-
Category: ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส
-
Published on Monday, 29 October 2018 04:26
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 6207
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระนามเดิมว่าพระเชษฐาธิราช ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๑๕ ที่เมืองพิษณุโลก ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้อภิเษกเป็นพระมหาอุปราชเมื่อพระชนมายุได้ ๑๓ พรรษา เมื่อสมเด็จพระราชบิดาเสด็จสวรรคต พระองค์ได้ถวายราชสมบัติแก่พระบรมราชาธิราชที่ ๓ ผู้ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดา และครองกรุงศรีอยุธยาอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก พระองค์จึงอยู่ในฐานะพระมหาอุปราชครองเมืองพิษณุโลก เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ เสด็จสวรรคต พระองค์จึงเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๓๔ เป็นพระมหากษัตริย์องค์ที่สิบของกรุงศรีอยุธยา
ในปี พ.ศ.๒๐๕๔/ค.ศ.1511 ทูตนำสารของ อัลฟองโซ เดอร์ก แม่ทัพใหญ่ของโปรตุเกสได้เดินทางมากรุงศรีอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและการค้า พระองค์ทรงตอบรับไมตรีจากโปรตุเกส และได้ทำสัญญาทางราชไมตรี และทางการค้าต่อกัน เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๙/ค.ศ.1516 นับเป็นสัญญาฉบับแรกที่ไทยทำกับต่างประเทศ
ผลจากการเข้ามาสร้างไมตรีของชาวโปรตุเกส ได้มีการนำเอาอาวุธแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาถวาย ได้แก่ ปืนประเภทต่าง ๆ และกระสุนดินดำ ต่อมาชาวโปรตุเกสได้เข้ามาเป็นทหารอาสาฝรั่ง ได้ช่วยฝึกวิธีการใช้อาวุธแบบตะวันตก
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๗๒ ครองราชย์ได้ ๓๘ ปี
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ หรืออีกพระนามหนึ่งว่าสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระนามเดิมว่าพระอาทิตยวงศ์และทรงเป็นรัชทายาท ภายหลังได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ครองเมืองพิษณุโลก พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๒ /ค.ศ.1529 เป็นพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ ๑๑ ของกรุงศรีอยุธยา
พระองค์มีพระปรีชาสามารถในการปกครองและการรบ และการปกครอง การติดต่อกับโปรตุเกส ทำให้กรุงศรีอยุธยาได้รับประโยชน์จากการค้าขายกับโปรตุเกส โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการทหาร เช่น การทำปืนไฟ การสร้างป้อมปราการที่สามารถป้องกันปืนไฟได้ ที่เมืองสวรรคโลก สุโขทัย และกรุงศรีอยุธยา นอกจากนั้นให้ชาวโปรตุเกสตั้งเป็นกองอาสา เข้าร่วมรบกับข้าศึกด้วยชาวโปรตุเกส ก็ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการได้เข้ามาค้าขาย และเผยแพร่คริสตศาสนานิกายโรมันคาธอลิกรวมทั้งการเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่กรุงศรีอยุธยาอีกด้วย
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๖ / ค.ศ. 1533 ครองราชย์ได้ ๔ ปี
สมเด็จพระไชยราชาธิราช
สมเด็จพระไชยราชาธิราช ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ไปครองเมืองพิษณุโลกเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๗๒/ค.ศ.1529 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปีพ.ศ. ๒๐๗๗/1534 เป็พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๓ ของกรุงศรีอยุธยา
