสินใจ พวกเขาได้ส่งผลการลงคะแนนเสียงทั้งหมดไปยังสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ พร้อมทั้งความคิดเห็นของพวกเขาเอง และเสนอว่าสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อควรจะรอเวลาอันเหมาะสมในการแต่งตั้งประมุขมิสซัง
หลังจากที่ได้สวบสวนเรื่องราวแล้ว ทางกรุงโรมจึงได้ตัดสินใจที่จะรอเวลาไปก่อนจนกว่าอารมณ์และความรู้สึกต่างๆ ของบรรดามิชชันนารีจะสงบลง ดูเหมือนว่าคุณพ่อมาร์แต็งจะเดาใจกรุงโรมออก คุณพ่อรูโซได้เอ่ยถึงเรื่องนี้ในจดหมายลงคะแนนเสียงครั้งที่สองซึ่งเกิดขึ้นไม่นานหลังจากนั้นว่า:
คุณพ่อมาร์แต็งบอกกับข้าพเจ้าเมื่อวานนี้ว่า บางทีจะเป็นการดีในกรณีที่กรุงโรมจะไม่ให้พระสังฆราชแก่เรา เพื่อให้เราทำการลงคะแนนเสียงใหม่ โดยพยายามให้ผู้สมัครที่เลือกเฟ้นมาได้รับเสียงส่วนใหญ่ เพื่อให้ได้ประมุขมิสซังที่เหมาะสม
คุณพ่อเวย์เดินทางกลับจากฝรั่งเศสมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1874 ได้รับแต่งตั้งเป็นเหรัญญิกของมิสซัง ที่สุดคุณพ่อมาร์แต็งก็ได้ตัดสินใจให้มีการลงคะแนนเสียงเป็นครั้งที่สองหลังจากที่ได้รอมาเป็นเวลาถึง 1 ปีครึ่ง ท่านได้แจ้งถึงการตัดสินใจในครั้งนี้แก่บรรดามิชชันนารีในเดือนเมษายน และตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1874 มิชชันนารี 8 องค์ ได้ส่งจดหมายลงคะแนนเสียงของตนไปยังกรุงปารีส ผลการลงคะแนนเสียงเป็นดังนี้ 12 เสียงเลือกคุณพ่อเวย์, มิชชันนารี 4 องค์ ไม่ลงคะแนนเสียงให้ใครเลย อีกสององค์ลงคะแนนเสียงให้คุณพ่อเปอัง ครั้งนี้คุณพ่อเวย์ได้รับเสียงส่วนใหญ่ แต่ตัวท่านเองไม่ได้ลงคะแนนเสียง ทางกรุงโรมรับรองคะแนนเสียงของบรรดามิชชันนารี พระสันตะปาปาปี โอที่ 9 ได้แต่งตั้งคุณพ่อเวย์ให้ดำรงตำแหน่งประมุขมิสซังสยาม สังฆราชเกียรตินามแห่งเยราซา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1875 วารสาร "Missions Catholiques" ซึ่งออกโดย "Oeuvre de la Propagation de la Foi" ได้ลงข่าวการแต่งตั้งไว้ดังนี้:
ในการประชุม "Consistory" เมื่อวันที่ 17 กันยายน พระสันตะปาปา ได้แจ้งการแต่งตั้งพระคุณเจ้ายัง หลุยส์ เวย์ แห่งคณะสงฆ์มิสซังต่าง ประเทศแห่งกรุงปารีสเป็นพระสังฆราชเกียรตินามแห่งเยราซาและเป็นผู้ แทนพระสันตะปาปาแห่งสยามสืบต่อจากพระสังฆราชดือปองด์ ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1872
พิธีสมณภิเษกเป็นพระสังฆราชได้ถูกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1875 ในวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ พระสังฆราชกอลมแบรต์ ประมุขมิสซังแห่งโคชินจีน เป็นพระสังฆราชผู้อภิเษก โดยมีคุณพ่อเลอแมร์ซึ่งเป็นเพื่อนเดินทางมาจากไซ่ง่อนพร้อมกับพระคุณเจ้า และคุณพ่อมาร์แต็ง เป็นผู้ช่วยพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ส่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาร่วมในพิธีด้วย นอกจากนี้ยังมีบรรดาเสนาบดีชั้นสูงและข้าราชชั้นผู้ใหญ่ บรรดาทูตานุทูต และกงสุลจากประเทศต่างๆ ในประเทศสยามมาร่วมในพิธีด้วย ทั้งคริสตังและคนต่างศาสนามาร่วมในพิธีนี้มากกว่า 6,000 คน คณะนักขับร้องในพิธีมิสซาจำนวน 50 คน ภายหลังพิธีอภิเษก พระสังฆราชทั้ง 2 องค์ ได้รับการแห่แหนกลับไปยังบ้านพักพระสงฆ์โดยมีแตรวงที่กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญส่งมาร่วมในพิธีบรรเลงเพลงมาร์ช ในระหว่างอาหารกลางวันพระสังฆราชเวย์ได้รับจดหมายแสดงความยินดี 2 ฉบับ จากกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ของประเทศสยาม
ข. การเผยแพร่พระศาสนาในประเทศลาว
จากการศึกษาถึงงานธรรมทูตของพระสังฆราชเวย์ งานชิ้นหนึ่งที่นับว่าเป็นงานชิ้นเยี่ยมของท่านคือ การเข้าไปเผยแพร่พระศาสนาในประเทศลาว และประสบผลสำเร็จด้วยดีในงานนี้เมื่อทางกรุงโรมได้แยกมิสซังลาวออกจากมิสซังสยามในปี ค.ศ. 1899
1. จุดเริ่มต้นของการเผยแพร่พระศาสนาในประเทศลาว
พระสังฆราชมิช (Miche) ประมุขมิสซังเขมร ได้พยายามที่จะเข้าไปเผยแพร่พระศาสนาในประเทศลาวเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1858 โดยมอบหมายให้คุณพ่อโอโซแลย์ (Ausoleil) และคุณพ่อตรีแอร์ (Triaire) รับผิดชอบงานที่ยากลำบากชิ้นนี้เพื่อนำข่าวดีไปประกาศแก่ชาวลาว ท่านได้กำหนดให้เมืองหลวงพระบางเป็นสถานที่แห่งแรกของงานแพร่ธรรมนี้ เพราะท่านรู้จักเมืองนี้จากบุคคลทั่วไป เมืองหลวงพระบางตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศลาว และมีระยะทางห่างไกลจากประเทศกัมพูชา บรรดามิชชันนารีได้ตัดสินใจที่จะเดินทางไปที่นั่นโดยผ่านกรุงเทพฯ หลังจากการเดินทางอันยาวไกลและยากลำบาก คุณพ่อทั้งสองก็ได้มาถึงเมืองหลวงพระบาง ด้วยความโชคร้าย คนรับใช้ 3 คน ของพวกเขาที่เดินทางมาด้วยกันได้ป่วยเป็นไข้ป่าอย่างหนักและในที่สุดได้เสียชีวิตไป 2 คน ในขณะเดียวกัน คุณพ่อตรีแอร์ได้ป่วยเป็นไข้ป่าด้วยและได้เสียชีวิตลงหลังจากนั้นไม่นาน ดังนั้นคุณพ่อโอโซแลย์จึงได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ
ในปี ค.ศ. 1870 ระหว่างการประชุมสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 1 พระคาร์ดินัลผู้ว่าการ สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้เสนอให้พระสังฆราชดือปองด์เข้าปกครองประเทศลาวและเข้าไปเผยแพร่ศาสนา พระสังฆราชดือปองด์ได้ยอมรับข้อเสนอนี้ ในจดหมายของท่าน ท่านได้กล่าว ไว้ว่า:
ข้าพเจ้าจะพยายามไปหาข้อมูลที่เกี่ยวกับจังหวัดต่างๆ ของลาว ซึ่งสมณกระทรวงได้มอบหมายให้ข้าพเจ้าดูแลตั้งแต่ปีที่แล้ว และเตรียมบุคคลากร เพื่อส่งไปบุกเบิกในปีหน้า
อย่างไรก็ดี ท่านไม่สามารถทำตามที่ท่านได้ตระเตรียมไว้ได้ เพราะท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงในปี ค.ศ. 1872 คุณพ่อมาร์แต็งอุปสังฆราชของมิสซัง ได้กล่าวถึงเรื่องการส่งมิชชันนารีไปยังประเทศลาวตามความปรารถนาของพระสังฆราชดือปองด์ว่า คุณพ่อเวย์ซึ่งยังคงพักผ่อนอยู่ในฝรั่งเศสเป็นบุคคลที่เหมาะสมสำหรับการตัดสินใจในเรื่องนี้ อธิการของคณะ M.E.P. ควรถามคุณพ่อเวย์เกี่ยวกับเรื่องนี้
ในฐานะประมุขมิสซัง พระสังฆราชเวย์ได้เริ่มต้นงานขั้นแรกโดยการมอบหมายให้คุณพ่อโปรดอมและคุณพ่อแปร์โรไปเปิดมิสซังใหม่ในจังหวัดที่มีชาวลาวอาศัยอยู่ คุณพ่อโปรดอมได้เขียนไว้ดังนี้:
คุณพ่อแปร์โรที่แสนดีและข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาในลาว และหลังวันฉลองการถวายพระเยซูในพระวิหารแล้ว ข้าพเจ้าก็เดินทางไปทางเหนือ สามเณร 2 คน ขั้นศีลโกน ซึ่งเป็นศิษย์ของข้าพเจ้าได้เดินทางไปกับข้าพเจ้าด้วย
ในทำนองเดียวกันคุณพ่อรูโซได้ยืนยันดังนี้:
คุณพ่อโปรดอมอยู่ช่วยที่อยุธยา ท่านถูกส่งไปพร้อมกับคุณพ่อแปร์โรเพื่อบุกเบิกงานแพร่ธรรมในลาว พระคุณเจ้าได้ประกาศการเปิดมิสซัง ลาวอย่างสง่า
มิชชันนารีทั้งสองเริ่มต้นการเดินทาง โดยเดินทางผ่านสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเรียกว่า "ดงพญา ไฟ" เป็นป่าที่มีอันตรายเต็มไปด้วยไข้ป่า พวกท่านหยุดพักที่แก่งคอยซึ่งมีชาวลาวกลุ่มใหญ่อาศัยอยู่ งานแพร่ธรรมดำเนินไปด้วยดีทีเดียว แม้ว่างานเผยแพร่พระศาสนาไม่อาจดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยไม่ปราศจากปัญหานั่นคือไข้ป่า, ความขาดแคลนสิ่งของที่จำเป็นและขาดแคลนคนงาน พระสังฆราชเวย์ได้เขียนถึงหน่วยงานของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ (L'Oeuvre de la Propagation de la Foi) เพื่อขอความช่วยเหลือสำหรับสิ่งที่จำเป็นว่าดังนี้:
งานนี้เป็นงานที่ยาก ภูมิประเทศเหล่านี้เป็นภัยต่อสุขภาพ เป็นสถานที่ ที่เต็มไปด้วยไข้ป่าอยู่ตลอดเวลา แต่อันตรายเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดมิชชันนารีได้ ขอเพียงให้เขามีวัตถุปัจจัยและบุคคลากรที่จำเป็นเพื่อทำให้งานแพร่ธรรมบังเกิดผลก็พอแล้ว
ในปีแรกของงานแพร่ธรรม พวกเขาได้ก่อตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นที่นั่นพร้อมกับการโปรดศีลล้างบาปให้แก่ชาวลาว 40 คน ความสำเร็จอันดีเยี่ยมนี้เองเป็นสาเหตุให้พระสังฆราชเวย์แปลกใจ ดังนั้นท่านจึงตัดสินใจเดินทางไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนใหม่นี้ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1877 คุณพ่อ มาร์แต็งได้เล่าถึงเรื่องการเจ็บป่วยด้วยไข้ป่าของพระสังฆราชเวย์หลังจากที่ท่านได้ไปเยี่ยมกลุ่มคริสตชนใหม่นี้ ในปลายปี ค.ศ.1880 ผลของความกระตือรือร้นและความบากบั่นของมิชชันนารีทั้งสอง ทำให้มีคริสตังจำนวน 250-300 คน รวมทั้งผู้เรียนคำสอนด้วย พระสังฆราชเวย์ได้ตัดสินที่จะให้งานนี้ดำเนินต่อไปโดยให้เหตุผลดังนี้:
1. แก่งคอยไม่สามารถที่จะเป็นศูนย์กลางของมิสซัง เพราะอยู่ห่างไกลจากจังหวัดต่างๆ ของลาว;
2. อันที่จริงแล้วชาวลาวอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสยามไม่ใช่อยู่ทางภาคเหนือเหมือนกับแก่งคอย ดังนั้นในการส่งมิชชันนารีไปยังภูมิภาคนี้ของสยามเพื่อทำการสำรวจถึงความเป็นไปได้สำหรับมิสซังใหม่จะทำได้มากกว่า;
3. เจ้าเมืองของอุบลซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศสยามได้เชื้อเชิญให้บรรดามิชชันนารีพักอาศัยอยู่ในจังหวัดของเขา
ดังนั้นในวันที่ 2 มกราคม ค.ศ. 1881 พระสังฆราชเวย์ได้ส่งคุณพ่อโปรดอมและคุณพ่อซาเวียร์ เกโก ไปอุบลอย่างเป็นทางการเพื่อเริ่มต้นก่อตั้งมิสซังใหม่ในประเทศลาว คุณพ่อทั้งสองออกจากกรุงเทพฯ ในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1881 พร้อมด้วยครูคำสอน 1 คน และคนรับใช้จำนวนหนึ่ง หลังจากการเดินทางอันยาวนานและยากลำบาก พวกเขาก็มาถึงอุบลในวันอาทิตย์ปัสกาที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1881 ใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 102 วัน
