-
Category: ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกับชาวฝรั่งเศสในประเทศไทย
-
Published on Monday, 19 October 2015 07:21
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3290
สมณกระทรวงโปรปากันดาฟีเด ได้ส่งพระสังฆราชชุดแรก 3 องค์ จากพระสงฆ์คณะนี้ เดินทางมาทำงานในฐานะผู้แทนพระสันตะปาปา ในภูมิภาคตะวันออกไกลเป็นชุดแรก พระสังฆราชแต่ละองค์ถูกกำหนดให้เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาของประเทศจีน โคจินจีน และตังเกี๋ยเป็นหลัก แต่ประเทศเหล่านี้กำลังมีความขัดแย้งทางศาสนาอย่างหนัก และไม่สามารถเดินทางเข้าไปได้โดยเด็ดขาด บรรดาพระสังฆราชจึงต้องหยุดรออยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อรอคอยให้เหตุการณ์ต่างๆ ดีขึ้นเสียก่อน และค่อยเดินทางต่อไป ประเทศสยามเป็นประเทศที่สงบสุขและเอื้ออาทรแก่ศาสนาต่างๆ หลังจากที่พระสังฆราชและมิชชันนารีได้มองเห็นสถานการณ์ทั่วๆ ไปของประเทศสยาม และมองเห็นท่าทีที่เป็นมิตรของพระมหากษัตริย์ แล้วเห็นได้ชัดว่าเป็นผลดีต่อการตั้งมั่นเพื่อใช้เป็นฐานในการเดินทางต่อไป เวลาเดียวกันก็เริ่มประกาศเทศนาสั่งสอนพระวรสารไปด้วย จึงตัดสินใจอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาแน่นอนว่าการเข้ามาของพระสังฆราชเหล่านี้ย่อมทำให้พวกมิชชันนารีที่มาจากสิทธิพิเศษของปาโดรอาโดไม่พอใจและไม่ยอมรับ
พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต
พระสังฆราชลังแบรต์ เดอ ลาม็อต (Lambert de la Motte) เป็นพระสังฆราชองค์แรกที่เดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ค.ศ.1662 พร้อมๆ กับ คุณพ่อยัง เดอ บูร์ช (Jean de Bourges) คุณพ่อเดดีเอร์ (Deydier) อีก 2 ปีต่อมา พระสังฆราชฟรังซัว ปัลลือ (Franois Pallu) พร้อมๆ กับคุณพ่อหลุยส์ ลาโน (Louis Laneau) คุณพ่อแฮงค์ (Hainques) คุณพ่อแบรงโด (Brindeau)และฆราวาสผู้ช่วยคนหนึ่งชื่อ เดอ ชาแมสซอง ฟัวซี (De Chamesson Foissy) เดินทางมาถึงประเทศสยามเช่นเดียวกันเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ.1664 หลังจากได้ปรึกษาหารือกันแล้ว เกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศที่พวกท่านต้องเดินทางไปรับผิดชอบทุกท่านเห็นว่าให้อยู่รอโอกาสที่ดีกว่านี้ ที่ประเทศสยามดีกว่า การปกครองของประเทศสยามก็ไม่มีความขัดแย้งกับศาสนาอื่น ทั้งหมดจึงตัดสินใจอยู่ในประเทศสยามเพื่อทำงานแพร่ธรรมทันที เมื่อพวกท่านมาถึงกรุงศรีอยุธยานั้นมีพระสงฆ์มิชชันนารีชาวโปรตุเกส 10 องค์ ชาวสเปน 1 องค์ อยู่ในประเทศสยามและมีคริสตชนทั้งหมดสองพันคน
พระสังฆราชทั้งสองและบรรดามิชชันนารีจึงได้จัดการสัมมนาที่เรียกว่า ซีโนด (Synod) ขึ้นที่อยุธยา การประชุมต่างๆได้ตกลงวางแผนการทำงานกันซึ่งสรุปได้ดังนี้
1. วางแผนที่จะก่อตั้งคณะนักบวชแห่งอัครสาวกขึ้น อันประกอบไปด้วยนักบวชชาย - หญิง รวมทั้งฆราวาส โดยจะตั้งชื่อว่า คณะรักไม้กางเขน แห่งพระเยซูคริสต์ (Amateurs de La Croix de Jesus Christ) แผนนี้ได้รับการปฏิบัติเฉพาะบางส่วนเท่านั้นคือ มีการก่อตั้งคณะนักบวช หญิงพื้นเมืองคณะแรกของโลกขึ้น คือ คณะรักไม้กางเขน ผลของคณะนี้เรายังคงสามารถเห็นได้จากคณะนักบวชพื้นเมืองของคณะต่างๆ ในประ เทศไทย
2. ตัดสินใจที่จะจัดพิมพ์คำสั่งสอนที่สมณกระทรวงโปรปากันดา ฟีเด ได้จัดส่งให้แก่บรรดาผู้แทนพระสันตะปาปาเหล่านี้ ก่อนที่จะออกเดินทาง โดยเฉพาะคำสั่งที่ออกมาในปี ค.ศ.1659 ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักศึกษา นอกจากนี้ยังออกคำสั่งสอนแก่บรรดา มิชชันนารี อีกหลายฉบับด้วย
