-
Category: ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งกับชาวฝรั่งเศสในประเทศไทย
-
Published on Monday, 19 October 2015 07:19
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3053
รัฐบาลฝรั่งเศสภายใต้จักรวรรดิและสาธารณรัฐที่สาม เคยให้ความอนุเคราะห์แก่มิสซังตลอดมา แต่ท่าทีนี้เปลี่ยนไปเมื่อลัทธิต่อต้านคณะสงฆ์ในฝรั่งเศสได้รับชัยชนะ พ.ศ. 2446/ค.ศ.1903 พระศาสนจักรคาทอลิกและรัฐบาลฝรั่งเศส มีผลประโยชน์ในทางเดียวกันเฉพาะบางกรณี แต่มีวัตถุประสงค์แตกต่างกันมาก และพยายามใช้ทรัพยากรต่างๆ ของอีกฝ่ายมาช่วยเหลือโครงการของตน เป็นเวลานานมาแล้วที่หนังสือตำราบางเล่มสนับสนุนความคิดที่ว่า การรับใช้ทั้งพระศาสนจักรและรัฐบาลฝรั่งเศสในเวลาเดียวกันเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่สันตะสำนักต้องการประนีประนอมกับลัทธิชาตินิยมที่รุกรานทวีปยุโรปในช่วงลัทธิล่าอาณานิคม
ลัทธิชาตินิยมมีอุดมการณ์ที่แตกต่างจากพระศาสนจักรคาทอลิกอย่างสิ้นเชิงเพราะคาทอลิกหมายถึง ความเป็นสากล พระสันตะปาปาทุกองค์ทรงเตือนมิชชันนารีอย่างไม่หยุดหย่อนว่า พวกท่านมีภารกิจในการนำวิญญาณมาหาพระคริสต์ ไม่ใช่นำผู้คนไปสู่ประเทศชาติของตนและต้องไม่นำขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติตนไปให้พวกเขา แต่ต้องเคารพและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีของประชาชนที่ไปประกาศพระวรสาร ถ้าขนบธรรมเนียมประเพณีเหล่านั้นไม่ขัดต่อศาสนาและศีลธรรมอย่างชัดแจ้ง หน้าที่ของมิชชันนารีคืออบรมคณะสงฆ์พื้นเมืองและทำให้ศาสนาหยั่งรากลึกลงในสังคม เพื่อจะได้ส่งมอบหน้าที่ให้พระศาสนจักรท้องถิ่นให้เร็วสุดเท่าที่จะเป็นไปได้หลักการต่างๆซึ่งประกาศอย่างหนักแน่น ในคำสั่งสอนของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อที่มอบให้ผู้แทนพระสันตะปาปา พ.ศ. 2202 / ค.ศ.1659 โดย สมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 16 ทรงขยายความในคำสั่งสอนเนมีเนม โปรเฟคโต พ.ศ. 2388 / ค.ศ.1845 และสมเด็จสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 15 ทรงรื้อฟื้นด้วยความร้อนรนในพระสมณสาส์นมักซิเม อิลลุด พ.ศ. 2462/ค.ศ. 1919
เมื่อระบบบริหารราชการฝ่ายอาณานิคมถูกจัดตั้งขึ้นแล้ว ข้าราชการพยายามใช้มิชชันนารีให้เป็นประโยชน์ โดยทั่วไปแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการฝรั่งเศสกับมิชชันนารีมีข้อจำกัด แม้ทั้งสองฝ่ายจะมีความเกี่ยวโยงกัน แต่ยังห่วงอำนาจบารมีของตนอยู่มาก สมัยก่อนมิชชันนารีรักและปรารถนาดีต่อประเทศชาติของตน ในเรื่องนี้เราไม่อาจตำหนิได้ แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศสยาม เมื่อมิชชันนารีให้ความร่วมมือกับผู้รับผิดชอบอาณานิคม พวกท่านมีความหวังดีต่อมิสซังเสมอ และคิดอยู่เสมอซึ่งอาจผิดหรือมีเหตุผลว่า การที่พวกท่านให้ความร่วมมือกับชาวฝรั่งเศสนั้นเป็นการปกป้องคุ้มครองเสรีภาพของตนเอง
