-
Category: องค์ที่ 1-20
-
Published on Monday, 26 September 2016 04:07
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3837
สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญเปโตร
(Pope St. Peter พระเยซูสิ้นพระชนม์ - ค.ศ. 67)
นักบุญเปโตร เกิดที่หมู่บ้านเบธไซดา ใกล้ทะเลสาบธิเบรีอัส บิดาชื่อยอห์น หรือโยนา มีอาชีพเป็นชาวประมง แต่งงานกับหญิงชาวคาเปอร์นาอุม แอนดรูว์น้องชายเป็นผู้แนะนําให้ไปหาพระเยซูเจ้า ท่านมีชื่อที่เพื่อนๆ เรียกกันบ่อยถึงสี่ชื่อคือ ซีเมออน ซีมอน (เป็นชื่อภาษายิว) เปโตร (ชื่อนี้รากศัพท์มาจากภาษากรีกเป็นชื่อเล่นที่พระเยซูเจ้าตั้งให้ และก็ใช้เรียกมากที่สุด) และเคฟัส เป็นภาษาอาราเมอิกที่มีความหมายเหมือนกับคําว่าเปโตร
ลักษณะนิสัยของอัครสาวกเปโตรเป็นคนๆ ค่อนข้างจะมุทะลุแต่ก็จริงใจ เมื่อมาร่วมกลุ่มกับ ศิษย์คนอื่นๆ แล้วจะเห็นได้ว่าบทบาทของท่านเปโตรนั้นเด่นกว่าใครๆ จนพระเยซูเจ้าเองก็วางพระทัย เพราะลักษณะนิสัยที่แม้จะมุทะลุแต่ก็ชื่อสัตย์และจริงใจ อัครสาวกเปโตรรักพระเยซูเจ้ามากจนรู้สึกน้อยใจ เมื่อพระเยซูเจ้าถามถึงสามครั้งว่า ท่านรักพระองค์หรือไม่ ในบรรดาศิษย์ทั้งหลายดูเหมือนว่าเปโตร ยากอบและยอห์น จะมีสิทธิพิเศษมากกว่าอัครสาวกท่านอื่น ไม่ว่าจะไปที่แห่งใดพระเยซูเจ้าก็มักจะพาพวกเขาไปด้วย หรืออาจจะเป็นว่าบรรดาอัครสาวก เหล่านี้ไม่เคยห่างพระองค์เลยตลอดเวลาที่พระ เยซูเจ้าทรงเทศนาสั่งสอน
กระนั้นก็ตามมีบางคราวเหมือนกันที่พระเยซูเจ้าตําหนิอัครสาวกเปโตรตรงๆ เพราะความรักที่ไม่พยายามเข้าใจถึงน้ำพระทัยของพระเจ้า เมื่อคราวที่อัครสาวกเปโตรพยายามทัดทานไม่ให้พระเยซูเจ้าเดินไปสู่หนทางแห่งกางเขน (มธ 16:21-23) เป็นอัครสาวกเปโตรนี่เองที่ทําให้เราเข้าใจถึงพระเทวภาพของพระเยซูเจ้า ในคําสารภาพของท่านว่า พระเยซูคือบุตรพระเจ้าผู้ทรงชีวิต ในอัครสาวกเปโตรเราได้เห็นความอ่อนแอของความเป็นมนุษย์ ที่เพิ่งบอกรักพระอาจารย์ของตนไปไม่นาน เมื่อเผชิญกับการทดลองจริงๆ เขาก็ปฏิเสธว่าไม่รู้จักกับพระองค์ถึงสามครั้ง (ยน 18:15-16; มธ 26:34; ลก 22:34) แต่ภายหลังก็เสียใจในสิ่งที่ตัวเองกระทําไป นักบุญเปโตรเป็นผู้ที่พระเยซูเจ้าไว้ใจมากจึงทรงมอบอํานาจให้เป็นผู้สืบทอดตําแหน่งของพระองค์ เมื่อพระองค์ตรัสว่า “บนศิลานี้" (ชื่อ "เปโตร” แปลว่า “ศิลา") พระองค์จะสร้างพระศาสนจักรขึ้นมา (มธ 16:18) จากคํากล่าวของพระเยซูเจ้าเช่นนี้ เป็นการแต่งตั้งนักบุญเปโตรให้เป็นหัวหน้าดูแลกลุ่มคริสตชนแทนพระองค์ และเป็นที่มาของตําแหน่งพระสันตะปาปาประมุขของคริสตศาสนาคาทอลิกในเวลาต่อมา