เนื่องจากได้รับอนุญาตจากเจ้าเมืองพวกเขาสามารถที่จะเป็นเจ้าของที่ดินที่เจ้าของเดิมได้ละทิ้งไปโดยอ้างว่ามีวิญญาณชั่วร้ายสิงอยู่ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ชาวลาวจำนวนหนึ่งได้พากันมาดูคุณพ่อทั้งสอง ดังนั้นคุณพ่อทั้งสองจึงถือเป็นโอกาสดีที่จะทำการเทศน์สอนเพื่อประกาศข่าวดีแก่พวกเขา การมาถึงของพวกมิชชันนารีทำให้พวกพ่อค้าทาสไม่พอใจและวิตกกังวล พวกเขารู้สึกว่าพวกมิชชันนารีจะเป็นอุปสรรคขัดขวางพวกเขาในการทำสิ่งทุจริตผิดกฎหมายด้วยการปล่อยให้พวกทาสเป็นอิสระ หรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่กรุงเทพฯ ทราบว่าพวกเขากำลังทำอะไร เพราะฉะนั้นพวกพ่อค้าทาสจึงได้กล่าวร้ายว่าพวกมิชชันนารีมาเพื่อค้าทาสเช่นเดียวกัน ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ในหมู่ชาวลาวเกิดขึ้นไม่นานเพราะมันเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับ ความเป็นจริง เนื่องจากพวกเขาได้เห็นแล้วว่าพวกมิชชันนารีได้ยื่นฟ้องพ่อค้าทาสต่อศาลและช่วยให้พวกทาสได้เป็นอิสระ เริ่มมีการกลับใจมาเป็นคริสตัง กลุ่มคริสตชนหลายๆ กลุ่มได้ถูกก่อตั้งขึ้นและเจริญก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี ในปี ค.ศ. 1883 พระสังฆราชเวย์ได้รายงานถึงกรุงปารีสว่าพวกมิชชันนารีกำลังวางแผนการที่จะ ตั้งหลักฐานในประเทศลาว พวกเขาได้สำรวจสภาพภูมิประเทศไปจนถึงเวียงจันทน์ พระคุณเจ้า ได้ขอร้องไปยังสภาบริหารของคณะ M.E.P. ด้วยความร้อนรนหลายต่อหลายครั้ง เพื่อขอความช่วยเหลือสำหรับสิ่งที่จำเป็นในการเผยแพร่พระศาสนาในประเทศลาว ตามที่สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้มอบหมายให้พระคุณเจ้าทุ่มเททุกอย่างเพื่องานนี้
จำนวนคริสตังและผู้เรียนคำสอนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทีเดียว ในปี ค.ศ. 1885 มีคริสตังจำนวน 485 คน และผู้เรียนคำสอนมากกว่า 1,500 คน และในปี ค.ศ. 1888 มีคริสตังจำนวน 648 คน และผู้เรียนคำสอนมากกว่า 4,500 คุณพ่อโปรดอมได้รายงานถึงกรุงปารีสว่าดังนี้:
จำนวนผู้รับศีลล้างบาปซึ่งเป็นคนนอกศาสนา ได้บรรลุถึงจุดเป้าหมายด้วยดี คือมีจำนวนถึง 1,000 คนอย่างแน่นอน และอาจจะมีถึง 10,000 คน ถ้าเรามีบุคลากรมากขึ้น
อันที่จริงพระสังฆราชเวย์ไม่ลืมปัจจัยสำคัญเหล่านี้สำหรับมิสซังใหม่ ท่านได้ให้ความช่วยเหลืองานแพร่ธรรมในประเทศลาวมากเท่าที่ท่านจะสามารถช่วยได้ ทุกๆ ปี มิชชันนารีบางคนจากประเทศลาวจะเดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อรายงานเกี่ยวกับงานแพร่ธรรมที่พวกเขาได้ทำไป และนำเอาสิ่งที่จำเป็นทั้งหลาย อาทิเช่น เครื่องบริโภค, สิ่งของที่ได้รับบริจาค, เงินเดือนครูคำสอน, เงินช่วยเหลือสำหรับงานแพร่ธรรม รวมทั้งมิชชันนารีองค์ใหม่และครูคำสอน กลับไปยังประเทศลาว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1881 จนถึงปี ค.ศ. 1889 พระสังฆราชเวย์ได้ส่งมิชชันนารี 19 องค์ และครู คำสอน 14 คน ไปยังประเทศลาว แน่นอนว่าบุคลากรเหล่านี้ไม่เพียงพอกับมิสซังใหม่ที่กำลังเจริญก้าวหน้า แต่พวกเขาคือสิ่งหนึ่งที่เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้งานแพร่ธรรมประสบผล สำเร็จ
2. การแบ่งแยกมิสซังลาว
การแยกมิสซังลาวออกจากมิสซังสยาม และสถาปนามิสซังลาวขึ้นเป็นมิสซังใหม่เป็นความคิดของพระสังฆราชเวย์ โดยพระคุณเจ้าได้ให้เหตุผลไว้ดังต่อไปนี้คือ:
1. พระคุณเจ้าได้ตระหนักดีว่า พระเป็นเจ้ากำลังเตรียมการเพื่ออนาคตสำหรับความประสงค์อันนี้เพราะว่าบรรดาเจ้าเมืองต่างๆ ที่กำลังปกครองชาวลาวอยู่ในจังหวัดต่างๆไม่ทำตัวเป็นศัตรูของมิสซังและยังให้ความร่วมมือ สิ่งนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญมากสิ่งหนึ่งสำหรับมิสซังใหม่
2. การคมนาคมติดต่อระหว่างชาวลาวในจังหวัดต่างๆ และกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของมิสซังเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะว่ามิสซังสยามกว้างใหญ่และดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็ถูกกำหนดให้เป็นของประเทศฝรั่งเศส พวกมิชชันนารีต้องเดินทางไปยังกรุงเทพฯ โดยทางแม่น้ำโขง ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางมากและเป็นไปด้วยความยากลำบาก พระคุณเจ้าคิดว่าถ้าสถาปนามิสซังใหม่ขึ้นมา มิสซังลาวก็สามารถที่จะติดต่อกับกรุงปารีสได้โดยตรงโดยผ่านทางไซ่ง่อน
3. มิสซังสยามไม่สามารถให้ความช่วยเหลือมิสซังใหม่ได้ เพราะว่ามิสซังสยามเองยังต้องการบุคลากรและวัตถุปัจจัยอีกมากสำหรับงานแพร่ธรรมที่กำลังเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
4. ความเจริญก้าวหน้าของมิสซังลาวสามารถใช้เป็นเหตุผลที่ดี สำหรับเสนอต่อกรุงโรมเพื่อให้มีการ สถาปนามิสซังใหม่ อันที่จริงพระคุณเจ้าเวย์ได้แสดงจำนวนคริสตังรวมทั้งหมดที่อยู่ในประเทศลาวจำนวน 7,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณป่าสักจนถึงแก่งคอย ในปี ค.ศ. 1896 และในปี ค.ศ. 1897 ท่านได้รายงานถึงสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อดังนี้:
ในปี ค.ศ. 1897 พวกคริสตังจำนวนมากพอสมควรอาศัยอยู่ในจังหวัดต่างๆ จำนวนของผู้ที่เพิ่งกลับใจใหม่รวมทั้งสิ้นคือ 8,000-9,000 คน
ดังนั้นในปี ค.ศ. 1896 ท่านจึงเสนอเรื่องนี้ต่อกรุงปารีส สภาบริหารของคณะ M.E.P.ได้เห็นชอบกับข้อเสนอนี้ อธิการของคณะ M.E.P. ได้ส่งจดหมายถึงประมุขมิสซังโคชินไชน่าตะวันออก, โคชินไชน่าตะวันตก, ตองกินเหนือ, ตองกินใต้, ตองกินตะวันตกและกัมพูชา เพื่อขอความเห็นสำหรับขอบเขตของมิสซังลาวซึ่งเป็นมิสซังใหม่ ประมุขมิสซังทั้งหมดที่อยู่ในภูมิภาคนี้ได้ให้ความร่วมมือในทันทีและส่งความคิดเห็นของตนไปยังกรุงปารีส พระสังฆราชเวย์ได้เสนอเรื่องการก่อตั้งมิสซังลาวและการแต่งตั้งประมุขมิสซังไปยังสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อด้วยเช่นกัน ท่านกล่าวว่า:
ถึงเวลาแล้วที่จะเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งประมุขมิสซังใหม่ เพราะการคมนาคมติดต่อกับกรุงเทพฯ ต้องใช้เวลานานและเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก ต้องใช้เวลาถึง 40 วัน เพื่อที่จะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังอุบลซึ่งเป็นศูนย์กลางในการติดต่อของมิสซังลาว
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1897 กรุงปารีสได้แจ้งให้พระสังฆราชเวย์ทราบว่าสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้ตกลงแยกมิสซังลาวออกจากมิสซังสยามแล้ว ในวันที่ 17 มกราคม ค.ศ. 1898 บรรดามิชชันนารีต่างๆ ที่ทำงานอยู่ในประเทศลาวได้รับเชิญให้มาลงคะแนนออกเสียงเพื่อเลือกประมุขมิสซังลาวองค์แรกของพวกเขา
3. บทบาทของพระสังฆราชเวย์ในการเลือกตั้ง
บรรดามิชชันนารีทั้งหมดที่ทำงานอยู่ในประเทศลาวได้มาใช้สิทธิในการออกเสียงมิชชันนารีจำนวน 9 องค์ ได้ส่งผลการลงคะแนนเสียงของตนไปยังกรุงปารีสในเดือนมกราคม ค.ศ. 1898 ผู้ได้รับเลือกคนแรกคือ คุณพ่อด็องต์มิชชันนารีองค์หนึ่งของมิสซังสยาม ท่านได้รับคะแนนเสียง 5 เสียง ขณะเดียวกันผู้รับเลือกคนที่สองคือ คุณพ่อโปรดอมได้รับคะแนนเสียง 2 เสียง
ความเห็นของพระสังฆราชเวย์ในการเลือกตั้งนี้ไม่เหมือนกับคนอื่นๆ กล่าวคือสัญชาติของคุณพ่อด็องต์คือเบลเยี่ยมในเวลานั้นสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศลาวค่อนข้างจะตึงเครียดระหว่างประเทศสยามและประเทศฝรั่งเศส และรัฐบาลของประเทศฝรั่งเศสจะมีความพอใจมากที่มีชาวฝรั่งเศสเป็นประมุขมิสซังในภูมิภาคนี้ เพื่อเห็นแก่มิสซังลาว การแต่งตั้งคุณพ่อด็องต์จะเป็นการไม่เหมาะสม อธิการของคณะ M.E.P. ก็เห็นชอบกับท่านในเรื่องนี้ด้วย ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1898 ทางคณะ M.E.P. ได้มีคำสั่งให้บรรดามิชชันนารีลาวทั้งหมดทำการลงคะแนนเสียงเป็นครั้งที่สอง คุณพ่อซาเวียร์ เกโก เป็นมิชชันนารีองค์แรกที่เข้ามาเผยแพร่พระศาสนาในประเทศลาวพร้อมกับคุณพ่อโปรดอมได้ยืนยันถึงข้อเท็จจริงว่าดังนี้:
จดหมายเวียนที่ท่านได้ส่งให้แก่บรรดามิชชันนารีทั้งหมดของประเทศลาว เพื่อแจ้งให้ทราบถึงสัญชาติของคุณพ่อด็องต์ เป็นอุปสรรคต่อการแต่งตั้งท่านเป็นประมุขของมิสซังลาว
การออกเสียงครั้งที่สองจัดให้มีขึ้นในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1898 เวลานี้คุณพ่อกืออาซ มิชชันนารีองค์หนึ่งของมิสซังสยาม ได้รับคะแนนเสียง 5 เสียงจาก 10 เสียง และคุณพ่อโปรดอมได้รับ 4 เสียง ในจดหมายของท่านคุณพ่อโปรดอมได้เขียนไว้ว่าดังนี้:
คุณพ่ออธิการส่งจดหมายของท่านมาถึงพร้อมกับจดหมายเวียนของพระคุณเจ้าเวย์ซึ่งถูกส่งไปยังบรรดามิชชันนารีเพื่อเสนอแนะให้พวกเขาเลือกคุณพ่อกืออาซ ซึ่งเป็นมิชชันนารีของสยาม จดหมายเวียนของพระคุณเจ้าเวย์เสนอเพิ่มเติมให้บรรดามิชชันนารีทั้งหมด ส่งผลการลงคะแนนของพวกเขาให้กับพระคุณเจ้าก่อนที่จะส่งไปยังกรุงปารีส คุณพ่ออธิการ ข้าพเจ้าต้องยอมรับกับท่านว่าข้าพเจ้ารู้สึกแปลกใจเล็กน้อยกับวิธีการเช่นนี้
กรุงปารีสได้ถามความเห็นส่วนตัวของพระคุณเจ้าเวย์ เกี่ยวกับผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นประมุขมิสซังลาวในอนาคต ท่านได้ให้คำตอบดังนี้:
ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่า คุณพ่อโปรดอมเหมาะสมที่จะเป็นพระสังฆราช ซึ่งเห็นได้จากพฤติกรรมส่วนตัวของท่าน และเห็นได้จากสถานการณ์ของมิสซังลาวตั้งแต่มีสนธิสัญญากับฝรั่งเศส
พระคุณเจ้าได้แสดงความเห็นส่วนตัวว่า คุณพ่อกืออาซเป็นบุคคลที่เหมาะสมสำหรับการเป็นพระสังฆราช นอกจากนี้คุณพ่อยังเป็นผู้มีปัญญา มีความสามารถในการพูดภาษาสยามและภาษาเวียดนามได้ จึงเป็นการง่ายสำหรับคุณพ่อกืออาซในการที่ท่านจะเรียนภาษาลาว แต่ที่นอกเหนือจากนี้คือ ท่านรู้ว่าจะติดต่อเรื่องการงานอย่างไรกับผู้มีอำนาจทั้งสองฝ่าย คือชาวฝรั่งเศสและชาวสยาม
ในที่สุดพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ได้สถาปนามิสซังลาวขึ้นในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1898 และคุณพ่อกืออาซได้รับแต่งตั้งเป็นประมุขมิสซังลาวในวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1899 ในรายงานประจำปีของพระสังฆราชเวย์ในปี ค.ศ. 1899-1900 ท่านได้บรรยายถึงพิธีอภิเษกพระสังฆราชกืออาซซึ่งได้จัดให้มีขึ้นในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1899 ที่วัดแม่พระลูกประคำกาลหว่าร์ กรุงเทพฯ ผู้ช่วยในการอภิเษกคือ พระสังฆราชโกรยอร์จ (Grosgeorge) ประมุขมิสซังกัมพูชา และพระสังฆราชโมซารด์ (Mossard) ประมุขมิสซังโคชินไชน่าตะวันตก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานให้พระคุณเจ้าทั้งสองได้เข้าเฝ้าในวันต่อมา
เมื่อพระสังฆราชกืออาซเดินทางมาถึงประเทศลาวในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1899 มีคริสตังจำนวน 9,262 คน, ผู้เรียนคำสอน 1,761 คน และมิชชันนารีที่กำลังทำงานอยู่ในประเทศลาวจำนวน 20 องค์
ค. ความก้าวหน้าของมิสซังสยาม
