-
Category: ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวเวียดนามคาทอลิกในประเทศไทย
-
Published on Monday, 19 October 2015 04:35
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2179
การแพร่ธรรมคาทอลิกตามพงศาวดารเวียดนามระบุไว้ว่าเริ่มแรกมีคุณพ่อรูปหนึ่งใช้นาม อิกนาซีโอได้เดินทางมายังเวียดนามตั้งแต่ พ.ศ. 2076 และเทศนาสั่งสอนในมณฑลนามดินห์ ต่อมาคุณพ่อสเปนอีกท่านในคณะโดมินิกันชื่อ ดีเอโก แอเวอร์เต ก็เดินทางมาถึงเวียดนามใน พ.ศ. 2139 คุณพ่อได้รับอนุญาตให้อยู่แพร่ธรรมในเวียดนามได้ชั่วคราว แต่เมื่อคุณพ่อมาอยู่ได้ไม่นานก็ปรากฏเรือรบสเปนเข้ามาในเวียดนาม จึงทำให้ผู้มีอำนาจของเวียดนามเกิดความสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับรัฐสเปนและขับไล่คุณพ่อดังกล่าวออกไปพร้อมกับเรือสเปนที่มา (โจเซฟ บัตตินเจอร์, 2522, หน้า 45-46)
การแพร่ธรรมในเวียดนามเริ่มขึ้น เมื่อโปรตุเกสมาตั้งศูนย์กลางการค้าที่เมืองไฟโฟตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้นการแพร่ธรรมในระบบปาโดรอาโดพบว่าในภาคปฎิบัตินั้นปรากฏว่าอำนาจในการแพร่ธรรมของพระศาสนจักรกลับตกไปอยู่ในมือของประเทศโปรตุเกสและสเปน การกระทำดังกล่าวทำให้แพร่ธรรมต้องปะปนไปกับการล่าอาณานิคมและแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าทาสที่เกิด ไม่ว่าจะเป็นทาสชาวอินเดียหรือ แอฟริกัน (กาสกอง กรูตัวส์, ม.ป.ป. ก, หน้า 5-14)
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นำความเสื่อมเสียมาสู่พระศาสนจักรอย่างมาก นอกจากนี้ธรรมฑูตคณะต่างๆภายใต้ระบบโดรอาโดก็มักจะละเลยหน้าที่ในการแพร่ธรรมตามจิตตารมณ์ที่ถูกต้อง โดยพระศาสนจักรไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้เลย ดังนั้น พระศาสนจักรจึงพยายามดึงอำนาจในการแพร่ธรรมกลับมาโดยใน พ.ศ. 2165 พระศาสนจักรได้ตั้งสมณะกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ หรือที่รู้จักกันในนามโปรปากันดา ฟีเด (Propaganda Fide) เพื่อดึงอำนาจการแพร่ธรรมกลับคืนมา สมณะกระทรวงใหม่นี้ทำหน้าที่เผยแพร่ศาสนาโดยตรง ดังนั้น “มิสซัง” (mission) จึงถูกนำมา ใช้ตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไป เพราะคำว่ามิสซังหมายถึงการส่งผู้แทนของพระสันตะปาปา (Apostolic Vicars) ออกไปทำงาน (คุณพ่อธีรพล กอบวิทยากุล, ม.ป.ป, หน้า 18; สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย, 2550, หน้า 20)
ดังนั้น ในเวลาต่อมาสมณกระทรวงฯจึงได้เข้ามารับชอบจดส่งธรรมฑูตภายใต้การดูแลของผู้แทนองค์พระสันตะปาปา เพื่อทำงานแพร่ธรรมในดินแดนต่างๆ ดังคำกล่าวที่ว่า (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 12)
