-
Category: ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส
-
Published on Friday, 07 September 2018 03:23
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 5679
โดย...ภาสกร วงศ์ตาวัน
กรุงศรีอยุธยา กลายเป็นราชธานีที่สำคัญในภูมิภาคด้วยเวลาอันรวดเร็ว หลังจากสถาปนาขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง ด้วยการขยายพระราชอำนาจและอาณาเขตออกไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้บ้านเมืองใกล้เคียงเข้ามาเป็นเมืองประเทศราช และบางส่วนก็กลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไป
แม้ภายในกรุงศรีอยุธยาเองจะปรากฏสภาพการ แก่งแย่งอำนาจทางการเมืองภายในกันอยู่อย่างต่อเนื่องก็ตามที กระนั้นในสายตาของเพื่อนบ้านแล้วอยุธยาก็ยังคงเป็นราชธานีที่เข็มแข็งและยิ่งใหญ่
และความเปลี่ยนแปลงหรือเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจและควรกล่าวถึงก็คือ การเข้ามาของชาวตะวันตกในกรุงศรีอยุธยา
อันที่จริงแล้วการเข้ามาของชาวตะวันตกในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ได้เข้ามาแค่กรุงศรีอยุธยาเท่านั้น หากแต่แท้จริงเข้ามาแทบทุกเมืองทั้งภูมิภาคเลยก็ว่าได้ และการเข้ามาของชาวตะวันตกในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองที่ทำให้สภาพการณ์ทางการเมืองเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงวิถีชีวิตของมวลชนแห่งเอเชียตะวัตออกเฉียงใต้ได้รับผลกระทบไปด้วยไม่น้อย
แต่ในที่นี้เราจะกล่าวถึงแค่การเข้ามาในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น
ฝรั่งชาติตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาติดต่อและสานสัมพันธ์กับกรุงศรีอยุธยาได้แก่ โปรตุเกส
โปรตุเกสเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับอยุธยาเป็นครั้งแรก ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กล่าวคือ หลังจากที่โปรตุเกสตีเมืองมะละกาและเข้ามายึดเพื่อปกครองได้ใน พ.ศ. ๒๐๕๔ อัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์คี (Afonso de Albuquerque) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองหรือผู้สำเร็จราชการมะละกาขณะนั้น ได้จัดส่งทูตเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อกราบบังคมทูลให้ทราบว่าโปรตุเกสปกครองมะละกา ซึ่งเดิมเป็นเมืองขึ้นของไทย
อีกทั้งยังแสดงความประสงค์จะเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย โดยการให้สิทธิทางการค้ากับไทยที่มะละกาอีกด้วย ซึ่งในครั้งนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ก็ได้ตอบรับไมตรีของโปรตุเกสและลงนามในสัญญาที่ถือเป็นสัญญาฉบับแรกกับชาติตะวันตกในประวัติศาสตร์เมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๙
ที่สยามหรืออยุธยายอมตอบรับพระราชไมตรี ด้านหนึ่งเพราะในยามนั้นอยุธยากำลังมีศึกติดพันกับเมืองเชียงใหม่อยู่ด้วย ดังนั้น การเปิดศึกอีกด้านย่อมไม่เป็นสิ่งที่ควรอย่างแน่นอนขณะที่อีกทางหนึ่งนั้นด้วยแสนยานุภาพของโปรตุเกสที่เปิดแนวรบมาตลอดเส้นทางโดยเฉพาะตามเมืองท่าสำคัญ หากสยาม ไม่ยอมรับพระราชไมตรีก็จะเป็นเหตุให้เกิดสงครามขึ้นมาได้
