-
Category: ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกับชาวฝรั่งเศสในประเทศไทย
-
Published on Monday, 19 October 2015 07:19
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2265
สาเหตุของความขัดแย้งทางศาสนาคือ พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาสมัยพระเจ้าตากสิน ซึ่งเป็นประเพณีโบราณของสยามและเป็นกฎหมายพื้นฐานข้อหนึ่ง ข้าราชการทุกคนที่รับราชการอยู่ในพระราชอาณาจักรต้องไปที่วัดพุทธในวันที่กำหนดไว้ มีพราหมณ์หรือพระภิกษุทำน้ำมนต์ โดยอ่านโองการแช่งน้ำ แล้วจุ่มพระราชศาสตราวุธของพระเจ้าแผ่นดินลงไป ข้าราชการต้องสาบานว่าจะถือซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแผ่นดินต่อหน้าพระพุทธรูป แล้วดื่มน้ำมนต์ ซึ่งถือว่าจะบันดาลให้ตาย ถ้าคิดทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชการคริสตังเข้าร่วมพิธีนี้และดื่มน้ำมนต์หรือทำเป็นดื่มน้ำมนต์นี้เสมอมา พวกเขาจะถูกจดชื่อรวมอยู่ในรายชื่อผู้มาร่วมพิธี
เมื่อพระสังฆราชเลอ บ็อง ทราบความหมายและเงื่อนไขของพิธีนี้ ท่านจึงแจ้งให้ทราบว่าไม่อนุญาตให้คริสตังไปดื่มหรือทำเป็นน้ำมนต์ในพิธีที่จะจัดขึ้นใน พ.ศ.2318/ค.ศ.1775 ตั้งแต่เดือนมีนาคมของปีดังกล่าว เป็นต้นมา ท่านเขียนหนังสือกราบทูลพระเจ้าตากสินว่า คริสตังไม่สามารถไปร่วมพิธีนี้ได้ และเสนอขอให้คริสตังทำพิธีสาบานตนตามจารีตของศาสนาคริสต์ แต่ไม่มีข้าราชการคนใดหรือเจ้าพระยาพระคลังกล้านำข้อเสนอนี้กราบทูลให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบ
พิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาจัดขึ้นในเดือนกันยายนของทุกปี โดยในวันทำพิธี พระสังฆราชเลอ บ็อง ให้ข้าราชการคริสตัง 3 คน เอามือวางบนหนังสือพระวรสารต่อหน้าคริสตังทุกคนที่มาอยู่รวมกัน วันรุ่งขึ้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงทราบเรื่องนี้ จึงมีรับสั่งให้จำคุกข้าราชการทั้งสามพระสังฆราชเลอ บ็อง และพระสงฆ์ 2 องค์ ถูกเชิญเข้าเฝ้าและถูกจำคุกรวมกับข้าราชการทั้งสามพวกท่านถูกจับถอดเสื้อผ้า และถูกเฆี่ยนด้วยหวายคนละร้อยที่ต่อหน้าพระที่นั่ง
พระสังฆราชเลอ บ็อง ไม่เปลี่ยนความคิดเรื่องการปฏิบัติตามพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอย่างเป็นทางการ ทุกคนจึงถูกใส่ขื่อคา ถูกล่ามโซ่ที่มือและเท้า (ด้วยเครื่องจองจำทั้งห้า) ต่อมาได้แยกมิชชันนารีออกจากข้าราชการ ในที่สุด ข้าราชการคริสตังยอมดื่มน้ำมนต์ที่วัดพุทธ จึงถูกปล่อยตัวไป พระเจ้าแผ่นดินทรงบังคับให้คริสตังคนอื่นดื่มน้ำนี้ด้วย ในจำนวนคริสตัง 80 คน มีคริสตัง 79 คน ที่ยอมดื่มน้ำนี้ ส่วนมิชชันนารีถูกจำคุกจนถึงวันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2319/ค.ศ.1776 ซึ่งหมายถึงเป็นเวลาเกือบหนึ่งปี
