องค์ที่ 260 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 (Pope Pius XII ค.ศ. 1939-1958)


สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12

(Pope Pius  XII ค.ศ. 1939-1958)

 
พระองค์มีพระนามเดิมว่า เอวเจนีโอ มารีอา ยูเซฟเป โจวันนี ปาเซลลี เกิดเมื่อ วันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1876  บิดา มารดาเป็นชาวโรม  ชื่อนายฟิลิปโป ปาแซลลี และนางวีรยีนิอา กราซีโอซี มีพี่น้อง 4 คน พระองค์ทรงเป็นบุตรคนที่ 3
 
บิดาของพระองค์เป็นทนายความที่มีชื่อของกรุงโรม เป็นคนศรัทธา ชอบซื้อหนังสือภาวนา ลูกประคำ รูปพระ แจกจ่ายแก่คริสตังค์ยากจน มารดาก็เป็นคริสตังค์ที่ดีมากด้วย
 
ในวัยเด็ก พระองค์เป็นคนพูดน้อย ตาแจ่มใส หน้าผากกว้าง มีแววฉลาด ขยันหมั่นเรียน และศรัทธามาก พออายุ 4 ขวบ เข้าศึกษาในโรงเรียนอนุบาลของภคินี คณะพระญาณสอดส่อง เวลานี้ก็ยังมีรูปที่ระลึกตั้งอยู่ ทรงชอบช่วยมิสซาที่วัดข้างบ้าน เล่นเป็นพระสงฆ์ ถวายมิสซา ขับร้อง เทศน์ นอกนั้นยังชอบกีฬาและดนตรี เป็นพิเศษด้วย
 
เมื่อสำเร็จชั้นเตรียมอุดมแล้ว ทรงเข้ามหาวิทยาลัย แผนกอักษรศาสตร์ และปรัชญา โดยสอบชิงทุนเล่าเรียนได้ ขณะศึกษาอยู่นี้ก็รู้สึกพระกระแสเรียก จึงเข้าเงียบที่วัดนักบุญอักแญส (ใกล้สถานทูตไทย) ที่สุดก็เข้ามหาวิทยาลัยเกรกอรีอาโน เรียนอยู่ไม่นาน ไม่สบาย ต้องไปพักผ่อน แล้วกลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอัปโปลีนารีส ได้รับปริญญาเอกทางเทวศาสตร์ และนิติศาสตร์บัณฑิตทางกฎหมายบ้านเมืองและพระศาสนจักร
 
เป็นพระสงฆ์
ทรงรับศีลอนุกรมเป็นพระสงฆ์เมื่อ วันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1889 อายุ 23 ปี 1 เดือน รุ่งขึ้นถวายมิสซาแรก ที่วิหารซานตามารีอา มาญอเร มิสซาที่ 2 ที่วัดนักบุญฟิลิปเนรี เข้าทำงานในสำนักเลขาธิการแห่งรัฐวาติกัน (ทำหน้าที่คล้ายกระทรวงต่างประเทศ) เวลาเดียวกันก็สอนกฎหมายพระศาสนจักรที่มหาวิทยาลัยอัปโปลีนารีส อบรมนักศึกษาหญิง กรรมกรหญิง ฯลฯ
 
วันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1917 (ตรงกับวันแม่พระประจักษ์ครั้งแรกที่ฟาติมา) ได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราช จากพระหัตถ์พระสันตะปาปา เบเนดิกโต ที่ 15 ในโบสถ์ซิกส์ติน ต่อจากนั้น ไปรับหน้าที่สมณทูตประจำเยอรมันทั้งประเทศ ย้ายสำนักมาอยู่ที่เบอร์ลิน จนถึง ค.ศ. 1929
 
