-
Category: ประวัติศาสตร์ชุมชนชาวเวียดนามคาทอลิกในประเทศไทย
-
Published on Wednesday, 30 September 2015 02:30
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3534
ประวัติวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน
กลุ่มคริสตชนวัดสามเสน เป็นกลุ่มของคริสตังญวณที่หนีการเบียดเบียนศาสนา ในประเทศอันนัมเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับกองทัพไทย ที่พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งไปสู้รบกับกองทัพของพระเจ้ามินหม่างเมื่อปี ค.ศ.1834 พระยาวิเศษสงคราม และพระยาณรงค์ฤทธิ์โกษา นายทหารชั้นผู้ใหญ่ในกองทัพ ซึ่งเป็นคาทอลิก ได้กราบทูลขอชาวญวณคริสตังเหล่านี้ไปชุบเลี้ยง พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระทัยเมตตา ต่อพวกเขาที่หนีร้อนมาพึ่ง พระองค์ได้พระราชทานที่ดินซึ่งอยู่ติดกับวัดคอนเซปชัญให้พวกเขาสร้างศาลาใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยพร้อมทั้งพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค ให้อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างโบสถ์หลังหนึ่ง เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจ โบสถ์หลังนี้สร้างด้วยไม้ไผ่ใน ปี ค.ศ.1835 ใช้ชื่อว่า วัดแซงต์ฟรังซัวซาเวียร์ พระสังฆราชตาแบรด์ ประมุขมิสซังโคชินไชน่า ซึ่งได้หนีภัยการเบียดเบียนศาสนาจากประเทศญวณมาอยู่ที่กรุงเทพฯก่อนหน้าพวกญวนเหล่านี้ ได้จัดหาพระสงฆ์ที่มีเชื้อสายญวนสามองค์มาดูแลคริสตังเหล่านี้ ได้แก่ คุณพ่อปอล, คุณพ่อดัด และคุณพ่อยวง วัดหลังแรกนี้อยู่ได้เพียง 3 ปี ครั้นถึงปี ค.ศ.1837 เกิดพายุใหญ่พัดวัดพังเสียหายหมด พระสังฆราชกรูเวอซีได้ออก เงินให้สร้างวัดใหม่เป็นไม้ พระสังฆราชกรูเวอซีได้นำพระรูปแม่พระ และรูปนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ จากมะนิลามาตั้งในวัดหลังที่สองนี้
นอกจากนี้ยังได้สร้างบ้านพักพระสงฆ์ บ้านพักซิสเตอร์ และสร้างโรงเรียนสองหลังสำหรับเด็กชายและเด็กหญิง สอนภาษาญวณแก่เด็กๆ เพื่อสะดวกในการสอนคำสอนคริสตังแก่พวกเขา ในบรรดาคริสตังญวณที่อพยพมานั้น มีซิสเตอร์คณะรักไม้กางเขนจากโคชินไชน่าจำนวนหนึ่งอพยพมาด้วย พระสังฆราชกูรเวอซี จึงให้สร้างอารามเซนต์ฟรังซิสเซเวียร์ขึ้นสำหรับนางชีเหล่านี้ ใน ปี ค.ศ.1845 พระสังฆราชปัลเลอกัว ได้มอบหมายให้ คุณพ่อโกลแดต์ เจ้าอาวาสวัดคอนเซปชัญ รับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดสามเสนด้วย คุณพ่อดัดก็ยังคงอยู่ช่วยดูแลคริสตังที่นี่และช่วยสอนภาษาญวณให้คุณพ่อโกลแดต์ ในปี ค.