ความขัดแย้งกับชาวฝรั่งเศสในมิสซังกรุงเทพฯ

วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483/ค.ศ. 1940 เวลา 22.00 น. มีตำรวจมาพบมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่พำนักอยู่ในต่างจังหวัด และบังคับให้พวกท่านตามไปที่สถานีตำรวจ ภายหลังการสอบสวนพวกท่านต้องเซ็นสัญญาว่าจะออกจากเขตจังหวัดภายใน 48 ชั่วโมง วันรุ่งขึ้นมิชชันนารี 7 องค์เดินทางมาถึงกรุงเทพ พร้อมคำสั่งห้ามเดินทางออกนอกพื้นที่ มิชชันนารี  5 องค์ที่อยู่ไกลมาถึงเมืองหลวง วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2484/ค.ศ. 1941 มิชชันนารีที่ถูกตำรวจจับกุมนำตัวมาอยู่รวมกันที่ สำนักมิสซังโดยไม่สามารถทำอะไรได้เลย ด้วยความเห็นชอบของที่ปรึกษาและได้รับอนุญาตจาก จอมพล ป.พิบูลสงคราม พระสังฆราชแปร์รอสจึงขอร้องให้มิชชันนารีเดินทางไปไซ่ง่อน เผื่อว่าพวกท่านจะทำประโยชน์ให้คริสตังที่อยู่ในอินโดจีนได้ เพราะรู้ภาษาของพวกเขามิชชันนารี 13 องค์เดินทางออกนอกประเทศเหลือเพียงพระสังฆราช แปร์รอส ซึ่งอยู่ที่สำนักพระสังฆราช คุณพ่อแปรูดง คุณพ่อแฟร์เลย์ และคุณพ่อชันลิแยร์ ซึ่งอยู่ที่บ้านพักพระสงฆ์ของวัดอัสสัมชัญ คุณพ่อโชแรงและคุณพ่อโอลลิเยร์ซึ่งอยู่ที่สำนักมิสซัง และพระสงฆ์สองพี่น้องตระกูลเล็ตแชร์ องค์หนึ่งมีสัญชาติสวิส อีกองค์หนึ่งมีสัญชาติเยอรมัน อยู่ที่วัดสามเสน
 
ส่วนบราเดอร์คณะเซนต์คาเบรียลชาวฝรั่งเศส 13 คน ได้รับคำสั่งห้ามสอนเรียน และต้องเดินทางออกนอกประเทศไป วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2484/ค.ศ.1941พวกท่านไปอยู่ที่มาเลเซีย และเดินทางต่อไปยังอินเดีย  เพื่อทำงานในโรงเรียนของคณะบราเดอร์ชาวสเปน และชาวไทยต้องบริหารโรงเรียนต่อไปตามเดิมพร้อมกับอาจารย์ที่เป็นฆารวาส ภคินีคณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตรที่เป็นชาวฝรั่งเศส รวมทั้งภคินีคณะอูร์สุลินชาวฝรั่งเศส ต้องเดินทางออกนอกประเทศเช่นกัน ภคินีคณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตรไปอยู่ที่ไซ่ง่อน ภคินีคณะอูร์สุลินไปอยู่บ้านพักของคณะที่เกาะชวาคุณพ่อยออากิมเทพวันท์   ประกอบกิจพระสงฆ์พื้นเมืองตอนแรกได้รับแต่งตั้งเป็นรักษาการแทนประมุขมิสซังเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2483/1940 และวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2484/ค.ศ.1941ได้รับแต่งตั้งเป็นอุปสังฆราช พระสังฆราชแปร์รอสส่งพระสงฆ์พื้นเมืองไปทำหน้าที่แทนมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่ถูกขับไล่ 
 
