-
Category: ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวเวียดนามคาทอลิกในประเทศไทย
-
Published on Monday, 19 October 2015 04:36
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2255
ผลกระทบของสงครามกลางเมืองในเวียดนาม เป็นปัจจัยภายในประเทศที่มีผลชี้ขาด ผลักดันให้เกิดการอพยพของชาวเวียดนามที่นับถือคาทอลิก มาตั้งถิ่นฐานในจังหวัดจันทบุรี สงครามกลางเมืองดังกล่าวเป็นขัดแย้งที่เรื้อรังระหว่างชนชั้นนำของเวียดนาม 4 ตระกูล คือ ตระกูลแมก ตระกูลเล ตระกูลตรินท์ ตระกูลเหงียน ตระกูลทั้งสี่ต่อมาได้ตั้งตนขึ้นเป็นราชวงศ์ โดยเริ่มต้นจากราชวงศ์เล ต่อมาเป็นราชวงศ์แมก ได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีน การตั้งราชวงศ์เล ต่อมาเป็นราชวงศ์แมกได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีน การตั้งราชวงศ์เตรินท์หลังจากที่ได้ล้มล้างราชวงศ์เลลงแล้ว และราชวงศ์เหงียนได้มาสร้างราชวงศ์เหงียนได้มาสร้างราชวงศ์ใหม่ในเขตเวียดนามตอนใต้
ความขัดแย้งระหว่างชนชั้น นำเริ่มต้นหลังจากที่เวียดนามปลดปล่อยตัวเองจากการครอบครองของจีนเป็นเวลาหลายร้อยปี การกู้เอกราชของประเทศเวียดนาม นำโดยเลลอย (Le Loi) แห่งขุนนางตระกูลเลใน พ.ศ. 1971 เลลอยต้องใช้เวลาในการสู้รบกับจีนเป็นเวลา 10 ปี จึงสามารถเอาชนะได้ความสามารถในการกู้เอกราชทำให้เลลอยได้กลายเป็นวีรบุรุษของประเทศเวียดนาม ดังนั้นต่อมาก็ได้มีการสถาปนาวงศ์เลขึ้นมา อย่างไรก็ดี แม้เวียดนามจะสามารถกู้เอกราชจากจีนได้ แต่การปกครองและบริหารราชการของเวียดนามก็ยังได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนเป็นอย่างมากเหมือนเชนในอดีตตัวอย่างเช่น เวียดนามยังคงใช้การคัดเลือกข้าราชการระบบจอหงวนของจีนอย่างกว้างขวางในประเทศเวียดนาม (Popkin, 1979, p. xv)
หลังจากที่ตระกูลเลขึ้นครองราชย์ในเวียดนาม ใน พ.ศ. 2070 ประเทศจีนก็สนับสนุนตระกูลแมกขึ้นครองราชย์เพื่อช่วงชิงอำนาจจากราชวงศ์เล พวกแมกนั้นเคยเป็นข้าหลวงที่ฮานอย แต่เมื่อดำรงตำแหน่งได้ไม่ถึง 10 ปี กองทัพจีนก็มาชุมนุมอยู่ที่ริมชายแดน พวกแมกก็มิได้ส่งกองทหารไปต่อต้านกองทัพจีน ตรงกันข้ามกลับต้อนรับนายพลจีนด้วยของขวัญกับข้อเสนอจะยกส่วนหนึ่งของเวียดนามให้จีนเพื่อแลกเปลี่ยนกับคำสัญญามิให้รุกรานดินแดนของแมก จีนจึงยกทัพกลับไป และต่อมาปักกิ่งก็ประกาศยอมรับราชวงศ์แมกที่ตั้งขึ้นใหม่ (โจเซฟ บัตตินเจอร์, 2522, หน้า 35)
