การฝังศพชาวคาทอลิกที่หมู่บ้านโปรตุเกส

พิรักษ์  ชวนะเกรียงไกร
โครงการปรับปรุงหมู่บ้านโปรตุเกส หน่วยศิลปากรที่ 1
 
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้เผยแพร่เข้ามายังเอเชียในศตวรรษที่ 16 ตามเมืองต่างๆ ที่บรรดาชาติตะวันตกเข้าไปติดต่อสัมพันธ์ด้วย จากข้อตกลงร่วมกันระหว่างโปรตุเกสและสเปน 2 ชาติมหาอำนาจทางทะเลในระยะนั้น ซึ่งได้เกิดการวิวาทกันอยู่เนืองๆ เนื่องมาจากการแข่งขันกันทางด้านการค้าและการเผยแพร่คริสต์ศาสนาไปตามเมืองต่างๆ 
 
ในที่สุดสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 จึงได้ตัดสินให้ยุติข้อวิวาทกัน โดยการให้แบ่งเขตการแสวงหาการค้าทางทะเลด้วยการให้ทำสนธิสัญญา (Treaty of Tordesillas) ขึ้นโดยให้โปรตุเกสขยายอำนาจไปทางทิศตะวันออก และสเปนขยายอำนาจไปทางทิศตะวันตก โดยมีทวีปยุโรปเป็นศูนย์กลาง
 
ดังนั้นประเทศในแถบเอเชียเป็นส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในเขตการขยายอิทธิพลทางทะเลของโปรตุเกสซึ่งรวมทั้งกรุงศรีอยุธยาของเราด้วย
 
โปรตุเกสได้เริ่มมายึดเมืองกัวเป็นศูนย์กลางในการแผ่ขยายอำนาจมาทางเอเชียตะวันออกกลางและเอเชียใต้ในปี พ.ศ. 2053 และได้เมืองมะละกาเป็นศูนย์กลางในการขยายอำนาจมาทางเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ในปี พ.ศ. 2054
 
หลังจากนั้นโปรตุเกสจึงเข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับอยุธยา เมื่อทราบว่ามะละกาเคยเป็นเมืองขึ้นของอยุธยามาก่อนจึงส่งทูตเข้ามาสัมพันธไมตรี  ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเป็นไปด้วยดี จากการที่โปรตุเกสต้องการให้อยุธยายอมรับอำนาจของโปรตุเกสที่มีอยู่เหนือมะละกา ในขณะเดียวกันอยุธยาก็ต้องการความช่วยเหลือทางด้านการทหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่โปรตุเกสได้นำเอาอาวุธปืนซึ่งเป็นของสมัยใหม่เข้ามา จึงเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าแผ่นดินอยุธยาเป็นอย่างมาก  รวมทั้งการเป็นทหารอาสาและการก่อสร้างป้อมปราการ เพราะในขณะนั้นอยุธยามีศึกติดพันอยู่กับเชียงใหม่และพม่า
 
การแพร่ศาสนานิกายโรมันคาทอลิก
โปรตุเกสซึ่งได้รับนโยบายการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมาจากสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ที่มีคำสั่งตัดสินให้โปรตุเกสและสเปนแบ่งการขยายอาณาเขตออกไปทางด้านทิศตะวันตกและตะวันออก และในการขยายอิทธิพลของตนไปนั้น จะต้องเผยแพร่ศาสนาไปตามเมืองต่างๆ เหล่านั้นด้วย ในการเผยแพร่ศาสนานี้โปรตุเกสต้องได้รับการต่อต้านจากบรรดาชาวเมืองที่ต่างก็นับถือศาสนาอื่นอยู่ก่อนแล้ว ดังเช่น ในเมืองกัว เมืองมะละกา ซึ่งมีผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นชนส่วนใหญ่ของเมืองนั้นอยู่แล้ว เป็นต้น 
 
