องค์ที่ 206 สมเด็จพระสันตะปาปามาร์ตินที่ 5 (Pope Martin V ค.ศ. 1417-1431)

สมเด็จพระสันตะปาปามาร์ติน ที่ 5
 
(Pope Martin V ค.ศ. 1417-1431)
 
พระองค์พระนามเดิมว่า อ๊อดโด โคลอนนา เกิดที่หมู่บ้านเกนนาซาโน ในตระกูลโคลอนนา ที่มีอำนาจและอิทธิพลสูง    ได้รับการศึกษาขั้นสูงที่เมืองเปรูยา  และได้รับสถาปนาเป็นพระคาร์ดินัลโดยพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 7 ขณะที่สนับสนุนพระสันตะปาปาแห่งโรม แต่ท่านก็ต่อต้านพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 12 เนื่องจากเห็นว่าพระสันตะปาปาเกรโกรีใช้อำนาจผิดพลาดหลายอย่าง และยังสนับสนุนสังคายนาที่เมืองปีซ่า (ค.ศ.1409) ที่ได้เลือกพระสันตะปาปาซ้อนแห่งปีซ่าขึ้นมาดังกล่าว พระองค์ได้สนับสนุนพระสันตะปาปาซ้อนองค์ที่สองแห่งปีซ่า คือ พระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 มากจนกระทั่งมาถึงสมัยสังคายนาเมืองคอนสแตนซ์ ซึ่งเป็นอันสิ้นสุดปัญหาของพระสันตะปาปาซ้อนทั้งหมด เนื่องจากสังคายนานี้ได้มีมติเอกฉันท์ให้พระสันตะปาปาที่มีอยู่นั้นลาออกทั้งหมด มิฉะนั้นจะถูกถอดจากตำแหน่ง
สภาสังคายนาเมืองคอนสแตนซ์ได้เลือกท่านอ๊อดโดขึ้นดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาที่ถูกต้องแต่ผู้เดียว ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1417 ใช้พระนามว่า พระสันตะปาปามาร์ติน ที่ 5 อันเป็นการสิ้นสุดยุคของความแตกแยกในพระศาสนจักรฝ่ายตะวันตกที่เรียกว่า “Western Schism” หรือ “Great Schism” ที่เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1378 เรื่อยมาจนถึง ค.ศ. 1417 รวมแล้วก็เป็นเวลา 39 ปี และขณะเดียวกันก็เป็นการเริ่มบทบาทของตระกูลโคลอนนาต่อสันตะสำนักด้วย ท่านโคลอนนาได้รับเลือกเนื่องจากท่านมีคุณสมบัติที่พระคาร์ดินัลฝากความหวังไว้ได้ว่าจะช่วยฟื้นฟูสถาบันพระสันตะปาปา เป็นต้นเรื่องการเงิน นอกนั้นท่านยังมีนิสัยที่ตรงไปตรงมา มีเจตจำนงที่จะปฏิรูปสันตะสำนักอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อได้เป็นพระสันตะปาปาแล้ว พระองค์ทรงเดินทางกลับโรมและได้เริ่มแก้ปัญหา เป็นต้นปัญหาต่างๆ ในรัฐพระสันตะปาปา
 
พระสันตะปาปามาร์ตินที่ 5 ทรงเผชิญอุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ การฟื้นฟูพระศาสนจักรตะวันตก สถาบันพระสันตะปาปาและรัฐต่างๆ ในความปกครองของพระสันตะปาปาในเดือนมกราคม ค.ศ. 1418 สภาสังคายนาคอนสแตนซ์มีมติตามข้อเสนอของพระสันตะปาปา ยินยอมให้ดินแดนและเมืองที่ปกครองโดยนักบวชเป็นทรัพย์สินของพระศาสนจักร ซึ่งปกครองทรงเห็นความจำเป็นที่จะสร้างสัมพันธ์ทางการทูตมากกว่าใช้กำลังบังคับ หลังสภาสังคายนาคอนสแตนซ์ทรงออกข้อกำหนด 7 ประการ ปฏิรูปพระศาสนจักรทรงปรับปรุงด้าน การจัดเก็บภาษีเพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นของระบบการบริหารสันตะสำนัก
 
แม้นประเทศฝรั่งเศสจะเสนอให้พระองค์ใช้สันตะสำนักที่อาวีญอง ซึ่งเคยเป็นสำนักพระสันตะปาปาระหว่าง ค.ศ. 1309-77 แต่พระสันตะปาปามาร์ติน ที่ 5 ทรงเลือกกรุงโรม และเพราะสถานภาพในกรุงโรมทรุดโทรมมาก พระองค์จึงพักที่ฟลอเรนซ์ประมาณ 1 ปี ก่อนจะย้ายมาที่กรุงโรม ใน ค.ศ. 1420 ทรงบูรณะโบสถ์ต่างๆ รวมทั้งเสริมสร้างรัฐในการปกครองพระสันตะปาปาให้เข้มแข็ง เพื่อป้องกันการถูกโจมตี ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้อยู่ที่บรัคซีโอ ดา มอนโตเน (Braccio da Montone) นายทหารชาวอิตาเลียนผู้ทะเยอทะยาน ซึ่งพระสันตะปาปามาร์ตินที่ 5 ทรงมอบหมายให้ดูแลรัฐเปรูเจีย (Perugia) และอุมเบรีย (Umbria) แต่กลับขยายอิทธิพลครอบครองไปยังเมืองทางตอนใต้ของอิตาลี และปราชัยในสงครามที่อาควีลา (Battle of Aquila) ในวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1424
 
พระองค์เอาพระทัยใส่งานบริหารปกครองสันตะสำนักอย่างจริงจัง เพื่อความมั่นคงในอำนาจปกครองพระศาสนจักร ทรงเป็นสื่อกลางประนีประนอมระหว่างประเทศอังกฤษและฝรั่งเศสในสงคราม 100 ปี ทรงทำสงครามครูเสดกับนักปฏิรูปศาสนาชาวโบฮีเมีย ทรงเรียกประชุมสภาสังคายนาที่ปาเวีย ใน ค.ศ. 1423 และสภาสังคายนาบาเซิล ใน ค.ศ. 1431 ก่อนจะสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1431