“การมอบอำนาจแพร่ธรรมให้แกฝ่ายอาณาจักรที่ออกไปแสวงหาอาณานิคมต่างแดนนั้นได้สร้างปัญหาให้แก่พระศาสนจักรในการควบคุมการแพร่ธรรมเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะสันตะปาปาไม่มีอำนาจที่แท้จริงต่องานเผยแพร่ศาสนาดังกล่าว บรรดาธรรมฑูตที่ติดตามกองทัพจึงมักตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายอาณาจักร และความละโมบได้ของมหาอำนาจตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตุเกสและสเปนมักใช้สิทธิดังกล่าวที่พระสันตะปาปามอบให้ เป็นเครื่องมือทางการเมืองและกีดกันการแพร่ธรรมกันเองโดยมีผลประโยชน์ทางการค้าอยู่เบื้องหลัง ส่งผลให้ดินแดนแพร่ธรรมเหล่านั้นเข้าใจว่าบรรดาธรรมฑูตเหล่านี้ออกไปกับพวกทหารเลย สิ่งที่โรมพยายามทำต่อไปเพื่อแก้ปัญหานี้คือ ต่อไปนี้โรมจะส่งผู้เผยแพร่ศาสนาออกไปโดยตรงและรับคำสั่งจากโรมเท่านั้น”
พระศาสนจักรที่กรุงโรม ได้ชี้ได้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างการทำงานแพร่ธรรมระหว่างสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อกับระบบปาโดรอาโดอันเดียวกัน คือ สมณะกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อจะเน้นการแพร่ธรรมโดยอาศัยความสมัครใจเป็นหลักในขณะที่รัฐมหาอำนาจ เช่น ประเทศโปรตุเกส หรือสเปน จะใช้บังคับให้คนพื้นเมืองเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา ความแตกต่างดังกล่าวที่ว่า (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533, หน้า 13)
“การแพร่ธรรมควรอยู่บนฐานของความรู้ที่ถูกต้อง สิ่งแรกที่ท่านกระทำคือ รวบรวมข้อมูลให้มากที่สุดเกี่ยวกับสถานการณ์เผยแพร่ศาสนาขณะนั้นในทุกส่วนของโลก หลังจากนั้นท่านจึงตัดสินใจกำหนดแนวทางแพร่ธรรม กล่าวคืองานแพร่ธรรมจะต้องเป็นอิสระจากการขู่บังคับอย่างที่สเปนและโปรตุเกสได้กระทำอยู่ จะต้องมีพระสังฆราชคาทอลิก ในดินแดนเหล่านี้มากขึ้น และบรรดาพระสังฆราชเหล่านี้จะต้องมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรุงโรม คุณพ่อพื้นเมืองจะต้องมีมากขึ้น และได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ในทุกส่วนของโลก ความเชื่อของคริสตังจะต้องแยกออกจากความสัมพันธ์ของอาณานิคม ซึ่งถูกประณามในทุกหนแห่งในฐานะที่เป็นศาสนาต่างชาติ”