ในเอกสารของชาวต่างประเทศที่เข้ามายังกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ภายหลังจากโปรตุเกสได้ทำความสัมพันธ์อันดีกับอยุธยาแล้ว ก็ได้มีชาวโปรตุเกสเข้ามายังอยุธยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เป็นพ่อค้าค้าขายอยู่ในกรุงศรีอยุธยา, นครศรีธรรมราช, มะริด, ตะนาวศรีและปัตตานี นอกจากนั้นก็มาเป็นทหารอาสาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา
 
ดังเช่นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับตุรแปงกล่าวว่า มีชาวโปรตุเกสอยู่ในอยุธยา 130 คน และเป็นทหารเสีย 120 คน  ในสมัยของพระไชยราชาเมื่อเกิดสงครามกับเชียงใหม่และอยุธยาได้ยกทัพไปปราบและได้   ชัยชนะกลับมา ชาวโปรตุเกสก็ร่วมไปในสงครามครั้งนี้ด้วย จึงทำให้เกิดหมู่บ้านโปรตุเกสในปี พ.ศ. 2088 นี้เอง  ในระยะแรกนี้จะมีบาทหลวงชาวโปรตุเกสเข้ามาเผยแพร่ศาสนาหรือยังไม่มีเอกสารยืนยันอย่างแน่นอน แต่ก็อาจเป็นไปได้ว่านักบุญฟรังซิส ซาเวียร์ (St.Francis Xavier) ซึ่งได้เดินทางมาเผยแพร่ศาสนายังเอเชียนั้นได้เข้ามายังกรุงศรีอยุธยา(ในปัจจุบันยังปรากฏอนุสาวรีย์อยู่ที่เมืองมะละกา) 
 
แต่จากเอกสารที่ปรากฏกล่าวว่า บาทหลวงชาวโปรตุเกส 2 องค์ได้เดินทางเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2098 เป็นบาทหลวงในคณะโดมินิกัน ชื่อ เจอโรนิโม ดาครูซ กับ เซบาสติเอา ดา คูโต (Jeronimo da Cruz & Sebastiao da Couto) ซึ่งตรงกับสมัยของพระมหาจักรพรรดิ แต่การเผยแพร่ศาสนายังคงไม่ค่อยแพร่หลายเท่าใดนัก มีโบสถ์สำหรับทำพิธีอยู่หลังหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นพร้อมกับหมู่บ้านโปรตุเกสในสมัยของพระไชยราชา
 
อุปสรรคที่สำคัญที่ทำให้การเผยแพร่ศาสนาไม่สามารถดำเนินไปได้ด้วยดีก็คือภาษา (ในระยะ เวลาต่อมาอุปสรรคนี้ได้รับการแก้ไขโดยบาทหลวงองค์ต่อๆ มาโดยการพยายามศึกษาภาษาไทยและต่อมาได้มีการเขียนคำเทศนาสั่งสอนออกมาเป็นภาษาไทย)  นอกจากนี้ยังต้องประสบกับการขัดขวางจากผู้ที่นับถือศาสนาอื่นอยู่ก่อนแล้ว ทำให้บาทหลวงเจอโรนิโม ดาครูซ ถูกทำร้ายจนถึงตายในขณะที่บาทหลวงเซบาสติเอา ดา คูโต ได้รับบาดเจ็บและออกเดินทางกลับไปยังเมืองมะละกา (และได้เดินทางกลับมายังอยุธยาอีกครั้งหนึ่งในปีพ.ศ. 2110 พร้อมกับเพื่อนบาทหลวงอีก 2 องค์ และถูกฆ่าตายในระหว่างสงครามอยุธยากับพม่าในปี พ.ศ. 2112)  ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยากลับเข้มแข็งขึ้นมาอีกครั้งในสมัยพระนเรศวรมหาราช  การเผยแพร่ศาสนาคริสต์ก็กลับดำเนินไปเป็นปกติอีกครั้ง
 
