-
Category: องค์ที่ 181-266
-
Published on Tuesday, 03 November 2015 02:52
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2592
สมเด็จพระสันตะปาปาโบนิฟาส ที่ 8
(Pope Boniface VIII ค.ศ. 1294-1303)
สมัยปกครองของพระสันตะปาปาโบนิฟาส ที่ 8 นับเป็นยุคทองของสันตะสำนักสมัยหนึ่ง ทั้งด้านจิตวิญญาณและด้านอาณาจักร พระสันตะปาปาโบนิฟาส เดิมชื่อ เบเนเด็ธโต กาเอตานี จากตระกูลกาเอตานี เกิดที่เมืองอะญานี มีศักดิ์เป็นหลานของพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 4 ได้รับการศึกษาจากหลายแห่ง เช่น ที่โตดี โบโลญา สโปเลโต ฯลฯ ท่านรับใช้พระสันตะปาปาในหน้าที่ต่างๆ หลายอย่าง จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระคาร์ดินัลสังฆานุกร ในปี ค.ศ. 1281 โดยพระสันตะปาปามาร์ตินที่ 4 และได้รับศักดิ์เป็นพระคาร์ดินัลสงฆ์ โดยพระสันตะปาปานิโคลัส ที่ 4 ท่านทำหน้าที่ผู้แทนพระสันตะปาปาประจำฝรั่งเศสอย่างดี มีผลงานในสมัยของพระสันตะปาปานิโคลัสนี้เอง และมีบทบาทสำคัญยิ่งในสมัยพระสันตะปาปาเซเลสทีน ที่ 5 โดยทำหน้าที่ให้คำแนะนำทางด้านกฎหมาย ด้านการเมือง และที่สุดก็สนับสนุนให้พระสันตะปาปาเซเลสทีนลาออกด้วย ท่านเบเนเด็ธโตได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาต่อจากพระสันตะปาปาเซเลสทีน ที่ 5 ในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1294 และรับการอภิเษกในวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 1295
สิ่งแรกที่พระองค์อยากทำมากคือการฟื้นฟูศักดิ์ศรีของพระสันตะปาปาที่ตกต่ำมาก แต่ก็ทำได้ไม่มากนักเพราะเล่าว่านิสัยส่วนตัวของพระองค์ เป็นคนหุนหันและโกรธง่าย รวมทั้งมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมในยุคนั้น พระองค์ต้องเผชิญกับข้อขัดแย้งกับพระเจ้าฟิลิป ที่ 4 แห่งฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1296 พระองค์ตัดสินใจใช้อิทธิพลที่มีประกาศเลิกสงครามร้อยปีระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส และประกาศยกเลิกการที่พระสงฆ์ต้องจ่ายภาษีเพื่อช่วยงานสงคราม (Bull Clericis Laicos 25/2/1296) สิ่งนี้ทำให้พระเจ้าฟิลิปไม่พอใจ และประกาศห้ามนำสินค้าจากรัฐพระสันตะปาปาเข้ามาในอาณาเขตของพระองค์ อันเป็นผลกระทบต่อรายได้ของรัฐพระสันตะปาปาโดยตรง ดังนั้นพระสันตะปาปาจึงต้องยอมผ่อนปรนในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1297 อนุญาตให้เก็บภาษีจากพระสงฆ์ได้ในคราวจำเป็น เป็นที่ทราบกันว่าสงครามนั้นเป็นเวลาจำเป็นทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นในภาคปฏิบัติจึงเก็บภาษีได้ แต่ศึกระหว่างสองผู้ยิ่งใหญ่นี้ก็ใช่จะจบลงง่ายๆ
