-
Category: ข้อพิพาทระหว่างมิชชันนารีในสยามระหว่างศตวรรษที่ 17
-
Published on Monday, 19 October 2015 08:26
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2114
“ธุรกิจการค้า” ตามคำนิยมของเลมัน (Laymann 1574-1635) และผู้เชี่ยวชาญ (ทางกฎหมาย) อื่นๆ ในสมัยนั้น (ต้นศตวรรษที่ 17) หมายถึง การซื้อสินค้าโดยตั้งใจจะจำหน่ายปลีกในราคาแพงกว่าในภายหลังเพื่อหากำไร และเราจะต้องพิสูจน์ว่านักบวชคณะเยซุอิตไม่มีอนุญาตให้ทำธุรกิจกิจการค้าเช่นนี้ จึงควรพิจารณาถึงนักบวชคณะเยซุอิตในฐานะต่างกัน 4 อย่างคือ (1) ในฐานะ “บรรพชิต” และ “สงฆ์” (clergy - priest) (2) ในฐานะนักบวช (religious) (3) ในฐานะนักบวชของคณะ (เยซุอิต) และในที่สุด (4) ในฐานะนักบวชที่เป็นมิชชันนารีที่ทำงานในมิสซัง นั่นคือทำงานเพื่อช่วยวิญญาณให้รอด
ตอนที่หนึ่ง “ธุรกิจการค้าของนักบวชคณะเยซุอิตเป็นความผิด (ทำไม่ได้) จากเหตุผลการเป็นบรรพชิต” (clergy)
เพื่อมิให้มีใครคิดว่าบรรพชิตที่ทำธุรกิจการค้าน่าจะได้รับโทษ พระศาสนจักรได้กำหนดโทษไว้ถึง 4 ครั้ง
การกำหนดโทษครั้งแรก ปรากฏอยู่ในกฎหมายพระศาสนจักร ในประมวลกฎหมาย ภาค 88 บทที่ 2 พระสันตะปาปาเยลาซิอุสกล่าวไว้ว่า “มีข่าวมาว่า บรรพชิตจำนวนมากมีความโลภอยากได้กำไรอันน่ารังเกียจจากธุรกิจการค้าไม่สุจริต เขาเหล่านี้ไม่มีความอับอายเมื่ออ่านพบข้อความในพระวรสาร ที่เล่าถึงพระอาจารย์เจ้าทรงใช้แซ่ขับไล่พวกพ่อค้าให้ออกไปจากพระวิหารพวกเขายังไม่จดจำถ้อยคำของนักบุญเปาโลที่กล่าวว่า “ไม่มีใครที่เป็นทหารรับใช้พระเจ้า เข้าไปพัวพันอยู่กับธุรกิจทางโลก” เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเขาเหล่านี้รู้ตัวว่าต้องละเว้นจากการหากำไร อันไม่สมควรดังกล่าวเสียตั้งแต่บัดนี้ และต้องเลิกคิดอ่านหรือปรารถนาที่จะทำธุรกิจการค้าใดๆ ไม่ว่า หรือมิฉะนั้น ก็ให้เขาถูกบังคับให้ละเว้นจากหน้าที่บรรพชิตเสียโดยเร็ว ไม่ว่าเขาจะอยู่ตำแหน่งใด เพราะว่า “บ้านของพระเป็นเจ้าต้องเป็นบ้านแห่งการภาวนาจริงตามชื่อด้วย” และธุรกิจการค้าจะได้ไม่ทำให้กลายเป็นซ่องโจรไป”
การกำหนดโทษประการที่สอง มีปรากฏอยู่ในแถลงการณ์ของพระสังคายนาต่างๆ ในหนังสือ “กฎเกณฑ์ของบรรดาอัครสาวก” เราพบข้อกำหนกว่าดังนี้ “พระสังฆราช หรือ พระสงฆ์ หรือ สังฆานุกร อย่าได้ประกอบภารกิจทางโลกเลยเป็นอันขาด มิฉะนั้นจะต้องถูกขับ (จากหน้าที่)” พระสังคายนา ที่เมืองคัลเชด็อน (ค.ศ.451) บทที่ 5 มีบทลงโทษบรรพชิตที่เกี่ยวข้องกับการจัดการธุรกิจทางโลกไว้ดังนี้ “พระสังคายนาได้ทราบมาว่ามีบางคนที่เป็นบรรพชิต อยากได้ผลกำไรอันน่ารังเกียจ จึงไปรับจำนองทรัพย์สินจากผู้อื่น หรือไปทำธุรกิจทางโลกและปลีกตัวไม่ทำหน้าที่ศักดิ์ทางศาสนา เพราะความเกียจคร้าน พากันไปยังบ้านของบุคคลทางโลก และรับจัดการทรัพย์สินของเขาเหล่านั้น เพราะความโลภ เพราะฉะนั้นพระสังคายนาจึงกำหนดว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปมิให้มีบรรพชิตหรือนักบวชคนใดรับจำนองทรัพย์สินหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกิจฝ่ายโลก หากผู้ใดฝ่าฝืนกฎนี้จะต้องรับโทษทางพระศาสนจักร” ยิ่งกว่านั้นในพระสังคายนาที่เมืองคัลเชด็อนนี้เช่นกัน บทที่ 3 ก็ได้ห้ามบรรพชิตมิให้เข้าไปจัดการทรัพย์สินทางโลก พระสังคายนาที่กรุงคาร์เทจครั้งที่ 3 (ค.ศ.419) ก็ห้ามมิให้บรรพชิตเป็นผู้จัดการดูแลทรัพย์สิน เป็นที่น่าสังเกตอีกว่าพระสังคายนาที่เมืองเตร็นท์ (ค.ศ.1545-1563) ได้ประณามบรรพชิตที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจทางโลกอย่างมากทีเดียว ในสมัยประชุมที่ 25 บทที่ 1 และ 2 เกี่ยวกับการปฏิรูป พระสังคายนาได้ห้ามผู้ที่เข้าสมัครเข้ารับมาใช้งานพระศาสนจักร มิให้เข้าไปทำงานหากำไรอันแสนสกปรกแล้วยังมีคำสั่ง ให้ขจัดคำครหาเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ออกไปจากตำแหน่งหน้าที่ทางศาสนาทั้งสิ้น ในสมัยประชุมที่ 22 บทที่ 1 ว่าด้วยการปฏิรูปพระสังคายนา ยังได้กำหนดเกี่ยวกับบรรพชิตไว้ดังนี้ “ไม่มีสิ่งใดที่จะเสริมสร้างผู้อื่นให้มีความศรัทธาและคารวะต่อพระเป็นเจ้าได้ดียิ่งดีว่าการดำเนินชีวิต และตัวอย่างของผู้ที่ถวายตนรับใช้พระเป็นเจ้า ทั้งนี้เมื่อพวกเขาปลีกตัวจากสิ่งของของโลกใบนี้ไปอยู่ในที่สูงกว่าแล้ว คนอื่นๆ ก็มองเห็นเขาเป็นตัวอย่างคุณธรรมความดีได้เหมือนกับมองในกระจกเงา และรับเอาแบบฉบับมาปฏิบัติตาม เพราะฉะนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่บรรดาบรรพชิตผู้รับเรียกมาเป็นส่วนรับมรดกของพระเจ้า จะจัดชีวิตและความประพฤติทุกอย่างของตนให้แสดงออกมาภายนอก ในการแต่งกาย ท่าทางการเดินเหิน การพูดจาและกิจการอื่นๆ จำเพาะแต่ความหนักแน่น การสำรวมตนน่าเลื่อมใสเท่านั้น” และถัดจากนั้นอีกเล็กน้อยยังเสริมว่า “พระสังคายนายังกำหนดว่า สิ่งที่บรรดาพระสันตะปาปาและพระสังคายนาได้เคยกำหนดไว้ที่อื่นอย่างยืดยาวและมีประโยชน์ เกี่ยวกับเรื่องการดำเนินชีวิตและคุณธรรมของบรรพชิต การให้หลีกเลี่ยงความฟุ้งเฟ้อ การละเล่น ความผิดต่างๆ และธุรกิจฝ่ายโลกนั้น กฎเกณฑ์เหล่านี้จะต้องถือปฏิบัติต่อไปด้วย โดยกำหนดโทษไว้อย่างเดียวกันหรือหนักกว่าเก่าด้วย ตามความเห็นของประมุขผู้ปกครองและการอุธรณ์ก็ไม่สามารถยับยั้งการลงโทษที่กำหนดไว้เพื่อแก้ไขความประพฤตินี้ด้วย”
การกำหนดโทษประการที่สามได้มาจากจ้อเขียนของบรรดาปิตาจารย์ นักบุญเยโรม (ค.ศ. 342 -420) ในหนังสือ “เกี่ยวกับชีวิตของบรรพชิตถึงเนโปซิอานุส (Nepotianus)” ได้เขียนไว้ว่า “เจ้าจงหลีกหนีบรรพชิตพ่อค้า ทั้งที่เคยยากจนแต่ร่ำรวยขึ้น และที่เคยเป็นคนที่ไม่มีสกุลแต่กลับมีชื่อเสียงขึ้นมา อย่างกับหนีโรคระบาดเถิด” นักบุญอัมโบรส (ค.ศ. 339-397) ยังได้ประณามบรรพชิตพ้อค้าไว้ในหนังสือ “เรื่องหน้าที่ต่างๆ” เล่ม 1 บทที่ 36 ว่าดังนี้ “ถ้าหากว่ากฎหมายของมนุษย์ยังห้ามผู้ที่รับราชการของพระจักรพรรดิมิไห้รับว่าความ, มิให้เกี่ยวข้องกับคดีความและการขายสินค้าแล้ว ก็สาอะไรกับผู้ที่รับราชการของพระเจ้า เขาจะต้องปลีกตัวจากธุรกิจการค้าทุกชนิดยิ่งกว่านั้นอีกใช่ไหม?” ในที่สุดนักบุญออกัสติน (ค.ศ. 354-430) ในหนังสือ “คำถามเกี่ยวกับพันธสัญญาเดิม” บทที่ 127 ก็ยัง ให้ความเห็นเกี่ยวกับบรรพชิตชนิดนี้อีกว่า “การล่วงประเวณีเป็นความผิดสำหรับทุกคน ทุกเวลา ส่วนธุรกิจการค้านั้น บางทีทำได้ บางทีทำไม่ได้ ก่อนที่ผู้หนึ่งจะเข้ามาเป็นคนของพระศาสนา เขาก็ทำธุรกิจการค้าได้ แต่เมื่อเข้ามาเป็นแล้ว ก็ทำไม่ได้
การกำหนดประการที่สี่ มีอยู่ในความเห็นของนักเทววิทยา ท่านฟิลลิอุชชี (Filliuccui เกิดเมื่อค.ศ.1556 เป็นอาจารย์สอนเทววิทยาจริยะที่วิทยาลัยกรุงโรม ถึงแก่กรรมเมื่อ ค.ศ. 1662) ในผลงานที่ 35 เรื่องการทำสัญญา บทที่ 1 ข้อ 20 กล่าวว่า “บรรพชิตทั้ง 3 ขั้น (คือ พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร) ทำบาปหนัก ถ้าทำธุรกิจการค้าเหตุผลก็เพราะว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหนักและมีข้อห้ามไว้โดยคาดโทษหนักด้วย” ท่านเอสโกบาร์ (Escobar 1589-1669) ในภาค 2 ของหนังสือ “เทววิทยาจริยะ” ตอน 3 บทที่ 4 เรื่องบาปหนักของบรรพชิต ข้อ 4 ก็สอนว่าผู้ทำผิดที่ประกอบธุรกิจไม่เหมาะสม เช่นทำธุรกิจการค้าอยู่ในพวกที่ทำบาปหนักด้วย” ท่านผู้นี้ ในภาค 3 ตอน 6 บทที่ 1 ยังกล่าวไว้อีกว่า “ประการที่สาม ธุรกิจการค้า ซึ่งหมายความว่า ซื้อสินค้ามาโดยมีความมุ่งหมายจะขายโดยไม่เปลี่ยนสภาพ (สินค้า) ในราคาสูงกว่าโดยหวังกำไร ในตัวเองไม่ผิดไม่ถูก และถ้าทำอย่างที่ควรทำก็เป็นการกระทำดีทางศีลธรรมและเป็นประโยชน์ต่อรัฐ แต่จากกรณีแวดล้อมอาจจะกลายเป็นกิจการไม่ดีไปได้ และเป็นกิจการต้องห้ามสำหรับบรรพชิตทั้ง 3 ขั้น (คือ พระสังฆราช พระสงฆ์ และสังฆานุกร)”
นอกจากนั้น ถ้าผู้ใดยังไม่เกรงกลัวที่จะเผชิญหน้ากับการกำหนดโทษมากมายเช่นนี้แล้ว ความมั่นใจและมโนธรรมที่ผิดๆ ของเขาทำให้ข้าพเจ้ามีความกลัวเป็นอันมากอย่างแน่นอน
ตอนที่สอง ธุรกิจการค้าเช่นนี้ถูกห้ามจากเหตุผลสภาพการเป็นนักบวช (Religious)
ถ้าหากว่า “ถ้อยคำทั้งหลายในปากพยาน 2 หรือ 3 คนย่อมมีน้ำหนัก” แล้ว เราก็ยิ่งจะมั่นใจได้ยิ่งขึ้นสักเท่าใดจากคำตัดสินของนักเทววิทยาคณะเยซุอิตหลายๆ ท่านในเรื่องธุรกิจการค้าของนักบวชพ่อค้า
ผู้ตัดสินท่านแรกคือ เลมัน (Laymann) ในหนังสือว่าด้วยความยุติธรรม เล่ม 3 ภาค 4 บทที่ 17 ข้อ 7 ท่านตัดสินนักบวชพ่อค้าไว้อย่างชัดเจนจนไม่ทิ้งช่องว่างให้สงสัยได้อีก โดยกล่าวว่า “ธุรกิจการค้ามี 2 ชนิด ชนิดแรก เป็นธุรกิจการค้าแท้ๆ นั่นคือ ซื้อสิ่งของมา เช่น เหล้าองุ่น ข้าวสาลี ฯลฯ แล้วไม่ได้เปลี่ยนสภาพของนั้น ขายไปภายหลังในราคาแพงกว่า เพื่อหากำไร “บรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายไม่ลังเลใจเลยที่จะกล่าวว่า ธุรกิจการค้าแบบนี้เป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับบรรพชิตและนักบวช เป็นบาปหนัก” แล้วท่านนักบวชพ่อค้ายังจะสงสัยทำไมอีกเล่า?