เป็นพระคาร์ดินัล 
ปลายปี ค.ศ. 1929 ได้รับพระสมณศักดิ์เป็นพระคาร์ดินัล วันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1930 เป็นเลขาธิการแห่งรัฐวาติกัน ในระหว่าง 9 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ได้เป็นพระสมณทูตเฉพาะพระสันตะปาปา (Pontibical Legate) เสด็จไปประเทศต่างๆในโอกาส สำคัญ เช่น 
ค.ศ. 1934 ไปเป็นประธานการประชุมเคารพศีลมหาสนิทสากล ที่บัวโนส ไอเรส ประเทศอารเยนิตีนา 
ค.ศ. 1935 ไปในพิธีตรีวารปีศักดิ์สิทธิ์ที่ลูร์ด
ค.ศ. 1936 ได้ทัศนาจรสหรัฐอเมริกาทั้งหมด 
ค.ศ. 1937 ไปเป็นประธานประธานการอภิเษกพระมหาวิหารนักบุญเทเรซา ที่ลีซีเออส์  
ค.ศ. 1938 ไปเป็นประธานงานเคารพศีลมหาสนิทสากลที่บูดาเปสต์ ฮังการี
 

สมเด็จพระสันตะปาปาประทับเสลียง
เสด็จเข้าสูพระมหาวิหารนักบุญเปโตร
เป็นพระสันตะปาปา
วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1939 สมเด็จพระสันตะปาปาที่ 11 สวรรคต คณะพระคาร์ดินัลทั้งหมดเวลานั้น 62 องค์ ได้ประชุมเลือกผู้ที่สมควรเป็นพระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม  ค.ศ. 1939 ลงคะแนนสองครั้งแรกไม่สำเร็จ พอครั้งที่ 3 ก็ได้ผล นับว่ารวดเร็วมากเป็นประวัติการณ์ นอกนั้นยังปรากฏว่า ท่านคาร์ดินัลทั้ง 61 องค์ ได้ทรงเลือกท่านคาร์ดินัล ปาแชลลี ทั้งสิ้น พระองค์ทรงเลือกชื่อ “ปีโอ” เพราะได้ทรงดำรงสมณเพศ ร่วมงานกับสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 11 นานที่สุด 
 
สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ทราบสถานการณ์โลกดี พระองค์ได้ประกาศจุดยืนของการแสวงหาสันติภาพและป้องกันสงคราม พระองค์ได้ประกาศประฌามการรุกรานโปแลนด์ของกองทัพนาซี 
 
ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 และในเทศกาลคริสต์มาสปีเดียวกันนั้นเอง พระองค์ได้ประกาศหลักการสันติภาพ 5 ประการ ที่เหล่าประเทศคริสตชนควรใส่ใจยอมรับ และเคารพในสิทธิ์และอธิปไตยของกันและกัน ลดการสะสมอาวุธอย่างแท้จริง เคารพในสิทธิของชนกลุ่มน้อย ตั้งศาลระหว่างประเทศขึ้นมาเพื่อรักษาสันติภาพ คำแนะนำเหล่านี้ กลับไม่ได้ผลอะไรเลยสำหรับประเทศที่กำลังกระหายสงครามอย่างเยอรมัน
 
ฝ่ายวาติกันเองก็ได้แต่ประกาศจุดยืนเป็นกลางอย่างเหนียวแน่น และพยายามช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและได้รับผลร้ายจากสงครามให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สมเด็จพระสันตะปาปาที่ 12 ได้พยายามช่วยเหลือคนอพยพและให้ที่พักพิงแก่พวกเขา เป็นต้นพวกอพยพที่เป็นชาวยิวที่หนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเยอรมัน (กระนั้นก็ตามในปัจจุบันก็มีคำครหาขึ้นมาว่า สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชาวยิวเท่าที่ควรในระหว่างสงคราม) สถานการณ์เช่นนี้เป็นการยากสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 อย่างยิ่ง เพราะข่าวลับมาถึงวาติกันว่า ฝ่ายฮิตเลอร์ได้เตรียมที่จะบุกวาติกันและจับสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ขัง พร้อมกับเตรียมตั้งพระสันตะปาปาซ้อนขึ้นมาเหมือนในอดีต ในเยอรมันเองชาวคาทอลิกก็ถูกข่มขู่และจับตัวไปคุมขัง อันเป็นจุดเริ่มของนโยบายรวบอำนาจของฮิตเลอร์นั่นเอง และในความเป็นจริงคาทอลิกหลายแสนคนก็เสียชีวิตในที่คุมขังพร้อมๆกับคนยิวราว 6 ล้านคน ที่โรมนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ได้พยายามช่วยเหลือคนยิวอย่างดีที่สุดเท่าที่สถานการณ์เป็นกลางจะทำได้ (เมื่อสิ้นสงครามแล้วหัวหน้าชาวยิวที่ชื่อ รับไบ อิสราแอล ซอลลี ได้ประกาศยืนยัน อีกทั้งขอบคุณพระสันตะปาปาที่ได้ช่วยเหลือชาวยิวหลายต่อหลายคนให้รอดพ้นเงื้อมมือของนาซี โดยเปิดวังกัสแตล กันดอลโฟ อารามและวัดอีกหลายๆแห่งให้เป็นที่หลบภัยสำหรับชาวยิว)
 