นอกจากนั้นทางสยามยังเห็นถึงการแสดงออกของโปรตุเกส ที่ประสงค์จะทำการค้ากับสยามมากกว่าที่จะยึดดินแดนเป็นเมืองขึ้นอย่างที่ทำมาตลอดเส้นทางการค้า จึงทำให้เกิดการตอบรับไมตรีในที่สุด
เอกสารของตะวันตกกล่าวว่ากษัตริย์สยามทรงให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ไม่เพียงเท่านั้นกษัตริย์สยามยังทรงมอบของขวัญและเสนอความช่วยเหลือฉันท์มิตร ซึ่งในยามนั้นการยอมแพ้ของมะละกา ทำให้ข้อเสนอที่ว่านั้นลดความสำคัญลงไป นอกจากนี้ยงปรากฏอีกว่า อัลบูเคอร์คี ดูเหมือนจะเคยเสนอ ที่จะโอนการปกครองเมืองมะละกามาให้กษัตริย์สยาม เพื่อเป็นสิ่งตอบแทนความร่วมมือที่เขาจะได้รับจากพระองค์ด้วย
จุดนี้ดูจะเห็นเหลี่ยมมุมทางการเมืองของโปรตุเกสเสียมากกว่าใครหรือจะยอมยกเมืองที่ตัวเองอุตส่าห์หรือหมายมั่นปั่นมือเอาไว้ให้คนอื่นง่ายๆ
ทูตของโปรตุเกสครั้งนั้นก็คือ ร้อยโทดูอาร์เต เฟอร์แนนเดส (Duarte Fernandes) ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นนักโทษของพวกเขกมัวร์ และสามารถพูดภาษามาเลย์ได้ (สมัยนั้นเป็นภาษากลางใช้สื่อสารกันทั่วไปของนักเดินเรือในอุษาคเนย์) เดินทางโดยอาศัยเรือสินค้าของจีนเข้ามายังอยุธยา พร้อมกับนำดาบที่มีด้ามและฝักประดับด้วยอัญมณีมอบเป็นบรรณาการมาด้วย
ในเวลาต่อมา อับบูเคริก์ ก็ส่งทูตชุดใหม่มาเพื่อเปิดการค้าอย่างเป็นทางการกับอยุธยา และคณะทูตชุดนี้ก็นำโดยนายอันโตนิโอ มิรันดา เดอ วเซเวดู (Antonio Miranda de Azevedo) โดยมีคนอีกคนหนึ่งติดตามมาด้วย ชายคนนี้ชื่อ มานูแอล ฟราโกซู (Manuel Fra gozo) และนายฟราโกซู คนนี้เองที่ได้รับการบันทึกว่าเป็นจารชนชาวยุโรปในสยามคนแรก
หากเราเรียนรู้การเดินทางมาถึงของพวกโปรตุเกสตลอดเส้นทางแล้ว จะเข้าใจสิ่งที่นายฟราโกซู คนนี้ทำได้มากยิ่งขึ้น โปรตุเกสมาถึงเมืองท่าเมืองแรกคือ กาลิกัท ซึ่งเป็นเมืองบนฝั่งมะละบาร์ของอินเดีย ไม่นานนักก็เข้ายึดเมืองนั้นเป็นของตัวเอง ต่อมาก็เข้ายึดเมืองกัว และต่อมาอีกเมื่อมาสร้างสัมพันธ์กับมะละกา ก็เข้ายึดมะละกาเอาไว้เป็นของตัวเองอีก ดังนั้นกับสยามก็คงจะเผื่อลู่ทางเอาไว้ด้วยเช่นกัน
การมาเยือนของทูตโปรตุเกสครั้งนี้ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ก็ยังให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เพราะไม่คิดว่าพวกโปรตุเกสจะมีลับลมคนในอะไร วิเคราะห์ว่าเวลานั้นพระองค์น่าจะคิดว่าดีเสียอีกที่โปรตุเกสเข้ายึดเกาะมะละกาเสียได้ ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาสยามก็มีสงครามกับมะละกาจนเลิกทำการค้าขายกันมาระยะหนึ่งแล้ว
ที่สำคัญยังทรงอนุญาตให้นายปราโกซู ที่ว่าเป็นผู้ติดตามทูตมาอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาอย่างสะดวกสบายเสียด้วย
