-
Category: ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวเวียดนามคาทอลิกในประเทศไทย
-
Published on Monday, 19 October 2015 04:35
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2415
กระแสการอพยพช่วงที่ 2 ของคาทอลิกเวียดนามมาจันทบุรีเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2376-2377 โดยมีมูลเหตุสำคัญ คือ ทางการเวียดนามได้ออกประกาศห้ามไม่ให้ชาวเวียดนามนับถือคาทอลิก และจับคริสตชนเวียดนามลงโทษในรูปแบบต่างๆการเบียดเบียนศาสนาคาทอลิกเป็นผลมาจากนโยบายปิดประเทศของราชสำนัก ราชวงศ์เหงียนไม่ติดต่อค้าขายกับต่างชาติ โดยเฉพาะชาติตะวันตก นโยบายดังกล่าวทำให้รัฐบาลมีความคิดล้าหลังและต่อต้านการปฎิรูป จักรพรรดิมินมางของราชวงศ์เหงียนนั้นกลับไปส่งเสริมให้มีการศึกษาลัทธิขงจื๊อ เพื่อช่วยสนับสนุนระบบการปกครอง จอห์น เค วิทมอร์ได้วิพากษ์แนวทางนี้ไว้ว่าการศึกษาลัทธิขงจื้อในเวียดนามนั้นไม่ได้ศึกษาในเชิงปรัญชาดังเช่นที่เกิดในจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลี แต่มักจะศึกษาลัทธิขงจื๊อเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ และนำการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคนในสังคมมากกว่า (สุด จอนเจิดสิน, 2544, หน้า 6)
จักรพรรดิมินมางทรงมีความเลื่อมใสศรัทธาลัทธิขงจื๊อ และนิยมชมชอบวัฒนธรรมจีนอย่างมาก พระองค์ทรงศึกษาลัทธิขงจื๊อเพื่อนำมากำหนดระเบียบแบบแผนในการปฎิบัติราชการ ที่สำคัญพระองค์ไม่รับการตีความลัทธิขงจื๊อจากปราชญ์ในภาคเหนือซึ่งปกครองโดยราชวงศ์ตรินท์ แต่เลือกรับการศึกษาลัทธิขงจื๊อจากราชสำนักโดยตรง ในขณะเดียวกันทรงเกรงว่าศาสนาคริสต์ซึ่งเป็นอุดทการณ์ใหม่ของชาวคาทอลิกเวียดนามจะเป็นภัยต่อความั่นคงของรัฐ โดยการเข้าไปแทนที่อุดมการณ์แบบขงจื๊อ กล่าวคือ (สุด จอนเจิดสิน, 2544,หน้า 6; ไกรฤกษ์ นานา, 2550, หน้า 25; ดี จี อี ฮอลล์, 2522, หน้า 782 -783)
ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ระหว่างคริสต์ศาสนาและลัทธิขงจื๊อ สะท้อนให้เห็นถึงการจัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับรัฐชนชั้นสูงที่นับถือลัทธิขงจื๊อมองว่า บัญญัติในคริสต์ศาสนานั้นสอนให้แต่ละคนพยายามกระทำตามมโนธรรมของตัวเองเป็นที่ตั้ง ดังนั้น จึงเป็นการกระทำที่ยอกกฎเกณฑ์ลัทธิขงจื๊อที่สังคมเวียดนามยึดถืออยู่ และจะไปทำลายพื้นฐานทางศีลธรรมของลัทธิขงจื๊อ นอกจากนี้คำสอนของคริสต์ศาสนานั้นเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ จึงมีผลให้มโนธรรมของชาวเวียดนามที่นับถือคริสต์ศาสนาเหมือนไปรับคำสั่งจากต่างประเทศ กล่าวโดยสรุปแล้วชนชั้นสูงที่ปกครองเวียดนามเชื่อว่าศาสนาคริสต์มิได้เพียงแต่ผิดศีลธรรมเท่านั้น แต่ยังมุ่งกัดกร่อนอำนาจรัฐบาลด้วย (โจเซฟ บัตตินเจอร์, 2522, หน้า 48)
ในสายตาของนักประวัติศาสตร์เวียดนาม สายมาร์กซิสม์ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องของราชวงศ์เหงียน ความพยายามฟื้นฟูลัทธิขงจื๊อในเวียดนามนั้นเป็นความพยายามในการรักษาอำนาจของกลุ่มศักดินาเป็นสำคัญ ความจำเป็นประการหนึ่งของการหยิบยืมแบบแผนการปกครองของจีนและลัทธิขงจื๊อมาใช้ในการบริหารราชการของเวียดนามนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อการรวมเวียดนามที่แตกแยกมาหลายศตวรรษให้มีเอกภาพ ถึงแม้ว่าภายใต้การปกครองของราชวงศ์เหงียนนั้นก็เต็มไปด้วยความเปราะบางของเสถียรภาพทางการเมืองและโครงสร้างสังคม (สุด จอนเจิดสิน, 2544, หน้า 8)
