องค์ที่ 261 สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์น ที่ 23 (Pope St. John XXIII ค.ศ. 1958-1963)

 
 
สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์น ที่ 23 
 
(Pope St. John XXIII ค.ศ. 1958-1963)
 
 
 
เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ทรงประกาศการบันทึกเป็นบุญราศีของสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23 ว่า “พระองค์ทรงเป็นบุคคลที่น่าทึ่งจริงๆ ทรงมีพระพักตร์ ที่ยิ้มแย้ม และทรงกางพระหัตถ์ทั้งสองเพื่อกอดมวลมนุษย์ไว้ในอ้อมพระกรของพระองค์”
 
พระคาร์ดินัลอังเชโล รอนคัลลี ผู้ถือกำเนิดจากแคว้นลอมบาร์ดีที่ห่างไกลความเจริญ ขณะที่มีอายุ 77 ปี ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา ค.ศ. 1958 นั้น ทุกคนคิดว่าจะทรงปฏิบัติ   พระภารกิจเพียง “ทางผ่าน” เท่านั้น เพราะขณะนั้นเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อเวลาผ่านไป พระองค์ได้ทรงพิสูจน์ให้โลกเห็นว่า ทรงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่มาสู่พระศาสนจักร เพื่อให้การประกาศพระวรสารสอดคล้องกับความเจริญทางวิชาการของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน
 
ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้แทนองค์พระสันตะปาปาที่ประเทศบัลแกเรียและตุรกี ระหว่าง ค.ศ.1925-1944 พระคาร์ดินัลรอนคัลลี ต้องปฏิบัติภารกิจในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร อย่างไรก็ตาม ท่านได้ใช้ปฏิภาณไหวพริบสร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และได้รับความนับถืออย่างสูงจากชาว ออร์โธด็อกซ์และเมื่อดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา พระองค์ได้ทรงเชิญพี่น้องคริสตชน ต่างนิกายและผู้สังเกตการณ์ต่างศาสนาเข้าร่วมประชุมพระสังคายนาสากลวาติกันที่ 2
 
สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23 อวยพรหลังจากได้รับเลือก
มหาชนรับพระพรพระสันตะปาปา หลังสมณาภิเษก
 
ในฐานะพระสงฆ์ผู้ช่วยพระสังฆราชแห่งแบร์กาเม ท่านได้ซึมซับวิธีการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์เป็นอย่างดี และเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครสมณทูตประจำประเทศฝรั่งเศสระหว่าง ค.ศ. 1944-1953 ท่านก็ตั้งใจรับฟัง และใช้ประสบการณ์ให้คำแนะนำแก่พระสงฆ์ แก้ปัญหาสังคมที่เป็นอยู่ในฝรั่งเศสขณะนั้น
 
พระสมณสาสน์ว่าด้วยคริสตศาสนาและความก้าวหน้าทางสังคม (Mater et magistra)  ของพระองค์ ค.ศ. 1961 เน้นเรื่องความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดของพระศาสนจักรกับทุกสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลก
 

สมเด็จพระสันตะปาปา อวยพรจากมุขเสด็จ หลังพิธีสมณาภิเษก
 
เมื่อเกิดปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ หลังสงครามโลกที่ 2 พระองค์ทรงออกพระสมณสาสน์สันติสุขบนแผ่นดิน (Pacem in Terris) ค.ศ. 1963 ซึ่งเป็นพระสมณสาสน์แรกถึงชาวคาทอลิกและ “มนุษย์ผู้มีความปรารถนาดีทุกคนในโลก” เพื่อให้ทุกคนทราบถึงพระประสงค์ของพระเจ้า ไม่ว่า ผู้นั้นจะมีความเชื่อหรือไม่ก็ตาม
 
สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23 ทรงประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจน เมื่อทรงเปิดประชุมพระสังคายนาสากลวาติกันที่ 2 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1962 ว่า “พระศาสนจักรจะต้องก้าวไปข้างหน้า ด้วยการแสดงให้เห็นคุณค่าที่แท้จริงในเรื่องข้อความเชื่อ แทนที่จะแสดงถึงสิ่งที่เป็นการให้ร้ายต่อกัน” 
 
น่าเสียดายที่พระองค์มิได้ทรงเป็น ผู้ปิดการประชุมสภาสังคายนาฯ เนื่องจากสวรรคตด้วยโรคมะเร็ง ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1963
 