ซึ่งความเป็นจริงแล้ว นายฟรานโกซูคนนี้มีหน้าที่โดยได้รับคำสั่งว่าให้อาศัยอยู่ในสยามเพื่อรวบรวมข้อมูลสำคัญต่างๆ ให้แก่ฝ่ายโปรตุเกส ข้อมูลสำคัญต่างๆ ที่ว่านี้ได้แก่ ชนิดของสินค้าที่สามารถหาได้ในสยาม ขนบประเพณีและการแต่งกายของชาวสยาม ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจนของเมืองอยุธยา ความลึกของท่าเรืออยุธยา
นอกจากนั้นยังต้องเสาะแสวงหา และรวบรวมข้อมูลด้านแสนยานุภาพทางทหารของสยามอีกด้วย
ไม่เพียงเท่านั้นอันที่จริงแล้วการสืบราชการลับเริ่มต้นมาตั้งแต่การเดินทางของทูตครั้งนี้แล้วคือ เพื่อให้รู้จักเส้นทางของการเข้าสู่อยุธยา ทูตชุดนี้จึงได้เลือกเดินทางสำรวจมาโดยช่วงแรกเดินทางทางเรือมาขึ้นฝั่งที่เมืองมะริดก่อน แล้วเดินทางบกสำรวจเส้นทางบกไปเรื่อยจนเข้าสู่เมืองอยุธยา
ด้วยภารกิจดังว่า และได้รับพระบรมราชานุญาตให้อาศัยอยู่ในสยามได้ นายฟราโกซูเลยอยู่อย่างสะดวกสบายในสยามถึง ๒ ปี เป็นเวลา ๒ ปีที่สืบราชการลับโดยมีบรรดาขุนนางข้าราชการให้การต้อนรับ และพร้อมที่จะให้ข้อมูลที่อยากได้ทุกเรื่อง หมดเวลา ๒ ปี นายฟราโกซูก็เดินทางออกนอกประเทศนำข้อมูลที่ตัวเองได้ไปรายงานกับผู้สำเร็จราชการโปรตุเกสที่เมืองกัวได้อย่างพร้อมมูล
เรื่องราวของนายฟราโกซู ได้รับการบันทึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์ของโปรตุเกสอย่างชัดเจน เสียอย่างเดียวที่จนถึงวันนี้รายงานฉบับของเขานั้นได้หายสาบสูญไปเสียแล้ว เลยไม่มีใครในปัจจุบันที่ได้อ่าน และได้รู้จนถึงผลงานที่เขาได้ทำเอาไว้ในฐานะจารชนคนแรกของชาวตะวันตกในสยามประเทศ
ในเวลาต่อมา ไม่ปรากฏว่าโปรตุเกสคิดจะเข้ามายึดกรุงศรีอยุธยาเหมือนกับที่ทำกับหลายเมืองที่ผ่านมา กระนั้นเกมการเมืองครั้งนี้ของโปรตุเกสหากเรามาพิจารณากันในปัจจุบันแล้ว ก็ดูน่าหวาดเสียวอยู่ไม่น้อย ที่สำคัญยังมีประเด็นพ่วงอีกเรื่องหนึ่ง คือ ช่วงเวลาดังกล่าวโปรตุเกสไม่แต่เพียงเข้ามาสืบราชการลับเท่านั้น ยังส่งคนเข้ามาทำอะไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นความลับทางราชการของชาติด้วย นั่นก็คือส่งนายเปรู เรยเนล (Pero Reinal) เข้ามาทำแผนที่เดินเรือของอ่าวสยาม ซึ่งถือเป็นการทำแผนที่เดินเรือและการสำรวจน่านน้ำของสยามครั้งแรกโดยชาวตะวันตก
คิดๆ ไปแล้วในแง่ประวัติศาสตร์ ข้อมูลของนายฟราโกซู ที่สูญหายไปนั้นน่าเสียดายอย่างยิ่ง ไม่รู้ว่าเขาบันทึกอะไรเอาไว้บ้าง ซึ่งหากมีอยู่ก็น่าจะสามารถเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอยุธยาที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งไม่ต่างจากของยุโรปชาติอื่น ที่ทำกันมาอย่างต่อเนื่องและยังมีหลงเหลือกลายเป็นหลักฐาน และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เช่น ของฮอลันดา ที่มีนาย โยสต์ เซาเต็น และนายฟาน ฟลีต บันทึกหรือของฝรั่งเศส ที่มีหลายคนหลายสำนวน แต่ที่ได้รับการนับถืออย่างมากก็เช่นของลาลูแบร์ หรือของบาทหลวงตาชาร์ด เป็นต้น ซึ่งแท้จริงมันก็คือข้อมูลในเชิงของการสืบราชการลับ หรือข้อมูลของจารชนทั้งสิ้นนั่นเอง
ย้อนกลับมาประเด็นการเข้ามาของโปรตุเกสในสยาม ต่อเกิดคำถามว่าทำไมโปรตุเกสจึงต้องให้ความสำคัญกับสยาม?
