ประวัติหมู่บ้านโปรตุเกส

การเข้ามาของชาวโปรตุเกสในสมัยกรุงศรีอยุธยา
 
     ประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาในประเทศไทย นั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่นักประวัติศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ ต่างก็ยอมรับว่าโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาในประเทศไทย และยังเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ทั้งจากการค้นคว้าเอกสารและงานด้านวิชาการต่างๆ ทั้งจาก ฝ่ายไทยและฝ่ายโปรตุเกสว่าชาวโปรตุเกสเป็นชาวตะวัน ตกชาติแรก ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี กับกรุงศรีอยุธยาและอาจกล่าวได้ว่าพร้อมๆ กับการเข้ามาของชาวโปรตุเกส คริสต์ศาสนาก็ได้เข้ามาในกรุงศรีอยุธยาด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าในการออกสำรวจดินแดนใหม่เพื่อประโยชน์ทางการค้า และการล่าอาณานิคมของโปรตุเกสนั้น โปรตุเกสได้รับอภิสิทธิ์อุปถัมภ์ศาสนา หรือที่เรียกกันว่า Padroado      มีหน้าที่ในการทำนุบำรุงศาสนา และประกาศพระศาสนาไปยังดินแดนใหม่ที่ค้นพบ กล่าวคือปาโดรอาโอไม่ใช่เป็นเพียงรูปแบบของผลประโยชน์ทางพระศาสนจักร และการอุปถัมภ์ศาสนาของกษัตริย์ แต่ยังหมายถึงสัญญาด้วยที่ทำขึ้นระหว่างพระศาสนจักรกับรัฐ เป็นดังรูปแบบของความ สัมพันธ์ทั้งสองสถาบันนี้ 
   
         นอกจากนี้ประเทศโปรตุเกสยังเป็นประเทศคริสต์ศาสนาที่เคร่งครัด และมีจิตใจร้อนรนในศาสนามิใช่น้อย ชาวโปรตุเกสทุกคนที่เข้ามาในกรุงศรีอยุธยา  ครั้งนั้น ทุกคน จึงล้วนแต่นับถือคริสต์ศาสนา และเมื่อสามารถสร้างหลักปักฐานอยู่ในกรุงศรีอยุธยาได้แล้ว ก็ย่อมมีความปรารถนาที่จะปฏิบัติศาสนกิจต่างๆ ตามความเชื่อของตนนั่นย่อมหมายความว่า ชาวโปรตุเกสจะต้องมีมิชชันนารีหรือบาทหลวงเพื่อช่วยอภิบาลวิญญาณของพวกเขา และมีโบสถ์เพื่อใช้ประกอบศาสนพิธีต่างๆ ในส่วนของพระมหากษัตริย์ในกรุงศรีอยุธยาในยุคนั้นก็ทรงมีพระราชหฤทัยกว้างขวาง ทให้การต้อนรับชาวโปรตุเกสด้วยดี ส่วนชาวโปรตุเกสเองก็มิได้มีจิตใจที่จะเอา   กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองอาณานิคม มีแต่ต้องการค้าขายด้วยเท่านั้น มิตรภาพระหว่างทั้งสองอาณาจักรจึงได้เริ่มต้นขึ้นด้วยความเข้าใจอันดีต่อกัน และเครื่องหมายที่แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงมิตรภาพนี้ก็คือ ที่ดินซึ่งพระมหากษัตริย์ของกรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้นทรงพระราชทานให้แก่ชาวโปรตุเกส    เพื่อใช้ปลูกสร้างบ้านเรือนพักอาศัย และสร้างโบสถ์สำหรับประกอบศาสนกิจต่างๆ ซึ่งเราเรียกกันมาช้านานแล้วว่า หมู่บ้านโปรตุเกส ดังนั้น การศึกษาถึงหมู่บ้านโปรตุเกสจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะจะทำให้ผู้ศึกษาเข้าใจถึงความเป็นไปของบุคคลต่างๆ ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ประเพณีทางศาสนา และประวัติศาสตร์คริสต์ศาสนาในกรุงศรีอยุธยาได้ดีขึ้นอีกด้วย
 
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ของการเข้ามาของชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยา             
     