พิธีสวมมงกุฎ
 
...บิดาผู้ใจดี
บุญราศีพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23  เดิมชื่ออันเยโล ยุเซปเป รอนคาลลี  เกิดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1881  ที่เมืองซอตโต  อิล มอนเต ประเทศอิตาลี  สิ้นพระชนม์ วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1963  พระองค์ทรงเป็นพระสันตะปาปาที่ประชาชนชื่นชม  มีสมัยปกครองระหว่าง ค.ศ. 1958-1963  ทรงเริ่มต้นยุคใหม่ ( New Era ) แห่งประวัติศาสตร์พระศาสนจักรโรมันคาทอลิก   ด้วยทรงเปิดกว้างต่อการเปลี่ยนแปลง เห็นได้ชัดเจนจากการเรียกประชุมสภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 ทรงเขียนพระสมณสาสน์หลายฉบับที่มีความสำคัญต่อสังคม ฉบับที่มีชื่อเสียงมากได้แก่ปาแชม อิน แตร์ริส (Pacem in Terris) หรือ  “สันติสุขบนแผ่นดิน” ( Peace on Earth )
 

สมัยเป็นสิบโท เสนารักษ์ 
ค.ศ. 1915
ชีวิตในวัยเด็ก อันเยโลเป็นบุตรคนที่ 4  ในจำนวนพี่น้องทั้ง 13 คน ของครอบครัวรอนคาลลี  โจนันนีผู้บิดาเป็นชาวนา เช่าที่นาในซอลโต อิล มอนเต เมืองเล็กๆห่างจากเมืองแบร์กาโม เพียง 11 กิโลเมตร ครอบครัวรอนคาลลีแม้จะค่อนข้างยากจน แต่พระองค์ตรัสอย่างชื่นชมว่า “พวกเรามีทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต ทุกคนแข็งแรงและมีสุขภาพดี”  แม้อันเยโลซึ่งเป็นบุตรชายคนโต จะสมัครเป็นสามเณรขณะอายุเพียง 11 ปี อันเยโลใช้เวลาระหว่างเปิดภาคเรียนที่บ้าน และใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัวเสมอ ไม่ว่าจะมีอำนาจมากเพียงใดในตำแหน่งหน้าที่รับผิดชอบที่สำคัญ พระองค์ไม่เคยให้ความช่วยเหลือสมาชิกคนใดในครอบครัว เพื่อให้เจริญก้าวหน้าในทางโลก ซึ่งใฝ่หาทรัพย์สินเงินทอง  พระองค์ได้เขียนจดหมายถึงน้องชายชื่อ ซาเวรีโอ เมื่อทรงได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาว่า “เกียรติยศยิ่งใหญ่ได้มาสู่ครอบครัวเราแล้ว”  และเตือนซาเวรีโอและพี่น้องคนอื่นๆ ให้ถ่อมตน อย่าแสวงหาเกียรติยศหรือความก้าวหน้าด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ข้อสำคัญอย่าได้ใช้ความเป็นญาติกับพระสันตะปาปาเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องเงินทอง ทรงให้เหตุผลว่า “เมื่อตายจากโลกนี้จะได้ภาคภูมิใจเช่นเดียวกับพระสันตะปาปาปีโอที่ 10 ซึ่งทรงเกิดมาจนและสิ้นพระชนม์อย่างยากจน” ในพินัยกรรมของพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23  พระองค์ทรงยกมรดกให้พี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่เพียง คนละไม่ถึง 20 เหรียญ หรือประมาณ 800 บาท  ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์โดยแท้จริง
 
แม้สามเณรรอนคาลลีไม่ได้จัดการว่าเป็นนักเรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ แต่ผลการเรียนอย่าในเกณฑ์ดีพอ ที่จะได้รับคัดเลือกให้เดินทางไปศึกษาวิชาเทววิทยาที่กรุงโรม ใน ปี ค.ศ. 1900 หลังจากอยู่กรุงโรมได้เพียงปีเดียว ก็ได้รับหมายเกณฑ์ทหาร รับใช้ประเทศในพื้นที่ที่ไม่ห่างจากเมืองแบร์กาโมนัก ขณะเป็นพระสงฆ์ คุณพ่อรอนคาลลีได้กลับมาเป็นทหารอีกครั้งระหว่างสงครามโลกครั้งที่1 ครั้งนี้อีกเช่นกัน คุณพ่ออันเยโลรอนคาลลี ได้ประจำการที่แบร์กาโม  ครั้งแรกในตำแหน่งจิตตาภิบาลโรงพยาบาล ต่อมาเป็นจิตตาภิบาลประจำกองทหารในยศร้อยโท
 
พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 บวชเป็นพระสงฆ์ที่กรุงโรม เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1904  ขณะอายุยังไม่ถึง 23 ปี  ถวายมิสซาแรกที่พระมหาวิหารนักบุญเปโตร หลังจากไปเยี่ยมครอบครัวที่บ้านเกิดในซอตโต อิล มอนเต  ก็ได้กลับไปยังสามเณราลัยโรมาโน (Seminario Romano)  เพื่อศึกษาต่อจนได้รับปริญญาเอก ด้านกฎหมายพระศาสนจักร (Canon Law)  
 
เมื่อจบการศึกษาจากกรุงโรม คุณพ่อรอนคาลลี เริ่มก้าวย่างแรก ที่ในหนทางมุ่งสู่ตำแหน่งพระสันตะปาปาในอีก 50 ปีต่อมา เนื่องจากเป็นพระสงฆ์ประจำสังฆมณฑลแบร์กาโม  จึงได้รับการขอร้องจากพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 10 ซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะนั้น ให้ช่วยในพิธีอภิเษกพระสังฆราชเกียอาโคโม ราดินี เตเดสกี  ผู้ได้รับมอบหมายให้ปกครองสังฆมณฑลแบร์กาโมหลังพิธีอภิเษก พระสังฆราชราติดินี รู้สึกถูกใจพระสงฆ์หนุ่มรอนคาลลี จึงขอให้คุณพ่อเป็นเลขานุการให้
 
ที่แบร์กาโม นอกจากหน้าที่เลขานุการพระสังฆราช คุณพ่อยังได้รับมอบหมายให้สอนที่สามเณราลัยของสังฆมณฑล นานถึง 9 ปีเต็ม  ในตำแหน่งอาจารย์วิชาเทววิทยาและเป็นคุณพ่อวิญญาณรักษ์ให้กับสามเณรที่เตรียมตัวเป็นพระสงฆ์ ในฐานะผู้ช่วยคนสำคัญของพระสังฆราช คุณพ่อรอนคาลลีได้รับประสบการณ์และเรียนรู้งานอภิบาลอย่างกว้างขวาง
 
คุณพ่อรอนคาลลีรู้สึกชื่นชมพระสังฆราชราดินีเตเดสกีอย่างยิ่ง ผู้ได้ชื่อว่ามีหัวคิดก้าว หน้าองค์หนึ่ง หลังจากที่ท่านถึงแก่มรณภาพ ใน ปี ค.ศ. 1914  คุณพ่อรอนคาลลีได้เขียนอัตชีว ประวัติของท่าน และส่งสำเนาให้กับพระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 15 เพื่อนรักของท่านสังฆราช ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำพระศาสนจักรในขณะนั้น
 
ภาวะหลังสงคราม พระสังฆราชรอนคาลลีได้รับใช้พระศาสนจักรในงานอภิบาลกว้างขวาง ในปี ค.ศ. 1920  พระสันตะปาปาเบเนดิก ที่ 15 ทรงแต่งตั้งท่านให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์กรอิตาเลียน เพื่อสนับสนุนบรรดาธรรมทูตต่างชาติตำแหน่งนี้ไม่สำคัญมากนัก แต่เป็นโอกาสที่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัวกับนักบวชอาวุโสทั่วทวีปยุโรป ชื่อของพระสังฆราชรอนคาลลี จึงเป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา นอกนั้นผลงานด้านประวัติศาสตร์ ช่วยสร้างชื่อเสียงแก่ท่านโดยเฉพาะการศึกษาประวัตินักบุญชาร์ลบอร์โรเมโอ พระคาร์ดินัลประจำเมืองมิลาน ผู้มีบทบาทสำคัญต่องานปฏิบัติรูปในศตวรรษ ที่ 16 งานค้นคว้านี้นำท่านให้ได้รู้จักกับมอนซิญอร์อาคลีเล รัตติ ชาวมิลาน ซึ่งเป็นผู้อำนวยการหอสมุดวาติกันขณะนั้น ผู้จะดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา   ปี โอ ที่ 11 ในเวลาต่อมา
 
