สรุปภาพรวมประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างสำนักวาติกันกับประเทศไทย

 

 
1. คริสต์ศาสนาในประเทศไทย
 
“ภาพรวมของคริสต์ศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างไร?” ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วว่าศาสนาคริสต์มีศูนย์กลางอยู่ที่ความเชื่อในพระเจ้า เชื่อในพระเยซูคริสตเจ้าและเชื่อในพระคัมภีร์ (ไบเบิ้ล) กาลเวลาทำให้ศาสนาคริสต์ค่อยๆ พัฒนาสู่การเป็นศาสนาที่สำคัญศาสนาหนึ่งในโลก  สำหรับประเทศไทยมีคนที่นับถือศาสนาคริสต์ส่วนใหญ่เป็นโรมันคาทอลิกและโปรแตสแตสต์ 
 
ดังนั้น สรุปความเป็นมาของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกไว้ว่า มีจุดเริ่มต้นด้วยการเดินทางเข้ามาในสยามของชาวโปรตุเกส ในปี ค.ศ.1511 ภายใต้การนำของอัลฟองโซ อัลบูร์เคิร์ก ผู้แทนกษัตริย์โปรตุเกสที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้าแผ่นดินแห่งอาณาจักรอยุธยา โปรตุเกสจึงเป็นชนยุโรปกลุ่มแรกที่มาถึงประเทศไทย ต่อมาชาวโปรตุเกสได้รับอนุญาตให้เริ่มงานเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสยาม โดยมีมิสชันนารีสองท่านแรกที่มาถึงสยาม คือ บาทหลวงเยโรนิโม ดา ครู้ส และบาทหลวงเซบาสติอาว ดา กันโต ทั้งสองเป็นนักบวชคณะโดมินิกัน มาถึงสยามใน ค.ศ.1567 ต่อมามีมิสชันนารีคณะอื่นๆ เข้ามาอีกคือ คณะฟรังซิสกัน คณะเอากุสติเนียน และคณะเยสุอิต ในช่วงระหว่างค.ศ.1582-1767 ต่อมาพระสันตะปาปาเกรโกรี่ ที่ 15 ทรงก่อตั้งสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อในปี ค.ศ.1622 นับเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญต่องานประกาศศาสนาคริสต์ในประเทศไทยอย่างยิ่ง โดยสมณกระทรวงฯจะรับภาระในการเผยแผ่คริสต์ศาสนา ทั้งหมด พระสันตะปาปาทรงแต่งตั้ง “ผู้แทนพระสันตะปาปา” และส่งผู้แทนเดินทางไปยังดินแดนต่างๆ   ทั่วโลก ผู้แทนพระสันตะปาปาที่ถูกส่งตัวมาในดินแดนภาคตะวันออกไกลได้แก่ มุขนายก ปีแอร์ ลังแบร์ต เดอ ลาม็อต มุขนายกฟรังซัว ปัลลือ ซึ่งเป็นผู้นำคณะมิสชันนารีชาวฝรั่งเศส ซึ่งจะต้องไปทำงานในประเทศจีนและเวียดนาม บรรดามิสชันนารีชาวฝรั่งเศสกลุ่มนี้สังกัดคณะมิสซังต่างประเทศแห่ง กรุงปารีส (M.E.P.) ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี  ค.ศ. 1660 บรรดามิสชันนารีเดินทางมาด้วยความยากลำบาก มิสชันนารี ชุดแรก 17 ท่านที่ออกเดินทางมาในครั้งนั้น มาถึงอยุธยาเพียง 9 ท่าน เนื่องจากเสียชีวิตระหว่างการเดินทาง และยังไม่สามารถเข้าไปในประเทศจีนและเวียดนามได้ เนื่องจากยังมีการเบียดเบียนศาสนาคริสต์ในสองประเทศดังกล่าว  ในเวลานั้น ทั้งหมดจึงพักคอยอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาในปี ค.ศ.1662-1664 ขณะเดียวกัน มีการประชุมเรื่องการประกาศคริสต์ศาสนาในหมู่มิสชันนารีที่อยุธยา หลังจากประชุมดังกล่าว พวกท่านตกลงจะเริ่มงานเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสยาม ในช่วงนั้นอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งมีนโยบายเปิดประเทศต้อนรับคนต่างชาติ เพื่อติดต่อในด้านการค้าและการทูต คริสต์ศาสนามีความเจริญก้าวหน้าอย่างมากในช่วงสมัยนี้ สามารถตั้งสถาบันอบรมผู้เตรียมตัวเป็นบาทหลวง สร้างโบสถ์ ประกาศศาสนาได้อย่างเสรี   มีคนที่สนใจและสมัครเข้าเป็นคริสตชนมากขึ้น จนพระสันตะปาปาฯ ทรงก่อตั้งและรับรองเขตปกครอง (มิสซังสยาม) ในปี ค.ศ.1674 โดยมีมุขนายก ลาโน เป็นประมุของค์แรก แต่ทว่าในช่วงรัชสมัยต่อมา เกิดการเบียดเบียนศาสนาขึ้น ทำให้การประกาศศาสนาหยุดชะงักไป และเหตุผลจากการมีมิสชันนารีเข้ามาทำงานไม่มาก     ทำให้งานเผยแผ่คริสต์ศาสนาไม่ค่อยเกิดผลมากนัก จนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองในค.ศ.1767 คริสต์ศาสนา (โรมันคาทอลิก) เริ่มฟื้นตัวอีกครั้งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน หลังจากทรงกอบกู้เอกราชแล้ว ได้พระราชทานที่ดินเพื่อสร้างวัดให้กับมิสชันนารีและคริสตชนที่กลับเข้ามาในราชอาณาจักร ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระองค์ยังทรงต้อนรับมิสชันนารีอย่างดี เพราะพระองค์ต้องการเริ่มติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศ และสนับสนุนเรื่องการค้าขายกับประเทศต่างๆ เหมือนกับที่เคยเป็นมาแต่ก่อน จากนี้เป็นต้นมา คริสต์ศาสนาในสยามค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย มีโบสถ์และจำนวน  คริสตชนเพิ่มมากขึ้น ทั้งคริสตชนชาวสยามเอง คริสตชนที่มีเชื้อสายโปรตุเกส คริสตชนชาวเขมร ชาวญวน และชาวจีน การเพิ่มขึ้นของจำนวน คริสตชนและงานเผยแผ่คริสต์ศาสนา ประกอบกับอาณาเขตของมิสซังสยามอันกว้างใหญ่ไพศาลที่ยากต่อการเดินทาง ในปี ค.ศ.1841 พระสันตะปาปาฯ ทรงแบ่งมิสซังสยามออกเป็น 2 เขตปกครอง คือ มิสซัง “สยามตะวันตก” ประกอบด้วยสิงคโปร์ มะละกา ปีนัง มะริด และทวาย อยู่ในการปกครองของมุขนายกกูร์เวอร์ซี และมิสซัง “สยามตะวันออก” ซึ่งหมายถึงประเทศสยามนั้น อยู่ในการปกครองของมุขนายกปัลเลอกัว
 