     เรื่องนี้มีภูมิหลังตั้งแต่การเดินทางของนักผจญภัยชาวเวนิช คือ มาร์โคโปโล (Marco Polo ค.ศ. 1254-1323) ผู้ซึ่งเจริญรอยตามบิดาและลุงในการออกเดินทางไปประเทศจีน ตลอดระยะเวลา 17 ปี  ที่อยู่ในประเทศจีน มาร์โคโปโลได้ออกเดินทางไปยังหลายต่อหลายประเทศในเอเชียแถบนี้ เขาเดินทางมาถึงประเทศจีน เมื่อ ค.ศ. 1275 และเดินทางกลับไปถึงเมืองเวนิช (Venice) ใน ค.ศ. 1295 จากนั้นไม่นาน ก็เกิดสงครามขึ้นระหว่างเมืองเวนิชและเมืองนัว (Genoa) ทำให้มาร์โคโปโลถูกจับเป็นเชลย
 
    ในคุกนี้เอง เพื่อนร่วมคุกคนหนึ่ง ของมาร์โคโปโล ชื่อ รุสตีซีอาโน (Rusticiano) ได้เขียนเรื่องการเดินทางของมาร์โคโปโลตามคำบอกเล่าของเขาหลังจากที่ได้มีการเผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้ออกไป จึงทำให้ชาวยุโรปมีความปรารถนาที่จะเดินทางผจญภัยเช่นนี้บ้าง ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 14 โปรตุเกสเป็นชาติที่มีอำนาจมาก และมีความเจริญก้าวหน้าในการเดินเรือในขณะนั้น โดยมี        นักเดินเรือที่มีชื่อเสียงมากคือ วาสโก ดา กามา (Vasco da Gama) และบาร์เทอร์โลมิว ดีอาซ (Barthelomue Diaz) จนทำให้เกิดความคิดที่จะใช้การเดินเรือเพื่อค้นหาดินแดนใหม่เกิดขึ้น  ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าใน ค.ศ. 1415 เจ้าชายเฮนรี่     นักเดินเรือ(Henry the Navigator) พระโอรสของพระเจ้ายอห์น ที่ 1 แห่งโปรตุเกส สามารถเดินเรือออกไปทางอัฟริกาและยึดเกาะเซวต้า (Ceuta) ได้ และนับจากนั้นเป็นต้นมา ประเทศโปรตุเกสก็เริ่มออกสำรวจทางทะเลอย่างจริงจังเพื่อค้นหาดินแดนใหม่ๆ โดยสมเด็จพระสันตะปาปา ในเวลานั้นก็ทรงมอบอำนาจและสิทธิพิเศษหลายประการแก่ประเทศโปรตุเกส ทั้งในการค้นหาดินแดนใหม่ๆ และการทะนุบำรุงศาสนา สิทธิพิเศษประการนี้เรียกว่า Padroado ซึ่งมีรายละเอียด และมีระเบียบมากมาย มีวิวัฒนาการสืบต่อๆ มา
 
    ฝ่ายประเทศสเปน เมื่อพระเจ้าเฟอร์ดินันโด(Ferdinando)แห่งแคว้นอารากอน และพระนางอิสซาเบลลา (Isabella)หลังจากการอภิเษกของทั้งสองพระองค์ ก็สามารถรวมตัวกันและปลดปล่อยสเปนจากพวกมุสลิมที่เข้ามายึดครองได้แล้ว สเปนก็มีอำนาจมากขึ้น ในเวลานั้นเอง คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) ก็ออกแสวงหาดินแดนใหม่ในนามของประเทศสเปน เขาค้นพบทวีปอเมริกาในค.ศ. 1492 การค้นพบนี้ทำให้สเปนซึ่งเป็นประเทศคาทอลิกเช่นเดียวกับโปรตุเกส ส่งเอกสารขอสิทธิพิเศษจากสมเด็จพระสันตะปาปา อเล็กซานเดอร์ ที่ 6 (Alexander VI) เช่นเดียวที่โปรตุเกสได้รับ และเนื่องจากทั้งโปรตุเกสและสเปนเป็นประเทศคาทอลิกที่มีอำนาจมาก สมเด็จพระสันตะปาปาเกรงว่าการสำรวจดินแดนใหม่ๆ นี้ อาจทำให้ทั้งสองประเทศต่างผิดใจกันได้ จึงทรงขีดเส้นแบ่งโลก จาก       ขั้วโลกหนึ่งไปยังอีกขั้วโลกหนึ่ง  เป็น 2 ซีก โดยกำหนดให้ซีกตะวันตกของยุโรปเป็นความรับผิดชอบของสเปน และทางตะวันออกเป็นของโปรตุเกส  เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1493 แต่การแบ่งเส้นนี้ ประเทศโปรตุเกสเห็นว่าประเทศสเปนได้เปรียบมากกว่า ดังนั้นจึงเกิดสนธิสัญญา Tordesillas ขึ้นตามคำเรียกร้องของโปรตุเกสเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1494 โดยการลากเส้นขยายพื้นที่ให้แก่โปรตุเกสเข้ามาทางตะวันตกอีก และเส้นนี้เองที่ทำให้บราซิลซึ่งตอนนั้นเป็นเพียงดินแดนของคนพื้นเมืองและยังไม่เป็นประเทศ ตกเป็นของโปรตุเกส
                                                         