ในสมัยของพระเจ้าทรงธรรมปรากฏว่ามีการสร้างโบสถ์ขึ้นอีกหลังหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ทหารโปรตุเกสได้เข้าร่วมรบในสงครามกับพม่าเพื่อชิงเมืองชายแดนบางเมืองกลับมาเป็นของอยุธยาได้สำเร็จ ในระยะนี้ปรากฏว่ามีบาทหลวงในคณะฟรานซิสกันและเยสุอิตเข้ามาอีก 2 คณะ แต่อย่างไร  ก็ตามปรากฏว่าเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างบาทหลวงชาวโปรตุเกสกับชาวไทยที่ในอยุธยาและเมืองต่างๆ หลายครั้งจนถึงกับพระเจ้าทรงธรรมให้จับบาทหลวงชาวโปรตุเกสไปทรมาน
 
เหตุการณ์นี้ได้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จนถึงสมัยพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งระยะนี้โปรตุเกสมีความขัดแย้งกับฮอลันดาเนื่องจากการแก่งแย่งทางการค้าที่เกิดขึ้นอยู่เสมอทำให้พระเจ้าปราสาททองซึ่งมีนโยบายที่จะติดต่อสัมพันธ์กับทุกชาติที่เข้ามาติดต่อด้วยไม่พอพระทัย จากจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์กล่าวว่า เมื่อแรกราชทูตฝรั่งเศสเดินทางเข้ามานั้นมีบาทหลวงชาวโปรตุเกสไปให้การต้อนรับด้วยการสั่นระฆังในโบสถ์ของเขา นอกจากนี้ยังมีการจัดงานฉลองขึ้น 2 ครั้งในโบสถ์ของชาวโปรตุเกสด้วย ในสมัยพระนารายณ์นี้มีโบสถ์ของชาวโปรตุเกสอยู่ 2 หลัง คือ ซานโดมิงโกกับซานเปาโล สำหรับบาทหลวงคณะโดมินิกันและคณะเยสุอิต
 
ในการเข้ามาของฝรั่งเศสนี้เองก็เกิดความขัดแย้งกับบาทหลวงโปรตุเกสที่อยู่เดิม โดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศสได้รับมอบอำนาจจากสันตะปาปาเกรเกอรี่ที่ 15 ให้เป็นผู้ดูแลปกครองคณะสงฆ์ที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ในระยะแรกบาทหลวงชาวโปรตุเกสไม่ยอมรับอำนาจนี้ แต่ในเวลาต่อมาก็สามารถตกลงกันได้ด้วยการประชุมปุจฉาวิสัชนา
 
ในระยะปลายของสมัยอยุธยา บทบาทของบาทหลวงชาวโปรตุเกสลดน้อยลงเนื่องจากฝรั่งเศสได้สร้างโบสถ์ขึ้นในหมู่บ้านของตนและมีการเผยแพร่ศาสนาด้วยวิธีการที่เอาใจใส่ต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างดี เช่น การสร้างโรงพยาบาล การช่วยเหลือผู้ที่ยากจน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามการเผยแพร่ศาสนาคริสต์นี้ก็ต้องสะดุดหยุดลงในเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310
 
การฝังศพชาวคาทอลิก
หมู่บ้านโปรตุเกสตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของตัวเกาะเมืองอยุธยาฝั่งด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงกันข้ามกับบ้านญี่ปุ่นและบ้านฮอลันดา ตามหลักฐานที่ปรากฏกล่าวว่าหมู่บ้านโปรตุเกสสร้างขึ้นในสมัยพระไชยราชา เมื่อทหารโปรตุเกสซึ่งเข้าร่วมรบในกองทัพอยุธยาและชนะเชียงใหม่กลับมาในปี พ.ศ. 2088 
 
ในระยะแรกคงมีชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ไม่มากนัก  แต่ในเวลาต่อมาก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ปรากฏในจดหมายเหตุของชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยพระนารายณ์กล่าวว่ามีชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ประมาณ 2,000 คน ส่วนมากเป็นลูกครึ่งซึ่งเป็นไปตามนโยบายของโปรตุเกสที่อาศัยวิธีการผสมผสานกับชาวพื้นเมืองซึ่งต่างจากชาวยุโรปชาติอื่นๆ 
 