3. ตกลงใจที่จะก่อตั้งบ้านเณร เพื่อผลิตพระสงฆ์พื้นเมืองอันเป็นเป้าหมายแรกที่พวกท่านมาที่นี่ การทำงานในประเทศสยามตามโครงการต่างๆ เหล่านี้ ประสบผลเป็นอย่างดีด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นของพระเจ้าแผ่นดินและข้าราชการสยาม ประกอบกับประเทศสยามอยู่ในทำเลที่เหมาะสม ความเจริญทางด้านศาสนาก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พระสังฆราชปัลลือ และพระสังฆราชลังแบร์ตเห็นว่าหากพวกท่านไม่สามารถมีอำนาจปกครองดูแลท้องถิ่นนี้อย่างเป็นทางการแล้ว (Jurisdiction) ปัญหาการไม่ยอมรับอำนาจการปกครองนี้ ก็จะเกิดขึ้นกับบรรดามิชชันนารีที่ขึ้นต่อสิทธิพิเศษของประเทศโปรตุเกสและประเทศสเปน พวกท่านจึงได้ขออำนาจจากทางกรุงโรมให้มีอำนาจการปกครองเหนือประเทศสยาม หลังจากที่กรุงโรมได้พิจารณาเรื่องนี้อยู่นานด้วยความรอบคอบ กรุงโรมก็ได้ตั้งมิสซังสยามขึ้นด้วยเอกสารทางการที่ชื่อว่า "Speculatores" ของวัน ที่ 13 กันยายน ค.ศ.1669 ผู้แทนพระสันตะปาปา ผู้ทำหน้าที่ดูแลมิสซังใหม่นี้ ได้แก่ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโนได้รับการแต่งตั้งและอภิเษกเป็นพระสังฆราชโดย พระสังฆราชทั้งสองข้างต้นนั้นในวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ.1674 พระสังฆราชลาโน จึงเป็นพระสังฆราชองค์แรกของมิสซังสยาม
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
มิสซังสยามเจริญก้าวหน้าขึ้นมาก ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ค.ศ.1657-1688) พระองค์ทรงเปิดประเทศให้แก่ชาวตะวันตกและให้อิสรภาพในการเผยแพร่ศาสนาแก่บรรดามิชชันนารี ทั้งนี้เพราะเป็นนโยบายทางการเมืองที่จะเหนี่ยวรั้งอิทธิพลของชาติต่างๆ ที่อยู่ในประเทศสยามเวลานั้นด้วย งานสำคัญๆ ที่พวกมิชชันนารีฝรั่งเศสเหล่านี้ได้ทำ เช่น ก่อตั้งบ้านเณรหรือวิทยาลัยกลางขึ้นในปี ค.ศ.1665 ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการองค์แรกของวิทยาลัย คือ คุณพ่อลาโน ซึ่งพระสังฆราชลังแบรต์กล่าวถึงคุณพ่อลาโนว่า "คนน่านิยมยกย่องที่สุดคนหนึ่งที่ข้าพเจ้ารู้จัก"บ้านเณรแห่งนี้ได้เจริญเติบโตขึ้นแม้จะมีการย้ายสถานที่อยู่หลายครั้ง จนในที่สุดไปอยู่ที่ปีนัง แต่ก็นับว่าเป็นผลงานที่มีคุณค่าที่สุดเป็นเสมือนหัวใจของงานแพร่ธรรมก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้งโรงพยาบาลขึ้นในปี ค.ศ.1669 การแพร่ธรรมได้ขยายไปตามสถานที่และเมืองต่างๆ เช่น ที่อยุธยา ละโว้ พิษณุโลก บางกอก ตะนาวศรี เกาะถลาง (ภูเก็ต) และตะกั่วทุ่ง เป็นต้น ได้มีกลุ่มคริสตชนใหม่ๆ เกิดขึ้น มีการสร้างโบสถ์อย่างสวยงามตามที่ต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว จำนวนผู้ได้รับศีลล้างบาปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากการสอนคำสอนแล้ว บรรดามิชชันนารียังต้องทำหน้าที่เป็นครูสอนให้คริสตังใหม่เหล่านั้นอ่านและเขียนภาษาไทยและภาษาลาติน