มุขนายกปัลเลอกัว เป็นมุขนายกที่เฉลียวฉลาด มีความรู้ลึกซึ้งในศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆ  มีความรู้ภาษาบาลีและภาษาไทยอย่างแตกฉาน ด้วยความสัมพันธ์อันดีที่ท่านมีต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ส่งผลให้พระศาสนจักรในมิสซังสยามเจริญก้าวหน้าไปพร้อมๆ การเปิดประเทศติดต่อกับชนชาติยุโรปมากขึ้น มีการทำสนธิสัญญาทางการค้าและสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับชนชาติต่างๆ มากมาย งานประกาศศาสนาในแผ่นดินสยามต้องถือว่าเป็นหนี้บุญคุณของมุขนายกปัลเลอกัว ท่านอุทิศตัวเองอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  ตอบสนองความต้องการของประชากรพระเจ้า ท่านได้สร้างวัดหลายแห่งในมิสซังสยาม จิตตารมณ์ในการเผยแผ่คริสต์ศาสนาของท่าน ความเข้าใจอันถ่องแท้ในวัฒนธรรม ประเพณี และเอกลักษณ์ของคนไทย มีความสำคัญอย่างมากต่อการวางรากฐานการเผยแผ่คริสต์ศาสนาให้ลึกซึ้งและเข้มแข็งขึ้น เป็นต้น งานด้านอภิบาล การเทศน์สอน งานด้านสังคม และการให้การศึกษางานที่ มุขนายกปัลเลอกัวได้เริ่มต้นไว้ จะเกิดผลในสมัยต่อมา นั่นคือ สมัยมุขนายกดือปองด์ และสมัยมุขนายกหลุยส์ เวย์ เป็นช่วงเวลาของการเจริญเติบโต โดยเฉพาะท่านได้เริ่มส่งมิสชันนารีไปเผยแผ่คริสต์ศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อันเป็นจุดกำเนิดมิสซังภาคอีสานในปัจจุบัน เวลานั้นมีคริสตชนจำนวนกว่า 23,600 คน โบสถ์จำนวนมากมาย สถาบันศึกษาอบรมผู้เตรียมตัวเป็นบาทหลวงหลายแห่ง บาทหลวงชาวสยาม นักบวชชายและหญิง ครูสอนคริสตศาสนธรรม วิทยาลัย 3 แห่ง โรงเรียนมากมายและโรงพยาบาล 1 แห่ง  มีคณะนักบวชหลายๆ คณะเข้ามาทำงานในมิสซังมากขึ้น เช่น คณะพระกุมารเยซูเข้ามาในปี ค.ศ.1885  คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร เข้ามาสยามในค.ศ.1898 รับผิดชอบงานที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ซึ่งมุขนายกเวย์ได้สร้างขึ้น และยังรับผิดชอบในการอบรมนักบวชหญิงพื้นเมือง ซึ่งพักอยู่ที่สามเสน เรียกว่า “คณะรักกางเขน” และโรงเรียนต่างๆ ในค.ศ.1901 โรงเรียนอัสสัมชัญถูกตั้งขึ้นภายใต้การดูแลของภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ตามคำเชิญของมุขนายกเวย์
 