งานด้านการทูตประจำสำนักวาติกัน พระสังฆราชรอนคาลลี  ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาประจำประเทศบัลกาเรีย ในเดือนมีนาคม ค.ศ.1925  เพื่อปฏิบัติตามธรรมเนียมท่านได้รับสถาปนาให้เป็นพระอัครสังฆราชก่อนเดินทางจากกรุงโรม ได้รับตำแหน่งใหม่ พระอัครสังฆราชรอนคาลลีอยู่ในตำแหน่งที่ยุ่งยากและสภาพสังคมที่เปราะบางนานถึง 10 ปีเต็ม ทำหน้าที่อภิบาลชุมชนคริสตชนคาทอลิกกลุ่มเล็กๆ  ที่อาศัยร่วมกับคริสตชนออร์โธดอกซ์แห่งพระศาสนจักรตะวันออก จากบันทึกส่วนตัวพบว่าหลายครั้งพระสังฆราชรอนคาลลีรู้สึกท้อแท้ และโดดเดี่ยวขณะรับผิดชอบหน้าที่ ที่ประเทศบัลกาเรียนี้ แต่ก็อภิบาลงานด้วย ปฏิภาณที่ดี อดทน และด้วยอารมณ์ขัน อันเป็นลักษณะนิสัยที่โดดเด่น กระนั้นพระสังฆราชรอนคาลลีก็ยังไม่ได้เป็นหนึ่งในบรรดานักบวชอาวุโสสำคัญๆ นั่นเอง
 
หน้าที่ที่ได้รับมอบหมายต่อมาไม่สู้จะจะเจริญก้าวหน้านัก ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาประจำประเทศกรีซ และประเทศตุรกีพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับชุมชม คาทอลิกใน 2 ประเทศนี้ เป็นกลุ่มเล็กๆ อาศัยร่วมกับคริสตชนออร์โธดอกซ์ในกรีซและคริสตชนมุสลิมในตุรกี พระอัครสังฆราชรอนคาลลีพักที่เมืองอัสตันบูล ซึ่งก็ไม่ได้รับความใส่ใจจากทั้งรัฐบาลประเทศตุรกีและสำนักวาติกันเท่าใดนัก แต่ได้รับความชื่นชมจากผู้ที่รู้จักท่าน เพราะมิตรภาพที่ดี  

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ทรงต้อนรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ พระราชวังวาติกัน
 วันที่ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1960
 
ตำแหน่งผู้แทนพระสันตะปาปาประจำบัลกาเรีย กรีซและตุรกี ดูเหมือนจะเป็นความก้าว หน้าสูงสุดในตำแหน่งหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมาย แต่แล้วพระอัครสังฆราชรอนคาลลีรู้สึกงุนงง เมื่อท่านได้รับแจ้งทางโทรเลข แต่งตั้งท่านเป็นผู้แทนพระสันตะปาปาในประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1944  ทันทีที่ทราบข่าวนี้ท่านคิดว่าคงเกิดความผิดพลาดอย่างแน่นอน
 
ตำแหน่งผู้แทนพระสันตะปาปาประจำประเทศฝรั่งเศส มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งในขณะนั้น มอนซิญอร์วาเลอริโอ สมณทูตองค์ก่อน สนิทสนมกับนายพลฟิลลิป เปแตง ระหว่างการครอบครองของชาวเยอรมัน ประธานาธิบดี เดอ โกล แห่งประเทศฝรั่งเศส ร้องขอต่อสำนักวาติกันให้เปลี่ยนตัวสมณทูตในทันที เมื่อเกิดภาวะคับขัน ผู้ใหญ่ในสำนักวาติกันเชื่อว่าพระอัครสังฆราชรอนคาลลีคงจะเหมาะสมกับตำแหน่งนี้อย่างแน่นอน พระอัครสังฆราชรอนคาลลีได้รับการชี้แจงว่า ท่านได้รับมอบหมายให้ปรับเปลี่ยนบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรในขณะนั้น ให้สงบเย็นสร้างพระศาสนจักรที่เป็นอิสระ และประสานเพื่อให้สามเณรชาวเยอรมันจำนวนหนึ่งที่ถูกคุมขังระหว่างสงครามให้ได้รับการปลดปล่อย ทั้งยังมีหน้าที่ประนีประนอมกับนักบวชชาวฝรั่งเศส    หัวรุนแรง ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักวาติกันเห็นว่าเป็นกลุ่มที่สร้างความรำคาญใจอย่างยิ่ง 
 
ความสำเร็จในงานที่ได้รับมอบหมายเป็นที่พอพระทัยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12  จึงทรงสถาปนาพระอัครสังฆราชรอนคาลลี ให้เป็นพระคาร์ดินัล ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1953   โดยมีนายแวงซองต์ ออร์ริโอ ประธานาธิบดีจากพรรคสังคมนิยมเป็นผู้ถวายหมวกแดงแด่พระคาร์ดินัลรอนคาลลี
 

พระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23  เป็นศิลปกรรมชิ้นเอกของ ม.การ์ช ชาวแคนาดา
 