พระสังฆราชเวย์พูดถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า ชาวสยามมีท่าทีไม่ค่อยดีกับพวกเราพวกเขาอยากเห็นพวกเราแยกตัวจากกงสุล พวกเขาไม่เคยปฏิบัติตามแม้แต่คำมั่นสัญญา พวกเราจำเป็นต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองฝ่ายต่อไป แม้ว่างานทุกอย่างที่ผ่านกงสุลจะไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม พระสังฆราชเวย์ต้องมีเหตุผลที่คิดเช่นนั้น ท่านอธิบายในอีกสี่ปีต่อมาว่าทำไมท่านจึงนิยมชมชอบอาณานิคมของฝรั่งเศสมากกว่า ดังตัวอย่างต่อไปนี้
“ข้าพเจ้ารู้สึกกลัวอย่างมาก ในช่วงที่ชาวฝรั่งเศสทะเลาะวิวาทกับชาวสยามเรื่องที่ลุ่มของลาว (แม่น้ำโขง)ที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ของสยามตกไปอยู่ในมือของชาวอังกฤษ ชาวอังกฤษพวกนี้ไม่พลาดที่จะหาวิธีเพื่อให้ได้เหยื่ออันโอชะ ซึ่งสามารถได้มาในเวลาอีกไม่กี่ปี เวลาที่ความขมขื่นของชาวสยามที่เกิดจากชาวฝรั่งเศสเพิ่มมากขึ้น เพราะความยุ่งยากต่างๆ ที่เกิดจากประเทศเพื่อนบ้านและปัญหาชายแดน ข้าพเจ้ากลัวเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าครั่นคร้ามการบริหารของชาวอังกฤษ แต่เพราะไม่เคยสงสัยว่าวันใดที่เราต้องไปอยู่ในอำนาจของอังกฤษ หมอสอนศาสนาจำนวนมากจะมาอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง และจะคอยขัดขวางมิให้ชาวสยามมาหาพวกเรา” ถึงตรงนี้ทำให้เราเห็นความคิดของพระสังฆราชเวย์อย่างชัดเจนว่า ท่านคงพอใจให้ประเทศสยามตกอยู่ในมือของชาวฝรั่งเศสซึ่งเป็น “คาทอลิก” มากกว่าจะตกไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของอังกฤษซึ่งเป็น “แองคลีกัน”
แต่ทำไมมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสหรือสเปน จึงแสดงความรักชาติโดยชักธงประเทศของตนในทุกโอกาส การที่ธงประจำชาติของมิชชันนารีองค์หนึ่งมีความสำคัญมากกว่าธงของพระสันตะปาปา ทำให้นักบวชหนุ่มคนหนึ่งรู้สึกเจ็บปวดใจ คือบราเดอร์ลูโดวีโก มารีอา ซึ่งเปิดใจให้พระสังฆราชเวย์ทราบด้วยความสุภาพว่า
“ข้าพเจ้าต้องรู้สึกเจ็บปวดเพียงใดเมื่อเห็นธงชาติฝรั่งเศสและสเปน โบกสะบัดอยู่บนหอของอาสนวิหาร (อย่างน้อยหนึ่งหอ) ข้าพเจ้าถามตัวเองว่านี่คือตัวแทนของประเทศฝรั่งเศสหรือของสันตะสำนักกันแน่ เมื่อเช้านี้ที่โรงเรียน (อัสสัมชัญ) ข้าพเจ้ารู้สึกปวดร้าวใจเช่นกันเพราะเหนือธรรมมาสน์ของประธาน มีธงชาติของสเปนที่ล้อมรอบด้วยธงชาติของฝรั่งเศส 4 ผืนห่างออกไปอีก มีธงของสันตะสำนักที่ห้อมล้อมด้วยธงชาติของสยาม ฝรั่งเศส และสเปน ข้าพเจ้าถามตัวเองว่า ทำไมธงของสันตะสำนักจึงไม่อยู่ในที่อันทรงเกียรติ?”
