-
Category: ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโปรตุเกส
-
Published on Friday, 07 September 2018 03:22
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3779
...ปรีดี พิศภูมิวิถี
บทนำ
ประวัติศาสตร์ไทยสมัยอยุธยาตลอดระยะเวลา ๔๑๗ ปีของการดำรงความเป็นอาณาจักรนับว่ามีความน่าสนใจที่จะศึกษาในมุมมองต่างๆ การศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อยุธยาอาจแบ่งออกได้เป็นสองระดับ คือ
หนึ่ง การศึกษาในรับมหาภาค เช่น ระบบการเมือง การเศรษฐกิจ ระบบสังคม โดยเน้นศึกษาภาพรวม ของอยุธยา
สอง การศึกษาระดับจุลภาคในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ เช่น อิทธิพลชาวต่างชาติ ศิลปะต่างชาติ การเมืองในราชสำนัก การสงคราม ศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น
กระแสของการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยานับแต่อดีตจนปัจจุบัน นอกจากการแบ่งประเด็นในการศึกษาดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ามีการศึกษาในลักษณะอื่นอีก คือ การศึกษาลักษณะการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์อยุธยา การศึกษาประวัติศาสตร์ก่อนการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา และการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง อยุธยากับอาณาจักรอื่นๆ ลักษณะการศึกษาในประเด็นดังกล่าวนี้ ยังรวมไปถึงการให้ความสำคัญต่อการศึกษาตำนานต่างๆ อีกด้วย อย่างไรก็ดีคงต้องนับได้ว่าการเริ่มให้ความสำคัญต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา มีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้ริเริ่มทำให้ความสนใจในประวัติศาสตร์อยุธยามีความตื่นตัว และพยายามเก็บข้อมูลตรวจสอบประวัติศาสตร์อยุธยากันมากขึ้น นักประวัติศาสตร์และนักประวัติ ศาสตร์สมัครเล่นในสมัยต่อมา พยายามศึก ษาประวัติศาสตร์อยุธยาในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น เช่น โบราณคดีทางการทูตกับประเทศต่างๆ ตลอดจนเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ถือ เป็นจุดเด่นของประวัติศาสตร์อยุธยา อาทิ การสู้รบ พร้อมกับการค้นพบข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา จึงทำให้ประวัติศาสตร์อยุธยาเป็นหัวข้อที่มีผู้ให้ความสนใจเสมอ
ด้วยสาเหตุที่อยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม มีพื้นดินที่ราบลุ่มอุดมสมบูรณ์อันเกิดจากการทับถมกันของตะกอนแม่น้ำ ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่ง ต่อการเกษตรกรรม แม่น้ำหลายสายเอื้อต่อการจอดเรือ และเป็นเมืองท่า ทำให้อยุธยามีสภาพเศรษฐกิจ และสังคมอยุธยาที่ไม่หยุดนิ่งนับแต่อดีต กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ อยุธยาได้ต้อนรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทั้งแบบที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ โดยจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป ก็ยิ่งทำให้ชื่ออยุธยามีความโดดเด่นมากขึ้นกว่ารัฐอื่นๆ ในบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน ชื่อเมือง "อยุธยา" เริ่มเป็นที่รู้จักกันในแผนที่โลกตะวันตกมากขึ้น
ภาพเขียนสีน้ำมันกรุงศรีอยุธยา Iudea เขียนในปี พ.ศ. ๒๓๐๖ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์
ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไรคส์ มิวเซียม กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์
สำหรับเรื่องความสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศนั้น โปรตุเกสเป็นชาวตะวันตกชาติแรกที่เดินทางเข้ามายังอยุธยาในปี ค.ศ. ๑๕๐๐/พ.ศ. ๒๐๕๔ โดยจุดมุ่งหมายหลักของการเดินทางไกลเช่นนี้ มิใช่เพียงการแสวงหาดินแดนที่จะผลิตสินค้าประเภทเครื่องเทศ ของป่าหรือเครื่องใช้จากทางตะ วันออกไกลเท่านั้น แต่ยังมีจุดประสงค์ทางการศาสนา และทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย แม้การเจริญสัมพันธ์กับอยุธยาในปี ค.ศ.๑๕๑๑/พ.ศ. ๒๐๕๔ เองก็เป็นผลมาจากการยึดครองเมืองมะละกาได้ และต้องการแจ้งให้ทางสยามทราบถึงบทบาทของโปรตุเกสในโลกตะวันออกเท่านั้น เพราะจากนั้นอีกถึง ๗ ปีการลงนามในสนธิสัญญาทางการค้าจึงเกิดขึ้นระหว่าง ๒ ประเทศ
นับจากนั้นมาอีกราว ๑ ศตวรรษ โปรตุเกสได้เข้ามามีบทบาทมากมายในอยุธยา และสามารถตั้งถิ่นฐานเป็นประชาคมโปรตุเกสได้อย่างมั่นคง ก่อนประชาคมชาวต่างชาติอื่นๆ ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่ชุมชนหมู่บ้านโปรตุเกสที่สมบูรณ์แห่งหนึ่งชาวโปรตุเกสเหล่านี้คงมีบทบาททางด้านการค้า การเข้าร่วมในกองทัพสยามเมื่อคราวเกิดสงคราม และคงมีส่วนร่วมในระบบการปกครองของอยุธยาหลายตำแหน่ง หลังจากกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ แล้ว บทบาทของประชาคมโปรตุเกสดูจะเสื่อมลงพร้อมกับอิทธิพลของโปรตุเกส ในดินแดนตะวัน ออกก็ลดลงเป็นลำดับด้วย ในขณะเดียวกันอำนาจของประเทศตะวันตกอื่นๆ ก็เพิ่มมากขึ้นด้วย จนกระทั่งโปรตุเกสเสียดินแดนมะละกาให้กับฮอลันดาใน ค.ศ. ๑๖๔๐/พ.ศ. ๒๑๘๓
