องค์ที่ 202 สมเด็จพระสันตะปาปาอูรบัน ที่ 6 (Pope Urban VI ค.ศ. 1378- 1389)

 

สมเด็จพระสันตะปาปาอูรบัน ที่ 6

(Pope Urban VI ค.ศ. 1378-1389)

(สมัยของพระสันตะปาปาอูรบัน ที่ 6 นี้เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง  หลังจากที่พระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 12 ได้กลับสู่โรมแล้ว ผู้ที่ยังอยากเห็นอำนาจของพระสันตะปาปาอยู่ที่ฝรั่งเศสต่อไปนั้น ก็เริ่มก่อการทำให้พระศาสนจักรก้าวเข้าสู่ยุคมืดของความแตกแยก ในฝ่ายตะวันตกเองความวุ่นวายนี้มีเรื่อยมาจนถึง ปี ค.ศ. 1417)
 
พระสันตะปาปาอูรบัน ที่ 6 เดิมชื่อ บาโธโลเมโอ ปริญาโน เกิดที่เนเปิล ราวปี ค.ศ. 1318 บวชเป็นพระสังฆราชแห่งอะเซเรนซาในปี ค.ศ. 1364 และเป็นอัครสังฆราชแห่งบารีในปี ค.ศ. 1377 ท่านได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาดูแลการบริหารที่อาวีญอง ขณะที่พระสันตะปาปากลับโรม ในปี ค.ศ. 1377 หลังจากที่พระสันตะปาปาเกรโกรี สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1378 บรรดาพระคาร์ดินัลทราบดีว่าหากไม่รีบเลือกและแต่งตั้งพระสันตะปาปาโดยเร็ว จะเกิดปัญหาความแตกแยกขึ้นในพระศาสนจักรอย่างใหญ่หลวง เพราะกระแสของความขัดแย้งระหว่างพระคาร์ดินัลชาวฝรั่งเศสและพระคาร์ดินัลชาวอิตาเลียนเริ่มก่อตัวขึ้น ก่อนที่พระสันตะปาปาเกรโกรีจะสิ้นพระชนม์ทั้งสองฝ่ายก็อยากให้พระสันตะปาปาอยู่ในเขตของตน เมื่อสิ้นพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 11 แล้ว ปัญหานี้ก็เริ่มปะทุทันที ชาวโรมได้มารวมกันที่หน้าสันตะสำนัก และข่มขู่เรียกร้องให้บรรดาพระคาร์ดินัลเลือกชาวอิตาเลียนให้เป็นพระสันตะปาปาองค์ต่อไป ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วมีความเป็นไปได้ว่า บรรดาพระคาร์ดินัลคงต้องถูกรุมประชาทัณฑ์แน่นอน ดังนั้น บรรดาพระคาร์ดินัลทั้งหลายจึงต้องรีบเลือกตั้งและคะแนนก็ตกเป็นของท่านปริญาโน ซึ่งขณะนั้นไม่ได้เป็นพระคาร์ดินัล
 
และท่านดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาพระองค์สุดท้ายที่ไม่ได้เป็นพระคาร์ดินัลก่อนได้รับเลือก เมื่อตกลงใจเลือกแล้วก็ส่งสาสน์ไปให้ท่านปริญาโนทราบและให้รีบกลับมาที่โรมโดยด่วน ขณะที่ประชาชนก็กำลังเขย่าประตูห้องประชุมอยู่ เพื่อเรียกร้องให้เผยรายชื่อคนที่ได้รับเลือก  พระคาร์ดินัลทั้งหลายกลัวว่าถ้าเผยรายชื่อท่านปริญาโน  ซึ่งไม่ได้เป็นพระคาร์ดินัลให้ทราบ ประชาชนอาจจะไม่พอใจ  จึงส่งชื่อปลอมให้บอกว่าได้ตกลงเลือกพระคาร์ดินัลทาบัลเดชีเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่ เมื่อท่านปริญาโนมาถึงท่านจึงได้รับการอภิเษกโดยเร็ว ในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1378 ใช้พระนามว่า พระสันตะปาปาอูรบัน ที่ 6
 