“ข้าพเจ้ายังจำความรู้สึกสะเทือนใจอย่างรุนแรง ที่เกิดขึ้นที่บางบัวทองได้เสมอ เมื่อข้าพเจ้าเข้าไปในบริเวณวัด ข้าพเจ้าเห็นธงชาติฝรั่งเศสโบกสะบัดอยู่บนเสาเพียงธงเดียว เรื่องนี้ผ่านไปหลายปีแล้ว ข้าพเจ้าจำได้ว่า ได้บอกกับตัวเองว่า เมื่อไหร่เราจะเป็นคาทอลิกมากกว่านี้? ถ้าข้าพเจ้าเป็นชาวสยาม จะมีความรู้สึกอย่างไรที่เห็นเช่นนี้ เช่นเดียวกับที่บรรเลงเพลงชาติฝรั่งเศส แทนที่จะบรรเลงเพลงของสันตะปาปา ข้าพเจ้าเขียนมาเรียนให้พระสังฆราชทราบ หลังจากพิจารณาเรื่องนี้แทบเท้าพระสวามีเจ้า” บราเดอร์ผู้น่าสงสารท่านนี้คิดอะไรขณะร่วมมิสซาวันปัสกาซึ่งมีพระสังฆราชเป็นประธาน บทเทศน์เป็นภาษาฝรั่งเศส แต่ที่นั่งที่สงวนไว้สำหรับชาวฝรั่งเศสแทบจะว่างเปล่า ขณะที่ชาวสยามซึ่งนั่งอยู่ไกลออกไปด้านหลัง ฟังเทศน์อย่างไม่เข้าใจ มันอาจไม่ไร้ประโยชน์ถ้าเรายังจำความรู้สึกชาตินิยมของมิชชันนารีได้ ในขณะที่ความรู้สึกชาตินิยมของชาวสยามกำลังรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
การแยกมิสซังราชบุรีจากกรุงเทพฯ
ก่อนจะอธิบายเรื่องอื่นจำเป็นต้องพูดถึงการสถาปนามิสซังใหม่ โดยแบ่งมิสซังสยามและมิสซังลาวออกไป พระสังฆราชเลโอโกรอาต์ พระสมณทูตอายุติ และพระสมณทูตเดรเยร์ เชิญชวนพระสังฆราชแปร์รอสและพระสังฆราชแกวง ให้รีบเสนอความคิดเรื่องการแบ่งมิสซังโดยเร็ว เรื่องนี้มีผลประการแรกคือ ทำให้มีการสถาปนามิสซังราชบุรีขึ้นวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2473/ค.ศ.1930 การแบ่งสังฆมณฑลต่างๆ ในปัจจุบัน เป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อเสนอส่วนหนึ่งที่ทำกันระหว่าง พ.ศ. 2473-2483 / ค.ศ.1930-1940
สาเหตุของความขัดแย้งทางศาสนาในสยาม
เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 / ค.ศ.1938 จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา ขณะเดียวกันยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต่อไปอีก จอมพล ป.พิบูลสงคราม เลือกใช้นโยบายชาตินิยมท่านบอกว่า “ต้องรักประเทศชาติเหมือนรักบิดามารดา” ประเทศสยามซึ่งเพิ่งได้รับอิสรภาพทางการเงินและทางกฎหมายกลับคืนมา ไม่ได้เป็นเพียง “ประเทศไทย” ที่มีความเป็นไปอีกต่อไป แต่เป็น “ชาติไทย” ที่มีเอกลักษณ์ประจำชาติ ประกอบด้วย ภาษา ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม และศาสนาพุทธ แผนการของนโยบายนี้มีกล่าวไว้ในหนังสือ “หลักการสัญชาติ”
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นำหลักการนี้มาจาก 3 แหล่ง แหล่งแรกคือ แนวพระราชดำริของพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 6 แหล่งที่สอง คือ บูชิโด ซึ่งเป็นกฎจริยธรรมของนักรบญี่ปุ่น ภาษาสยามแปลว่า “วีระธรรม” แหล่งที่สามคือ “กระบวนการชีวิตใหม่” ของนายพลเจียงไคเชค ส่วนหนังสือโฆษณาชวนเชื่อ “รัฐนิยม” เป็นหนังสือของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ท่านขยายแนวความคิดของท่านโดยใช้คำขวัญต่างๆ และการสนทนาทางวิทยุ มีคณะกรรมการที่ชื่อ “ราชนิยม” ซึ่งมีหลวงวิจิตรวาทการเป็นประธาน ระหว่าง พ.ศ. 2482-2485/ค.ศ.1939-1942 คณะกรรมการชุดนี้พิมพ์เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา 12 ฉบับ ในที่นี้ขอกล่าวถึงเฉพาะพระราชกฤษฎีกาฉบับที่เกี่ยวกับองค์กรศาสนาเท่านั้น