การศึกษาวิเคราะห์เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสกับอยุธยาโดยนักประวัติศาสตร์ไทยในสมัยต่อมาได้แสดงให้เห็นอิทธิพลของโปรตุเกสในด้านต่างๆ เช่น การปรับใช้อาวุธในการสงครามที่เป็นแบบตะวันตกมากขึ้นจากเดิมที่เป็นการต่อสู้แบบจารีตของสยาม การสร้างป้อมปราการแบบก่ออิฐถือปูน เช่นเดียวกับที่ปรากฏป้อมปราการในตะวันตก หรือในอาณานิคมโปรตุเกสที่เริ่มตั้งมั่นในภู มิภาคเอเชีย อันจะมีผลสืบเนื่องมาจนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในอีกราว ๑ ศตวรรษต่อมา อิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก เช่น การก่อสร้างอาคารแบบก่ออิฐถือปูนเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย อาคารคลังสินค้า หรือ ศาสนสถาน ตลอดจนร่องรอยวัฒนธรรมแบบตะวันตก เช่น คำศัพท์ อาหารการกิน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ แต่การศึกษาเหล่านี้ยังแยกเป็นประเด็นอิสระ กล่าวคือ ยังไม่มีการบูรณาการองค์ความรู้ท ี่เกี่ยวข้องกับ "อยุธยา" ในเอกสารหลักฐานโปรตุเกสที่เด่นชัดเพียงพอที่จะสามารถอธิยายภาพรวมของสังคมอยุธยาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ อันเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นสังคมนานาชาติในสมัยต่อมาได้ ทั้งอาจกล่าวได้ด้วยว่าเอกสารโปรตุเกสที่เกี่ยวกับอยุธยายังกระจัดกระจายตามแหล่งต่างๆ เอกสารเหล่านี้ ทั้งที่เป็นต้นฉบับลายมือเขียนและเป็นเอกสารที่ตีพิมพ์แล้ว นับได้ว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
สำหรับนักประวัติศาสตร์แล้ว ข้อมูลชั้นปฐมภูมิย่อมมีน้ำหนัก ความน่าเชื่อถือมากกว่าเอกสารที่เรียบเรียงขึ้นในสมัยหลัง นักประวัติศาสตร์ไทยก็เช่นกัน ส่วนใหญ่เริ่มต้นอธิบายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ด้วยเอกสารฝ่ายไทยเรียกว่า "พระราชพงศาวดาร" หมายถึงการ จดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับราชสำนักเป็นหลัก
ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเกิดข้อจำกัดในการใช้พระราชพงศาวดาร ในการอธิบายเหตุการณ์ คือ
หนึ่ง ข้อมูลที่ได้จากพระราชพงศาวดารมีจำกัด การบันทึกอาจเป็นเพียงความอย่างย่อ เช่น การบันทึกพระราชพงศาวดารในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ
สอง เนื้อหาของการบันทึกจำกัดเพียงเรื่องคาวที่เกี่ยวกับพระราชวงศ์ อาทิ การต่อสู้ การสร้างบ้านแปลงเมือง หรือเหตุการณ์อื่นๆ ที่ผู้บันทึกเห็น หรือได้รับคำสั่งให้บันทึก
สาม คือ การใช้อคติในการบันทึกเหตุการณ์ที่ผู้บันทึกสามารถเลือกบันทึกหรือจะไม่บันทึกก็ได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้เอกสารฝ่ายไทยเช่น นี้ทำให้นักประวัติศาสตร์ได้พยายามตรวจสอบข้อมูลกับเอกสารอื่นๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือข้อมูลจากการศึกษาในแขนงอื่นๆ
ยิ่งไปกว่านั้น ปัญหาหลักของการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาคือ การขาดแคลนเอกสารร่วมสมัย ซึ่งนับถึงปัจจุบันเอกสารร่วมสมัยอยุธยาไม่มีมากนัก พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ที่มี หรือประมวลกฎหมาย อาจได้รับการชำระใหม่เมื่อต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในปีศักราชปละเหตุการณ์ที่อาจต่อเติมเข้าไปได้ภายหลัง
สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เอกสารต่างชาติได้รับการพิจารณายกขึ้นมาตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เช่น วัน เดือน ปี ที่เกิดเหตุการณ์อยู่เสมอ เพราะตลอดสมัย ๔๑๗ ปีของอยุธยามีชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายและติดต่อราชการ เอกสารจีนและญี่ปุ่นให้ภาพอยุธยาในฐานะรัฐในระบบบรรณาการของจีน และภาพรวมของสภาพการค้ากับญี่ปุ่นในช่วงคริสต์ ศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ ได้เป็นอย่างดี
ในขณะเดียวกับที่เอกสารต่างชาติ เช่น โปรตุเกส ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ หรืออังกฤษก็ให้ภาพของระบบราชการ การค้า หรือสภาพสังคมอยุธยาไว้ส่วนหนึ่งด้วย แม้ว่าข้อมูลจากเอกสารเหล่านี้จะมีประโยชน์มาก แต่สิ่งที่จะต้องตระหนักก็คือทัศนะและข้อคิดเห็นของผู้บันทึกที่วัฒนธรรมต่างไปจากไทย รวมทั้งข้อมูลบางประการที่ได้รับมาอย่างผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อน เพราะผู้บันทึกไม่เคยเดินทางเข้ามาในอยุธยาเลย เหล่านี้เป็นสิ่งที่ปรากฏในเอกสารต่างชาติเช่นกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่าในบรรดาเอกสารต่างชาติที่นักประวัติศาสตร์ไทย ใช้เพื่อตรวจสอบเอกสารนั้น เอกสารจีนที่เรียกว่าจดหมายเหตุราชวงศ์หมิง "หมิงสื่อลู่" นับเป็นเอกสารที่ได้รับความเชื่อถือฉบับหนึ่ง
ส่วนเอกสารจากตะวันตกที่แพร่หลายได้แก่ เอกสารภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ต่อมาทีการใช้เอกสารที่แปลจากภาษาเยอรมันและดัตซ์มากขึ้นเป็นลำดับ หากแต่เอกสารโปรตุเกสกลับมีการศึกษาน้อย และหากจะชี้เฉพาะลงไปแล้ว นักประวัติศาสตร์ทั่วไปอาจสนใจข้อมูลจาก โตเม่ ปิรืช (Tome Pires) หรือจากเฟอร์นาว เมนดืช ปินตู (Fernao Mendes Pinto) เท่านั้น เพราะข้อมูลจากชาวโปรตุเกสทั้ง ๒ คนที่เกี่ยวข้องกับสยามมีความน่าสนใจทั้งข้อมูลเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
“อยุธยาคดีจากเอกสารโปรตุเกส” ในประเทศไทย
ความหมายอย่างกว้างขวาง “อยุธยาคดีจากเอกสารโปรตุเกส” คือ การพยายามสังเคราะห์องค์ความรู้เรื่องเกี่ยวกับอยุธยาในมุมมองต่างๆ จากเอกสารโปรตุเกส
ในที่นี้ผู้เขียนมีความเห็นว่าความสนใจเอกสารโปรตุเกส และมุมมองด้าน "อยุธยาคดีจากเอกสารโปรตุเกส" ในประเทศไทยเป็นความพยายามที่ไม่ต่อเนื่องนับแต่อดีตจนปัจจุบัน
ผลงานการศึกษาชิ้นแรกอาจเป็นบทความภาษาโปรตุเกสเรื่อง Relacao dos Portugueses com o Siao ของ Major Jacinto Jose do Mascimento Moura พิมพ์ในวารสาร Boletim da Agencia Geral das Colonias เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๗๗
งานเขียนเชิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่อาจนับได้ว่าเป็นก้าวแรกของการศึกษาเรื่อง "อยุธยาคดีจากเอกสารโปรตุเกส" เป็นผลงานของ Joaquim de Campos เรื่อง Early Portuguese Accounts of Thailand : Antigos relatos da Tailandia ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. ๒๔๘๓ และพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เป็น ๒ ภาษาคือ อังกฤษและโปรตุเกส เนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้คือการให้ภาพความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกส-สยามในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ได้เป็นอย่างดี
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ชูศิริ จามรมาน ได้นำเสนอข้อมูลประวัติศาสตร์ไทยบางเรื่องจากเอกสารโปรตุเกส โดยพยายามจัดแบ่งเอกสารโปรตุเกสที่เกี่ยวกับประเทศไทยในสมัยคริสต์ ศตวรรษที่ ๑๖-๑๘ ออกเป็น ๓ ประเภทคือ
เอกสารที่เรียงเรียงจากเอกสารทางการของโปรตุเกส
เอกสารรายงานและบันทึกของพ่อค้าโปรตุเกส
เอกสารที่ผู้แต่งเคยเดินทางมายังสยามหรือภูมิภาคตะวันออก
ข้อมูลที่ได้ทำให้รู้ว่า บันทึกเกี่ยวกับประเทศสยามมีอยู่อย่างกระจัดกระจาย และยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบ แต่จากเนื้อหา แล้วได้อธิบายภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ประเทศในด้านการค้า การเมือง เป็นหลัก รายชื่อหนังสือที่ผู้เขียนบทความอ้างถึงนับว่า เป็นหนังสือคู่มือหลักของการศึกษาเกี่ยวกับอยุธยาในสมัยต่อมา เช่น ของโตเม่ ปิรืช, เฟอร์นาว เมนดืช ปินตู, บารูช เป็นต้น
เมื่อมีการสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ ๒๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ มูลนิธิ Calouste Gulbenkian ได้พิมพ์หนังสือเรื่อง Thailand and Portugal 470 Years of Friendship ขึ้นเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยบทความต่างๆ ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยในอีก ๓ ปีต่อมาโดย นันทนา ตันติเวสส ในชื่อ ๔๗๐ ปีแห่งมิตรสัมพันธ์ระหว่างไทยและโปรตุเกส
บทความต่างๆ ในหนังสือดังกล่าวเป็นสังเขปการศึกษาเฉพาะด้าน เช่น บทความเรื่อง "สังเขปการศึกาษาเรื่องสัมพันธไมตรีระหว่างลูโซ และ สยาม ตั้งแต่ พ.ศ.๒๐๔๕ ถึงสมัยปัจจุบัน" โดย อันโตนิโย ดา ซิลวา เรกู (Antonio da Silva Rego) อธิบายการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างโปรตุ เกสกับสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อโปรตุเกสสามารถยึดมะละกาได้ใน พ.ศ.๒๐๕๓ จากนั้น เป็นการอธิบายความสัมพันธ์ทางด้านการศาสนา และการค้าโดยเฉพาะการที่สยามให้เงินกู้แก่มาเก๊า (Macau) เพื่อการค้า กระทั่งการเสื่อมอำนาจของโปรตุเกส และการฟื้นฟูสัมพันธไมตรีอีกครั้งในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙
นอกจากบทความเกี่ยวกับสังเขปประวัติศาสตร์แล้ว ยังปรากฏบทความที่ว่าด้วยเอกสารโปรตุเกสที่เกี่ยวกับสยาม เช่น บทความเรื่อง "เอกสารโปรตุเกสชุดแรกเกี่ยวกับสยาม" โดย ลุยซ์ ดือ มาตุส (Luis de Matos) ซึ่งให้รายละเอียดของเอกสารโปรตุเกสที่เกี่ยวกับสยามในระยะเริ่มแรกของสัมพันธไมตรี เช่น จดหมายของรายแห่งอเราชู (Rui de Araujo) จดหมายของรุย ดือ บริตู (Rui de Brito) ข้อความจากบันทึกของโตเม่ ปิรืช (Tome Pires) หรือข้อความจากเรื่อง “The Description” ของดูอาร์ตือ บาร์โบซ่า (Duarte Barbosa)
อีกบทความหนึ่งเขียนโดย อัลเบรโต อิริยา (Alberto lria) ชื่อ "เอกสารโปรตุเกสสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เลือกเฉพาะที่เกี่ยวกับกรุงสยาม" นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะรวบรวมข้อความที่เกี่ยวกับกรุงสยามในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ไว้ เช่น ข้อความจากหนังสือเรื่อง “เรื่องเมือง อินเดีย” (Lendas da India) ของ กัสปาร์ กอไรญ่า หรือความจากหนังสือเรื่อง "หลายทศวรรษในเอเชีย" (Decadas da Asia) ของจูอาว ดือ บารูซ (Joao de Barros) นักจดหมายเหตุโปรตุเกส ซึ่งเป็นผู้ที่มีข้อมูลรายละเอียดมากเกี่ยวกับอาณานิคมของโปรตุเกสโพ้นทะเล และดิน แดนที่บริษัทการค้าโปรตุเกสทำการค้าด้วย อย่างเช่น อยุธยา หรือเอกสารของเฟอร์นาว เมนดืช ปินตู (Fernao Mendes Pinto) เรื่อง Peregrinacao ซึ่งแพร่หลายที่สุดในบรรดาเอกสารโปรตุเกสที่เกี่ยวกับสยาม เพราะปินตูได้บันทึกรายละเอียดสิ่งที่พบเห็นไว้มากมาย ทั้งการค้า การเมือง การสงคราม รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับราชสำนัก อันเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฏนักในงานเขียนของชาวต่างชาติอื่นๆ
อนึ่ง หนังสือเรื่อง Thailand and Portugal 470 Years of Friendship นี้ อีก ๕ ปีต่อมาก็ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นอีกครั้งในชื่อ Thailand and Portugal : 476 Tears of Friendship (second edition) โดยสถานเอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย และยังคงบทความต่างๆ ไว้เหมือนเดิมด้วย
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ นันทิยา สว่างวุฒิธรรม มีโอกาสเดินทางไปเก็บข้อมูลที่หอสมุดแห่งชาติ และหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงลิสบอน ประเทศ โปรตุเกส ทั้งได้ขอทำสำเนาเอกสารบางส่วนกลับมาเพื่อเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ ประเทศไทย เอกสารที่นำกลับมานั้น นันทิยา ได้จัดแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
หนึ่ง เอกสารราชการหรือกึ่งราชการ ซึ่งมักเป็นจดหมายโต้ตอบระหว่างผู้ปกครองของโปรตุเกสในภูมิภาคเอเชียไปถึงเสนาบดีโปรตุเกส ที่กรุง ลิสบอน เช่น จดหมายของ Afonso Lopes da Costa กัปตัน มะละกาที่เขียนไปกราบบังคมทูลพระเจ้าดง มานูแอลที่ ๑ แห่งโปรตุเกสเอกสารประเภทแรกนี้ จะให้ภาพของการปกครองและนโยบายของโปรตุเกสที่มีต่อดินแดนในเอเชียอย่างชัดเจนขึ้น