ภายใต้กลไกการแพ่ธรรมที่ดำเนินการโดยพระศาสนจักรคาทอลิกเอง คือ สมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ พบว่าใน พ.ศ. 2168 คุณพ่อฝรั่งเศสของคณะเยสุอิต คนหนึ่งได้เดินทางเข้ามาในเวียดนาม ได้แก่ คุณพ่ออเล็กชานเดอร์ เดอ โรดส์ คุณพ่อเดอโรดส์เป็นนักบวชที่มีความเร่าร้อนในการแพร่ธรรม และเป็นผู้มีสติปัญญาเฉียบแหลม กล่าวคือท่านสามารถเรียนรู้ภาษาเวียดนามภายในเวลาเพียง 6 เดือน หลังจากที่เดินทางมาถึงเวียดนาม และเริ่มเทศน์ในมิสซาเป็นภาษาเวียดนามได้หลังจากนั้นคุณพ่อเดอโรดส์ก็ยังได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับศาสนาคริสต์เป็นภาษาเวียดนามฉบับแรก และจัดพิมพ์ปทานุกรมภาษาเวียดนาม ลาติน และโปรตุเกสขึ้น (คุณพ่อเบอร์นาร์ด กิมแมงต์, สัมภาษณ์, 6 พฤศจิกายน 2551)
การทำงานเผยแพร่ศาสนาของคุณพ่อเดอโรดส์ในประเทศเวียดนามได้รับความสำเร็จค่อนข้างสูงดังจะเห็นได้จากการทำงานภายในเวลา 3 ปี ท่านได้โปรดศีลล้างบาปแก่ชาวพื้นเมืองถึง 6,700 คนในจำนวนนี้มีพระภิกษุอยู่ถึง 200 รูป ชาวเวียดนามที่ล้างบาปมาเป็นคาทอลิกส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านที่ยากจนในชนชั้นล่างของสังคมเวียดนาม ส่วนชนชั้นสูงมักไม่เข้ารีตเนื่องจากจักรพรรดิเวียดนามส่วนใหญ่มักมีท่าทีต่อต้านคริสต์ศาสนา และมีความหวั่งเกรงเป็นพิเศษ ในความสำเร็จของงานแพร่ธรรมของคุณพ่อเดอโรดส์ ดังนั้น ใน พ.ศ. 2170 คุณพ่อเดอโรดส์ ซึ่งขณะนั้นอายุ 37 ปี จึงต้องถูกส่งไปยังฮานอย (คุณพ่อโรแบต์ โกสเต, 2549, หน้า 65; โจเซฟ บัตตินเจอร์, 2522, หน้า 46)
อย่างไรก็ตามการทำงานของคุณพ่อเดอโรดส์ ยังต้องประสบปัญหาอุปสรรคจากปาโดรอาโดภายใต้การขับเคลื่อนของโปรตุเกส เนื่องจากการทำงานแพร่ธรรมต้องขึ้นอยู่กับอำนาจการตัดสินใจของพระสังฆราชที่ได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์โปรตุเกส มิใช่เป็นเจตนารมณ์ทางศาสนาเป็นหลัก คุณพ่อเดอโรดส์จึงพยายามแก้ปัญหานี้ โดยเดินทางไปโรมเพื่อขอให้สมณะกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ แต่งตั้งพระสังฆราชในฐานะผู้แทนพระสันตะปาปาโดยตรงมาทำงานที่ประเทศเวียดนาม ภารกิจของงานแพร่ธรรมในเวียดนาม ก็คือบวชคุณพ่อที่เป็นคนพื้นเมืองให้สามารถทำงานเผยแผ่ศาสนาคาทอลิกด้วยตัวของตัวเอง คุณพ่อเดอโรดส์ยังได้เดินทางไปกรุงปารีสในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2193 เพื่อทำให้เจตนารมณ์ของท่านบรรลุผลสำเร็จ (คุณพ่อธีรพล กอบวิทยากุล, ม.ป.ป., หน้า 25; คุณพ่อเบอร์นาร์ด กิมแมงต์, สัมภาษณ์, 6 พฤศจิกายน 2551)