พระคาร์ดินัลรอนคาลลี มีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับตำแหน่งสูงสุดของคณะพระสังฆ ราชชาวอิตาลี ขณะอายุได้ 71 ปี ท่านรอนคาลลีได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งพระอัยกาประจำเมืองเวนิส เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ท่านมั่นใจว่าจะเป็นตำแหน่งที่สูงสุดในฐานันดรศักดิ์สงฆ์อย่างแน่นอน ด้วยเหตุนี้ไม่มีใครจะประหลาดใจได้มากไปกว่าว่าพระคาร์ดินัลรอนคาลลีเอง เพราะเมื่อพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 สิ้นพระชนม์ในวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1958 ท่านก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปาในการลงคะแนนลับ ครั้งที่ 11
 
ลังพิธีอภิเษก พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ทรงประกาศว่าทรงปรารถนาจะเรียกประชุมสภาสังคายนาสากล ความคิดนี้เกิดขึ้นกับพระองค์อย่างฉับพลัน ทรงประสงค์จะ “นำพระศาสนจักรให้ทันสมัย”  ทรงเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรก หลังจากการปฏิรูปที่มีความเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่พระศาสนจักรคาทอลิกควรได้รับการฟื้นฟูให้มีชีวิตชีวาอีกครั้งหนึ่ง
 
งานพระสังคายนา ซึ่งเป็นงานชิ้นเอกในสมณสมัย
 
จากประวัติศาสตร์พระศาสนจักร ทุกยุคทุกสมัยพบว่าสภาสังคายนามักก็ให้เกิดความระส่ำระสายและความสับสนในพระศาสนจักร ความคิดเห็นของพระองค์จึงได้รับการตอบ สนองอย่างเย็นชาจากเจ้าหน้าที่บริหารสำนักวาติกัน ที่มีแนวความคิดอนุรักษ์นิยมให้เหคุผลว่า ตลอดสมัยปกครองของพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 พระศาสนจักรเจริญรุ่งเรืองจึงไม่มีเหตุผลสมควรที่จะมีการเปลี่ยนแปลง พระคาร์ดินัลบางองค์ที่มีอิทธิพลในสำนักวาติกัน พยายามทุกวิถีทางเพื่อทำให้สังคายนาล่าช้า โดยหวังว่าเมื่อพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ผู้สูงอายุพ้นจากตำแหน่ง โครงการนี้จะได้ยกเลิกไปอย่างเงียบๆ แต่พระองค์ทรงผลักดันและยังมีชีวิตยืนยาวพอดีที่จะเป็นประธานเปิดสมัยประชุมแรกของสภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 ได้ในฤดูฝนของปี ค.ศ. 1962
 
สภาสังคายนามุ่งมั่นเพื่อให้เกิดเอกภาพท่ามกลางคริสตชนทั่วไป เพื่อขจัดความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรในอดีต และความรับผิดชอบต่อเรื่องโจษจันเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในความแตกแยกของคริสตชน จากประสบการณ์ของพระองค์ในดินแดนพระศาสนจักรออร์โธดอกซ์ตะวันออก ทรงเชื้อเชิญผู้นำพระศาสนจักรออร์โธดอกซ์ โปรเตสแตนต์ และแองกลีกันให้ร่วมสังเกตุการณ์ในการประชุมสภาสังคายนาวาติกันด้วย
 
พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ทรงเดินทางไปทั่วกรุงโรมอย่างอิสระ ทรงยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัติที่พระสันตะปาปาจะต้องอยู่เฉพาะในสำนักวาติกันเท่านั้น จนมีคำกล่าวว่าพระสันตะ ปาปา คือ  “นักโทษของสำนักวาติกัน”  เพื่อหลีกเลี่ยงการมองว่าสำนักพระสันตะปาปาเป็นภาพลักษณะทางการเมือง จึงทรงพยายามลดบทบาทของ  “นักปกครอง”  (Ruler) แห่งสำนักวาติกัน และเน้นย้ำการเป็น  “ข้ารับใช้ของผู้รับใช้พระเป็นเจ้า”  (Servant of  the  Servants of  God) ซึ่งเป็นความหมายตามขนมธรรมเนียมดั้งเดิมของพระสันตะปาปาที่แท้จริง เพื่อแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม พระองค์เสด็จเยือนประธานาธิบดีอิตาลี และต้อนรับลูกเขยของนายกรัฐมนตรีนิคาติ ครูสชอฟ แห่งสหภาพโซเซียต  นอกจากนี้ยังทรงเยี่ยมคำนับพระอัครสังฆราชแห่งกรุงแคนเทอร์เบอร์รี เป็นการพบครั้งแรกหลังจากศตวรรษที่ 14 ทรงต้อนรับผู้นำพระศาสนจักรเคิร์ก ในประเทศสก็อตแลนด์ (Scottish Kirk)  และผู้นำศาสนาชินโต (Shinto)  ลัทธิความเชื่อศรัทธาของชาวญี่ปุ่น นับเป็นประวัติศาสตร์ของการรับรองอย่างเป็นทางการ ณ สำนักวาติกัน
 
