-
Category: ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส
-
Published on Friday, 07 September 2018 03:22
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3103
ปรีดี พิศภูมิวิถี
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หมู่บ้านชาวต่างชาติต่างๆ ล้วนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการกำหนดไว้ในโปรแกรมท่องเที่ยวเกือบทั้งสิ้น โดยเฉพาะหมู่บ้านญี่ปุ่น หากแต่ที่ตรงกันข้ามลำน้ำเจ้าพระยานั้น หากยืนมองจะสังเกตเห็นท่าน้ำและอาคารสีขาว มีไม้กางเขนปักเป็นสัญลักษณ์ของชุมชนชาวคริสต์ที่ตั้งบ้านเรือนมาแต่ตั้งอยุธยา
ที่ฝั่งนั้นเรียกว่าค่ายโปรตุเกส หรือหมู่บ้านโปรตุเกส คำว่าค่ายในความหมายของคนอยุธยาหมายถึงที่ดินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่ชาวต่างชาติในการสร้างที่พักและอาคารต่างๆ เช่น โรงสวด อาคารพยาบาล ฯลฯ จึงอาจนับได้ว่าเป็นการจัดสรรพื้นที่ที่มีกฏเกณฑ์แน่นอน เพราะจากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าชุมชนชาวต่างชาติล้วนตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเกาะเมืองด้วยกันทั้งสิ้น
ค่ายโปรตุเกสในแผนที่อยุธยาฉบับต่างๆ
หมู่บ้านชาวโปรตุเกสหรือค่ายโปรตุเกสนี้ ก่อสร้างขึ้นบริเวณพื้นที่ที่ชาวโปรตุเกสได้รับพระราชทานมาจาก สมเด็จพระไชยราชา เมื่อครั้งที่ชาวโปรตุเกสเข้าร่วมรบในสงครามศึกเมือง เชียงกรานในฐานะทหารรับจ้าง แต่ก็น่าเชื่อได้ว่าครั้งนั้นคงยังไม่มีการสร้างอาคารศาสนสถานขึ้นคงเพียงเป็นที่พักที่มีขอบเขตถาวรเท่านั้น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวถึงการสงครามในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาหลายครั้ง โดยเฉพาะการสงครามกับเมืองเชียงใหม่ ดังปรากฏความว่า
"ศักราช ๘๘๗ ปีระกา ณ วันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๗ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าเสด็จไปเมืองเชียงใหม่ได้ ทัพหลวงเป็นแม่ทัพ" แต่สงครามครั้งนี้มาสามารถตีเมืองเชียงใหม่ได้ทัพหลวง จึงยกคืนกรุงศรีอยุธยา ต่อมาปีรุ่งขึ้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ยกทัพไปอีกครั้ง คราวนี้ตีได้เมืองเชียงใหม่เมื่อวันจันทร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๔ เป็นที่น่าเชื่อว่าการสงครามนี้คงมีทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสเข้าร่วมด้วยอยู่บ้าง
นอกจากสงครามครั้งนี้ก็ปรากฏสงครามตีเมืองเชียงกราน ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า "ได้ความในจดหมายเหตุปินโตโปรตุเกสว่า ในแผ่นดินสมเด็จพระไชยราชาธิราช มีฝรั่งโปรตุเกสเข้ามาหากินอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาประมาณ ๑๓๐ คน เมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราชจะเสด็จยกกองทัพหลวงไปรบพม่าที่เมืองเชียงกราน ได้เกณฑ์พวกโปรตุเกสไปเป็นทหารรักษาพระองค์ ๑๒๐ คน พวกโปรตุเกสได้รบพุ่งข้าศึกแข็งแรง ครั้นชนะศึกมีความชอบ สมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงพระราชทานอนุญาตให้พวกโปรตุเกส เข้ามาตั้งภูมิลำเนาในพระราชอาณาจักรและทำวัดวาอารามตามลัทธิศาสนาของตนได้ดังปรารถนา"
หากพิจารณาตามพระอธิบายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้วก็เป็นอันยุติได้ว่า หลังจาชนะศึกเมืองเชียงกรานแล้ว สมเด็จพระไชยราชาได้พระราชทานที่ดินแห่งหนึ่งทางทิศใต้ของเกาะพระนครให้เป็นที่พักอาศัยสืบมาเป็นค่ายโปรตุเกสในปัจจุบัน
เมื่อชาวตะวันตกเดินทางเข้ามาในอยุธยามากขึ้นเป็นลำดับนั้น ก็ปรากฏหลักฐานแผนที่ที่ตั้งของค่ายโปรตุเกสไว้คือ
๑. แผนที่กรุงสยามเขียนโดยบาทหลวงฌ็อง กูร์โตแล็ง (Jean Courtaulin) พิมพ์เมื่อราว พ.ศ. ๒๒๒๙ มีรายละเอียดของค่ายโปรตุเกสอยู่บริเวณทิศใต้ของเกาะเมือง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บาทหลวงชาวฝรั่งเศสผู้นี้เคยพำนักอยู่ที่บ้านเณรในพระนครศรีอยุธยามาก่อน จึงทำให้ได้ข้อมูลค่อนข้างละเอียดในการตรวจทานสภาพพื้นที่ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับค่ายโปรตุเกสนั้น ปรากฏข้อมูลคือ
รหัส M หมายถึง โบสถ์ของคณะโดมินิกัน (Eglise Paroissiale de S. Dominique)
รหัส N หมายถึง โบสถ์ของคณะเยซูอิต (Eglise Paroissiale de S. Paul des R. Peres de la Compagnie de Jesus) ทั้ง ๒ โบสถ์นี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เรียกว่าย่านโปรตุเกส (Quertier des Portugais) แผนที่ของบาทหลวงกูร์โตแล็งเป็นต้นฉบับให้กับแผนที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา และบริเวณใกล้เคียงในสมัยต่อมา เช่น แผนที่ของวิเซนโซ โคโรเนลลี (Vincenzo Coronelli) พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๓๙ แต่ชื่อของโบสถ์ในย่านโปรตุเกสนั้นเปลี่ยนเป็น S. Dominique และ S. Paolo ตามลำดับ
แผนที่กรุงศรีอยุธยาเขียนโดยบาทหลวงกูร์โตแล็ง ชาวฝรั่งเศส
พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๙ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
(วงกลม) แสดงที่ตั้งของบ้านเรือนของชาวสยามและชาวต่าง
ชาติหมู่บ้านโปรตุเกส
๒. แผนที่กรุงศรีอยุธยาที่ปรากฏในเอกสารของลาลูแบร์ ซึ่งเดินทางเข้ามาเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีแผนผังเกาะเมืองอยุธยาให้รายละเอียดที่ตั้งของกลุ่มชาวโปรตุเกส ๒ กลุ่มคือ
รหัส H หมายถึง Les Jacobins Portugais หรือพวกโดมินิกัน กลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตรงข้ามกับหมู่บ้านญี่ปุ่น
รหัส I หมายถึง Les Jesuites Portugais คือพวกเยซูอิต ตั้งบ้านเรือนอยู่ถัดลงมาทางทิศใต้ เกือบถึงบริเวณปากคลองตะเคียน
ยังเป็นที่น่าสังเกตว่าในบริเวณค่ายหรือบ้านโปรตุเกสนั้นปรากฏหลักฐานยืนยันว่ามีโบสถ์รุ่นแรกอยู่ ๒ แห่งคือ สำหรับคณะโดมินิกัน และกลุ่ม บาทหลวงเยซูอิต ซึ่งต่อมาบริเวณพื้นที่นี้ได้มีการสร้างโบสถ์แห่งที่ ๓ ขึ้นทางด้านเหนือของค่าย