นักบุญเปโตรและนักบุญยอห์นเป็นผู้ที่ได้รับทราบข่าวเรื่องพระคูหาว่างเปล่า อัครสาวกทั้งสองวิ่งไปดูให้แน่ใจ และนักบุญเปโตรเข้าไปตรวจดูในพระคูหาก่อน
เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จขึ้นสวรรค์แล้ว อัครสาวกเปโตรได้เป็นผู้นํากลุ่มคริสตชนที่เข้มแข็ง ท่านได้ทําอัศจรรย์หลายครั้ง เป็นต้นในหนังสือกิจการอัครสาวก (กจ 3:19) ท่านถูกจองจําแต่ทูตสวรรค์ของพระเจ้านําท่านออกไปจากที่คุมขังและท่านได้เทศน์สอนอย่างกล้าหาญที่ลานกว้างด้วยการนําของพระจิตเช่นกัน (กจ 5:17-21)
นักบุญเปโตรให้ความสําคัญต่อพระเจ้าเป็นอันดับแรกเสมอ สิ่งใดที่พระเจ้าทรงอนุญาตก็ สามารถทําได้ แม้แต่ในเรื่องการรับประทานสิ่งที่เป็นมลทินตามที่กฎหมายบัญญัติ
นักบุญเปโตรได้เดินทางไปแถบเอเชียไมเนอร์ เพื่อประกาศพระวรสารของพระเยซูเจ้าแก่ชาวยิวและคนต่างศาสนา บางที่ท่านอาจได้ไปที่เมืองโครินธ์ด้วยก็เป็นได้ (1 คร 1:12) ก่อนจะเดินทางไปยังกรุงโรมเพื่อประกาศพระวรสารในยุคสมัยปกครองของจักรพรรดิเนโรมีเรื่องเล่าว่า นักบุญเปโตรเดินทางออกจากกรุงโรมเมื่อทราบว่าทางการตามจับท่าน แต่ระหว่างทางท่านได้พบพระเยซูเจ้า ดําเนินสวนทางมาจึงทูลถามพระองค์จะเสด็จไปไหน พระเยซูเจ้าตรัสตอบว่าจะไปให้เขาตรึงไม้กางเขนอีกครั้งหนึ่ง อัครสาวกเปโตรเข้าใจว่าเป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าที่ต้องการให้ท่านพลีชีพเป็นพยานถึงพระองค์จึงได้เดินย้อนกลับไปที่โรมและต่อมาท่านถูกจับตรึงไม้กางเขน ท่านได้บอกกับ เพชฌฆาตว่า ตนเองไม่เหมาะสมจะได้รับการตรึง ในลักษณะเดียวกับพระเยซูเจ้าซึ่งเป็นพระอาจารย์ จึงขอให้ตรึงท่านบนไม้กางเขนโดยเอาศีรษะลง และท่านได้ถึงแก่มรณภาพเหมือนพระอาจารย์ที่ท่านรักประมาณปีคริสตศักราช 67 ได้มีการขุดหลุมฝังพระศพของท่าน พระศพของอัครสาวกเปโตรได้ถูกฝังบนเนินนี้เองซึ่งในเวลาต่อมาได้ใช้เป็นสถานที่สร้างพระมหาวิหารนักบุญเปโตรหลังปัจจุบัน
อัครสาวกเปโตรได้รับการต้อนรับอย่างดีจากคริสตชนชาวโรม และยกย่องท่านเป็นพระสังฆราชองค์แรกของโรม