ระหว่างเกิดวิกฤตการณ์ขีปนาวุธของคิวบา ใน ค.ศ. 1962 พระองค์ทรงรับอาสาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกา และสภาพโซเวียตและได้รับความพึงพอใจจากคู่กรณีอย่างดี พระสมณสาสน์  “ปาแชม อิน  แตร์ริส”  หรือ  “สันติสุขบนแผ่นดิน”  มีเสียงตอบรับอย่างอบอุ่นจากทั่วโลกทั้งในกลุ่มนักการเมืองและนักบวช ภาษาที่ใช้ในพระสมณสาสน์ฉบับนี้หลีกเลี่ยงการใช้ภาษาการทูต แต่นำเสนออย่างตรงไปตรงมา ถึงข้อเรียกร้องที่จำเป็นเพื่อสร้างสันติภาพแก่โลกและความรอดของมนุษยชาติ
 
 
 
พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23  ตรัสแก่นักโทษว่า  “เมื่อพวกลูกไม่สามารถมาพบพ่อได้  พ่อจะไปเยี่ยมลูกๆ เอง"
 
ไม่มีเครื่องหมายใดบ่งบอกชัดว่า อันเยโล ยูเซปเป รอนคาลลี จะก้าวสู่ฐานันดรศักดิ์สูงสุดถึงตำแหน่งพระสันตะปาปา การลงคะแนนลับเพื่อเลือกตั้งพระสันตะปาปาของคณะ  พระคาร์ดินัลในเดือนตุลาคม ค.ศ.1958  เป็นไปด้วยเหตุผลว่า สิ่งที่พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12  ทรงวางรากฐานไว้มีความสมบูรณ์และจะสามารถใช้บริหารงานพระศาสนจักรได้อีกนานถึงหนึ่งศตวรรษ ดังนั้นการที่พระคาร์ดินัลรอนคาลลี ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23  จึงมุ่งหมายเพียงให้พระองค์รักษาการณ์ในตำแหน่งเป็นการชั่วคราว ขณะเดียวกันก็มองหาผู้มีคุณสมบัติเทียบเท่าพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12  ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประทับใจคณะพระคาร์ดินัล กอปรกับวัยวุฒิที่เหมาะสมอีกด้วย
 
พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6  ผู้ดำรงตำแหน่งต่อจากพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23  เคยดำเนินขั้นตอนขอสถาปนาพระองค์ให้เป็นนักบุญ และหากประเพณีดั้งเดิมที่พิจารณาแต่งตั้งนักบุญยังคงมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.1963  พระองค์ก็คงได้รับการสถาปนาเป็นนักบุญแล้ว อย่างไรก็ตาม น้ำตาที่ประชาชนหลั่งอย่างท่วมท้นในพิธีปลงพระศพ เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ ณ ลานพระมหาวิหารนักบุญเปโตรนั้น ยิ่งใหญ่จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นนิมิตหมายสำคัญแห่งการประกาศเป็นนักบุญของพระองค์ทีเดียว
 
ในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2000  พระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2  ทรงสถาปนาพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23  ให้เป็นบุญราศี พร้อมกับพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 9  ณ พระมหาวิหารนักบุญเปโตร นำความปลาบปลื้มแก่คริสต์ศาสนิกชนทั่วโลก
 
การสถาปนาพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23  เป็นบุญราศี เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2000  ปี “ปีติมหาการุญ” ณ มหาวิการนักบุญเปโตร กรุงโรม  นำความปิติยินดี และความสมหวังเป็นอย่างยิ่งมาสู่คริสตชนทั้งโลก
 
การสถาปนาเป็นบุญราศีของพระองค์ท่านครั้งนี้ พระศาสนจักรมีเพียงต้องการประกาศ และยืนยันถึงชีวิตงดงามแห่งความเชื่อ และความศรัทธาภักดีต่อพระเป็นเจ้า และต่อพระศาสน  จักรอย่างแท้จริงและลึกซึ้งของพระองค์เท่านั้น แต่ยังต้องการเน้นถึงความปรีชาฉลาด ความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวความอดทนและความเสียสละอันยิ่งใหญ่ของพระสันตะปาปาพระองค์นี้ที่ทรงมีต่อพระศาสนจักรและต่อมวลมนุษย์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ทุกคนอีกด้วย
 