แผนที่พระนครศรีอยุธยาและชุมชนชาวต่างชาติรอบเกาะเมือง (ภาพจาก จดหมายเหตุลาลูแบร์)
อย่างไรก็ตามมีข้อมูลเกี่ยวกับค่ายและโบสถ์ของชาวโปรตุเกสที่อยุธยาอีกจำนวนหนึ่งบันทึกไว้ในเอกสารของชาวต่างชาติ เช่นบาทหลวงตาชารด์บันทึกไว้ว่า
"ที่กรุงสยามนั้นมีวัดของชาวโปรตุเกสประกอบด้วยบุคคลจำนวนมากกว่า ๔,๐๐๐ คน วัดทั้งสองแห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของสังฆราชแห่ง เมืองมะละกา" และว่าในอยุธยามีโบสถ์อยู่ ๒ แห่งคือโบสถ์เซนต์โดมินิก สำหรับบาทหลวงโดมินิกัน และโบสถ์เซนต์เปาโล สำหรับบาทหลวงในคณะเยซูอิต และบันทึกต่อไปว่า "มีแต่หลวงพ่อซูอาเร บาทหลวงคณะเยซูอิต รูปเดียวเท่านั้น ซึ่งท่านชรามากแล้ว และทุพพลภาพอยู่ด้วย จึงไม่สามารถแสดงความเคารพต่อท่านราชทูตได้ บาทหลวงชราผู้ใจดีรูปนี้ ได้แสดงความยินดีไปตามประสาของท่านตามแต่จะได้ด้วยการย่ำระฆังตอนที่ ฯพณฯ ผ่านโบสถ์ของพวกเราไป"
ในบันทึกของแกมป์เฟอร์ กล่าวไว้ว่า "ทางทิศใต้มีหนทางแคบๆ ลงสู่แม่น้ำ ชาวดัชต์ตั้งโรงงานและร้านค้าที่หรูหราสะดวกสบายบนพื้นที่แห้งต่ำลงไปอีกนิดบนฝั่งเดียวกันนั้น มีหมู่บ้านชาวญี่ปุ่น พะโค และมะละกา ฝั่งตรงข้ามมีโบสถ์ที่เกิดจาชาวพื้นเมือง ถัดออกไปเป็นที่ตั้งของโบสถ์ เซนต์โดมิงโก เป็นคณะบาทหลวงชาวโดมินิกัน ด้านหลังมีโบสถ์เล็กๆ อีกหลังหนึ่งชื่อ เซนต์ออกัสติน เป็นบาทหลวง ๒ ท่าน ไม่ไกลจากนี้เท่าใดนัก มีโบสถ์เยซูอิตชื่อ เซนต์พอล ซึ่งเลียนแบบมาจากโบสถ์ใหญ่ในเมืองกัว"
สรุปได้ว่าหลักฐานทางโบราณคดี และหลักฐานทางประวัติศาสตร์สอดคล้องกันที่จะยืนยันถึงการมีตัวตนของค่ายหรือหมู่บ้านโปรตุเกสซึ่งมีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางของชุมชน
รายงานการขุดค้นทางโบราณคดีของหมู่บ้านโปรตุเกสที่กรมศิลปากร เผยแพร่ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ สรุปได้ว่าก่อนการขุดแต่งนั้นบริเวณนี้มีลักษณะเป็นเนินดินสูงต่ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า รูปร่างยาวไปตามทิศตะวันออกและตะวันตก มีวัชพืชและป่าละเมาะปกคลุม ที่เกือบกึ่งกลางเนินดินมีศาลไม้ขนาดเล็ก ชาวบ้านเรียกว่าบ้านนักบุญเปโตร นอกจากนั้นยังมีร่องรอยของแนวอิฐเรียงลักษณะคล้ายฐานของอาคาร และมีซากอิฐแตกหักกระจัดกระจายอยู่ทั่ว
ร่องรอยอาคารในค่ายโปรตุเกส สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโบสถ์ของคณะโดมินิกัน
เมื่อกรมศิลปากรขุดแต่งพบว่าในร่องรอยของอาคารขนาดใหญ่นั้นเป็นที่ฝังศพจำนวนมากรวมถึง ๒๕๓ โครงกระดูก และพบโบราณวัตถุ เช่น เหรียญรูปเคารพ ซึ่งกำหนดอายุได้ในราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๓ ซึ่งเป็นช่วงอยุธยาตอนปลายทั้งสิ้น อย่างไรก็ดี การขุดค้นพบโครงกระดูกประมาณ ๗ โครงที่เรียงอยู่ในระนาบเดียวกัน สันนิษฐานว่าเป็นบาทหลวงที่เสียชีวิตตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าอาคารนี้ควรเป็นหนึ่งในกลุ่มโบสถ์ และที่พักอาศัยของบาทหลวงคณะโดมินิกัน