มุขนายกเวย์ คิดถึงโครงการประกาศศาสนาในภาคเหนือของสยาม แต่สภาพแวดล้อม ความจำเป็นในด้านวัตถุ และบุคลากร ซึ่งมีอยู่น้อย งานนี้จึงบรรลุผลในช่วงสมัยมุขนายกแปร์รอส (ค.ศ.1909-1947)    มิสซังสยามขยายตัวมากขึ้น บรรดามิสชันนารีถูกส่งไปทางภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง   ในสมัยนี้คริสต์ศาสนาแพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของสยาม ใน ค.ศ.1930 มีการแบ่งทางภาคใต้กลายเป็นมิสซังราชบุรี ภายใต้การดูแลของคณะซาเลเซียน มิสซังจันทบุรีก่อตั้งในค.ศ.1944 มิสซังเชียงใหม่ก่อตั้งใน ค.ศ.1960 ในสมัยนี้และต่อมาในสมัยมุขนายกหลุยส์โชแรง มีคณะนักบวชอีกมากมายเข้ามาทำงานด้านต่างๆ ในประเทศไทย เช่น คณะอุร์สุลิน คณะคาร์แมล คณะซาเลเซียน คณะพระมหาไถ่ คณะสงฆ์พระหฤทัยแห่งเบธาราม คณะลาซาล คณะเยสุอิต คณะคามิล เลียน คณะศรีชุมพาบาล ฯลฯ รวมถึงคณะนักบวชใหม่ๆ อีกมากมายที่เข้ามาในประเทศไทยในสมัยต่อมา นอกนั้นยังมีความตื่นตัวในเรื่องกิจการฆราวาสแพร่ธรรม  การก่อตั้งคณะกิจการแพร่ธรรมต่างๆ มากมายอีกด้วย
 
พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทยเจริญเติบโตขึ้นผ่านทางบรรดามุขนายก บาทหลวงมิสชันนารี และครูสอนศาสนาที่ทำงานอย่างกระตือรือร้น ทำให้งานเผยแผ่คริสต์ศาสนาเติบโตก้าวหน้ามากขึ้น สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะสถาปนาพระฐานานุกรมพระศาสนจักรในประเทศไทยดังนั้นในปี ค.ศ.1965 อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ และอัครสังฆมณฑลท่าแร่ หนองแสง ได้รับการสถาปนาขึ้น และต่อมาพระอัครสังฆราช (มุขนายก) ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู แห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ได้รับการสถาปนาเป็นพระคาร์ดินัลไทยองค์แรก ในปี ค.ศ.1983
 