ในรัชสมัยของพระองค์ได้เกิดสงครามไทยกับพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๘๑/1538 เมื่อพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ แห่งกรุงหงสาวดี ได้ยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน อันเป็นหัวเมืองชายแดนทางทิศตะวันตกของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระไชยราชาธิราชทรงยกทัพไปตีกลับคืนมา ในการทัพครั้งนี้ พระองค์นำทหารอาสาชาวโปรตุเกสไปด้วย อาสาชาวโปรตุเกสมีความชำนาญในการใช้ปืนไฟ และได้เริ่มใช้ปืนไฟ ในการรบเป็นครั้งแรก กองทัพไทยสามารถยึดเมืองเชียงกรานกลับคืนมาได้
เมื่อพระองค์ยกทัพกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ทรงปูนบำเหน็จความชอบแก่กองอาสาชาวโปรตุเกส พระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนที่บริเวณตำบลบ้านดิน เหนือคลองตะเคียน ซึ่งต่อมาเรียกว่าบ้านโปรตุเกส และทรงอนุญาตให้สร้างวัดคริสตศาสนานิกายโรมันคาธอลิก ทำให้มีบาดหลวงเขามาเผยแพร่คริสตศาสนา ในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้น
สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๘๙/ค.ศ. 1546 ครองราชย์ได้ ๑๒ ปี
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงพระนามเดิมว่า พระเฑียรราชา ทรงเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ และทรงเป็น พระอนุชาต่างพระชนนี ในสมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จพระราชสมภพ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๕๕ ทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน คู่กันกับท้าวศรีสุดาจันทร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระยอดฟ้า ต่อมาได้เสด็จออกผนวช ณ วัดราชประดิษฐาน ต่อมาได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราช เมื่อปี พ.ศ.๒๐๙๑/ค.ศ.1548 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๕ ของกรุงศรีอยุธยา
พระเจ้าบุเรงนอง ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.๒๑๐๖/ค.ศ.1563 ด้วยกำลังพลสองแสนคน จัดเป็นทัพกษัตริย์หกทัพ ได้เตรียมทัพเรือพร้อมปืนใหญ่กับจ้างชาวโปรตุเกสอาสาสมัคร ๔๐๐ คน เป็นทหารปืนใหญ่ ให้เมืองเชียงใหม่สนับสนุนเสบียงอาหาร โดยลำเลียงมาทางเรือ เปลี่ยนเส้นทางเดินทัพมาทางด่านแม่ละเมา เข้าตีหัวเมืองเหนือของไทยมาตามลำดับเพื่อตัดกำลังที่จะยกมาช่วยกรุงศรีอยุธยา
ฝ่ายไทยเตรียมตัวป้องกันพระนคร โดยคาดว่าพม่าจะยกกำลังมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ทำให้พระเจ้าบุเรงนองตีเมืองกำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัย พิชัย และพิษณุโลกได้ ครั้นลงมาถึงเมืองชัยนาท กองทัพพม่าก็ได้ปะทะกับกองทัพไทยของพระราเมศวร แต่ฝ่ายไทยต้านทานไม่ได้ต้องถอยกลับเข้ากรุงศรีอยุธยา กองทัพพม่าได้เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ แล้วระดมยิงปืนใหญ่เข้าในพระนครทุกวัน จนราษฎร์ได้รับความเดือดร้อนและเสียขวัญ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ ต้องเสด็จไปเจรจากับพระเจ้าบุเรงนอง ที่พลับพลาบริเวณตำบลวัดพระเมรุการาม กับวัดหัสดาวาส ยอมเป็นไมตรี โดยได้มอบช้างเผือกสี่เชือก พร้อมกับพระราเมศวร พระยาจักรี และพระยาสุนทรสงครามให้แก่พม่า
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ.๒๑๑๑ ครองราชย์ได้ ๒๐ ปี
เจ้าชายเฮนรี่ นาวิกบุรุษ
ค.ศ.1394/พ.ศ.1937 วันประสูติของ เจ้าชายเฮนรี่ นักเดินเรือ โอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าจอห์นที่ 1 แห่งโปรตุเกส พระองค์สนใจเรื่องการเดินเรือ และสนับสนุนให้ นักเดินเรือออกสำรวจดินแดนต่างๆ เช่น สนับสนุนให้วาสโคดากาม่า ออกเดินทางมาอินเดีย โดยเลียบทวีปอาฟริกา และให้โคลัมบัสสำรวจอีกทางหนึ่ง
อนุสาวรีย์เจ้าชายเฮนรี่ นักเดินเรือการสำรวจดินแดนของชาวโปรตุเกส