ศ.1849 คุณพ่อโกลแดต์มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ คุณพ่อดัดจึงรับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส แทนคริสตัง ที่สามเสนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ที่อยู่อาศัยคับแคบลงประกอบกับพวกเขามีความกระตือรือร้นที่จะหาแหล่งประกอบอาชีพที่มั่นคงคริส ตังเหล่านี้มีความถนัดในการทำการประมงจึงพยายามหาทำเลใหม่ๆ อยู่เสมอ คริสตังกลุ่มแรกได้อพยพไปอยู่รวมกับคริสตังญวณของวัดนักบุญยอแซฟที่อยุธยา คุณพ่อโกลแดต์กลับมาปกครองวัดสามเสนอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ.1851 ท่านได้จัดให้คริสตังวัดสามเสนได้เรียนภาษาไทยให้อ่านออกเขียนได้เพื่อจะได้ปรับตัวให้เป็นคนไทยท่านดูแลวัดสามเสนจนถึงปี ค.ศ.1853 ก็ถึงแก่มรณภาพและฝังในวัดสามเสน คุณพ่อยิบาร์ตา ได้รับ แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อมาในปีค.ศ. 1853-1871 ท่านเห็นว่าวัดไม้หลังที่สองนี้เล็กเกินไปสำหรับสัตบุรุษที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงสร้างวัดให ม่ด้วยอิฐมีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาก โดยได้รับความช่วยเหลือจากเงินบริจาคทั้งจากคริสตัง และคนต่างศาสนาใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 10 ปี จึงเสร็จ ทำพิธีเสกอย่างสง่าในวันฉลองนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ในปี ค.ศ.1867 โดยพระสังฆราชดือปองด์ คริสตังญวณจากวัดสามเสนได้อพยพไป หาแหล่งทำการประมงตามชนบทอยู่เรื่อยๆ โดยไปกันเป็นกลุ่มๆ อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำลำคลอง เช่นที่เจ้าเจ็ด, บ้านปลายนา, เกาะใหญ่, บ้านแป้ง, สองพี่น้องและปากน้ำโพ คุณพ่อยิบาร์ตาได้ไปเยี่ยมเยือนพวกเขาเป็นครั้งคราว เพื่อทำมิสซาโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์และสอนคำสอนให้แก่พวกเขา คุณพ่อปิโอ ด็อนต เป็นเจ้าอาวาสใน ปี ค.ศ.1871-1916 ท่านได้สถาปนาซิสเตอร์คณะรักไม้กางเขนของวัดสามเสนให้มีความมั่นคง สร้างอารามหลัง ใหม่แทนหลังเก่าซึ่งชำรุดทรุดโทรม รับผู้สมัครเข้ารับการอบรมเป็นภคินี และเชิญภคินีคณะเซนต์ปอลเดอชาร์ตรมาช่วยอบรมภคินีรักไม้กางเขน เหล่านี้ใน ปี ค.ศ.1900 เมื่อท่านมรณภาพในปี ค.ศ.1916 ตามสถิติของมิสซังวัดสามเสนมีคริสตังจำนวน 600 คน คุณพ่อบรัวซาต์ เป็นเจ้าอาวาส ใน ปี ค.ศ.1917-1926 ท่านเห็นว่ามีหญิงสาวมาสมัครเข้ารับการอบรมเป็นภคินีมากขึ้น สถานที่เดิมเริ่มคับแคบ ท่านจึงสร้างอาคารเพิ่มขึ้นอีก หนึ่งหลังเป็นอาคาร 2 ชั้น นอกจากนี้ยังได้สร้างบ้านสำหรับเลี้ยงเด็กกำพร้าอีก 1 หลัง ในปีค.ศ.1922 ได้ซื้อระฆังสำหรับวัดสามเสน ปี ค.ศ.1923 ทำรั้วรอบสุสาน ซ่อมแซมและขยายบ้านพักพระสงฆ์ เนื่องจากคุณพ่อเจ้าวัดสามเสนมีงานที่ต้องรับผิดชอบมากอยู่แล้วดังนั้นใน ปี ค.ศ.1924 พระสังฆราชแปร์รอส จึงได้จัดการให้ภคินีรักไม้กางเขนพ้นจากการปกครองดูแลของเจ้าอาวาสวัดสามเสนให้ขึ้นตรงต่อมุขนายกมิสซัง และต่อมา ได้ย้ายไปอยู่ที่คลองเตย คุณพ่อตาปี เป็นเจ้าอาวาสในปี ค.ศ.1926-1967 ปี ค.ศ.1933 ท่านได้ปฏิสังขรณ์วัดเพื่อเตรียมฉลอง100 ปีของกลุ่มคริ สตชนสามเสนวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ.1934 และ ปี ค.