สมเด็จพระนารายณ์ให้การสนับสนุนพวกมิชชันนารีมาก ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระสังฆราชและมิชชันนารีเข้าเฝ้าอย่างสง่า ได้พระราชทานที่ดินสำหรับสร้างวัดและโรงเรียน และยังได้พระราชทานวัตถุต่างๆ เพื่อใช้ในการก่อสร้างด้วย ในที่สุดประเทศสยามได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศฝรั่งเศสและกรุงโรม มีการส่งคณะทูตอันเชิญพระราชสาสน์ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส และสมเด็จพระสันตะปาปาหลายครั้งการ ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีพระทัยเมตตาต่อบรรดามิชชันนารีนี้ ทำให้เกิดมีความเข้าใจผิดขึ้น ประกอบกับขุนนางไทยเริ่มหวั่นเกรงว่าอิทธิพลของขุนนางชาวกรีก คนหนึ่งที่ชื่อคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantine phalcon) ซึ่งเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มากจนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ มีอำนาจแม้กระทั่งควบคุมทหารได้ จะทำให้ความมั่นคงของประเทศสั่นคลอน พระเพทราชาจึงทำรัฐประหารขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ ขับไล่พวกฝรั่งเศสออกจากประเทศ รวมทั้งได้มีความขัดแย้งทางศาสนากับชาวฝรั่งเศสนั่นคือขัดแย้งกับพวกมิชชันนารี และผู้ที่ถือคริสตศาสนา เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นระหว่างปีค.ศ.1688-1690 หลังจากนี้ไม่นาน เมื่อพระเพทราชาเห็นว่าทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ก็คืนสมบัติต่างๆ และคืนบ้านเณรให้แก่บรรดามิชชันนารีอีกครั้งหนึ่งเหตุการณ์ต่อมาที่ทำให้การแพร่ธรรมของพวกมิชชันนารีประสบปัญหาอีกครั้งหนึ่งเกิดในสมัยของพระเจ้าท้ายสระ (1709-1733) พระสังฆราชและบรรดามิชชันนารีถูกห้ามไม่ให้ออกนอกพระนคร ห้ามใช้ภาษาไทยและบาลีในการสอนศาสนา ข้อห้ามต่างๆ เหล่านี้ถูกจารึกลงในแผ่นศิลา และตั้งไว้ที่หน้าวัดนักบุญยอแซฟ ที่อยุธยา หลักฐานบางชิ้นยังชี้ให้เห็นว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นในระหว่างปลายปี ค.ศ.1743 และต้นๆ ปี ค.ศ.1744 ด้วย จนมาถึงปี ค.ศ.1767 ทหารพม่าบุกเข้าทำลายกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองพระสังฆราชบรีโกต์ถูกจับและถูกนำตัวไปประเทศพม่า วัดนักบุญยอแซฟถูกเผา และบ้านเณรถูกปล้น พวกคริสตังบางคนถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย ส่วนพวกที่หนีเอาตัวรอดได้ก็หนีกระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ บางกลุ่มก็หนีลงมาบางกอก การแพร่ธรรมต้องหยุดชะงักโดยสิ้นเชิง สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อคริสตศาสนาจนทำให้การเผยแพร่พระวรสารเกือบสิ้นสุดไป หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตาก สินทรงกอบกู้เอกราชคืนมาได้ในปี ค.ศ.1768 และทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแล้ว ในระหว่างนี้มิสซังสยามค่อยฟื้นตัวขึ้นบ้าง คุณพ่อกอรร์ (Corre) ซึ่งได้ลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศเขมร ได้เดินทางกลับเข้ามาในประเทศไทย และรวบรวมคริสตังที่บางกอกซึ่งมีจำนวนถึง 400 คน ให้มาอยู่รวมกันสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงพระราชทานที่ดินแปลงหนึ่งสำหรับสร้างโบสถ์ คุณพ่อกอรร์ได้ตั้งชื่อว่า "วัดซางตาครู้ส" งานเผยแพร่ พระวรสารได้เริ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง จำนวนคนกลับใจและรับศีลล้างบาปได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆส่วนใหญ่เป็นชาวจีน พระสังฆราชกูเดได้บันทึกไว้ว่า "ที่นี่ (วัดซางตาครู้ส) มีคนจีนมาก ดูเหมือนจะสอนคนจีนให้กลับใจได้ง่ายกว่าคนไทย พระเจ้าแผ่นดินจะไม่ทรงห้ามเขาเป็นคริสตัง และเขาก็เป็นเหมือนคนต่างด้าว มิชชันนารีที่รู้จักภาษาจีน จะทำประโยชน์ในเมืองไทยได้มาก"