องค์ที่ 219 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 7 (Pope Clenment VIII ค.ศ. 1523-1534)

สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7

(Pope Clement VII ค.ศ. 1523-1534)

(สมัยปกครองของพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 7 นี้ มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจ คือ เป็นช่วงที่ลัทธิโปรเตสแตนต์กำลังขยายตัวในยุโรป ที่อังกฤษเองพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ได้หย่าร้างกับมเหสี และโรมถูกปล้นสะดม ในปี ค.ศ. 1527 โดยพวกเติร์ก มีการตั้งคณะกาปูชินขึ้น ในระหว่างปี ค.ศ. 1525-28 โดยมัตเตโอ ดิบาสชิโอ)
 
เดิมชื่อ ยูลิโอ ดิเมดิชี มาจากตระกูลเมดิชี  แต่ไม่ใช่สายตรงเพราะบิดาถูกฆ่าตายตั้งแต่ท่านยังเล็ก ดังนั้นจึงได้รับการเลี้ยงดูโดยพ่อบุญธรรมที่ชื่อโลเรนโซลูกพี่ลูกน้องของท่านคือ พระสันตะปาปาเลโอที่ 10 ประกาศยกเลิกข้อห้ามเดิม ตามธรรมเนียมที่ว่าห้ามคนที่เป็นลูกบุญธรรมได้รับแต่งตั้งให้อยู่ในตำแหน่งสูงในศักดิ์สงฆ์ เช่น  สังฆราช พระสันตะปาปาเลโอได้แต่งตั้งท่านยูลิโอขึ้นเป็นพระสังฆราชแห่งเมืองฟลอเรนซ์และเป็นพระคาร์ดินัลในปี ค.ศ. 1513 ในสมัยปกครองของพระสันตะปาปาเลโอและท่านอาเดรียนนั้น พระคาร์ดินัลยูลิโอ  เป็นผู้มีบทบาทสูงในการบริหารสันตะสำนัก ท่านเป็นที่ชื่นชมของศิลปินหลายๆ คนเป็นต้น ไมเคิล อันเยโล
 
ท่านได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1523 โดยใช้นามว่า พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่  7 (ก่อนหน้านี้ชื่อนี้เคยมีคนใช้แล้วคือ พระสันตะปาปาซ้อนเคลเมนต์ ที่ 7 สายอาวีญองระหว่างปี ค.ศ. 1523-34) เมื่อรับตำแหน่งแล้วปรากฏว่าพระองค์ไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก บางคนมองว่าพระองค์ไม่ใช่คนที่เหมาะสมกับตำแหน่งในยุคสมัยและเหตุการณ์ที่กำลังเป็นอยู่นั้น นอกนั้นโดยส่วนตัวแม้พระองค์จะเป็นคนดี และสนใจความเป็นไปของพระศาสนจักร แต่เพราะสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ฟุ้งเฟ้อในสันตะสำนักนั้น ทำให้พระองค์ฟุ่มเฟือย ชอบสะสมรูปภาพและผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงต่างๆ ภาพลักษณ์ของพระองค์อ่อนแอยิ่งในขณะที่สถานการณ์ของพระศาสนจักรโดยส่วนรวมนั้นกำลังบอบช้ำ
 