ศ.1949 จัดสร้างหอระฆังและนำระฆังที่แขวนไว้ชั่วคราวขึ้นไปไว้บนหอใหม่ ปรับปรุงและ ขยายบ้านซิสเตอร์ จัดสร้างอนุสาวรีย์เพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระรูปพระเยซูเจ้ารักษาคนตาบอดซึ่งทำด้วยทองสัมฤทธิ์ มีพิธีเสกพระรูปนี้เมื่อ วันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ.1949 ท่านต้องดูแลทั้งวัดสามเสนและวัดสาขาซึ่งคริสตังวัดสามเสนอพยพไปอยู่ จึงจำเป็นต้องมีพ่อปลัดมาช่วยงานคุณพ่อ ตาปีเป็นพระสงฆ์องค์สุดท้ายของคณะ M.E.P. ที่ปกครองวัดสามเสน เมื่อคุณพ่อตาปีปลดเกษียณแล้ว คุณพ่อบุญเลิศ ธาราฉัตร ซึ่งทำหน้าที่พ่อ ปลัด (ค.ศ.1967-1973) ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน เนื่องจากอาคารเรียนของโรงเรียนยออันนาด๊าร์ค ไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียนท่านจึง ได้สร้างอาคารเรียนหลังใหม่เป็นตึก 4 ชั้น ตั้งชื่ออาคารเรียนหลังนี้ว่า อาคารตาปีอนุสรณ์ เพื่อเป็นที่ระลึกถึงคุณพ่อตาปี อาคารหลังนี้ทำการเสก วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ.1970 โดยคุณพ่อตาปีและเพื่อให้ชื่อของโรงเรียนถูกต้องตามภาษา คุณพ่อจึงเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากเดิมว่าโรงเรียนยออันนาด๊าร์กเป็นโรงเรียนโยนออฟอาร์คเมื่อวันที่ 15 มกราคม ค.ศ.1971
ประวัติวัดนักบุญยวง บัปติสตา เจ้าเจ็ด
คริสตังวัดเจ้าเจ็ดและวัดบ้านปลายนา คือ ชาวญวณที่อพยพมาจากสามเสน มาเป็นชาวประมงอยู่ทางตะวันตกของจังหวัดอยุธยา ปี 1853 คุณพ่อ ยิบาร์ตา เจ้าอาวาสวัดสามเสน ได้มาเยี่ยมครอบครัวคริสตังเหล่านี้ ท่านได้เทศน์เตือนใจและสั่งสอนพวกเขาให้มีความเชื่ออยู่เสมอ ทำมิสซาและโปรดศีลศักดิ์สิทธ์ให้โดยบันทึกไว้ในบัญชีของวัดสามเสน ในวันฉลองใหญ่มีคริสตังบางคนไปร่วมศาสนพิธีที่วัดสามเสนบ้าง ที่วัดอยุธยาบ้าง จนถึงปี ค.ศ.1871 คุณพ่อยิบาร์ตารู้สึกเหน็ดเหนื่อยมาก ต้องกลับไปพักรักษาตัวที่ประเทศฝรั่งเศสไม่สามารถมาดูแลคริสตังกลุ่มนี้ได้ ดังนั้นคุณพ่อแ ปร์โร เจ้าอาวาสวัดอยุธยาจึงรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลคริสตังเหล่านี้แทน ท่านได้มาเยี่ยมพวกเขาด้วยตนเองบ้าง ส่งพ่อปลัดมาบ้างท่านสังเกตว่าคริสตัง ที่เจ้าเจ็ดอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม สะดวกแก่การสร้างวัดและดูแล จึงสร้างวัดหลังแรกขึ้นที่เจ้าเจ็ด สร้างเสร็จในปี ค.ศ.1874 และตั้งชื่อวัดว่า วัดนักบุญ ยวงบัปติสตา ส่วนบัญชีศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ก็จดไว้ในบัญชีของวัดอยุธยาจนถึงปี ค.ศ.1893