ดังนั้นจึงสามารถอาจกล่าวว่า  “พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23”  คือ  “บุรุษผู้ชอบธรรม”  (Vir Justus)  และ  “บิดาผู้ใจดี”   (Bonus   Pater)
 
พระสันตะปาปายอห์นที่ 23  เสด็จมาถวายมิสซา ที่วิทยาลัย
โปรปากันดา ฟีเด กรุงโรม อิตาลี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1962
ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระพรรษาของพระองค์ คนที่ 2 จากซ้ายมือพระสันตะปาปา คือ
สามเณรยอแซฟ สังวาลย์ ศุระศรางค์ (พระสังฆราช) 
ซึ่งจะรับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1962
ได้มีโอกาสร่วมมิสซาในวันนี้ด้วย
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่  23 โปรดเกล้าฯให้คณะพระสังฆราชคาทอลิกจากประเทศไทย
ที่ไปร่วมประชุมสังคายนาวาติกัน ครั้งที่  2 ที่กรุงโรมเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์
วันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1962 
(ในภาพซ้าย) พระสังฆราชลูเซียง ลากอสต์
พระสังฆราชฟรังซิสเซเวียร์ สงวน สุวรรณศรี, พระสันตะปาปายอห์นที่ 23,
 พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเยต์, พระสังฆราชเปโตร คาแร็ตโต
 และพระสังฆราชมีคาแอล เกี้ยน เสมอพิทักษ์
 
พระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ต้อนรับพระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต
โอกาสนำสามเณรไทยเข้าเฝ้าประมาณ ค.ศ. 1958-59
(จากซ้าย) สามเณรวงศ์สวัสดิ์ แก้วเสนีย์, (คุณพ่อ) บิดาพระสังฆราชคาเร็ตโต
พระสันตะปาปายอห์นที่ 23 , พระสังฆราชเปโตร คาเร็ตโต,
สามเณรศักดิ์ ผลวารินทร์ และสามเณรเอกทับปิง (พระสังฆราช)
 
การสูญเสียที่ยิ่งใหญ่
หนังสือพิมพ์รายวันในกรุงวอชิงตันประจำวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ.1963 ได้พาดหัวข่าวด้วยคำพูดข้างต้น การที่พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23   สิ้นพระชนม์เปรียบดังการสูญเสียผู้นำครอบครัว พระคาร์ดินัล  ซูเนนส์กล่าวคำสรรเสริญพระองค์ว่า “ชาวโลกไม่เคยรู้สึกเป็นทุกข์ต่อการประชวรที่ทนมานมากเท่านี้มาก่อน”
 
และเป็นเช่นนั้นจริงในประเทศฝรั่งเศส การสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาลงข่าวเต็มหน้าแรกของหนังสือพิมพ์ “ลูแมนิเต”  ของพรรคคอมมิวนิสต์ในประเทศอังกฤษและเบลฟาสต์  แม้จะยังมีข้อขัดแย้งกับคริสตชนโปรเตสแตนต์ในไอร์แลนด์เหนือธงประจำชาติสหราชอาณาจักรอังกฤษเหนืออาคารที่ทำการรัฐบาลลดลงครึ่งเสา
 
ระยะ 2-3 สัปดาห์ก่อนสิ้นพระชนม์ พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23 ตรัสแก่ประชาชนที่มาเฝ้าหน้าพระมหาวิหารนักบุญเปโตรว่า “ทุกๆ วัน เป็นวันดีที่จะเกิดและทุกวันก็ดีสำหรับจะตายเช่นกัน ข้าพเจ้าตระหนักดีถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าชื่อมั่น”พราะคาร์ดินัลซูเนนส์แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า “พระองค์สิ้นพระชนม์ อย่างสงบ  ราวกับเด็กเล็กๆ ที่กลับบ้านเพราะรู้ว่าบิดากำลังยืนอ้าแขนรอต้อนรับอยู่”
 

พระบรมศพสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23  ประดิษฐานอยู่ในพระมหาวิหารนักบุญเปโตร
 