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ กรมศิลปากรจัดสรรงบประมาณขุดแต่ง และสืบค้นร่องรอยของโบสถ์คณะเยซูอิต ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของโบสถ์โดมินิกันลงมา แต่ผลของการขุดค้นกลับแสดงว่าน่าจะเป็นแหล่งโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนามากกว่า เพราะพบฐานอาคาร พระอุโบสถ วิหารเจดีย์ และชิ้นส่วนพระพุทธรูปอีกเป็นจำนวนมาก จึงเชื่อว่าหากบริเวณนี้เป็นโบสถ์ของกลุ่มบาทหลวงเยซูอิตจริงดังที่ปรากฏในแผนที่สมัยอยุธยาตอนกลางนั้น คงจะมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การใช้สอยให้เป็นวัดพุทธศาสนา และก่อสร้างอาคารทับลงไปเพื่อประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ
คนชาวโปรตุเกส
เมื่อชาวโปรตุเกสเดินทางเข้ามาในสยามเป็นครั้งแรกนั้น เข้าใจว่าเป็นการติดต่อค้าขายกับชาวพื้นเมืองมากกว่าพยายามเข้ามาเพื่อประกาศหรือเผยแผ่ศาสนา เพราะจำนวนผู้นำทางจิตวิญญาณคงยังมีไม่มากนัก ในรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรมราชา มีบาทหลวงโดมินิกันเดินทางเข้ามาในอยุธยา ๒ รูป คือ บาทหลวงเจโรนิโม ดา ครู้ส (Jeronimo da Cruz) และบาทหลวงเซบาสติอาว ดือ กานตู (Sebastiao de Canto) เดินทางเข้ามาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๙
จากนั้นก็คงเป็นกลุ่มพ่อค้าเอกชน และชาวฝรั่งเศสในระบบอินเดีย ฝรั่งเศสที่ทยอยเดินทางเข้ามาเพื่อจุดประสงค์ที่ต่างกัน การเดินทางเข้ามาของชาวต่างชาติเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่า อยุธยามีคุณลักษณะในการยอมรับวัฒนธรรม หรือความเป็นต่างชาติได้โดยง่าย เพราะไม่มีการกีดกันหรือปฏิเสธการเข้ามาของชาวต่างเมือง แต่ในทางกลับกันกลับเห็นว่าอยุธยามีการพยายามผสานความเป็นคนนอกให้เข้ากับสังคมพุทธ และสังคมการค้า กล่าวคือรู้จักใช้ประโยชน์จากความรู้ และความสามารถของชาวต่างชาติ และมีระบบควบคุมไม่ให้มีอำนาจมากเกินไป หนึ่งในวิธีการของอยุธยาก็คือการกำหนดพื้นที่พำนักและใช้สอย เพื่อเป็นการควบคุมกองกำลังคน และการบังคับให้ชาวต่างชาติมีสังกัดเป็นของตนเอง
หากพิจารณาในกฎหมายพระอัยการนาพลเรือนและนาทหารหัวเมือง ที่ตราขึ้นสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และได้รับการเพิ่มเติมในอีกหลายสมัยต่อมานั้น กลุ่มทหารต่างชาติ เช่น โปรตุเกส เป็นเพียงหนึ่งกลุ่มที่มีบทบาทในระบบราชการอยุธยาเท่านั้น เพราะเป็นการควบคุมกองกำลังมิให้กระจัดกระจาย ดังรายละเอียด คือ
โครงกระดูกที่ถูกฝังในสุสานที่หมู่บ้านโปรตุเกส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กรมเกนหัดอย่างฝารัง
พระพิพิทเดชะ เจ้ากรมเกนหัดอย่างฝารัง นา ๘๐๐
หลวงพิพิทณรงค์ปหลัดเรือ ซ้าย นาคละ ๖๐๐
หลวงทรงวิไชยปหลัดเรือ ขวา นาคละ ๖๐๐
หลวงรามรณภาพปหลัดกรมพนักงานบกนา ๖๐๐
หมื่นในกรม นาคละ ๒๐๐
พันหัว นาคละ ๑๐๐
พันท้าย นาคละ ๑๐๐
หมื่นณราพลสิทธสมุหบาญชี นาคละ ๓๐๐
หมื่นฤทธพลไชยสมุหบาญชี นาคละ ๓๐๐
กรมฝรั่งแม่นปืน
ขุนกระละมาพิจิตรเจ้ากรมขวานา ๔๐๐หมื่นแผลงผลาญปหลัดกรมนา ๒๐๐