ภายใต้การปกครองของพระสังฆราชเวย์ ซึ่งได้ปกครองมิสซังมาเป็นเวลานานถึง 34 ปี มิสซังสยามได้เจริญก้าวหน้าอย่างมากในหลายๆ ด้าน จากรายงานประจำปีของคณะ M.E.P.ได้แสดงให้เราเห็นถึงความแตกต่างอย่างมากมาย โดยดูได้จากความก้าวหน้าที่เห็นได้ทั่วๆ ไป จากการตรวจสอบรายงานประจำปีของพระสังฆราชเวย์ สิ่งที่สามารถพบได้คือท่านได้กล่าวถึงสถานที่แพร่ธรรมแห่งใหม่, โบสถ์ใหม่หรือวัดน้อยที่ได้ตั้งขึ้นและมีการสร้างขึ้นเกือบทุกปี ในรายงานประจำปีของท่านในปี ค.ศ. 1877 ท่านได้บอกว่าความสำเร็จของปีนี้เป็นผลที่ได้รับมาจากปีก่อน และเนื่องจากมีคริสตังใหม่ที่ได้รับศีลล้างบาปอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ท่านจึงได้สร้างวัดน้อยขึ้น 2 แห่ง:
เราสามารถจัดตั้งสถานที่ใหม่ 2 แห่ง พร้อมกับวัดน้อยที่ซึ่งบรรดาผู้ที่เพิ่งได้รับศีลล้างบาปมาร่วมกันสวดภาวนาและร่วมถวายบูชามิสซาในวันที่มิชชันนารีไปเยี่ยม
ที่จันทบูรณ์ได้มีการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนใหม่ขึ้นในหมู่บ้านซึ่งมีคริสตังจีนบางคนอาศัยอยู่ ในขณะเดียวกันบรรดามิชชันนารีก็กำลังก่อตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นที่บ้านกะชาซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งที่เต็มไปด้วยครอบครัวคนจีน ที่โคราชคือสถานที่ใหม่แห่งหนึ่งที่ถูกก่อตั้งในปีนั้นด้วย ท่านบอกว่า:
มีที่ราบสูงโคราชตามเส้นทางตะวันออกของแม่น้ำ เป็นสถานที่แห่งหนึ่งที่มีผู้กลับใจใหม่ถึง 100 คนแล้ว ทำให้เราเกิดความหวังว่าจะประสบผลสำเร็จในอนาคต
ที่ดอนกระเบื้องในจังหวัดราชบุรีพระสงฆ์พื้นเมืององค์หนึ่งซึ่งรับภาระเป็นผู้จับจองที่ดินและสร้างโรงสวดสำหรับใช้เป็นวัดและสอนคำสอนแก่คริสตังสำรอง
วัดอยุธยาซึ่งเป็นวัดที่สวยและสง่างามที่สุดก็ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ด้วย ในระหว่างการประชุมของบรรดาประมุขมิสซังและผู้มีอำนาจของมิสซังในภูมิภาคนี้ของโลก ซึ่งจัดให้มีขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ พระสังฆราชเวย์ได้เสนอโครงการหนึ่งของมิสซังสยาม และของคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสด้วยเช่นกัน โครงการนี้ได้รับความเห็นชอบจากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด นั่นคือโครงการก่อสร้างวัดนักบุญยอแซฟอยุธยาหลังใหม่ ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะถูกทำลายในปี ค.ศ. 1767 มิสซังสยามมีความมั่นคง มีโบสถ์ที่สวยงามซึ่งยกถวายแด่นักบุญยอแซฟ มิสซังสยาม ได้ถูกนับว่าเป็นมิสซังแรกของคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส และโบสถ์แห่งนี้นับว่าเป็นศูนย์กลางแห่งแรกของคณะ
พระสังฆราชประมุขมิสซัง 8 องค์ ซึ่งองค์แรกคือพระสังฆราชแห่งเบริธ และมิชชันนารีอีก 30 องค์ ถูกฝังไว้ที่นั่นท่ามกลางซากปรักหักพังของกำแพง
สำหรับโครงการนี้พระสังฆราชเวย์ได้ขอเงินจำนวน 3,000 ถึง 4,000 ฟรังก์ จากกรุงปารีสเพื่อจะก่อสร้างโบสถ์หลังใหม่ ท่านได้พูดต่อไปด้วยว่า:
ควรจะส่งเสริมให้มีการป้องกัน รักษาหลุมฝังศพของบรรดาผู้ก่อตั้งมิสซังให้รอดพ้นจากสิ่งเลวร้ายภายนอก และให้พวกเขาได้รับเกียรติในวัดที่พวกเขาได้ก่อสร้างไว้เช่นเดียวกับที่พวกเขาเคยได้รับในอดีต
ประมุขมิสซังองค์อื่นๆ ทั้งหมดและผู้มีอำนาจของมิสซังเห็นด้วยกับโครงการนี้โดยให้เหตุผลดังนี้:
พวกเราเห็นชอบด้วย และขอให้พวกท่านได้เอาใจใส่เป็นอย่างดี เพื่อเป็นเกียรติให้แก่ทุกคนในคณะของเรา พวกเราจะยินดีมากที่เห็นวัดอยุธยา ซึ่งเป็นวัดแม่ของวัดทั้งหลายได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ หลังจากที่ได้ถูกทอดทิ้งมาเป็นระยะเวลานานกว่า 100 ปีแล้ว
กรุงปารีสเห็นด้วยกับโครงการนี้และมอบเงินจำนวน 3,000 ฟรังก์ แก่พระสังฆราชเวย์เพื่อใช้ในการก่อสร้างวัดนักบุญยอแซฟหลังใหม่ ภายใต้การควบคุมดูแลของคุณพ่อแปร์โร วัดได้เริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 1883 และเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1891
ในปี ค.ศ. 1890 พระสังฆราชเวย์ได้รายงานถึงกรุงปารีสว่ามีการก่อตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้น 4 แห่งในจังหวัดต่างๆ ของประเทศสยาม และในปี ค.ศ. 1896 ท่านได้สรุปถึงความเจริญก้าวหน้าของมิสซังสยามต่อสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อว่าดังนี้:
กลุ่มคริสตชนใหม่ที่เกิดขึ้นแล้ว 5 แห่ง โดยเฉพาะชาวลาว อยู่ในจังหวัดราชบุรี, นครชัยศรี, อยุธยา, นครนายก และปราจีน
จนถึงปี ค.ศ. 1907 ท่านยังคงกล่าวถึงกลุ่มคริสตชนใหม่บางกลุ่มที่ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ในปี ค.ศ. 1873 เมื่อพระสังฆราชดือปองด์ถึงแก่มรณภาพ มิสซังสยามมีคริสตังจำนวน 10,000 คน, วัดและโรงสวด 22 แห่ง, สามเณร 49 คน, พระสงฆ์พื้นเมือง 6 องค์ และครูคำสอน 16 คน แต่ในปี ค.ศ. 1899 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายในสมัยการปกครองของพระสังฆราชเวย์ มิสซังสยามมีคริสตังจำนวน 23,600 คน, วัดและโรงสวด 57 แห่ง พร้อมด้วยกลุ่มคริสตชน 79 กลุ่ม, สามเณร 59 คน, มิชชันนารี 44 องค์, พระสงฆ์พื้นเมือง 21 องค์, นักบวชชาย 17 รูป, นักบวชหญิง 123 รูป, ครูคำสอน 21 คน, วิทยาลัย 3 แห่ง พร้อมด้วยนักเรียน 861 คน, โรงเรียน 62 แห่งพร้อมด้วยนักเรียน 2,692 คน และโรงพยาบาล 1 แห่ง
นอกจากความกระตือรือร้นและความมุมานะบากบั่นของพระสังฆราชเวย์และบรรดามิชชันนารีของท่านแล้ว ยังมีปัจจัยที่สำคัญบางอย่างด้วยที่มีส่วนทำให้มิสซังได้รับความเจริญก้าวหน้า เราจำต้องนำมาพิจารณาด้วยได้แก่ สถาณการณ์ของประเทศ, วิธีการทำงานของบรรดามิชชันนารี, อุปสรรคต่างๆ เป็นต้น
ง. วิธีการต่างๆ ในการแพร่ธรรมของพระสังฆราชเวย์
ความเจริญก้าวหน้าของมิสซังสยามไม่ได้เกิดขึ้นโดยปราศจากอุปสรรคบางอย่าง ซึ่งผมจะบรรยายในภายหลัง ความเจริญก้าวหน้านี้ขึ้นอยู่กับการบริหารของพระคุณเจ้าอย่างมาก เกือบตลอดเวลาที่มิสซังต้องประสบกับความยุ่งยาก และได้รับการต่อต้านจากคนต่างศาสนาบางคนและมีปัญหาบางอย่าง พระคุณเจ้าไม่เคยละเลยที่จะทำให้งานเผยแพร่พระศาสนาเจริญก้าวหน้า ท่านได้บุกเบิกในที่แห่งใหม่และก่อตั้งเป็นกลุ่มคริสตชนขึ้น
1. ความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลสยาม
ความสัมพันธ์อันดีระหว่างมิสซังคาทอลิก และรัฐบาลสยามไม่ได้หมายความถึงการที่มิสซังเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในงานด้านการเมืองของประเทศ แต่เพราะว่าเหตุการณ์ทางการเมืองทั้งหลายที่เกิดขึ้นในประเทศสยามส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากประเทศฝรั่งเศส สิ่งนี้อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวสยามไม่เต็มใจที่จะมีความสัมพันธ์กับมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส แน่นอนทีเดียวพระสังฆราชเวย์ได้พิจารณาถึงท่าทีอันนี้ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการเผยแพร่พระศาสนา ท่านก็มีจุดยืนของท่านเองเมื่อวิกฤตการณ์วังหน้าเกิดขึ้น ท่านตระหนักในใจว่าวิกฤตการณ์นี้จะเป็นสาเหตุให้เกิดความยุ่งยากบางอย่างต่อมิสซัง ท่านได้บอกเรื่องนี้ต่อกรุงปารีสว่า ท่านจะพยายามป้องกันมิสซังไม่ให้ เข้าไปเกี่ยวข้องในทางการเมือง เพราะว่าการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองจะไม่เป็นผลดีต่องานทางศาสนา ท่านได้ยืนยันถึงจุดยืนของท่านเมื่อท่านได้เขียนไว้ดังนี้:
ข้าพเจ้าเชื่อว่าข้าหลวงที่ข้าพเจ้ารู้จักทุกคน พร้อมที่จะให้การต้อนรับและคุ้มครองคณะสงฆ์ของเรา แน่นอน เราไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่าเป็นการดีที่จะฉวยโอกาสนี้ ซึ่งเป็นผลดีอย่างมากสำหรับความพยายามในการก่อตั้งพระอาณาจักรของพระเป็นเจ้า
ในปี ค.ศ. 1876 รัฐบาลสยามได้ขอให้พระสังฆราชเวย์ช่วยเหลือเพื่อเห็นแก่งานทางการเมืองที่สำคัญงานหนึ่ง เจ้าชายองค์วาธา พระอนุชาองค์หนึ่งของพระเจ้าแผ่นดินกัมพูชา ซึ่งมาพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นระยะเวลานาน ได้เดินทางออกจากประเทศสยามกลับไปยังประเทศกัมพูชา เพื่อจะทำการล้มล้างรัฐบาลของพระเชษฐา แล้วพระองค์ก็สามารถยึดครองสามจังหวัดของกัมพูชาได้ ชาวกัมพูชาได้ยอมจำนนอยู่ภายใต้อำนาจของพระองค์ รัฐบาลของโคชินไชน่าได้ส่งกองทหารฝรั่งเศสเข้ามายังกรุงพนมเปญแล้ว ฝ่ายรัฐบาลสยามไม่รู้เรื่องการเดินทางออกนอกประเทศของพระอนุชาพระองค์นี้ และสายเกินไปที่จะหยุดพระองค์ไว้ได้ ยิ่งกว่านั้น องค์วาธายังได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์จากชาวสยามคนหนึ่งที่เป็นเจ้าเมืองอยู่ทางจังหวัดชายแดน สิ่งนี้เองเป็นผลให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นระหว่างชาวสยามและผู้มีอำนาจชาวฝรั่งเศส ดังนั้นกงสุลฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ จึงได้ขอคำอธิบายจากรัฐบาลสยาม รัฐบาลสยามได้ตัดสินใจส่งขุนนางชั้นสูงไปยังเมืองอังกอร์ (Angkor) เพื่อเข้าไปเชื่อมความสัมพันธ์กับตัวแทนของผู้อารักขาของประเทศกัมพูชา และพลเรือเอกของไซ่ง่อนเพื่อจะควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง เพื่อเห็นแก่ภารกิจนี้รัฐบาลสยามต้องการให้มีมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสองค์หนึ่งไปกับขุนนางผู้นั้นด้วย เพื่อทำหน้าที่เป็นล่าม และกงสุลฝรั่งเศสก็มีความต้องการเช่นนี้ด้วย เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศได้ขอมิชชันนารีองค์หนึ่ง
จากพระสังฆราชเวย์ ซึ่งพระคุณเจ้าได้พิจารณาเห็นว่างานชิ้นนี้มีความสำคัญมาก เพราะว่าบางทีงานชิ้นนี้สามารถจะนำผลเสียมาสู่ประเทศสยามได้ ด้วยเหตุนี้เอง ท่านจึงไม่กล้าส่งมิชชันนารีที่ท่าน ไม่มีความไว้วางใจไป
รัฐบาลได้ขอร้องข้าพเจ้าอย่างจริงจัง ให้มิชชันนารีองค์หนึ่งเป็นล่ามของคณะทูตของรัฐบาล และคุณพ่อแปร์โรคือบุคคลที่ข้าพเจ้าได้แต่งตั้งเพื่อรับหน้าที่นี้
ผลของงานด้านการเมืองชิ้นนี้เป็นไปตามที่พระสังฆราชเวย์คาดหวังไว้ คุณพ่อรูโซ ได้รายงานถึงกรุงปารีสว่าดังนี้
เหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดีสำหรับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสยาม ในตอนแรก เรากลัวว่าจะมีเหตุการณ์รุนแรง แต่ทุกอย่างสงบเรียบร้อยดี และสยามก็ผ่านพ้นเหตุการณ์ที่เลวร้ายมาได้โดยปลอดภัย พวกเราไม่ได้แตะต้องจังหวัดต่างๆ ของกัมพูชาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของราชอาณาจักรสยามเลย ผลสรุปก็คือ บรรดาเจ้าเมืองในจังหวัดต่างๆ ได้ถูกกำชับให้คอยดูแลจังหวัดของตน และเพื่อเป็นการแสดงถึงมิตรภาพซึ่งทุกคนต่างก็ปรารถนาให้คงอยู่อย่างถาวรสืบไป
