องค์ที่ 207 สมเด็จพระสันตะปาปาเอวเยน ที่ 4 (Pope Eugene IV ค.ศ. 1431-1447)

สมเด็จพระสันตะปาปาเอวเยน ที่ 4

(Pope Eugene IV ค.ศ. 1431-1447)

ในสมัยของพระสันตะปาปาเอวเยนที่ 4 นี้ พระศาสนจักรตะวันตกและตะวันออกได้กลับมารวมกันเป็นช่วงเวลาสั้นๆ 
 
พระสันตะปาปาเอวเยนที่ 4 เดิมชื่อกาบริดแอลโล คอนดุลมาโร เป็นชาวเวนิสโดยกำเนิด เกิดในครอบครัวที่ร่ำรวย ราวปี ค.ศ. 1383 ลุงของพระองค์คือ พระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 12 ซึ่งรักหลานคนนี้มาก ท่านกาบริแอลโลได้รับอภิเษกให้เป็นพระสังฆราชแห่งซีเอนาในปี ค.ศ. 1407 และ พระคาร์ดินัลในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1408 พระองค์มีส่วนร่วมในการประชุมที่เมืองคอนสแตนซ์ที่ตัดสินปัญหาความแตกแยกในพระศาสนจักรและปัญหาพระสันตะปาปาซ้อนลงอย่างสิ้นเชิง พระสันตะปาปามาร์ตินที่ 5 ได้แต่งตั้งท่านกาบริแอลโลให้เป็นผู้ปกครองเมืองอันโคนาและเมืองโบโลญา เมื่อพระสันตะปาปามาร์ตินที่5 สิ้นพระชนม์แล้ว ที่ประชุมได้เลือกท่านกาบริแอลโลให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1431 โดยใช้พระนามว่า พระสันตะปาปาเอวเยนที่ 4
 
งานในสมัยปกครอง พระองค์ได้สานต่อการประชุมสังคายนาเมืองบาเซิล ซึ่งเริ่มในสมัยของพระสันตะปาปามาร์ตินที่ 5 ซึ่งประกาศว่า สังคายนามีอำนาจสูงสุดเหนือพระสันตะปาปา และนี่เองที่ทำให้พระสันตะปาปาเอวเยนเริ่มเห็นความไม่ชอบมาพากลในสังคายนานี้ ดังนั้นเมื่อเห็นว่ามีคนร่วมประชุมไม่พร้อมเพรียง พระองค์ทรงประกาศยุบสังคายนานี้เสียก่อนที่จะบานปลาย ในวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ. 1431 ดังนั้นหลายคนจึงไม่พอใจและเริ่มประท้วง ดีที่พระสันตะปาปาเอวเยนมีเส้นสายทางอำนาจคือ พระเจ้าซิจิ สมุนที่พระสันตะปาปาเอวเยนได้สวมมงกุฎให้ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1433 ได้เข้ามาสอดแทรกและรอมชอม พระคาร์ดินัลหลายองค์ไม่ยอมและได้พยายามดำเนินการประชุมต่อไป และหาทางโค่นพระสันตะปาปาเอวเยน พระองค์เรียกประชุมสังคายนาที่เมืองเฟอร์ราร่า และที่เมืองฟลอเรนซ์ในเวลาต่อมา พระคาร์ดินัลที่อยู่เมืองบาเซิลจึงประกาศขับพระสันตะปาปาเอวเยนที่ 4  ออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งพระสันตะปาปาซ้อนองค์ที่ 37 ขึ้นมาคือ พระสันตะปาปาเฟลิกซ์ที่ 5 (หรือท่านอะมาเดอุส ที่ 7 ดยุกแห่งซาวอย)
 
พระสันตะปาปาเอนเยวที่ 4 ไม่สนพระทัยและดำเนินงานของตนไปเรื่อยๆป็นต้นเรื่องความสัมพันธ์กับพระศาสนจักรตะวันออก แต่ก็ไม่ค่อยได้ผลนัก เนื่องจากเกิดปัญหาการรุกรานของพวกเติร์กออตโตมัน อย่างไรก็ตามมีการเซ็นสัญญารวมพระศาสนจักรอย่างเป็นทางการในต้นปี ค.ศ. 1439 ซึ่งถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ของพระสันตะปาปาเอวเยน แต่น่าเสียดายที่การรวมนี้อยู่ไม่นาน เพราะฝ่ายคอนสแตนติโนเปิลเห็นว่า ทางตะวันตกไม่ได้ช่วยอะไรตนเลย และประกาศให้คำสัญญาครั้งแรกนั้นเป็นโมฆะ นี่เป็นความหวังครั้งสุดท้ายในการรวมพระศาสนจักรทั้งสอง เพราะตั้งแต่นั้นมาได้มีความพยายามหลายครั้งแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งปัจจุบันเมืองคอนสแตนติโนเปิลเองถูกยึดในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1453 ด้วยความมานะ ที่สุดพระสันตะปาปาเอวเยนที่ 4 ก็ได้รับการสนับสนุนจากบรรดาพระคาร์ดินัล ทำให้อำนาจของพระสันตะปาปาเหนือพระศาสนจักรชัดเจนขึ้น
 
พระองค์ได้พบกับปัญหาใหญ่อื่นนอกเหนือจากเรื่องสังคายนา คือเรื่องที่ประกาศให้พระคาร์ดินัลทั้งหลายที่ตระกูลโคลอนนาให้การสนับสนุนประกาศสละทรัพย์สินของพระองค์เองที่สะสมมาแต่ยุคก่อน เนื่องจากต้องการตัดปัญหาฆราวาสแทรกแซงเรื่องของพระสงฆ์ หลายคนไม่เห็นด้วยแต่ต้องจำใจจนกลายเป็นความแค้นและได้ก่อตัวกันขับไล่พระสันตะปาปาเอวเยนออกจากโรม ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1434 (และกว่าจะกลับโรมได้ก็ในปี ค.ศ. 1443) นอกนั้นท่านยังถูกตัดการสนับสนุนจากพระเจ้าชาร์ลที่ 7 แห่งฝรั่งเศส ในปีค.ศ. 1438 ห้ามพระสันตะปาปายุงเกี่ยวในอาณาจักรของพระองค์ กองทัพของพระสันตะปาปาเองก็ถูกพวกเติร์กทำลายที่เมืองวาร์นา ในปี ค.ศ. 1444 ทำให้ความเชื่อถือของพระสันตะปาปาเอวเยนเสียหายไม่น้อย น่าสงสารพระสันตะปาปาผู้ที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆจนเกือบจะเรียกได้ว่าคนเดียว และสิ้นพระชนม์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1447