ผู้ตัดสินท่านที่สองคือ ฟิลลิ อุชชี ในผลงานที่ 35 เรื่องการทำสัญญา บทที่ 1 ข้อ 19 ได้ตอบคำถามที่ว่า ธุรกิจการค้าเป็นสิ่งถูกต้องที่บรรพชิตและนักบวชทำได้หรือไม่ว่า “ทำไม่ได้ ถ้าทำธุรกิจการค้านั้นด้วยตัวเอง ดังที่เห็นได้จากจดหมายพระศาสนจักร และเพราะว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากเหตุผลทางฐานะ (บรรพชิตหรือนักบวช)” และต่อมาอีกเล็กน้อยยังเสริมว่า “สำหรับนักบวช บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังได้ให้ข้อสังเกตว่า แม้จะไม่ได้รับศีลบวช (เป็นพระสังฆราช พระสงฆ์ หรือสังฆานุกร) ก็ยังเป็นบาปหนักด้วยเช่นกัน เนื่องจากเหตุผลสภาพการเป็นนักบวชนั้น”
ผู้ตัดสินท่านที่สามคือ กวินตันอัดเวนา แห่งโปรตุเกส (Quintanadvena Lusitanus : 1599-1651) ในผลงานที่ 6 ซึ่งข้าพเจ้านำข้อความมาเสริมไว้ที่นี่ ท่านเขียนไว้ว่า “พระสันตะปาปาอูร์บันที่ 8 ในพระสมณสาสน์ที่เริ่มต้นว่า “Ex debito pastoralis officii” ได้ทรงห้ามนักบวชทุกคนมิให้ทำธุรกิจและการค้าโดยคาดโทษไว้อย่างหนัก เช่นเดียวกับที่ได้เห็นมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในกฎหมายบ้านเมือง และกฎหมายพระศาสนจักร ว่าบรรดาสังคายนาได้ห้ามอย่างเคร่งครัดมิให้นักบวชและบรรพชิตทำธุรกิจการค้า ดังที่เห็นได้จากความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ฉะนั้น กิจการใดๆ ไม่ว่า ที่ทำด้วยตัวเองหรืออาศัยผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้า หรือการขาย ไม่ว่าจะโดยวิธีการอื่นใดทั้งสิ้น ที่เกี่ยวข้องกับการหากำไร หรือเป็นธุรกิจการค้า แม้ว่าจะไม่โดยตรงสักเพียงไร ก็เป็นการต้องห้ามสำหรับ (บรรพชิตและนักบวช) ทุกคน ดังที่สรุปได้จากถ้อยคำของสมณสาสน์ดังกล่าวที่ว่า “ทั้งโดยตรงและทางอ้อม” ตามที่ท่านซูอาเรส (Suarez : นักปรัชญาและเทววิทยาคณะเยซุอิต1548-1671) ได้สอนไว้ในหนังสือ “เกี่ยวกับนักบวช” ภาค 4 เล่ม 6 บทที่ 7 ข้อ 9 เมื่ออธิบายคำเหล่านี้
ผู้ตัดสินท่านที่ 4 คือ แฮร์มัน บูเซมเบาว์ม (Hermann Busebaum : 1600-1668) ในหนังสือเล่ม 3 เรื่องที่ 5 ข้อสงสัยที่ 8 ข้อย่อย 2 ท่านถามว่าธุรกิจการค้าขายคืออะไร และเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับผู้ใด และท่านก็ตอบว่า “เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งได้ของสิ่งหนึ่งมาโดยตั้งใจจะขายหรือเปลี่ยนเจ้าของสิ่งนั้นทั้งหมด โดยไม่ได้เปลี่ยนสภาพของมัน เพื่อหากำไร เนื่องจากการนี้มีอันตรายจะเป็นบาปได้หลายอย่าง และเป็นที่เสื่อมเสียและไม่สมควรสำหรับฐานะบรรพชิต ที่จะกระหายอยากได้กำไรเช่นนี้ จึงได้มีการห้ามไว้อย่างเคร่งครัดสำหรับบรรพชิตทั้ง 3 ขั้น และสำหรับนักบวชทุกคน จนว่าเขาเหล่านั้นทำบาปหนัก ถ้าทำธุรกิจการค้าอย่างจริงจัง”
ความเห็นของท่านเหล่านี้ยังมีผู้เห็นด้วยอีกหลายท่าน เช่น เลสสิอุส (Lessius : 1554-1623) เด ลูโก (De Lugo : 1583-1660) และผู้อื่นอีกหลายท่าน ท่านเอสโกบาร์เองก็มีความเห็นพ้องด้วย ในผลงานที่ 3 เรื่องที่ 6 บทที่ 1 เมื่อกล่าวถึงการค้าขาย ท่ากล่าวว่า “ธุรกิจการค้าเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับนักบวชแม้จะมิได้รับศีลบวชทั้ง 3 ขั้น เพราะการนี้มิได้เป็นเพียงแต่ที่เสื่อมแก่ตัวบุคคลเท่านั้น” จากความเห็นของผู้พิพากษาเหล่านี้ เราสามารถสรุปได้ว่า นักบวชเหล่านั้นที่แสวงหาผลกำไรทางโลก ขณะที่รับใช้พระคริสตเจ้าอยู่นั้น มีความผิดอยู่หลายกระทง และเป็นเหมือนกับผู้ที่นักบุญเยโรมได้บ่นถึงเมื่อเขียน “ถึงนักพรตรุสติกุล” ว่า “ข้าพเจ้าได้เห็นบางคนที่ได้สละโลกแล้ว แต่ก็สละได้เพียงทางเสื้อผ้าและร่างกายเท่านั้น และมิได้เปลี่ยนแปลงอะไรอย่างจริงจังจากสภาพชีวิตเดิมเลย นอกจากกล่าวคำปฏิญาณตนเท่านั้น”