พระองค์ทรงมีประสบการณ์ในเรื่องการเมือง เป็นต้นที่ต้องเผชิญหน้ากับสองผู้ยิ่งใหญ่จากฝรั่งเศส คือ พระเจ้าฟรันซิสที่ 1 และจากเยอรมันคือจักรพรรดิชาร์ล ที่ 5 พระเจ้าชาร์ล โกรธแค้นพระสันตะปาปามาก เมื่อพระองค์ได้เข้าร่วมสังสรรค์กับพระเจ้าฟรันซิสที่ 1 ในงานเลี้ยงของกลุ่มที่ชื่อว่าคณะคอนญัก ในปี ค.ศ. 1526 ดังนั้น จักรพรรดิชาร์ล ที่ 5 จึงส่งกองทหารคาทอลิก จากสเปน และทหารสายลูเธอร์ลันโปรเตสแตนต์จากเยอรมันมายึดกรุงโรม ในวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1527 กองทหารได้ล้อมเมืองไว้ถึงห้าเดือนก่อนที่โรมจะแตก เมื่อเข้าเมืองได้แล้วกองทหารเหล่านี้ ก็กลายเป็นดังกองโจรที่เที่ยวปล้นสะดมทรัพย์สิน ฆ่าคนไม่เลือกหน้า ข่มขืนหญิงสาว รวมทั้งนักบวชหญิงในอาราม ทรมานคนที่ขัดขวาง พระสันตะปาปาเคลเมนต์ทรงเห็นสถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ จึงพยายามหลบหนีเอาตัวรอด เล่าว่าพระองค์ได้หลบหนีไปซ่อนตัวอยู่ที่ปราสาทซานอันเยโลด้วยความทุลักทุเล โดยทหารชาวสวิสที่มีหน้าที่ยืนรักษาการณ์หน้าวังพระสันตะปาปานั้น ได้ยอมพลีชีพเพื่อให้พระสันตะปาปาของพวกเขารอดพ้นจากอันตรายแทน  แต่จากนั้นไม่นานพระสันตะปาปาเคลเมนต์ยอมจำนน และถูกจับคุมขังไว้จนถึงวันที่ 6 ธันวาคม ค.ศ. 1527 จึงได้รับการปล่อยตัวและไม่ให้อยู่ในโรม พระองค์ต้องไปอยู่ที่ออร์วิเอ็ตโตและที่วิแตร์โบ ระหว่างสองสองปีนี้พระองค์ได้พยายามเจรจากับพระเจ้าชาร์ลในหลายๆ เรื่อง ที่สุดพระเจ้าชาร์ลก็ตกลงมอบสมบัติต่างๆ คืนให้พระสันตะปาปา แต่ยังคุมพระสันตะปาปาอยู่ในเรื่องอื่นๆ พูดง่ายๆ คือ ตลอดสองปีท่านเป็นนักโทษของพระเจ้าชาร์ล ที่ 5 นั่นเอง
 
พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ต้องเผชิญกับการตัดสินใจครั้งใหญ่คือ พระเจ้าเฮนรี ที่ 8 แห่งอังกฤษ ต้องการหย่าร้างกับมเหสีที่ถูกต้อง คือ พระนางเจ้าแคทเธอรีนแห่งอะรากอน ซึ่งเป็นป้าของพระเจ้าชาร์ล ที่ 5 แน่นอน ด้วยอิทธิพลของพระเจ้าชาร์ลด้วย     ที่พระสันตะปาปาเคลเมนต์ปฏิเสธการหย่าร้างของพระเจ้าเฮนรี เพราะเห็นว่าผิดหลักศีลธรรม ในปี ค.ศ. 1533 เป็นสาเหตุให้พระเจ้าเฮนรี ที่ 8 ประกาศตัดความสัมพันธ์กับโรม และตั้งตนเป็นผู้อุปถัมภ์คริสต์ศาสนานิกายใหม่คือ นิกายแองกลีกัน ดังนั้น พระสันตะปาปาจึงต้องประกาศขับพระเจ้าเฮนรีออกจากพระศาสนจักร และถือว่านิกายแองกลีกันไม่ใช่คาทอลิกที่แท้จริง จากบุคลิกลักษณะที่อ่อนแอและไม่สันทัดเรื่องการเมืองทำให้ลัทธิโปรเตสแตนต์รุกคืบหน้าในเขตยุโรปตอนเหนือ ในเยอรมัน สแกนดิเนเวีย และเขตอื่นๆ นอกนั้นแม้ฝ่ายผู้นำคาทอลิกหลายท่านจะเรียกร้องให้มีการปฏิรูปพระศาสนจักรแต่พระองค์ก็ทำไม่ได้ ที่สุดสิ้นพระชนม์ ในวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 1534