-
Category: ข้อพิพาทระหว่างมิชชันนารีในสยามระหว่างศตวรรษที่ 17
-
Published on Monday, 19 October 2015 08:25
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2068
พระสังฆราชแห่งเบริธ ประมุขมิสซัง
(ผู้แทนสมเด็จพระสันตะปาปา กรุงสยาม - 15 ตุลาคม ค.ศ.1667
เปโตร ลังแบรต์ เดชะพระกรุณาของพระเป็นเจ้าและของสำนักแห่งอัครสาวก (สันตะสำนักที่กรุงโรม-ผู้แปล) (ได้รับตำแหน่ง) พระสังฆราชแห่งเบริธและประมุขมิสซังของแคว้นโคชินจีน ลาว ตังเกี๋ย เกาะไหหลำและเกาะอื่นๆ รวมทั้งของจักรวรรดิจีน มงโกล ฯลฯ ตามสารแต่งตั้งของสมเด็จพระสันตะปาปา อเล็กซานเดอร์ที่ 7 ให้ไว้ ณ กรุงโรม วันที่ 9 เดือนกันยายน คริสตศักราช 1659 ขอเจริญพรในพระคริสตเจ้ามายังคริสตชนทั้งหลายที่จะอ่านสารฉบับนี้
เนื่องจากว่าสิ่งเดียวที่พระสังฆราชผู้แทนพระสันตะปาปาต้องมุ่งมั่นยิ่งกว่าสิ่งอื่นๆ ทั้งหลาย คือพลีตนเป็นยัญบูชาสำหรับทุกคนเพื่อทำให้ประชาชน (ชาติต่างๆ) ได้กลับใจเป็นเกียรติแด่พระเป็นเจ้าและพยายามขจัดอุปสรรคต่างๆ อย่างสุดความสามารถ นับตั้งแต่ข้าพเจ้า แม้ว่าจะไม่เหมาะสม ได้รับมอบหมายภารกิจยิ่งใหญ่เช่นนี้ ซึ่งไม่เคยมีใครได้รับมอบหมายมาก่อนเลย ข้าพเจ้าจึงตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนี้ให้สำเร็จไปเมื่อได้คิดเช่นนี้ พอข้าพเจ้าได้รับมอบอำนาจต่างๆ จากสันตะสำนักแล้ว ก็ได้ออกเดินทางผ่านดินแดนอันกว้างใหญ่ของชาวตุรกี เปอร์เซีย และอินเดีย ในที่สุดก็มาถึงราชอาณาจักรสยามนี้ เพื่อรอโอกาสแรกที่จะเดินทางต่อไปยังพื้นที่ที่ข้าพเจ้าได้รับอำนาจให้ปกครอง เพราะฉะนั้นในปี ค.ศ.1663 ข้าพเจ้าจึงได้ลงเรือที่เดินทางไปประเทศจีน แต่ก็ต้องประสบพายุร้ายและอยู่ในอันตรายที่เรือจะอับปรางหลายครั้งแม้ได้พยายามต่อสู้แล้ว จึงจำเป็นต้องหวนกลับมายังท่าที่ได้ออกเรือไปอีกครั้งหนึ่ง ในเวลานั้นพระเป็นเจ้าได้ทรงซ่อนแผนการแห่งพระกรุณาไว้สำหรับข้าพเจ้า ซึ่งจะทรงเปิดเผยให้ข้าพเจ้าทราบในเวลาต่อมาไม่ช้า ข้าพเจ้าได้ทราบจากความเห็นทั่วไปของทุกคนว่า ข้าพเจ้าคงจะได้เข้ามาอยู่ในมือของคนที่มิเพียงแต่ห้ามข้าพเจ้ามิให้เข้าไปในมิสซังเท่านั้น แต่ยังไม่ยอมให้ข้าพเจ้าเดินทางไปที่อื่นได้อีกด้วย และดังนี้การเดินทางอันยืดยาวที่สุดก็คงไม่ได้บังเกิดผลอันใดทั้งสิ้น
ยิ่งกว่านั้น จากการเดินเรือที่ล้มเหลวครั้งนี้ กลับบังเกิดผลดีทำให้ข้าพเจ้ามาทราบว่ามีความเหลวแหลกอย่างมากของพวกมิชชันนารีในดินแดนทางตะวันออกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพวกเยซุอิต ซึ่งเกือบจะเป็นพวกเดียวที่อยู่ในดินแดนมิสซังของข้าพเจ้า ความเหลวแหลกอย่างมากของพวกมิชชันนารีในดินแดนทางตะวันออกนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพวกเยซุอิต