ความขัดแย้งกับชาวฝรั่งเศสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สาเหตุของความขัดแย้งทางศาสนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสาเหตุเดียวกับความขัดแย้งทางศาสนาในมิสซังกรุงเทพฯ คือคนไทยต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ   ที่สามารถรวมคนไทยให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ เพราะฉะนั้น ต้องเลิกนับถือศาสนาอื่น  ความขัดแย้งทางศาสนารุนแรงเป็นพิเศษโดยเฉพาะในจังหวัดนครพนมและจังหวัดสกลนคร  ซึ่งมีอาณาเขตติดกับประเทศลาวและถือว่าเป็นดินแดนของฝรั่งเศส วันที่ 28-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 /ค.ศ.1940 มิชชันนารีสัญชาติฝรั่งเศส 11 องค์ ที่ทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งภคินีคณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตรชาวฝรั่งเศส 2 คน ชื่อเซอร์อูร์ซูลาจากหนองแสง และเซอร์อีวอนจากอุบลฯ ถูกตำรวจที่มีนิสัยหยาบคายนำตัวไปที่ท่าเรือนครพนมและมุกดาหาร และถูกขับไล่ให้ไปอยู่ประเทศลาวโดยไม่สามารถนำข้าวของติดตัวไปได้ เหลือเพียงคุณพ่อสต็อกแกร์สัญชาติเยอรมัน และพระสงฆ์พื้นเมือง 8 องค์ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของคุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล ซึ่งเป็นอาจารย์บ้านเณรเล็กหนองแสง และได้รับแต่งตั้งจากพระสังฆราชแกวง ให้เป็นผู้รักษาการแทน วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483/ค.ศ.1940 ท่านต้องดูแลคริสตัง 18,000 คน 
 
มิชชันนารีหวังว่าจะได้กลับเข้ามาในประเทศไทยโดยเร็ว เพราะเหตุนี้ พวกท่านจึงไม่รับตำแหน่งหน้าที่ใหม่ในลาว พระสงฆ์พื้นเมืองบางองค์ต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในคุก เป็นระยะเวลาสั้นบ้างยาวบ้าง คุณพ่อเอดัวรด์ ถัง นำลาภ เจ้าอาวาสวัดหนองแสงถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตและต้องใช้ชีวิตอยู่ในคุกหลายปี คุณพ่อศรีนวล ศรีวรกุล และ คุณพ่อคำผง กายราช ถูกจำคุกที่สกลนคร ตั้งแต่ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2484/ ค.ศ. 1941 วัดต่างๆ ถูกปิดหมดเป็นเวลาหลายปี บ้านพักพระสงฆ์ถูกใช้เป็นที่พักของข้าราชการ ซิสเตอร์ที่อารามท่าแร่ถูกไล่ออกจากอารามและได้รับการต้อนรับด้วยความเอื้อเฟื้อจากอารามอุบล พวกเธอไปถึงอารามอุบลฯ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกไปถึง วันที่ 6 สิงหาคม และกลุ่มที่สองไปถึง วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2484/ค.ศ. 1941 ผู้ที่ปฏิญาณแล้วไปหลบอยู่ที่วัดบุ่งกะแทว คนอื่นๆ ไปอยู่ที่หนองทาม บ้านบัวท่า บ้านทัพไทย ส่วนนวกเณรีและผู้สมัครเข้าอารามไปอยู่ที่อารามอุบลฯ
 
ในจังหวัดอุบลฯ ความขัดแย้งทางศาสนาไปถึงขั้นรุนแรงเหมือนทางเหนือของมิสซัง วัดไม่ถูกปิด คุณพ่ออันตน หมุน ยังเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่บ้านหนองคู คุณพ่ออัลแบรต์ ดง เป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่บ้านหนองทาม และคุณพ่อคำจวนเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่อุบลฯ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่รัฐบาลพยายามกดดันพระสงฆ์ให้สึก ซิสเตอร์คนหนึ่งจากอารามอุบลถูกจับขังคุก 1 ปี เพราะถูกกล่าวหาเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทอย่างรุนแรงกับญาติที่บวชเป็นพระภิกษุ คริสตังบ้านบัวท่า บ้านเซซ่ง และบ้านเหล่านี้ ถูกรบกวน
 
เนื่องจากวัดยังเปิดอยู่ ดังนั้น พระสงฆ์ในแถบสกลนครและนครพนมจึงมาช่วยงานเพื่อนพระสงฆ์ที่อุบลฯ คุณพ่อศรีนวลไปเยี่ยมคริสตังที่นครพนมและที่อุบลฯหลายครั้ง หลังจากนั้นท่านเดินทางลงมาจนถึงกรุงเทพ วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2484 /ค.ศ.1941 และไปขอให้พระสังฆราชปาซอตตีและคุณพ่อกาแซตตาช่วยเหลือมิสซังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระสงฆ์คณะซาเลเซียน กลุ่มแรกเดินทางมาถึงมิสซังวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2848 /ค.ศ.1941 กลุ่มที่สองมาถึงวันที่ 26 กรกฎาคม  ส่วนองค์อื่นๆ ตามมาภายหลังกรุงโรมแต่งตั้งพระสังฆราชปาซอตตีประมุขมิสซังราชบุรี เป็นผู้รักษาการแทน และปกครองมิสซังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2484/ ค.ศ.1941 เป็นต้นมาพระสังฆราชปาซอตตี ไปเยี่ยมมิสซังนี้ 2 ครั้ง คือวันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2485 /ค.ศ.1942 และวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2486 /ค.ศ.1943