ตอนที่สาม พิสูจน์ว่าธุรกิจการค้าเป็นสิ่งต้องห้าม จากเหตุผลฐานะพิเศษที่นักบวชคณะเยซุอิตปฏิญาณตนจะรักษา
เนื่องจากคณะเยซุอิตเป็นคณะที่รวมนักบวช 2 พวก พวกหนึ่งมีชื่อว่า “ผู้ปฏิญาณตน” ได้แก่บรรดาพระสงฆ์ และอีกพวกหนึ่งที่เรียกว่า “ผู้ช่วย” หรือภราดา และก็เป็นเช่นนี้ ในที่นี้จะต้องแสดงให้เห็นว่าธุรกิจการค้านั้นเป็นสิ่งไม่เหมาะสมทั้งสำหรับ “ผู้ปฏิญาณตน” และ “ผู้ช่วย”
1) ในพระวินัย ภาค 10 ข้อ 5 นักบุญอิกญาซิโอ (ผู้สถาปนาคณะเยซุอิต) ได้แนะนำให้ถือความยากจนว่าดังนี้ “เนื่องจากความยากจนเป็นเสมือนป้อมปราการของคณะนักบวช เพื่อจะพิทักษ์รักษาคณะนั้นๆ ไว้ในสภาพและธรรมวินัยของตน และป้องกันจากศัตรูจำนวนมาก การทำให้ความโลภ ทุกรูปแบบอยู่ห่างไปให้ไกลที่สุด จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับการดำรงชีวิตอยู่และขยายตัวของคณะนี้” ในกฎข้อที่ 12 สำหรับเหรัญญิกของสำนักนักบวช ซึ่งคัดมาจากมาตรา 27 ของสมัชชาใหญ่ของคณะครั้งที่ 2 ก็มีข้อความเช่นนี้ว่า “ให้ (เหรัญญิก) เข้าใจว่า ทุกสิ่งที่มีลักษณะเป็นธุรกิจการค้าทางโลกเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับสมาชิกในคณะของเรา นั่นคือการเพาะปลูกที่ดิน การขายผลิตผลในตลาด และการกระทำที่คล้ายกันนี้” ขอให้นักบวชพ่อค้าได้ใคร่ครวญถึงข้อความทั้งสองแห่งนี้ ถ้าหากว่ากฎวินัยของคณะห้ามอย่างเด็ดขาด แม้กระทั่งกิจกรรมที่มีทีท่าว่าจะเป็นธุรกิจการค้าทางโลก กฎวินัยเหล่านี้จะยิ่งไม่ห้ามธุรกิจการค้าแท้ๆ อย่างโจ่งแจ้งละหรือ?
2) พระวินัยของคณะ ภาค 6 บทที่ 2 ข้อ 7 ยังห้ามทุกคนที่อยู่ใต้บังคับของคณะมิให้เรียกร้องหรือยอมรับค่าจ้างหรือเงินทานใดๆ ที่ดูเหมือนจะเป็นค่าตอบแทนบริการของ (สมาชิก) ในคณะ ดังนั้น ถ้าหากว่าความบริสุทธิ์ใจและความจริงใจต่อคำปฏิญาณถือความยากจนที่คณะแสดงออกอย่างเปิดเผยไม่ยอมรับเงินทานตอบแทนการให้บริการจากสมาชิกของคณะ ใครเล่าจะกล่าวว่า การทำธุรกิจการค้าอันสกปรกและน่ารังเกียจเช่นนี้ไม่ขัดอะไรกับคำปฏิญาณจะถือความยากจนเลย?
3) ใน “กฎวินัยทั่วไป” เรายังอ่านได้อีกว่า “ธุรกิจทางโลก ในฐานะที่เป็นสิ่งไม่เหมาะกับคณะของเรา และทำให้หันเหจากเรื่องทางจิตใจ ก็ยิ่งควรที่เราต้องหลีกเลี่ยงให้มากขึ้นอีก” ในรูปของคำปฏิญาณธรรมดาซึ่งผู้ปฏิญาณตน (เป็นนักบวช) แล้วกระทำอีกครั้งหนึ่งนั้น ผู้ปฏิญาณตนสัญญาว่าจะไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎที่วางไว้ในพระวินัย ของคณะเรื่องความยากจน เว้นแต่เมื่อมีเหตุผลตามความจำเป็น ที่ดูเหมือนว่าจะต้องจำกัดคำปฏิญาณถือความยากจนให้แคบลง ข้าพเจ้าต้องถามเทียวหรือว่า ธุรกิจการค้าเป็นการจำกัดคำปฏิญาณถือความยากจนให้แคบลง หรือว่าเป็นการฝ่าฝืนคำปฏิญาณกันแน่? เนื่องจากว่านักบวชทุกคนจำเป็นต้องหลีกหนีธุรกิจการค้าทุกรูปแบบอย่างไม่ต้องสงสัย จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่นักบวชที่ปฏิญาณตนแล้วเป็นผู้ที่ แม้จะต้องดำเนินชีวิตอย่างคนทั่วไปธรรมดา แต่ก็ไม่ควรจะเอาอย่างความประพฤติและความโลภของคนเหล่านั้น เพราะฉะนั้น ดังที่ท่านกอร์เนลิอุส อา ลาปิเด (Cornelius A Lapide : 1567-1637) ในหนังสือ Hier : บทที่ 15 กล่าวไว้ว่า “นักบุญอิกญาซิโอ ได้เคยกล่าวว่านักบวชของท่าน (คณะเยซุอิต) และนักบวชอื่นๆ ต้องวางตัวกับชาวโลกอย่างที่ว่า เขาจะชักนำชาวโลกเหล่านั้นออกมาจากคำพูดและความปรารถนาแบบของโลก มาพูดจาและปรารถนาแบบของนักบวช นั่นคือพูดจาและมีความปรารถนาเกี่ยวกับเรื่องทางศาสนาและพระเจ้า มิใช่ว่านักบวชจะต้องลดตัวลงไปประพฤติและพูดจาแบบชาวโลก”
4) ท่านอัคราธิการของคณะเยซุอิตยังได้ห้ามตามอำนาจของท่านที่จะเรียกร้องความนอบน้อมเชื่อฟังจากสมาชิก มิให้สมาชิกของคณะคนใดทำธุรกิจการค้า ข้อห้ามนี้ได้ประกาศไว้มิใช่แต่ที่เมืองกัวเท่านั้น แต่ยังประกาศไว้ที่เมืองมาเก๊าด้วย คุณพ่อมัทธีอัส เด มายา (Matthias de Maya) เจ้าคณะแขวงญี่ปุ่น ได้ประกาศข้อห้ามนี้เมื่อปี ค.ศ. 1660 ผู้สืบตำแหน่งต่อจากท่าน คุณพ่อยอห์น มารีย์ เลรียาก็ประกาศซ้ำอีก และห้ามมิให้ผู้ที่ตกในความผิดเรื่องธุรกิจการค้านี้ได้รับการอภัยโทษด้วย จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จึงเห็นได้ชัดว่า ผู้ที่ทำธุรกิจการค้าโดยขัดคำสั่งห้ามนี้จะทำบาปหนัก ดังจะเห็นได้จากพระวินัย ภาค 6 บทที่ 5 “ในคณะ (เยซุอิต) เมื่อผู้ใหญ่สั่งในนามของพระเยซูคริสตเจ้า หรือโดยอำนาจที่เรียกร้องความนบนอบเชื่อฟังแล้ว การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมเป็นบาปหนัก” และท่านบูเซม เบาว์ม ในหนังสือเล่ม 4 เรื่อง “ฐานะ” บทที่ 1 ข้อสงสัยที่ 4 ยังกล่าวไว้ว่าดังนี้ “คำปฏิญาณคือความนบนอบ เชื่อฟัง บังคับผูกมัดนักบวชให้ทำทุกอย่างที่ผู้ใหญ่สั่งตามกฎและวินัยของคณะ ไม่ว่า (สั่ง) โดยตรงและอย่างชัดเจน หรือว่า (สั่ง) โดยอ้อมและอย่างคลุมเครือ และถ้าหากท่านสั่งโดยอำนาจที่เรียกร้องความนบนอบ เชื่อฟังในพระนามของพระเยซูคริสตเจ้า หรือในรูปแบบคล้ายๆ กัน ผู้น้อยจำต้องเชื่อฟัง มิฉะนั้นจะมีบาปหนัก”
เพราะฉะนั้น ให้นักบวชพ่อค้าระวังตัว อย่าให้ปรากฏว่าตนไม่เหมาะสมกับคณะที่เขามิได้ปฏิบัติตามกฎวินัยนั้นเลย
ตอนที่สี่ ธุรกิจการค้าถูกประณามโดยเหตุผลสภาพของผู้ที่ทำงานในเขตมิสซัง
ผู้ที่ถูกส่ง (คำว่า “ส่ง” มีรากเดียวกับคำว่า “มิชชันนารี” “มิสซัง” – ผู้แปล) ออกไปในสวนองุ่นของพระเจ้า (เป็นภาพพจน์เปรียบเทียบ หมายถึงดินแดนมิสซังที่ยังมีคริสตชนจำนวนน้อย - ผู้แปล) จะต้องปลีกตัวจากกิจการทางโลกและธุรกิจการค้าทุกรูปแบบเพราะธุรกิจการค้านั้นขัดกับจุดประสงค์ อันดับแรกจองงานธรรมทูต ผู้ที่ได้รับการคัดแยกไว้สำหรับพระวรสาร และทำหน้าที่เป็นทูตแทน พระคริสตเจ้าจะต้องตั้งจุดหมายอะไรไว้สำหรับตนเล่า นอกจากจะใช้กิจการของตนเพื่อจะเพิ่มพูนพระเกียรติของพระเป็นเจ้า และเอาใจใส่ระมัดระวัง มิใช่สำหรับความรอดและความดีบริบูรณ์ของตนเองเท่านั้น แต่ของผู้อื่นด้วย? เพื่อบรรลุถึงจุดประสงค์ดังกล่าว ความยากจนตามคำสอนของพระวรสารเป็นอุปกรณ์ที่เหมาะที่สุดฉันใด ธุรกิจการค้าและความโลภหากำไรย่อมเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อความรอดของวิญญาณฉันนั้น บรรดาพ่อค้าย่อมแสวงหาและมีใจปรารถนาแต่สิ่งของที่เป็นของโลก จนแทบไม่มีเวลาว่างเหลือให้เขาคิดถึงความรอดของเพื่อนมนุษย์หรือของตนเองได้ เพราะทางด้านหนึ่ง เขาจะต้องมีความกลัวจะสูญเสียเงินทอง อีกด้านหนึ่งเขาก็มีความปรารถนาจะหาซื้อสินค้าและเพิ่มพูนทรัพย์สิน ทั้งยังมีความอยากได้อื่นๆ อีกหลายอย่างที่หักห้ามไม่ได้คอยชักนำเขาไปอย่างน่าสงสาร และความคิดถึงสิ่งอนิจจังของโลกจะคอยถ่วงเขาลงเหมือนกับเป็นลูกตุ้ม จนจิตใจ ของเขาจะมีแต่ความคิดถึงสินค้าและเงินทองห้อมล้อมไว้เต็มไปหมด จนไม่มีที่เหลือไว้สำหรับความ คิดและความปรารถนาที่ศักดิ์สิทธิ์กว่านั้นอีกได้ เขาจึงไม่สามารถปลุกตัวให้เอาอย่างความกระตือรือร้นและคุณธรรมในงานธรรมทูตได้ต่อไป เพราะฉะนั้น จึงเห็นได้ชัดแจ้งว่า ธุรกิจการค้าจะอยู่ร่วมกับงานธรรมทูตไม่ได้เลย และผู้ที่อุทิศตนทำการค้าขาย ก็ไม่สมจะได้ชื่อว่าเป็น “ธรรมทูต” อีกต่อไป