รัฐบาลตระหนักดีถึงอิทธิพลของศาสนาพุทธที่มีต่อประชาชน จึงใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการปลุกระดมมวลชน เมื่อเกิดกรณีพิพาทระหว่างฝรั่งเศส-ไทย พ.ศ. 2483/ค.ศ.1940 นโยบายชาตินิยมจึงรุนแรงขึ้น รัฐบาลต้องการสร้างเอกภาพของคนไทยโดยอาศัยศาสนาพุทธ ตามคำแนะนำของรัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งเป็นห่วงเรื่องการคุกคามของญี่ปุ่นทางอินโดจีน วันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2483/ค.ศ.1940 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยอมลงนามในสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน 2 ฉบับกับฝรั่งเศสและอังกฤษ แต่ในวันเดียงกันที่เมืองโตเกียว ไทยลงนามในสนธิสัญญาพันธมิตรกับญี่ปุ่น วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2483/ ค.ศ.1940 รัฐบาลไทยเรียกร้องให้ฝรั่งเศสคืนดินแดนลาวทางฝั่งของของแม่น้ำโขง พร้อมทั้งจังหวัดศรีโสภณ เสียมเรียบ และพระตะบองของกัมพูชา การตอบปฏิเสธของรัฐบาลฝรั่งเศสที่เมืองวีซี ทำให้เกิดสงครามในเวลาต่อมา แต่การสู้รบจริงๆ เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม วิทยุที่กรุงเทพฯ ประกาศว่าชาวไทยทุกคนต้องกลับมานับถือศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติที่ถือว่าสร้างเอกภาพของชาติไทย ต้องเลิกนับถือศาสนาอื่นให้หมดในที่ทำการของกระทรวงต่างๆ มีการแจกแบบฟอร์มให้เจ้าหน้าที่แต่ละคนแจ้งศาสนาของตนและมี 2 ทางให้เลือกคือ เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ หรือถูกไล่ออกจากราชการ นโยบายชาตินิยมทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเกิดกรณีพิพาทฝรั่งเศส-ไทย ต่อต้านศาสนาในไม่ช้าและเป็นไปอย่างบ้าคลั่งโดยมุ่งมาที่ศาสนาคริสต์เป็นพิเศษ
ปลาย พ.ศ. 2483 /ค.ศ.1940 ความขัดแย้งทางศาสนาอุบัติขึ้นตามคำบอกเล่าของนายโรเจอร์การ์โร ผู้อำนวยการคณะทูตของฝรั่งเศส เครื่องบินฝรั่งเศสโจมตีนครพนม วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2483 /ค.ศ.1940 เพื่อตอบโต้ที่ไทยระดมยิงปืนใหญ่ใส่เมืองสุวรรณเขตและท่าแขกวันเดียวกันนั้น รัฐบาลไทยใช้มาตรการขับไล่ชาวฝรั่งเศสทุกคนที่พำนักอยู่ในจังหวัดนครพนม และภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกไปจากราชอาณาจักรวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483/ค.ศ.1940 เวลา 20.00 น. วิทยุกรุงเทพฯ ประกาศว่าข่าวฝรั่งเศสที่พำนักอยู่ในต่างจังหวัด ต้องเดินทางออกนอกประเทศภายในเวลา 48 ชั่วโมง ความขัดแย้งทางศาสนาอย่างรุนแรงเริ่มขึ้นด้วยการทารุณกรรมและเฆี่ยนตีคริสตังพระสงฆ์พื้นเมืองหลายองค์ถูกจับขังคุก.