เนื่องจากภารกิจที่วิเศษสุดอันนี้เอง พระเจ้าแผ่นดินแห่งสยามได้มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือกอันทรงเกียรติแก่คุณพ่อรูโซ คุณพ่อหวังว่าภารกิจอันนี้จะก่อให้เกิดผลที่ตามมาในทางที่ดีต่อมิสซังคาทอลิกแห่งสยามมากเหมือนกัน
เหตุการณ์ทางการเมืองอีกประการหนึ่งซึ่งค่อยๆ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมิสซังและรัฐบาลแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เมื่อวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศสยามและประเทศฝรั่งเศสเริ่มขึ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. 1893 ติดตามมาด้วยการขับไล่ที่ไม่สามารถจะอธิบายได้ของตัวแทนการค้าชาวฝรั่งเศส 2 แห่ง จากบริเวณแม่น้ำโขงตอนกลาง รวมทั้งเรื่องการตายของกงสุลฝรั่งเศสที่หลวงพระบาง ฝรั่งเศสเรียกร้องสิทธิ์อย่างเปิดเผยที่จะเอาฝั่งลาวทางตะวันออกของแม่น้ำโขงมาเป็นกรรมสิทธิ์ โดยถือสิทธิ์ที่เป็นผู้อยู่เหนือเวียดนาม บุคคลสำคัญในเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ซึ่งนำไปสู่วิกฤตการณ์ระหว่างสยามและฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1893 คือนายออกุสต์ ปาวี (Auguste Pavie) ฝรั่งเศสได้ส่งเรือปืน 3 ลำ มีชื่อว่าเรือปืนแอ็งกองสตังต์, โกแม็ต, ลูแต็ง ขึ้นไปที่แม่น้ำเจ้าพระยามุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ โดยบีบบังคับให้การป้องกันต่างๆ ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาไม่สามารถบังเกิดผล จากนั้นนายปาวีก็ได้ยื่นคำขาดและเรียกร้องให้มอบลาวตะวันออกทั้งหมดของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ยิ่งกว่านั้นข้อเรียกร้องต่างๆ ก็ทะยอยเข้ามาอีกโดยเรียกร้องที่จะยึดครองจันทบุรีและตราดซึ่งเป็นหัวเมืองชายทะเลทั้งสองแห่งของประเทศสยาม มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชาโดยอ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ระบุอยู่ในข้อเรียกร้องนั้น จึงจะยอมคืนหัวเมืองทั้งสองให้ ที่จริงนายปาวีได้ส่งคนให้ไปตามพระสังฆราชเวย์มาพบ และสั่งให้พระคุณเจ้าเรียกบรรดามิชชันนารีทั้งหมดให้เข้ามาอยู่ที่กงสุลฝรั่งเศส เนื่องจากเรือปืนของฝรั่งเศสจะยิงปืนถล่มกรุงเทพฯ ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1893 เพื่อบีบบังคับสยามให้ยอมจำนนต่อเงื่อนไขต่างๆ พระสังฆราชเวย์รีบไปที่กงสุลฝรั่งเศสทันที และได้ย้ำอย่างแข็งขันว่าท่านจะไม่ยอมเรียกบรรดามิชชันนารีทั้งหมดมา พร้อมทั้งขอร้อง นายปาวีและกัปตันเรือปืนทั้งหมดไม่ให้ยิงถล่มกรุงเทพฯ พระคุณเจ้าขอร้องให้พวกเขาติดต่อกับ กรุงปารีสเพื่อหาทางประนีประนอมกับประเทศสยามโดยสันติแทน ในที่สุด นายปาวีได้สัญญาที่จะทำตามสิ่งที่พระสังฆราชเวย์ได้ขอร้อง พระคุณเจ้ามิได้กลับไปที่พักจนกระทั่งวันต่อมา เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนใจประเทศสยามไม่มีทางต่อสู้กับการปิดล้อมทางเรือได้ พระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ไม่มีทางเลือก พระองค์ยอมรับข้อเสนอและตกลงใจที่จะทำสนธิสัญญากับประเทศฝรั่งเศสในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1893 ระหว่างระยะเวลาที่ไม่ปลอดภัยนี้ พระสังฆราชเวย์ได้เขียนว่า:
ในสายตาของบุคคลทั่วไปแล้ว คริสตชนคือผู้รับใช้ของชาวฝรั่งเศส พวกเขาจึงเห็นคริสตชนเหล่านี้เป็นศัตรู หลายๆ แห่งมีการตะโกนสาปแช่ง ให้ตาย สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาและกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นมาได้ พวกคริสตชนต้องตกอยู่ในภาวะอันตราย อย่างน้อยก็คือในท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากเมืองหลวง
เพื่อเห็นแก่ความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อรัฐบาลสยาม และสิ่งต่างๆ ที่พระสังฆราชเวย์ได้ทำไปเพื่อประเทศสยาม กรมหลวงเทวะวงศ์ เสนาบดีว่าการต่างประเทศ ได้ให้คำมั่นสัญญากับพระสังฆราชเวย์ว่าดังนี้:
ทุกสิ่งที่ทำได้ก็จะทำเพื่อป้องกันการเบียดเบียนคริสตชน เป็นเวลานานมาแล้วที่บุคคลชั้นสูงในกรุงเทพฯ เข้าใจแล้วว่ามิสซังคาทอลิกไม่มีจุดประสงค์ที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับงานทางด้านการเมือง
ความสัมพันธ์อันดีกับพระเจ้าแผ่นดินนี้ สำหรับพระคุณเจ้าเองมีความสำคัญไม่น้อยที่จริงแล้วนับเป็นแก่นแท้ของความสัมพันธ์อันนี้ทีเดียว เนื่องจากได้ก่อให้เกิดประโยชน์ที่ดีสำหรับมิสซัง จากการศึกษาข้อมูลของห้องเอกสารอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เราได้พบเอกสารแฟ้มหนึ่งเป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และพระสังฆราชเวย์ มีจดหมายแสดงความยินดีในวันอภิเษกเป็นพระสังฆราชของพระคุณเจ้าเวย์จากกษัตริย์ของประเทศสยามทั้งสองพระองค์รวมอยู่ด้วย ในจดหมายของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ฉบับหนึ่งลงวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1883 พระองค์ได้ทรงพูดย้ำกับพระสังฆราชเวย์ว่า พระองค์ไม่เคยคิดว่าศาสนาที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธจะเป็นศาสนาที่ไม่ดี พระองค์ทรงเต็มพระทัยที่จะอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาทุกศาสนาเพราะทุกๆ ศาสนาสอนให้คนเป็นคนดีและมีศีลธรรม
ความสัมพันธ์อันนี้ได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในปี ค.ศ. 1897เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเสด็จประพาสยุโรป พระองค์ได้ทรงมีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 พระสันตะ ปาปาเองทรงขอ Pro-memorio (รายงาน) เพื่อเตรียมต้อนรับการเสด็จครั้งนี้ด้วย ซึ่งชี้แจงถึงฐานะของคริสตังในประเทศสยาม พระสันตะปาปาทรงขอรายงานนี้จากสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ และทรงถามสมณกระทรวงด้วยว่าพระองค์จะทูลขออะไรจากพระมหากษัตริย์ เพื่อมิสซังคาทอลิกดีในระหว่างการสนทนากับพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้ส่งรายงาน นี้ไปยังพระสันตะปาปา และให้คำแนะนำสำหรับการสนทนากับพระเจ้าแผ่นดินของประเทศสยามว่าดังนี้:
เป็นพิเศษเพื่อความดีของพวกเขา พระองค์สามารถกล่าวถึงพระวาจาอันสง่างามของบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ที่จะมีกษัตริย์แห่งสยาม จะสามารถก่อให้เกิดอิสรภาพอันสมบูรณ์ทางด้านศาสนาของประชากรนี้
การพบกันระหว่างพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 และพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เป็นที่ประทับพระราชหฤทัยต่อพระมหากษัตริย์เป็นอย่างมาก ต่อหน้าที่ประชุมขุนนางเจ้าฟ้า และบรรดามิชชันนารี พระองค์โปรดให้เข้าเฝ้าเป็นพิเศษในโอกาสที่เสด็จพระนิวัติสู่ประเทศไทยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงชื่นชมพระสันตะปาปาและให้กำลังใจแก่บรรดามิชชันนารีในการทำงานที่ดีของพวกเขาต่อไป ท่ามกลางประชากรของพระองค์ ในจดหมายของพระคุณเจ้าเวย์ถึงพระสันตะปาปา ได้กล่าวย้ำคำพูดของพระมหากษัตริย์ดังนี้
ข้าพเจ้าได้พบพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่หลายองค์ และจักรพรรดิ์ผู้ทรงอำนาจหลายองค์ แต่ไม่มีสักองค์เดียวที่มีความสง่างาม, ความโอบอ้อมอารี, ความเมตตากรุณา เท่ากับผู้ที่เป็นบิดาแห่งคริสตชนทั่วโลก
2. นโยบายของพระสังฆราชเวย์ที่สอดคล้องกับการปรับปรุงประเทศ
พระสังฆราชเวย์มิได้วางเฉยต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ แต่ปรารถนาที่จะให้มิสซังได้มีส่วนในการพัฒนาประเทศด้วยเช่นกัน ท่านรู้ดีว่าไม่มีสิ่งไหนดีเท่ากับการจัดหาและเอาใจใส่ทางด้านการศึกษา ท่านจึงจัดตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นหลายแห่ง อัสสัมชัญคอลเลจ สำหรับเด็กชาย และโรงเรียนคอนแวนต์หลายแห่งสำหรับเด็กหญิงได้ถูกตั้งขึ้น ไม่รวมถึงโรงเรียนอีก 49 แห่ง ที่ตั้งขึ้นเรียบร้อยแล้วและกำลังทำการสอนอยู่ในชุมชนคาทอลิก ที่ซึ่งเด็กๆ ทั้งชายและหญิงได้รับการศึกษาเบื้องต้นและการสอนคำสอนด้านศีลธรรม จนกระทั่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเด็กๆ เหล่านี้แตกต่างจากเด็กๆ ในวัยกำลังเจริญเติบโตที่ปราศจากการฝึกอบรมต่างๆ
2.1 การศึกษา
ความปรารถนาของประเทศสยามที่จะเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้าและมีอารยธรรมที่ทันสมัย ทำให้พระสังฆราชเวย์เข้าใจว่ามิสซังจะให้ความช่วยเหลือและร่วมมือในความต้องการอันนี้ได้ ท่านส่งเสริมบรรดามิชชันนารีให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับการศึกษาเบื้องต้นในเขตท้องที่ของพวกเขา ท่านตระหนักดีว่าการปรับปรุงพัฒนาประเทศนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนควรเอาใจใส่
ถ้าหากพระมหากษัตริย์สามารถที่จะทำการปฏิรูปตามโครงการของพระองค์ในพระราชอาณาจักรได้ ศาสนาคริสต์ก็จะได้รับประโยชน์และแรงจูงใจใหม่ๆ อย่างแน่นอน
ในระหว่างการเยี่ยมเยือนอภิบาลของพระสังฆราชเวย์ ท่านพบว่ามีเด็กๆ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนมากกว่าแต่ก่อน เพราะว่าบรรดาผู้ปกครองซึ่งแต่ก่อนคัดค้านและไม่ยอมให้เด็กๆ เข้าโรงเรียน เริ่มเข้าใจถึงเหตุผลข้อนี้ ทางฝ่ายพวกมิชชันนารีนั้น พระสังฆราชเวย์ได้พูดว่า:
พวกมิชชันนารีเข้าใจบุคคลที่น่าสงสารเหล่านี้ว่า อันตรายต่อความเชื่อของลูกๆ ของพวกเขาเหล่านี้มีมากขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้นพวกเขาต้องเอาใจใส่และเสียสละมากขึ้นเพื่อช่วยให้การศึกษาเป็นไปด้วยดี
ในรายงานประจำปีของคณะ M.E.P. ของปี ค.ศ. 1884 พระสังฆราชเวย์ได้ย้ำว่ามิสซังคาทอลิกให้การบริการทางด้านการศึกษาในชุมชนคริสตังเท่านั้น แต่นี้ไปท่านจะต้องทำงานมากกว่านั้นอีก เพราะว่ากลุ่มชาวยุโรปที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้ขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็วทีเดียว และชาวสยามเองก็ต้องการเรียนภาษายุโรปมากขึ้นเรื่อยๆ เหนือสิ่งอื่นใด ถ้ามิสซังคาทอลิกไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิรูปการศึกษาแล้ว มิสซังจะเสียชื่อเสียงที่มีอยู่ไป ดังนั้นพระสังฆราชเวย์จึงได้เปิดโรงเรียนอัสสัมชัญคอลเลจขึ้นในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1885 ที่ซึ่งมีอาจารย์ชาวยุโรปและชาวสยามทำการสอนชั้นสูงใน 3 ภาษา คือ ภาษาสยาม, ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ อันที่จริงเพื่อให้โรงเรียนได้มีครู ท่านได้เขียนจดหมายถึงวิทยาลัยฝึกหัดครู St. Mary ในกรุงลอนดอน มิสเตอร์กราแฮมผู้อำนวยการของเซนต์แมรี่ได้ตกลงที่จะส่งมิสเตอร์โดโนแวนมายังประเทศสยาม สำหรับเรื่องนี้พระคุณเจ้าได้อธิบายว่า:
เราได้ตัดสินใจอีกอย่างหนึ่งคือ จะจัดตั้งโรงเรียนที่ดีๆ ขึ้น โดยจะแต่งตั้งฆราวาสที่เก่งๆ เป็นผู้รับผิดชอบการสอนภาษาอังกฤษ สำหรับการสอนภาษาฝรั่งเศสนั้น จะมอบหมายให้มิชชันนารีองค์หนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบสักระยะหนึ่งก่อน
โรงเรียนคอนแวนต์สำหรับนักเรียนหญิงได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1885 ด้วยเช่นกัน ท่านได้เตรียมทางไว้สำหรับจุดประสงค์นี้เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากเห็นได้ว่าจำนวนชาวยุโรป ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและจำนวนเด็กๆ ก็ได้เพิ่มขึ้นด้วย ท่านได้ปรึกษากับบรรดามิชชันนารีของท่านและกล่าวว่า:
เรามีความเห็นว่าจำเป็นต้องมีนักบวชหญิง เพื่อทำการสอนและฝึกอบรมลูกหลานของชาวยุโรป
เพื่อให้เป็นไปตามจุดประสงค์นี้ ท่านได้เขียนถึงประมุขมิสซังในไซ่ง่อนเพื่อขอให้นำคำขอร้องของท่านไปบอกแก่เจ้าคณะของซิสเตอร์คณะเซนต์ปอล เดอชาร์ตร ที่นั่น เซอร์เบนจามิน เจ้าคณะ ได้ตอบว่าท่านยอมรับคำเชิญของพระคุณเจ้าเวย์ด้วยความเต็มใจ แต่เนื่องจากสงครามในตองกินยังคงดำเนินอยู่ พระคุณเจ้าต้องรอไปก่อน ความคิดในการเชิญคณะนักบวชชาวยุโรปเข้ามาในประเทศสยามนั้น เป็นความคิดของพระสังฆราชดือปองด์ และพระสังฆราชเวย์ต้องการทำให้ความคิดนี้เป็นจริงเป็นจังขึ้นมา ท่านได้ทราบว่านักบวชคณะแซงค์โมร์ (St. Maur) ซึ่งอยู่ในสิงคโปร์ พร้อมที่จะมาทำงานในประเทศสยามด้วยความเต็มใจ แต่พวกเขาต้องขออนุญาตจากคุณแม่อธิการ พระคุณเจ้ายังได้เอ่ยถึงคณะ "Les Soeurs de la Providence de Portieux" ซึ่งได้ถูกจัดตั้งขึ้นในประเทศกัมพูชาด้วย แต่พวกเขาต้องทำอย่างเดียวกัน อันที่จริงตามแผนการของพระคุณเจ้า คณะนักบวชทั้งสามคณะนี้จะดำเนินงานด้านโรงเรียน, โรงพยาบาล และสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า ของมิสซัง
คุณพ่อเปอังผู้บริหารคนหนึ่งของคณะ M.E.P. ได้เขียนถึงคุณแม่อธิการิณีของซิสเตอร์คณะเซนต์ปอล เดอชาร์ตร โดยให้ข้อสังเกตว่า:
พระคุณเจ้าปรารถนาที่จะก่อตั้งสถาบันเล็กๆ ขึ้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศ โดยมีนักบวชหญิง 3-4 รูปเท่านั้น ที่จะรับผิดชอบการฝึกอบรมและการสอนเด็กหญิงชาวยุโรปที่เกิดในกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม ซิสเตอร์คณะเซนต์ปอล เดอชาร์ตร ไม่สามารถเดินทางมาประเทศสยามได้ในขณะนั้น อาจเนื่องมาจากพวกเขาต้องการส่งสมาชิกของคณะบางคนมาจากไซ่ง่อน แต่สถานการณ์ไม่อำนวยให้พวกเขาทำเช่นนั้นได้ ในที่สุดซิสเตอร์คณะแซงค์โมร์ก็มาถึงประเทศสยาม และได้รับการมอบหมายให้เป็นผู้บริหารโรงเรียนคอนแวนต์ในกรุงเทพฯ
วิทยาลัยอัสสัมชัญได้ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจสำหรับมิสซัง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องก่อสร้างอาคารเรียนหลังใหม่เพื่อรับนักเรียนชายที่ต้องการเข้ามาเรียนในวิทยาลัยแห่งนี้ พระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีได้พระราชทานเงินให้แก่มิสซังสำหรับใช้ในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว และบรรดาข้าราชการก็ร่วมกันบริจาคด้วย อาคารหลังใหม่นี้ได้สร้างและเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1889 ในรายงานที่ส่งถึงสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ พระสังฆราชเวย์ได้แจ้งให้ทราบว่าวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารโดยคุณพ่อกอลมเบต์และมีมิชชันนารีอีก 2 องค์ เป็นผู้ช่วยในการบริหาร พร้อมด้วยอาจารย์ 9 คน และครูชาวสยาม 2 คน วิทยาลัยได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และในปี ค.ศ. 1896 มีเด็กชายจำนวน 390 คน และจากเด็กในจำนวนนี้ได้รับศีลล้างบาปจำนวน 15 คน จากมิชชันนารีทุกๆ ปี นักเรียนชั้นแรกได้จบการศึกษาและกำลังทำงานอยู่ในประเทศ นักเรียน ที่เรียนจบไปแล้วหลายคนได้เขียนจดหมายถึงคุณพ่อกอลมเบต์เพื่อบอกถึงความพอใจและความสำเร็จที่ได้รับจากการศึกษา
โรงเรียนคอนแวนต์บริหารโดยซิสเตอร์คณะแซงค์โมร์ โดยการนำของแมร์เฮแลน มีนักเรียนรวมทั้งหมด 160 คน ในเวลานั้น:
ลูกสาวเล็กๆ 3 คน ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่พระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์อยู่ และเด็กหญิงอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้าฟ้าพระองค์หนึ่ง
เมื่อพิจารณาถึงการขยายตัวทั้งมิสซังและวิทยาลัย พระสังฆราชเวย์ได้ตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่จะให้คณะนักบวชมาเป็นผู้บริหารวิทยาลัย ดังนั้นท่านจึงส่งคุณพ่อเอมิล กอลมเบต์ไปประเทศฝรั่งเศสเพื่อเชิญภราดาคณะเซนต์คาเบรียลให้มารับงานนี้ คุณพ่อกอลมเบต์ได้เจรจาถึงสาระ ประโยชน์ต่างๆ และพวกเขาก็กรุณาตอบตกลงตามข้อเสนอนี้ ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1901 ภราดาคณะเซนต์คาเบรียลจำนวน 5 รูป ก็เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ และได้รับการแต่งตั้งให้บริหารวิทยาลัย อัสสัมชัญ
โดยทั่วๆ ไปแล้ว พระคุณเจ้าได้สังเกตว่าตามธรรมดาบุคคลทั่วๆ ไปต้องการส่งบุตรหลานของตนมาศึกษาในโรงเรียนคาทอลิก ท่านให้ความสนใจต่อการศึกษาเป็นอย่างมากไม่เฉพาะแต่ในกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว แต่ตามจังหวัดต่างๆ ที่ซึ่งโรงเรียนคาทอลิกต่างๆ มีบรรดามิชชันนารีเป็นผู้บริหารพร้อมด้วยซิสเตอร์และครูชาวสยาม ท่านพูดว่าการก่อตั้งโรงเรียนเป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะเป็นเหตุผลหนึ่งของงานแพร่ธรรม:
เป็นความยากลำบากสำหรับผู้ที่เพิ่งรับศีลล้างบาปที่อ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งต้องจดจำข้อคำสอนคริสตังที่ได้เรียนมา และเมื่อความจริงเป็นเช่นนี้และเกิดขึ้นเป็นประจำ เขาอาศัยอยู่ห่างไกลจากวัด ไม่สามารถไปร่วมพิธีมิสซาในวันอาทิตย์และฟังเทศน์ได้ ถ้าหากเขาอ่านหนังสือออก เขาจะมีหนังสือศาสนาติดตัวเสมอ
2.2 โรงพยาบาล
งานอีกด้านหนึ่งซึ่งกลายเป็นความต้องการเร่งด่วนในกรุงเทพฯ และดูเหมือนว่าจะสอดคล้องกับความต้องการของมิสซังคาทอลิก คือ โรงพยาบาล เพราะคนป่วย (ไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรป, ชาวสยาม, พวกพ่อค้าที่เข้ามาอยู่ในประเทศสยาม) ต้องนอนพักรักษาตัวในโรงแรมหรือในเรือบางครั้งพวกมิชชันนารีถูกขอร้องให้รับคนป่วยเข้าพักอาศัยในบ้านของตนเพื่อเห็นแก่เมตตาจิต พระสังฆราชเวย์ได้กล่าวถึงโครงการการก่อสร้างโรงพยาบาลขึ้นแห่งหนึ่งเป็นครั้งแรกในรายงานประจำปีของปี ค.ศ. 1884 แต่โครงการนี้ไม่สามารถเป็นจริงขึ้นมาได้เพราะท่านไม่สามารถจะได้รับเงินช่วยเหลืออย่างเพียงพอ
เมื่อได้เห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญในการที่จะมีโรงพยาบาลสักแห่งหนึ่งขึ้นในกรุงเทพฯ ไม่ใช่สำหรับทหารฝรั่งเศสแต่เพียงอย่างเดียว แต่สำหรับบรรดามิชชันนารีและชาวสยามที่ยากจนด้วย กงสุลฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ ได้บริจาคเงินจำนวน 100,000 ฟรังก์ แก่พระสังฆราชเวย์ และที่กรุงปารีส รัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเงินจำนวน 150,000 ฟรังก์ ให้แก่อธิการของคณะ M.E.P. เพื่อใช้ในการตระเตรียมอุปกรณ์และวัตถุที่จำเป็นสำหรับการก่อสร้างในปี ค.ศ. 1894 พระสังฆราชเวย์ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งในปี ค.ศ. 1895 และในปี ค.ศ. 1896 ท่านได้รายงานว่าได้เริ่มก่อสร้างอาคารหลังแรกและสร้างบ้านพักซิสเตอร์ ในเวลาต่อมา ท่านจะสร้างอาคารอื่นๆ สำหรับชาวสยามด้วย เพราะพวกเขาขอร้องท่านว่าโรงพยาบาลแห่งนี้ควรเปิดให้บริการแก่ชาวสยามด้วย ท่านไม่ลืมอย่างเด็ดขาดที่จะคำนึงถึงสวัสดิภาพของประชาชน โดยกล่าวว่า:
อีกไม่นานถ้าสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย การก่อสร้างโรงพยาบาลใหญ่ๆ สักแห่งหนึ่งสำหรับชาวพื้นเมืองเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามไป
จดหมายของท่านลงวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ.1884 มีข้อความที่น่าสนใจมากที่โครงการการก่อตั้งโรงพยาบาลได้รับความเห็นชอบจากพระเจ้าอยู่หัว
พวกเราได้แสดงความปรารถนาอยู่เสมอๆ ที่จะเห็นการก่อตั้งโรงพยา บาลสำหรับชาวยุโรป โดยเฉพาะซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารงานของพวก เรา
ตามโครงการของท่านแล้ว ท่านหวังจะมีคณะนักบวชหญิงจากยุโรปมาบริหารงานของโรงพยาบาล อย่างไรก็ตาม ท่านขอต่อกรุงปารีสให้ช่วยส่งซิสเตอร์มาช่วยงานสัก 4 รูป ซึ่งซิสเตอร์เหล่านี้ควรจะเดินทางมาถึงก่อนสิ้นปี ค.ศ. 1888 แต่ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1888 ท่านได้เขียนว่า:
เรื่องที่จะได้รับนักบวชหญิงมาทำงานสำหรับโรงพยาบาลเล็กๆ แบบยุโรป ไม่บังเกิดผลเป็นน่าพอใจสำหรับพวกเรา
ในวันที่ 18 กรกฎาคม ค.ศ. 1895 ท่านได้เขียนจดหมายถึงท่านอธิการิณีคณะเซนต์ปอล เดอชาร์ตร เพื่อขอซิสเตอร์ของคณะ ครั้งนี้ท่านได้ขอซิสเตอร์จำนวน 7 หรือ 8 รูป เพื่อมาทำงานในโรงพยาบาลและบริหารโรงเรียนในกรุงเทพฯ ซึ่งกำลังขยายตัวและต้องการบุคคลากรเป็นจำนวนมากที่สุดซิสเตอร์คณะเซนต์ปอล เดอชาร์ตร ก็เดินทางมาจากไซ่ง่อน เรารู้ได้จากหนังสือที่มีชื่อว่า "Notice Historque" พิมพ์ในปี ค.ศ. 1900 มีข้อความดังนี้:
ในที่สุดวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1898 ซิสเตอร์คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร จำนวน 7 รูป เดินทางมาจากไซ่ง่อน เพื่อมารับหน้าที่ดูแลบริหารงานโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ที่ก่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพฯ โดยความอุตสาหะของพระสังฆราชเวย์ ประมุขมิสซังสยาม ซิสเตอร์อีก 2 รูป รับหน้าที่บริหารนักบวชหญิงพื้นเมืองแห่งมิสซังสยาม ซึ่งในเขตตะวันออกเรียกว่า "ธิดารักไม้กางเขน" และช่วยเหลือบรรดามิชชันนารี ที่มีใจร้อนรนของเรา
แน่นอนทีเดียว การริเริ่มของพระสังฆราชเวย์นี้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นสำหรับทุกคน โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ได้ทำพิธีเปิดอย่างสง่าในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1899 คุณพ่อโรมิเออและคณะซิสเตอร์ได้ช่วยกันเตรียมพิธีและงานเลี้ยงฉลอง ชาวยุโรปที่พักอยู่ในกรุงเทพฯ และผู้แทนจากรัฐบาล ต้องการแสดงให้เห็นว่าตนพร้อมที่จะสนับสนุนและส่งเสริมงานของโรงพยาบาลแห่งนี้ จึงมาร่วมพิธีนี้กันมากมาย