สอง เอกสารบันทึกส่วนตัวหรือบันทึกของเอกชน ซึ่งบันทึกโดยนักเดินเรือ พ่อค้า กะลาสีเรือหรือนักแสวงโชคที่เดินทางมายังภูมิภาคนี้ เช่น ดูอาร์ตือ บาร์โบซ่า, จูอาว ดือ บารูช, โตเม่ ปิรืช เป็นต้น ข้อมูลที่ได้จากเอกสารประเภทนี้ให้มุมมองที่ต่างๆ ไปจากเอกสารประเภทแรกมากด้วย มีข้อมูลที่ผู้เขียนประสบด้วยตนเองหรือได้รับข้อมูลมาทั้งเรื่องการเมือง การค้า สภาพอาณาจักร ผู้คน ตลอดจนเรื่องต่างๆ ที่ผู้บันทึกมีความสน ใจเป็นพิเศษ นับได้ว่าเอกสารประเภทที่สองนี้ มีความน่าสนใจที่ไม่ได้ยึดกับกรอบของการรายงานอย่างเป็นทางการ
สาม เอกสารทางศาสนา เป็นเอกสารเฉพาะกลุ่มของบาทหลวงโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาในสยาม ด้วยกรอบข้อปฏิบัติในหน้าที่จึง ทำให้ข้อมูลที่รายงานไปยังเมืองกัวและมะละกานั้นอธิบายเฉพาะเรื่องการเผยแผ่คริสต์ศาสนาเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี นันทิยา สว่างวุฒิธรรม ได้พยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของเอกสาร และควรมีการศึกษาในประเด็นต่างๆ เพิ่มเติมมากขึ้น
สืบเนื่องจากบทความของนันทิยา สว่างวุฒิธรรม ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ พัฒนพงศ์ ประคัลภ์พงศ์ ได้เสนอบทความว่าด้วยเอกสารโปรตุเกสที่เกี่ยวกับรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (ค.ศ. ๑๔๙๑-๑๕๒๙/พ.ศ.๒๐๓๔-๒๐๗๒) โดยชี้ให้เห็นว่าการศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงสมัยคริสต์ ศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ นั้น เอกสารโปรตุเกส เช่น เอกสารของบารูช เรื่อง Da Asia, เอกสารของ Braz de Abuquerque เรื่อง Commentarios do Grande Afonso de Abuquerue เป็นตัวอย่างที่ทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์อยุธยาดีขึ้น โดยเฉพาะการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่าง ๒ ประเทศ ซึ่งโปรตุเกสส่งราชทูตมาอยุธยาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ อย่างน้อย ๓ ครั้ง ทั้งมีการเปิดโอกาสทางการค้าระหว่างโปรตุเกสกับสยามอีกด้วย
การขุดแต่งโบราณสถานที่หมู่บ้านโปรตุเกส จังหวัดพระนคนรศรีอยุธยา
ส่วนการศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวโปรตุเกสในประเทศไทย พบว่าในขณะที่มีการเผยแพร่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกส-สยามในปีพ.ศ.๒๕๓๑ ก็ได้มีโครงการอนุรักษ์และพัฒนาหมู่บ้านโปรตุเกสขึ้น ในช่วงปีพ.ศ. ๒๕๒๗-๒๕๓๗ โดยมีหนังสือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกส-สยาม และรายงานการขุดค้นทางโบราณคดีที่หมู่บ้านโปรตุเกสออกมาในชื่อ"ไทย-โปรตุเกส หลายศตวรรษแห่งสายสัม พันธ์" แต่เนื้อหาส่วนใหญ่อธิบายถึงการขุดค้นโครงกระดูกที่หมู่บ้านโปรตุเกส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อย่างไรก็ดี ในหนังสือเล่มนี้ ยังคงมีบทความที่เกี่ยวกับสังเขปความสัมพันธ์ทางด้านต่างๆ เช่น การทหาร การค้า และการเผยแผ่ศาสนาโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาวิเคราะห์สภาพสังคมของอยุธยาผ่านเอกสารโปรตุเกสแต่อย่างใด และปรากฏว่ายังคงมีหนังสือหรือบทความแปลหนังสือที่เกี่ยวกับชาวโปรตุเกสในอยุธยา พิมพ์ในนามหนังสือแปลของกรมศิลปากรอีกเช่นกัน
เป็นที่น่าสังเกตว่าความสนใจเรื่องเอกสารโปรตุเกสหรืออีกนัยหนึ่ง คือ ตัวแทนของเอกสารต่างชาติที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย มิได้มีเฉพาะนักประวัติศาสตร์ไทยเท่านั้น ในปี ค.ศ. ๑๙๙๓ John Villiers เสนอบทความภาษาอังกฤษในการประชุมนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ ๕ ที่สถาบันตะวันออกและแอฟริกันศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน (The School of Oriental and African Studies, University of London) เรื่อง Portuguese and Spanish sources for the History of Ayutthaya in the Sixteenth Century นับเป็นความพยายามในการรวมรว มและแยกประเภทเอกสารโปรตุเกสและเอกสารสเปนที่เกี่ยวกับอยุธยา
วิลิเยอร์ อธิบายว่าเอกสารต่างชาติย่อมมีประโยชน์ต่อการทำให้เข้าใจประวัติศาสตร์อยุธยามากขึ้น โดยเฉพาะเอกสารโปรตุเกสและสเปนซึ่งถือว่าเป็นสองประเทศแรกที่เข้ามาในอยุธยา เอกสารของทั้ง ๒ ประเทศนั้น อาจแบ่งออกได้ ๓ ลักษณะ คือ เอกสารทางการหรือกึ่งทางการ เอกสารรายงานการค้า และเอกสารทางศาสนา
อย่างไรก็ตามวิลิเยอร์ได้พยายามรวบรวมข้อมูลเบื้องต้น เช่น ชื่อของหนังสือ ผู้แต่ง และรายละเอียดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มีเพียงบางเอกสารที่ ผู้เขียนแสดงความเห็นลงไป เช่น เมื่อกล่าวถึงเอกสารของปินตู ก็อธิบายให้ผู้ใช้ระมัดระวังข้อมูลที่อาจผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้ หรือเอกสารของบารูชนับเป็นเอกสารที่เชื่อถือได้ แต่ข้อมูลก็ยังคงมีผิดไปโดยเฉพาะการทับศัพท์จากภาษาไทย เป็นต้น ขณะเดียวกันเอกสารบางชิ้นนับว่ามีประโยชน์ที่สามารถอธิบายเรื่องการปกครองของสยามได้ เช่น The Suma Oriental และ Tome Pires
วิลิเยร์เพิ่มเติมข้อมูลอีกว่า เนื้อหาอีกส่วนหนึ่งที่นับว่าสำคัญก็คือ การให้รายละเอียดเบื้องต้นของข้อมูลที่เขียนโดยบาทหลวงชาวโปรตุเกส เช่น Fr.Gaspar da Cruz บาทหลวงโปรตุเกสโดมินิกัน เขียนเรื่อง Tractado em Que se cotam muito por esteso as cousas da China อธิบายถึงการค้าระหว่างสยามกับจีน ซึ่งเริ่มลดลงมาก มีเพียงเรือไม่กี่ลำที่เดินทางไปมาค้าขาย เป็นต้น อันแสดงว่าบทบาทของชาว โปรตุเกสในสยาม มิใช่เพียงหน้าที่หลักที่ตนต้องรับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังต้องทำหน้าที่รายงานสิ่งอื่นๆ ไปยังผู้รับผิดชอบโดยตรงอีกด้วย
