องค์ที่ 255 สมเด็จพระสันตะปาปาบุญราศีปีโอ ที่ 9 (Pope BI.Pius IX ค.ศ. 1846-1878)

 
สมเด็จพระสันตะปาปาบุญราศี ปีโอ ที่ 9
(Pope Bl. Pius  IX  ค.ศ. 1846-1878)
(สถาปนา 3 กันยายน  ค.ศ. 2000)
 
พระองค์มีพระนามเดิมว่า โจวันนี มารีอา มัสทัย แฟร์แรตติ เกิดที่หมู่บ้านเซนีกัลเลีย ใกล้เมืองอันโคนา วันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1792  เป็นบุตรคนที่ 4 ของท่านเคานต์ของเมือง  เมื่อเกิดมานั้นมีสุขภาพไม่แข็งแรงนัก และมักจะเป็นโรคลมชักอยู่บ่อยๆ ได้รับการศึกษาขั้นแรกที่เมืองวิแตร์โบ (Viterbo)  ต่อมาก็มาศึกษาที่โรมและได้รับศีลบวชในปี ค.ศ. 1819  ได้รับหน้าที่ให้เป็นผู้แทนพระสันตะปาปา ประจำชีลีใน ปี ค.ศ. 1823-25 ก่อนที่จะได้รับอภิเษกให้เป็นพระสังฆราชแห่งสโปเลโต  (Spoleto) ในปี ค.ศ. 1827  และจากนั้นก็ย้ายไปเป็นพระสังฆราชแห่งอิโมลา (Imola) ในปี ค.ศ.1832 ท่านเป็นนักอนุรักษ์ ไม่ค่อยชอบอะไรที่ใหม่ๆ เป็นต้น ความคิดอะไรที่ก้าวหน้าทั้งหลายนั้น ท่านมักจะปรามไว้ก่อน และได้ชื่อว่าเป็นชาตินิยมเช่นกัน กระบวนการรวมอิตาลีเป็นประเทศเดียวนั้น พระองค์สนับสนุนเต็มที่ ในปี ค.ศ.1840 ได้รับตำแหน่งพระคาร์ดินัลจากพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 16 เมื่อพระสันตะปาปาเกรโกรีสิ้นพระชนม์ แล้วสองวัน คณะพระคาร์ดินัลก็เลือกพระคาร์ดินัลมัสทัย แฟร์แรตติ ขึ้นเป็นพระสันตะปาปา สืบต่อทันที ในวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1846  โดยใช้พระนามว่า พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9 เพื่อระลึกถึงพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 7  ผู้ทรงเป็นที่เคารพรัก และคงไม่มีใครนึกว่าพระองค์ จะเป็นพระสันตะปาปา ที่ต้องเผชิญกับปัญหาหนักที่สุดองค์หนึ่งในประวัติศาสตร์ของพระสันตะปาปา และพระศาสนจักร
 
เมื่อได้รับตำแหน่ง พระองค์ได้ปลดปล่อยนักโทษการเมืองหลายคนให้เป็นอิสระและประกาศปฏิรูปทั้งรัฐพระสันตะปาปา และพระศาสนจักรเองทั้งหมด โดยใช้ระบบการลงคะแนนเสียงมาแทนการแต่งตั้งเดิม ที่เคยทำกันมา คำพูดของพระองค์ หลายคนเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เป็นต้น เรื่องที่ทรงประกาศว่าไม่เคยมีความตั้งใจที่จะยอมมอบอำนาจทั้งทางโลกและทางธรรมของพระองค์ให้แก่อำนาจใดๆ เช่นนี้ ทำให้พวกหัวรุนแรงตีความว่าพระองค์ปฏิเสธความคิดรวมชาติ นอกนั้นการประกาศตัวเป็นกลางต่อปัญหาสงครามย่อยๆ กับพวกออสเตรียนั้น ทำให้พวกเขาเห็นว่าพระองค์เข้าข้างต่างชาติ ทำให้เกิดเรื่องร้ายขึ้น คือ เกิดการลอบสังหารนายก รัฐมนตรีของพระสันตะปาปาปีโอ คือ ท่านเคาต์รอชซี ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1848 เกิด การจลาจลขึ้นในโรมและฝ่ายรัฐบาลใหม่ ได้ประกาศให้อิตาลีเป็นสาธารณรัฐพระสันตะปาปาถูกกักตัวที่วังควิรินัล และประกาศปลดออกจากตำแหน่งประมุขของรัฐพระสันตะปาปาทั้งหมด พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9  ได้หลบหนีออกจากวังโดยแต่งตัวเป็นพระสงฆ์ธรรมดา พระองค์หลบอยู่ที่กาเยตานอกโรม จนกระทั่งฝ่ายฝรั่งเศสได้ยกกองทหารมาช่วยในปี ค.ศ. 1850  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าความสงบจะมีขึ้นได้ง่าย ตลอดสมัยของพระองค์ยังต้องเผชิญกับปัญหาการรวมอิตาลีให้เป็นประเทศ ซึ่งกระทบกับรัฐพระสันตะปาปาโดยตรง พระองค์เองถึงกับทำนายว่าวันหนึ่งอำนาจรัฐทั้งหมดของพระสันตะปาปาคงตกไปอยู่กับอำนาจของรัฐบาลท้องถิ่น
 