คำตอบก็คือ หลังจากที่อัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์คี ได้ยึดมะละกาเรียบร้อยแล้ว คารปาร์ คอร์รีอา (ค.ศ. ๑๔๕๙-๑๕๑๖ หรือ พ.ศ. ๒๐๐๒-๒๐๕๙) นักเดินทางชาวโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามาอยู่ในอินเดียเมื่อ พ.ศ. ๒๐๕๕ (ค.ศ. ๑๕๑๒) ได้บันทึกเรื่องนี้เอาไว้ว่า
“ผู้สำเร็จราชการ (อัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์คี) พิจารณาเห็นว่ามะละกาจะเป็นสมบัติอันมีค่ายิ่งสำหรับโปรตุเกสหากสามารถทำการค้าได้โดยสันติ เขาจึงตัดสินใจสถาปนาความสัมพันธฉันท์มิตรกับเพื่อนบ้านของงเขา (หมายถึงประเทศรายรอบมะละกา ซึ่งหมายรวมถึงอยุธยาด้วย) เนื่องจากราชอาณาจักรสยามมีความสำคัญมากอันเป็นผลมาจาการค้ามั่งคั่ง ที่ราชอาณาจักรทำการค้ากับมะละกาและดินแดนอื่นๆ เขาจึงตัดสินใจฉวยโอกาสที่สำเภาจีนสองลำกำลังจะออกเดินทางไปยังสยาม ส่งดูอาร์เต เฟอร์แนนเดส ไปพร้อมกับเรือดังกล่าว บุคคลนี้เหมาะอย่างยิ่งกับหน้าที่นี้ เนื่องจากเขาเป็นผู้รอบรู้มาก”
การติดต่อครั้งนั้น ไม่เพียงแค่เจรจาการค้ากัน ในเวลาต่อมาอัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์คี ยังได้ให้ซิเมา เดอ มิรันดา เดอ อาเซเวโด พร้อมด้วยผู้ติดตามอีก ๕ คนนำของไปถวายพระเจ้าแผ่นดินอันได้แก่ เสื้อเกราะทำด้วยผ้าชาตินสีแดงเลือดหมู หอก โล่ และหมวกเหล็กซึ่งตกแต่งอย่างงดงาม เขากล่าวไว้ในหนังสือที่มีไปกราบบังคมทูลพระเจ้าแผ่นดินสยามว่า ตัวเขา เป็นทหารเขาไม่มอบของขวัญ อื่นใดนอกจากอาวุธซึ่งเขาใช้ในสงครามต่อสู้กับศัตรู และเพื่อช่วยเหลือและปกป้องมิตรของเขา
เรียกได้ว่าการเจริญสัมพันธไมตรีครั้งแรกนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ทรงพอพระราชหฤทัยในสิ่งของที่นำมาถวาย ดังจะเห็นได้ว่าในครั้งนั้นได้มีพระราชประสงค์ให้จัดที่พัก และจัดอาหารเลี่ยงดูคณะทูตอย่างดี มีการนำคณะทูตไปชมเมืองและช้างเผือก
ในเวลาต่อมา ก็ได้ส่งคณะทูตอัญเชิญพระราชสาส์นไปพระราชทานแก่อัลฟองโซ เดอ อัลบูเคอร์คี ตอบรับมิตรภาพที่จะเกิดขึ้น และได้ส่งของขวัญพระราชทานเป็นระฆัง ๒๐ ใน และหอกยาวทำด้วยไม้เนื้อแข็ง และเหล็กสีทองอีกจำนวน ๒๐ เล่ม และภาพว่าสงครามเป็นการตอบแทน เรียกว่ามิตรภาพเริ่มเกิดขึ้นโดยไม่ต้องเสียแรงต่อรองอะไรกันมากนัก
ด้วยมิตรภาพสัมพันธ์ที่ได้รับด้วยดีนี้ นับแต่นั้นมา ก็มีชาวโปรตุเกสเดินทางเข้ามาในอยุธยาเพิ่มมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ และดูเหมือนว่าชาวสยามจะให้การต้อนรับบรรดานักเดินทางและพ่อค้ารวมไปถึงทหารชาวโปรตุเกสเป็นอย่างดี
ว่ากันว่า ชาวโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามาในอยุธยานั้นบ้างก็เข้ามาค้าขาย และบ้างก็สมัครเข้ารับราชการเป็นทหารรักษาพระองค์ และทหารอาสาในกองทัพไทย ทหารโปรตุเกสเหล่านี้ได้ทำการฝึกหัด ทหารไทยให้รู้จักอาวุธปืนตลอดจนยุทธวิธีในการสงคราม ไม่เพียงเท่านั้น ผู้ที่เดินทางเข้ามาส่วนหนึ่งก็เป็นบาทหลวงชาวโปรตุเกสที่เข้ามาเพื่อเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ทั้งนี้เพราะไทยไม่มีนโยบายกีดขวางการเผยแพร่ศาสนาแต่อย่างใด