ตัวอย่างของงานที่แสดงให้เห็นนั้น รายละเอียดของงานอยู่ที่ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกส-สยามในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ และการศึกษารวบรวมเอกสารโปรตุเกสที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี พบว่านักประวัติศาสตร์ไทยให้ความสนใจในเรื่องโปรตุเกสศึกษาไว้บางพอสมคว ร เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เสนอวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่อง Portuguese Lancsdos in Asia in the Sixteenth and Seventeenth Centuries โดยเน้นการศึกษาลักษณะของชาวโปรตุเกสในเอเชีย ซึ่งเรียกว่า Lancados อันหมายถึง ชาวโปรตุเกสที่ตั้งหลักแหล่งในดินแดนอื่น และมีการแต่งงานกับชาวพื้นเมืองเกิดขึ้น
กลุ่ม Lancados นี้ประกอบอาชีพที่หลากหลายทั้งที่เป็นทหารรับจ้างในกองทัพของพระมหากษัตริย์ตามรัฐ หรือเมืองต่างๆและประกอบอาชีพ อิสระอีกเป็นจำนวนมาก กลุ่ม Lancados นับเป็นกลุ่มที่ทำให้อำนาจของโปรตุเกสตามเมืองต่างๆ ในเอเชียสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นการศึกษาภาพรวมของโปรตุเกสในเอเชียทั้งหมด โดยเน้นที่เมืองต่างๆ อันเป็นที่ตั้งของอำนาจโปรตุเกสตั้งแต่ชายฝั่งโคโรมันเดล อ่าวเบงกอล พม่า สยาม ปัตตานี กระทั่งนิมอร์ มาเก๊า และนางาซากิ ทำให้การศึกษาเรื่อง "อยุธยาคดีจากเอกสารโปรตุเกส" ก็ยังคงเห็นภาพไม่ชัดเจนนัก
ในปีเดียวกันพิทยะ ศรีวัฒนสาร เสนอวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทรเรื่อง "ชุมชนชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา" นับเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมา และการดำเนินกิจกรรมของชาวโปรตุเกสได้เป็นอย่างดี พิทยะแสดงให้เห็นว่าในสังคมอยุธยา บทบาทของชาวโปรตุเกสมีหลายด้าน ทั้งการมีส่วนร่วมทางการปกครอง การค้าและทางวัฒนธรรม เพราะชาวโปรตุเกสมีความสามารถในอาชีพที่หลากหลายกว่าที่คิด
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาประเด็นต่างๆ ปลีกย่อยอีก เช่น สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เสนอบทความเกี่ยวกับชาวโปรตุเกสในอยุธยาที่เป็นพ่อค้าและเป็นทหารรับจ้าง อันเป็นลักษณะเฉพาะของบทบาทชาวโปรตุเกสที่มีส่วนร่วมในการปกครองของสยาม หรือ พิทยะ ศรีวัฒนสาร เสนอบทความเรื่อง "อาชีพของชาวโปรตุเกสในสยาม (ค.ศ. ๑๕๑๑-๑๗๖๗) : มุมมองใหม่ กับความหลากหลายที่แฝงเร้น" ซึ่งแสดงให้เห็นอาชีพที่ หลากหลายที่ดำเนินโดยชาวโปรตุเกส เช่น ช่างอัญมณี คนเดินเรือ แพทย์ ช่างหล่อปืน สถาปนิก วิศวกร พ่อค้า ฯลฯ และบทความภาษาอังกฤษของผู้เขียนคนเดียวกันเรื่อง Portugues Bandel in Thonburi : Reward of Tahan Farang Man Pun, 1768 A.D. เป็นการแสดงให้ เห็นความต่อเนื่องการดำรงอยู่ของประชาคมชาวโปรตุเกส ที่แม้แต่เสีย กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ.๒๓๑๐ แล้วชาวโปรตุเกสก็ยังเข้ารับราชการในกรมกองต่างๆ ที่เกี่ยวกับ ทหารอย่างต่อเนื่อง หลายคนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เลื่อนชั้นขึ้น
งานศึกษาค้นคว้าล่าสุดอีกชิ้นหนึ่งคือสรุปการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-โปรตุเกส "จัด โดยสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม โดยเป็นการเตรียมความพร้อมในการเฉลิมฉลองการครบรอบ ๕๐๐ ปี ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ บทความต่างๆ ในการสัมมนาครั้งนี้เน้นไปที่ประเด็นความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมโปรตุเกสที่พบใน สยาม นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ และร่องรอยยังคงดำเนินอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกสที่กรุงเทพฯ ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องอาหารหวาน การใช้ภาษา เรื่องความสัมพันธ์ทางศาสนา และการสืบเชื้อสายมาจากชาวโปรตุเกสในอดีต เป็นต้น
เหรียญทองคำ ตรงขอบสลักเป็นอักษรโรมัน
ตรงกลางทำเป็นรูปถ้วยและขนมปังศักดิ์สิทธิ์
มีรูปไม้กางเขนอยู่ในวงกลม พบที่หมู่บ้านโปรตุเกส
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ไม้กางเขน ขุดพบที่หมู่บ้านโปรตุเกส
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
อนึ่ง ชาวโปรตุเกสเองก็ให้ความสนใจเรื่องเกี่ยวกับสยามไว้ไม่ใช่น้อย ดังที่พบในบทความของหนังสือเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบ ๔๗๐ ปี หลังจากนั้นจะพบว่า หนังสือหลักที่นักวิชาการมักยึดถือก็คืองานของบาทหลวง Mamuel Teixeira เรื่อง Portugal na Tailandia ซึ่งตีพิมพ์ที่ มาเก๊าเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖หนังสือเล่มนี้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและสยาม ไว้ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน โดยผู้เขียนพยายามใช้ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุเมืองมาเก๊าซึ่งมีอยู่มาก นับว่าเป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทย จากเอกสารโปรตุเกสที่สมบูรณ์มากเล่มหนึ่ง
บาทหลวง Mamuel Teixeira แบ่งขอบเขตของการศึกษาในครั้งนี้ออกเป็นหัวข้อต่างๆ โดยแบ่งเป็น ๓ ส่วนคือ
ส่วนแรก ให้ข้อมูลเกี่ยวกับชาวโปรตุเกสในสยาม ในสมัยอยุธยาทั้งที่ประกอบการค้าและการทูต
ส่วนที่สอง เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการเผยแผ่ศาสนาโดยนักบวชคาทอลิก โดมินิกัน ฟรานซิสกัน ออกัสติน และเยซูอิต
