-
Category: ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวเวียดนามคาทอลิกในประเทศไทย
-
Published on Monday, 19 October 2015 04:35
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2002
ประเทศมหาอำนาจที่นับถือคาทอลิก ได้เข้ามามีบทบาททางการค้ากับเวียดนามเป็นประเทศมหาอำนาจที่เกิดขึ้นใน “ยุคการค้นพบโลกใหม่” ยุคการค้นพบโลกใหม่นี้หมายถึง ช่วงที่ประเทศมหาอำนาจใหม่ยุโรป เช่น ประเทศโปรตุเกสหรือสเปน ใช้นโยบายล่าอาณานิคมไปดินแดนต่างๆ ของโลก โดยอาศัยกองทัพเรือ ทำให้ประเทศเหล่านี้ไปค้นพบดินแดนใหม่นอกทวีปยุโรป เช่น อเมริกา หรือ ละตินอเมริกา เป็นต้น
การค้นพบโลกใหม่หรือดินแดนใหม่นอกทวีปยุโรปทำให้เกิดการฟื้นฟูความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่ระหว่างประเทศมหาอำนาจที่นับถือคาทอลิกกับพระศาสนจักรคาทอลิก กล่าวคือ หลังจากสิ้นสุดยุคกลางมาจนกระทั่งปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 มีเหตุการณ์สำคัญคือการค้นพบทวีปอเมริกา โดยคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ใน พ.ศ. 2053 การค้นพบดังกล่าวทำให้พระศาสนจักรต้องมาทบทวนภารกิจการแพร่ธรรมในดินแดนใหม่นี้ด้วย สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 จึงได้ทรงขอกัปตันเรือทุกลำที่เดินทางไปดินแดนใหม่ได้นำพระสงฆ์ไปด้วยเพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ศาสนา เจตนารมณ์ดังกล่าวของพระศาสนจักรได้นำไปสู่การทำสัญญาอย่างเป็นทางการ (contracts) เพื่อให้กษัตริย์โปรตุเกสและสเปนมีอภิสิทธิ์ในการแพร่ธรรมในดินแดนใหม่ที่ค้นพบใหม่แทนพระศาสนจักร สัญญาที่พระศาสนจักรทำกับประเทศมหาอำนาจเหล่านี้เรียกระบบปาโดรอาโอ (Padroado) (กอสกอง กรูตัวส์, ม.ป.ป. ก, หน้า 38 )
ปาโดรอาโดจึงเป็นสัญญาที่ทำขึ้นหว่างพระศาสนจักรกับรัฐ เมื่อมีการค้นพบโลกใหม่ และนำไปสู่ยุคล่าอาณานิคมตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา การมีผลประโยชน์ร่วมกัน ในอาณานิคมระหว่างพระศาสนจักรและอาณาจักร ทำให้อำนาจทั้งสองที่ต้องแยกกันมาตั้งแต่ปลายยุคกลางกลับมาประสานผลประโยชน์กันอีกครั้งหนึ่งในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาการของกรีก (Renaissance) ของทวีปยุโรป(วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 3)