ความรุนแรงเกิดขึ้นอีกในปี ค.ศ. 1860  เมื่อพระเจ้าเอ็มมานูแอล ที่ 2  ได้ยกกองทัพเข้ารุกรานรัฐของพระสันตะปาปา และทำลายกองทหารของพระสันตะปาปาราบเรียบในสงคราม คัสเตลฟิดาโด พระสันตะปาปาปีโอที่ 9  เหลือดินแดนในปกครองเพียงโรมเท่านั้นเอง เพราะยังมีกองทหารฝรั่งเศสของพระเจ้านโปเลียนที่ 3 คอยปกป้องไว้ แต่เมื่อฝรั่งเศสได้ประกาศสงคราม กับเยอรมัน ในปี ค.ศ. 1870  อันเป็นสงครามฝรั่งเศสปรัชเซียนั้น กองทหารได้ถูกถอนกลับไปช่วยรบที่ฝรั่งเศส ดังนั้นในวันที่ 20 กันยายน ค.ศ. 1870  พระสันตะปาปาจึงต้องเผชิญภัยจากพระเจ้าเอ็มมานูแอลแต่เพียงลำพัง และที่สุดโรมก็ถูกยึดโดยพระสันตะปาปาปีโอ สั่งไม่ให้ต่อต้านเพราะไม่ต้องการให้เสียเลือดเนื้อ ตั้งแต่เวลานั้นมาจนกระทั่งวันสิ้นพระชนม์ พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9  ไม่เคยยอมรับการประกาศเป็นสาธารณรัฐของอิตาลีเลย  และไม่ยอมรับรัฐบาลอิตาลีด้วยนอกนั้นพระองค์ไม่ยอมรับกฎหมายที่รับประกันว่าเขตวาติกันและพระสันตะปาปาห้ามมิให้ ผู้ใดล่วงล้ำตรงกันข้ามพระองค์ประกาศว่าพระองค์คือนักโทษแห่งคุกวาติกัน ในสมณสาสน์ของพระองค์ที่ชื่อ non expedit (ค.ศ.1868) นั้น ทรงห้ามคาทอลิกร่วมมือในการเลือกตั้งนักการเมือง อันทำให้เกิดปัญหาความตึงเครียดระหว่างรัฐกับวาติกันเรื่อยมา จนถึง ปี ค.ศ.1929  อันเป็นปีที่เซ็นสัญญาลาเตรัน
 
แม้ว่าปัญหาทางการเมืองจะสร้างความลำบากแก่พระสันตะปาปาเป็นอย่างยิ่ง เป็นต้น ในปี ค.ศ.1848   ปี ค.ศ. 1860  และ ปี ค.ศ.1870  ในช่วงเวลาอื่นนั้น ทั่วไปแล้วก็สงบและเต็มไปด้วยความสำเร็จ  ซึ่งต้องยกความดีงามให้เลขาธิการรัฐวาติกันคือ พระคาร์ดินัลกีอาโคโม อันโตเนลลี ที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศ เช่นเดียวกับ พระคาร์ดินัลคอนซาลวี เลขาธิการรัฐของพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 7  ในการสร้างสัมพันธไมตรีกับจักรพรรดิปกครองกรุงโรม
 
พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9  ให้ความสนใจกับการพยายามนำพระศาสนจักรมาสู่ทางสายตรงเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นได้จากสาสน์ที่พระองค์ได้ประกาศใช้ที่ชื่อ Quanta  Cura  และเอกสารที่ชื่อ The Sylla  bus of  Errors ซึ่งรวบรวมรายชื่อลัทธิเฮเรติกถึงแปดสิบสาย เริ่มจากคอมมิวนิสต์ สังคมนิยม เสรีนิยม  ในรูปแบบต่างๆ เรื่อยไป บ้างก็ถูกประณามมาก่อน บ้างก็ไม่ได้รับการยอมรับ พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9  คือ  ผู้ที่ประกาศข้อความเชื่อเรื่องแม่พระปฏิสนธินิรมล ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1854  ต่อมาในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1869 พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9  ทรงเปิดสภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 1  ซึ่งคณะพระสังฆราชเยอรมัน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาคัดค้าน  โดยเฉพาะในปัญหาความไม่รู้จักผิดพลาดของพระสันตะปาปา ได้มีความพยายามปรับ ปรุงจากผลการประชุม วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1870  และอีกครั้ง เมื่อเดือนเมษายนปีเดียวกันและพระองค์ได้รื้อฟื้นระบบฐานานุกรมของพระศาสนจักรในอังกฤษและเนเธอแลนด์ขึ้นมาใหม่หลังจากที่ถูกยุบไปในอดีต เหนืออื่นใด พระองค์พยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ของพระสันตะปาปาที่ดูเหมือนจะตกต่ำในหลายๆ ด้านในอดีตที่ผ่านมา ทรงเป็นผู้ที่ประณามระบบวัตถุนิยม  สังคมนิยม และอเทวนิยม  นอกนั้นก็ได้ประกาศเรื่องความไม่ผิดพลั้งของพระสันตะปาปาในการสอนความเชื่อ
 
พระสันตะปาปาปีโอ ที่9  เป็นผู้ที่มีใจอ่อนโยน  มีบุคคลิกลักษณะดึงดูดใจคน แม้ว่าในด้านความคิดเห็นต่างๆ นั้น ท่านจะเป็นผู้ที่ไม่เคยยอมใคร ศัตรูของพระองค์ก็คือ เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง พวกนักการเมืองทั้งหลายที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน ความเป็นคนที่ไม่ค่อยเปลี่ยนใจง่ายๆ นั้น  ทำให้อำนาจของพระองค์เป็นที่เกรงขามในเขตยุโรป  พระองค์ออกคำสั่งให้ส่งพระสงฆ์ไปโปรดศีลเจิมให้พระเจ้าเอมมานูแอลที่กำลังนอนรอความตาย ด้วยเหตุผลที่ว่า พระศาสนจักรเปรียบเสมือนมารดาที่ไม่เคยทิ้งลูกของตัวเอง  แม้ว่าลูกจะทำไม่ดีต่อมารดาเพียงใดก็ตาม
 
พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9  สิ้นพระชนม์ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1878  ด้วยโรคชรา นับเป็นพระสันตะปาปาที่ต่อสู่กับปัญหาต่างๆ ของโลกยาวนานที่สุด ชีวิตของพระองค์ผ่านการเปลี่ยนแปลงมากมาย และอยู่ในช่วงการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ แม้นักการเมืองหลายคนจะเคียดแค้นชิงชังพระองค์มากมายเพียงใดก็ตาม ดังจะเห็นได้จากเวลาที่ขบวนแห่พระศพของพระองค์นั้น พวกหัวรุนแรงพยายามก่อความไม่สงบ เพื่อจะชิงพระศพของพระองค์เอาไปทิ้งแม่น้ำไทเบอร์ ในปี ค.ศ. 1985  คณะกรรมการแต่งตั้งการเป็นนักบุญ ได้เริ่มหาเหตุผลรองรับการแต่งตั้งพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 9  ให้เป็นนักบุญ
 
พระสันตะปาปาปีโอ  ที่ 9  ทรงได้รับสถาปนาเป็นบุญราศี โดย พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2  เมื่อ วันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2000 ณ พระมหาวิหารนักบุญเปโตร พร้อมกับพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23
 
สมเด็จพระสันตะปาปาบุญราศี ปีโอ ที่ 9  เป็นพระสันตะปาปาที่อยู่ในสมัยปกครองยาวนานที่สุดถึง 31 ปีกว่า และในสมัยของพระองค์นี้เองที่รัฐพระสันตะปาปาทั้งหมดถูกยึดครอง และแหลมอิตาลีได้รวมเข้าเป็นประเทศหนึ่งเดียว
 
สภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 1 The  First  Vatican  Council)  เป็นสังคายนาสากล ครั้งที่ 20 ของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ค.ศ. 1869-70  เรียกประชุมโดยพระสันตะปาปาปี โอ ที่ 9  เพื่อร่วมพิจารณาข้อขัดแย้งแห่งยุคสมัย  มีพระสังฆราช 700 องค์  จาก 1,050 องค์  ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุม  ในวันที่ 8 ธันวาคม มติที่ประชุมได้ประกาศเรื่องข้อความเชื่อคาทอลิก และอำนาจของพระสันตะปาปา