การติดต่อสัมพันธ์ครั้งแรกระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกส
     ชาวโปรตุเกสออกแสวงหาดินแดนใหม่โดยเดินทางมาทางตะวันตก อ้อมทวีปอัฟริกาผ่านแหลมกู๊ดโฮป (Good Hope) และขยายตัวอย่างรวดเร็วมาทางเอเชีย         อัลฟอนโซ ดาลบูเคิร์ก (Alfonso d'Albouquerque) ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกส (Envoy) เข้ายึดเมืองกัว (Goa) ซึ่งเป็นเมืองท่า ทางฝั่งตะวันตกของอินเดียได้เมื่อค.ศ. 1509 ก่อนหน้านี้เล็กน้อย พระเจ้ามานูแอล (Manoel) กษัตริย์โปรตุเกส ได้ส่งดีโอโก โลเปซ เดอ เซเกอีรา (Diogo Lopes de Sequeira) ออกสำรวจหาข้อมูลและแหล่งสินค้าต่างๆ ตามเกาะและดินแดนต่างๆ เช่น มาดากัสการ์ (Madagascar) ศรีลังกา (Srilanka) และมะละกา (Malacca) ค.ศ. 1508  ที่มะละกานี้เอง   ชาวโปรตุเกส   27 คน ได้ถูกจับเป็นเชลยในจดหมายของเชลยคนหนึ่งที่เขียนถึงอาลบูเคิร์ก   ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์  ค.ศ. 1510 กล่าวไว้ว่า เวลานี้กษัตริย์แห่งมะละกากำลังทำสงครามอยู่กับกษัตริย์แห่งสยามซึ่งมีอาณาจักรกว้างใหญ่และมีท่าเรือต่างๆ จำนวนมาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อัลบูเคิร์กตัดสินใจโจมตีมะละกา ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
1. เพื่อช่วยเชลยชาวโปรตุเกส
2. เพื่อเอามะละกาเป็นเมืองท่าและศูนย์การค้าขาย
3. เพื่อจะไม่มีปัญหากับประเทศสยาม
 
     อัลบูเคิร์กยึดมะละกาได้เมื่อค.ศ. 1511 และได้เริ่มต้นสถาปนาสัมพันธภาพฉันมิตรกับกรุงศรีอยุธยาในทันที ด้วยการส่งดูอาร์ต เฟอร์นันเดส (Duarte Fenandes) เป็นทูตมาเฝ้าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ในปีเดียวกันนั้นเอง เหตุผลที่อัลบูเคิร์กสถาปนาสัมพันธภาพกับกรุงศรีอยุธยา เป็นเพราะกรุงศรีอยุธยาเป็นประเทศที่มั่นคงและมั่งคั่ง การจะทำสงครามกับกรุงศรีอยุธยาคงไม่ยากนักก็จริง แต่การรักษาความสัมพันธ์ก็เป็นประโยชน์ในการติดต่อระหว่างกรุงศรีอยุธยาและโปรตุเกส อีกประการหนึ่งแม้กรุงศรีอยุธยาจะเคยอ้างว่ามะละกาเป็นประเทศราชของตน ต้องส่งบรรณาการแก่กรุงศรีอยุธยามาตั้งแต่ครั้งสมัยพระรามาธิบดีที่1 พระเจ้าอู่ทอง  แต่มะละกาก็ไม่ได้กระทำตนเป็นประเทศราช หลายครั้งยังทำตนเป็นศัตรูกับกรุงศรีอยุธยา  ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือในสมัยพระรามาธิบดีที่1 (พระเจ้าอู่ทอง)นั้น มะละกายังไม่ได้สถาปนาเป็นอาณาจักร มะละกาได้รับการสถาปนาเป็นอาณาจักรในรัชกาลสมเด็จพระรามราชา และประกาศเป็นเอกราชตั้งแต่ปี ค.ศ.1403 ราชวงศ์มะละกาสืบครองบ้านเมืองต่อๆ มากว่า 100 ปี โดยไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยาตลอดมา นักประวัติศาสตร์รวมทั้งข้อมูลทางประวัติศาสตร์บางประการอาจระบุว่ามะละกา เป็นประเทศราชของสยามก็เนื่องมาจากว่า สยามในสมัยรัชกาลพระรามาธิบดี อู่ทอง ขยายดินแดนลงมาทางใต้สุด แต่เวลานั้นมะละกายังไม่ได้เป็นบ้านเมืองในความหมายนั้นการกล่าวอ้างเช่นนี้ จึงถือเป็นความจริงเพียงส่วนเดียว
 