ในปี ค.ศ. 1943 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ได้สั่งให้เอาภาชนะที่ใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ฉาบด้วยทองเอามาลอกเอาทองคำออก มาเป็นค่าชดใช้และไถ่ถอนชาวยิวที่ถูกจับให้เป็นอิสระรวมๆแล้วก็ได้เงินถึงล้านลีร์ และทองหนักถึงร้อยปอนด์ทีเดียว 
 
ในปี ค.ศ. 1944 เหล่าทหารอาสาและหน่วยกู้ชาติได้มารวมกันที่ลานพระมหาวิหารนักบุญเปโตร เพื่อขอพระพรจากพระสันตะปาปาอันเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านลัทธินาซีโดยตรงของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12
 
 
หลังจากนั้นพระองค์ก็ได้อุทิศตนบูรณะฟื้นฟูถาวรวัตถุต่างๆที่ถูกทำลายในช่วงสงครามขึ้นมาใหม่เมื่อเลขาธิการรัฐวาติกันของพระองค์ คือ พระคาร์ดินัลมาลีโอเน มรณภาพแล้ว พระองค์ก็รับหน้าที่นี้แทนโดยตรงและได้รับความช่วยเหลืออย่างมากจากเพื่อนสนิท คือ มอนซิญอร์โดเมนิโก ทาร์ดินิ และมอนซิญอร์โจวันนี มอนตินี (ต่อมาคือ สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6) 
 
ในงานด้านพระศาสนจักรสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ทรงประกาศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1950 ข้อความเชื่อเกี่ยวกับการที่พระนางมารีอา พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ หลังการดำเนินชีวิตบนโลกและสิ้นพระชนม์แม้จะไม่มีข้อความเกี่ยวกับการเสด็จสู่สวรรค์กล่าวถึงในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ก็ตาม ซึ่งคริสตชนเฉลิมฉลองโอกาสสำคัญนี้ในวันที่ 15 สิงหาคม ศิลปินตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 มักใช้ภาพการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของแม่พระ เป็นภาพประดับประดาโบสถ์ พระองค์ทรงทำให้ถ้อยคำ “พระกายทิพย์ของพระเยซูเจ้า” เป็นที่เข้าใจแพร่หลายทั่วไปว่า พระศาสนจักรคาทอลิก คือ พระกายของพระคริสตเจ้า ข้อความเชื่อนี้ได้รับการยืนยันในสภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 ทั้งนี้เพราะพระเยซูทรงพลีพระชนม์เพื่อไถ่มนุษย์ทุกคนให้รอดโดยไม่ละเว้นผู้ใด
 
 
นอกจากนั้น วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1945 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ทรงปรับปรุงข้อกำหนดการลงคะแนนลับ (Conclave) เพื่อเลือกตั้งพระสันตะปาปาให้ทันสมัยขึ้น ทั้งนี้คะแนนเสียงที่ได้รับ คือ 2 ใน 3 บวกอีก 1 คะแนน จึงถือเป็นเอกฉันท์
 
ในปี ค.ศ. 1947 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ทรงรับรององค์กรนักบวชฆราวาส ซึ่งคริสตชนผู้มีความเชื่อศรัทธาร่วมกันปฏิบัติงานพระศาสนจักรท่ามกลาง “การเจริญชีวิตฝ่ายโลก” โดยยึดถือความยากจน ความบริสุทธิ์ และความนบนอบ
 
ปลายสมัยการปกครองของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 นั้น พระองค์พยายามฟื้นฟูคำสอนคาทอลิกใหม่ผ่านทางสมณสาสน์ต่างๆ ที่ประกาศออกมา พระสันตะปาปาสนับสนุนการแพร่ธรรมทั่วโลกและเตรียมแผนการปฏิรูปพระศาสนจักรใหม่ อันเป็นการปูทางไปสู่สภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 นั่นเอง
 
สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 เป็นหนึ่งในบรรดาพระสันตะปาปาที่สำคัญและน่านับถือยิ่ง ในประวัติศาสตร์ของพระสันตะปาปาที่ผ่านมาก่อนสังคายนาวาติกันที่ 2 พระองค์ได้สิ้นพระชนม์อย่างสงบ เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1958 ที่วัง กัสแตล กันดอลโฟ
 

พิธีมิสซามโหฬาร อุทิศแด่สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่12 
ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1958
 
วาระสุดท้ายของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12
วันจันทร์ที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1958 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ประชวรหนักอย่างกะทันหัน เวลาเช้า 8.00 น. พระองค์ยังกำลังเตรียมสุนทรพจน์ไว้กล่าวในโอกาสใกล้ แต่พระองค์ไม่มีโอกาสใช้กล่าวเสียแล้ว ประชาชนไปออกันที่หน้าวิลลาพักร้อนที่กัสแตลกันดอนโฟแน่นขนัด เพราะห่วงใยในพระอาการของพระองค์
 
วันอังคารที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1958 นายแพทย์ประจำพระองค์ออกหมายประกาศว่า พระอาการดีขึ้นแล้ว พอจะมีหวัง
 
แต่วันพุธที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1958 พระอาการกลับทรุดหนัก นายแพทย์ลงความเห็นว่า ยามนุษย์หมดความสามารถเพียงเท่านี้ เพียงเท่านี้ยังไม่ทันไรหนังสือพิมพ์ในกรุงโรมบางฉบับพาดหัวโป้งว่า พระสันตะปาปาสิ้นพระชนม์แล้ว แต่วิทยุวาติกันยังกระจายเสียงเกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระองค์อยู่ หนังสือพิมพ์ฉบับออกเวลาเย็นพาดหัวตัวแดงแก้ข่าวว่า พระสันตะปาปายังไม่สิ้นพระชนม์
 
ตกเย็นพระอาการเพียบหนัก นายแพทย์ยืนยันเมื่อเวลา 17.30 น. ว่าจะไม่พ้น 24 ชม. พระอาการมีแต่ทรุดลงเรื่อยๆ ปรอดวัดไข้ขึ้นกว่า 40 องศา ไม่มีทางช่วยเสียแล้ว ได้แต่รอวาระสุดท้าย 
 
 
ที่สุดเวลา 3.52 น. วันพฤหัสบดีที่ 9  ตุลาคม ค.ศ. 1958 พระองค์ก็อำลาฝูงชุมพาของพระองค์ไปสู่แดนโพ้น รวมพระชนมายุได้ 82 ปี 7 เดือน 7 วัน ทรงดำรงตำแหน่งประมุขพระศาสนจักรเป็นเวลา 19 ปี 7 เดือน 7 วัน
 
สิ้นบุญพระสันตะปาปาโรมก็ไร้ราศี โลกพากันว้าเหว่ ดังที่ท่านประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกากล่าวปรารถไว้ว่า “การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ทำให้โลกมนุษย์เราจนลงถนัด” ในกรุงโรมทั่วๆไปจะเห็นความโศกเศร้าปรากฏชัดทุกหนทุกแห่ง หนังสือพิมพ์พากันลงข่าวครึกโครม ต่างพร่ำรำพันถึงคุณงามความดีของพระองค์เป็นอเนกประการ เว้นแต่หนังสือพิมพ์ซ้ายจัดเพียงฉบับเดียวที่หาเรื่องใส่ร้ายให้เสื่อมพระเกียรติจนได้ แต่ประชาชนส่วนใหญ่ดูเหมือนจะไม่มีใครฟังเสียง เพราะความดีของพระองค์ยังไม่ลืมเลือนไปจากความทรงจำ
 
