-
Category: ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกับชาวฝรั่งเศสในประเทศไทย
-
Published on Monday, 19 October 2015 07:19
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2456
ในจดหมายที่เขียนติดต่อกันของมิชชันนารีสมัยนั้น ไม่ค่อยสะท้อนให้เห็นถึงเหตุการณ์เหล่านี้ ไม่ใช่มิชชันนารีไม่รู้เรื่องอะไร แต่พวกท่านไม่ค่อยกล่าวถึงเพราะต้องยุ่งอยู่กับหน้าที่สงฆ์มากกว่า ในบทก่อนๆ เราได้เห็นแล้วว่าพระศาสนาจักรทุ่มเทให้กับงานด้านโรงเรียนอย่างจริงจังเพราะเป็นสนามงานใหม่ในการเผยแพร่ศาสนา ในรายงานประจำปีของพระสังฆราช เรอเนอ ยอแซฟ แปร์รอส ท่านเน้นให้เห็นว่าโรงเรียนมีอิทธิพลอย่างมากต่อการกลับใจของคนพุทธ และการปลุกกระแสเรียกการเป็นพระสงฆ์และนักบวชให้เกิดขึ้น
ในพ.ศ. 2482/ค.ศ.1939 ที่เวียงจันทร์ คุณพ่อทีโบด์พูดอย่างองอาจถึง “นโยบายคุกคามและโจมตีลัทธิคนต่างศาสนา” ด้วยการเพิ่มศูนย์การศึกษาหลายแห่งซึ่งได้รับประโยชน์เนื่องจากสภาวะแวดล้อมเอื้ออำนวยอย่างมาก เช่น พ.ศ. 2479/ ค.ศ.1936 คุณพ่อเมอนีเยร์ ซึ่งอยู่ที่เชียงใหม่ พูดถึงเด็กชายชาวพุทธ 2 คน เมื่อจบชั้นมัธยมแล้วขอเข้าเป็นคริสตัง หลังจากนั้นได้เข้าบ้านเณร และเด็กหญิงคนหนึ่งที่ต้องรอถึง 5 ปี กว่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นคริสตังจากมารดาซึ่งศรัทธา ในศาสนาพุทธ เธอได้รับศีลล้างบาปเมื่อเรียนจบการศึกษา หลังจากนั้นได้เข้าอารามคาร์แมลด้วยตัวอย่างเหล่านี้ คุณพ่อต้องการแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของบราเดอร์ และภคินีที่มีต่อนักเรียนภคินีคณะอูร์สุลินที่เชียงใหม่ พูดถึงเด็กหญิงบางคนที่รอการอนุญาตให้เข้าเป็นคริสตังจากพ่อแม่ และสวดภาวนาขอให้พ่อแม่ของตนกลับใจเป็นคริสตัง
กำลังมีการเปิดโรงเรียนในทุกชุมชนคริสตัง คุณพ่อแปรูดงรู้สึกภาคภูมิใจที่เปิดโรงเรียนแห่งหนึ่งสำหรับเด็กยากจน พ.ศ. 2478 /ค.ศ.1935 ท่านบอกว่า “ถ้าเราไม่มีโรงเรียนที่เรียนฟรีสำหรับเด็กยากจน เราจะไม่มีโอกาสอบรมเขาในลักษณะคริสตังได้เลย” ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีนโยบายจะเปิดโรงเรียนเช่นกัน มีการอบรมฆราวาสให้เป็นครูคำสอนและเป็นครูสอนเรียนโดยเร็วที่สุด แต่ขาดปัจจัยการเงินทำให้โครงการต่างๆ ต้องหยุดชะงักบ่อยๆ เพราะค่าใช้จ่ายของโรงเรียนเหล่านี้เป็นภาระหนักมาก มิชชันนารีที่มีญาติพี่น้องอยู่ต่างประเทศจึงพยายามหาเงินด้วยตนเองเพื่อแบ่งเบาภาระการเงินของมิสซัง