ในส่วนของการเข้าไปเป็นทหารรับจ้างหรือทหารอาสาของชาวโปรตุเกสนั้น มีบันทึกหนึ่งที่น่าสนใจแสดงให้เห็นถึงช่วงเวลาในระยะนั้น นั่นคือ บันทึกของโจเอา เดอ บาร์โรส (ค.ศ. ๑๔๙๖-๑๕๗๐ หรือ พ.ศ. ๒๐๓๙-๒๑๑๓) นักปราชญ์คนสำคัญของโปรตุเกสในเวลานั้นและเข้ามาเป็นตัวแทนทางการค้าของโปรตุเกสในอินเดีย ได้บันทึกเอาไว้ว่า
“เมื่อพระเจ้าแผ่นดินสยามทรงติดพันการสงครามกับลาว ชาวโปรตุเกสผู้มีชาติตระกูล ชื่อ โดมิน โกส เดอ ซีซาส (Domingos de Seixas) ถูกชาวสยามจับเป็นนักโทษพร้อมกับชาวโปรตุเกสคนอื่นๆ และถูกจองจำเป็นเวลาหลายปี สืบเนื่องมาจากความสามารถของเขา พระเจ้าแผ่นดินจึงทรงแต่งตั้งให้เป็นขุนนางโดยมีตำแหน่งเป็นกัปตันคุมกองทหาร และรับราชการที่อยุธยาถึง ๒๕ ปี”
อาจกล่าวได้ว่า นับแต่นั้นมากองทหารโปรตุเกสก็มีหัวหน้าที่คุม และดูแลกองทหารอาสาหรือทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสก็คือโดมินโกส เดอ ซีซาส ซึ่งในเวลาต่อมากษัตริย์โปรตุเกสขณะนั้นคือ พระเจ้าโดม โจอาวที่ ๓ (Dom Joao ๓) ได้ส่งฟรานซิสโก เดอ คาสโตร (Franciseo de Castro) มาขอตัวนายซีซาส ซึ่งโปรตุเกสเข้าใจว่ายังเป็นเชลย แต่กลับพบว่าในเวลานั้นนายซีซาส ซึ่งเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๖๐ ได้เป็นผู้บังคับการกองกำลังในดินแดนส่วนใน และเป็นที่ชอบพอกับพวกเจ้าหน้าที่ของสยาม และเขาได้รับอนุญาตให้ออกจากสยามได้พร้อมกับผู้ติดตามอีก ๑๖ นายเพื่อตอบแทนกับภารกิจที่เขาได้ทำให้กับสยาม
จะขอกล่าวถึงเรื่องราวของนายโดมินโกส เดอ ซีซาส คนนี้กันสักหน่อยเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักตัวตนของเขาที่แท้จริงมากขึ้น
โดมินโกส เดอ ซีซาส คนนี้มาจากตระกูลผู้ดีในโปรตุเกส แต่สันนิษฐานว่าเขาอาจจะเป็นบุตรคนรอง ซึ่งตามประเพณีของยุโรปนั้นเขาจะไม่ได้รับการสืบทอดตำแหน่งของครอบครัวรวมทั้งมรดกด้วย คงด้วยเหตุดังนี้ทำให้เขาเดินทางออกมาแสวงโชคในเอเชีย
พ.ศ. ๒๐๖๖ (ค.ศ. ๑๕๒๓) เขาก็เดินทางมาเป็นพ่อค้าโดยการทำการค้าที่เมืองมะริดของสยามโดยการซื้อข้าวแล้วส่งไปขายยังเมืองปาไซ บนเกาะสุมาตรา ในขณะนั้นบังเอิญมีเรือโจรสลัดโปรตุเกส ลำหนึ่งเข้าปล้นสะดมเรือของเจ้าเมืองตะนาวศรี ซึ่งเป็นเมืองใกล้เคียงกัน
การปล้นครั้งนั้นสร้างความโกรธแค้นกับออกญาตะนาวศรีเป็นอย่างมาก จึงออกคำสั่งให้จับกุมตัวชาวโปรตุเกสที่อยู่ทั้งในเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดขณะนั้นเอาไว้ให้หมด ซึ่งในจำนวนนี้มีนายซีซาส และชาวโปรตุเกสอีก ๑๗ ถูกจับตัวเอาไว้
เมื่อจับกุมแล้ว จะมีการสืบสวนสอบสวนกันอย่างไรหรือไม่ไม่สำคัญ แต่ที่แน่ๆ คือเจ้าเมืองตะนาวศรีก็ไม่กล้าตัดสินประหารด้วยตัวเอง ทั้งนี้เพราะรู้อยู่ว่าทางส่วนกลางคืออยุธยานั้นมีความสัมพันธ์ ที่ดียิ่งกับโปรตุเกส และที่สำคัญหากทำอะไรลงไปโดยไม่คิดหน้าคิดหลังอาจส่งผลให้โปรตุเกสเข้ามาเอาเรื่องได้ง่ายๆ ออกญาตะนาวศรีเลยจัดการส่งบรรดาคนโทษเหล่านี้เข้าสู่กรุงศรีอยุธยา