ในการขุดแต่งโบราณสถานซานเปโตรซึ่งตั้งอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกสได้พบโครงกระดูกเป็นจำนวนทั้งสิ้น ขณะนี้ 130 โครงซึ่งอาจจะพบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้กล่าวว่าในโบราณสถานอีก 2 แห่งที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านโปรตุเกสนี้ก็พบโครงกระดูกเช่นกัน)
 
ในที่นี้จะกล่าวถึงการฝังศพและลักษณะการฝังศพของชาวคาทอลิก ที่โบราณสถานซานเปโตรแห่งนี้
 
โครงกระดูกที่พบในบริเวณโบราณสถานซานเปโตรนี้จะอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นด้านหน้าของโบราณสถานเป็นส่วนใหญ่ และจะมีพบบ้างเล็กน้อยบริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
 
การฝังศพจะหันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันออก (อาจเป็นไปได้ว่าต้องการให้ศพหันหน้าเข้าหาโบสถ์ซึ่งเป็นคติประเพณีนิยมก็เป็นได้) มีบ้างบางโครงที่หันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันตก ศพที่หันศีรษะไปทางทิศตะวันตกนี้ส่วนใหญ่เป็นศพเด็ก
 
จากการวิเคราะห์โครงกระดูกเหล่านี้พบว่ามีทั้งที่เป็นคนเชื้อชาติมองโกลอยด์และคอเคซอยด์ ซึ่งเป็นไปได้มากว่าโครงกระดูกเหล่านี้อาจจะเป็นผู้ที่มีเชื้อสายโปรตุเกสผสมกับคนพื้นเมืองซึ่งอาจจะมีทั้งชาวจีนและญวนรวมอยู่ด้วย
 
การวางท่าของโครงกระดูก 
การฝังศพของชาวคาทอลิกที่ปรากฏที่โบราณสถานซานเปโตรแห่งนี้  จะจัดวางท่าทางของศพในลักษณะแตกต่างกัน (ทั้งนี้จากการสอบถามผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในปัจจุบันกล่าวว่าการจัดวางท่าทางของศพนั้นจะจัดวางในลักษณะที่สุภาพเพื่อแสดงถึงความเคารพ) ลักษณะการวางท่าทางของศพที่พบจะมีลักษณะดังต่อไปนี้
 
1. มือประสานกันที่บริเวณหน้าอก มือขวาทับมือซ้าย เข่าอยู่ห่างจากกัน แสดงว่าไม่ได้มีการมัด  เข่าหรือเท้า เช่น โครงกระดูกที่ 4 
 
2. มือประสานกันที่ท้องน้อย (ใกล้บริเวณเชิงกราน) มือทั้งสองชิดติดกันในลักษณะที่อาจเอานิ้วมือสอดประสานกันอันเป็นลักษณะ ที่แสดงความเคารพ เข่าทั้งสองอยู่ชิดติดกันแสดงว่าเท้าทั้งสองติดกัน หรือวางไขว้ทับกันด้วย แต่เท้าทั้งสองขาดหายไปในโครงกระดูกที่ 5
 
3. มือทั้งสองประสานกันที่ท้องน้อย (ใกล้บริเวณเชิงกราน) แต่เข่าและเท้าอยู่ห่างกัน เช่น ในโครงกระดูกที่ 37
 
4. มือทั้งสองวางประสานกันที่บริเวณเหนือท้องน้อยในลักษณะที่ข้อศอกเกือบตั้งฉาก เข่าและเท้าอยู่ห่างกัน เช่น โครงกระดูกที่ 38
 
5. มือขวาวางพาดบริเวณเหนือท้องน้อย ส่วนมือซ้ายจะวางพาดเฉียงลงมาบริเวณเหนือ  เชิงกรานเล็กน้อย ลำตัวเอียงคล้ายวางตะแคง เข่าจะอยู่ในลักษณะย่อเล็กน้อย เช่น โครงกระดูก ที่ 39
 