1) ความจริงข้อนี้ ก่อนอื่นสรุปได้จากความคิดของพระคริสตเจ้า ดังที่คุณพ่อ เลอ โกดีเอร์ (Le Gaudier : 1572-1622)ให้ข้อสังเกตไว้ในหนังสือ “คำแนะนำเพื่อบรรลุถึงความดีบริบูรณ์อย่างมั่นคง” (Introductio ad solidam Perfecttionem) ว่า “พระคริสตเจ้าได้ทรงดึงดูดบรรดาอัครสาวกมาหาพระองค์ด้วยพลังรุนแรงจนกระทั่งว่าได้ทรงดึงพวกเขาเหล่านั้น ออกมาให้พ้นจากความปรารถนาจะมีทรัพย์สิน หรือชื่อเสียงเกียรติยศ หันมารักพระองค์เท่านั้น เพราะฉะนั้น พระองค์ได้ทรงเรียกสาวกบางคนจากชาวประมงให้มาเป็นชาวประมงจับมนุษย์ บางคนจากพ่อค้าให้สละผลกไรที่เป็นเงินทองที่เขากำลังแสวงหาอยู่ มาแสวงหาวิญญาณเป็นกำไร ในฐานะพ่อค้าฝ่ายจิตใจ เพื่อพระเกียรติของพระองค์” เมื่อความยากจนมารวมกันเข้ากับงานแพร่ธรรมแล้ว ก็ย่อมนำความช่วยเหลือและสนับสนุนงานเพื่อความรอดของมนุษย์อย่างมากโดยไม่ต้องสงสัย เพราะฉะนั้น พระคริสตเจ้าจึงทรงย้ำเตือนบรรดาอัครสาวก ทั้งด้วยพระวาจาและแบบฉบับถึงความยากจน ไม่ใช่อย่างสามัญชนทั่วไป แต่ชนิดที่สอดคล้องอย่างที่สุดกับชีวิตแพร่ธรรมและการเทศนาประกาศพระวรสาร โดยมุ่งหวังให้จิตใจของธรรมทูตได้ว่างจากความปรารถนาสิ่งของของโลกทุกอย่าง จะได้มุ่งหาพระเกียรติมงคลของพระเป็นเจ้าอย่างบริสุทธิ์ใจยิ่งขึ้น และเป็นอิสระจากสลวนอื่นๆทั้งหลาย เขาจะได้รวมพลังความสนใจทุกอย่างสำหรับกิจการที่เป็นหน้าที่ของเขาโดยตรง
2) ความจริงข้อนี้ยังสรุปได้จากความคิดของบรรดาอัครสาวก ในหนังสือกิจการอัครสาวก บทที่ 6 มีเขียนไว้ว่า “(บรรดาอัครสาวก) ได้เรียกบรรดาศิษย์มาประชุมกันแล้วกล่าวว่า ไม่เป็นการสมควรที่เราจะละเลยพระวจนะของพระเป็นเจ้าไปแจกอาหาร เพราะฉะนั้น พี่น้องทั้งหลายจงเลือกเจ็ดคนในพวกท่านที่มีชื่อเสียงดี ประกอบด้วยพระจิตเจ้าและสติปัญญา เราจะแต่งตั้งเขาให้ดูแบการงานนี้ ส่วนพวกเราเองนั้น จะขะมักเขม้นอธิฐานภาวนาและรับใช้พระเจ้าในพันธกิจแห่งพระวจนะเสมอไป” น่าแปลกใจใช่ไหม บรรดาอัครสาวกไม่ยอมแจกจ่ายอาหารการกิน เพื่อมิให้กิจการนี้ แม้จะ เป็นบริการทางศาสนาก็ตาม ทำให้ท่านต้องละเลยภารกิจหน้าที่แพร่ธรรมโดยตรง (นั่นคือ การอธิฐานภาวนาและการประกาศพระวาจาของพระเจ้า-ผู้แปล) แต่บรรดาอัครสาวกสมัยใหม่ (คือบรรดา มิชชันนารี) พากันละทิ้งพันธกิจประกาศพระวาจา เพื่อไปเอาใจใส่เรื่องเงินทอง ดังนี้ ใครเล่าจะไปเชื่อว่าพวกเขาคือผู้สืบทอดตำแหน่งตามแบบฉบับของบรรดาอัครสาวก?
3) ความจริงอันเดียวกันยังสรุปได้จากเจตนารมณ์ของคณะเยซุอิตอีกด้วย นักบุญอิกญาซิโอ มีความปรารถนาให้ผู้ที่ถูกส่งไปปลูกฝังอยู่ในสวนองุ่นของพระคริสตเจ้า (หมายถึงบรรดามิชชันนารีที่ออกไปประกาศพระวรสาร-ผู้แปล) เป็นผู้ถูกตรึงกางเขน (ตาย) จากโลก จนไม่อยากคิดถึงปัจจัยสำหรับการเดินทางเสียด้วย ดังจะเห็นได้จากพระวินัยของคณะ ภาค 7 บทที่ 1 ข้อ 3 “ผู้ที่พระสันตะปาได้กำหนดตัวให้เดินทางไปยังที่ใดที่หนึ่งแล้ว ให้เขาเสนอตัวเองโดยสมัครใจโดยไม่เรียกร้องสิ่งใดๆ เป็นปัจจัยสำหรับเดินทาง โดยตนเองหรือผู้อื่น” ในภาคที่ 4 บทที่ 2 ข้อ 4 ท่านยัง “ไม่ยอมให้สิ่งใดที่อาจจะหันเหคณะไปจากการแสวงหาความรอดของวิญญาณได้ คือว่า คณะ (เยซุอิต) ต้องเป็นคณะที่ถูกส่งไปประกอบภารกิจของสันตะสำนักจริงๆ” ต่อจากนั้น ในบทที่ 4 ของสมัชชาใหญ่ ข้อ 27 ยังมีคำสั่งให้นักบวชของคณะก่อนปฏิญาณตน “ไปขอทานตามบ้านเป็นเวลา 3 วัน เพื่อให้มีความพร้อมยิ่งขึ้นที่จะขอทานเมื่อมีคำสั่งให้ทำหน้าที่นี้ หรือเมื่อจะเป็นประโยชน์หรือจำเป็น คณะที่เดินทางไปยังส่วนต่างๆของโลกตามที่ได้รับคำสั่งให้ไป” ในที่สุด ในกฎของมิสซัง ข้อ 26 เรายังอ่านพบว่า “(บรรดาสมาชิกของคณะเยซุอิต) อย่าทำการคบค้ากับชาวโลกมากเกินไปโดยที่ไม่ระวังตัว หรือที่กระเดียดไปทางโลก” จากข้อความทั้งหลายที่ยกมาเหล่านี้ เราอาจสรุปได้ว่า ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำงาน (แพร่ธรรม) ในมิสซังนั้น ทำการค้าไม่ได้เลย ถ้าการถือความยากจนอย่างสมบูรณ์ที่คณะปฏิญาณตนไว้ไม่อนุญาตให้สมาชิกแสวงหาปัจจัยแล้วก็ยิ่งจะไม่อนุญาตให้เข้าทำการค้าได้อย่างแน่นอน ผู้ที่เอาบ่วงธุรกิจทางโลกและสินค้ามาผูกมัดตนเองอย่างนี้จะเป็นอิสระในการออกไปทำงานแพร่ธรรมได้อย่างไรเล่า?