สมเณรปรอปากันดา ได้รับเอกสิทธิ์อย่างใหญ่หลวง ให้เฝ้าพระศพของพระองค์ถึง 4 ชม. กล่าวคือ ตั้งแต่ 4.00 น. ถึง 8.00 น. ของเช้าวันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1958   ตอนบ่ายเชิญพระศพของพระองค์ จากกัสแตลกันดอลโฟ สู่กรุงโรมโดยขบวนรถ  ถึงพระวิหารนักบุญยวงลาตรัน ทำพิธีเสกแล้วทำการแห่อย่างมโหฬารผ่านใจกลางกรุงโรม โดยมีนักบวชชายนำหน้าเป็นแถวยาวเหยียดเรียงแปด ประชาชนรอรับเสด็จเต็มทั้งสองฝากถนนตลอดทาง ตอนเข้าหน้าพระมหาวิหารนักบุญเปโตรมีกองทหารเหล่าต่างๆทั้งของอิตาเลียนและวาติกันเรียงรายกันเป็นตับสองฟากถนนเป็นเกียรติ
 

พระบรมศพสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12
 
เช้าวันรุ่งขึ้น กล่าวคือวันเสาร์ ที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1958 และวันอาทิตย์จนถึงเที่ยงวันจันทร์ พระศพของพระสันตะปาปาตั้งไว้เปิดเผย บนที่สูงกลางพระมหาวิหารนักบุญเปโตร  เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าแสดงความคารวะ ประชาชนไหลมาเทมาตลอดเวลาราวกับกระแสน้ำ ตำรวจนับร้อยต่างทำงานหนักตลอดเวลา มีการกั้นเป็นตอนๆถึง 3-4 ตอนกว่าจะเข้าถึงประตูพระมหาวิหารได้ เข้าไปแล้วก็ผ่านไปอีกทางหนึ่ง ไม่มีการเดินสวนทางกัน กระนั้นก็ดียังไม่วายล้มป่วยกันเป็นจำนวนมากเนื่องจากการเบียดเสียดอัดแอกันในลานพระวิหาร เจ้าหน้าที่พยาบาลหน่วยเคลื่อนที่ ได้มากางกระโจมเตรียมพร้อมตลอดเวลา ณ ลานพระมหาวิหารนั่นเอง ในชั่วโมงหนึ่งๆ มีคนเข้าเยี่ยมพระศพในราว 4-5 หมื่น คน จนถึงนาทีสุดท้าย เมื่อประตูพระมหาวิหารปิด ประชาชนที่รอเวรเข้าเยี่ยมยังมีอยู่ล้นหลามในพระลาน เจ้าหน้าที่เครื่องกระจายเสียงประกาศขอแสดงความเสียใจ เนื่องจากได้กำหนดเวลาไว้แล้วสำหรับจารีตในตอนบ่าย
 
บ่ายวันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1958 เวลา 16.00 น. ทำพิธีฝังพระศพอย่างยืดยาว เนื่องจากประชาชนมากมายเหลือเกินจำต้องปิดประตูพระมหาวิหารทำกันเฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้ใกล้ชิดพระองค์เท่านั้น ใครมีเครื่องโทรทัศน์ก็นั่งดูอยู่ที่บ้านได้ตามสบาย แม้เข้าพระมหาวิหารไม่ได้ก็ยังมีคนมายืนออกันแน่นที่ลานพระมหาวิหารได้ยินแต่เสียงพิธีกรรมถ่ายทอดทางเครื่องกระจายเสียง เขานำพระองค์ไปเก็บรักษาไว้ใต้พระมหาวิหารนักบุญเปโตรในที่ๆเตรียมไว้สำหรับรับพระศพพระสันตะปาปา ตั้งแต่นั้นมาประชาชนหลั่งไหลกันทยอยกันเข้าเยี่ยมพระสุสานตอนนั้นไม่ขาดสาย ชีวิตของคนคนหนึ่งซึ่งมุ่งแต่จะทำความดีไว้กับมนุษย์ทั่วโลกได้ผ่านไปแล้ว แต่พระกิจการและคุณความดีของพระองค์จะยังผลต่อไปตราบฟ้าดินสลาย