ส่วนที่สาม นับว่ามีความสำคัญมากที่สุด ที่ผู้เขียนได้ประมวลเอกสารภาษาโปรตุเกสที่จัดเก็บไว้ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติเมืองมาเก๊าพิมพ์ไว้ ทั้งเอกสารที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศาสนา และการค้า
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ดูเหมือนผู้เขียนจะเน้นย้ำก็คือ การให้ข้อมูลอย่างมากเกี่ยวกับรายชื่อของบาทหลวงชาวโปรตุเกสที่ปฏิบัติศาสนกิจในสยามทำให้ในหนังสือเล่มนี้เต็มไปด้วยรายชื่อบาทหลวง
อีกเล่มหนึ่งซึ่งควรกล่าวได้ว่า เป็นการพยายามบูรณาการความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ ๒ ประเทศ คือ งานวิทยานิพนธ์ระดับมหาบัณทิตของ Maria de Conceicao Flores เสนอต่อมหาวิทยาลัยลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๒ วิทยานิพนธ์เล่มนี้ศึกษาความสัมพันธ์ ระหว่างโปรตุเกส และสยามในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ โดยใช้เอกสารโปรตุเกสที่จัดเก็บที่ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงลิสบอน เนื้อหาของวิทยานิพนธ์แบ่งออกเป็น ๕ บท แสดงรายละเอียดของชาวโปรตุเกสที่เข้ามายังสยามและประกอบวิชาชีพต่างๆ และในบทที่ ๕ ได้พยายามอธิบายประวัติศาสตร์สยามจากเอกสารโปรตุเกส จะสังเกตได้ว่าวิทยานิพนธ์เล่มนี้มีทั้งเนื้อหาในส่วนที่ว่าด้วยอยุธยาคดีในเอกสารโปรตุเกส และส่วนที่ว่าด้วยโปรตุเกสศึกษา
เมื่อกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับความสนใจในการศึกษาเรื่อง"อยุธยาคดีจากเอกสารโปรตุเกส" ในประเทศไทย พบว่าเป็นประเด็นที่มีผู้ให้ความสนใจไว้บ้างพอสมควร เหตุผลหนึ่งคือโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เข้ามาเจริญสัมพันธไม่ตรีกับสยามนับแต่ราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ (พุทธศตวรรษที่ ๒๑) ดังนั้นการเขียนประวัติศาสตร์ไทยจึงจำเป้นต้องอ้างถึงความสัมพันธ์ดังกล่าวทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามมีประเด็นสรุปที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ
๑. การศึกษา "อยุธยาคดีจากเอกสารโปรตุเกส" ไม่ได้ครอบคลุมทั้งในเรื่องนี้เกี่ยวกับเอกสารและการศึกษาเอกสาร ยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่นอน ว่าเอกสารที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยา ที่ได้รับการจัดเก็บไว้ที่โปรตุเกสและเมืองอาณานิคมของโปรตุเกสเช่นที่เมืองกัว และมาเก๊า อันเคยมีความสัมพันธ์กับสยามในสมัยอยุธยาเท่านั้น มีมากน้อยเพียงใด และว่าด้วยเรื่องใดบ้าง การศึกษาวิจัยที่ปรากฏในปัจจุบันมีความพยามยามที่จะประมวลเอกสารต่างๆ พิมพ์เผยแพร่ออกมาบ้าง เช่น เรื่อง A emBaixada ao Siao de Pero Vaz de Seueira (1684-1686) โดย IsabeI Leonor da Silva Diaz de Seabra เป็นการพิมพ์บันทึกของราชทูตโปรตุเกสที่เข้ามาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และว่าด้วยการค้าและการกู้เงินพระคลังอยุธยา เป็นที่แน่นอนว่าเอกสารต่างๆที่จัดเก็บที่มาเก๊ายังมีอีกมาก และยังต้องการการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ในอนาคต
เอกสารภาษาโปรตุเกส เกี่ยวกับการเผยแพร่ศาสนาในสมัยปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ในสยาม
ส่วนเอกสารโปรตุเกสที่จัดเก็บที่ประเทศไทย อยู่ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กรุงเทพฯ โดยมีการทำไมโครฟิล์มมาจากหอ สมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงลิสบอน ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๘ และยังไม่ได้รับการอ่านหรือมีการศึกษาแต่อย่างใด จึงควรมีการศึกษาเอกสารดังกล่าวทั้งในเรื่องประวัติศาสตร์นิพนธ์ และบริบททางประวัติศาสตร์ไปพร้อมกันด้วย
๒. ประเด็นในการศึกษาเรื่องอยุธยายังไม่กว้างขวางหรือได้รับความสนใจมากนัก สาเหตุอาจมาจากการขาดแคลนตัวเอกสาร และไม่มีการถ่ายแปลเอกสารภาษาโปรตุเกสออกเป็นภาษา ไทยมากนัก ส่วนใหญ่เป็นการแปลเอกสารจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยมากกว่าการศึกษาเรื่องนี้ จึงมุ่งเน้นที่ชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่าง ๒ อาณาจักรเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าต่อมาอาจมีข้อสมมติฐานเกี่ยวกับบทบาทของชาวโปรตุเกสเพิ่มมากขึ้นก็ตาม
๓. บันทึกของชาวโปรตุเกสที่เกี่ยวข้องกับสยาม และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมากพอ สมควร นักประวัติศาสตร์ไทยหรือผู้ที่สนใจต่างรู้จัก และเคยใช้เอกสารชาวโปรตุเกสที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ เช่น ของเฟอร์นาว เมนดืช ปินตู หรือ จูอาว ดือ บารูช บ้าง ทั้งนี้เอกสารที่เกี่ยวกับสยามท ี่เรียบเรียงโดยชาวต่างชาติมักจะแบ่งออกได้เป็นหมวดหมู่ใหญ่ได้แก่ หนึ่งเอกสารราชการ หรือจดหมายโต้ตอบราชการ และกึ่งราชการ สองเอกสารที่เรียบเรียงโดยนักบวชในศาสนา สามบันทึกของพ่อค้าเอกชน และสี่ บันทึกของนักเดินทาง เอกสารต่างๆ อาจจะจัดหมวดหมู่ได้เพื่อวิเคราะห์ลักษณะการเขียน และข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗
ด้วยเหตุผลและข้อจำกัดในการศึกษาดังกล่าว ส่งผลให้การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและสยามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ที่ ผ่านมา ไม่ได้ให้ภาพของสังคมอยุธยาชัดเจนนัก ส่วนใหญ่เป็นเพียงการอธิบายการเริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูต ผู้แทนทางการค้าและการ เปิดบริษัทการค้า
