องค์ที่ 220 สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 3 (Pope Paul III ค.ศ. 1534- 1549)

สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 3


(Pope Paul III ค.ศ. 1534-1549)

พระองค์เป็นนักปฏิรูปพระศาสนจักรที่สำคัญของยุคกลางซึ่งการเคลื่อนไหวปฏิรูปของพระองค์มีผลมากต่อพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกในศตวรรษที่ 16  เกิดที่ฟาร์เนสซ์ในเขตคานิโน อิตาลี เดิมชื่อ อะเลสซานโด  ฟาร์เนสซ์ รับการศึกษาที่วิทยาลัยโรม และเติบโตในสภาพแวดล้อมของคนร่ำรวยทั่วไปในสมัยนั้น จากนั้นก็ได้ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเมืองปีซ่า กลับโรมในปี ค.ศ. 1491 ได้รับความชื่นชมจากพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ ที่ 6 มาก ท่านอะเลสซานโด ได้รับตำแหน่งเป็นสมุห์บัญชี และผู้ดูแลการคลังของสันตะสำนักในปี ค.ศ. 1493 และได้เป็นคาร์ดินัลในปีเดียวกันนี้ด้วย ทั้งๆ ที่ยังเป็นคาร์ดินัลฆราวาส ฆราวาสอะเลสซานโดมีชีวิตที่หรูหรา มีภรรยาบุตรชายสามคนและบุตรสาวอีกหนึ่งคน ภายหลังในช่วงสมัยของพระสันตะปาปาเลโอที่ 10 นั้นท่านได้กลับใจจากชีวิตฟุ้งเฟ้อและบวชในปี ค.ศ. 1516 กลายเป็นนักปฏิรูปที่สำคัญในพระศาสนจักร
 
พระคาร์ดินัลอะเลสซานโต ฟาร์เนสซ์ มีทักษะทางการทูต จึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญช่วยเหลือพระสันตะปาปาถึง 5 องค์ ที่ท่านได้ร่วมในการเลือกตั้ง ได้แก่ พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 3  พระสันตะปาปายูลิอุสที่ 2  พระสันตะปาปาเลโอที่ 10  พระสันตะปาปาอาเดรียนที่ 6 และพระสันตะปาปาเคลเมต์ที่ 7 และคาดว่าจะได้เป็นพระสันตะปาปาในช่วงปี ค.ศ. 1523 แต่พลาดตำแหน่งไป เนื่องจากพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 7 ได้ตำแหน่งแทน ช่วงที่พระสันตะปาปาเคลเมนต์ดำรงตำแหน่งนั้น ท่านอะเลสซานโด ได้ชื่อว่าเป็นพระคาร์ดินัลที่ซื่อสัตย์ต่อพระสันตะปาปาที่สุด ถูกขังรวมกับพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ในปราสาทฐานอันเยโลถึงเจ็ดเดือน ในปี ค.ศ. 1527 เมื่อพระสันตะปาปาเคลเมนต์สิ้นพระชนม์แล้ว ท่านอะเลสซานโด ได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาสืบตำแหน่งต่อในนาม พระสันตะปาปาเปาโลที่ 3นวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1534 ขณะอายุ 67 ชันษา
 
สมัยของพระสันตะปาปาเปาโลที่ 3 นั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของพระศาสนจักร พระองค์ตระหนักถึง อันตรายของความแตกแยกและต่อต้านที่กำลังขยายอิทธิพลในเขตยุโรปตอนเหนือ จึงเริ่มจัดการปฏิรูปที่สำคัญคือ การเรียกประชุมสังคายนาเมืองเตรนต์ (ค.ศ. 1545-63) ซึ่งเริ่มสมัยประชุมในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1545 การประชุมนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในพระศาสนจักร พระองค์ได้แต่งตั้งพระคาร์ดินัลนักปฏิรูปหลายคน เช่น เรจินัล โปล (ชาวอังกฤษต่อมาได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาในปี ค.ศ. 1550) มาแชลโล แชวินี (พระสันตะปาปามาแชลลุสที่ 2 เป็นชาวอิตาเลียน) และจิอันเปโดร คาราฟา (พระสันตะปาปาเปาโลที่ 4) รวมทั้งการปฏิรูปคูเรีย และจัดระบบสันตะสำนักใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่พิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ท่านสนับสนุนคณะนักบวชต่างๆ เป็นต้นคณะเยสุอิต และได้ประกาศขับพระเจ้าเฮนรี ที่ 8 แห่งอังกฤษ ออกจากพระศาสนจักรอีกครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1538 ทำให้นิกายแองกลีกันประกาศแยกตัวออกจากพระศาสนจักรคาทอลิก
 
