-
Category: องค์ที่ 181-266
-
Published on Monday, 02 November 2015 09:23
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3332
สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 10
(Pope Leo X ค.ศ. 1513-1521)
พระสันตะปาปาต้องเผชิญกับปัญหาโปรเตสแตนต์นำโดยมาร์ติน ลูเธอร์ ซึ่งพระองค์ทรงขับออกจากพระศาสนจักร ในปี ค.ศ. 1521 เป็นพระสันตะปาปาแห่งยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา ซึ่งใช้เงินเพื่อบูรณะกรุงโรมเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมแห่งชนชาติยุโรปมากที่สุด ทรงยกระดับสันตะสำนักให้มีความสำคัญด้านอำนาจทางการเมืองในทวีปยุโรป เดิมชื่อ โจวันนี เด เมดิชี เป็นบุตรคนที่สองของลอเรนโซ เดิ เมดิชี เกิดในปี ค.ศ. 1475 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ได้รับการเลี้ยงดูในตระกูลสูงส่งของเมือง เมื่ออายุ 13 ปี ได้รับตำแหน่งคาร์ดินัลโดยพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 6 ศึกษาเทววิทยาและกฎหมายพระศาสนจักรที่มหาวิทยาลัยเมืองปิซ่า ระหว่างปี ค.ศ. 1489-91 เนื่องจากปัญหาทางการเมือง ตระกูลเมดิชีต้องเร่ร่อนเพื่อเอาตัวรอด ท่านโจวันนีจึงต้องเดินทางไปตามที่ต่างๆ ในยุโรป ไปฝรั่งเศส ฮอลแลนด์ เยอรมัน ในระหว่างปี ค.ศ. 1494-1500 กลับมาโรมในปี ค.ศ. 1500 มีบทบาทสำคัญในสมัยปกครองของพระสันตะปาปายูลิอุส ที่ 2 พระองค์ได้แต่งตั้งท่านโจวันนีให้เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาประจำเมืองโบโลญา ในปี ค.ศ. 1511 และเป็นผู้นำทัพของพระสันตะปาปา ในปี ค.ศ. 1512 พระองค์ถูกจับที่เมืองราเวนนา และหลบหนีมาได้ในเวลาต่อมา ปีนั้นเองพระองค์ช่วยให้ตระกูลเมดิชีของพระองค์กลับมามีอำนาจใหม่ในฟลอเรนซ์ เมื่อพระสันตะปาปายูลิอุส ที่ 2 สิ้นพระชนม์ ในปี ค.ศ. 1513 คณะพระคาร์ดินัลเข้าประชุมเพื่อเลือกพระสันตะปาปาใหม่ในวันที่ 4 มีนาคม และคณะที่ประชุมก็เลือกท่านให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา ในขณะที่ท่านมีอายุ 37 ปี วันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1513 โดยใช้พระนามว่า พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 10 สาเหตุที่พระองค์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา เพราะลักษณะนิสัยรับสงบไม่ขัดแย้งกับผู้ใด
จากชีวิตวัยหนุ่มที่เติบโตในราชสำนักของจักรพรรดิโลเรนโซ บิดาผู้ปกครองสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ (Florentine Republic) จึงเป็นผู้มีลักษณะท่าทางตามธรรมเนียมปฏิบัติ มีรสนิยมสูง ทรงมีบุคลิกเหมาะสม บรรยากาศเงียบสงบ หลังจากที่กรุงโรมเผชิญกับภาวะบ้านเมืองไม่สงบตลอด 10 ปี ภายใต้การปกครองของพระสันตะปาปายูลิอุส ที่ 2 พระสันตะปาปาเลโอที่ 10 ทรงใช้เงินส่วนพระองค์และของสันตะสำนัก เพื่ออุปถัมภ์งานศิลปะ จนทำให้กรุงโรมเป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมแห่งโลกตะวันตก ทรงสร้างพระมหาวิหารนักบุญโตร โครงการซึ่งเริ่มต้นในสมัยพระสันตะปาปายูลิอุส ที่ 2 ทรงปรับปรุงหอวาติกัน สถาบันพระสันตะปาปาได้รับการฟื้นฟูอย่างเต็มที่ หลังจากชื่อเสียงที่ตกต่ำระหว่างสมัยปกครองของพระสันตะปาปาจากตระกูลบอร์เจีย (ได้แก่ พระสันตะปาปากัลลิสตุส ที่ 2 และพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 6)
ระยะเวลา 5 ปีแรกของสมัยปกครองพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 10 ทรงทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่กับการประชุมสภาสังคายนาลาเตรัน ครั้งที่ 5 ซึ่งพระสันตะปาปายูลิอุสทรงเตรียมการประชุม 2 ปีก่อนพระองค์จะสิ้นพระชนม์ และเรียกประชุมใน ค.ศ. 1512 เพื่อปฏิรูปพระศาสนจักร