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ วิธีการของพระสังฆราชเวย์สำหรับงานแพร่ธรรมของท่านคือการ เชิญคณะนักบวชเข้ามาทำงานในประเทศสยาม สิ่งนี้มีผลต่อความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงของมิสซังในทุกๆ ด้าน การเพิ่มขึ้นของบุคคลากรของมิสซังและสอดคล้องกับการปรับปรุงพัฒนาประเทศ
3. การพิมพ์และงานแพร่ธรรมของพระคุณเจ้า
เพื่อให้สอดคล้องกับการศึกษาและการสอนคำสอน การพิมพ์นับว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการเผยแพร่ข่าวดีไปยังบุคคลทั่วไป
เราจึงเป็นหนี้บุญคุณพระสังฆราชการ์โนลต์ที่ว่า การพิมพ์ได้ถูกนำเข้ามาในประเทศสยามเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1796 หนังสือ "คำสอนคริสตัง" ได้ถูกพิมพ์ขึ้นในปีนี้เอง เป็นการพิมพ์ภาษาสยามแต่ใช้อักษรโรมันเขียนแทนอักษรสยาม โดยอ่านออกเสียงและผันวรรณยุกต์เป็นภาษาสยาม เพราะตัวพิมพ์ภาษาสยามยังไม่ได้ประดิษฐ์ขึ้นในปีนั้น โรงพิมพ์แห่งนี้ได้ตั้งขึ้นที่วัดซางตาครู้ส ธนบุรี ต่อมาพระสังฆราชปัลเลอกัวได้ย้ายโรงพิมพ์มาอยู่ที่อัสสัมชัญ และท่านเป็นผู้บริหารโรงพิมพ์คาทอลิกแห่งนี้ในปี ค.ศ. 1838
โรงพิมพ์อัสสัมชัญมีพระสังฆราชเวย์เป็นผู้บริหารเมื่อท่านเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1865 ท่านได้เขียนถึงพระสังฆราชดือปองด์ซึ่งอยู่ที่กรุงโรมในเวลานั้นว่า ท่านกำลังพิมพ์หนังสือ "ประวัตินักบุญ" เป็นภาษาสยามและขออุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการพิมพ์ในกรุงเทพฯ ท่านตระหนักดีว่าการใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ไม่เเพียงแต่ใช้ในการติดต่อสื่อสารกับบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่ยังใช้ในการเทศน์สอนประกาศข่าวดีแก่พวกเขา ใช้สอนในวิทยาลัยและในโรงเรียนอีกด้วย สิ่งพิมพ์นับว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับการสอนคำสอนด้วยเช่นกัน เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์เหล่านี้ พระคุณเจ้าเวย์ได้แต่งและเรียบเรียงหนังสือขึ้นหลายเล่มในช่วงสมัยของท่านสำหรับการสอนคำสอน, การศึกษา และสำหรับมิสซังด้วย คงจะเป็นการมากเกินไปถ้าเราจะให้รายชื่อของหนังสือทั้งหมดที่พระคุณเจ้าเวย์ได้แต่งและเรียบเรียงพิมพ์ใหม่ รวมทั้งหนังสือต่างๆ ที่แต่งโดยบรรดามิชชันนารีในสมัยของท่านทั้งหมด จะเป็นการดีกว่าถ้าเราจะสรุปงานของท่านจากรายชื่อหนังสือที่แต่งขึ้นโดยบรรดามิชชันนารีของสยามดังนี้:
1. งานที่แต่งขึ้นโดยพระสังฆราชเวย์:
- พระเอวังเยลีโอ พิมพ์ในปี ค.ศ. 1904
- บทสำหรับรำพึงภาวนาด้วยพระเอวังเยลีโอในทุกทุกวันตลอดปี มี 2 เล่ม ตีพิมพ์ 2 ครั้ง พิมพ์ในปี ค.ศ. 1903-1904, 1905-1907
2. งานที่พระคุณเจ้าเวย์ได้ร่วมทำ และเรียบเรียงขึ้นใหม่
- Elementa Grammaticae Latinae พิมพ์ในปี ค.ศ. 1903
- กำหนด (กฏระเบียบของมิสซัง) พิมพ์ใหม่ในปี ค.ศ. 1870 และ 1892
- พจนานุกรมภาษาสยาม - ฝรั่งเศส - อังกฤษ พิมพ์ใหม่จากพจนานุกรมของพระสังฆราชปัลเลอกัว พระสังฆราชเวย์ได้เพิ่มคำศัพท์ใหม่จำนวนหลายร้อยคำ ตัดภาษาลาตินออก เหลือไว้แต่เพียงภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ
- พจนานุกรมภาษาลาติน-สยาม
- พจนานุกรมภาษาอังกฤษ-สยาม
3. งานที่พิมพ์ขึ้นในสมัยของท่านเป็นหนังสือที่แต่งขึ้นโดยบรรดามิชชันารีสยาม
- หนังสือคำสอนภาษาสยาม 12 เล่ม พิมพ์ขึ้นหลายครั้ง
- หนังสือภาวนาสำหรับคริสตังสยามจำนวน 6 เล่ม
- หนังสือประวัตินักบุญเป็นภาษาสยาม 4 เล่ม
- หนังสือเพลงภาษาสยาม 1 เล่ม
- พจนานุกรมภาษาฝรั่งเศส-สยาม ซึ่งแต่งโดยพระสังฆราชกืออาซ
- หนังสือคู่มือสำหรับใช้ในโรงเรียนและวิทยาลัย
เมื่อเราได้อ่านงานเหล่านี้ซึ่งยังคงเก็บรักษาไว้ในห้องสมุดของโรงพิมพ์อัสสัมชัญ และห้องเอกสารอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ แล้ว เราจะสังเกตได้ว่า พระสังฆราชเวย์ได้ทำงานอย่างหนักสำหรับมิสซัง ท่านได้คำนึงถึงความสำคัญของสื่อมวลชนนี้ ได้ส่งเสริมบรรดามิชชันนารีให้แต่งหนังสือที่มีประโยชน์เพื่อใช้ในงานแพร่ธรรมของพวกเขา เพื่อติดต่อสื่อสารข่าวสารที่สำคัญ ข้อมูลและความรู้ที่สำคัญแก่คริสตังโดยผ่านทางจดหมายเวียน เป็นต้น ซึ่งทำให้งานแพร่ธรรมของพวกเขาบังเกิดผลมากขึ้นและดำเนินไปด้วยดี
4. สามเณราลัย เพื่อนมิชชันนารีและผู้ร่วมงาน
สิ่งที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับมิสซังคือผู้ร่วมงาน ไม่ใช่เฉพาะตัวมิชชันนารีเองเท่านั้น แต่รวมถึงนักบวชพื้นเมืองและครูคำสอนที่ร่วมมือกันทำงานเพื่อทำให้มิสซังสยามได้รับผลดีมากขึ้น วันแรกที่พระสังฆราชเวย์เดินทางมาถึงประเทศสยามในปี ค.ศ. 1865 ท่านก็ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบการอบรมดูแลคณะนักบวชพื้นเมือง ท่านเข้าใจถึงความสำคัญของงานนี้และทำด้วยความตั้งใจ
4.1 นักบวชพื้นเมือง
ตามประวัติสั้นๆ ของสามเณราลัยของมิสซัง ซึ่งเราได้พบในห้องเอกสารของอัครสังฆมณทลกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1786 พระสังฆราชการ์โนลต์ได้รวบรวมเด็กๆ หลายคนในปีนังเพื่ออบรมให้เป็นพระสงฆ์
เมื่อท่านเดินทางมาอยู่ในกรุงเทพฯ ในปี ค.ศ. 1792 มีพระสงฆ์พื้นเมือง 1 องค์ สามเณร 2คน และเณรเล็กอีกหลายคนมา อยู่กับท่านด้วย ดังนั้นท่านจึงเปิดโรงเรียนสงฆ์ขึ้นแห่งหนึ่งอยู่ที่จันทบุรี ซึ่งมีสามเณรของเวียดนามใต้ลี้ภัยอยู่ที่นั่น อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่ตะกั่วทุ่งทางภาคใต้ของประเทศสยาม และอีกแห่งหนึ่งอยู่ที่กรุงเทพฯ เมื่อบ้านเณรที่กรุงเทพฯ มีความมั่นคงแล้ว ในปี ค.ศ. 1802 พระสังฆราชการ์โนลต์จึงได้รวบรวมสามเณรทั้งหมดมาไว้ที่กรุงเทพฯ มีสามเณรรวมทั้งสิ้น 23 คน ในปี ค.ศ. 1841 พระสังฆราชปัลเลอกัวได้ตั้งบ้านเณรขึ้นที่กรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ กล่าวคืออยู่ในส่วนหนึ่งของอัสสัมชัญ ด้วยเหตุผลหลายๆ ข้อที่ทำให้กรุงเทพฯ ไม่เหมาะที่จะเป็นที่ตั้งของบ้านเณร คือกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองหลวงมีเสียงรบกวนมากและถูกรบกวนจากบรรดาผู้ปกครองของสามเณรที่มาเยี่ยมเยือนบุตรหลานของตน ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1872 บ้านเณรจึงย้ายไปอยู่ที่บางช้างซึ่งคุณพ่อราบาร์แดลกำลังทำงานอยู่ที่นั่น โครงสร้างอาคารของบ้านเณรยังคงทำด้วยไม้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1893 ถึงปี ค.ศ. 1903 พระสังฆราชเวย์ได้สร้างบ้านเณรหลังใหม่ขึ้นซึ่งทำด้วยอิฐซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงินจำนวนมาก คุณพ่อมาร์แต็งอุปสังฆราชของมิสซังได้เขียนถึงพระคาร์ดินัล Barnabo ว่าดังนี้:
มิสซังสยามเพิ่งสร้างบ้านเณรใหญ่เสร็จ ที่นั่นเราดำเนินการสอนนักเรียน ที่มาจากปีนังและเณรชั้นลาตินนิสจากบ้านเณรเล็กของเราซึ่งนับได้ประมาณสามสิบคน
ในจดหมายของพระคุณเจ้าที่ส่งถึงพระคาร์ดินัล Ledochiuski Prefect แห่งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ พระสังฆราชเวย์ได้ขอเงินช่วยเหลือสำหรับบ้านเณร โดยกล่าวว่า:
เราได้ดำเนินการก่อสร้างบ้านเณรหลังใหม่ของเราสำหรับพระสงฆ์พื้นเมือง ซึ่งการก่อสร้างนี้เป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากตึกเก่าที่ทำด้วยไม้ ได้ผุพังลง การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการก่อสร้างบ้านเณรหลังใหม่ (รวมทั้งบ้านเณรใหญ่และบ้านเณรเล็ก) ก็ได้เริ่มต้นไปแล้ว
ในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1896 พระคาร์ดินัล Ledochiuski ได้มีจดหมายถึงพระคุณเจ้าแสดงความเห็นชอบด้วยในการอบรมพระสงฆ์พื้นเมืองซึ่งเป็นงานที่สำคัญ และยังสอดคล้องกับคำสั่งสอนของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่ออีกด้วย
อีกหนึ่งปีต่อมา ท่านได้รายงานต่อสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อว่า บ้านเณรทั้งสองคือบ้านเณรใหญ่และบ้านเณรเล็กมีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 65 คน สามเณรจำนวน 4 คน ได้รับศีลบวชขั้นสังฆานุกร และได้รับการบวชเป็นพระสงฆ์ในปลายปี จำนวนพระสงฆ์พื้นเมืองในเวลานั้นมี 18 องค์ด้วยกัน มิสซังสยามได้ขยายออกไปจนถึงประเทศลาว เพราะฉะนั้นการก่อตั้งคณะสงฆ์พื้นเมืองจึงได้มีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับการขยายงานไปลาวด้วย พระสังฆราชเวย์ได้บอกกับสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อถึงสิ่งที่ท่านกำลังทำอยู่ในบ้านเณรโดย กล่าวว่า:
นอกจากการใช้ภาษาสยามของบ้านเณรแล้ว การขยายมิสซังบังคับทำให้เราจำเป็นต้องสร้างตึกสำรองซึ่งใช้ภาษาลาวขึ้น สำนักมิสซังครอบคลุมสองประเทศและภาษาที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน
ผลที่ได้รับก็คือท่านได้ส่งพระสงฆ์พื้นเมือง 5 องค์ เข้าไปทำงานในประเทศลาว อันที่จริงคุณพ่อแอ็กกอฟองได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นแห่งหนึ่งที่ดอนดูน สำหรับเด็กชายที่ต้องการเป็นครูคำสอนหรือพระสงฆ์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1891 คุณพ่อดาแบงมิชชันนารีองค์หนึ่งในลาวได้เขียนบันทึกของท่านในปี ค.ศ. 1891 ว่าในปีนั้นได้เปิดบ้านเณรขึ้นที่ดอนดูน เพราะพวกเขาเห็นความ จำเป็นที่จะต้องมีบ้านเณรของมิสซังสักแห่งหนึ่งเป็นเวลานานมาแล้ว
บ้านเณรมิสซังสยามได้รับสามเณรของมิสซังลาวไว้ด้วยตามข้อตกลงที่กระทำร่วมกันระหว่างพระคุณเจ้าเวย์และพระคุณเจ้ากืออาซในปี ค.ศ. 1904 ในรายงานประจำปีของ พระคุณเจ้ากืออาซที่ส่งไปยังสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อในวันที่ 23 ตุลาคม ค.ศ. 1904 พระคุณเจ้ากืออาซรายงานว่าเวลานั้นมีสามเณร 8 คน 7 คนจากจำนวนนี้กำลังเรียนวิชาพื้นฐานต่างๆ ที่ดอนดูนซึ่งเป็นสามเณราลัยของมิสซังลาว ส่วนอีกคนหนึ่งถูกส่งไปที่บางช้างซึ่งเป็นบ้านเณรของมิสซังสยาม
การอบรมพระสงฆ์พื้นเมืองนับว่าเป็นหัวใจของมิสซังอย่างแท้จริง พระคุณเจ้าเวย์ได้พยายาม ปรับปรุงและพัฒนาบ้านเมืองในทุกวิถีทาง ในปี ค.ศ. 1906 พระคุณเจ้ารายงานว่า:
ในวันฉลองพระหฤทัยของเดือนมิถุนายน ได้มีการเสกวัดใหม่และตึกใหม่ พิธีกรรมเป็นไปอย่างสง่ามาก คุณพ่อด็องต์เป็นประธานในพิธี สัตบุรุษมาร่วมพิธีประมาณ 300 คน
นอกจากนี้พระคุณเจ้ายังรายงานด้วยว่า มีนักเรียนอยู่ 60 คน ซึ่งในจำนวนนี้ 10 คน กำลังเรียนวิชาเทววิทยา เมื่อพระคุณเจ้าเวย์ถึงแก่มรณภาพในปี ค.ศ. 1909 มิสซังสยามมีพระสงฆ์ พื้นเมืองจำนวน 21 องค์