การที่มิชชันนารีมีความรู้เรื่องศาสนาพุทธไม่ดีพอ เป็นสาเหตุให้เกิดการเข้าใจผิดและทำให้พวกท่านต้องถูกขับไล่ออกนอกประเทศสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเป็นพุทธมามกะที่ศรัทธาตั้งแต่ต้นรัชกาล ทรงฟื้นฟูพุทธศาสนาที่ทรุดโทรม และมีพระบรมราชโองการให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามมากมาย ทรงให้พระภิกษุที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมโดยเฉพาะในภาคเหนือลาสิกขาบทใน พ.ศ.2312/ค.ศ.1769 เมื่อปราบชุมนุมทางใต้สำเร็จพระองค์โปรดให้อัญเชิญพระไตรปิฎกจากวัดพระศรีมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช มาไว้ที่กรุงธนบุรีเพื่อคัดลอก และมีพิธีอัญเชิญอย่างสง่างาม บางเวลาพระองค์ทรงติดพันอยู่กับการทำสงครามทำให้มีเวลามาสนพระทัยเรื่องศาสนาน้อยลง ตั้งแต่ พ.ศ.2319/ค.ศ.1776 เป็นต้นมา พระองค์ทรงสนพระทัยแต่เรื่องนั่งสมาธิ
หลังจากพระสังฆราชเลอ บ็อง และมิชชันนารี 2 องค์ ถูกปล่อยตัวออกจากคุกได้ 3 สัปดาห์สมเด็จพระเจ้าตากสินมีรับสั่งให้เชิญพระสังฆราชและคุณพ่อทั้งสองเข้าเฝ้า พระองค์ทรงสนทนากับพวกท่านอย่างเป็นมิตร บางทีมิชชันนารีอาจเข้าใจผิดในพระราชดำรัสของพระเจ้าแผ่นดิน เมื่อทรงยืนยันว่า พระองค์ทรงเหาะขึ้นไปในอากาศได้ พระสังฆราชเลอ บ็อง รายงานว่า “เพื่อการนี้พระองค์ทรงฝึกวิปัสสนาในวัด และในพระราชวังเป็นเวลาสองปีแล้ว นั่นหมายความว่าพระองค์ไม่ใช่คนของโลกนี้อีกต่อไป” สมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระราชประสงค์จะทำให้ผู้ที่สนทนากับพระองค์เข้าใจง่ายโดยอ้างบารมีทางศาสนา พระองค์ทรงสำแดง “อภินิหาร” อันเป็นผลมาจากการนั่งวิปัสสนา ดังนั้น พระองค์จึงทรงเป็นผู้นำองค์กรคณะสงฆ์และทรงปราบปรามเทพารักษ์ที่ละเมิด ไม่คอยกำราบภูตผีปีศาจที่จะมาทำอันตรายบ้านเมือง แต่มิชชันนารีไม่เชื่อคำยืนยันของพระองค์ ทำให้พระองค์ไม่พอพระทัยเป็นอย่างมาก
ใน พ.ศ. 2321/ค.ศ. 1778 ตามที่คุณพ่อกูเดรายงานไว้ “พระเจ้าแผ่นดินทรงงานอย่างคร่ำเคร่งเพื่อประมวลข้อเชื่อถือนอกรีตของชาวสยามขึ้นใหม่ (อาจเป็นพระราชกำหนด พ.ศ. 2316/ค.ศ.1773 ก็เป็นได้) หลังจากทรงแต่งประมวลข้อเชื่อถือนี้เสร็จ พระองค์มีพระราชประสงค์จะฉลอง ด้วยขบวนแห่ทางชลมารคอย่างสง่า” พระสังฆราชเลอ บ็อง ไม่อนุญาตให้คริสตังไปร่วมการฉลองครั้งนี้ เรื่องนี้จึงเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งครั้งใหม่กับพระเจ้าแผ่นดิน ผู้ทรงพระพิโรธเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม พระองค์มิได้ทรงลงพระอาญาผู้ใด ต่อมาไม่นาน พระองค์ทรงจัดให้มีขบวนพระไตรปิฎกกลับไปเมืองนครศรีธรรมราชอย่างสง่า หลังจากคัดลอกเก็บไว้ที่วัดบางยี่เรือกรุงธนบุรีแล้วหนึ่งฉบับ พระไตรปิฎกซึ่งเคยเก็บรักษาไว้ที่กรุงศรีอยุธยาสูญหายไปเมื่อเมืองหลวง ถูกทำลาย ในพ.ศ. 2310 / ค.ศ.1767 ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์จะจัดทำหนังสือธรรมะทางพุทธศาสนาฉบับสมบูรณ์ขึ้นใหม่