ปัจจุบันประเทศไทยแบ่งการปกครองเป็น 10 เขตปกครอง (สังฆมณฑล) คือ 1. อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ 2. สังฆมณฑลราชบุรี 3. สังฆมณฑลจันทบุรี 4. สังฆมณฑลเชียงใหม่   5. สังฆมณฑลนครสวรรค์ 6. สังฆมณฑลสุราษฎร์ธานี 7. อัครสังฆมณฑลท่าแร่ หนองแสง 8. สังฆมณฑลอุบลราชธานี 9. สังฆมณฑลอุดรธานี 10. สังฆมณฑลนครราชสีมา แต่ละสังฆมณฑลมีมุขนายกที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระสันตะปาปา เป็นประมุขประจำสังฆมณฑล และประมุขสังฆมณฑลมีอำนาจหน้าที่ในเขตสังฆมณฑลของตน (ขึ้นตรงกับพระสันตะปาปา) และจะร่วมกันบริหารปกครองพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกในประเทศไทย ภายใต้การกำกับดูแลของ “สภาประมุขแห่งบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย” (Catholic Bishops Conference of Thailand) โดยมีสำนักงานศูนย์กลางอยู่ที่ เลขที่ 122/11 ซอยนาคสุวรรณ ถนนนนทรี ยานนาวา กรุงเทพฯ 10120    
 
จำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิกมีประมาณ 330,000 คน มีมุขนายกและบาทหลวงทั้งสิ้นราว 714 ท่าน ภราดา (บราเดอร์) 114 ท่าน ภคินี (ซิสเตอร์) 1,494 ท่าน วัด 471 แห่ง
 
2. บทบาทของคริสต์ศาสนาต่อสังคมไทย
 
เป็นที่ยอมรับกัน ว่าคริสต์ศาสนาได้เผยแผ่สู่ประเทศไทยพร้อมๆ กับการเข้ามาของชาวยุโรปชาติแรกคือ โปรตุเกส ในราว ค.ศ. 1511 โดยการเจริญสัมพันธไมตรีกับพระมหากษัตริย์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 2 นับตั้งแต่นั้นการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ได้เริ่มต้นขึ้นในแผ่นดินสยาม ระยะเวลาราว 500 ปี ของการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องและสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำพระศาสนจักรและราชอาณาจักรไทย การพบปะระหว่างพระสันตะปาปาและพระมหากษัตริย์ของไทยถือเป็นการแสดงถึงสัมพันธภาพและความเป็นมิตรระหว่างกัน จนมีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน โดยพระสันตะปาปาส่งผู้แทนของพระองค์มาประจำประเทศไทย จนมีการก่อตั้งสถานเอกอัครราชทูตวาติกันประจำประเทศไทยอย่างเป็นทางการใน ปี ค.ศ. 1969 และราชอาณาจักรไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตและส่งเอกอัครราชทูตแห่งประเทศไทยประจำนครรัฐวาติกันในปี ค.ศ. 1971
 
นอกจากบรรดามิชชันนารีจะเข้ามาเผย แผ่ศาสนาคริสต์และ พวกท่านได้นำศิลปวิทยาการจากยุโรปเข้ามาเผยแพร่ในแผ่นดินไทย พระมหากษัตริย์ไทยได้มีพระราชหฤทัยเมตตาแก่บรรดามิชชันนารี ทรงโปรดให้มีการประกาศศาสนาอย่างเสรี ทรงพระราชทานที่ดินและโปรดให้บรรดามิชชันนารีเข้ามาถวายงานในราชสำนักไทยใน หลายรัชสมัย แน่นอนว่าบรรดามิชชันนารีมีความปรารถนาให้คนไทย (สยาม) ได้เข้ามานับถือคริสต์ศาสนา และพยายามหาวิธีการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในหลายรูปแบบ แม้จะมีคนไทยที่เข้ามานับถือศาสนาคริสต์จำนวนไม่มากนัก แต่อิทธิพลของศาสนาคริสต์ผ่านทางการดำเนินชีวิตของบรรดามิชชันนารี ที่สะท้อนถึงคุณค่าตามหลักธรรมคำสอนของพระเยซูเจ้าผ่านทางรูปแบบของการ ศิลปวิทยาการ รวมถึงวิถีชีวิต การดำเนินงานในรูปแบบขององค์กรและสถาบันต่างๆ ที่เริ่มต้นขึ้นโดยบรรดามิชชันนารี ต่างสะท้อนถึงการนำหลักธรรมคำสอนของคริสต์ศาสนามาเผยแผ่แก่ชาวไทยในรูปแบบ ต่างๆ 
 