ข้อเท็จจริงประการหนึ่งคือ เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสกับสยามเป็นที่ปรากฏในเอกสารต่างชาติร่วมสมัยอื่นๆ อีกมาก เช่น เอกสารฝรั่งเศส เอกสารอังกฤษหรือเอกสารของฮอลันดา และแม้ว่ามีหลักฐานสนับสนุนในระดับหนึ่งว่ายังมีเอกสารโปรตุเกสที่เกี่ยวกับอยุธยาอยู่ก็ตาม ดังเช่นที่ปรากฏในงานวิจัยดังที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังไม่มีการศึกษาใดที่บูรณาการองค์ความรู้เหล่านั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือเอกสารโปรตุเกสที่บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับอยุธยาไว้ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ นั้น มีทัศนคติต่อสิ่งที่รับรู้อย่างไร ข้อมูลที่รับรู้นั้นถูกต้อง หรือบิดเบือนไปจากความเป็นจริงมากหรือไม่ แม้เอกสารการสัมมนาเรื่องประวัติศาสตร์ความ สัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทย-โปรตุเกส ก็เป็นเพียงต้นร่างของการศึกษาที่ควรจะเกิดขึ้นอย่างลึกซึ้งในอนาคต
สังคมอยุธยาในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ เป็นสังคมที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วและสืบเนื่องจากลักษณะสังคมการเกษตรกรรมและการค้า ความมั่งคั่งของอยุธยาสามารถพิจารณาได้จากระบบเศรษฐกิจที่มีความเจริญมาก ขณะเดียวกันความเป็นสังคมที่เปิดกว้างก็ยิ่งทำให้อยุธยามีชาวต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์คือการที่สังคมอยุธยาเปิดรับความเป็นชาวต่างชาติได้อย่างง่ายและไม่ปิดกั้นวั ฒนธรรมอื่นๆดังปรากฏว่าชาวโปรตุเกส จำนวนไม่น้อยที่แต่งงานกับชาวพื้นเมือง และประกอบอาชีพต่างๆ โดยที่ไม่ขัดต่อวัฒนธรรมสยาม มีการตั้งถิ่นฐานที่มีความมั่นคง คือการได้รับพระราชทานที่ดินจากพระมหา กษัตริย์สยามในการปลูกสร้างบ้านเรือน และอาคารศาสนสถานที่ไม่ไกลจากตัวพระนครหลวงอันเป็นเสมือนหัวใจของอาณาจักรนัก ทั้งยังได้รับพระราชานุญาตให้เผยแผ่ศาสนาได้ และชาวโปรตุเกสเองก็ยังเข้ารับราชการในตำแหน่งต่างๆ อีกเป็นจำนวนมาก ลักษณะเช่นนี้ย่อมจะสะท้อนนโยบายอย่างหนึ่งของโปรตุเกสในการปลูกฝังความเป็นโปรตุเกส ตามระบบ"รัฐอินเดีย" (Estado da India) ที่โปรตุเกสสถาปนาขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เช่น การให้แต่งงานกับชาวพื้นเมืองและการพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมทางการค้าท้องถิ่น ประเด็นนี้อาจเป็นพื้นฐานของการขยายอิทธิพลและอำนาจในดินแดนตะวันออกด้วย
เมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสศึกษาเอกสารโปรตุเกส ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อยุธยาทั้งที่จัดเก็บ ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงลิสบอน และที่หอจด หมายเหตุแห่งชาติ ตอร์ ดือ ตอมบู (Torre de Tombo) ประเทศโปรตุเกสนั้น พบว่ามีเอกสารโปรตุเกสทั้งที่เป็นต้นฉบับลายมือ และเอกสารตีพิมพ์ภาษาโปรตุเกสที่เกี่ยวกับอยุธยาจำนวนหนึ่ง และเห็นว่าเอกสารเหล่านี้ให้ความสำคัญกับข้อมูลมากเพียงพอที่จัดแบ่งข้อมูลต่างๆ ออกได้ ๙ หัวข้อย่อย คือ
Fios de Reais (อ่านว่า ฟีอูซ ดือ ออวูซ ไรซ์ ขนมโปรตุเกส
ที่เป็นต้นแบบฝอยทองของไทย (ภาพจาก Cozinha Tradicional Portuguesa ด้วยความอนุเคราะห์จากสถานทูตโปรตุเกส)
๑. ภูมิศาสตร์ ว่าด้วยที่ตั้งของสยาม พรมแดน และลักษณะภูมิประเทศของสยาม
๒. ประวัติศาสตร์ เอกสารบางฉบับอธิยายประวัติศาสตร์ของสยาม แต่สังเกตได้ว่าประ วัติศาสตร์อยุธยาที่ปรากฏในเอกสารโปรตุเกสจะเริ่มเมื่อโปรตุเกสมีความสัมพันธ์กับสยามเท่านั้น ไม่มีเหตุการณ์ที่เก่าไปกว่านี้
๓. โครงสร้างการเมืองการปกครองให้รายละเอียดตำแหน่งหน้าที่ของขุนนางสำคัญต่างๆและการปกครองหัวเมืองในเขตพระราชอาณาจักรและหัวเมืองในประเทศราช
๔. ความสัมพันธ์กับต่างประเทศ อธิบายลักษณะและจุดเริ่มต้นของการเจริญพระราชไมตรีกับสยาม การทูต และเครื่องบรรณาการ
๕. สภาพสังคม ให้ภาพของประชากรชาวสยาม ลักษณะท่าทาง สีผิว และกลุ่มคนต่าง ชาติอื่นๆ ที่พบในอยุธยา เช่น จีน ญี่ปุ่น หรือแขกมัวร์
๖. การค้า ให้รายละเอียดสินค้า ขุนนางที่โปรตุเกสติดต่อเพื่อการค้ากับอยุธยา ชาติต่างๆ ที่ทำการค้ากับอยุธยา
๗. ศาสนาและความเชื่อ ให้ภาพของสังคมอยุธยาที่มีวัด และศาสนสถานอื่นๆ เรื่องพระสงฆ์ รูปเคารพ ความเชื่อเรื่องช้างเผือก เรื่องการสร้างโ ลก เรื่องจันทรุปราคา เป็นต้น
๘. ภาษาและการศึกษา เอกสารบางฉบับให้อธิบายลักษณะการเขียนของชาวสยาม ตัวอักษร และเรื่องการศึกษาในวัด
๙. ชาติพันธุ์และวิถีชีวิต คือการสะท้อนขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น การแข่งเรือ หรืองานมหรศพ งานศพต่างๆ ที่พบเห็น ตลอดจนวิถีชีวิต เช่น การนับปีปฏิทิน เป็นต้น
ข้อมูลเกี่ยวกับอยุธยาพบในเอกสารโปรตุเกส ทั้งที่เคยมีการศึกษาในประเทศไทย และจากการศึกษาของผู้เขียน สรุปให้เห็นได้ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพสังคมอยุธยาที่พบในเอกสารโปรตุเกสสมัยคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ทั้งที่เป็นเอกสารทางการ เอกสารกึ่งทางการ เอกสารทางศาสนา และเอกสารบันทึกการเดินทาง จะให้รายละเอียดของเมืองอยุธยาที่ต่างกันออกไป แต่สังเกตได้ว่าอยุธยามีความเปลี่ยนแปลงภายใน เช่น ระบบ เศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนทางวัฒน ธรรมกับชาติอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกมาตั้งแต่ราวคริสตร์ศตวรรษที่ ๑๖ แล้ว และเป็นปัจจัยที่เอื้อให้สังคมอยุธยาเป็นสังคมนานาชาติได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ความสนใจของชาวโปรตุเกสเกี่ยวกับสยามในระยะเริ่มแรก อาจเริ่มจากการค้าและจึงพัฒนาไปสู่การเข้าสู่ระบบการเมืองภายในในสมัยต่อมาแต่การค้าระหว่างโปรตุเกส -สยามก็ไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก อาจกล่าวได้ว่าอยุธยาไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักในการเป็นเมืองท่า ของโปรตุเกส เพราะตั้งอยู่ในภาคพื้นทวีป มีความลำบากในการเดินทาง อยุธยาจึงเป็นเพียง "คนกลาง" ขนถ่ายสินค้าและแสวงหาสินค้าที่ต้องการบางประเภทเท่านั้น