4) ความจริงข้อเดียวกันนี้ยังเห็นได้อีกจากความคิดของคุณพ่อฟรังซิส ซาเวียร์ (นักบุญฟรังซิส ซาเวียร์) ในจดหมายที่ท่านเขียนถึงคุณพ่อกัสปาร์ บาร์เซ (Gaspard Barzee) ท่านได้แนะนำอย่าให้เป็นผู้รับฝากและแจกจ่ายเงินที่จะต้องให้แก่คนยากจนเลย ท่านยกเอาเหตุผลนี้มาอ้างโดยเฉพาะ “ถ้าเงินช่วยเหลือที่เตรียมไว้สำหรับคนยากจนขัดสนและอยู่ในความดูแลของท่านเพิ่มขึ้น ก็จะมีผู้คนจำนวนมากแห่มาขอท่านจากทุกหนทุกแห่ง จนกว่าท่านจะไม่มีเวลาว่างเหลือสำหรับงานแพร่ธรรม ซึ่งต้องเป็นงานเอกของท่าน ดังนั้นจึงไม่เป็นการสมควรที่ท่านซึ่งมาเพื่อประกาศพระวรสาร จะต้องละทิ้งพระวจนะของพระเป็นเจ้ามาแจกจ่ายอาหาร นอกจากนั้น ถ้าท่านเองเคยตัวกับการจัดการเงินทอง ก็น่ากลัวว่าชื่อเสียงของท่านจะถูกคนชั่ว และคนที่ชอบมองทุกอย่างในแง่ร้าย กล่าวหาให้มีมลทินเปื้อนหมองไปได้” ขอให้บรรดา (นักบวช) พ่อค้าของเราเอาอย่างธรรมทูตแห่งภาคตะวันออกผู้นี้ (นักบุญฟรังซิส ซาเวียร์) ในการแสวงหาความรอดของวิญญาณและการดูถูกทรัพย์สมบัติเถิด
5) ความจริงข้อนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากความคิดของนักบุญยอห์น คริโซสตม (347-407 พระสังฆราชแห่งนครคอนสตันติโนเปิ้ล) อีกด้วย เลอ โกดีเอร์ ให้ข้อสังเกตไว้ในหนังสือ “คำแนะนำ” ของท่านว่าท่านนักบุญนักปราชญ์ผู้นี้ “คิดว่า ในเมื่อชาวประมงเพียง 12 คนได้เคยทำให้โลกทั้งใบกลับใจมาแล้วในการก่อน แต่ในสมัยของท่านมีผู้ทำงานจำนวนมากในพระศาสนจักร แต่ทำงานได้ผลน้อยอ่างนั้น การนี้มิได้มีสาเหตุเป็นอย่างอื่นนอกจากว่า ท่านอัครสาวกในสมัยแรกเป็นผู้มีจิตใจยากจน แสดงให้เห็นชัดเจนว่าท่านดูถูกสิ่งของต่างๆอย่างยิ่งยวดและมีใจกว้างเพราะความรักต่อพระเป็นเจ้าและการประกาศข่าวดีของพระองค์ ส่วนในสมัยนี้ ผู้ที่ทำงานเพื่อความรอดของผู้อื่น แม้ว่าจะได้ปฏิญาณตนว่าเป็นผู้ถือความยากจน กลับมีความกระหายและสลวนมากเกินไปในเรื่องการแสวงหาสิ่งที่ตนคิดว่าจำเป็น และดังนี้เจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะแสวงหาพระเกียรติของพระเป็นเจ้าจึงคลอนแคลน ส่วนผู้ที่เห็นต่างไม่พอใจและถอยหนีไป"
6) ท่านปอสเซวีโน (Possevino 1534- 1611) ในหนังสือ Biblioteca เล่ม 4 ยังยืนยันความจริงเรื่องเดียวกัน ในรายการอุปสรรคที่ขัดขวางการช่วยเหลือวิญญาณให้รอดนั้น ท่านกล่าวถึงมิชชันนารีที่เป็นพ่อค้าว่า การเข้าไปพัวพันกับธุรกิจการค้าทางโลกโดยอ้างอย่างผิดๆว่าเป็นสิ่งที่ดีนั้น “พวกเขาไม่เข้าใจว่าตนกำลังเสียเวลาอะไรไปในเรื่องอย่างนี้ (พวกเขาไม่เข้าใจว่า) ตนกำลังวางอุปสรรคยิ่งใหญ่ขัดขวางความก้าวหน้าทางจิตใจ พวกเขาไม่คิดว่าต้องมีความรอบคอบอย่างมากเพื่อจะระวังมิให้สวรรค์กับแผ่นดินปะปนกัน ทั้งๆ ที่พวกเขาสมัครใจอยู่กับสิ่งจองสวรรค์ แต่กลับโอนเอียงและพุ่งหัวปักหัวปำลงไปเกลือกกลั้วอยู่กับสิ่งของของแผ่นดินนี้”
7) คุณพ่อก็อสตา ยังอธิบายความจริงเรื่องเดียวกันไว้ในหนังสือ “ว่าด้วยการช่วยให้ชาวตะวันออกได้รอด” (De Procuranda Indorum salute) เล่มที่ 5 บทที่ 22 ท่านพิจารณาดูว่าการไม่ยอมเข้าไปพัวพันกับธุรกิจและการหากำไรใดๆนั้น มีผลเพียงไรในการทำให้ชาวตะวันออกได้กลับใจ ท่านกล่าวว่า “ไม่มีปาฏิหาริย์ใดที่จะดึงดูดชาวตะวันออก ให้มาสนใจพระวรสารได้ชัดเจนมากกว่าการที่ผู้ประกาศพระวรสารไม่ทำให้คำสอนของตนเจือจางไปโดยความโลภของตน หรือจากคำเล่าลือว่าได้ปล่อยตัวสนุกตามราคตัณหา”
8)คุณพ่อโทมัสแห่งพระเยซูเจ้า ยังเสริมความจริงข้อนี้ไว้ในหนังสือ “การช่วยให้คนต่างศาสนาเอาตัวรอด” (De procuranda Gentium salute) เล่ม 4 บทที่ 7 เมื่อกล่าวถึงนักบุญเปาโลอัครสาวก ท่านกล่าวว่า “ ท่านสถาปนิกผู้ชาญฉลาด (นักบุญเปาโล-ผู้แปล) ได้สังเกตว่างานประกาศพระวรสารประสบอุปสรรคขัดขวาง หรืออย่างน้อยล่าช้าลงไป เพราะการหากำไรทุกรูปแบบ แม้ที่จำเป็น ดังนั้น ท่านจึงเลือกจะตายมากกว่าจะเสียเกียรติของท่าน นั่นคือ การประกาศพระวรสารอย่างได้ผลบริบูรณ์” และถัดมาอีกหน่อยหนึ่ง ท่านยังเสริมว่า “ใน 2 เรื่องนี้ คือในเรื่องการบังคับตนถือพรหมจรรย์และเรื่องการดูถูกเงินทอง ผู้รับใช้พระคริสตเจ้าต้องดีเด่นจนไม่มีใครอาจระแวงสงสัยได้ เกียรติของพระสงฆ์ (ในเรื่องเงินทอง) เสียหายได้ง่ายจากการถูกระแวงสงสัยเช่นเดียวกับชื่อเสียงในเรื่องการถือพรหมจรรย์”