6. มือวางประสานกันบริเวณท้องน้อยใกล้เชิงกราน มือขวาทับมือซ้าย เข่าห่างจากกัน แต่เท้าวางไขว้กันโดยเท้าขวาทับเท้าซ้าย เช่นโครงกระดูกที่ 40
 
7. มือทั้งสองวางอยู่บนหน้าอก โดยมือขวาวางอยู่เหนือมือซ้ายเล็กน้อย เข่าและเท้าทั้งสองอยู่ห่างจากกัน เช่น โครงกระดูกที่ 57 
 
8. มือขวาวางพาดในลักษณะตั้งฉากบริเวณท้องน้อย มือซ้ายวางพาดขึ้นมาถึงบริเวณหน้าอก เช่น โครงกระดูกที่ 66   
 
การนำสิ่งของใส่ฝังร่วมกับผู้ตาย     
จากการขุดแต่งโครงกระดูกได้พบสิ่งของอยู่ร่วมกับโครงกระดูกด้วย ส่วนใหญ่ของที่พบร่วมกับโครงกระดูกจะเป็นของเคารพในศาสนา เช่น  โครงกระดูกที่ 31 พบสายประคำคล้องคอผู้ตายอยู่ด้วย สายประคำนี้อาจทำด้วยกระดูกหรืองาช้าง โครงกระดูกที่ 59 พบสายประคำและเหรียญรูปเคารพในศาสนาอยู่ที่มือซ้ายซึ่งวางพาดลงมาที่บริเวณเชิงกรานในลักษณะที่สิ่งของทั้งสองนี้อยู่ในกำมือ คงเป็นลักษณะที่มีการนำเอาของนี้ยัดใส่ในมือของผู้ตายเพื่อแสดงว่าเป็นบุตรของพระเจ้า
 
โครงกระดูกที่ 64 พบสายประคำอยู่ที่มือซ้ายซึ่งวางพาดอยู่บริเวณเชิงกราน สายประคำนี้จะอยู่ในลักษณะที่ห้อยคล้องข้อมืออยู่
 
โครงกระดูกที่ 22 พบไม้กางเขนขนาดเล็กห้อยคอศพอยู่โดยอาจใช้สายเชือกก็อาจเป็นได้
 
โครงกระดูกที่ 85 พบเหรียญรูปเคารพในศาสนาอยู่ร่วมกับโครงกระดูกขณะโครงกระดูกที่ 38  พบตุ๊กตาเสียกบาลอยู่ร่วมกับโครงกระดูกด้วย
 
สรุป
การฝังศพของชาวคาทอลิกที่พบในการขุดแต่งโบราณสถานซานเปโตรนี้ จะพบว่ามีลักษณะการจัดวางท่าศพในลักษณะที่ต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่คำนึงถึงความสุภาพแสดงความเคารพเป็นสำคัญ อาจเป็นได้ว่าการทำพิธีบางอย่างอาจนำเอาพิธีของศาสนาอื่นที่ชาวพื้นเมืองที่นี่ได้กระทำกันอยู่แล้ว เมื่อหันมานับถือศาสนาคริสต์ ก็ยังติดพิธีกรรมบางอย่างจากศาสนาเดิมอยู่มาใช้ก็เป็นได้ เช่น การมัดตราสังศพ เป็นต้น
 
ส่วนลักษณะท่าทางในการจัดวางศพนั้น เป็นไปได้ว่าอาจมีการเคลื่อนจากเดิมบ้าง ทั้งนี้เพราะโครงกระดูกอาจมีการเกร็งหรือคลายลงจากลักษณะเดิมที่จัดไว้ได้  แต่ทั้งนี้การวิเคราะห์อย่างละเอียดจะสามารถให้ความกระจ่างแก่เราต่อไป.
 
จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
วันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2527/หน้า 11