-
Category: ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกับชาวฝรั่งเศสในประเทศไทย
-
Published on Monday, 19 October 2015 07:19
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2846
จากระบอบประชาธิปไตยสู่ระบอบเผด็จการ
การปฏิวัติ วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475/ค.ศ.1932 เป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนในประเทศสยามไม่คาดคิดมาก่อน เป็นการกระทำของคนส่วนน้อย วันที่ 27 มิถุนายน พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงยอมรับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งทำให้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องสิ้นสุดลง พระองค์ทรงมอบอำนาจฝ่ายบริหารให้ “คณะผู้ปกครอง” ที่มาจาก “คณะราษฎร” คือผู้ก่อการปฏิวัติทั้ง 53 คน รัฐมนตรีมีหน้าที่รายงานให้ท่านเหล่านี้ทราบ ส่วนอำนาจทางนิติบัญญัติ มอบให้ “สภาสูง” ซึ่งมีสมาชิก 70 คน ทุกคนได้รับแต่งตั้งจาก “คณะราษฏร”
สมัยนั้น ประชากรของประเทศสยามมีประมาณ 13,087,000 คน มีคนจีน 1,592,000 คน หรือ 12.2% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ประชาชนชาวสยามไม่มีปฏิกิริยาต่อการปฏิวัติครั้งนี้แต่อย่างใด ปัญญาชนที่ทำการปฏิวัติครั้งนี้คือ นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีแนวความคิดในการปฏิวัติแบบสังคมนิยม ส่วนนายทหารที่ทำการปฏิวัติเป็นพวกนักอนุรักษ์นิยม เพราะทหารเหล่านี้เองพระเจ้าอยู่หัวจึงไม่ทรงถูกปลดออกจากตำแหน่ง ทหารจะค่อยๆ ควบคุมการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ พระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475/ค.ศ.1932
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 / ค.ศ. 1933 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ทำการปฏิวัติครั้งใหม่ ท่านนำนายทหารเข้ามาในคณะรัฐบาล โดยเฉพาะพระยาพหลพลพยุหเสนา และ หลวงพิบูลสงคราม การปฏิวัติครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์สังคมนิยม นายปรีดีต้องถูกเนรเทศออกนอกประเทศ พระเจ้าอยู่หัวซึ่งถูกสงสัยว่าสนับสนุนการปฏิวัติที่ล้มเหลว เสด็จออกจากประเทศสยามไป พ.ศ. 2477 /ค.ศ. 1934 โดยอ้างเหตุผลเรื่องสุขภาพ และทรงสละราชสมบัติในประเทศอังกฤษผู้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์ คือ เจ้าฟ้าอนันทมหิดล มีพระชนมายุ 10 พรรษา และทรงกำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ การมีผู้สำเร็จราชการแทนทำให้การดำเนินงานของทหารในรัฐบาลง่ายขึ้น จอมพลป.พิบูลสงคราม ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2479 /ค.ศ.1936 ท่านทำให้ทหารได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นายปรีดีได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ท่านจัดระเบียบการบริหารราชการส่วนจังหวัดใหม่ตามระบอบประชาธิปไตย เพื่อต้องการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ พ.ศ. 2480/ค.ศ.1937 ท่านจึงก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่สอนวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในพ.ศ. 2481/ค.ศ.1938 พระยาพหลพลพยุหเสนา ขอลาออกจากคณะรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งแทน การโฆษณาชวนเชื่อยกย่องบทบาทของกองทัพและเผยแพร่แนวความคิดเรื่อง “พันธุ์ไทย” ที่ก่อตั้งโดยหลวงวิจิตรวาทการ นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง แนวความคิดนี้มุ่งจะรวบรวมคนเชื้อชาติไทยทุกคน (รวมทั้งพวกฉานที่อยู่ในพม่า ชาวไทยกลุ่มน้อยที่อยู่ในจีนและชาวลาว) ให้ผนวกเข้ากับประเทศสยาม พ.ศ. 2482 /ค.ศ.1939 มีมติให้ใช้ชื่อประเทศไทยซึ่งหมายถึง “ประเทศของคนไทย” แทนคำว่าสยาม ลักษณะพิเศษของระบอบการปกครองนี้คือลัทธิเผ่าพันธุ์ ลัทธิทหาร และลัทธิเผด็จการ สมัยก่อนมิสซังคาทอลิกมีความสัมพันธ์กับราชสำนักอยู่บ้าง แต่ตั้งแต่เกิดการปฏิวัติ ความสัมพันธ์ระหว่างพระศาสนจักรกับรัฐแทบไม่มีเลย.