ซึ่งเกือบจะเป็นพวกเดียวที่อยู่ในดินแดนมิสซังของข้าพเจ้า ความเหลวแหลกนี้มีอยู่มากจนแทบไม่น่าเชื่อ ข้าพเจ้าจึงได้สืบหาสาเหตุ เพื่อจะสามารถระวังตัวได้ ข้าพเจ้าก็ไม่ต้องใช้เวลานานเพราะความเหลวแหลกนี้ สังเกตได้ชัดเจนในรูปความกระหายทรัพย์สินอย่างเต็มที่ที่พวกนี้มีอยู่ในตัว“ความโลภเป็นรากเหง้า ของความชั่วทุกอย่าง” (1 ทธ.6.10) เพื่อที่จะเตรียมสนองตัณหาอันน่ากลัวนี้ ซึ่งเป็นเสมือนมีดคมที่ฟาดฟันคณะนักบวชต่างๆ ได้สมใจ, พวกเขาได้ลงมือทำการค้ากันอย่างจริงจัง มีเรือสินค้าของตนเองอยู่ที่คลังสินค้า อันมีชื่อเกือบทุกแห่ง หรือเข้าพวกกับพ่อค้าอื่นๆ และมีโรงเก็บสินค้าทุกชนิด ซึ่งพวกเขามอบให้นักบวชของตนคอยดูแล พูดสั้นๆ พวกนี้เป็นเสมือนตัวแทนจำหน่ายของใครไม่ว่าที่ใช้เงินทองหากำไร อย่างที่เป็นอยู่ที่เมืองปัตตาเวีย ยิ่งกว่านั้นยังมีนักบวชหลายคนที่ไม่ลังเลใจ ที่จะทำธุระให้พ่อค้าที่ร่ำรวยมากในดินแดนมิสซังตามคำสั่งของผู้ใหญ่ โดยอ้างเหตุผลปกปิดแผนการนี้ว่า เพื่อทำให้คนต่างศาสนากลับใจ เพราะว่าการใช้ชื่อศาสนาทำให้การเข้าไปในประเทศทั้งหลายเป็นการง่าย และจากนี้พวกเขาก็ทำการติดต่อต่างๆ ได้
จากนี้ จึงไม่ต้องเป็นเรื่องแปลกอีกต่อไปที่บ้านนักบวชต่างๆ เหล่านั้นใหญ่โตและมีทรัพย์สินสะสมไว้มากมาย และใครๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจด้วยอีกต่อไปเช่นกัน ที่จะเห็นงานคริสต ศาสนาบังเกิดผลน้อยเช่นนี้ ยิ่งกว่านั้น คริสตศาสนาเสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างมากในดินแดนแถบนั้นทุกแห่ง เนื่องจากความอื้อฉาวอย่างหนักของบรรดานักบวชเหล่านี้ จนกระทั่งว่า ควรแล้วที่ใครๆ จะสงสัยว่าจะไม่เป็นการดีมากกว่าหรือไม่สำหรับพระศาสนจักร ที่จะไม่ให้สมาชิกของคณะนักบวชนี้อยู่ในภาคนี้อีกต่อไป เพราะเมื่อคนต่างศาสนามองดูวิธีการกระทำของบรรดานักบวชเช่นนี้ เขาก็ไม่สามารถถูกชักชวนให้ชื่อได้ว่า ยังมีสิ่งอื่นออกจากทรัพย์สมบัติที่ผู้ประกาศพระวรสารแสวงหา อย่างน้อยด้วยความเอาใจใส่เท่าเทียมกัน ดังนั้น บรรดาพระสงฆ์ต่างศาสนาก็ยังดีกว่าพวกมิชชันนารี เพราะพวกนั้นมีความยากจนข้นแคว้น และดูถูกทรัพย์สินทางโลกเหนือว่าพวกมิชชันนารีมากนัก และคิดว่าคนที่ถวายตัวรับใช้พระเจ้าต้องปลีกตัวไม่เข้าไปพัวพันกับการค้าขายและธุรกิจทางโลกทุกอย่างนี่เป็นความเห็นของบรรดาพระสงฆ์ของคนต่างศาสนาที่มีต่อบรรดามิชชันนารีที่เป็นพ่อค้าและสลวกต่อสิ่งภายนอกเท่านั้น ฉะนั้น ถ้าใครอยากจะสอนพระธรรมคำสอนของศาสนาคาทอลิกให้พวกนี้ พวกเขาก็ยกเอาวิธีดำเนินชีวิตของตนขึ้นมาสู้กับของบรรดานักบวช (คาทอลิก) เอาความยากจนขัดสนของตนมาเปรียบกับความร่ำรวยของบรรดามิชชันนารี เอาการดูถูกทรัพย์สิน (ของพวกเขา) มาเปรียบกับความโลภ (ของบรรดามิชชันนารี) และเอาความสันโดษที่เขามีอยู่มาเปรียบกับความวุ่นวายมากมายของบรรดามิชชั้นนารี ซึ่งก็ตรงกันกับที่นักบุญออกัสตินกล่าวถึงบรรดาพระสงฆ์ชาวเอธิโอเปียว่า “คริสตชนช่างน่าอนาถจริงๆ นี่ไง คนต่างศาสนากลับเป็นอาจารย์สอนผู้ที่มีความเชื่อ”