     การที่โปรตุเกสยึดมะละกาไป จึงไม่เป็นสาเหตุที่ทำให้สยามบาดหมางกับโปรตุเกส ยิ่งกว่านั้นพระมหากษัตริย์สยามยังให้การต้อนรับคณะทูตของโปรตุเกสเป็นอย่างดีอีกด้วยอันที่จริง อาลบูเคิร์ก ส่งดูอาร์ต เฟอร์นันเดส มาเป็นทูตที่สยามก่อนที่จะยึดมะละกาได้อย่างสมบูรณ์ด้วยซ้ำ ดูอาร์ต เฟอร์นันเดส ได้เข้าเฝ้าอย่างสง่า ถวายของขวัญเป็นดาบฝังเพชรและจดหมายลงชื่อโดยอาลบูเคิร์กในนามของกษัตริย์ โปรตุเกส เมื่อดูอาร์ต เฟอร์นันเดส เดินทางกลับมะละกา  ทูตสยามได้ติดตามไปด้วย และได้มอบของขวัญเป็นการตอบแทนคณะทูตสยาม ได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ  ในค.ศ. 1511 คณะทูตโปรตุเกสชุดที่สอง นำโดยอันโตนิโอ เด มิซานดา เด อาเซเวโด (Antonio de Mizanda de Azevedo) พร้อมกับมานูแอล ฟราโกโซ (Manoel Fragoso) เดินทางเข้ามาในสยาม ฟราโกโซอยู่ในสยามต่ออีก 2 ปี และได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับสินค้า ขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ ของสยามส่งกลับไปโปรตุเกส และรายงานชิ้นนี้ยังไม่เคยตีพิมพ์จนถึงทุกวันนี้ พระเจ้าแผ่นดินสยามถวายของพระราชทานแด่กษัตริย์แห่งโปรตุเกสโดยผ่านทาง อันโตนิโอ เด มิซานดา ด้วย  ในค.ศ. 1518  D. Aleixo de Menezeo ได้รับมอบอำนาจพิเศษที่มะละกา ได้ส่งดูอาร์ต โกแอลโฮ (Duarte Coelho) เป็นทูตพิเศษเข้ามาในสยามพร้อมทั้งจดหมายและของขวัญ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสจัดมาถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินสยามเป็นการตอบแทน ในการส่งทูตมาครั้งนี้ได้มีการทำสัญญาฉบับแรกระหว่างสยามและโปรตุเกส โดยฝ่ายโปรตุเกส ได้สัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่สยาม และฝ่ายสยามก็ได้ให้อภิสิทธิ์ในด้านศาสนาและการพาณิชย์เป็นการตอบแทน เวลาเดียวกันสยามสามารถส่งชาวสยามไปตั้งถิ่นฐานในมะละกาได้ สัญญาฉบับนี้นับเป็นฉบับแรกที่สยามได้ทำกับประเทศจากยุโรป และเป็นสัญญาที่เอื้อผลประ โยชน์ต่อทั้งสองอาณาจักรอย่างเห็นได้ชัด สยามเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์  ประเทศโปรตุเกสมีอาวุธในการทำสงครามที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ชาวโปรตุเกสจำนวนมากได้เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา และสอนชาวสยามให้รู้จักศิลปะในการสงคราม การสร้างป้อมปราการ
 
     สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ  จากการศึกษาเอกสารของฝ่ายโปรตุเกสระบุว่าปีที่ทำสัญญาฉบับนี้ได้แก่ปี ค.ศ. 1518 ในขณะที่หนังสือประวัติศาสตร์ไทยระบุว่าเป็น ค.ศ. 1516 แต่ผู้ทำสัญญาฉบับนี้ตรงกันคือดูอาร์ต โกแอลโฮ เป็นเรื่องที่ต้องได้รับการศึกษากันต่อไป ในขณะเดียวกันกับที่อันโตนิโอ ดา ซิลวา เรโก (Antonio da Silva Rego) นักประวัติศาสตร์โปรตุเกสระบุว่าสัญญาฉบับนี้กระทำโดย อันโตนิโอ เด มิซานดา เด อาเซเวโด (Antonio de Mizanda de Azevedo) และแคมโปส (Campos) ในบทความของเขาก็ยืนยันว่าดูอาร์ตโกแอลโฮมากระชับสัญญาฉบับแรกนั้นให้แน่นแฟ้นขึ้นเท่านั้น 
 
    เป็นอันว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองอาณาจักรเริ่มขึ้นแล้ว ชาวโปรตุเกสเข้ามาพำนักในสยามเพื่อทำการค้าขายและมีเสรีภาพในการถือศาสนาของตนในเอกสาร โบราณของชาวโปรตุเกสกล่าวไว้ว่า ครั้งนั้นชาวโปรตุเกสได้นำเอาไม้กางเขนขนาดใหญ่ มีตราแผ่นดินของประเทศโปรตุเกสไปปักไว้ที่กลางกรุงศรีอยุธยา เรื่องนี้มิได้ปรากฏในพระราชพงศาวดาร หรือเอกสารของไทยแต่อย่างใด และเอกสารโบราณชิ้นนี้ยังระบุไว้ด้วยว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1516 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มมีการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสอย่างเป็นทางการ ไม้กางเขนอันนี้น่าจะเป็นไม้กางเขนที่เก่าแก่ที่สุดตามหลักฐานทางเอกสาร
 
กำเนิดหมู่บ้านโปรตุเกส
     แม้ว่าจะมีชาวโปรตุเกสจำนวนมากเข้ามาตั้งรกรากในกรุงศรีอยุธยา   แต่ก็ยังไม่ได้รับพระราชทานที่ดินเป็นที่แน่นอน ชาวโปรตุเกสนอกจากจะทำการค้าขายแล้ว ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ขันอาสาเข้าช่วยราชการสงคราม ดังปรากฏในเหตุการณ์สมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช (ค.ศ. 1534-1546) เมื่อครั้งทำสงครามกับเมืองเชียงกรานใน ค.ศ.1538 ตามพระราชพงศาวดารภาคที่ 6 ตอนที่ 1 ว่า:
 
          มีจดหมายเหตุของคุณพ่ออันโตนิโอ ปินโต พระสงฆ์องค์ที่ 2 ของมิสซังสยาม     มีใจความว่า ครั้งนั้นมีพวกโปรตุเกสเข้ามาตั้งค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา 130 คน สมเด็จพระชัยราชาธิราช เกณฑ์ชาวโปรตุเกสเข้ากองทัพไป 120 คน ได้รบพุ่งกับพม่าที่เชียงกราน ไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไป ได้เมืองเชียงกรานคืนมาเป็นของไทย เมื่อสมเด็จพระชัยราชาธิราชเสด็จกลับมาถึงพระนคร ทรงยกย่องความชอบของพวกโปรตุ เกส จึงพระราชทานที่ดินให้ตั้งบ้านเรือนที่แถวบ้านดิน เหนือคลองตะเคียน แล้วพระราช ทานอนุญาตให้พวกโปรตุเกส สร้างวัดสอนศาสนากันตามความพอใจ
 
