องค์ที่ 250 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 6 (Pope Pius VI ค.ศ. 1775-1799)

 

สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 6
(Pope Pius VI ค.ศ. 1775-1799)
 
พระองค์ทรงมีพระนามเดิมว่า โจวันนี บรัสชี เกิดในปี ค.ศ. 1717 ที่เมืองเชเซนา รัฐพระสันตะปาปา ทางเหนือของอิตาลี จากครอบครัวขุนนางเก่าแก่แต่ยากจนครอบครัวหนึ่ง เมื่ออายุได้ 17 ปี ท่านได้รับปริญญาเอกทางกฎหมายทั้งของพระศาสนจักรและของบ้านเมือง ได้รับการศึกษาในสถาบันของคณะเยสุอิต ในปี ค.ศ. 1740 ได้รับตำแหน่งเลขาพระคาร์ดินัลอันโตนิโอ รุฟโฟ ต่อมาก็เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาประจำเมืองเฟอร์ราร่า เนื่องจากทำงานอย่างดีและมีผลงาน ในปี ค.ศ.  1750 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขาของพระสันตะปาปาและได้รับศีลบวชในปี ค.ศ. 1758 จากนั้นบทบาทของท่านก็เด่นมากยิ่งขึ้นจนในปี ค.ศ. 1773 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระคาร์ดินัลโดยพระสันตะปาปาเคลเมนต์ ที่ 14 เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ที่ประชุมคณะพระคาร์ดินัลได้เลือกท่านบรัสชีให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาสืบต่อมา ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์  ค.ศ. 1775 โดยใช้นามว่า พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 6
 
การเลือกครั้งนี้ผู้แทนจากโปรตุเกสคือ มาควิส เด ปอมบัล ได้คัดค้าน เนื่องจากกลัวว่าพระสันตะปาปาองค์ใหม่จะรื้อฟื้นคณะเยสุอิตขึ้นมาอีก แต่คำคัดค้านนี้ก็ไม่เป็นผล พระสันตะปาปาปีโอที่ 6 เปี่ยมไปด้วยคุณสมบัติด้านความรู้หลายสาขาเป็นต้นทางวัฒนธรรม ที่ฝรั่งเศสมีการตื่นตัวทางวัฒนธรรมและการเมืองมีการปฏิวัติเกิดขึ้น
 
ต้นสมัยของพระองค์นั้น มีความสงบอยู่หลายปี ทำให้มีเวลาสนใจเรื่องการฟื้นฟูศิลปะการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ปีโอเคลเมนต์ การจัดการกับหนองน้ำใหญ่ที่ต้องใช้จ่ายมาก แม้แต่จักรพรรดิในยุคเก่าๆ ก็ไม่สามารถทำได้ ในทางการเมืองนั้นพระองค์ต้องเผชิญกับลัทธิต่อต้านพระศาสนจักร บรรดากษัตริย์ทั้งหลายพยายามต่อสู้เพื่อให้ตนหลุดพ้นจากอำนาจของพระสันตะปาปา และพยายามดึงพระศาสนจักรให้อยู่ใต้กฎหมายของรัฐของตน
 
ลัทธิดังกล่าวนี้ที่น่ากล่าวถึงคือ ลัทธิโยเซนิยม ได้ชื่อมาจากพระเจ้าโยเซฟ ที่ 2 แห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และลัทธิเฟโบรนิยม พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 6 ต้องเดินทางไปเวียนนาเพื่อแสดงจุดยืนของพระสันตะปาปาเหนือจักรพรรดิ ในปี ค.ศ. 1782 ผู้คนต้อนรับพระองค์มากมาย แต่ในด้านการเจรจาแล้วก็ไม่มีผลเท่าไร พระเจ้าโยเซฟยังยืนกรานในความคิดของตนเช่นเดิม ในปี ค.ศ. 1789 เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส พระสันตะปาปาพยายามยืดหยุ่นและเป็นมิตรกับรัฐบาลปฏิวัติฝรั่งเศสแต่ก็ไม่เป็นผลเช่นกัน กองทัพฝรั่งเศสเริ่มเข้มแข็งและเข้ารุกรานดินแดนต่างๆ ในยุโรป และในปี ค.ศ. 1796 ก็ๆได้รุกรานดินแดนรัฐพระสันตะปาปา กองทัพนี้นำโดยนายพลหนุ่ม นโปเลียน โบนาปาร์ต พระสันตะปาปาพยายามเจรจาสันติ แต่กองทัพฝรั่งเศสมักไม่เคารพคำสัญญา จนมาถึงจุดที่ว่ากองทหารฝรั่งเศสได้มาถึงประตูเมืองโรมแล้ว การเจรจาก็ยังไม่สิ้นสุด ในปี ค.ศ. 1797 นายพลดูโฟของกองทัพฝรั่งเศสถูกฆ่าตายในเหตุการณ์จลาจลที่โรมนั่นเอง ทำให้กองทัพฝรั่งเศสเริ่มโจมตีอิตาลี ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1798 พระสันตะปาปาถูกจับและประกาศถอดพระสันตะปาปาออกจากการเป็นผู้นำของอิตาลี ประกาศให้อิตาลีเป็นสาธารณรัฐ รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งให้นำพระสันตะปาปาออกไปจากโรม เพื่อประกันความปลอดภัยและความมั่นใจว่าพระองค์จะไม่พยายามต่อต้าน แม้พระสันตะปาปาจะถูกจับแต่ก็ประกาศกร้าวว่าจะไม่ยอมจำนน พระองค์ไม่ยอมมอบแหวนชาวประมงประจำตำแหน่งนี้แก่อำนาจใดๆ ท่าทีเช่นนี้เองเลยทำให้ผู้ที่จับกุมพระองค์ถึงกับก้มหัวเคารพความเด็ดเดี่ยวครั้งนี้ของพระสันตะปาปา
 
ทหารนำตัวพระองค์ออกจากโรม ชาวเมืองต่างมารอส่งพระองค์ตามท้องถนน คุกเข่าร้องไห้เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้นำของพวกเขา ท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมา  พระสันตะปาปาแม้จะมีสุขภาพไม่ดีนัก แต่ก็มีจิตใจเข้มแข็งจนวันสิ้นพระชนม์ในดินแดนเนรเทศ คือ วันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1799 เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้หลายคนคิดว่าสถาบันพระสันตะปาปาคงจะสิ้นสุดแล้ว แต่ก็หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ บรรดาพระคาร์ดินัลได้ตกลงเลือกพระสันตะปาปาองค์ใหม่ขึ้นมาในเวลาไม่นานต่อมา สมัยปกครองของพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 6 จึงนับได้ว่าประสบกับเหตุการณ์น่าสลดใจนานที่สุดของศตวรรษที่ 18