สรุป ได้ว่าแม้ ว่าจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์ในประเทศไทยจะมีไม่มากนัก ถือได้ว่าเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมไทย แต่สิ่งหนึ่งที่คริสตชนไทยสำนึกเสมอคือ “การสำนึกว่าตนเองเป็นคนไทย” กล่าวคือ ความสำนึกในความรักชาติ รักสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้ว่าคริสตชนไทยจะยึดหลักธรรมคำสอนของศาสนาคริสต์เป็นหลักในการดำเนินชีวิต แต่ความสำนึกถึงการเป็นคนไทย เรียกร้องให้คริสตชนไทยสำนึกถึงการรักความเป็นไทย ด้วยการดำเนินชีวิตอย่างสมดุลในฐานะเป็น “คริสตชนชาวไทย” ที่บรรพบุรุษไทยได้ปลูกฝังในจิตสำนึกแห่งความเป็นไทยในคนรุ่นปัจจุบัน ศาสนาคริสต์ในประเทศไทยอาจปรากฏเด่นชัดในรูปแบบขององค์กรหรือสถาบันต่างๆ ที่สะท้อนถึงหลักธรรมคำสอนของพระเยซูเจ้า ด้วยสำนึกในพระดำรัสของพระเยซูเจ้าที่ว่า “สิ่งใดที่ท่านทำต่อพี่น้องที่ต่ำต้อยของเรา ก็เท่ากับท่านได้ทำกับเราเอง”
 
สรุปความสัมพันธ์ทางการ
325 ปี ระหว่างพระสันตะปาปาและพระมหากษัตริย์ไทย
25 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน
 

I. สมัยกรุงศรีอยุธาเป็นราชธานี

1.

24 สิงหาคม 1669

สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 มีพระสมณสาสน์มาถวายสมเด็จพระนารายณ์ โดยผ่านทางพระสังฆราชปัลลือและได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 1673

2.

13 กันยายน 1669

สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 9 อาศัย Bulla ที่มีชื่อว่า Speculatores ทรงประกาศให้สยามมีฐานะเป็นดินแดนมิสซัง (เฉพาะมิติทางศาสนาเท่านั้น)

3.

4 ตุลาคม1679

มเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 มีพระสมณสาสน์มาถวายสมเด็จพระนารายณ์ โดยผ่านทางพระสังฆราชปัลลือเช่นเดียวกัน พิธีกราบบังคมทูลถวายพระสมณสาสน์นี้มีขึ้นในปี ค.ศ. 1682

4.

24 ธันวาคม 1680

คณะทูตสยามคณะแรกออกเดินทางไปยุโรป นำพระราชสาสน์ของสมเด็จพระนารายณ์ไปถวายพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 และสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 พร้อมทั้งเครื่องราชบรรณาการ แต่เรือที่คณะทูตชุดนี้เดินทางไปได้อับปางลงที่เกาะมาดากัสการ์ตอนปลายเดือนสิงหาคม 1681

5.

15 กุมภาพันธ์ 1687

สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11มีพระสมณสาสน์มาถวายสมเด็จพระนารายณ์ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้นำมา และมาถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่ นักประวัติศาสตร์มิได้กล่าวถึงพระสมณสาสน์ฉบับนี้เลย (ไม่เป็นที่ทราบกันมาก่อน)

6.