เมื่อมาถึงอยุธยาแล้ว จะสืบเสาะสอบสวนกันอย่างไรแน่นั้นไม่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏก็คือ คนเหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วจะมีความรู้และความเข้าใจ ในวิทยาการการสงครามรุ่นใหม่โดยเฉพาะมีความรู้ในวิชาการใช้ปืนไฟของโปรตุเกสอย่างแน่นอน
ก่อนหน้านี้อย่างเก่งแล้วอยุธยามีใช้ก็แค่ปืนใหญ่ที่ใช้วิธีผลิตแบบจีนเท่านั้น ต่อเมื่อโปรตุเกสเข้ามาแล้วเลยเริ่มรู้และเห็นประสิทธิภาพของปืนไฟ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ จึงทรงตัดสินพระทัยมีโองการ ให้คนโทษเหล่านี้เข้าประจำในกองทัพเพื่อสอนวิชาการใช้ปืนแก่ไพร่พลสยาม ที่สำคัญมีเบี้ยหวัดและผลตอบแทนอย่างงามอีกด้วย โดยที่นายซีซาสนั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการเลยทีเดียว
ดังนั้นนับแต่ปีที่ถูกจับมานายซีซาสก็อาศัยอยู่ในอยุธยามาจนถึงปี พ.ศ. ๒๐๙๐ (ค.ศ. ๑๕๔๗) คือ ๒๕ ปีอย่างที่ว่านั่นเอง
ควรกล่าวในที่นี้ด้วยว่า นายซีซาสเข้ารับราชการในกองอาสาโปรตุเกสของสยามนับแต่รัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กระทั่งถึงสมัยของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ผลงานครั้งสำคัญและได้รับการบันทึกเอาไว้ปรากฏในงานเขียนของนาย เฟอร์เนา แมนเดส ปินโต ซึ่งเป็นทั้งนักเดินทาง ทหารรับจ้างในเอเชีย และนักเขียนบันทึกคนสำคัญ
ซึ่งครั้งนั้นปินโตเล่าเอาไว้ว่า ใน พ.ศ. ๒๐๙๑ (ค.ศ. ๑๕๔๘) เมื่อเขาเดินทางมาสยามนั้น คราวที่พระไชยราชากษัตริย์สยามได้รวบรวมยกพลไปตีกรุงศรีสัตนาคณหุตเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๘๘ (ค.ศ. ๑๕๔๕) ก็มีทหารรับจ้างโปรตุเกสไปร่วมรบด้วย ๑๖๐ คน ซึ่งรวมถึงนายซีซาสด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๘๙ (ค.ศ. ๑๕๔๖) พระไชยราชาต้องการจะรบกับเชียงใหม่ จึงได้ส่งออกญากลาโหมไปยังหมู่บ้านโปรตุเกสเพื่อหาอาสาสมัครไปรบในฐานะกองทหารองค์รักษ์ โดยสัญญาจะให้ผลตอบแทนอย่างงาม และจะอนุญาตให้ชาวโปรตุเกสสร้างศาสนสถานได้ ชาวโปรตุเกสส่วนใหญ่จึงตกลงเข้าช่วยพระไชยราชา และทำให้พระองค์รบชนะกษัตริย์เชียงใหม่ แต่เมื่อกลับมาจากการบกลับถูกวางยาพิษสิ้นพระชนม์
กล่าวกันว่านายซีซาสเดินทางกลับโปรตุเกส และถึงแก่กรรมอย่างสงบในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งของลิสบอน ก่อนที่จะถึงแก่กรรมเขาได้ถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดในสยามให้แก่ โจเอา เดอ บาร์โรส นักพงศาวดารคนสำคัญด้วย
เรื่องของกองทหารโปรตุเกสนี้ยังมีที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานของกองทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติสยามอีกว่า ชาวโปรตุเกสที่เดินทางมายังสยามมีจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง อิทธิพลของพวกเขาขยายออกไปภายใต้การคุ้มครองและอุปถัมภ์ของชาวสยาม หลายครั้งที่เขาเข้าร่วมในการป้องกันราชอาณาจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. ๒๐๙๑ ซึ่งสยามถูกรุกรานจากกองทัพของหงสาวดี ซึ่งยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ชาวสยามไม่เพียงแต่ได้รับความช่วยเหลือจากชาวโปรตุเกสในประเทศเท่านั้น แต่ยังได้รับกำลังสนับสนุนจากลูกเรือบนเรือรบของโปรตุเกสที่ทอดสมออยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย
รายละเอียดของสงครามในครั้งนี้มีว่า เมื่อกษัตริย์ตะเบ็งชะเวตี้แห่งตองอูทรงทราบเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสยามเวลานั้น (คือเรื่องการวางยาพิษพระไชยราชา และการสืบอำนาจของท้าวศรีสุดาจันทร์และออกขุนชินราช กระทั่งถูกประหารในที่สุด กลายเป็นสงครามกลางเมืองอยู่ช่วงหนึ่งในอยุธยา และสิ้นสุดสงบลงโดยมีสมเด็จพระมหาจักรพรรดิขึ้นครองราชย์) ตะเบ็งชะเวตี้จึงยกทัพให้เข้ามาบุกเพื่อตีกรุงศรีอยุธยา โดยพระองค์ก็มีกองทหารชาวโปรตุเกสร่วมมาด้วย ๑๘๐ คน กองทหารโปรตุเกสของตองอู นำโดย นายดิโอกู โวอารึสดึ เมลู
ขณะที่ทางฝ่ายสยามสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เวลานั้นก็มีทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสร่วมด้วยเช่นกัน ซึ่งมีผู้นำคือ นาย ดิโอกู เปเรยร่า
ปินตูได้เล่าเหตุการณ์ในครั้งนี้เอาไว้ว่า พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้พยายามติดสินบนดิโอกู เปเรยร่า ให้หักหลังฝ่ายสยาม แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งในที่สุดฝ่ายพม่าจำต้องถอนทัพกลับเพราะได้ทราบว่าได้เกิดกบฏขึ้นที่หัวเมืองมอญของตัวเอง
เรียกได้ว่ากองทหารรับจ้างของโปรตุเกส ยังคงปฏิบัติหน้าที่เป็นกองกำลังทางทหารของสยาม มานับแต่เริ่มต้นความสัมพันธ์และมีดำรงต่อเนื่องมาในระยะหลัง
ชาวโปรตุเกสไม่เพียงแต่อาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น แต่ยังกระจายไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ในราชอาณาจักรอยุธยาอีกไม่ว่าตะนาวศรี มะริด และลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) ช่วงเวลาดังกล่าวนับเป็นยุคที่รุ่งเรืองที่สุดช่วงหนึ่งของชาวโปรตุเกสในสยาม ทั้งนี้เพราะปรากฏว่ามีการดำเนินธุรกิจการค้ากันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะใน พ.ศ. ๒๐๖๐ ที่ดิโอโก โคเอลโย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตเดินทางมายังสยาม เขาได้รับการต้องรับเป็นอย่างดียิ่ง
ชาวโปรตุเกสที่เข้ามาทำการค้าขายในระยะนั้นส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพค้าขายสินค้าพื้นเมือง ซึ่งสินค้าที่ว่านี้ส่วนใหญ่จะได้แก่ ข้าว ดีบุก งาช้าง ไม้ฝาง กำยาน ครั่ง และคราม ขณะที่ผลประโยชน์ที่ชาวสยามต้องการจะได้รับก็คือ ความคาดหวังที่จะได้เรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่จากชาวโปรตุเกส เป็นต้นว่าการนำเอาอาวุธปืนที่ทันสมัย เช่น ปืนไฟที่นำมาใช้ในการสงคราม ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีชาวโปรตุเกสที่สมัครเข้ามาเป็นทหารอาสา ซึ่งกลายเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ชาวโปรตุเกสเดินทางเข้ามาในสยามและตั้งถิ่นฐานเพิ่มมากยิ่งขึ้น
เมื่อการค้ามีความมั่นคง กับการได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นกองกำลังหนึ่งในกองทัพของสยามทำให้สถานะของชาวโปรตุเกสมีความใกล้ชิดกับสยามเป็นอย่างมาก