สมัยก่อนมิชชันนารีต้องเดินทางอยู่เสมอเพื่อเผยแพร่ศาสนา แต่เวลานี้มีการพูดถึงการทำงานอย่างจริงจังโดยให้พระสงฆ์อยู่ประจำวัด ส่วนคริสตังช่วยเผยแพร่ศาสนาให้เพื่อนบ้าน พ่อแม่ เพื่อนฝูง แต่ได้รับผลค่อนข้างน้อย คนต่างศาสนามาฟังและซักถามเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ยินพวกเขาขอให้คริสตังท่องบทสวดให้ฟัง และบอกว่าจะไปคิดดูก่อนซึ่งเป็นวิธีตอบอย่างสุภาพเพื่อจะบอกว่าพวกเขาไม่สนใจ
มีการพูดถึงกิจการคาทอลิกมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวทางของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 และตั้งกลุ่มต่างๆ ทั่วทุกแห่ง มีการประชุมกันและเชิญชวนสมาชิกให้อ่านหนังสือ “สารสาสน์” กิจการคาทอลิกมีหลายอย่าง ได้แก่ การตักเตือนคนที่ออกนอกลู่นอกทางให้กลับมาสู่แนวทางที่ถูก การเชิญชวนคนที่แต่งงานไม่ถูกต้องให้จัดการให้เรียบร้อย การเผยแผ่ศาสนาด้วยแบบอย่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตกลุ่ม แต่พระสงฆ์ไม่กล้าส่งคริสตังไปหาคนต่างศาสนา อาจเป็นเพราะคิดว่าพวกเขายังได้รับการอบรมสั่งสอนแบบคริสตังไม่เพียงพอ
อารามทุกแห่งในสยาม มีภคินีเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ภคินีหลายคนทำหน้าที่สอนเรียนในโรงเรียนคาทอลิกของหมู่บ้าน อย่างไรก็ตาม ภคินีที่อุบล (อารามใหม่สร้างเสร็จเดือนตุลาคม พ.ศ. 2475/ค.ศ.1932) ถูกส่งไปเป็นมิชชันนารีแบบจาริก เกี่ยวกับเรื่องนี้ อธิการิณีขอให้ครูเซียงทัน ซึ่งเป็นครูสอนบ้านซ่งแย้ติดตามภคินีไป “ประกาศศาสนาและล้างบาป” ตามที่ต่างๆ ภคินีจะเดินทางไปตามหมู่บ้านคนต่างศาสนา ล้างบาปหรือผู้ใหญ่ใกล้ตาย แต่การทำเช่นนั้นเป็นการขัดกับประเพณีท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องทำให้ถูกกาลเทศะและจริงจัง ภคินีที่ไปทำหน้าที่ต้องเป็นคนมีอายุและเป็นผู้ใหญ่แล้ว
คริสต์ศาสนาเจริญก้าวหน้าในบางภาคของมิสซัง เช่น ทางภาคใต้ของลาว พ.ศ. 2478/ค.ศ.1935 ชาวบ้านที่นั่นรู้สึกเสียในเมื่อคุณพ่อยังเตนักแพร่ธรรมผู้ยิ่งใหญ่มรณภาพ ท่านถูกส่งไปอยู่ที่ปากเซเมื่อประมาณปลาย พ.ศ. 2462 /ค.ศ.1919 เพื่อก่อตั้งชุมชนคริสตังที่นั่นและสร้างวัด ปีที่ท่านมรณภาพชุมชนแห่งนี้มีคริสตัง 789 คน และผู้เรียนคำสอน 50 คน นอกจากนี้ ท่านยังก่อตั้งชุมชนคริสตังเผ่าข่าถึง 8 แห่ง คุณพ่อเดซาวาลมารับงานเผยแพร่ศาสนากับเผ่าข่าต่อจากท่าน พวกข่าขอเข้าเป็นคริสตัง พวกเขาเป็นคนง่ายๆ มีความนบนอบเชื่อฟัง แต่ไม่มีความคิดริเริ่ม ตามที่กล่าวมาแล้ว ปัญหามาจากผู้หญิงที่ไม่เข้าใจภาษาลาว ไม่มีถนนหนทางเข้าหมู่บ้าน ทำให้การคมนาคมติดต่อเป็นไปด้วยความลำบาก ธรรมทูตพยายามป้องกันพวกเขาจากผลเสียของความเจริญและรักษาความเรียบง่ายของพวกเขาไว้