9) ความจริงเรื่องเดียวกันยังได้รับคำอธิบายอย่างชัดเจนให้เห็นความสำคัญยิ่งยวดจากความคิด ของพระสันตะปาปาอีกด้วย พระสันตะปาปาอูร์บันที่ 8 ในสารตรา (Bulla) ซึ่งเริ่มต้นด้วย คำว่า “Ex debito pastoralis officii” ว่าด้วยการส่งนักบวชไปยังประเทศญี่ปุ่นและภาคอื่นของอาเซียตะวันออกได้กล่าวประณามอย่างรุ่นแรงต่อนักบวชที่ทำการค้า และกำหนดโทษต่างๆ ไว้ด้วย เป็นการสมควรที่จะกล่าวถึงเนื้อหาส่วนสำคัญของข้อกำหนดนี้ไว้ ณ ที่นี้ เพื่อให้ผู้ที่ทำการค้าโดยไม่มีความละอาย จะเป็นที่เสื่อมเสียอย่างร้ายแรงต่อพระศาสนาในมิสซังจนถึงบัดนี้ ต่อไปภายหน้าจะได้กลัวคำตัดสิน ลงโทษของพระศาสนจักร และเลิกสนใจกิจกรรมทางโลกเสีย กลับมาแสวงหาวิญญาณให้เกิดผลอย่างจริงจัง ถ้อยคำของข้อกำหนดที่กล่าวถึงเป็นดังนี้ “เนื่องจากทั้งกฎหมายพระศาสนจักร ทั้งประกาศของพระสังคายนา และข้อกำหนดของพระสันตะปาปาได้ห้ามอย่างเคร่งครัดมิให้นักบวชทั้งหลายและบรรพชิต โดยเฉพาะขั้นพระสังฆราช สงฆ์และสังฆานุกร ทำการค้าขายหรือธุรกิจทางโลก และเป็นการเสียหายไม่น่าดูและไม่สมควรอย่างมาก ที่บุคคลซึ่งอุทิศตนให้ศาสนกิจและโดยเฉพาะผู้ที่ได้รัยการกำหนดตัวให้ไปประกาศพระวรสารของพระคริสตเจ้า เข้าไปพัวพันหรือทุ่มเทให้กับการค้าขายและธุรกิจดังกล่าว เรา (พระสันตะปาปา) ซึ่งยึดมั่นในกฎเกณฑ์และข้อกำหนดของพระศาสนจักรดังกล่าว ขอใช้อำนาจที่ได้รับสืบต่อมาจากอัครสาวก ตามเจตนารมณ์ของข้อกำหนดเหล่านี้ สั่งห้ามอย่างเด็ดขาดมิให้นักบวชทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่ในคณะหรือสำนักใด ทั้งนักบวชภิกขาจารหรือไม่ภิกขาจาร รวมทั้งคณะเยซุอิตและนักบวชแต่ละคนทั้งที่เวลานี้อยู่ในสถานที่ดังกล่าว (คือ ประเทศญี่ปุ่นและอาเซียตะวันออก) ทั้งที่จะถูกส่งมาในภายหน้า-ทำการค้าหรือธุรกิจใดๆ ไม่ว่าด้วยวิธีการใด จะเป็นด้วยตนเองหรือใช้ให้ผู้อื่นทำ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือในนามของคณะ ไม่ว่าโดยตรงหรือทางอ้อม หรือโดยมีเหตุผลมาอ้าว (ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งนี้) จะต้องได้รับโทษบัพพาชนียกรรมทันทีที่ทำผิด (Excommunicationis latae sententiae poena ipso facto incurrenda) หมดสิทธิ์ที่จะออกเสียง หรือได้รับทางเลือก รวมทั้งถูกถอดจากตำแหน่งหน้าที่ หรือเกียรติยศทั้งสิ้น และไม่มีสิทธิจะได้รับ (ตำแหน่งหน้าที่หรือเกียรติยศ) เหล่านี้อีก ยิ่งกว่านั้นยังต้องถูกริบสินค้าและผลกำไรที่หามาได้จากสินค้าเหล่านั้นด้วย สินค้าและผลกำไรเหล่านี้ทั้งหมด ผู้ปกครองคณะนักบวชที่ผู้ทำผิดเป็นสมาชิกอยู่ จะเป็นผู้เก็บไว้เพื่อประโยชน์ของงานแพร่ธรรมที่คณะนักบวชนั้นมีอยู่ หรือจะมีในอนาคตในทวีปอาเซีย และไม่ให้นำไปทำอย่างอื่น เรายังขอกำชับผู้ปกครองโดยกำหนดโทษเช่นเดียวกัน ให้คอยระมัดระวังและจัดการลงโทษดังกล่าวกับผู้กระทำผิด โดยที่ไม่มีอำนาจจะคืนหรือยกสินค้าหรือผลกำไรดังกล่าวแม้แต่เล็กน้อยให้กับผู้กระทำผิด”
นักบวชพ่อค้าเอ๋ย นี่คืออาวุธที่ผู้สืบตำแหน่งของนักบุญเปโตรใช้ต่อสู้เจ้า ใครจะชนะ? เจ้าหรือผู้แทนพระคริสตเจ้า? ดังที่ข้าพเจ้าเห็น เจ้าไม่กลัวผู้ที่เจ้าเห็นว่ากำลังฟาดฟันเจ้าแต่ไกลดอกหรือ แต่ถ้าเจ้าไม่ฟังพระศาสนจักร ก็จงรู้ไว้เถิดว่าเจ้าจะเป็นเหมือน “คนเก็บภาษี” (คนนอกคอก ในใจความของพระวรสาร - ผู้แปล) แต่ถ้าเจ้าไม่อายที่จะเป็นบุตรของพระศาสนจักรและเป็นแกะของพระคริสตเจ้า ก็จงยอมฟังเสียงของผู้เลี้ยงและยอมแพ้ต่ออาวุธในสงครามที่ถ้าเจ้าชนะ ก็จะเป็นการน่ารังเกียจที่สุด ข้าพเจ้าขอเตือนเจ้าถึงหน้าที่ของเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ใช้ถ้อยคำอื่น นอกจากถ้อยคำที่นักบุญ
คริโซสตมได้ใช้ เมื่อเขียนถึงยูติเคส (นักบวชผู้สอนผิดว่าพระคริสตเจ้ามิได้มีธรรมชาติมนุษย์เหมือนเรา ถูกลงโทษในพระสังคายนาแห่งกัลเชดอนในปี ค.ศ. 451 ยูติเคสมีชีวิตระหว่างปี 378-454-ผู้แปล) ท่านนักบุญเขียนว่า “ข้าพเจ้าขอเตือนท่าน ยูติเคสน้องรักให้ท่านยอมรับด้วยความอ่อนน้อม ข้อความที่พระสันตะปาปาแห่งกรุงโรมได้เขียนมา เพราะว่านักบุญเปโตรยังคงมีชีวิตอยู่ที่สำนักของท่าน (กรุงโรม) บอกความจริงแห่งความเชื่อแก่ผู้ที่แสวงหา (ความจริงนั้น)”