เป็นที่เชื่อได้ง่ายว่าเรื่องราวของคนเหล่านี้ได้มีผู้มาเล่าให้สมเด็จพระสันตะปาปาอูร์บันที่ 8 ได้ทรงทราบ จึงได้เร่งเร้าให้พระองค์ทรงสั่งห้ามมิให้มิชชันนารีทั้งหลายกระทำธุรกิจการค้าทุกอย่าง โดยทรงกล่าวเจาะจงออกชื่อคณะเยซุอิตเป็นพิเศษด้วย และทรงคาดโทษไว้นัก ที่สุดเท่าที่จะได้ นี่คือโทษบัพพาชนียกรรมโดยอัตโนมัติทันทีที่กระทำความผิด และให้เสียสิทธิเลือกตั้งและรับเลือกตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ และเป็นผู้ไร้สมรรถภาพที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ใดๆ ด้วย ข้อกำหนดนี้ยังมีผลใช้บังคับอยู่จนปัจจุบัน แต่ก็ยังมีคนอ้างว่าทำธุรกิจการค้าได้ไม่ผิด และกล่าวว่าทางสำนักงานกลางที่กรุงโรม (curia Romana) ทราบถึงสภาพการณ์ต่างๆ มาไม่ดี จึงปรากฎว่าพระสันตะปาปาเองก็ไม่ได้ ทรงมีกำลังหรืออำนาจพอที่จะกำจัดธรรมเนียมเลวร้ายนี้ให้สิ้นไป เว้นแต่ว่าพระเป็นเจ้าผู้ทรงอำนาจเองจะเข้ามาอยู่ร่วมกับฝ่ายของพระองค์ด้วย
ทุกคนย่อมเห็นได้ชัดว่า ตั้งแต่เวลาที่นักบวชเยซุอิตไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของสันตะสำนัก นั่นคือในเรื่องธุรกิจการค้าที่กล่าวนี้ และในเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย เช่น เมื่อพวเขากำหนดไว้ว่าไม่ให้มิชชันนารีอื่นๆ เข้าไปในเขตที่พวกเขา (นักบวชคณะเยซุอิต) ถูกส่งมาประกาศพระวรสารอยู่ก่อนแล้ว หรือการที่พวกเขาไม่สนใจที่จะประกาศข้อบังคับของพระศาสนจักรให้ประชาชนทราบตามคำสั่งของพระสันตะปาปา กิจการคริสตศาสนาทั้งหมดจึงต้องเสียไปอย่างน่าอนาถในเกือบทุกที่ที่พระศาสนจักรกำลังเจริญขึ้น ในประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และจีน (งานพระศาสนา) ได้รับความเสียหายเป็นการลงโทษจากสวรรค์ เช่นเมื่อ พวกเขาถูกขับไล่ออกจากประเทศญี่ปุ่น จีน ตังเกี๋ย โคชินจีน เกาะมักกะสัน ป้อมทุกแห่งของพวกโปรตุเกสบนเกาะลังกา หมู่เกาะ “โอรา ปิสการีอา” จัฟฟานาปะตัม เมืองมัสกาตีเนคาปาตัม และเมืองสำนักพระสังฆราชที่มะละกา เมลีอาปุระ โคชิน คันคาโนส ก็ถูกทำลาย ดินแดนเหล่านี้ บางแห่งก็ตกเป็นของชาวมุสลิม บางแห่งก็เป็นของชาวโปรแตสตันท์ บางแห่งเป็นของคนต่างศาสนาอื่นๆ
