-
Category: องค์ที่ 181-266
-
Published on Monday, 02 November 2015 09:12
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 1592
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 14
(Pope Benedict XIV ค.ศ. 1740-1758)
(ชื่อนี้เคยมีผู้ใช้ก่อนแล้วสองคน คือในปี ค.ศ. 1425 พระสันตะปาปาซ้อนเบเนดิก ที่ 14 ที่ชื่อเบอร์นาร์ด กานิเอร์ ซึ่งตั้งตนเป็นพระสันตะปาปาต่อต้านพระสันตะปาปาซ้อนอีกองค์คือ พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 8 ซึ่งต่อต้านพระสันตะปาปามาร์ติน ที่ 5 อีกที คนที่สองที่ใช้ชื่อนี้คือ จัง คาริเอร์ คนนี้ได้ชื่อว่าเป็นพระสันตะปาปาที่ไม่มีใครรู้จัก เพราะเมื่อเรียกตัวเองเป็นพระสันตะปาปาแล้ว ก็ถูกจับขังคุกและสิ้นชีวิตในคุกที่เมืองฟัว)
พระองค์ได้ชื่อว่าเป็นพระสันตะปาปาผู้มีอารมณ์ขัน เดินสายกลาง ฉลาดเฉลียวคนหนึ่ง เดิมชื่อ ปรอสเปโร ลอเรนโซ ลัมแบร์ตินี เกิดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1675 ที่เมืองโบโลญา ในปี ค.ศ. 1694 ท่านได้รับปริญญาเอกด้านเทววิทยา และด้านกฎหมายพระศาสนจักร จากนั้นก็ได้เข้ารับใช้พระสันตะปาปาบริหารสันตะสำนัก ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราชแห่งโบโลญาโดยพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 12 จากความฉลาดของท่านทำให้ได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นที่ปรึกษาของพระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 13 และได้รับตำแหน่งพระคาร์ดินัลในปี ค.ศ. 1728 ท่านเป็นคนเด่นในบรรดาพระคาร์ดินัลทั้งหลาย ในการประชุมเลือกผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 12 อย่างไรก็ตามที่ประชุมก็ตกลงกันไม่ได้ว่าจะเลือกใครดี จนเป็นเหตุให้การประชุมต้องใช้เวลานานถึง 6 เดือน เพราะมีหลายสาเหตุที่ทำให้ตกลงกันไม่ได้ และพูดคุยกันอยู่นาน จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง (เล่ากันว่า) พระคาร์ดินัลลัมแบร์ตินี พูดตลกในที่ประชุมว่า “หากพวกท่านต้องการเลือกนักบุญให้เป็นพระสันตะปาปาก็ให้เลือกท่านกอตตี ถ้าหากต้องการเลือกผู้ว่าการรัฐก็ให้เลือกท่านอัลโด บรันดินี แต่ถ้าหากต้องการเลือกคนที่ซื่อสัตย์ก็ให้เลือกผมนี่ล่ะ...” จะเป็นการพูดติดตลกเพราะเกิดการเครียดในที่ประชุมหรืออย่างไรก็ไม่อาจเดาได้ ทราบเพียงว่าชื่อของท่านก็กลายมาเป็นหนึ่งในผู้ที่ควรได้รับการพิจารณาและในที่สุดคณะที่ประชุมได้ตกลงเลือกท่านลัมแบร์ตินี ให้เป็นพระสันตะปาปา ในวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1740 โดยใช้พระนามว่า พระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 14 เพื่อเป็นเกียรติแก่สหายเดิมของท่านคือ พระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 13
ยุคสมัยของพระองค์เป็นยุคเฟื่องฟูทางปรัชญาที่เรียกว่า Enlightenment และพระองค์ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมกับยุคสมัยอย่างแท้จริง ทรงเป็นที่นับถือว่ามีความปราดเปรื่องในด้านสติปัญญา นักปรัชญาเรืองนามในยุคของท่าน ที่ก่อปัญหาไม่น้อยกับพระศาสนจักร คือ วอลเตอร์ แต่ในพระศาสนจักรก็มีบุคคลที่สำคัญหลายคน คนหนึ่งคือ อัลฟอนโซ ลีกวอรี ที่ตั้งคณะพระมหาไถ่ ทางเขตเนเปิล
พระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 14 ทรงเป็นนักปราชญ์ที่กระตือรือร้นตลอดชีวิต ทรงก่อตั้งสมาคมหลายแห่งเพื่อสนับสนุนการค้นคว้าหาความรู้ ทั้งยังทรงวางรากฐานของพิพิธภัณฑ์วาติกันในปัจจุบัน ทรงมีผลงานประพันธ์ร่วมกับนักปราชญ์ที่โดดเด่นแห่งยุค เช่น วอลแตร์ พระสันตะปาปาเบเนดิก ได้สั่งให้ทำหนังสือรายชื่อหนังสือต้องห้ามที่ไม่ควรอ่านขึ้น
นอกนั้นยังสั่งให้ลดภาษีเขตรัฐพระสันตะปาปลงเพื่อจะไม่เป็นภาระแก่คนยากจนมากจนเกินไป นักปรัชญาและนักวิชาการยุคนั้นได้ให้ความชื่นชมพระองค์มาก เป็นต้นในด้านสติปัญญาอันเฉียบแหลม และเรียกพระองค์เป็นดังความภาคภูมิใจของชาวโรมและเป็นบิดาแห่งโลก ทรงมีความสัมพันธ์อันดีกับสุลต่านแห่งอาณาจักรออตโตมัน พระสันตะปาปาเบเนดิกได้เรียกสุลต่านว่า เป็นชาวเติร์กที่ดีทรงทราบว่าอำนาจฝ่ายโลกของพระสันตะปาปานั้นได้สูญเสียไปมากแล้ว และพระองค์ก็ยอมรับแต่ก็ได้พยายามฟื้นฟูขึ้นมาเท่าที่จะทำได้ พระองค์ยอมอ่อนข้อให้เนเปิล ซาร์ดิเนีย สเปน โปรตุเกส ในเรื่องดินแดน แต่ในเรื่องหลักคำสอนแล้วพระองค์ยืนกรานเข้มแข็งว่าพระสันตะปาปาคือ ผู้นำฝ่ายจิตวิญาณและหลักคำสอนที่ถูกต้องเหนือบรรดากษัตริย์เหล่านั้น
พระองค์ทรงประณามขบวนการฟรีเมสัน และสั่งห้ามอ่านหนังสือของวอลแตร์ที่สอนผิดเกี่ยวกับหลักคำสอนทางศีลธรรม ทรงสั่งห้ามการปฏิบัติหลักความเชื่อบางอย่างของคณะเยสุอิต ที่ค่อนข้างคาบลูกคาบดอก เป็นต้นกับเหล่าคริสตชนที่ล้างบาปใหม่ในอินเดียและที่เมืองจีนเพราะนั่นเป็นการปรับศาสนพิธีของชาวคริสต์ให้เข้ากับประเพณีท้องถิ่น (Inculturation) ในด้านความสัมพันธ์ทางด้านการต่างประเทศกับประเทศยุโรป นับเป็นยุคทองอีกครั้งหนึ่งของสันตะสำนัก รวมทั้งการมีความสัมพันธ์อันดีกับโปรแตสแตนต์หลายกลุ่มในยุโรป การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ นำความเศร้าโศกในบรรดาสัตบุรุษเป็นต้นนักวิชาการทั้งหลายที่มีการประกาศยืนไว้อาลัยแก่พระองค์ในที่สาธารณะอย่างสงบ
พระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 14 ได้สิ้นพระชนม์ในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1758