ปี ค.ศ. 1893 คุณพ่อแปร์โรย้ายไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดซางตาครู้ส คุณพ่อมิแชล โทว ได้รับแต่งตั้งมาเป็นเจ้าอาวาสแทน และได้เปิดบัญชีของวัดเ จ้าเจ็ดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1893 เป็นต้นมา ท่านได้ไปเยี่ยมคริสตังที่บ้านปลายนา และในปี ค.ศ.1906 ได้ซื้อที่ดินแปลงหนึ่งที่บ้านปลายนา โดยตั้งใจที่จะสร้างวัด และบ้านพักพระสงฆ์ขึ้นเพื่อสะดวกในการอภิบาลคริสตังที่นี่ แต่คุณพ่ออาวุโสผู้นี้ได้หมดกำลังลงเสียก่อนจน ต้องไปพักรักษาตัวที่กรุงเทพฯ เนื่องจากพระสงฆ์พื้นเมืองและมิชชันนารีในเวลานั้นมีน้อย พระสังฆราชจึงแต่งตั้งให้คุณพ่อดาวิด เจ้าอาวาสวัดนักบุญยอแซฟ และวัดเกาะใหญ่ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ด กับดูแลคริสตังที่บ้านขนมจีน และบ้านปลายนาด้วย คุณพ่อดาวิดได้สร้างวัดบ้านปลายนาใน ปี ค.ศ.1909 ในเวลานั้นวัดบ้านปลายนาเป็นสาขาของวัดเจ้าเจ็ด และบัญชีศีลศักดิ์สิทธิ์ก็จดรวมในบัญชีของวัดเจ้าเจ็ด
ประวัติวัดอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล จันทบุรี
ทุกชุมชนย่อมมีประวัติความเป็นมาเป็นไปของจุดกำเนิด และการพัฒนาของชุมชนนั้นๆ ฉันใดอันว่าชุมชนแห่งผู้ที่มีความเชื่อของอาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล จันทบุรี ก็มีจุดกำเนิดและสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันฉันนั้น ใน ปี ค.ศ.1707 (พ.ศ.2250) พระสังฆราชชังปีออง เดอ ซีเซ ให้คุณพ่อ เฮิ้ต (Heutte) เป็นผู้มาดูแลคริสตชนชาวญวณที่หนีภัยการเบียดเบียนทางศาสนาจากประเทศญวณมาอยู่ที่จันทบุรี เป็นเวลาหลาย สิบปีมาแล้วเนื่องจากการเดินทางมีอุปสรรคทางด้านการเมือง ทำให้การเดินทางต้องล่าช้าออกไปอีก 4 ปี คุณพ่อเดินทางมาถึงจันทบุรี ค.ศ.1711/ พ.ศ. 2254 ตรงกับรัชกาลพระเจ้าท้ายสระ รัชกาลที่ 30 สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี คุณพ่อพร้อมกับสามเณรจากตังเกี๋ยอีก 2 คน สำรวจ พบว่ามีสัตบุรุษทั้งสิ้น 130 คน
ในปี ค.ศ.1712 (พ.ศ.2253) พระสังฆราชได้ส่งคุณพ่อ โตแลนตีโนมาช่วยงานที่นี่ คุณพ่อทั้งสองเริ่มสร้างวัดน้อย (Chaple) ขึ้นหลังหนึ่งอยู่ทางฝั่งขวา (ตะวันตก) ของแม่น้ำจันทบุรี ทางทิศใต้ของเจดีย์วัดจันทร์ ประมาณ 200 - 300 เมตร (ปัจจุบันคือวัดโบสถ์เมืองจันทบุรี) ใน ปี ค.ศ.1712/พ.ศ. 2253 นี้เอง คุณพ่อเฮิ้ต ได้กลับไปช่วยงานที่ประเทศเวียตนาม คุณพ่อโตแลนตีโน เป็นเจ้าอาวาสปกครองสัตบุรุษที่นี่ต่อไป 18 ปี และมรณะที่นี่ เมื่อปี ค.ศ.1729 (พ.ศ. 2272) ศพของท่านถูกฝังไว้ที่วัดน้อยแห่งนี้
ในปี ค.ศ.1730 (พ.ศ. 2273) สมัยพระสังฆราช แตสซีเอร์ เดอ เกราเล ส่งให้คุณพ่อคาเบรียล มาเป็นเจ้าอาวาส แทนคุณพ่อโตแลนตีโน สมัยนี้พวกคริสตชนได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกโจรสลัด เนื่องจากทางราชการไม่ไว้วางใจพวกต่างด้าวที่มาอาศัยอยู่ตามแนวชายแดน จึงลงมือจับและบัง คับให้ไปอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ส่วนผู้ที่ไม่ยอมไปก็หลบหนีอยู่ตามป่า คุณพ่อคาเบรียลก็อพยพไปอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาด้วย
ดังนั้น วัดหลังที่ 1 นี้ จึงถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าเป็นเวลา 20 ปี (ค.ศ.1732-1752) ภายหลังคุณพ่อคาเบรียบได้กลับมา และถึงแก่มรณภาพใน ปี ค.ศ.1742 (พ.ศ. 2285)