23 ธันวาคม 1688

คณะทูตสยามคณะที่ 4 มีบาทหลวงกีย์ ตาชารด์ เป็นทูตพิเศษของสมเด็จพระนารายณ์ เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11พร้อมทั้งถวายพระราชสาสน์ของสมเด็จพระนารายณ์และเครื่องราชบรรณาการแด่สมเด็จพระสันตะปาปานอกจากนี้ยังได้ถวายจดหมายของคอนสแตนติน ฟอลคอน พร้อมๆ กับรายงาน (Memorandum) ของเขาอีก 1 ฉบับด้วย

 

27 ธันวาคม 1688

บาทหลวงกีย์ ตาชารด์ เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา พร้อมกับครูคำสอนชาวตังเกี๋ย 3 คน

 

5 มกราคม 1689

คณะทูตสยามได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาอีกครั้งหนึ่งเพื่อทูลลา สมเด็จพระสันตะปาปาทรงฝากพระสมณสาสน์มาถวายสมเด็จพระนารายณ์

7.

7 มกราคม 1689

พระสมณสาสน์ของสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 11 ส่งมาถวายสมเด็จพระนารายณ์ ผ่านทางบาทหลวงตาชารด์ เนื่องจากพระเพทราชาทรงทำรัฐประหารแล้วบาทหลวงตาชารด์จึงได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าถวายพระราชสาสน์ของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 และพระสมณสาสน์ฉบับนี้เมื่อวันที่ 29 มกราคม 1699 ไม่มีผู้ใดพูดถึงพระสมณสาสน์ฉบับนี้

II.สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

1.

8 มีนาคม 1852

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชสาสน์ไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 ด้วยลายพระหัตถ์ของพระองค์เอง พระสังฆราชปัลเลอกัวเป็นผู้นำไปถวาย และได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา พร้อมด้วยเด็กไทย 2 คน คือ ยอแซฟ ชม และฟรังซิส แก้ว

2.

20 ธันวาคม 1852

สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 ทรงมีพระสมณสาสน์ตอบพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยผ่านทางพระสังฆราชปัลเลอกัว

3.

21 มีนาคม 1861

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชสาสน์ฉบับที่สอง และเครื่องราชบรรณาการ ไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 โดยผ่านทางคณะทูตสยามซึ่งได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาต้นเดือนตุลาคม 1861

4.

7 ตุลาคม 1861

สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 9 ทรงมีพระสมณสาสน์พร้อมกับพระบรมฉายาลักษณ์ รวมทั้งเครื่องบรรณาการมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

5.

4 กรกฎาคม 1884

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย (ม.จ. ปฤษฎางค์ ชุมสาย) ผู้แทนพิเศษของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 เป็นการส่วนพระองค์ ที่สำนักวาติกัน

6.

4 มิถุนายน 1897

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในระหว่างเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก ได้เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13

 

5 มิถุนายน 1897

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของวาติกัน ซึ่งต่อมาสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 ได้ประทานเครื่องราชอิสริยา ภรณ์ของสันตะสำนักให้แก่คณะผู้ตามเสด็จเช่นเดียวกัน

 

29 ตุลาคม 1897

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมชมมหาวิหารนักบุญเปโตรอีกครั้งหนึ่ง พระสังฆราชผู้ดูแลมหาวิหารเป็นผู้รับเสด็จ และนำเสด็จเยี่ยมชม

7.

20 กรกฎาคม 1903

สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13 สวรรคต

 

21 กรกฎาคม 1903

คณะพระคาร์ดินัลที่กรุงโรมเขียนจดหมายมากราบบังคมทูลเรื่องการสวรรคตของสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 13

 

4 สิงหาคม 1903

สมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 10 ทรงมีพระสมณสาสน์มา กราบบังคมทูลเรื่องการได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาของพระองค์

 

9 ตุลาคม 1903

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชสาสน์ตอบไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 10

8.

ปี ค.ศ.1903

(ไม่ทราบรายละเอียดมากกว่านี้) พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 11

9.

19 มีนาคม 1934

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมกาตากอมบ์กัลลิสโต โดยมีคณะสงฆ์ซาเลเซียนนำเสด็จชมและถวายการบรรยาย

 

21 มีนาคม 1934

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีอุส ที่ 11

 

1 เมษายน 1934

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ เสด็จร่วมในพิธีสถาปนาคุณพ่อยอห์น บอสโก ผู้ก่อตั้งคณะซาเลเซียนเป็นนักบุญ ที่กรุงโรม

10.

4 พฤษภาคม 1946

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอฯ ภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพระสังฆราชแปร์รอส ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ เป็นการส่วนพระองค์

11.