     ในหนังสือของตุรแปง (Turpin) ก็ได้ยืนยันข้อมูลเดียวกันนี้ว่า ในระยะนั้นมีชาวโปรตุเกส 130 คน ในราชอาณาจักร 120 คน ในจำนวนนี้ถูกบังคับให้ร่วมรบ พระเจ้าแผ่นดินทรงเชื่อมั่นว่าไม่มีใครสามารถชนะพระองค์ได้ ในขณะที่พระองค์ได้รับความร่วมมือจากชาวยุโรปซึ่งเปรียบเสมือนวีรบุรุษของพระองค์... พระองค์ได้พระราชทานผล ประโยชน์ให้กับสัมพันธมิตรชาวโปรตุเกส ทรงประกาศให้ชาวโปรตุเกสได้รับการยกเว้นภาษีอากรทุกประเภทเป็นระยะเวลา 3 ปี บาทหลวงโปรตุเกสได้รับอนุญาตให้เผยแพร่ศาสนาได้ทุกแห่งในราชอาณาจักร
 
      หมู่บ้านโปรตุเกส ตั้งอยู่ที่ตำบลสำเภาล่ม บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตก อยู่ทางใต้ของตัวเมืองกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีการสร้างโบสถ์ขึ้นเพื่อเผยแพร่ศาสนาและเป็นศูนย์กลางของชุมชน ปัจจุบันบริเวณนี้ยังมีร่องรอยซากสิ่งก่อสร้างปรากฏให้เห็น คือ โบราณสถานนักบุญเปโตร หรือเรียกในสมัยอยุธยาว่าโบสถ์เซนต์โดมินิค เป็นโบสถ์ในคณะโดมินิกัน นับเป็นโบสถ์แห่งแรกที่สร้างขึ้นในแผ่นดินไทยเมื่อ พ.ศ. 2083 ตั้งอยู่ในบริเวณเกือบกึ่งกลางหมู่บ้านโปรตุเกส มีเนื้อที่ประมาณ 2,400 ตารางเมตร ยาวตามแนวทิศตะวันออกไปตะวันตกหันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ตัวอาคารแบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนหน้าเป็นสุสาน ของชาวคาทอลิกคณะโดมินิกัน ส่วนกลางใช้ประกอบพิธีทางศาสนาและฝังศพบาทหลวง ส่วนในด้านหลังและด้านข้างเป็นที่พักอาศัยและมีการขุดค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์ กล้องยาสูบ เหรียญกษาปณ์ เครื่องปั้นดินเผา เครื่องประดับกำไลแก้วและเครื่องประกอบพิธีทางศาสนา เช่น ไม้กางเขน เหรียญรูปเคารพในศาสนา ลูกประคำ
 
     ในส่วนของสุสาน พบโครงกระดูกจำนวนมากมายถึง 254 โครง ฝังเรียงรายอย่างเป็นระเบียบและทับซ้อนกันหนาแน่นทั้งภายในและภายนอกอาคาร จากแนวโครงกระดูกที่พบแบ่งขอบเขตสุสานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนในสุดกลางตัวอาคารที่เป็นฐานโบสถ์ อาจเป็นโครงกระดูกของบาทหลวงหรือนักบวช  ถัดมาส่วนที่สอง ส่วนนี้อาจเป็นผู้มีฐานะทางสังคมในค่ายโปรตุเกสสูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป ส่วนที่สาม นอกแนวฐานโบสถ์มีการฝังซ้อนกันมากถึง 3-4 โครง  โครงกระดูกเหล่านี้มีทั้งที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์และบางส่วนชำรุด จากหลักฐานเอกสารประวัติศาสตร์ กล่าวถึงการเกิดโรคระบาดร้ายแรงในปลายแผ่นดินพระเพทราชาเมื่อ พ.ศ. 2239  มีผู้คนล้มตายมาก และใน พ.ศ. 2255 ในสมัย      พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระก็เกิดโรคระบาดอีกครั้งมีผู้คนล้มตายมาก อาจเป็นเหตุให้มีการขยายสุสานออกมาจากเดิม
 
 
รูป สุสานฝังชาวโปรตุเกส ที่จังหวัดอยุธยาปัจจุบัน
 
บ้านโปรตุเกส 
     ชาวโปรตุเกสเป็น ฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับอยุธยาเมื่อปี พ.ศ.2054  ในรัชสมัยพระรามาธิบดี
อยุธยามีคำเรียกชาวโปรตุเกสอยู่หลายคำได้แก่ ฝรั่งโลสง “ฝารังลูกค้า” ชาวบรเทศ ชาวประเทศ แขกประเทศ และแขกเมืองฝรั่งปัศตุกัน การที่อยุธยาจัดให้ชาวโปรตุเกสเป็นแขก นั้นไม่ใช่ว่าชาวโปรตุเกสเป็นแขก หรือชาวมุสลิมแต่อย่างใด หากเพราะว่าที่ตั้งของบ้านหรือชุมชนชาวโปรตุเกส อยู่ในบริเวณเดียวกันกับชุมชนของแขกจาม แขกชวา แขกมลายู แขกปัตตานี แขกมักกะสัน และอยู่ในความดูแลเดียวกันกับชาวแขกต่างๆ เหล่านี้โดยสังกัดในกลมท่าขวา ซึ่งมีพระจุฬาราชมนตรีเป็นผู้ควบคุมดูแล
 