เมื่อได้รับการอภิเษกแล้วพระสันตะปาปาอูรบัน ก็ได้พยายามปฏิรูปหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการบริหารพระคาร์ดินัลทั้งหลาย แต่ดูเหมือนจะไร้ผล และพระองค์กลายเป็นคนที่ไม่ฟังใครทั้งสิ้น ทรงปฏิเสธคำแนะนำของนักบุญแคทเธอรีนแห่งซีเอนา ที่แนะนำให้พระสันตะปาปามั่นคงเดินสายกลางและมีเมตตา แต่พระองค์ได้ตำหนิบรรดาพระคาร์ดินัลในหลายๆเรื่อง ดังนั้น บรรดาพระคาร์ดินัลจึงทนไม่ได้ และรวมตัวกันทิ้งโรมไปอยู่ที่อะญานี ที่นั่นพระคาร์ดินัลชาวฝรั่งเศสได้ประกาศว่า พระสันตะปาปาอูรบันได้รับเลือกโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เนื่องจากถูกบีบและบังคับจากประชาชนถ้าไม่เลือกจะถูกฆ่า เสียงนี้ได้รับการสนับสนุนจากพระเจ้าชาร์ล ที่ 5 และพระนางเจ้าโยอันนาแห่งเนเปิลด้วย ดังนั้น พระคาร์ดินัลทั้งหลายจึงมาร่วมประชุมกันที่เมืองฟอนดี และได้ตกลงเลือกตั้งพระสันตะปาปาใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 20 กันยายน และได้เลือกท่านโรเบิร์ตแห่งเจนีวาขึ้นเป็นพระสันตะปาปาซ้อน องค์ที่ 33 ในนามพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 7 และ มีพิธีอภิเษกในวันที่ 31 ตุลาคม นับเป็นการเริ่มยุคของความแตกแยกในทางตะวันตกครั้งใหญ่  เนื่องจากพระศาสนจักรได้แตกแยกเป็นสองฝ่ายอย่างเห็นได้ชัดคือ ฝ่ายอิตาเลียนและฝรั่งเศส พระสันตะปาปาอูรบันที่ 6 อยู่ที่โรม และสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 7 อยู่ที่อาวีญอง เพื่อรักษาและเสริมอำนาจของตน  พระสันตะปาปาอูรบันได้แต่งตั้งพระคาร์ดินัลใหม่เพิ่มถึง 29 องค์ รวมทั้งทดแทนองค์ที่หนีไปเข้าฝ่ายอาวีญองด้วย ตอนนี้ดูเหมือนพระสันตะปาปาอูรบันจะควบคุมพระองค์เองไม่อยู่ ทรงสั่งให้คุมขังและทรมานพระคาร์ดินัลที่ทรงสงสัยจะสมรู้ร่วมคิดและเป็นสายลับให้ฝ่ายตรงข้ามหลายองค์ พระองค์ไม่พอพระทัยพระนางเจ้าโยอันนามากที่ไปสนับสนุนฝ่ายอาวีญอง ดังนั้นจึงได้รวบรวมกองกำลังไปโจมตีเนเปิล แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับมา กองทหารเองก็หนีทัพเพราะไม่ได้รับเงินเดือน คนที่ยังคงซื่อสัตย์ต่อพระสันตะปาปาก็เห็นจะเป็นนักบุญแคทเธอรีนแห่งซีเอนาเท่านั้นที่ทั้งคอยเตือนและสนับสนุนเท่าที่จะทำได้ แต่ก็ไม่ได้ผลเท่าไหร่เพราะด้านการเงินนั้นท้องพระคลังเริ่มเหือดแห้งลงทุกวัน
 
ที่สุดพระองค์สิ้นพระชนม์ลง ในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1389 โดยได้ละทิ้งพันธมิตรของตนในหลายๆเรื่อง ทำให้ชาวโรมผิดหวังอย่างมาก และจากความผิดหวังก็กลายเป็นความเกลียดชังแทน บางคนเชื่อว่าพระองค์คงถูกวางยาพิษสิ้นพระชนม์ และก่อนสิ้นพระชนม์นั้นพระองค์เริ่มเป็นประสาทอ่อน กลัวไปหมดทุกอย่าง เป็นต้นกลัวศัตรูจะมาทำร้าย ช่างเป็นพระสันตะปาปาที่น่าสงสารองค์หนึ่ง
 
สรุปแล้ว สาเหตุของเรื่องทั้งหมดก็ล้วนมาจากคำว่าอำนาจนั้นเองที่ทำให้พระองค์หลงไปหมด เมื่อพระสันตะปาปาอูรบันสิ้นพระชนม์แล้ว พระสันตะปาปาชาวโรมได้เลือกผู้สืบตำแหน่งต่อ คือ พระสันตะปาปาโบนิฟาส ที่ 9 ขณะที่ฝ่ายอาวีญองก็เลือกคนสืบต่อจากพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 เช่นกัน ยุคนี้จึงเป็นยุคพระสันตะปาปาสองสายควบคู่กันไป