จากการสังเกตน่าอนาถเช่นนี้ทำให้ข้าพเจ้ามีความกลัว และบ่อยๆ ได้กราบแทบพระบาทพระเยซูเจ้า อ้อนวอนพระกรุณาสำหรับส่วนที่เหลือของพระศาสนาคาทอลิกที่ตกต่ำลงอย่างมากในดินแดนทางตะวันออกเหล่านี้บ่อยๆ ข้าพเจ้ายังได้ให้คำแนะนำที่เปี่ยมด้วยความรักทั้งต่อผู้ปกครอง และสมาชิกอื่นๆ ของคณะ (เยซุอิต) แต่ทว่าไร้ผล และรู้สึกเศร้าเสียใจอย่างขมขื่นที่ยิ่งจะเพิ่มมากขึ้น ถ้าหากว่าการทำธุรกิจการค้าอันชั่วช้าเช่นนี้ไม่ยุติลง ในที่สุด มิชชันนารีทุกคนก็จะถูกเหมาให้เสียชื่อรวมกันไปพร้อมกับพวกเยซุอิตด้วยซึ่งจะทำให้หมดหวังที่จะทำอะไรเพื่อพระเกียรติของพระเป็นเจ้าและเพื่อให้ประชาชนได้กลับใจอีกต่อไป
ข้าพเจ้าจึงพยายามค้นหาว่าจะใช้วิธีการอะไรดีสำหรับจะบำบัดรักษาโรคเรื้อรังเช่นนี้ได้ และไม่สามารถคิดถึงวิธีการอื่นได้ นอกจากวิธีการที่ได้มาจากธรรมนูญที่กล่าวแล้วของสมเด็จพระสันตะปาปาอูร์บัน ที่ 8 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1633 ที่สั่งบรรดาพระสังฆราชให้จัดการให้ข้อกำหนดดังกล่าวได้รับการปฎิบัติตามในเขตปกครองของตน นอกจากนั้น ยังสั่งให้บรรดาพระอัยกา (Patriarch ตำแหน่งพระสังฆราชประจำเมืองที่เคยมีประวัติสำคัญมาแต่โบราณ เช่น เยรูซาเล็ม อเล็กดซานเดรีย เวนิส เป็นต้น - ผู้แปล) อัครสังฆราช, สังฆราชและสมณประมุขปกครองเขตอื่นๆ รวมทั้งเจ้าอธิการ คณะนักบวชที่อยู่ทั่วโลกทุกแห่ง ให้จัดการให้มีการประกาศและปฏิบัติตามสารฉบับนี้ในเขตปกครองของตน จะเป็นเมือง สังฆมณฑล หมู่คณะใต้อำนาจปกครองของแต่ละคน โดยที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมทั้งบรรดานักบวชคณะเหล่านั้นด้วย เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้อ้อนวอนขอความสว่างขององค์พระจิตเจ้าด้วยความถ่อมตนเป็นเวลานาน และขอใช้อำนาจประจำตำแหน่งหน้าที่ กำหนดให้สารตราฉบับที่กล่าวนี้ของสมเด็จพระสันตะปาปาอูร์บัน ที่ 8 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1633 ได้รับการแปลเป็นภาษาพื้นเมือง โดยกำหนดสั่งของข้าพเจ้า ให้อ่านและประกาศเป็นทางการ ทั้งให้ติดไว้ที่ประตูโบสถ์ของเราในพระราชอาณาจักรสยามหลังมิสซาใหญ่ และให้ส่ง (สารตรานี้) ไปยังทุกสถานที่ในปกครองของข้าพเจ้า และให้แปลเป็นภาษาพื้นเมืองของที่นั้นๆ เช่นเดียวกัน และให้มีการประกาศปีละ 2 ครั้งต่อหน้าสัตบุรุษที่มาประชุมกันในวันอาทิตย์ โดยให้มิชชันนารีและเจ้าวัดเป็นผู้ประกาศหลังมิสซาของสัตบุรุษ และให้ครูสอนคำสอนประกาศในกลุ่มคริสตชนของตน ครั้งแรกเมื่อเดินทางไปถึงที่นั่น และครั้งที่สองก่อนจะออกเดินทางจาก (กลุ่มคริสตชนนั้นๆ) ไป เมื่อประกาศธรรมนูญที่ว่าพร้อมกับข้อกำหนดของข้าพเจ้านี้แล้ว ก็อนุญาตให้จัดการกับผู้ฝ่าฝืนตามกฎหมายที่สมเด็จพระสันตะปาปาได้ทรงกำหนดไว้
ให้ไว้ ณ กรุงศรีอยุธยา ในพระราชอาณาจักรสยาม ในวัดนักบุญโยเซฟ วันที่ 15 ตุลาคม คริสตศักราช 1667.
(ลงนาม) เปโตร พระสังฆราชแห่งเบริธ
ประมุขมิสซัง แทนพระสันตะปาปา