ที่เชียงใหม่ซึ่งทางภาคเหนือของประเทศ มีชุมชนคริสตังใหม่เกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น ที่เวียงป่าเป้า เมืองพาน เมืองแพร่ คุณพ่อมิราแบลผู้ก่อตั้งมิสซังเดินทางออกจากประเทศสยามไป พ.ศ. 2478/ค.ศ.1935 เพื่อเข้าคณะชาร์เตริชในประเทศอิตาลี คุณพ่อเมอนีเยร์ผู้ร่วมงานของท่านมารับหน้าที่ต่อ โดยมีผู้ช่วย คือ คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง (บุญราศี) คุณพ่ออาทานาสย้อ ดีสุดจิต และคุณพ่อมีแชล มงคล (อ่อน) ประคองจิต ซึ่งเป็นพระสงฆ์พื้นเมืองทั้งสามองค์ พ.ศ. 2478/ ค.ศ.1935 มิสซังมีคริสตัง 560 คนแล้ว
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ ถึงแม้คุณพ่อมิราแบลเคยสัญญาไว้ว่าจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับชุมชนโปรเตสแตนท์ แต่มีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น คือ มีโปรเตสแตนท์หลายกลุ่มมาขอเข้าเป็นคาทอลิก เช่น แม่ริมซึ่งอยู่ห่างจากเชียงใหม่ไปทางเหนือราว 18 กิโลเมตร วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 / ค.ศ. 1933 โปรเตสแตนท์ทุกครอบครัวจากหมู่บ้านแห่งนี้ขอเข้าเป็นคาทอลิก ในวันนั้นมีโปรเตสแตนท์รับโปรดศีลล้างบาป 29 คน ในจำนวนนี้มีผู้ใหญ่ 10 คน มีชาวบ้านที่เชียงดาวซึ่งเคยเป็นโปรเตสแตนท์ขอเข้าเป็นคาทอลิก คุณพ่อวินเซนเต วรงค์ (ว่าว) สุขพัฒน์ เป็นผู้ประกาศพระวรสารให้พวกเขา เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไม่ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างคาทอลิกกับโปรเตสแตนท์เป็นไปในทางที่ดีเลย
ในชุมชนคริสตังเก่าหลายแห่ง จำนวนคริสตังเพิ่มขึ้นตามจำนวนคนเกิดใหม่ ผู้ใหญ่ที่ได้รับศีลล้างบาปมีจำนวนไม่มากนัก มีประมาณ 200 - 400 คนต่อปี ในแต่ละวัดแต่ละมิสซัง พระสงฆ์บางองค์ตั้งข้อสังเกตว่าการโปรดศีลล้างบาปให้ผู้ใหญ่ 4-5 คน ต้องใช้เวลาสอนคำสอนนาน 300 - 500 ชั่วโมง บ่อยครั้งมีคนมาเรียนคำสอนทีละคนและจำเป็นต้องสอนเมื่อพวกเขาว่าง บางคนอ่านหนังสือไม่ออก ดังนั้น การสอนคำสอนจึงต้องใช้เวลานาน
ในรายงานที่เขียนอย่างยืดยาวถึงพระสังฆราชแปร์รอส คุณพ่อนิโคลาสได้อธิบายสภาพของคริสตังในภาคเหนือว่า “คริสตังส่วนมากยากจน ด้วยเหตุนี้ จึงกระจัดกระจายอันอยู่ตามที่ต่างๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพ เมื่ออยู่ห่างวัด พวกเขาจึงขาดโอกาสที่จะรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั้งยังไม่ได้ฟังเทศน์และไม่ได้เรียนคำสอน พวกเขากลายเป็นคนเฉื่อยชาไปอย่างน่าเศร้าใจ เมื่อหญิงสาวไม่มีโอกาสแต่งงานกับหนุ่มคริสตัง จึงไปอยู่กันกับคนต่างศาสนา เมื่อตกอยู่ในบาปเช่นนี้ พวกเธอจึงละอายไม่กล้ามาวัดสวดภาวนาหรือร่วมมิสซา ลูกๆ ไม่ได้รับศีลล้างบาปและถูกเลี้ยงดูอย่างลูกคนต่างศาสนา คนที่อยู่กินกันอย่างไม่ถูกต้องเหล่านี้ กลับใจยากมากเพราะฝ่ายคนต่างศาสนาไม่ยอมมาเรียนคำสอน บางครั้งคาทอลิกกลับเป็นอุปสรรคเสียเอง ที่จริงเป็นเพราะพวกเขาไม่สวดภาวนา วิญญาณของพวกเขาจึงไม่ได้รับพระหรรษทานที่พระเป็นเจ้าทรงประทานแก่ผู้วอนขอด้วยความไว้วางใจ ข้าพเจ้ามีผู้เตรียมตัวรับศีลล้างบาปหลายคนซึ่งเรียนคำสอนมานานแล้วแต่ยังไม่กล้าโปรดศีลล้างบาปให้เพราะยังไม่ได้รับการอบรมอย่างเพียงพอ”
รายงานฉบับนี้ไม่เพียงแค่สรุปสภาพชุมชนคริสตังในภาคเหนือให้ทราบเท่านั้น แต่ยังบอกให้ทราบถึงสภาพชุมชนคริสตังในสยามสมัยนั้นด้วยว่า คริสตังยังอ่อนแออยู่มาก พ.ศ. 2479/ค.ศ.1936 พระสงฆ์ที่ทำงานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสังเกตว่า คนลาวเป็นคริสตังที่ดี แต่ต้องมีพระสงฆ์อยู่ด้วยและคอยช่วยเหลือ บ้านซ่งแย้มีคนต่างศาสนาที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในหมู่บ้านคริสตังและทำความเดือดร้อนให้คริสตัง โดยเฉพาะเมื่อมี “หมอลำ” ซึ่งเป็นเพลงโบราณที่มีเสียงเครื่องดนตรี “แคน” บรรเลงคลอตามไปด้วยในโอกาสที่มีการแสดงยามค่ำคืน
ในบางพื้นที่ มีคนบางกลุ่มคอยต่อต้านศาสนาคริสต์อย่างรุนแรง เช่น ที่บ้านดงมะไฟซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านซ่งแย้มากนัก สิ่งที่ทำให้การทำงานของพระสงฆ์เป็นไปด้วยความลำบากคือ คริสตังย้ายที่อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะคริสตังลาว เช่น พ.ศ. 2478/ค.ศ.1935 คริสตัง 32 ครอบครัว จากบ้านหนองคูอพยพไปอยู่ทางเหนือ เพื่อตั้งหมู่บ้านใหม่ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านนาบัวไป 25 กิโลเมตร คริสตังหลายครอบครัวจากบ้านซ่งแย้ย้ายไปอยู่ทางเหนือเช่นกัน ต่อมาเกิดโรคระบาดทำให้ชาวบ้านหนึ่งในสามที่ย้ายไปเสียชีวิต ส่วนคนที่เหลือกลับมาอยู่บ้านซ่งแย้ มีเพียง 4 ครอบครัวที่ไม่กลับมา
สมัยก่อนมิชชันนารีห้ามคริสตังไปดูการแสดงเหล่านี้ เพราะเป็นการแสดงที่มีลักษณะลามก การแสดงนี้ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รานงานจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2480/ค.ศ. 1937 บอกว่าคริสตังที่ได้รับศีลล้างบาปเมื่อหลายปีก่อน ไม่พอใจที่พวกเขาได้รับประโยชน์จากศาสนาคริสต์ “เพียงเล็กน้อย” จึงกลับไปนับถือศาสนาพุทธตามเดิมโดยบอกว่า “การเป็นคริสตังไม่เห็นประโยชน์อะไรเลย เพราะฉะนั้นจึงเปล่าประโยชน์ที่จะปฏิบัติศาสนาต่อไป” พวกเขาหวังความร่ำรวยโดยอาศัยอิทธิพลของพระสงฆ์
