องค์ที่ 248 สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 13 (Pope Clement XIII ค.ศ.1758-1769)

สมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 13
(Pope Clement XIII ค.ศ. 1758-1769)

(สมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 13 นี้ ต้องเผชิญกับความกดดันจากผู้ครองนครต่างๆ ให้ยุบคณะเยสุอิต เนื่องจากเจ้าผู้ครองนครเหล่านั้นเห็นว่าพระสงฆ์เยสุอิตคือศัตรูตัวร้ายต่อความมั่นคงของพวกเขา นอกนั้นในสมัยนี้คุณพ่ออัลฟอนโซ ลิกวอรี   ยอมรับตำแหน่งพระสังฆราชแห่งสังฆมณฑลซานตาอากาทาแห่งก็อต ในปี ค.ศ. 1762)
 
พระองค์มีพระนามเดิมว่า คาร์โล เดลลา ตอเร เรสโซนิโค เกิดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1693 เป็นชาวเมืองเวนิส ครองครัวของท่านมีกิจการค้าเจริญรุ่งเรืองจนทำให้ครอบครัวยกฐานะขึ้นมาเป็นครอบครัวระดับขุนนางของเมืองได้ในปี ค.ศ. 1687 ท่านคาร์โลได้รับการศึกษาในสถาบันการศึกษาของคณะเยสุอิตที่โบโลญา จากนั้นย้ายไปศึกษาขั้นสูงที่มหาวิทยาลัยเมืองปาดัว จนได้รับปริญญาเอกก่อนจะเข้ารับการศึกษาเพื่อเป็นนักการทูตประจำสำนักวาติกัน ในปี ค.ศ. 1716  ได้รับตำแหน่งงานบริหารในคูเรีย ท่านทำงานอย่างดี พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 12  ได้แต่งตั้งท่านให้เป็นคาร์ดินัลในปี ค.ศ. 1737 ในปี ค.ศ. 1743 ท่านได้รับการบวชให้เป็นพระสังฆราชแห่งเมืองปาดัว ผู้คนนิยมชมชอบท่านมาก ท่านได้ปฏิรูปพระศาสนจักรท้องถิ่นหลายแห่ง ได้สร้างบ้านเณรขึ้นมาด้วยเงินส่วนตัว ท่านเน้นการอภิบาลมากกว่าสิ่งอื่น ที่สุดใน ปี ค.ศ. 1758 ที่ประชุมพระคาร์ดินัลได้เลือกท่านขึ้นเป็นพระสันตะปาปาดำรงตำแหน่งต่อจากพระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 14 ในวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1758 เมื่อได้รับตำแหน่งแล้วก็ได้ใช้พระนามว่า พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 13
 
เมื่อทราบข่าวชาวเมืองต่างก็ยินดี ชาวเมืองเวนิสเองก็ยินดีถึงกับยอมถอดถอนกฎหมายต่อต้านพระสันตะปาปาที่เคยประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1754 ออกไป อย่างไรก็ตามทันทีพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ก็ต้องเผชิญกับปัญหาการต่อต้านคณะเยสุอิต ผู้ครองนครทั้งหลายในยุโรปเกลียดชังคณะเยสุอิตมาก โดยเฉพาะในประเทศที่คณะเยสุอิตดำเนินงานอย่างเข้มแข็งนานถึง 200 ปี ได้แก่ สเปน ฝรั่งเศส และโปรตุเกส เพราะสมาชิกคณะนี้เต็มไปด้วยนักวิชาการและปัญญาชนที่อุทิศตนเพื่อพระสันตะปาปาอย่างเต็มที่ เจ้าผู้ครองนครทั้งหลาย จึงมุ่งเป้าโจมตีไปที่สมาชิกคณะนี้โดยเริ่มจากโปรตุเกสก่อนแล้วค่อยๆ ขยายไปตามนครต่างๆ ในยุโรปทั่วไป โปรตุเกสประกาศตัวเป็นศัตรูกับเยสุอิตก่อน โดยกล่าวหาว่าเยสุอิตยุยงให้ชาวพื้นเมืองในเมริกาใต้ต่อต้านรัฐบาลโปรตุเกส รวมไปถึงการก่อกบฏในปารากวัย (ภาพยนตร์เรื่องมิชชั่นก็มีเกร็ดประวัติศาสตร์ช่วงนี้เช่นกัน) การกล่าวหาเท็จนี้ มีผลทำให้รัฐบาลโปรตุเกสยึดทรัพย์สินของคณะเยสุอิตทั่วไปในเขตอิทธิพลของโปรตุเกส และขับไล่สมาชิกที่ไม่ใช่ชาวโปรตุเกสออกไป (ค.ศ. 1759) นอกจากในโปรตุเกสแล้ว ก็ขยายไปที่ฝรั่งเศส รัฐบาลฝรั่งเศสบังคับให้คณะเยสุอิตเปลี่ยนแปลงธรรมนูญของคณะใหม่ ในปี ค.ศ. 1761
 
เรื่องนี้มีผลไปถึงพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ประกาศแข็งกร้าวว่า ธรรมนูญของคณะนั้นดีอยู่แล้ว พระองค์กล่าวว่า ธรรมนูญเขียนไว้อย่างไรก็ให้เป็นอย่างนั้น ถ้ามิเช่นนั้นก็ไม่ต้องมีเลย พระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 13 สนับสนุนคณะเยสุอิตเต็มที่ แต่ก็ไม่อาจต้านทานอำนาจของรัฐได้เช่นที่ฝรั่งเศส (ค.ศ. 1764) สเปน (ค.ศ.1767)  เนเปิล และซิซิลี (ค.ศ. 1768) คณะเยสุอิตต่างถูกขับไล่เป็นเหตุให้มีผลกระทบโดยตรงต่องานธรรมทูตของคณะเยสุอิตซึ่งกำลังเฟื่องฟูในอินเดีย ตะวันออกกลาง อมเริกาเหนือและอเมริกาใต้ แรงกดดันนี้มีมากที่เนเปิลบุคคลผู้มีชื่อเสียงในความศักดิ์สิทธิ์ คือ คุณพ่ออัลฟอนโซ ลิกวอรี ได้พยายามทัดทานไม่ให้พระสันตะปาปายุบคณะเยสุอิต และคอยเป็นกำลังใจให้พระสันตะปาปาจนวินาทีสุดท้าย (ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองสนิทสนมกันมาก ในปี ค.ศ. 1762 พระสันตะปาปาได้แต่งตั้งและขอร้องให้ท่านอัลฟอนโซ ยอมรับตำแหน่งพระสังฆราช หลังจากที่ก่อนหน้านี้ท่านปฏิเสธมาครั้งหนึ่งแล้ว ใน ปี ค.ศ. 1767 กษัตริย์สเปนได้สั่งขับคณะเยสุอิตออกจากเขตปกครองของตน ในปี ค.ศ. 1769 พวกเขาได้ส่งผู้แทนมาที่วาติกันและเข้าพบพระสันตะปาปาเพื่อบังคับให้พระสันตะปาปาลงนามยุบคณะเยสุอิตแต่พระสันตะปาปาเคลเมนต์ก็ปฏิเสธจนวินาทีสุดท้ายแห่งชีวิต แรงกดดันทำให้พระองค์หัวใจล้มเหลว สิ้นพระชนม์ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1769 แม้คณะเยสุอิตจะรอดพ้นจากความกดดันครั้งนี้ไปได้แต่ก็ไม่นาน