การขยายตัวเข้ามาทวีปเอเชียของลัทธิล่าอาณานิคมนั้น เป็นผลมาจากการลากเส้นแบ่งโลกออกเป็นสองฝั่งของพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เพื่อประนีประนอมผลประโยชน์และจัดการตวามขัดแย้งระหว่างโปรตุเกสและสเปน การลากเส้นแบ่งดินแดนของโลกออกเป็น 2 ซีก โดยเส้นสมมติจากขั้วโลกใต้จะพบว่าด้านซีกตะวันตก ซึ่งครอบคลุมเฉพาะแค่ทวีปอเมริกานั้นให้เป็นของสเปน ส่วนทางซีกตะวันออกให้เป็นของโปรตุเกส แต่ยังไม่มีข้อตกลงสำหรับทวีปเอเชียและแปซิฟิค ดังนั้น เมื่อสเปนออกเดินทางจากเม็กซิโก ไปทางตะวันตกต่อก็พบประเทศฟิลิปปินส์และเข้ายึดเป็นของตน ส่วนโปรตุเกส ก็เดินทางต่อมาถึงตะวันออกถึงอินเดียและมะละกาก็ยึดดินแดนเป็นของตนเช่นกัน (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 8)
ยุทธศาสตร์หลักของลัทธิล่าอาณานิคมในเอเชียตะวันออกไกล พบว่ามีเป้าหมายอยู่ที่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม เป็นสำคัญ ดังนั้นในการขยายดินแดนของมหาอำนาจโปรตุเกส และสเปนในเอเชียนั้นเราจะพบว่ามีศูนย์เพื่อการแพร่ธรรมในเอเชียเกิดขึ้น 2 แห่ง คือ มะละกา และมาเก๊าของโปรตุเกสรวมทั้งฟิลิปปินส์ของสเปน (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 8)
ในกรณีประเทศเวียดนามได้ถูกวางเป้าหมายว่าเป็นยุทธศาสตร์หนึ่ง ของระบบปาโดรอาโดนั้น ก็เนื่องจากประเทศเวียดนามมีเขตแดนยาวติดทะเลอย่างกว้างขวาง ทำให้ประเทศมหาอำนาจจากตะวันตกสามารถเข้าประเทศเวียดนามโดยทางเรือได้อย่างสะดวก (ไกรฤกษ์ นานา, 2550, หน้า 23)
บทบาทของมหาอำนาจในประเทศเวียดนามเป็นปัจจัยเชิงเงื่อนไขที่มีผลต่อการอพยพของคาทอลิกเวียดนาม เนื่องจากประเทศมหาอำนาจเป็นผู้นำพาศาสนาคาทอลิกเข้ามาฝั่งรากลึกในเวียดนาม คือ เมื่อประเทศโปรตุเกสมาถึงเวียดนามใน พ.ศ. 2078 และตัดสินใจให้ไฟโฟเป็นศูนย์กลางทางการค้า ต่อมาเมืองไฟโฟก็กลายเป็นท่าเรือนำสินค้าต่างชาติเข้าโคชินจีน หลังจากนั้นได้เชิญคุณพ่อเยสุอิตกลุ่มหนึ่ง มาจากมาเก๊ามาทำงานแพร่ธรรม คณะธรรมฑูตชุดแรก 2 คนคนหนึ่งเป็นชาวอิตาเลียน และอีกคนหนึ่งเป็นขาวโปรตุเกส นอกจากนี้ยังมาฆราวาสที่ร่วมทำงานกับคณะธรรมฑูตที่เมืองไฟโฟด้วย ชื่อ คริสโตโฟโร บอร์รี โดยบอร์รีถือได้ว่าเป็นชาวยุโรปคนแรกที่เขียนเรื่องเกี่ยวกับประเทศเวียดนามและชาวเวียดนาม
การที่โปรตุเกสเลือกคณะเยสุอิตมาทำงานในเวียดนามก็เนื่องจากคณะเยสุอิตเป็นคณะธรรมฑูตชุดแรกที่เข้ามาแพร่ธรรมในทวีปเอเชีย โดยพุ่งเป้าหมายไปที่ประเทศจีนและญี่ปุ่นเป็นสำคัญ แต่หลังจากถูกขับไล่ออกจากญี่ปุ่น คณะเยสุอิตจึงได้ย้ายมาแพร่ธรรมในประเทศเวียดนาม การนำคณะเยสุอิตเข้ามาของโปรตุเกส ทำให้การแพร่ธรรมของคณะเยสุอิตในเวียดนามได้รับความสำเร็จมากกว่าประเทศใดๆ ในเอเชียยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์ (ไกรฤกษ์ นานา, 2550, หน้า 23)