พระสงฆ์รู้สึกลำบากใจในการปรับตัวให้เข้ากับแนวความคิดใหม่ของชาวสยาม ที่ได้รับอิทธิพลจากระบบการปกครองของข้าราชการ สำหรับแนวความคิดใหม่นี้จำเป็นต้องใช้วิธีสอนคำสอนที่ปรับปรุงใหม่ พ.ศ. 2474/ค.ศ. 1931 คุณพ่อโบแอร์พิมพ์หนังสือคำสอนฉบับสมบูรณ์ 2 เล่ม เล่มหนึ่งเป็นภาษาไทย อีกเล่มเป็นภาษาลาว และหนังสือประวัติพระเยซูเจ้า โรงพิมพ์อัสสัมชัญกรุงเทพฯ พิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์พระศาสนจักรโดยสังเขป หนังสือจำลองแบบพระคริสต์ ภาพการสอนคำแบบแซงต์ซุลปีสซึ่งเป็นที่นิยมทั่วไป แต่ยังไม่มีใครแปลหนังสือพระวรสาร นอกจากนี้ ยังห้ามใช้หนังสือพระวรสารที่โปรเตสแตนท์แปล ซึ่งจริงๆ แล้วคำแปลไม่สู้จะดีนัก
ในภาคกลาง คุณพ่อบรัวซาต์ย้ายคริสตังจากบ้านปลายนาไปอยู่บ้านแพน สมัยเดียวกันนี้ ที่บ้านจอมแจ้ง ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่คุณพ่อโทมินหยุดพักระหว่างเดินทางจากบ้านจันทร์เพ็ญไปบ้านนาโพธิ์ มีชาวบ้านขอ “เข้าศาสนาคริสต์” มีชาวเวียดนามกลุ่มหนึ่งย้ายมาอยู่ใกล้บ้านท่าแร่ บางคนในพวกนี้เป็นคอมมิวนิสต์ซึ่งสมัยนั้นเรียกว่าพวกบอลเชอวิค คนที่เป็นหัวหน้าถูกตำรวจจับไป ส่วนคนอื่นขอเข้าเป็นคริสตัง
มิชชันนารี ตำหนิความประพฤติของเยาวชนสมัยนั้น รายงานฉบับหนึ่งที่เขียน พ.ศ. 2481 / ค.ศ.1938 บอกให้ทราบว่า คนหนุ่มสาวชอบเล่นการพนันเพื่อหาเงินโดยไม่ต้องทำงานเพราะถือว่าการทำมาหากินเป็นเรื่องลำบาก แต่เงินเพียงไม่กี่บาททำให้พวกเขาสามารถเสียภาษี ซื้อเสื้อผ้าดื่มเหล้า 2-3 เป๊ก และเล่นการพนันได้ พ.ศ. 2480/ ค.ศ.1937 คุณพ่อมาร์แต็งเจ้าอาวาสวัดโคกวัด ร้องทุกข์เพราะนักพนันและพวกขี้เหล้าชักชวนคนต่างศาสนาเข้ามาในหมู่บ้าน ท่านคิดถึงสมัยที่มิชชันนารีมีอำนาจเหมือนตำรวจในการรักษาความสงบเรียบร้อยของหมู่บ้าน ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่า “อิสรภาพและความเสมอภาค ซึ่งเป็นความคิดแห่งยุคสมัยทำให้เราต้องยอมวอนขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่บ้านซึ่งเพราะไม่ได้เป็นคริสตังพวกเขาจึงมีความเห็นและความเข้าใจที่ไม่ตรงกับเรา
ระหว่าง พ.ศ. 2481-2482/ค.ศ.1938-1939 มิสซังลาวยังขาดโรงเรียนมัธยมเซอร์มาธิลดาภคินีคณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตร ได้เปิดโรงเรียนมัธยมสำหรับเด็กหญิงแห่งแรกที่อารามอุบลฯ อย่างไม่เป็นทางการ วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2481/ค.ศ.1938 อารามท่าแร่เปิดโรงเรียนมัธยม พ.ศ. 2482/ค.ศ.1939 ตอนแรกโรงเรียนเหล่านี้รับเฉพาะคนที่ต้องการเป็นนักบวชเท่านั้น ต่อมาเปิดรับหญิงสาวคริสตังด้วย ก่อนสงครามยังไม่มีโรงเรียนมัธยมสำหรับเด็กชาย มิชชันนารีฝรั่งเศสที่ได้รับอิทธิพลจากการต่อสู้ระหว่างโรงเรียนมัธยมของรัฐ เรื่องนี้เป็นสาเหตุที่ทำให้บางคนทิ้งวัดไป สำหรับเด็กชายคงต้องรอให้เปิดโรงเรียนเซนต์โยเซฟที่ท่าแร่ พ.ศ. 2490/ค.ศ.1947 และเปิดโรงเรียนสัพพัญญู (โรงเรียนอัสสัมชัญอุบล) ที่อุบลฯ พ.ศ. 2500/ค.ศ.1957