คุณพ่อเดอโรดส์ได้ผลักดันภารกิจของท่านเป็นเวลาถึง 3 ปี แต่ทางกรุงโรมก็ให้คำตอบว่าพระศาสนจักรยังขาดแคลนพระสังฆราชที่จะไปทำงานในประเทศเวียดนาม ดังนั้นใน พ.ศ. 2100 คุณพ่อเดอโรดส์จึงได้โปรดไปขอความช่วยเหลือจากคณะศีลมหาสนิท (Bons Amis) ซึ่งเป็นกลุ่มนักบวชและฆราวาสรวมตัวกันทำกิจกรรมเกี่ยวกับศีลมหาสนิทในประเทศฝรั่งเศส ในกลุ่มศีลมหาสนิทมีคุณพ่อปัลลือซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับคุณพ่อเดอโรดส์เป็นสมาชิกอยู่ด้วย คณะศีลมหาสนิทได้สนับสนุนแนวคิดการบวชพระสงฆ์พื้นเมืองเพื่อทำงานแพร่ธรรมในประเทศเวียดนาม ดังนั้น คุณพ่อเดอโรดส์จึงได้เคลื่อนไหวขอความร่วมมือจากสภาพระสังฆราชฝรั่งเศส เพื่อเสนอต่อทางกรุงโรม สภาพระสังฆราชฝรั่งเศสได้เขียนจดหมายถึงสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ ว่าทางสภาพระสังฆราชฝรั่งเศส มีทุนทรัพย์พร้อมที่จะสนับสนุนการตั้งสังฆมณฑลในประเทศเวียดนาม ในขณะเดียวกันคุณพ่อปัลลือและคุณพ่อลัมแบรต์ก็ได้เดินทางไปโรม เพื่อดำเนินการเรื่องนี้ใน พ.ศ. 2200 หลังจากที่ทางสมณะกระทรวงเผยแพร่คงามเชื่อแห่งกรุงโรมได้รับจดหมายจากสภาพระสังฆราชฝรั่งเศสก็ได้ดำเนินการตั้งพระคาร์ดินัลในฐานะที่ปรึกษาของพระสันตะปาปาศึกษาเรื่องการตั้งสังฆมณฑลในประเทศเวียดนามให้แล้วเสร็จภายใน 6 สัปดาห์ (คุณพ่อธีรพล กอบวิทยากุล, ม.ป.ป., หน้า 25; คุณพ่อเบอร์นาร์ด กิมแมงต์, สัมภาษณ์, 6 พฤศจิกายน 2551)
หลังจากคุณพ่อเดอโรดส์ได้ถึงแก่มรณภาพไปแล้ว ใน พ.ศ. 2201 ทางกรุงโรมจึงได้อนุมัติให้มีการวางแผนการดำเนินงานแพร่ธรรมในเวียดนามตามที่คุณพ่อเดอโรดส์เสนอไว้ การวางแผนดังกล่าวได้รับการขัดขวางจากประเทศโปรตุเกสในฐานะที่มีพระสังฆราชของระบบปาโดรอาโดในประเทศเวียดนามอยู่แล้ว แต่แผนก็ได้รับการสนับสนุนจากพระสงฆ์ที่เป็นผู้นำพระศาสนจักรในประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อชาร์ล เดอ ปอล ซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญคนหนึ่งของพระศาสนจักรคาทอลิก
หลังจากการศึกษาเรื่องดังกล่าวทางสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ เห็นด้วยกับการตั้งสังฆมณฑลใหม่ในประเทศเวียดนาม โดยการแต่งตั้งพระสังฆราช 3 องค์ จากพระสงฆ์ฝรั่งเศสให้เป็นผู้แทนของพระสันตะปาปา คือ คุณพ่อปัลลือ และคุณพ่อลัมแบรต์ และคุณพ่อโกโตแลนดี ให้รับผิดชอบงานแพร่ธรรมในภูมิภาคตะวันออกไกล ซึ่งรวมประเทศเวียดนามด้วย การแต่งตั้งพระสังฆราชของสมณกระทรวงเผยแพร่ความเชื่อ มาทำงานในประเทศเวียดนามได้รับการต่อต้านจากระบบปาโดรอาโดของโปรตุเกสในระยะแรกๆ แต่ในเวลาต่อมาคุณพ่อคณะเยสุอิตที่ทำงานในระบบปาโดรอาโดก็ยอมรับอำนาจของพระสังฆราชทั้งสอง (คุณพ่อธีรพล กอบวิทยากุล, ม.ป.ป., หน้า 25; คุณพ่อเบอร์นาร์ด กิมแมงต์, สัมภาษณ์, 6 พฤศจิกายน 2551)