ขุนฤทธสำแดงเจ้ากรมซ้าย นา ๔๐๐
หมื่นแผลงผลาญปหลัดกรม นา ๒๐๐
หลวงศักดาวุธเจ้ากรมขวา นา ๔๐๐
ขุนชนะทุกทิศปหลัดกรม นา ๒๐๐
หลวงรุทสรเดชเจ้ากรมซ้าย นา ๔๐๐
ขันฤทธราวีปหลัดกรม นา ๒๐๐
นายหมวด ๑๒ คน นาคละ ๕๐
เลว ๑๕๐ คน นา ๓๐
ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า ชาวโปรตุเกสได้ประกอบอาชีพอะไรบ้างในสมัยอยุธยา มีการสันนิษฐานจากเอกสารหลักฐานบางฉบับว่ากลุ่มลูกครึ่ง โปรตุเกส และพ่อค้านั้นน่าจะมีบทบาทในสังคมมากที่สุด และการรับรู้ว่าชาวโปรตุเกสสมัยอยุธยามีความสำคัญทั้งทางการเมือง และการค้านั้น ได้สืบทอดมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ดังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายไว้ในพระราชสาสน์ที่ทรงมีไปยังต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
"ขอท่านราชทูตกรุงลิศบอนเมืองโปรตุคอล กับขุนนางโปรตุเคศ ซึ่งมาด้วยนี้ จงฟังคำเราจะกว่างความตั้งแต่เดิมให้ฟัง
ในกรุงสยามนี้ เมื่อครั้งกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาเก่า แลกกรุงลพบุรี ยังเป็นกรุงที่ตั้งพระเจ้าแผ่นดินสยามอยู่นั้น มีคนในเมืองยุโรปหลายชาติหลายภาษาคือฝรั่งเศส, แสปเนียศ, และโปรตุเกส สามพวกที่ไทยได้เรียกว่าฝรั่งตามคำแขกอินเดียผู้ชักนำมาเรียกอยู่แต่ก่อน และอังกฤษ, คริก, ฮอลันดา, ก็มีบ้างตามที่ได้ยินมา แต่พวกโปรตุเคศนี้ได้มาอยู่ในเมืองไทยก่อนกว่าคนยุโรปเมืองอื่น มีจดหมายเหตุเก่าในเวลานานกว่าสามร้อยปีมาแล้วว่ามีคนโปรตุเคศเป็นเอนเยเนีย ช่วยแนะนำพระเจ้าแผ่นดินตัดทางพระพุทธบาท แลตัดทางขุดคลองตรง แลการอื่นๆ ครั้นเมื่อเมืองเดิมของโปรตุเคศมีความวุ่นวายเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน แลอำนาจแผ่นดินโปรตุคอลแปรปรวนไปด้วยแผ่นดินไหว แลข้าศึกภายนอกเบียดเบียนแลอื่นๆ คนโปรตุเคศที่อยู่ในเมืองสยามไม่มีที่พึ่งที่อ้างในเมืองเดิมแล้ว ก็กลับกลายเป็นคนเป็นข้าแผ่นดินสยามไป ครั้งนานมาได้ภรรยาสยามแลเขมร มอญ ญวนต่าง ในกรุงสยามนี้ก็มีบุตรชายหญิงเกิดต่อๆ ลงมามีรูปคล้ายกับคนในประเทศนี้ไป ถึงกระนั้นก็ยังถือศาสนาโรมันคาทอลิคมั่นคงอยู่ แลถือธรรมดากิริยาว่าเป็นพวก โปรตุเคศที่เรียกว่าฝรั่งนั้นอยู่ บางคนก็รู้ภาษาโปรตุเคศอยู่บ้าง ครั้นเมื่อกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยาเก่า มีการศึกใหญ่แล้วเป็นเมืองร้างไป คนยุโรปชาติอื่นภาษาอื่นก็หลีกเลี่ยงไปเสียหมด ยังมีอยู่แต่คนซึ่งเป็นตระกูลบุตรหลานโปรตุเคศยังคงมีอยู่ในกรุงสยามเป็นอันมาก ทำราชการเป็นทหารบ้าง เป็นล่ามบ้าง เป็นหมอบ้าง เป็นต้นหนเดินเรือบ้าง พระเจ้าแผ่นดินจึงโปรดให้ตั้งบ้านเรือนมีวัดโรมันคาทอลิคอยู่หลายตำบลด้วยสืบมา"
เหรียญรูปเคารพทางศาสนาที่่ขุดพบในหมู่บ้านโปรตุเกส