สำหรับพระศาสนจักรในประเทศยุโรปเหนือ ทรงเรียกสมณทูตจีโรลาโน อาลีแอน โดรจาเวนิส และสมณทูตปีเอโตร เปาโล เวอร์จีรีโอ จากเวียนนา เพื่อปรึกษาถึงสภาวะที่เสี่ยงต่ออันตรายของพระศาสนจักรในตอนเหนือ โดยเรียกประชุมสภาสังคายนาที่แมนทัวและตุริน พิจารณาปัญหาของพระศาสนจักร ซึ่งขณะนั้นลัทธิโปรแตสแตนต์ภายใต้การนำของมาร์ติน ลูเธอร์ นักปฏิรูปและนักศาสนศาสตร์กำลังเป็นที่นิยมสูงในประเทศเยอรมัน มีอำนาจและอิทธิพลในบางพื้นที่และไม่ขึ้นกับพระศาสนจักรในกรุงโรมด้วย พระองค์ทรงอุปถัมภ์เหล่าศิลปิน ทรงให้ไมเคิลอันเยโลเขียนภาพการพิพากษาครั้งสุดท้ายที่เพดานโบสถ์น้อยซิสตินและให้ไมเคิล อันเยโลเป็นสถาปนิกสร้างพระมหาวิหารนักบุญเปโตร หลังใหม่ ทรงจัดซ่อมแซมหอสมุดวาติกันที่ทรุดโทรมเสียหายในปี ค.ศ. 1527 และซ่อมแซมวังฟาร์เนส โดยให้อยู่ภายใต้ความดูแลของศิลปินซันกัลโล พระองค์เป็นคนที่ค่อนข้างจะเห็นแก่พรรคพวกและญาติพี่น้อง และนี่เองทำให้เกิดการวิพากวิจารณ์พระองค์
 
ในช่วงสุดท้ายของการปกครอง เมื่ออิทธิพลด้านการเมืองและการทหารถดถอยลง พระสันตะปาปาเปาโลที่ 3 เสด็จยังพระราชวังควีรีนัล (Quirinal Palace) ในกรุงโรม ต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1549 พระองค์ประชวรไข้สูงสมองไม่ตอบสนองความเป็นไปใดๆ พระองค์สิ้นพระชนม์วันที่ 10 พฤศจิกายน  ขณะพระชนม์มายุได้ 82 ชันษา ก่อนสิ้นพระชนม์ทรงสำนึกในความบกพร่องของการให้ตำแหน่งและสิทธิพิเศษแก่พี่น้องเครือญาติ
 
แม้จะมีความผิดบกพร่องบ้างในต้นสมัยปกครองของพระสันตะปาปาเปาโลที่ 3 คนในยุคเดียวกันต่างระลึกถึงพระองค์ว่าเป็น “พระสันตะปาปาผู้มีน้ำพระทัยดี พร้อมที่จะช่วยเหลือ และมีพระสติปัญญาดี ใจกว้าง ไม่พยาบาทมาดร้าย” ทรงนำพระศาสนจักรแห่งยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) เจริญรุ่งเรืองกว่า 10 ปี นำชีวิตชีวาสู่พระศาสนจักรในยุคหลังการปฏิรูป พระศพของพระองค์ที่ฝังในสุสานใต้พระมหาวิหารนักบุญเปโตร ประดับประดาอย่างสง่างามโดยลูกศิษย์ของไมเคิล อันเยโล เหมาะสมกับยุคสมัยปกครองของพระองค์ในประวัติศาสตร์พระศาสนจักร