ต่อมาใน พ.ศ. 2083 เหงียม คิม หัวหน้ารัฐบาลลี้ภัยในนามของเชื้อสายนราชวงศ์เลได้ยึดเวียดนามจากพวกแมกด้วยความช่วยเหลือจากกษัตริย์ลาว เวียดนามจึงถูกแบ่งออกเป็นสองภาค คือ ภาคเหนือกับภาคใต้ เหงียน คิม ได้ควบคุมครึ่งหนึ่งของภาคใต้ ถั่น หัวและริมฝั่งสันดอนปากแม่น้ำแดงแต่เหงียนคิมถูกฆ่าตายในปีนั้นพวกแมกก็กลับคุมอำนาจอย่างมั่นคงในภาคเหนือ แต่กลับปรากฎการก้าวหน้าขึ้นมามีอำนาจของตระกูลตรินท์ ดังนั้น ดินแดนเวียดนามจึงถูกแบ่งอีกครั้งออกเป็น 3 ส่วน คือ ราชวงศ์แมก ปกครองเวียดนามเหนือฮานอยเป็นเมืองหลวง ราชวงศ์ตรินท์ปกครองเวียดนามกลางโดยมีเมืองเว้เป็นเมืองหลวง ตระกูลเหงียนซึ่งต่อมาเป็นราชวงศ์เหงียน ได้ปกครองเวียดนามใต้ ซึ่งมีไซ่ง่อนเป็นเมืองหลวง ตระกลูตรินท์ต้องใช้เวลาทำสงครามกับพวกแมกถึงเกือบ 60 ปี ก่อนที่จะขับไล่พวกของแมกออกจากฮานอยได้ และตั้งราชวงศ์เลขึ้นเป็นประมุขเวียดนามอย่างเป็นทางการ(โจเซฟ บัตตินเจอร์, 2522, หน้า 35)
หลังจากราชวงศ์แมกหมดอำนาจไปแล้ว ตระกูลตรินท์ก็คุมอำนาจทั้งหมดอยู่ที่ฮานอย โดยหัวหน้าตระกูลตรินท์คอยควบคุมกองทัพของราชวงศ์เล ดังนั้น ตระกูลตรินทร์จึงสามารถกำหนดฐานะของตนในฐานะผู้นำที่แท้จริงของเวียดนามด้วยการตั้งตนเองเป็นเจ้าสืบเชื้อสายกับควบคุมอำนาจรัฐบาล โดยยังปล่อยให้ราชวงศ์เลครองราชบัลลังก์แต่เพียงในนาม (โจเซฟ บัตตินเจอร์, 2522, หน้า 35)
แต่ขณะที่ตระกูลตรินท์นำขบวนต่อต้านพวกแมกอยู่นั้น เหงียน หอง ซึ่งเป็นบุตรที่เหลืออยู่ของเหงียน คิม ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงประจำภาคใต้ เหงียน หอง บริหารดินแดนเหล่านั้นให้เจริญและรอดพ้นภัยสงครามจากส่วนอื่นๆ ของเวียดนาม ดังนั้นเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ตระกูลเหงียนจึงสามารถฟื้นฟูอำนาจตัวเองเข้ามาครอบครองเวียดนามใต้ได้ (โจเซฟ บัตตินเจอร์, 2522, หน้า 35)
เหงียน หอง สิ้นชีวิตลงใน พ.ศ. 2156 หลังจากปกครองประเทศมายาวนานและประสบผลสำเร็จไปด้วยดี เหงียน หองก็ได้มอบให้แก่บุตรชายคนโตปกครองภาคใต้ต่อไปนับตั้งแต่นั้นมาตระกูลเหงียนก็ปกครองภาคใต้อย่างเต็มตัวเช่นเดียวกับตระกูลตรินท์ที่ปกครองในภาคเหนือ ดังนั้น ประเทศเวียดนามจึงแบ่งการปกครองออกเป็นสองส่วนอีกครั้ง โดยทั้งตระกูลตรินท์และตระกูลเหงียนต่างก็ให้เกียรติแก่กษัตริย์เลว่าเป็นผู้ปกครองโดยชอบธรรม
ต่อมา ใน พ.ศ. 2163 ตระกูลตรินท์พยายามวางแผนกำจัดตระกูลเหงียน แต่ไม่สำเร็จ ทำให้ตระกูลเหงียนเลิกส่งภาษีให้กับรัฐบาลที่ฮานอย ดังนั้น ตระกูลตรินท์จึงเริ่มทำสงครามโจมตีตระกูลเหงียนครั้งใหญ่ทั้งทางบกและทางทะเล แต่การทำสงครามโจมตีฝ่ายใต้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ถึงแม้ว่าทางภาคใต้อยู่ในฐานะเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ และฝ่ายเหนือมีอำนาจมากกว่าก็ตาม เนื่องจากฝ่ายใต้ได้ใช้ที่ราบริมฝั่งทะเลแคบๆให้เป็นประโยชน์ จนสามารถขับไล่กองทัพที่เข็มแข็งกว่าของฝ่ายเหนือไปได้ โดยตระกูลเหงียนได้สร้างกำแพงมหึมาขึ้นสองแห่ง ดังนั้น ในการรบที่สำคัญๆ ตระกูลตรินท์ไม่สามารถข้ามกำแพงนี้มาได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว ในที่สุดฝ่ายเหนือต้องใช้เวลาถึง 50 ปี (ตั้งแต่ พ.ศ. 2163-พ.ศ. 2217 ) ที่จะประจักษ์ว่ามิอาจรวมประเทศเวียดนามได้ด้วยการทำสงคราม (โจเซฟ บัตตินเจอร์, 2522, หน้า 35-37)