จากพระราชสาส์นนี้แสดงให้เห็นบทบาทหน้าที่ของชาวโปรตุเกสที่หลากหลาย ทั้งเป็นวิศวกรที่มีส่วนร่วมในการตัดถนนไปพระพุทธบาท ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ดังที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า "แลทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้ช่างจัดการสถาปนาเป็นมณฑปสวมพระบรมพุทธบาท และสร้างพระอุโบสถพระวิหารการเปรียญตึกกว้านกุฏีสงฆ์เป็นอเนกประการ แล้วให้ฝรั่งส่องกล้องตัดทางสถลมารคกว้างสิบว่าตรงตลอดถึงท่าเรือ ให้แผ้วทางทุบปราบให้รื่นราบเป็นถนนหลวงเสร็จ"
แม้จะไม่ปรากฏชัดว่าฝรั่งที่สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทรงให้ตัดถนนสายตรงจากท่าเรือไปพุทธบาทนี้จะเป็นชาติใด หากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวน่าจะทรงอนุมานเอาว่าโปรตุเกสนั้นเป็นชาติแรกที่เข้ามาในสยามก่อนหน้านี้ และมีบทบาททั้งทางการเมือง และสังคม ทั้งน่าจะมี ความรู้ในด้านเทคโนโลยีใหม่ในการก่อสร้างมากกว่าชาติอื่นๆ ในสยาม
เมื่อชาวโปรตุเกสมีค่ายที่พักของตนเองที่มั่นคง ประกอบกับมีจำนวนคนเข้ารีตเพิ่มมากขึ้นนั้น ก็แสดงให้เห็นความคึกคักของกลุ่มชนในค่ายได้เป็นอย่างดี ผ่านการแสดงและงานฉลองทางศาสนา บันทึกของบาทหลวงตาชารด์ระบุบรรยากาศงานรื่นเริงที่จัดขึ้นที่ค่ายโปรตุเกสไว้ว่า
"หลังจากที่เรามาถึงกรุงศรีอยุธยาได้ไม่กี่วัน โบสถ์ฝรั่งของเราซึ่งตั้งอยู่ในค่าย หรือหมู่บ้านโปรตุเกสนั้นก็ประกอบพิธีทางศาสนาอย่างมโหฬาร ถึงสองครั้ง ครั้งแรกจัดอุทิศถวายแด่สมเด็จพระราชินีกรุงปอร์ตเกสผู้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว ครั้งหลังจัดอุทิศถวายแด่กษัตริย์ดอม อัลฟองซ์ผู้สิ้นพระชนม์ไปแล้วดุจกัน หลวงพ่อซูอาเรซกับหลวงพ่อคณะแซงต์โดมินิกันเป็นผู้เทศนาแสดงความอาลัยครั้นแล้วก็ถึงงาน ฉลองราชาภิเษกของดอม เปรโด พระเจ้ากรุงโปรตุเกสรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งกระทำกันในโบสถ์ของพระบาทหลวงคณะโดมินิกัน พระบาทหลวงของเขาผู้หนึ่งเป็นผู้เทศนา ม. ก็องสตังซ์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในงาน ถวายความอาลัยและงานฉลองนั้น และเขาคงจะได้ให้ประกอบพิธีอุทิศถวาย แด่สมเด็จพระเจ้ากรุงอังกฤษผู้เสด็จสวรรคตแล้วอีกด้วยเป็นแน่...ตอนเริ่มต้นรับประทานอาหาร ท่านราชทูตชวนดื่มถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้ากรุงปอร์ ตุเกสกับสมเด็จพระเจ้ากรุงสยาม การดื่มแต่ละครั้งมีปืนใหญ่ยืงสตุลกึกก้องกัมปนาท งานรื่นเริงนี้มีการละเล่นหลายอย่าง แรกทีเดียวเป็นสุขนาฏกรรมของจีน แบ่งออกเป็นองก์ๆ...จบการแสดงชุดนี้แล้ว ก็ถึงการเล่นไม้สูง... จบการแสดงนี้แล้วเป็นมโหรีของชาวชาติต่างๆ พวกสยาม มลายู มอญ และลาว ต่างผลัดกันแสดงมโหรีฝ่ายละรอบ..."
ส่วนอาชีพอื่นๆ งานวิจัยของพิทยะได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีอาชีพทั่วไปที่เป็นเครือข่ายของสังคมอยุธยาที่ชาวต่างชาติ เช่น โปรตุเกสได้ เข้าไปมีส่วนร่วม เช่น ล่าม หมอรักษาโรคแบบฝรั่ง นักดนตรี ต้นหนเรือ เสมียน วิศวกร และแม้กระทั่งพราหมณ์ ฯลฯ อันแสดงอย่างชัดเจนถึงการยอมรับการมีตัวตนของชาวตะวันตกในอยุธยา
จาก...หนังสือกระดานทองสองแผ่นดิน หน้า ๑๗๕-๑๘๖