-
Category: องค์ที่ 61-80
-
Published on Monday, 26 September 2016 03:47
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3691
สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญเกรโกรี ที่ 1 (ผู้ยิ่งใหญ่)
(Pope St. Gregory I (The Great) ค.ศ. 590-604)
พระองค์เป็นชาวโรมโดยกำเนิด เป็นบุตรของวุฒิสมาชิกคนสำคัญของโรม ชีวิตเบื้องต้นของท่านในฐานะฆราวาส บุตรของผู้มีอันจะกินทั่วไปคือ หวังว่าอนาคตคงจะรุ่งเรืองในฐานะนักการเมืองอันที่จริงท่านได้ตำแหน่งสำคัญระดับเจ้าเมืองโรม ในขณะที่พวกลอมบาร์ดได้รุกเข้าอิตาลีและเป็นอันตรายต่อโรมยิ่งในปี ค.ศ. 571 เมื่อบิดาสิ้นชีวิต ท่านได้รับมรดกมากมาย ท่านเริ่มสนใจในชีวิตนักบวชและได้สละบ้านพร้อมที่ดินทำเป็นอารามนักพรตในปี ค.ศ. 574 ท่านยังได้ใช้มรดกและที่ดินทางซิซิลีเพื่อตั้งคณะนักพรตขึ้นอีกหกแห่ง ท่านได้ใช้ชีวิตในการภาวนาและบำเพ็ญพรต ท่านได้มาอยู่ร่วมกับหมู่คณะของท่านที่โรมในปี ค.ศ. 574 ก่อนหน้านี้พระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 1 ก็ได้บวช ท่านให้เป็นสังฆานุกรและพระสันตะปาปาเปลาจิอุส ที่ 2 ได้แต่งตั้งท่านให้เป็นทูตประจำกรุงคอนสแตนติโนเปิลระหว่างปี ค.ศ. 579-585 ท่านได้กลับมาโรมในปี ค.ศ. 585 และได้ตำแหน่งอธิการอารามนักบุญอันดูร์ที่โรมจนถึงปี ค.ศ. 590 (ก่อนหน้านี้ท่านได้เดินทางไปเผยแผ่พระวรสารที่อังกฤษด้วย แต่ภายหลังพระสันตะปาปาเรียกท่านให้กลับมาที่โรมอีกครั้ง) ซึ่งเป็นปีที่พระสันตะปาปาเปลาจิอุส ที่ 2 สิ้นพระชนม์สิ่งที่ท่านกลัวมากที่สุดคือการที่จะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาเพราะท่านต้องการดำรงชีพในฐานะนักพรตที่เน้นการภาวนาต่อไป จึงพยายามปฏิเสธ
แต่ที่สุดเมื่อเห็นว่าเป็นน้ำพระทัยของพระ ท่านก็ยอมรับตำแหน่งและได้รับการอภิเษกเป็นพระสันตะปาปา ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 590 ทรงเป็นนักเทววิทยาที่มีชื่อเสียงโดดเด่น ขณะเดียวกันทรงพระปรีชาสามารถด้านบริหาร ด้านสังคม และนักปฏิรูป ด้านศีลธรรมผลสำเร็จด้านงานปฏิรูปที่สำคัญ ได้แก่ การปฏิรูปพิธีมิสซา และนำบทขับเกรโกเรียน (Gregorian Chant) มาใช้ในพิธี สมัยปกครองของพระองค์ได้เน้นเรื่องวินัยสงฆ์อย่างมาก และได้ขับพระสงฆ์ที่หละหลวมออกจากตำแหน่งหน้าที่เลิกธรรมเนียมชำระเงินเป็นค่าจ้างทำพิธีฝังศพและพิธีบวช พระองค์ส่งเสริมให้นักพรตเน้นเรื่องงานเมตตาธรรมต่างๆ มากมาย เช่น ช่วยเหลือพวกยิวที่ถูกข่มเหง จ่ายค่าทาสให้เป็นอิสระ จัดการกับเรื่องสมบัติของพระศาสนจักรให้เข้ารูปเข้ารอย ทางด้านการเมืองพระองค์พยายามต่อรองกับพวกลอมบาร์ดไม่ให้ทำลายโรม และภายหลังได้สร้างสันติกับกองทัพ พระองค์ต้องเผชิญกับอำนาจของอาณาจักรไบเซนไทน์ ซึ่งถือว่าตนเองมีอำนาจเหนือพระสันตะปาปา พระองค์ได้ท้าทายอำนาจของไบเซนไทน์ โดยการแต่งตั้งผู้ปกครองหัวเมืองในเขตอิตาลี และยกเลิกภาษีที่ทางไบเซนไทน์ เคยเรียกร้องจากหัวเมืองเหล่านั้นพระองค์เป็นผู้กอบกู้อำนาจฝ่ายอาณาจักรของพระสันตะปาปาขึ้นมาใหม่ ได้ส่งนักบุญออกัสตินแห่งแคนเตอร์เบอรี พร้อมด้วยนักพรตจากอารามนักบุญอันดรูว์สี่สิบคน ไปแพร่ธรรมที่อังกฤษ ตามตำนานเล่าว่าพระองค์ได้รับแรงบันดาลใจในเรื่องการทำให้พวกแองเกิลกลับมาเชื่อถือพระคริสต์ โดยวันหนึ่งพระองค์ได้ไปที่ตลาดค้าทาสและพบทาสหนุ่มผมแดงชาวแซ็กซอน พระองค์สนใจและถามเขาว่ามากจากไหน พวกเขาบอกว่าเป็นพวกแองเกิลจากดินแดนอังกฤษ พระองค์ตรัสว่า ต่อไปพวกนี้จะเป็นดังเทวดาของพระศาสนจักร พระองค์ต่อสู้เพื่อสถานะของพระสันตะปาปาแห่งโรมว่าเป็นผู้นำสูงสุดของพระศาสนจักร โดยปฎิเสธตำแหน่งสกลสังฆบิดร (Ecumenical Patriach) ของพระอัยกาแห่งไบเซนไทน์ ส่วนพระองค์เองชอบใช้คำเรียกตำแหน่งของพระสันตะปาปาว่า “เป็นผู้รับใช้แห่งผู้รับใช้ทั้งปวงของพระเจ้า” และคำนี้ก็ใช้เรื่อยมาจนทุกวันนี้ พระองค์ทรงแข็งขันปรับปรุงสถานภาพของโรมให้กลับคืนมาใหม่หลัง จากที่ถูกทำลายหลายๆ ครั้งหน้านี้พระองค์ได้ปรับปรุงวัดวิหารต่างๆ และทรงประพันธ์หนังสือ ชื่อ Dialogues ซึ่งรวบรวมคำทำนายประวัติและอัศจรรย์ของนักบุญชาวอิตาเลียนในยุคแรกๆ นอกนั้นพระองค์ยังได้ประพันธ์หนังสือคู่มือการอภิบาลของพระสังฆราชชื่อ “Book of Rules for Pastors” รวมทั้งบทเทศน์จดหมาย คำแนะนำด้านจิตวิญญาณและบทความเกี่ยวกับศาสนามากมาย ทางด้านพิธีกรรม เพลงบทสวด ที่รู้จักกันในนามบทเพลงเกรโกเรียน ก็ได้มาจากชื่อของพระองค์นี้เอง พระองค์คือพระสันตะปาปานักพรตองค์แรก เพราะฉะนั้นจึงทรงแต่งตั้งนักพรตให้ดำรงตำแหน่งสูงๆ หลายตำแหน่ง และเป็นผู้สนับสนุนให้นักพรตออกไปเผยแผ่พระวรสารในดินแดนต่างๆ ภายใต้ปกครองของพระสันตะปาปาโดยตรง โดยไม่ขึ้นกับอำนาจปกครองของพระสังฆราชท้องถิ่นทั้งหลาย คณะนักพรตเบเนดิกตินได้รับแรงสนับสนุนอย่างมากจากพระองค์
เมื่อสิ้นพระชนม์ในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 604 ทรงห้ามคริสตชนมาเคารพพระศพ โดยทรงคาดโทษว่า ผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกขับจากสมาชิกพระศาสนจักร ความศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ของพระองค์ ทำให้ได้รับสถาปนาให้เป็นนักบุญ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน พระองค์ได้รับเกียรติเป็น “ผู้ยิ่งใหญ่” (The Great) อีกองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์พระศาสนจักร