ปี ค.ศ. 1752 พระสังฆราช "เดอโลเลียร์" ได้สงคุณพ่อ เดอกัวนา มาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อคุณพ่อเดินทางมาถึงวัดหลังแรกนี้ก็ผุพังแล้ว ไม่มีสัตบุรุษ ยังคงเหลือแต่สุสานเท่านั้น เมื่อกลุ่มคาทอลิกที่หลบซ่อนในป่าได้ยินกิตติศัพท์ว่ามีคุณพ่อเจ้าอาวาสมาใหม่แล้ว ก็เกิดความปิติยินดี มีกำลังใจ จึงออกจากป่ามารวมกลุ่มกันอีกครั้งหนึ่ง
การสร้างวัดหลังที่ 2 คุณพ่อ เดอกัวนา ได้พยายามรวบรวมคาทอลิกที่กระจัดกระจายมารวมกลุ่มในที่เดิมได้แล้ว จึงช่วยกันสร้างวัดขึ้นมาใหม่ในบริเวณเดิมเป็นวัดหลังที่ 2 ปลูกสร้างด้วยไม้กระดานเก่าๆ ผสมกับไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยใบตาล สัตบุรุษซึ่งห่างไกลศาสนกิจมาเป็นเวลานาน ก็มีโอกาสมารื้อฟื้นความเชื่อ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้อีกตามปรกติ
คุณพ่อเดอกัวนา ประสบผลสำเร็จ สามารถรวบรวมสัตบุรุาที่กระจัดกระจายมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนจนสร้างวัดหลังที่ 2 ขึ้นได้ แต่คุณพ่อก็อยู่กับสัตบุรุษได้เพียง 3 ปี ท่านก็ได้มรณภาพในปี ค.ศ.1755 (พ.ศ. 2298)
คุณพ่อจาง (ชาวจีน) ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าอาวาสองค์ต่อไป ตั้งแต่ ค.ศ. 1756 -1800 (พ.ศ. 2299 -2343) คุณพ่อดำรงตำแหน่งเป็นเวลายาวนานถึง 44 ปี ช่วงนั้นเป็นช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาต่อด้วยกรุงธนบุรีควบกรุงรัตนโกสินทร์
เนื่องด้วยคุณพ่จางชราภาพมาก จึงมีพระสงฆ์หนุ่มมาช่วยงาน คือ คุณพ่อ ลีโอต์ ในปี ค.ศ. 1791 (พ.ศ. 2334) และคุณพ่อฟลอรังส์ ในปี ค.ศ. 1792-1802 และต่อมาคุณพ่อได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชปกครองมิสซังสยาม
การสร้างวัดหลังที่ 3 ปี ค.ศ. 1802 (พ.ศ. 2345) คุณพ่อ มัทเทีย โด ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ในช่วงสุดท้ายแห่งสมัยคุณพ่อมัทเทีย โด คุณพ่อ "เกลมังโช" ได้มาช่วยงานอภิบาล คุณพ่อทั้งสองจึงช่วยกันสร้างวัดหลังที่ 3 ขึ้น โดยย้ายมาอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำจันทบุรี วัดหลังที่ 3 นี้เป็นเพียงวัดเล็กๆ ในลักษณะช่วยคราวเพราะสร้างด้วยไม้กระดานเก่าๆ ปนกับไม้ไผ่ทั้งนี้อาจจะมีโครงการสร้างวัดให้ใหญ่พอที่จะบรรจุ คนให้ได้มากกว่า 1,000 คนแล้วก็ได้ เพราะมีหลักฐานว่าปี ค.ศ.1800 (พ.ศ.2343) มีสัตบุรุษคาทอลิก 1,000 คนเพิ่มจากปี ค.ศ.1766 ซึ่งมีประมาณ 200 คน เท่านั้น
การสร้างวัดหลังที่ 4 พระสังฆราช "กูเวอชี" ได้ส่งคุณพ่อรังแฟง (Ran Faing) มาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ในปี ค.ศ.1838 แทนคุณพ่อเกลมังโซ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยพระสังฆราช ในช่วงนั้นชุมชนคาทอลิกกำลังเติบโตขึ้นมาก จำนวนคาทอลิกทวีมากขึ้นประกอบกับวัดหลังที่ 3 ทรุดโทรมคับแคบคุณพ่อรังแฟงจึงดำริสร้างวัดขึ้นใหม่ โดยบอกบุญชาวคาทอลิกในประเทศได้เงินจำนวนหนึ่ง พอจะสร้างวัดหลังใหม่ได้