พระสงฆ์พื้นเมือง 5 องค์  ถูกจับโดยถูกกล่าวหาว่าเป็นจารชน ทำงานเพื่อผลประโยชน์ของฝรั่งเศส คือ คุณพ่อฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี และ คุณพ่อมีแชล ส้มจีน ศรีประยูร ถูกกล่าวหาเป็น “แนวที่ห้า” ตอนแรกถูกจำคุก 3 เดือน  คุณพ่อทั้งสองถูกตัดสินจำคุก 2 ปี เดือนมีนาคม พ.ศ. 2484/ค.ศ. 1941 แต่ได้รับอิสรภาพหลังจากจำคุกได้เพียง 20 เดือน คุณพ่อเฮนรี่ สุนทร วิเศษรัตน์ ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี  ได้รับอิสรภาพหลังจากจำคุก 5 ปี ซึ่งหมายถึง หลังสงครามสิ้นสุดลง 7 เดือนคุณพ่อเอดัวรด์ ถัง นำลาภถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตได้รับอิสรภาพหลังจากจำคุกเป็นเวลา 5 ปี
 
คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ซึ่งรับผิดชอบชุมชนคริสตังโคราชและโนนแก้วถูกจับที่บ้านหัน ตอนแรกถูกนำตัวมาที่สี่คิ้วและถูกขังคุกที่สีคิ้ว เป็นเวลา 4 เดือน ต่อมาถูกส่งตัวไปขังคุกที่ศาลาแดง กรุงเทพฯ วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2484/ค.ศ. 1941 ท่านถูกตัดสินจำคุก 15 ปี และมรณภาพเพราะป่วยเป็นวัณโรคหลังจากจำคุกได้ 3 ปี โดยอยู่ในโรงพยาบาลของเรือนจำเป็นเวลา 9 เดือน ท่านสามารถสอนคำสอนและโปรดศีลล้างบาปให้นักโทษใกล้ตายที่อยู่ในคุก 68 คน ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นบุญราศีวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2543/ค.ศ. 2000 ในจำนวนพระสงฆ์พื้นเมือง 47 องค์ของมิสซังเวลานั้น พระสงฆ์ 12 องค์ แสดงความซื่อสัตย์อย่างน่าชื่นชม บางองค์อาจขาดความกล้าหาญไปบ้างน่าเสียดายที่มีพระสงฆ์จำนวนหนึ่งทิ้งสัตบุรุษไป มีพระสงฆ์พื้นเมืองบางองค์เข้าร่วมขบวนการต่อต้านชาวฝรั่งเศสด้วย
 
พระสงฆ์คณะซาเลเซียนที่ราชบุรี ในฐานะที่เป็นชาวอิตาเลียนจึงไม่ถูกรบกวน เพราะประเทศอิตาลีเข้าร่วมกับฝ่ายอักษะ บางองค์ถูกส่งไปอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพวกท่านทำงานอย่างดีเยี่ยม พระสงฆ์ 3 องค์ไปช่วยวัดในแถบภาคตะวันออก เพราะคิดว่าจะได้รับความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษ แต่พระสงฆ์องค์หนึ่งในจำนวนนี้ถูกจับมัดและถูกทุบตีอย่างทารุณหลังเหตุการณ์นี้ พระสงฆ์ทั้งสามองค์จึงเดินทางกลับราชบุรี
 
รัฐบาลจัดประชุมเพื่อชักชวนให้คริสตังทิ้งศาสนา วันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484/ค.ศ.1941 คริสตังจากกรุงเทพฯ และข้าราชการที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ ถูกเรียกตัวมารวมกันที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน โดยมี รัฐมนตรีเป็นประธานในการประชุม  ที่ประชุมขอให้คริสตังและคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ ประทับรายมือชื่อของตนในทะเบียน เพื่อยืนยันว่าพวกตนเป็นพุทธและเป็นคนไทยที่ซื่อสัตย์ มีบางคนในพวกคาทอลิก โปรเตสแตนท์ และคนที่นับถือศาสนาขงจื้อ  รวมทั้งคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ยอมเซ็นชื่อในทะเบียนนั้น แต่ส่วนมากปฏิเสธ
 
คนที่ปฏิเสธการเซ็นชื่อถูกปลดออกจากงาน พ่อค้าที่เป็นคริสตังถูกคว่ำบาตร ในหมู่บ้านต่างๆ คริสตังถูกนายอำเภอเรียกตัวมาพบ พวกเขาถูกกักตัวไว้ในห้องประชุมเป็นเวลานานอย่างไม่มีกำหนด โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้ทิ้งศาสนา จึงไม่สามารถไปทำมาหากินเลี้ยงครอบครัวได้ คริสตัง 6 คน ถูกจับขังคุกเป็นเวลานานหลายปี โรงเรียนคาทอลิกถูกรัฐบาลสั่งปิด วัด 2 แห่งถูกรื้อ วัดแห่งหนึ่งถูกเปลี่ยนเป็นโรงเรียนพุทธ สุสานบางแห่งถูกทำทุราจาร บ้านพักพระสงฆ์ 2 แห่งและโรงเรียนหลายแห่งถูกทำลาย
 