และด้วยการเดินทางเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันเป็นจำนวนมากนี้เอง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหมู่บ้านโปรตุเกสที่อยุธยาซึ่งเป็นที่ประจักษ์จนถึงวันนี้
ที่น่าสนใจก็คือ นอกเหนือจากการเป็นทหารอาสาแล้ว ชาวโปรตุเกสในอยุธยาแท้จริงยังมีอาชีพอื่นๆ อีกมาก อาทิเช่น แพทย์ นักค้าประกัน หรือแม้แต่เป็นผู้นำวิทยาการการก่อสร้างเข้ามาให้สยาม รู้จักมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
ก่อนจะจบในบทนี้ผู้เขียนขอย้อนกลับไปในช่วงกลางของบทนี้สักหน่อย คือ ในเรื่องที่เล่ามาแล้วบอกว่ามีโจรสลัดชาวโปรตุเกสปล้นเรือเจ้าเมืองตะนาวศรีนั้น ผู้อ่านที่ยังไม่เข้าใจคงสับสนว่าโจรสลัดโปรตุเกสมีด้วยหรือ แน่นอนที่สุดว่านอกเหนือจากบรรดาขุนนางโปรตุเกสจะเข้ามาทำการติดต่อกับชาติต่างๆในเอเชียแล้ว พ่อค้าก็มี และคนไม่มีงานทำก็มีติดตามมาเยอะ ดังนั้น เมื่อกองเรือของโปรตุเกสบางลำบางคนมีโอกาสได้ข้าวของมาเปล่าๆ ฟรีๆ ก็มักสวมบทโจรสลัดไปด้วยในตัว
เรื่องโจรสลัดโปรตุเกสนี้มีที่โด่งดัง และเป็นที่กล่าวขานกันมากอยู่รายหนึ่งนั้นคือ นายลาซานโรเต แกเรยโร ชายคนนี้เดินทางมาจากโปรตุเกสโดยมาเป็นทหารที่เมืองกัวก่อน แต่ต่อมาจะด้วยเหตุผล กลใดไม่แน่ชัดนัก เขาก็ได้แยกกองเรือของตัวเองออกมา แล้วตั้งตัวเป็นผู้นำโจรสลัดคอยปล้นสะดม ทั่วน่านน้ำเอเชีย ในราว พ.ศ. ๒๐๘๕ (ค.ศ. ๑๕๔๒) แกเรยโรปล้นสะดมอยู่แถบอ่าวเมาะตะมะ และได้ก่ออาชญากรรมเอาไว้มากมาย สร้างความสยองขวัญและหวาดกลัวแก่พ่อค้าทั่วไป
จนทำให้รายได้ของเมืองมะริดตกต่ำลงอย่างมาก กษัตริย์สยามจึงได้มีการแต่งตั้งขุนนางให้ลงไปปราบโจรสลัดผู้นี้ ดังเกิดกรณีปล้นเรือเจ้าเมืองตะนาวศรีที่กล่าวมานั่นเอง ซึ่งการปราบปรามก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะทางเจ้าหน้าที่ขัดแข้งขัดขากันเองและที่สำคัญยังสั่งจับคนมั่วไปหมด
ข้อมูลของโจรสลัดคนนี้เราได้รู้จากปินโตอีกนั่นหละว่าเขาได้เดินทางตามหาโจรสลัดผู้นี้เพราะเขาต้องการให้นายแกเรยโรไปช่วยมะละกาที่กำลังถูกโจมตีจากสุลต่านแห่งอาเจะห์ ซึ่งครั้งนั้นแกเรยโร ก็ตอบตกลงที่จะกลับไปช่วยเหลือ ในท้ายที่สุดโจรสลัดผู้นี้ก็ได้รับการอภัยโทษ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งขุนนางที่เมืองมะละกา
เรื่องของเรื่องปิดท้ายนี้บอกให้เรารู้ว่า โปรตุเกสนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี มีทั้งทหารและโจร และบางครั้งโจรก็กลายมาเป็นขุนนางได้ด้วยเช่นกัน
การเข้ามาติดต่อสัมพันธ์ของชาวตะวันตกในกรุงศรีอยุธยา โดยเริ่มจากโปรตุเกสนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ภูมิภาคและกรุงศรีอยุธยา อย่างที่ไม่อาจปฏิเสธ ว่ากันว่าหากอยุธยาไม่ได้สำคัญและมีอำนาจอยู่จริง ไม่แน่เช่นกันว่า ในเวลาต่อมาอาจจะต้องตกไปเป็นเมืองใจอาณัติของพวกเขาไปแล้วเหมือนกับอีกหลายเมืองในเวลานั้น ไม่ว่ามะละกา หรือหัวเมืองอินเดียอื่นๆ
จากหนังสือสงครามและอำนาจเหนือบัลลังก์อยุธยา หน้า ๑๒๙-๑๔๓