อาจกล่าวได้อีกประการหนึ่งว่าวัตถุประสงค์ของโปรตุเกส เมื่อแรกเข้ามาเจริญสัมพันธ ไมตรีกับอยุธยานั้นไม่เด่นชัดนัก หากเมื่อเปรียบเทียบกับชาติตะวันตกอื่นๆ ที่เข้ามาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เช่น ฮอลันดา อังกฤษ หรือเข้ามาเมื่อกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เช่น ฝรั่งเศส โปรตุเกส มีทีท่าจะใช้เรื่องวัฒนธรรมนำหน้าการค้าและการเมือง เพราะนโยบายสำคัญของพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๔ แห่งโปรตุเกสผู้ทรงรับพระสมัญญาว่า พระเจ้าเฮนรี่ที่ นาวิกราช คือการให้ชาวโปรตุเกสเข้าไปแทรกซึมกับชาวพื้นเมืองมากที่สุด แม้ว่านโยบายดังกล่าวอาจตีความในสมัยต่อมาว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาอำนาจอาณานิคมก็ตาม แต่ผู้เขียนยังไม่มั่นใจที่จะสรุปผลลัพธ์ของนโยบายดังกล่าวนัก หากต้องการเพิ่มเติมว่าการที่ โปรตุเกสดำเนินนโยบายเข้าสู่สังคมพื้นฐานเช่นนี้เองที่อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมของโปรตุเกสจะเกิดการถ่ายเทได้ง่ายกว่าสิ่งอื่น จึงปรากฏการรับและเลียนแบบวัฒนธรรมตะวันออกในโปรตุเกส เช่น ความนิยมเครื่องกระเบื้องแบบจีน ความนิยมผ้าไหมจากญี่ปุ่น สรุปได้ว่า โลกตะวันออกเป็นสิ่งที่โปรตุเกสหลงไหลและให้ความสำคัญมิใช่น้อย ในทางกลับกันร่องรอยทางวัฒนธรรมที่โปรตุเกสฝากไว้ก็พบให้เห็นได้ทั่วไป โดยเฉ พาะตามเมืองที่เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสมาก่อน เช่น การแต่งงาน การใช้ชื่อสกุล อาหารการกิน การก่อสร้างป้อมปราการ การใช้อาวุธสมัยใหม่ การศาสนา ระบบเงินตรา เป็นต้น
เรือคาร์แรทที่ชาวโปรตุเกสใช้เดินทางมาเอเชีย
(ภาพจากศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา)
สรุป
เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานภาพความรู้เรื่อง "อยุธยาคดีจากเอกสารโปรตุเกส" ในประเทศไทยมีความจำกัดในเรื่องของเอกสาร และการเข้าถึงเอกสาร รวมทั้งการเข้าใจในสารที่ชาวโปรตุเกสบันทึกไว้ทั้งจากการศึกษาที่ผ่านมาแสดงว่าไม่ได้มีการศึกษาที่ต่อเนื่อง หรือใช้เอกสารโปรตุเกสที่เก็บไว้ในประเทศไทยมากเท่าที่ควร ฉะนั้นเอกสารภาษาโปรตุเกสที่ทำสำเนามาแต่ครั้ง พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงยังคงเก็บไว้ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรุงเทพฯ และยังไม่ได้รับการอ่านหรือศึกษาจากนักประวัติศาสตร์ และนักเรียนประวัติศาสตร์คนใด
เอกสารโปรตุเกสรุ่นแรกๆ ที่เกี่ยวกับสยาม เช่น ในบันทึกของ Alvaro Velho เป็นการบันทึกข้อมูลทั่วไปไม่ได้เจาะจงเรื่องสยามเท่านั้น ดู เหมือนว่าผู้เขียนยังคงใช้ข้อมูลจากพ่อค้ามุสลิมที่เดินทางไปมาค้าขายแถบชายฝั่งโคโรมันเดล และชายฝั่งเบงกอล โดยระบุที่ตั้งและความอุดมสมบูรณ์ของสยาม ข้อมูลเล็กๆ เหล่านี้ เป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจในการติดต่อเพื่อการค้า และการจัดหาที่ตั้งเมืองแบบ "รัฐอินเดีย" โดย มีนโยบายการเมือง และการค้าของโปรตุเกสเป็นอุดมการณ์หลักจากความสนใจที่เกิดขึ้นทำให้ลักษณะการค้าแบบ "สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ กัว-มะละกา-มาเก๊า" ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญของโปรตุเกสในเอเชียสำหรับอยุธยาจะมีส่วนร่วมเฉพาะในฐานะเมืองท่าการค้าและแหล่งสินค้าของป่าที่สมบูรณ์ และราคาย่อมเยาเป็นหลัก
การสถาปนารัฐอินเดียเช่นนี้เอง ที่มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการตั้งถิ่นฐานของชาวโปรตุเกส และการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่าง ชาวตะวันตกและตะวันออกขึ้นอย่างชัดเจน เพราะอุปราชโปรตุเกสที่เมืองกัว มีนโยบายที่ชัดเจนที่ให้ชาวโปรตุเกสแต่งงานกับคนพื้นเมือง เพื่อ เพิ่มจำนวนประชากรโปรตุเกสในดินแดนตะวันออกไกล โดยเล็งเห็นความสำคัญ และความมั่งคั่งทางการค้าที่จะเกิดขึ้นหากโปรตุเกสสามารถสร้างความมั่นคงในดินแดนได้ บรรดา "ลูกผสม"เหล่านี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมโปรตุเกสและรับหรือถ่ายทอดวัฒนธรรมข้ามชาติพันธุ์ อันทำให้อัทธิพลทางวัฒนธรรมของโปรตุเกสแผ่กระจายในเอเชีย
การกระจายตัวของวัฒนธรรมเช่นนี้ มีความเป็นรูปธรรมมากกว่ากรดำเนินนโยบายทางการทหาร เพราะโปรตุเกสไม่ได้มีความตั้งใจในเบื้องแรกที่จะใช้นโยบายทางการทหารนำการค้า หรือการศาสนาหากแต่ด้วยวัตถุประสงค์ทางการค้าที่เป็นปัจจัยหลัก ลักษณะเช่นนี้จะทำให้โปรตุเกสและสเปน มีการดำเนินนโยบายที่ต่างกัน และผลที่ได้รับก็แตกต่างกันไปด้วย เพราะสเปนมุ่งเน้นที่นโยบายด้านการศาสนาและการทหารเป็นหลัก อย่างไรก็ตามในสังคมอยุธยา ซึ่งมีลักษณะของความเป็นสังคมนานาชาติสูงในช่วงราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ก็ไม่ได้มีลักษณะที่ซึมซับอิท ธิพลวัฒนธรรมของโปรตุเกสอย่างเด่นชัด เพราะสังคมอยุธยามีความยืดหยุ่น และมีลักษณะที่จะเลือกเอาลักษณะเด่นจากสังคมอื่นมาปรับใช้ หรือเลียนแบบในสังคมเอง ดังเช่น อาหารการกิน การนุ่งห่ม การก่อสร้างที่พักอาศัย หรืออาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ
จาก...หนังสือกระดานทองสองแผ่นดิน หน้า ๔๙-๗๓