อย่างไรก็ตามรัฐบาลเวียดนามในสมัยจักรพรรดิมินมาง ก็ได้ฟื้นฟูนโยบายเบียดเบียนศาสนาคาทอลิกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แม้ว่าจักรพรรดิยาลองพระราชพระบิดาของจักรพรรดิมินมางก่อนจะเสด็จสวรรคตพระองค์ทรงมีบัญชาว่า ผู้ที่จะครองเวียดนามสืบต่อมาจะต้องไม่ประหัตประหารผู้ที่นับถือศาสนา 3 ศาสนาในจักรวรรดิของพระองค์ คือ ลัทธิขงจื๊อ พระพุทธศาสนา และคริสต์ศาสนา จักรพรรดิมินมางได้สกัดการขยายตัวของคริสต์ศาสนาด้วยการสั่งควบคุมคุณพ่อคาทอลิกให้อยู่แต่ในพระราชฐานที่เว้ โดยอ้างว่าต้องการความรู้ทางภาษาและความสามารถด้านอื่นๆ ของคุณพ่อเหล่านี้ แต่เมื่อพวกคุณพ่อไม่ยอมทำตามพระองค์ก็ทรงตรากฏหมายห้ามคุณพ่อเข้าประเทศเวียดนาม รวมทั้งขับไล่ธรรมฑูตออกนอกประเทศด้วย (ไกรฤกษ์ นานา, 2550, หน้า 25)
บรรดาข้าราชการพากันคัดค้านการดำเนินนโยบายของพระเจ้ามินมางที่ขัดกับพระราชบัญชาของพระบิดา มีข้าราชการหลายคนเคยเป็นมิตรกับพระสังฆราชปิญโญ เดอ เบแฮน องต๋ากุนข้าหลวงประจำเวียดนามใต้ ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าขันทีในพระราชวังของจักรพรรดิยาลองมาก่อน ได้เขียนจดหมายถวายคำประท้วงต่อจักรพรรดิมินมาง ความว่า “ในปากของเรายังมีข้าวซึ่งคุณพ่อได้ให้เราเมื่อเราอดยาก” การประท้วงดังกล่าวประสบผลชั่วคราว จักรพรรดิมินมางทรงยับยั้งการดำเนินงานเบียดเบียนคาทอลิกในมณฑลทั้งหกทางภาคใต้ของเวียดนาม แต่เมื่อองต๋ากุนได้ถึงแก่กรรมลงใน พ.ศ.2376 ในปีต่อมาพระองค์ก็เริ่มประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฟื้นฟูการประหัตประหารชาวคริสต์อีก แม้แต่สุสานขององต๋ากุนก็ถูกประจานตามพระกระแสรับสั่งของจักรพรรดิ การกระทำอันโหดร้ายดังกล่าวก่อให้เกิดกฎบขึ้นที่เมืองยาดินห์ แต่ถูกปราบลงอย่างทารุณและมีการประหารพระสงฆ์เป็นจำนวนมาก (ดี จี อี ฮอลล์, 2522, หน้า 782-783)
ดังนั้น พระสังฆราชตาแบรด์ และธรรมฑูต 2-3 องค์ พร้อมทั้งสามเณร 20 คน รวมถึงชาวคาทอลิกอีกจำนวนหนึ่งจึงได้หนีภัยทางการเมืองจากเวียดนามในรัชสมัยจักรพรรดิมินมาง อพยพเข้ามายังสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เชิญพระสังฆราชตาแบรด์ไปกรุงเทพฯ เพื่อขอทราบเรื่องการเบียดเบียนศาสนาและการลุกขึ้นต่อต้านจักรพรรดิมินมางในเวียดนาม พระองค์ได้ทรงอนุญาตให้พระสังฆราชและธรรมฑูตอยู่ต่อไปได้ (โจเซฟ บัตตินเจอร์, 2522, หน้า 48; คุณพ่อสรุชัย ชุ่มศรีพันพันธุ์, ม.ป.ป., หน้า 152; ดี.จี.อี. ฮอลล์, 2522, หน้า 603)
กลุ่มคาทอลิกเวียดนามที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่จันทบุรีในช่วงนี้เดิมอาศัยอยู่ที่เมืองเว้ม ในเวียดนามตอนเหนือ โดยมีหัวหน้าเป็นครอบครัวของชนชั้นผู้ดีคือ คนของตระกูลเหงียนและตระกูลเล แต่ในเมืองเว้นั้นอยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลตรินท์ เพราะตระกูลเหงียนนั้นมีอำนาจอยู่ในเวียดนามตอนใต้ ส่วนตระกลูเลนั้นมีอำนาจแต่เพียงในนาม ดังนั้น ชนชั้นผู้ดีเหล่านี้จึงได้นำกลุ่มคาทอลิกอพยพจากเว้มาทางเรือหลบหนีจากการล่าของคนในตระกูลตรินท์ไปพำนักอาศัยอยู่ในเขตประเทศเขมรระยะหนึ่ง โดยจำเป็นต้องปลอมตัวเป็นคนเขมร ดังที่เราจะเห็นได้จากการที่คนเวียดนามของชุมชนวัดโรมันคาทอลิกจันทบุรีในอดีตยังแต่งชุดแบบ “อ๊าวโกเมน” ซึ่งเป็นชุดที่ใส่เพื่อพรางตัวหลบหนีจากคนตระกลูตรินท์ที่ตามล่า (คุณพ่อประยูร รุ่งเรืองผล, สัมภาษณ์, 31 สิงหาคม 2551; ซิสเตอร์อาภา รุ่งเรืองผล, สัมภาษณ์, 19 สิงหาคม 2551)