พระสันตะปาปาเลโอที่ 10 มิได้ทรงเป็นเพียงประมุขสูงสุดแห่งพระศาสนจักรคาทอลิก พระองค์เป็นผู้ปกครองชั่วคราวของรัฐพระสันตะปาปา และเป็นบุคคลสำคัญของตระกูลเมดิชี บริหารปกครองสาธารณรัฐฟลอเรนซ์ ทรงมีอิทธิพลครอบคลุมประเทศอิตาลี โดยยึดหลักปฏิบัติฉันทาคติแต่งตั้ง จียูลิโอ เมดิชี (Giulio de Medici) เป็นอัครสังฆราชแห่งฟลอเรนซ์ (ต่อมาจะดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7) พระองค์ทรงสถาปนาพระคาร์ดินัล 31 องค์ ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อคณะพระคาร์ดินัล
ในความพยายามที่จะครอบครองประเทศอิตาลี พระองค์ทรงต้องเผชิญกับอำนาจที่น่าเกรงขามของประเทศสเปน และการตัดสินใจของพระเจ้าหลุยส์ ที่ 12 แห่งประเทศฝรั่งเศส นำกองทหารเข้ามาในอิตาลี ใน ค.ศ. 1513 เพื่อยึดเมืองมิลานและเนเปิล ทรงได้รับความช่วยเหลือจากกองทัพสเปน ทำให้ฝรั่งเศสยอมถอยทัพกลับไป แต่ความสงบก็คงอยู่ไม่นาน
สถาบันพระสันตะปาปาในสมัยปกครองของพระสันตะปาปาเลโอ ที่ 10 ประสบปัญหาด้านการเงินอย่างหนัก การทำสงครามกับประเทศฝรั่งเศส การอุปถัมภ์งานด้านศิลปะ การสร้างพระมหาวิหารนักบุญเปโตร การทำสงครามครูเสดกับพวกออตโตมันเติร์ก โครงการต่างๆ ล้วนใช้เงินจำนวนมหาศาล พระองค์เลือกใช้วิธีการขยายพระคุณการุณย์เพื่อชดเชยโทษบาป เป็นแหล่งสำคัญในการหาเงินเข้าสันตะสำนัก และเนื่องจากแนวความคิดการขายพระคุณการุณย์ไม่เป็นที่นิยมในยุโรปตอนเหนือ ค.ศ. 1517 และเพื่อตอบโต้แนวความคิดการขายพระคุณการุณย์กดดันให้มาร์ติน ลูเธอร์ นักพรตคณะออกัสตินนำข้อเสนอ 95 ข้อติดไว้ที่ประตูพระมหาวิหารวิตเตนเบิร์ก (Wittenberg Castle Church) ในประเทศเยอรมัน แนวความคิด 95 ข้อของมาร์ติน ลูเธอร์ แพร่กระจายมาถึงกรุงโรม ค.ศ. 1518 ลูเธอร์ถูกขับออกจากพระศาสนจักรใน ค.ศ. 1521 และหลบไปอยู่ใต้การคุ้มครองของกษัตริย์ และขุนนางเยอรมัน ดังนั้น พระสันตะปาปาจึงทำอะไรไม่ได้ และพระองค์ก็ไม่ได้พยายามปฏิรูปพระศาสนจักรอย่างจริงๆ จังๆ
พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 10 ทรงเชื่อว่า มาร์ติน ลูเธอร์ คือผู้นำศาสนานอกรีตนิกายหนึ่ง และเช่นเดียวกับศาสนานอกรีตอื่นๆ ที่ทำให้คริสตชนผู้เชื่อศรัทธาหลงผิดและจะสูญสลายไปตามกาลเวลา พระองค์จึงไม่ทรงเอาพระทัยใส่อย่างจริงจัง ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์ด้านการเมืองในประเทศเยอรมันไม่เอื้ออำนวยให้พระองค์ดำเนินการรุนแรงต่อลูเธอร์ และผู้สนับสนุนเขาได้ ลัทธิโปรเตสเเตนต์จึงแพร่กระจายอย่างรวดเร็วทางตอนเหนือของทวีปยุโรป
สมัยปกครองของพระองค์เช่นกัน มีการรวมตัวของมหาวิทยาลัยใหญ่ 2 แห่งเข้าด้วยกัน ใช้ชื่อมหาวิทยาลัยแก่งกรุงโรม (University of Rome) ได้แก่ มหาวิทยาลัยแห่งกรุงโรม “ลา ซาปีเอนนา” สถาบันการศึกษาระดับสูงของรัฐ ซึ่งตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1303 สมัยปกครองพระสันตะปาปาโบนิฟาส ที่ 8 และมหาวิทยาลัย “สตูดิอุม คูริเอ” (Studium Curiae) สถานศึกษาของสันตะสำนักตั้งขึ้น ค.ศ. 1244-45 โดยใช้สถานที่ซาบีเอนซา หมายถึง “สติปัญญา ความรู้” เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยแห่งโรม จ้างอาจารย์ที่มีความสามารถโดดเด่นประจำมหาวิทยาลัยถึง 88 ท่าน ในค.ศ. 1938 ได้เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐมาจนทุกวันนี้ คณะต่างๆ ที่เปิดสอน ได้แก่ คณะนิติศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการพาณิชย์ อักษรศาสตร์ และปรัชญา วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีวิชาวิศวกรรมทางการบินและบรรณารักษศาสตร์
วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ. 1521 พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 10 สิ้นพระชนม์อย่างปัจจุบันทันด่วน ทิ้งความสับสนวุ่นวายทางการเมือง และความสับสนเกี่ยวกับศาสนากระจายทั่วทวีปยุโรปเหนือ