     ปืนไฟและปืนใหญ่ เป็นอาวุธสมัยใหม่ของยุโรปที่ชาวโปรตุเกสนำเข้ามา โดยมอบให้ทั้งอยุธยาและพม่าเป็นเครื่องบรรณาการ หลังจากนั้นก็ทำหน้าที่เป็นพ่อค้าขายอาวุธเหล่านี้ ซึ่งก็ทำให้เมื่อเกิดสงครามระหว่างอยุธยากับพม่านั้น ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีปืนไฟและปืนใหญ่ในการสงคราม โปรตุเกสพยายามที่จะแสวงหาสินค้าเครื่องเทศจากโลกเอเชีย แต่เดิมการค้าเครื่องเทศของเอเชียสู่ยุโรปเป็นบทบาทของพ่อค้าคนกลาง ชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง ในที่สุดโปรตุเกสก็สามารถสร้างเมืองป้อมและโรงเก็บสินค้าถาวรจากเมืองกัวในอินเดีย ถึงเมืองมะละกาในอินเดีย มาเก๊าในจีน ซึ่งไม่เพียงจะประสบผลสำเร็จในการทำการค้าระหว่างเอเชียกับยุโรปเท่านั้น โปรตุเกสยังมีบทบาทเป็นพ่อค้าคนกลางในโลกเอเชียด้วยเช่นกัน
 
     การติดต่อสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับโปรตุเกสโดยผ่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของโปรตุเกส ที่เมืองกัวยุติลงในสมัยพระเจ้าทรงธรรม  ซึ่งปัจจัยสำคัญอันหนึ่งคือการมีบทบาทเพิ่มขึ้นอีกครั้งของพ่อค้าชาวฮอลันดาในสมัยพระเจ้าปราสาททอง แต่ต่อมาจะมีการติดต่อไปยังเมืองมาเก๊า ซึ่งเป็นฐานทางการค้าใหม่ของโปรตุเกสในโลกเอเชีย
 
     บทบาทของชาวโปรตุเกสในอยุธยาที่สำคัญๆ ส่วนใหญ่เป็นบทบาทของพ่อค้าเอกชนทหารรับจ้างและบาทหลวงสอนศาสนา
 
บ้าน-โบสถ์
     ทหารระดับล่างของโปรตุเกส  ในโลกเอเชียจะหลบหนีจากกองทัพแล้วหันมาประกอบอาชีพพ่อค้าซึ่งมีผลประโยชน์มากกว่า ประมาณว่าในปลายรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 มีชาวโปรตุเกสในกรุงศรีอยุธยาถึง 300 คน กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาพระราชทานที่ดินบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ห่างจากเกาะเมืองตรงป้อมเพชรราว 3-4 กิโลเมตร ให้เป็นที่ตั้งบ้านและสร้างโบสถ์ของชาวโปรตุเกสและใช้ประกอบพิธีทางศาสนา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ บ้านโปรตุเกสมีประชากรถึง 2,000 กว่าคนและส่วนใหญ่เป็นลูกครึ่งโปรตุเกสกับหญิงสาวเอเชีย บ้านโปรตุเกสมีอยู่ตลอดมาจนกระทั่งกรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1563
 
     บ้านโปรตุเกสมีด้านหน้าทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนอีก 3 ด้านมีการขุดคูน้ำล้อมรอบ ขนาดพื้นที่กว่าครึ่งตารางกิโลเมตรเป็นชุมชนคาทอลิกที่มีโบสถ์ถึง 3 โบสถ์ จาก 3 นิกาย โดยโบสถ์เหนือสุดเป็นคณะฟรันซิสกัน โบสถ์ตอนกลางเป็นของคณะโดมินิกัน และตอนท้ายหมู่บ้านเป็นคณะเยสูอิต มีบาทหลวงถึง 11 องค์