4.2 ความสัมพันธ์กับมิชชันนารี
นอกจากพระสงฆ์พื้นเมืองแล้วบรรดามิชชันนารีเองเป็นกุญแจสำคัญของงานแพร่ธรรมทั้งหมด พระคุณเจ้าเวย์ตระหนักว่ามิสซังจะสามารถดำเนินไปด้วยดีหากความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของพวกมิชชันนารีจะได้รับการกระชับสัมพันธ์ การเยี่ยมเยือนงานอภิบาลนับว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ไม่เพียงแต่เพื่อเข้าไปมีความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับเพื่อนๆ มิชชันนารีเท่านั้น แต่ยังสามารถเข้าไปสู่ชีวิตจริงๆ ของพวกเขาและมองเห็นวิธีการทำงานและสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาต้องการด้วยตาของตนเองอีกด้วย หลังจากพิธีอภิเษกเป็นพระสังฆราชไม่นาน พระคุณเจ้าเวย์ก็เริ่มออกเยี่ยมเยือนโดยไปที่จันทบุรี และเมื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ พระคุณเจ้ายังได้หยุดแวะที่บางปลาสร้อยเพื่อโปรดศีลกำลังที่นั่นด้วย
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1876 พระคุณเจ้าออกเยี่ยมเยือนบ้านเณรที่บางช้าง หลังจากพระคุณเจ้าได้เปิดมิสซังลาวอย่างสง่าแล้ว พระคุณเจ้าเองก็ได้ให้กำลังใจกลุ่มคริสตชนที่ลาว โดยเดินทางไปเยี่ยมเยือนพวกเขาด้วย คุณพ่อมาร์แต็งเล่าว่า เนื่องจากการเดินทางอันยากลำบากเพราะต้องผ่านป่าเขา พระคุณเจ้าเวย์ก็ได้ป่วยเป็นไข้ป่าจากการเดินทางในครั้งนั้นด้วย
จากจดหมายต่างๆ ของพระคุณเจ้าเอง เราพบว่าพระคุณเจ้าเวย์ได้ออกเดินทางไปเยี่ยมเยือนกลุ่มคริสตชนต่างเป็นระยะๆ การเยี่ยมแต่ละครั้งนั้นใช้เวลาประมาณ 40 วัน แน่นอนที่สุด การเยี่ยมเยือนเหล่านี้ส่งผลที่น่าพอใจ เพราะได้เห็นเพื่อนร่วมงานกำลังทำงานด้วยกันและให้กำลังใจกันและกันเมื่อพบกับความยากลำบาก ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของบรรดามิชชันนารีนี้ แสดงออกมาอย่างเห็นได้ชัดในโอกาสฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการบวชเป็นพระสงฆ์ของคุณพ่อ รังแฟงก์ ซึ่งนับว่าเป็นพิธีฉลองที่ไม่เคยมีมาก่อนในสยามเลยในรอบ 200 ปี พระคุณเจ้าเวย์เชื้อเชิญบรรดามิชชันนารีทุกองค์ให้มาร่วมงานนี้ที่จันทบุรี โดยย้ำว่าขอให้ทุกคนพยายามมาร่วมงานนี้ให้ได้ กล่าวว่า:
เพื่อให้ความเมตตากรุณาต่างๆ ที่เราได้รับจากพระญาณสอดส่องของพระเป็นเจ้าเผยแพร่ไปอย่างสง่างาม และที่มากกว่านั้นเพื่อให้เหมาะสมกับการเป็นที่ยอมรับนับถือต่อทุกคน
พิธีนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1882 และบรรดามิชชันนารีส่วนใหญ่ก็มาร่วมงานนี้ด้วย พิธีได้ถูกจัดขึ้นอย่างสง่างามมากเท่าที่จะเป็นไปได้ตามความปรารถนาของพระคุณเจ้าเวย์
ในปี ค.ศ. 1890 เป็นโอกาสฉลองครบรอบ 25 ปีแห่งการบวชเป็นพระสงฆ์ของพระคุณเจ้าเวย์เอง บรรดามิชชันนารีทั้งหมดได้มาร่วมกันถวายบูชามิสซาเป็นพิเศษเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1890 พร้อมกับขับร้องบท Te Deum และภาวนาเพื่อพระคุณเจ้า พิธีฉลองนี้บรรดามิชชันนารีเป็นผู้ร่วมมือกันจัดขึ้น ดังที่เราเห็นได้จากจดหมายเชิญของพวกเขาซึ่งเขียนไว้ดังนี้:
พวกเราสวดภาวนาร่วมกันทุกคนอีกครั้งหนึ่งต่อพระผู้เป็นเจ้าของเรา เพื่อให้พระองค์ทรงพระกรุณาประทานจำนวนปีให้เพิ่มขึ้น เพื่อว่าภายใต้การปกครองเยี่ยงบิดาของพระองค์ มิสซังสามารถดำเนินการให้บังเกิดผลแห่งความรอดได้ต่อไป และขยายกิ่งก้านใหม่ให้กว้างไกล และทำงานโดยไม่หยุดหย่อนเพื่อพระสิริมงคลของพระเป็นเจ้า
4.3 ความสำคัญของครูคำสอน
ผู้ร่วมงานและผู้ช่วยที่ขาดเสียมิได้ของบรรดามิชชันนารีได้แก่ครูคำสอน พระคุณเจ้าเวย์ ได้เอาใจใส่และให้ความสำคัญในบทบาทของครูคำสอนเป็นอย่างมาก เพราะเหตุว่าประชาชนฟังเสียงของพวกเขาด้วยความเต็มใจมากกว่าที่จะฟังบรรดามิชชันนารี จากจดหมายฉบับหนึ่งของพระคุณเจ้าเวย์ซึ่งเขียนไปถึงสมาชิกของสภา "L'Oeuvre de la Propagation de la Foi" ลงวันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 1876 พระคุณเจ้าบรรยายไว้ว่า:
ผู้สมัครเรียนคำสอนจำนวนมากศึกษาคำสอนของเราด้วยตนเอง แล้วจะสามารถขยายกิจการงานของเราให้ไปได้ไกลกว่านี้ โดยอาศัยความร่วมมือของครูคำสอน เป็นผู้ช่วยที่ขาดไม่ได้ของมิชชันนารีในประเทศสยามของเรา เป็นครูคำสอนนี้เองที่เดินทางไปทั่วหมู่บ้านของคนต่างศาสนาและบังเกิดผลดี คนฟังเขามากกว่ามิชชันนารีต่างประเทศ และชาวบ้านมีความไว้ใจเขามากกว่า
พระคุณเจ้าเวย์มั่นใจว่าครูสอนคำสอนสามารถพูดกับเพื่อนร่วมชาติได้ง่ายกว่า เพราะพวกเขาเองก็เคยนับถือศาสนาซึ่งชาวสยามกำลังนับถืออยู่ และพวกเขาได้มาเข้าใจความจริงในศาสนาคริสต์ เป็นบรรดาครูคำสอนเหล่านี้แหละที่เป็นผู้เตรียมทางสำหรับพวกมิชชันนารี และทำให้บรรดามิชชันนารีมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม พระคุณเจ้าเวย์จำเป็นต้องจำกัดจำนวนของครูสอนคำสอนเพราะว่าพระคุณเจ้าไม่สามารถเลี้ยงดูและค้ำจุนพวกเขาได้ พระคุณเจ้ากล่าวว่า:
หลายครั้งทีเดียว ข้าพเจ้ารู้สึกเจ็บปวดที่จำเป็นต้องปฏิเสธคนต่างศาสนาที่น่าสงสารที่มีชีวิตอยู่ห่างไกลจากศูนย์รวมคริสตังทุกแห่ง การเรียกร้องให้มีครูคำสอนสักคนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือในเรื่องการเรียนคำสอน เป็นความต้องการของคนต่างศาสนาจำนวนหนึ่งที่ต้องการกลับใจ เป็นความโศกเศร้าเพียงไรที่ไม่สามารถให้ในสิ่งที่พวกเขาขอร้อง เพื่อให้นำพวกเขาไปหาพระเยซูคริสตเจ้า
คุณพ่อชมิตต์เขียนจดหมายถึงพระคุณเจ้าเวย์ลงวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1876 ยืนยันถึงบทบาทที่สำคัญของครูคำสอนไว้ดังนี้:
ครูคำสอนคือบุคคลที่มีใจร้อนรนและกล้าหาญ เดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อนร่วมชาติหลายคนยอมรับการสอนของพวกเขาและสัญญาว่าจะเป็นคริสตัง
ในระหว่างปี ค.ศ. 1881 ถึงปี ค.ศ. 1899 พระคุณเจ้าเวย์ได้จัดส่งครูคำสอนไปทำงานใน มิสซังลาวจำนวน 15 คน และในปี ค.ศ. 1909 มีครูคำสอน 21 คน ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับบรรดามิชชันนารีในมิสซังสยาม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าครูคำสอนเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งสำหรับความสำเร็จของทั้งมิสซังสยามและมิสซังลาว
5. อุปสรรคของการทำงานแพร่ธรรม
ในสมัยการปกครองของพระสังฆราชเวย์นี้ สยามกำลังเผชิญกับปัญหาทางการเมืองทั้งภายในและภายนอก เหตุการณ์ต่างๆ ทางการเมืองรวมทั้งสถานการณ์ของประเทศเวลานั้น ย่อมมีผลกระทบต่อการประกาศพระวรสารของบรรดามิชชันนารีอย่างแน่นอน มิสซังสยามจำเป็นต้องเผชิญกับอุปสรรคเหล่านี้ด้วยความอุตสาหะและรอบคอบ
5.1 ระบบการปกครองของประเทศสยาม
ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์อยู่ (ค.ศ. 1868-1873) สยามถูกปกครองโดยผู้สำเร็จราชการแทนคือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้ซึ่งไม่ชอบศาสนาคริสต์ มิสซังสยามต้องพบกับอุปสรรคในการทำงานบางประการ ตามที่เราสามารถเห็นได้จากจดหมายของพระสังฆราชดือปองด์ที่เขียนไว้ดังนี้
ในระหว่างสามปีที่ผ่านมานี้ ศาสนาเจริญก้าวหน้าได้ช้ามาก แม้ว่าพวกเราจะไม่ได้รับการเบียดเบียนอย่างเปิดเผย แต่รัฐบาลปัจจุบันหรืออย่างน้อยผู้ที่เป็นหัวหน้าผู้มีอำนาจทั้งหลายก็เป็นผู้ที่ไม่พอใจในศาสนาคริสต์เลย
เมื่อเรามาพิจารณาระบบการปกครองของประเทศแล้ว ก็ยังคงมีการแบ่งชั้นวรรณะในหมู่ประชาชน พวกทาสต้องมอบตนเองโดยเด็ดขาด นบนอบเชื่อฟังนายของตนเอง ในระหว่างพวก ขุนนางเองก็ยังมีระดับต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องเคารพเชื่อฟังเป็นหลั่นชั้นกันไป ระบบเช่นนี้ยังคงมีอยู่ต่อไปจนกระทั่งถึงต้นศตวรรษที่ 20 เมื่อรัชกาลที่ 5 ประกาศเลิกทาสและปฏิรูประบบการปกครองเสียใหม่ ผลของการปกครองระบบเดิมนั้นมีผลต่อการทำงานแพร่ธรรม เพราะเหตุว่าหากไม่มีอนุญาตจากผู้มีอำนาจเหนือตนแล้ว ชาวสยามไม่มีเสรีภาพที่จะเป็นคริสตชนได้ พระคุณเจ้าเวย์เขียนจดหมายถึงคุณพ่อด็องต์ซึ่งอยู่ในฝรั่งเศสเวลานั้น โดยเล่าให้ฟังว่าสถานการณ์ทั่วไปของมิสซังปกติดี "แต่ทุกวันเราต้องต่อสู้กับคนต่างศาสนาเหล่านี้ซึ่งไม่มีความรับผิดชอบและจริงใจเลย" การคัดค้านของพวกขุนนางสยามซึ่งมีอิทธิพลเหนือผู้อยู่ใต้บังคับนับว่าเป็นอุปสรรคที่สำคัญประการหนึ่งของการประกาศพระวรสาร พระคุณเจ้าเวย์เล่าว่า:
ประชาชนสยามต้องพึ่งพิงต่อความเมตตาของพวกเขา พวกเขาก็คัดค้านต่อการกลับใจของผู้อยู่ใต้บังคับของตน
นอกจากนั้น รายงานที่สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อทำถวายพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ก็ได้รายงานไว้ดังนี้:
เนื่องจากผู้ที่อยู่ใต้บังคับของผู้ที่เป็นหัวหน้า พวกเขาไม่มีอิสระที่จะเป็นคริสตชน มิฉะนั้นจะต้องได้รับโทษอย่างหนัก
ภายใต้อิทธิพลและอำนาจของขุนนางเหล่านี้ซึ่งปกครองจังหวัดต่างๆ อยู่ พวกเขาได้เผาวัดน้อยไป 3 แห่ง และที่อื่นๆ ที่พวกมิชชันนารีกำลังทำงานอยู่ก็ถูกปล้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้นเมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เริ่มใช้นโยบายใหม่ๆ ของพระองค์ พระคุณเจ้าเวย์ ให้ข้อสังเกตไว้ว่า
พระมหากษัตริย์ซึ่งปกครองอยู่ในปัจจุบันคือจุฬาลงกรณ์พระโอรสของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เจริญรอยตามพระยุคลบาทของพระราชบิดา แสดงองค์เป็นผู้มีพระทัยกว้างขวาง ปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าพระองค์ดำเนินไปไกลกว่าเดิมอีก อำนาจต่างๆ ของพวกขุนนางทั้งหลายก็ลดลงไปมาก
ในที่สุดคริสตศาสนาก็สามารถแผ่กระจายไปในท่ามกลางชาวสยาม ดังนั้นเมื่อเราพิจารณาดูเรื่องนี้แล้วเราจะเห็นว่า ความสัมพันธ์อันดีงามกับพระมหากษัตริย์และรัฐบาลนั้นเป็นสิ่งจำเป็น โดยแท้ ทั้งนี้เพื่อผลที่ดีของมิสซังเอง
5.2 สมาคมลับของชาวจีน
ในศตวรรษที่ 19 กลุ่มชนชาวจีนในสยามเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ชาวจีนเองก็แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า และจัดตั้งสมาคมลับของตนขึ้นเพื่อรักษาความเป็นชาติของตนเองเอาไว้ รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ด้วย เมื่อประเทศจีนพ่ายแพ้แก่ญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1895 ความรู้สึกรักชาติก็ได้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นไปอีก สมาคมลับของชาวจีนเหล่านี้ปกป้องผลประโยชน์ค่าตอบแทน และกำไรของชาวจีนในสยาม และบังคับให้ชาวจีนเข้าร่วมในสมาคมลับของตนโดยใช้ทุกวิถีทาง มิสซังสยามก็ถูกรบกวนโดยสมาคมลับที่เรียกกันว่า ตั่วเฮีย หรืออั้งยี่ เพราะสมาคมต้องการรักษาชาตินิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี และมีอิทธิพลเหนือชาวจีนด้วยกัน ดังนั้นการเข้ามาเป็นคริสตชนจึงหมายถึงการเป็นผู้ทรยศ พวกเขาจึงไม่สามารถให้ชาวจีนเข้ามาถือศาสนาคริสต์ได้ จากรายงานที่ถูกเก็บไว้ในห้องเอกสารของคณะ M.E.P. การทำงานแพร่ธรรมในหมู่ชาวจีนเจริญอย่างรวดเร็ว งานนี้เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1840 โดยมีชาวจีนที่เป็นคาทอลิกเพียง 150 คนเท่านั้น