ในประเทศลาว พ.ศ. 2477/ค.ศ.1934 ภคินีคณะเมตตาธรรมเข้ามาเพื่อดูแลชาวเวียดนาม พวกเธอเปิดศูนย์ตามเมืองต่างๆ เช่น ที่ท่าแขกเวียงจันทน์ ปากเซ ภคินีคณะรักกางเขนยังทำงานอยู่ตามวัดในชนบท คุณพ่อเฟรซ์ได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบ้านเณรพระหฤทัยฯ ซึ่งตั้งขึ้นที่หนองแสงในพ.ศ. 2481/ค.ศ.1938 ส่วนคุณพ่อลาซาร์ ฮวด พระสงฆ์พื้นเมือง ยังทำหน้าที่อธิการโรงเรียนฝึกหัดครูคำสอนต่อจากคุณพ่อโบแอร์ ในที่สุดประเทศลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสยามเริ่มมีความสะดวกในการติดต่อกับโลกภายนอก เพราะการก่อสร้างถนนอาณานิคมระหว่างไซ่ง่อนกับปากเซซึ่งสร้างเสร็จใน พ.ศ. 2480/ค.ศ.1937 ทำให้สามารถเดินทางจากไซ่ง่อนมาปากเซได้ภายในเวลา 1 วัน บริษัทฝรั่งเศสที่เดินเรือกลไฟในแม่น้ำโขงซึ่งเริ่มกิจการเมื่อ พ.ศ. 2440/ค.ศ.1897 เลิกกิจการไปในพ.ศ. 2480/ค.ศ.1937
มิชชันนารีสำคัญหลายองค์มรณภาพ บางองค์เกษียณอายุเราพูดถึงการมรณภาพของคุณพ่อยังเตเมื่อ พ.ศ.2478/ ค.ศ.1935 ไปแล้ว เดือนเมษายน พ.ศ. 2475/ค.ศ.1933 คุณพ่ออาทานาส (ย้อ ดีสุดจิต) พระสงฆ์ชาวสยาม มรณภาพหลังจากปฏิบัติหน้าที่สงฆ์มาเป็นเวลา 40 ปี และทำงานอย่างดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่านเป็นแบบอย่างเรื่องความนบนอบเชื่อฟัง คุณพ่อกอลมเบต์มรณภาพ ในวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2476/ค.ศ.1933 ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ กรุงเทพฯ อายุ 85 ปีท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญมาตั้งแต่ พ.ศ. 2418/ค.ศ.1875 ปีเดียวกันนั้น บราเดอร์มาร์ติน เดอ ตูร์ส อธิการภราดาคณะเซนต์คาเบรียลกลุ่มแรกที่เข้ามาในประเทศสยาม เมื่อ พ.ศ.2444/ค.ศ.1901มรณภาพ ซิสเตอร์มารีอา มีคาแอล มั่น ที่เข้าอารามอุบลฯ เมื่อ พ.ศ. 2434/1891 ได้เสียชีวิตวันที่ 11กันยายน พ.ศ. 2480 /ค.ศ.1937 ที่เชียงหวาง หลังจากใช้ชีวิตนักบวชมาเป็นเวลา 42 ปี คุณพ่อกอมบูริเยอ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่มาเป็นเวลา 53 ปี ลาเกษียณในพ.ศ. 2481/ค.ศ.1938 ท่านเป็นวิญญาณรักษ์ภคินีคณะรักกางเขนที่อารามท่าแร่ และมรณภาพเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2482/ค.ศ.1939