คุณพ่อรังแฟงได้เริ่มก่อสร้างวัดหลังใหม่ในปี ค.ศ.1855 การก่อสร้างวัดหลังที่ 4 นี้มีลักษณะถารแบบก่ออิฐถือปูน คุณพ่อรังแฟงดำรงตำแหน่งเจ้า อาวาสนานถึง 45 ปี (ค.ศ.1838-1874) ท่านถึงแก่กรรมในปี ค.ศ.1885 (พ.ศ. 2428) ต่อมาคุณพ่อรังแฟง มีคุณพ่อกังตร๊ก และคุณพ่อกูอาสมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสตามลำดับ
การสร้างวัดหลังที่ 5 (หลังปัจจุบัน) แม้ว่าวัดหลังที่ 4 จะมีลักษณะมั่นคงถาวรแล้วก็ตาม กลับดูคับแคบ เพราะจำนวนสัตบุรุษเพิ่มขึ้นถึง 2,400 คน ในปี ค.ศ.1900 พระสังฆราช "เวย์" ได้แต่งตั้งคุณพ่อเปริกาลมาเป็นเจ้าอาวาสวัดจันทบุรี ในปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ.2443) คุณพ่อจึงลงมือสร้างวัด หลังใหม่เพื่อสามารถบรรจุคาทอลิกที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ในปี ค.ศ.1903 (พ.ศ.2446) ท่านได้เริ่มเตรียมวัสดุก่อน้าง เช่น หิน อิฐ ปูน ไว้ล่วงหน้า
ในปี ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) ในวันที่ 15 สิงหาคม ได้ลงมือรื้อวัดหลังที่ 4 สร้างวัดชั่วคราวขึ้นในบริเวณสนามบาสเกตบอลหน้าหอประชุมนิรมล ปัจจุบัน และใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเป็นเวลา 3 ปี มีพิธีวางศิลาฤกษ์วัดหลังใหม่ (หลังที่ 5) เมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ.1906 (พ.ศ. 2499) หลุมบรรจุศิลาฤกษ์อยู่ตรวกลางหน้าวัด ลึก 2 เมตร วัดหลังนี้เมื่อสร้างเสร็จจะยาว 60 เมตร กว้าง 20 เมตร
ปี ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) วัดใหม่เริ่มใช้ประกอบพิธีกรรมศาสนาได้แล้ว แต่สภาพยังไม่เรียบร้อย จะต้องจัดหาส่วนประกอบต่างๆ มาตกแต่งเช่น ระฆัง นาฬิกา รูปพระประทาน รูปปั้นนักบุญต่างๆ กระจกภาพสี ฯลฯ
พิธีเสกวัด ในปี ค.ศ.1909 (พ.ศ. 2452) ทำการติดตั้งนาฬิกาเรือนใหญ่ (เส้นรอบหน้าปัด 4.70 เมตร) บนหอสูง และในปีนี้เองได้จัดให้มีพิธีเสกวั ดทำการเฉลิมฉลองอย่างมโหฬาร เมื่อวันที่ 10 มกราคม ค.ศ.1909 (พ.ศ. 2452) คุณพ่อกอลอมเบต์ อุปสังฆราชในขณะนั้น ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีพร้อมด้วยพระสงฆ์อื่นอีก 10 องค์ หลังจากนี้มีการติดตั้งส่วนประกอบต่างๆ อีก คือ ปี ค.ศ.1912 (พ.ศ. 2455) ใส่กระจกสีเหนือห น้าต่างในส่วนที่สัตบุรุษนั่ง ในปีต่อมา ค.ศ.1913 (พ.ศ. 2456) ใส่กระจกสีบนมุขหน้าวัด ค.ศ.1914 (พ.ศ. 2457) ติดตั้งกระจกสีภาพนักบุญต่างๆ บริเวณเหนือพระแท่น และสักการะสถานเป็นอันเสร็จสิ้นเรียบร้อย
ปี ค.ศ.1921 (พ.ศ. 2464) ทำเพดานวัด ปี ค.ศ.1926 (พ.ศ. 2469) มีพิธีเสกระฆัง 3 ใบ ใบใหญ่หนัก 650 กก. ใบกลางหนัก 325 กก. ใบเล็กหนัก 160 กก.ทั้ง 3 ใบติดตั้งบนหอสูงข้างเดียวกับที่ติดตั้งนาฬิกา