ในระหว่างการทำสงครามดังกล่าวพวกขุนนางตระกูลตรินท์ได้ขึ้นครองราชย์แทนราชวงศ์เลในพ.ศ.2183 และยังได้ประกาศตัวเป็นศัตรูกับธรรมฑูตคณะเยสุอิตที่ได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์เล นอกจากนี้บ้านเมืองยังเต็มไปด้วยการรีดนาทาเร้นและกระทำการโหดร้ายทารุณ โดยชนชั้นขุนนางและข้าราชสำนัก จะพบว่าในราชสำนักได้ผลาญเงินงบประมาณหมดไปมาก เช่น มีการก่อสร้างปราสาทราชวังและวัดวาอาราม ตลอดจนพิธีการ มีงานเฉลิมฉลองอย่างหรูหรา ดังนั้นในขณะที่พวกเจ้าตระกูลตรินท์ใช้ชีวิตอยู่ท่านกลางความเสเพลและความฟุ่มเฟือยนั้น บ้านเมืองก็ได้การแบ่งแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า และมีการแก่งแย่งชิงดีในราชสำนัก (เหงียนคักเวียน, 2545, หน้า 95 )
หลังจากขึ้นครองราชย์แล้วราชวงศ์ตรินท์ ก็ยังเห็นความจำเป็นที่ต้องปราบขุนนางตระกูลเหงียนซึ่งได้รับมอบอำนาจจากราชสำนักให้เป็นรัฐบาลท้องถิ่นปกครองมณฑลโคชินจีนต่อไป เนื่องจากข้าหลวงตระกูลเหงียนไม่พอใจที่ตระกูลตรินท์เข้ามาแย่งอำนาจราชวงศ์เล ในราชสำนัก ดังนั้น ตระกูลเหงียนจึงแข็งข้อไม่ยอมรับคำสั่งของราชวงศ์ตรินท์ที่ขึ้นมาแทนราชวงศ์เล (ผุสดี จันทวิมล, 2541, หน้า 11 )
การเกี่ยวข้องของศาสนาคาทอลิกกับสงครามกลางเมืองในเวียดนาม เริ่มต้นจากความสัมพันธ์ของตระกูลเหงียนกับธรรมฑูตคณะเยสุอิต เพราะในระยะแรกตระกูลเหงียนต้องการความช่วยแหลือจากคณะเยสุอิต เพื่อช่วยต่อสู้กับตระกูลตรินท์ในตังเกี๋ย ทั้งๆ ที่ใจจริงก็ไม่ชอบศาสนาคริสต์เป็นอันมาก (ผสุดี จันทวิมล, 2541, หน้า 11)
ต่อมาใน พ.ศ. 2197 ราชวงศ์ตรินท์ต้องการความช่วยเหลือจากมหาอำนาจตะวันตกเพื่อต่อสู้กับตระกุลเหงียนเช่นเดียวกัน ราชวงศ์ตรินท์จึงให้ฮอลันดามาตั้งฐานการค้าในเมืองหลวงที่ฮานอย ฮอลันดาตอบแทนการกระทำดังกล่าวด้วยการสนับสนุนราชวงศ์ตรินท์อย่างแข็งขัน ดังนั้นราชวงศ์ตรินท์นอกจากมีกำลังที่เข็มแข็งกว่าตระกูลเหงียนแล้ว ยังได้รับความช่วยเหลือจากฮอลันดาในเวียดนามด้วย ดังนั้น ตระกูลเหงียนจึงจำเป็นต้องดึงโปรตุเกสเข้ามา ซึ่งทำให้โปรตุเกสต้องขัดแย็งกับฮอลันดาอย่างเปิดเผย ในการไปเข้าข้างกับตระกูลเหงียนนั้น โปรตุเกสให้ความช่วยเหลือทางทหารในรูปของอาวุธและคำแนะนำทางทหาร ทำให้ตระกูลเหงียนสามารถยันกำลังที่เหนือกว่าของพวกตระกูลตรินท์ไว้ได้ การที่ฮอลันดาไปสนับสนุนราชวงศ์ตรินท์ทำให้ตระกูลเหงียนโกรธแค้นฮอลันดา ดังนั้นเมื่อโปรตุเกสมายุแหย่จึงทำให้ความโกรธแค้นของตระกูลเหงียนรุนแรงขึ้น จนฮอลันดาต้องถูกขับไล่ออกจากภาคใต้ของเวียดนาม (โจเซฟ บัตตินเจอร์, 2522, หน้า 47)