กรณีพิพาทฝรั่งเศส-สยามนี้ อาศัยการไกล่เกลี่ยของญี่ปุ่น ทำให้เกิดสนธิสัญญาฉบับหนึ่งลงวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484/ค.ศ.1941 ซึ่งสร้างความพอใจให้กับชาวไทยตามคำเรียกร้องความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศสถูกรื้อฟื้นขึ้นใหม่ พระราชกฤษฎีกาที่ประกาศวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484/ค.ศ. 1941 อนุญาตให้ชาวฝรั่งเศสรวมทั้งมิชชันนารีกลับมาอยู่ในที่เดิม ยกเว้นปราจีนบุรี โคราช และอุบลฯ ห้ามเข้าไปพำนัก 
 
เมื่อกรณีพิพาทฝรั่งเศสสิ้นสุดลง พระสังฆราชแปร์รอส จึงเรียกมิชชันนารีที่เดินทางไปอยู่ในอินโดจีนกลับมา โดยแนะนำไม่ให้กลับมาพร้อมกันในเวลาเดียวกัน  แต่ให้ค่อยๆทยอยกันกลับมา เพื่อหลีกเลี่ยงข้ออ้างต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ มิชชันนารีกลับมาทีละองค์ จนครบ แต่พระสังฆราชปาชอตตี แห่งมิสซังราชบุรีไม่เห็นด้วย ท่านส่งโทรเลขไปสั่งห้ามมิชชันนารีกลับเข้ามาในประเทศไทย โดยได้รับการสนับสนุนจากพระสังฆราชดราปีเยร์ซึ่งเป็นพระสมณทูตขณะนั้น
 
แต่มีเพียงคุณพ่อดาวิดองค์เดียวที่ไม่กลับมา เพราะท่านมรณภาพขณะพักอยู่ในโคชินจีน ในบรรดามิชชันนารีของมิสซังหนองแสงที่ถูกขับไล่ไปอยู่ในลาว บางองค์ไปสมทบกันที่มิสซังวินห์ พวกท่านคิดว่าพระราชกฤษฎีกาฉบับนั้นคงช่วยได้ แต่กลับถูกตำรวจที่นครพนมขับไล่ออกไปถึง 2 ครั้ง แม้จะได้รับอนุญาตจากรัฐบาลที่กรุงเทพ ซึ่งรับรองว่ามีเสรีภาพในการเข้ามาในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์ เพื่อพิสูจน์ว่ายังไม่มีเสรีภาพและไม่เป็นไปตามคำยืนยันของรัฐบาล พระสังฆราชแปร์รอสส่งคุณพ่อลาร์เกไปรับหน้าที่เจ้าอาวาสวัดหนองแสง คุณพ่อลาร์เกออกจากกรุงเทพ วันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2485/ค.ศ. 1942 และสามารถหลบหลีกตำรวจไปได้จนถึงนครพนม แต่ผู้กำกับตำรวจที่นครพนมห้ามคุณพ่อติดต่อกับคริสตัง และส่งตัวท่านกลับกรุงเทพฯ
 
หลังจากการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันสิ้นสุดลง จึงไม่มีเหตุผลที่จะขัดขวางมิชชันนารีในฐานะเป็นชาวฝรั่งเศสอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ การขัดขวางมิชชันนารีและคริสตังในฐานะเป็นคริสตังจึงชัดเจนมากขึ้น ศาสนาคริสต์เป็นสิ่งที่ระบอบการปกครองต้องการกำจัดให้หมดไป จึงมีการก่อกวนและสร้างความเดือดร้อนให้คริสตังและมิชชันนารีต่อไปทุกวิถีทาง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2485/ค.ศ. 1942 คุณพ่อลาร์เกกลับไปที่โนนแก้วซึ่งไม่มีพระสงฆ์อยู่เลยเป็นเวลา 2 ปีมาแล้ว ท่านถูกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบังคับให้ออกจากพื้นที่และถูกขู่ฆ่าเอาชีวิต แต่ท่านยังพักอยู่ที่นั่น วันที่ 2 มีนาคม ท่านถูกครู 2 คนที่เป็นกลุ่ม “เลือดไทย” ยิงทำร้าย แต่กระสุนพลาดไป คืนวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487/ค.ศ. 1944 ท่านถูกตำรวจปลอมทำร้ายอีก ขณะที่คุณพ่อเดชังป์อยู่ด้วย ตำรวจปลอมจุดไฟเผาวัดและบ้านพักสงฆ์ คุณพ่อทั้งสองรอดจากเปลวเพลิงและกระสุนปืนมาได้ พวกท่านยังพักอยู่ที่วัดนี้ต่อ คริสตังถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม และไม่มีใครได้เลื่อนตำแหน่งในหน้าที่ราชการเลย
 
ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485/ค.ศ.1942 แต่หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตไทยซึ่งประจำอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ไม่ได้ส่งสารเรื่องการประกาศสงครามของรัฐบาลไทย พ.ศ. 2487/ค.ศ. 1944 อังกฤษเริ่มทิ้งระเบิดที่กรุงเทพ การทิ้งระเบิดนี้ทำให้เกิดความเสียหายมากมายในเมืองหลวง สถานที่ต่างๆ ทางศาสนาได้รับความเสียหายเพราะถูกลูกระเบิด อาสนวิหาร โรงเรียน และที่พักอาศัยของคริสตังอาสนวิหารอัสสัมชัญถูกระเบิดเช่นกัน อาคารผู้ป่วยหลังหนึ่งของโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ถูกระเบิดเพลิงจนเกิดไฟไหมเสียหายหมดโรงเรียนมาแตร์เดอี วิทยาลัยซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงถูกระเบิดเช่นกัน การทิ้งระเบิดที่สถานีรถไฟโคราช ทำให้บ้านพักพระสงฆ์และโรงเรียนได้รับความเสียหายไปด้วย
 
ผลอย่างหนึ่งที่เกิดจากการทิ้งระเบิด คือ  ความขัดแย้งทางศาสนาหยุดชะงัก เป็นเพราะไม่ปลอดภัยที่จะอยู่ในเมืองหลวง   พิธีอภิเษกพระคุณเจ้ายาโกเบ แจง เกิดสว่าง วันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487/ค.ศ. 1944 จึงจัดที่วัดนักบุญฟิลิปยากอบหัวไผ่ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2487/ ค.ศ.1944 มีสัญญาบางอย่างบ่งชี้ว่าญี่ปุ่นหมดหวังจะชนะสงครามแล้วนายปรีดี พนมยงค์  ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงคนเดียวในเวลานั้น ขอร้องให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งท่านลาออกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2487/ค.ศ.1944
 
นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีคนใหม่  ประกาศเสรีภาพในการนับถือศาสนาทันทีในที่สุด สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติ พระสังฆราชแปร์รอสแสดงความเห็นในรายงานประจำปี ระหว่าง พ.ศ. 2483-2489/ค.ศ. 1940-1946 ว่า “เรากำลังดำเนินการซ่อมแซมสิ่งที่เสียหายด้านวัตถุและฟื้นฟูศีลธรรม ความเสื่อมทรามด้านศีลธรรมนั้นร้ายแรงกว่าความเสียหายด้านวัตถุ สงครามทำให้จิตใจปั่นป่วนสับสนดูคล้ายกับไม่มีมโนธรรม ไม่ศีลธรรม ไม่มีแม้แต่จิตสำนึกในหน้าที่หลงเหลืออยู่เลย ความอยุติธรรมทุกรูปแบบทำกันอย่างเปิดเผย คุณธรรมสามัญทั้งหลายซึ่งแต่ก่อนเคยได้รับการเทิดทูนแม้ในหมู่คนต่างศาสนา  เวลานี้ไม่มีอะไรเหลือเลย  สิ่งเดียวที่ทุกคนแสวงหาคือ เงินตรา.