องค์ที่ 258 สมเด็จพระสันตะปาปาเบเบดิก ที่ 15 (Pope Benedict XV ค.ศ. 1914-1922)

 
 
สมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 15
 (Pope Benedict  XV   ค.ศ. 1914-1922)
 
พระองค์มีพระนามเดิมว่า จาโคโม เดลลา กีเอซา เกิดที่เมืองเจนัว ในปี ค.ศ. 1854  ท่านแสดงความปรารถนาที่จะเป็นพระสงฆ์ตั้งแต่ในวัยเยาว์แล้ว แต่บิดาห้าม และสนับสนุนให้ศึกษากฎหมายให้จบก่อนคิดเรื่องบวช ท่านได้ศึกษาและได้รับปริญญาเอกทางด้านกฎหมายที่มหา วิทยาลัยเมืองเจนัว ในปี ค.ศ. 1875  
 
จากนั้นก็ได้เข้าบ้านเณรคาปรินิกา ในโรม และได้รับศีลบวชในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1878  ที่มหาวิทยาลัยเตรัน ในปี ค.ศ. 1879  ท่านได้รับปริญญาเอกทางเทววิทยา และในปี ค.ศ. 1880  ได้รับปริญญาเอกทางกฎหมายพระศาสนจักร  เป็นสมาชิกของนักวิชาการของพระศาสนจักร และได้รับการฝึกเพื่อเป็นนักการทูตของวาติกันในปี ค.ศ. 1882  ท่านได้เป็นเลขานุการของท่านรัมปอลลา ซึ่งจะเป็นคาร์ดินัลในเวลาต่อมาและเจ้ากระทรวงใหญ่ในวาติกัน เมื่อพระคาร์ดินัลรัมปอลลาเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ  ท่านกีเอซาเองก็ได้รับตำแหน่งสูงตามขึ้นไปเช่นกัน ในปี ค.ศ. 1907  พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 10 ได้แต่งตั้งท่านเป็นพระสังฆราชโบโลญา จากนั้นก็ได้เป็นพระคาร์ดินัลในปี ค.ศ. 1914  สามเดือนก่อนที่จะได้รับเลือกให้เป็นพระสันตะปาปาสืบต่อจากพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 10  การเลือกท่านกีเอซานี้ไม่ค่อยมีใครคาดคิดเท่าไร แต่สถานการณ์ของสงครามในขณะนั้น ทำให้พระคาร์ดินัลมองหาผู้ที่มีความสันทัดทางการทูตมาเป็นผู้นำพระศาสนจักร ฝ่าคลื่นทางการเมืองและสงครามนี้ไป ท่านกีเอซา ยอมรับตำแหน่งในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 1914  และใช้พระนามว่า พระสันตะปาปา เบเนดิก ที่ 15
 
พระสันตะปาปาเบเนดิกที่ 15 ต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่หลวงระดับโลก ประเทศคาทอลิกด้วยกันต่างเริ่มต่อสู่ทั้งรุกรานและป้องกันตัวเอง  พระองค์ในฐานะผู้นำพระศาสนจักรจึงต้องรับ ภาระหนักอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทรงแสดงจุดยืนเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด และพร้อมสั่งให้คริสตชนเตรียมพร้อมช่วยเหลือผู้ที่บาดเจ็บ อีกด้านหนึ่งพระองค์ก็พยายามขอร้องให้ทุกฝ่ายรอมชอมกันและหันหน้าเข้ามาเจรจากัน แทนที่จะต่อสู้ แต่ก็ไม่เป็นผล ในปี ค.ศ. 1917  ดูเหมือนจะมีแสงรำไรของสันติเกิดขึ้น เมื่อพระองค์เสนอให้มีการหยุดยิง และหันมาเจรจากันตามแผนสันติภาพ 7 ประการ ฝ่ายเยอรมันปฏิเสธแผนนี้ แต่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยการนำของประธานาธิบดีวิลสัน  ดูเหมือนจะเห็นด้วย อย่างไรก็ตามที่สุด ฝ่ายสหรัฐก็ได้เข้าร่วมทำสงครามด้วยในเวลาต่อมา และเมื่อสงครามสงบแล้วเราจะเห็นว่าข้อเสนอทั้ง 7  ประการของพระสันตะปาปาเบเนดิกนั้น รวมอยู่ในข้อเรียกร้อง 14 ข้อของประธานาธิบดีวิลสันด้วย
 
แต่เนื่องจากวาติกันนั้นได้ประกาศตัวเป็นกลาง     ฝ่ายพันธมิตรจึงตัดสิทธิ์ของการเข้าร่วมเจรจาสันติที่พระราชวังแวร์ซายส์ พระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 15  ได้เรียกร้องให้สนใจผู้ป่วยและเด็กๆ ที่ต้องเผชิญกับผลของสงคราม หลายแสนคนต้องอดอยากไร้ที่อยู่อาศัย ฝ่ายพระศาสนจักรเองได้เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยเหล่านี้ในที่ต่างๆ ทั่วโลก ผ่านทางวัดและองค์กรต่างๆ ของพระศาสนจักร ในสมัยของพระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 15 นี้เอง ที่กฎหมายพระศาสนจักรฉบับปรับปรุงใหม่ เริ่มในสมัยพระสันตะปาปานักบุญปีโอ ที่ 10 ได้ออกประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1918  พระองค์ได้ออกสมณสาสน์ถึง 17 ฉบับ  เปิดสัมพันธ์กับประเทศฝรั่งเศส ส่วนประเทศอังกฤษ    ก็ได้ติดต่ออย่างเป็นทางการ หลังจากห่างเหินมาร่วม 300 ปี  บทบาทของผู้เรียกร้องและสร้างสันติภาพของพระสันตะปาปาเบเนดิกนั้นเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แม้ในหมู่ชาวมุสลิมที่อัสตัน  บูลเองด้วย รูปปั้นของพระองค์ได้ตั้งขึ้นที่นั่น เพื่อเป็นเกียรติแด่พระองค์ที่ได้พยายามนำสันติมาสู่โลก
 
พระสันตะปาปา เบเนดิก ที่ 15  สิ้นพระชนม์ในวันที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1922