1 มิถุนายน 1955

จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปปีอุส ที่ 12 ที่นครรัฐวาติกัน

12.

16 ตุลาคม 1958

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พลโท หลวงสุรณรงค์ เป็นผู้แทนพระองค์เข้าร่วมในพิธีมหาบูชามิสซาอุทิศแด่วิญญาณของสมเด็จพระสันตะปาปปีอุส ที่ 12 ซึ่งสวรรคตเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 1958

13.

1 ตุลาคม 1960

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23

14.

12 มิถุนายน 1963

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ เป็นผู้แทนพระองค์ เข้าร่วมในพิธีไว้อาลัยและพิธีมหาบูชามิสซาอุทิศแด่พระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ซึ่งสวรรคตเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 1963

15.

28 เมษายน 1969

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ นายจิตติ สุจริตกุล พร้อมกับพระอัครสังฆราชยัง ยาโดต์ ผู้แทนพระสันตะปาปา ทำพิธีแลกเปลี่ยนหนังสือเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยและนครรัฐวาติกัน ในระดับสถานเอก อัครราชทูต

16.

2 กุมภาพันธ์ 1983

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงประกาศแต่งตั้งพระอัครสังฆราชไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ประมุขอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นพระคาร์ดินัล

17.

10-1 พฤษภาคม 1984

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเยือนประเทศไทย และเสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

18.

14 กันยายน 1985

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จเข้าเฝ้าพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ณ พระราชวังวาติกัน

19.

14 เมษายน 1988

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จเข้าเฝ้าพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ณ พระราชวังวาติกัน

 

 

 

II.  ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปาประจำประเทศไทย
(Apostolic Delegates to Thailand)

1.

ฯพณฯ อัครสังฆราช จอห์น กอร์ดอน ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 1962

2.

ฯพณฯ อัครสังฆราช อันเจโล เปโดรนี ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 10 เมษายน 1965

3.

ฯพณฯ อัครสังฆราช ยัง ยาโดต์  ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1968

 

 

 

เอกอัครสมณทูต
(Apostolic Pro-Nuncios * or Vatican Ambassadors)

1.

ฯพณฯ อัครสังฆราช ยัง ยาโดต์  ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 1969

2.

ฯพณฯ อัครสังฆราช โยวานนี โมเร็ตตี  ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 9 กันยายน 1971

3.

ฯพณฯ อัครสังฆราช ซิลวีโอ ลูโอนี  ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 1978

4.

ฯพณฯ อัครสังฆราช เรนาโต มาร์ติโน ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 14 กันยายน 1980

5.

ฯพณฯ อัครสังฆราช อัลแบร์โต ตรีการีโก ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1987

 

*Apostolic Pro-Nuncio ได้ถูกยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1993

 

 

 

เอกอัครสมณทูต
(Apostolic Nuncio)

1.

ฯพณฯ อัครสังฆราช ลุยจี แบรสซาน ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1993

2.

ฯพณฯ อัครสังฆราชอาเดรียโน แบร์นาร์ดินี ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ.1999

3.

ฯพณฯ อัครสังฆราชซัลวาตอเร เปนนักคีโอ ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.2003

4.

ฯพณฯ อัครสังฆราช โจวานนี ดานีเอลโล ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่  22 กันยายน ค.ศ. 2010

5.

 ฯพณฯพระอัครสังฆราช พอล ชาง อิน-นัม ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 2012

 

 

 

เอกอัครราชทูตแห่งประเทศไทยประจำสันตะสำนัก
(AMBASSADORS   OF  THE KINGDOM  OF  THAILAND TO THE HOLY S EE)

1.

ฯพณฯ ชาติชาย ชุณหะวัณห์  ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 1971

2.

ฯพณฯ สุขดิษฐ์ ดิสกุล ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 1974

3.

ฯพณฯ กลด วิเศษสุรการ ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 1977

4.

ฯพณฯ วราชิต นิติบุญ  ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 1979

5

ฯพณฯ โอวาท สุทธิวาทนฤพุฒ ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 1984

6

ฯพณฯ สมบูรณ์ เสงี่ยมบุตร ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 1988

7.

 ฯพณฯ สินธู ศรสงคราม ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 1991

8.

ฯพณฯ วิทย์ รายนานนท์ ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 21 มกราคม1994