ในปี ค.ศ. 1851 หลังจากการกลับมาจากการถูกเนรเทศของบรรดามิชชันนารีแล้ว งานแพร่ธรรมในหมู่ชาวจีนก็มีอยู่ถึง 6 แห่ง ด้วยกันตามจังหวัดต่างๆ ของสยาม
นับแต่สมัยนั้นมา งานแพร่ธรรมในหมู่ชาวจีนเจริญขึ้นโดยทั่วไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1862 นอกจากกรุงเทพฯ แล้ว งานแพร่ธรรมในหมู่ชาวจีนนับได้ดังนี้ มี 7 แห่ง ที่มีที่พักของมิชชันนารี วัด โรงเรียน บ้านเด็กกำพร้า, 9 แห่ง ที่มีแต่วัด แต่ไม่มีที่พัก เพียงแต่มิชชันนารีมาเยี่ยมเยือนและโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ และแบบสุดท้ายมีอีก 9 แห่งใหม่ ที่ยังไม่มีทั้งวัดและโรงเรียน เมื่อดูจำนวนประชากรในเวลานี้แล้ว มิสซังสยามได้สอนและโปรดศีลล้างบาปให้แก่ชาวจีนมากกว่า 2,000 คน แล้ว
อันที่จริงพระคุณเจ้าเวย์ได้สังเกตเห็นอุปสรรคของมิสซังสยาม เมื่อท่านเขียนจดหมายถึงกรุงปารีสในปี ค.ศ. 1869 ท่านเห็นว่าชาวจีนดูเหมือนจะไม่กล้ามาเป็นคริสตชนอีกเลย เนื่องจากเข้าไปพึ่งพิง "ตั่วเฮีย" ท่านเขียนว่า:
ชาวจีนมีที่พึ่งที่เข้มแข็งคือ "ตั่วเฮีย" พวกเขาไม่คิดที่จะเป็นคริสตชนอีกต่อไป อีกประการหนึ่งก็คือ เป็นพวกเราบาทหลวงนี่แหละซึ่งเป็นต้นเหตุของความเดือดร้อนของพวกเขา เพราะหากไม่มีพวกคริสตชนก็คงจะไม่มีตั่วเฮีย
ในปี ค.ศ. 1877 พระคุณเจ้าเวย์ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้อีกว่า
พวกหัวหน้าสมาคมลับได้แสดงความเกลียดชังต่อคนจีนที่เป็นคริสตังอย่างเต็มที่ การลงชื่อเข้าสมาคมลับได้เริ่มทำในหลายแห่งที่อยู่ใกล้กับสำนักของมิชชันนารี ผู้ดูแลหมู่คริสตังจีน.. คนจีนคนใดแสดงตัวว่าใฝ่ฝันจะเข้ามาถือศาสนาคริสตัง เขาก็ใช้วิธีขัดขวางทุกอย่าง เช่น หลอกลวง หลอกล่อ ขู่เข็ญให้กลัว และเตือนให้ถือขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ ฉะนั้น ณ ที่สำคัญสามแห่ง คือ แปดริ้ว บางช้าง และวัดกาลหว่าร์ จำนวนผู้ที่รับศีลล้างบาปได้ลดลงไปมาก
คริสตังชาวจีนถูกทำร้ายโดยสมาชิกของสมาคมลับเหล่านี้ และทุกวันดูเหมือนว่าจะลำบากสำหรับการกลับใจท่ามกลางพวกเขาซึ่งเกรงกลัวอิทธิพลของพวกนี้ ปัญหายังเกิดมาจากผู้มีอำนาจทางบ้านเมืองด้วย เพราะพวกเขารับอามิสสินจ้างจากสมาคมลับ จึงทำให้ปัญหาเหล่านี้ยากที่จะแก้ไขได้ ในปี ค.ศ. 1883 พระคุณเจ้าเวย์ได้เขียนไว้อีกว่า พวกอั้งยี่ยิ่งวันยิ่งแข็งแรงจนกระทั่ง ไม่สามารถทำงานในหมู่ชาวจีนได้เลย นอกจากนี้ยังได้สังเกตไว้ด้วยว่าในปี ค.ศ. 1884 สมาคมลับชาวจีนเริ่มปฏิบัติการในต่างจังหวัดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางภาคตะวันออกที่แปดริ้ว คุณพ่อแปร์เบต์เกือบถูกฆ่าตายโดยชาวจีนที่บุกเข้าไปในบ้าน แต่โชคดีที่คริสตังคนหนึ่งช่วยคุณพ่อออกมาได้ ที่ท่าเกวียน คุณพ่อวัวะแซ็งถูกชาวจีนรบกวนจนกระทั่งอยู่ที่บ้านพักไม่ได้เป็นเวลาหลายสัปดาห์ ที่บางปลาสร้อย ชาวจีน 40 ถึง 50 คน เข้าโจมตีบ้านคริสตังคนหนึ่งของคุณพ่อรูโซ นอกจากนี้ ครูคำสอนคนหนึ่งของคุณพ่อกรางด์ก็ถูกฆ่าตายโดยพวกอั้งยี่ด้วย
พระคุณเจ้าเวย์ได้ต่อต้านกับการคุกคามนี้ด้วยความรอบคอบและกล้าหาญท่านได้พยายามแนะนำบรรดามิชชันนารีให้รู้จักวิธีการตอบโต้กับปัญหานี้ พระคุณเจ้าเองได้นำเรื่องบางเรื่องฟ้องศาล ปกป้องบรรดามิชชันนารีและปกป้องคริสตังจีน และเท่าที่เราทราบมา ท่านไม่เคยแพ้คดีในศาลเลย ซึ่งทำให้มิสซังสยามได้รับกำลังใจขึ้นมาก
ดูเหมือนว่ายิ่งทีสมาคมลับชาวจีนยิ่งก่อความไม่สงบและความวุ่นวายขึ้นในกรุงเทพฯ มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อต่อต้านรัฐบาลสยาม ดังนั้นในปี ค.ศ. 1895 รัฐบาลสยามจึงควบคุมสมาคมเหล่านี้อย่างเคร่งครัด และที่สุดในปี ค.ศ. 1897 กฎหมายใหม่ก็ออกมาบังคับให้สมาคมต้องจดทะเบียนและขึ้นอยู่กับการควบคุมดูแลของตำรวจ นับว่าเป็นผลดีต่อมิสซังสยามเพราะเท่ากับปกป้องมิสซังสยามให้พ้นจากอันตรายของพวกเขา
5.3 ปัญหาทางการเมืองกับประเทศฝรั่งเศส
ทันทีที่ประเทศฝรั่งเศสยึดตังเกี๋ยและอันนัมได้ในระหว่างปี ค.ศ. 1883-1884 พระคุณเจ้าเวย์ตระหนักว่าเหตุการณ์ทางการเมืองต้องก่อให้เกิดความยุ่งยากต่อมิสซังสยาม พระคุณเจ้าได้ตั้งข้อ สังเกตไว้ในจดหมายของท่านว่า:
เราไม่อาจทำลายความคิดที่ว่า ปัญหาทางศาสนาเป็นการเชื่อมโยงกับปัญหาทางการเมือง คนต่างศาสนาทุกคนก็เช่นเดียวกับคริสตชน มองเห็นการแทรกแซงของชาวฝรั่งเศสในประเทศอันนัม (ญวณ) ว่าเป็นการเข้าข้างหรือไม่เข้าข้างคริสตัง หลังจากความสำเร็จหรือความไม่สำเร็จของชาวฝรั่งเศส
พระคุณเจ้ายังสังเกตเห็นว่าชาวสยามนั้นไม่สามารถแยกแยะระหว่างคริสตชนและชาวฝรั่งเศสได้ วิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี ค.ศ. 1893 ก่อให้เกิดความเห็นทั่วไปว่าคริสตชนคือผู้ช่วยของชาวฝรั่งเศส ดังนั้นคริสตชนจึงเป็นเหมือนกับศัตรูของประเทศชาติ ผลที่เกิดขึ้นก็คือ:
ความขัดแย้งทางการเมืองทำให้การกลับใจเป็นจำนวนมากต้องหยุดชะงักอย่างฉับพลัน
ทุกคนกำลังรอคอยให้การทะเลาะวิวาททางการเมืองนั้นสิ้นสุดลง พระคุณเจ้าเวย์รำพันว่าหากฝรั่งเศสเพียงแต่แสดงตนเองให้เหมาะสมกับคำว่า "Gesta Dei per Francos" แล้ว ชาวสยามคงจะตาสว่างขึ้นเป็นแน่:
เราอาจกล่าวได้ว่า การดำเนินชีวิตของชาวฝรั่งเศสจะเป็นการดำเนินชีวิตของชาวสยาม พระะเจ้าของชาวฝรั่งเศสจะเป็นพระเจ้าของชาวสยาม โชคร้ายเหลือเกินที่เพื่อนร่วมชาติของเราบางคนได้รับอิทธิพลของการไม่มีศาสนาและตัวอย่างที่ไม่ดี
คุณพ่อด็องต์เขียนจดหมายถึงกรุงปารีสว่า ประชาชนไม่เคยเกิดความลังเลเช่นนี้มาก่อนเลย ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุการณ์ทางการเมืองซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะมีผลออกมาอย่างไร ประเทศสยามกำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง และหากว่ายังคงอยู่ในสภาพเช่นนี้แล้ว มิสซังสยามก็จะยังไม่สามารถทำอะไรใหญ่โตได้เลย
ประเทศสยามและฝรั่งเศสต้องเผชิญกับปัญหาทางการเมืองนี้ไปจนถึงปี ค.ศ. 1907 สยามยอมยกดินแดนพระตะบอง ศรีโสภณ และเสียมราฐให้แก่ฝรั่งเศส นี่หมายความว่าเกือบตลอดช่วงสมัยของพระคุณเจ้าเวย์ พระคุณเจ้าต้องประสบกับความกดดันทางการเมืองเหล่านี้อยู่เสมอมา นั่นคือต้องเผชิญกับสถานการณ์ดังกล่าว เวลาเดียวกันยังต้องทำงานกับประชาชนซึ่งมองดูบรรดามิชชันนารีด้วยสายตาแห่งความเป็นศัตรู นับว่าเป็นโชคดีของมิสซังสยามซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล มิสซังคาทอลิกจึงสามารถทำงานแพร่ธรรมของตนได้
5.4 ทัศนคติของมิชชันนารีต่อศาสนาพุทธ
เมื่อเราศึกษา และตรวจสอบดูประวัติศาสตร์การประกาศพระวรสารของคาทอลิกในประเทศสยาม เราจะพบว่าบรรดามิชชันนารีเองเป็นผู้วางอุปสรรคของการแพร่ธรรมของตนเองเอาไว้ด้วย บางทีอาจเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่เข้าใจสถานการณ์และสภาพของชาวสยามจากที่เป็นจริงก็ได้ หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ความเข้าใจและทัศนคติต่อศาสนาพุทธนั่นเองซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ และในที่สุดก็เป็นอุปสรรคของงานแพร่ธรรมที่มาจากบรรดามิชชันนารีเอง
ตามที่เราศึกษามาข้างต้นแล้วหนังสือ "ปุจฉา วิสัชนา" ของพระคุณเจ้าปัลเลอกัวได้โจมตีศาสนาพุทธหลายอย่างด้วยกัน แน่นอนที่สุด การดูหมิ่นศาสนาเช่นนี้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาขึ้นในหมู่ชาวสยามเพราะเท่ากับไปทำร้ายจิตใจและความรู้สึกของประชาชน
พระคุณเจ้าเวย์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า โดยทั่วๆ ไปชาวสยามมิได้แสดงตนเป็นปฏิปักษ์กับศาสนาคริสต์ พวกเขามาพบบรรดามิชชันนารีและรับฟังด้วยความเต็มใจ อุปสรรคสำคัญๆ นั้นได้แก่หัวหน้าของประชาชนเหล่านั้น พระคุณเจ้าเขียนไว้ว่า:
บุคคลเหล่านี้สนใจที่จะต่อต้านความก้าวหน้าของศาสนาคาทอลิก ศาสนาพุทธที่อยู่ในมือของเขาเป็นวิธีที่สะดวก และมีประสิทธิภาพในการเสนอให้ประชาชนนับถือเขาใช้ศาสนาเป็นเสื้อคลุมสำหรับจะปกปิดความเป็นเผด็จการ และความอยุติธรรมของพวกเขาไว้
เมื่อพระคุณเจ้าเขียนจดหมายถึงพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 พระคุณเจ้ายืนยันถึงความคิดเห็นของท่านเกี่ยวกับศาสนาพุทธ โดยมองดูศาสนาพุทธในทางที่ไม่ดีสำหรับความเชื่อคริสตชนและการกลับใจของชาวสยาม
ศาสนาพุทธมิได้รับการเคารพจากบรรดามิชชันนารีเท่าที่ควรจะเป็น ยิ่งกว่านั้นหนังสือ "ปุจฉา วิสัชนา" ยังถูกพิมพ์ขึ้นมาใหม่ในสมัยของพระคุณเจ้าเวย์ในปี ค.ศ. 1894 และปี ค.ศ. 1897 อันเป็นปีที่ประชาชนมีความเห็นเกี่ยวกับชาวฝรั่งเศสและคริสตศาสนาในทางที่เลวร้ายอันเนื่อง มาจาสถานการณ์ทางการเมือง การพิมพ์หนังสือครั้งนี้ รัฐบาลมิได้สั่งให้ยึดหรือทำลายอาจเป็นเพราะว่าบรรดามิชชันนารีมิได้ใช้หนังสือเหล่านี้อย่างเปิดเผย แต่ใช้เฉพาะในสังคมคาทอลิกเอง และก็อาจเป็นได้ที่รัฐบาลสยามไม่ต้องการทำให้สถานการณ์ทางการเมืองกับฝรั่งเศสในตอนนั้นเลวร้ายมากขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม หนังสือเล่มนี้ได้รับการต่อต้านอย่างกว้างขวางจากพุทธศาสนิกชนในปี ค.ศ. 1958 เมื่อหนังสือเล่มนี้ถูกพิมพ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งโดยคุณพ่อแปรูดง รัฐบาลสั่งยึดหนังสือเล่มนี้และสั่งปิดโรงพิมพ์อัสสัมชัญซึ่งพิมพ์หนังสือเล่มนี้ รวมทั้งเรียกพระสงฆ์ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ไปรายงาน
สิ่งที่น่าสังเกตและน่าจดจำจากเรื่องนี้ก็คือ พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ชาวพุทธ ซึ่งเป็นชาวสยามก็แสดงความมีไมตรีจิตต่อชาวคริสต์และศาสนาคริสต์ด้วยน้ำใจที่ดี ทำไมบรรดามิชชันนารีมิได้เข้าใจถึงความสำคัญของพุทธศาสนาสำหรับจิตใจและความรู้สึกของชาวสยามตรงกันข้ามพวกมิชชันนารีกลับทำให้ตัวเองพบกับอุปสรรคต่อการประกาศพระวรสารจากเรื่องนี้เสียเอง นับว่าเป็นบทเรียนที่มีคุณค่ามากสำหรับการประกาศพระวรสารในประเทศไทยในปัจจุบันนี้.