สรุปได้ว่า กว่าจะสร้างวัดหลังที่ 5 นี้สำเร็จบริบูรณ์จริงๆ ต้องใช้เวลานานพอสมควร อาศัยความเสียสละทั้งแรงกายและแรงใจ และกำลังทรัพย์ของ ผู้มีน้ำใจดี และสัตบุรุษคาทอลิกทุกคน ทุกครอบครัว ในปี ค.ศ.1926 (พ.ศ. 2469) ปรากฎว่ามีสัตบุรุษคาทอลิกสังกัดวัดจันทบุรีแล้ว 3,000 คน
จากการที่ได้ศึกษาประวัติความเป็นมาและสาเหตุของการอพยพเข้ามาในสยามของชาวเวียดนาม ชาวเวียดนามใช้เวลายาวนานในการเดินทางเข้าในประเทศไทยและกระจายกันอาศัยอยู่เกือบทั่วประเทศไทย คือ นับตั้งแต่ก่อนรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยรัตนโกสินทร์ จำนวนชาวเวียดนามได้เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นชนกลุ่มน้อยที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง ของประเทศ ก่อนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ทำให้เห็นถึงสาเหตุที่สำคัญที่ชาวเวียดนามเข้ามาในสยามมีสาเหตุสำคัญ 2 ประการคือ
• ส่วนใหญ่อพยพเพื่อลี้ภัยทางการเมืองและการเบียดเบียนศาสนา
• ถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยศึกสงคราม
ทั้งสองประการแตกต่างกัน ประการแรกชาวเวียดนามมาด้วยความสมัครใจแบบหนีร้อนมาพึ่งเย็น แต่ประการหลังนั้นโดยทั่วไปถูกบังคับเข้ามา แต่ในการเข้ามาก็ยังเห็นถึงประวัติศาสตร์ของชาวเวียดนามในการเผยแผ่ศาสนาว่ามีการเบียดเบียนศาสนาเกิดขึ้นในพระศาสนจักรเวียดนามทำให้ ชาวเวียดนามต้องอพยพและย้านถิ่นฐานเข้ามาอยู่ในสยาม ภายใต้พระบารมีของพระเจ้าแผ่นดินในสมัยต่างๆ โดยมีการพระราชทานที่ดินในการสร้างถิ่นที่อยู่อาศัย
ในเรื่องของการแพร่ธรรมในเวียดนามเริ่มขึ้น เมื่อโปรตุเกสมาตั้งศูนย์กลางการค้าที่เมืองไฟโฟตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น การแพร่ธรรมในระบบ ปาโดรอาโดพบว่าในภาคปฎิบัตินั้นปรากฏว่าอำนาจในการแพร่ธรรมของพระศาสนจักรกลับตกไปอยู่ในมือของประเทศโปรตุเกสและสเปน การกระทำดังกล่าวทำให้แพร่ธรรมต้องปะปนไปกับการล่าอาณานิคมและแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าทาสที่เกิดไม่ว่า จะเป็นทาสชาวอินเดีย หรือแอฟริกัน แต่สิ่งที่สำคัญ คือ การทำงานของพระศาสนจักร ทำให้ผมได้เห็นว่าพระศาสนจักรไม่ได้หยุดยั้งหรือนิ่งเฉย ในเรื่องต่างๆ แต่ส่งบรรดาคณะธรรมฑูตมาช่วยในการแพร่ธรรม และอภิบาลผู้คนชาวเวียดนาม และบุคคลที่ดูแลชาวเวียดนามในไทย คือ พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ในการทำหน้าที่อภิบาลสัตบุรุษได้เป็นอย่างดี
เอกสารอ้างอิง
• หนังสือรายงานวิจัยชุมชนความต่อเนื่องและการปรับตัวของชุมชนแห่งความเชื่ออาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล
• ทำเนียบวัดคาทอลิกในประเทศไทย
• หนังสือ อนุสรณ์เสกวัด นักบุญยวง บัปติสตา เจ้าเจ็ด
• หนังสือ ฉลองวัดจันทบุรี 7 ธันวาคม 1985
• หนังสือโอกาสสมโภชครบรอบ 150 ปี วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์
• www.cathedralchan.or.th
• www.bob23007.exteen.com
• www.pongrang.com