เมื่อขึ้นปี ค.ศ. 1301 พระสันตะปาปาโบนิฟาสทรงต่อต้านพระเจ้าฟิลิปโดยออกสาสน์ชื่อ Ausculta Fili (2/12/1301) และในปีต่อมาพระองค์ก็ออกสาสน์อีกฉบับชื่อ Unum Sanctum (18/11/1302) ทั้งสองฉบับประกาศผ่านทางผู้แทนพระสันตะปาปาที่ฝรั่งเศส สาสน์ฉบับนี้หลังประกาศจุดยืนของพระสันตะปาปาโดยกล่าวว่าในโลกนี้มีดาบสองเล่ม คือ ดาบที่ใช้จัดการกับโลก และดาบที่ใช้จัดการกับเรื่องจิตวิญญาณ และทั้งสองเล่มอยู่ในมือพระสันตะปาปาผู้นำพระศาสนจักร โดยดาบที่ใช้กับโลกนั้นซ้อนอยู่ใต้การนำของดาบที่ใช้กับจิตวิญญาณ ดังนั้นพระองค์จึงกล่าวว่า ความรอดของมนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้การนำของพระสันตะปาปา บรรยากาศความตรึงเครียดจึงเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อองครักษ์ของพระเจ้าฟิลิปที่ชื่อ กิลโยม เดอ นอกาเร็ธ พร้อมกับศัตรูของพระสันตะปาปาที่มาจากตระกูลโคโลนนา ซึ่งผูกใจเจ็บพระสันตะปาปามาก่อน เพราะครั้งหนึ่งพระสันตะปาปาโบนิฟาสสั่งให้เผาหมู่บ้านที่ชื่อ ปาเลสตรินาของพวกเขา และสั่งขับพระคาร์ดินัลสององค์จากตระกูลนี้ออกจากสันตะสำนัก ในข้อหาสมรู้ร่วมคิดโค่นพระสันตะปาปา ดังนั้นในวันที่ 7 กันยายน ค.ศ. 1303 กิลโยมและพวกจึงกรูกันเข้าจับกุมพระสันตะปาปาโบนิฟาสนำไปขังอยู่หลายวัน และได้ทุบตีทำร้ายร่างกายของพระองค์จนบอบช้ำ พวกชาวเมืองทนดูเหตุการณ์ไม่ไหว กลัวว่าพระสันตะปาปาโบนิฟาสจะสิ้นพระชนม์คามือของพวกเขา ชาวเมืองกลุ่มหนึ่งจึงเข้าไปช่วยเหลือพระองค์ออกมาจากที่คุมขังนำกลับมาโรม แต่พระองค์ก็บอบช้ำจากการถูกทำร้ายร่างกายนี้มากที่สุด พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ในวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 1303 เหตุการณ์ดังกล่าวดูเหมือนว่า พระสันตะปาปาโบนิฟาสไม่มีส่วนดีเลยอันที่จริงไม่ใช่ พระองค์ได้ทำดีหลายๆอย่าง ในสมัยปกครองของพระองค์ เช่น สร้างโรงเรียน ปรับปรุงระบบเอกสารของสันตะสำนัก และหอสมุดของพระสันตะปาปา สร้างระบบรองรับกฎหมายพระศาสนจักร โดยวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1298 พระสันตะปาปาโบนิฟาส ที่ 8 ทรงประกาศใช้ “Book Six” เป็นประมวลกฎหมายซึ่งรวบรวมจากข้อกำหนดของพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 4 พระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 10 พระสันตะปาปานิโคลัส ที่ 3 และข้อกำหนดของพระองค์เองเป็นแม่บทของกฎหมายพระศาสนจักรในเวลาต่อมาด้วย
นอกจากนี้ นักประวัติศาสตร์ยังจารึกถึงสองเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การสถาปนาพระเจ้าหลุยส์ ที่ 9 (ค.ศ. 1226-70) กษัตริย์แห่งประเทศฝรั่งเศสให้เป็นนักบุญเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ค.ศ. 1927 นับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่เป็นนักบุญ (ฉลองวันที่ 25 สิงหาคม) และการเฉลิมฉลองปีปีติมหาการุญ ค.ศ. 1300 โดยมีหลักฐานปรากฏในภาพวาด โดยจีออตโต ชิ้นส่วนของภาพยังคงเหลือให้ชม ณ มหาวิหารนักบุญยอห์นแห่งลาเตรัน ในสมัยพระองค์เช่นกันที่ทรงอนุมัติให้เพิ่มมงกุฎพระสันตะปาปาจาก 1 ชั้นให้เป็น 2 หรือ 3 ชั้น (Tiara) ซึ่งใช้ในปัจจุบัน