คุณลักษณะที่น่ารักของการเป็นผู้ไม่เคยให้ความสำคัญของพระองค์เอง ของพระสันตะ ปาปา ยอห์น ที่ 23  พระคาร์ดินัลซูเนนส์กล่าวว่า  “ทรงไม่ถือพระองค์  คุณสมบัติข้อนี้ทำให้ทรงเป็นกันเองและยังมีอารมณ์ขัน
 
เมื่อพูดถึงสภาสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2  ซึ่ง พระสันตะปาป ยอห์น ที่ 23  ทรงมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ พระคาร์ดินัลซูซูเนนส์จำได้ดีถึงคำพูดของพระองค์ว่า  “เราทุกคนต่างเป็นผู้ฝึกหัดในการจัดสภาสังคายนา องค์พระจิตเจ้าจะสถิตท่ามกลางการชุมนุมของพระสังฆราช  แล้วพวกเราจะได้เห็นว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ”  
 
ประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ว่า  สิ่งที่พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23  ทรงทำเพื่อพระศาสนจักรระหว่างศตวรรษที่ 20  ของสมัยปกครองของพระองค์มีความคล้ายคลึงกับที่พระสันตะปาปาเลโอ ที่ 1 (มหาสมณะ) ที่ 5 พระสันตะปาปาเกรโกรี่ ที่ 1  (มหาสมณะ) แห่งศตวรรษ ที่ 7   หรือพระสันตะปาปาเกรโกรี ที่ 7 แห่งศตวรรษที่ 11  ได้ร่วมสร้างพระศาสนจักรในศตวรรษของพระสันตะปาปาแต่ละพระองค์ สำคัญกว่าสิ่งอื่นใดพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23  ทรงปรารถนาจะนำชีวิตชีวามาสู่พระศาสนจักรเช่นที่ชุมชนคริสตศาสนิกชนในสมัยต้นได้ก่อตั้งขึ้นโดยพระเยซูเจ้าและสืบผ่านนักบุญเปาโล ผู้เป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกแห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก”
 
ในวันสมโภชพระจิตเจ้าพระองค์ตื่นจากบรรทมและถามถึงเวลา  เมื่อทรงทราบว่าเป็นเวลาเที่ยงวัน ทรงจ้องที่หน้าต่าง  ซึ่งท่านเคยปรากฏพระองค์แก่ประชาชนที่มาเฝ้า ณ ลานหน้าพระมหาวิหารนักบุญเปโตร  เพื่อสวดภาวนาบทเทวทูตถือสารพร้อมๆ กัน เมื่อทรงเห็นซาวีรีโอ หลายชายยืนอยู่ปลายที่บรรทม ทรงตรัสด้วยน้ำเสียงอ่อนโยนว่า  “อย่ายืนบังไม้กางเขน”
 

แห่พระศพเข้าพระมหาวิหารนักบุญเปโตร
 
เวลา 9 โมง เช้าวันจันทร์  ที่ 3 มิถุนายน  พระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23  ทรงตื่นจากบรรทมและตรัสซ้ำกัน 2 ครั้ง  ถึงคำพูดที่นักบุญเปโตรทูลพระเยซูเจ้าว่า “พระองค์ทรงทราบว่า ข้าพเจ้ารักพระองค์” (ยน.21:15) และค่ำวันนั้นพระคาร์ดินัลลุยจี ทราเกลัย  ผู้แทนพระสังฆราช ของสังฆมณฑลโรม ได้ถวายมิสซา  “สำหรับผู้ป่วย”  ณ ลานพระมหาวิหารนักบุญเปโตร  เวลา 19.45 น.  ผู้ที่อยู่ข้างที่บรรทมพระสันตะปาปา ได้ยินเสียงพระคาร์ดินัลลุยจีกล่าวจบมิสซา  ดุจเครื่องหมายเตือนเสียงลมหายใจที่เหนื่อยล้าและอ่อนแรงของพระสันตะปาปาหยุดลงเช่นกัน
 
หลังจากสวดภาวนา 2-3 บท  หน้าต่างห้องพักพระสันตะปาปาเปิดอออก แสงไฟสาดส่องบริเวณลานหน้าพระมหาวิหาร ทันใดนั้นเอง ประชาชนหลายพันคนที่บริเวณลาน ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปา ยอห์น ที่ 23  พร้อมๆ กับชาวโลกในเวลาเพียงไม่กี่นาที
 
เด็กชนบทจากเมืองซอตโต อิล มอนเต  ได้เดินทางคืนสู่ถิ่นกำเนิดของตนแล้ว
 
สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงเป็นประธานในมิสซาสถาปนานักบุญยอห์น ที่ 23 และ นักบุญยอห์น ปอล ที่ 2  ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร  วาติกัน วันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2014