การทำสงครามระหว่างราชวงศ์ตรินท์และตระกูลเหงียน ภายใต้การสนับสนุนของประเทศมหาอำนาจทั้งสอง คือ ฮอลันดาและโปรตุเกส ได้ดำเนินมาเป็นเวลา 50 ปีถึง พ.ศ. 2216 ก็ได้ยุติลงด้วยการทำสัญญาสงบศึกและสันติภาพก็ดำรงมาได้อีก 100 ปี (โจเซฟ บัตตินเจอร์, 2522, หน้า 37)
ผลกระทบของสงครามกลางเมืองในประเทศเวียดนามมีผลไปสู่การเบียดเบียนคาทอลิกตั้งแต่ต้นคริสตศตวรรษที่ 17 เป็นต้น ถึงแม้ว่าราชวงศ์คู่สงคราม จะเห็นความสำคัญของธรรมฑูตในฐานะฑูตหรือคนกลางที่จะติดต่อกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก แต่ในที่สุดแล้วทั้งราชวงศ์ตรินท์และราชวงศ์เหงียนต่างก็มีนโยบายเบียดเบียนศาสนาคาทอลิกเหมือนๆ กัน กลุ่มคาทอลิกที่มักได้รับการเบียดเบียนมาก ได้แก่คณะธรรมฑูตตะวันตก โดยเฉพาะคุณพ่อชาวโปรตุเกส และชาวเวียดนามที่นับถือคาทอลิก ตัวอย่างเช่น ในสมัยกษัตริย์เหงียนวุงแห่งราชวงศ์เหงียน พระองค์ได้สั่งห้ามไม่ให้เผยแพร่ศาสนาคริสต์ นอกจากนี้พระองค์ยังได้ฆ่าชาวพื้นเมืองหลายคนที่นับถือศาสนาคริสต์ เนื่องจากพระองค์ทรงโกรธแค้นที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือในการทำสงครามกับราชวงศ์ตรินท์ในตังเกี๋ย
การเบียดเบียนศาสนาคาทอลิกในประเทศเวียดนามที่ดำเนินมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 17 ได้เพิ่มระดับความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในสมัยพระเจ้ามินห์วุงหรือเหงียนฟุกชู พระองค์ได้ทำการเบียดเบียนศาสนาคาทอลิกจนคาทอลิกเวียดนามต้องเสียชีวิตไปถึง 80,000-130,000 คน การเบียดเบียนศาสนาได้ดำเนินมาจนถึงปลายศตวรรษที่ 17 กลุ่มคาทอลิกเวียดนามซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชั้นล่างที่ยากจนและไร้อำนาจไม่สามารถทนได้อีกแล้วกับการข่มเหงรังแกของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการเผาโบสถ์และการจับธรรมฑูตขังคุก ดังนั้น กลุ่มคาทอลิกเวียดนามเหล่านี้จึงได้หนีออกจากประเทศเวียดนามมายังสยาม ในสมัยพระนารายณ์มหาราชซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอาณาจักรที่ให้เสรีภาพในการนับถือศาสนาคาทอลิกเหล่านี้ใช้เส้นทางบกเดินทางจากอันนัมในเขตตังเกี๋ยมายังโคชินจีน ซึ่งอยู่ทางใต้สุดของเวียดนามหลังจากนั้นจึงได้ใช้เส้นทางเดินเรือเข้ามาสู่อ่าวไทย ผู้อพยพชาวเวียดนามดังกล่าวได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่กรุงศรีอยุธยาและจันทบุรีตามลำดับ (ผสุดี จันทวิมล, 2541, หน้า 23; ธัญญาทิพย์ ศรีพนา, 2548, หน้า 13; ดี.จี.อี ฮอลล์, 2526, หน้า 493-440)
นอกจากการอพยพครั้งแรกเพื่อหนีการเบียดเบียนศาสน ของกลุ่มคามทอลิกเวียดนามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการอพยพเข้ามายังสยามอีกหลายครั้ง