ระหว่างนั้นมิชชันนารีพบสนามงานใหม่ในการประกาศพระวรสาร คือกลุ่มคนลาว 3,000 คนที่ถูกกวาดต้อนมาบางกอก อันที่จริง เมื่อครั้งยกกองทัพไปตีลาว ในพ.ศ. 2321/ค.ศ.1778 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงกวาดต้อนคนลาวมาจำนวนมาก หลายคนล้มตายระหว่างเดินทาง เพราะหมดเรี่ยวแรง ส่วนคนที่รอดชีวิตถูกนำมาอยู่รวมกันในค่ายแห่งหนึ่งใกล้เมืองหลวง มิชชันนารีไปเยี่ยมคนที่ถูกกวาดต้อนมานี้ พวกท่านรู้สึกเมตตาพวกเขา “เพราะมีนิสัยอ่อนโยน” และโปรดศีลล้างบาปให้เด็กใกล้ตายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งประกาศพระวรสารให้คนเหล่านี้ มีคนรับศีลล้างบาป 80 คน
ต่อมาคนที่ถูกกวาดต้อนมาถูกแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คุณพ่อกูเดซึ่งรับผิดชอบดูแลพวกเขาอยู่ ไม่สามารถดูแลได้หมด จึงเรียกครูคำสอนสองคนมาช่วย มีหญิงคริสตัง 2-3 คนที่ “ศรัทธาและฉลาด” อาสามาช่วยประกาศพระวรสารให้ผู้หญิง ทุกอย่างกำลังดำเนินไปด้วยดีเมื่องานเผยแพร่ศาสนาพบอุปสรรค คนลาวจำนวนหนึ่งเห็นว่าการใช้ชีวิตอยู่ในค่ายลำบากเกินไปจึงพยายามหลบหนี พระเจ้าแผ่นดินทรงจับบางคนคุมขังคุก และบางคนถูกยกให้เป็นทางของข้าราชการ ดังนั้น คนที่ถูกกวาดต้อนมานี้จึงกระจัดกระจายไปทั่ว มิชชันนารีพบพวกเขาเพียงกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น ส่วนคุณพ่อการ์โนลต์ ทำงานกับพวกโคชินจีนโดนเฉพาะเพราะรู้ภาษาของพวกเขา
หลังจากเรื่องต่างๆ สงบไประยะหนึ่ง เกิดสัญญาณอันตรายขึ้นอีกเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2322 /ค.ศ.1779 พระเจ้าแผ่นดินไม่ทรงจ่ายเงินเดือนให้ทหารคริสตังโดยอ้างว่าพวกเขาไม่มาร่วมพิธีทางศาสนาที่พระองค์ทรงจัดขึ้น พระองค์ทรงพระพิโรธเมื่อทราบว่าพระสังฆราชเลอ บ็อง และมิชชันนารีห้ามคริสตังเข้าร่วมพิธีนี้ จึงทรงขับไล่มิชชันนารี 3 องค์ ที่อยู่ในสยามออกไปนอกประเทศ เจ้าพระยาพระคลังซึ่งเป็นมุสลิมเป็นผู้ดำเนินการทุกอย่างเพื่อทำให้พระเจ้าแผ่นดินไม่พอพระทัยคริสตัง คนจีนที่ไปติดต่อไม่รับมิชชันนารีลงเรือ ในที่สุด พระเจ้าแผ่นดินทรงจัดให้มิชชันนารีลงเรือของแขกมัวร์และเดินทางไปเมืองสุหรัต วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2322/ค.ศ.1779 ด้วยเหตุผลที่ว่า “มิชชันนารีห้ามคริสตังเข้าร่วมพิธีทางศาสนาของสยาม” พระสังฆราชเลอ บ็อง ซึ่งป่วยเรื่อยมาหลังจากถูกทรมานในคุก ตัดสินใจกลับไปฝรั่งเศส ท่านมรณภาพที่เมืองกัว ประเทศอินเดีย ขณะเดินทางกลับวันที่ 27 ตุลาคม คุณพ่อกูเดและคุณพ่อการ์โนลต์เดินทางไปถึงเมืองปอนเชอพร้อมกับตั้งใจว่าจะกลับไปที่เกาะถลาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมิสซังสยาม ที่นั่นพวกท่านจะรอคอยโอกาสดีๆ เพื่อกลับมาเมืองหลวงอีก.