องค์ที่ 262 สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญเปาโล ที่ 6 (Pope St. Paul VI ค.ศ. 1963-1978)

 

สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญเปาโล ที่ 6

(Pope St. Paul VI ค.ศ. 1963-1978)

ประมวลภาพ สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญเปาโล ที่ 6

สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6  ทรงพระนามเดิมว่า ยวง บัปติสตามอนตินี ทรงสมภพเมื่อวันที่ 26 กันยายน ค.ศ. 1897  ที่ คอนเชซีโอ ตำบลเล็กๆ ทางเหนือของอิตาลี ทรงรับศีลล้างบาปวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1897 ที่วัดประจำตำบล
 

 บิดา ชื่อ ยอร์ช มอนตีนี

 
มารดา ชื่อ ยูดิท

 
บิดาของท่าน ชื่อ ยอร์ช มอนตีนีเป็นคาทอลิกชั้นนำในด้านสังคม เป็นหัวหน้ากิจการคาทอลิกในเมืองนั้นมีอาชีพเป็นทนายความ, ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์คาทอลิกประจำวัน  ที่เบรเชีย, เป็นผู้ร่วมมือในการจัดตั้งสำนักพิมพ์ และวารสารคาทอลิกหลายแห่ง ส่วนมารดา ชื่อยูดิท เป็นบุคคลตัวอย่างแก่มารดา คริสตังค์ เป็นฆราวาสแพร่ธรรม ประธานกิจการคาทอลิกสตรีแห่งเบรเชีย  มีพี่ชายชื่อหลุยส์ เป็นทนายความและผู้แทนรัฐสภา และมีน้องชายชื่อ ฟรังซิส เป็นแพทย์อยู่ที่เมืองเบรเชีย
 

ทรงฉายร่วมกับน้องชายทั้งสอง

ยวง บัปติสตา มอนตินี ได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกที่วัดภคินี คณะพระกุมารีมารีอา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ.1907 และได้รับศีลกำลังวันที่ 21 มิถุนายน ปีเดียวกัน ที่วัดประจำโรงเรียน “เซซาร์ อารีชี” ของคณะเยสุอิต ท่านได้รับการศึกษาขั้นต้น เนื่องจากสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง จึงไม่สามารถศึกษาชั้นเตรียมอุดมในโรงเรียนแห่งนี้ได้ จำต้องลาไปศึกษาส่วนตัวที่บ้าน และสมัครสอบได้ประกาศนียบัตรปี ค.ศ. 1916 
 
ปี ค.ศ.1917 สมัครเข้าสามเณราลัย  ประเภทไปกลับ ที่เบรเชียวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ.1917 ได้รับพิธีโกน และ บวชเป็นพระสงฆ์ วันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1920  ณ วัดพระสังฆราชที่เบรเซีย สอบได้ปริญญากฎหมายพระศาสนจักร ในปีเดียวกันที่เมืองมิลาน  วันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 พระสังฆราชส่งไปอยู่ที่ สามเณราลัย ลอมบารโค ณ กรุงโรม เพื่อศึกษาปรัชญา ที่สมณมหาวิทยาลัยเกรโกเรียน  และขณะเดียวกันก็ศึกษาอักษรศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยกรุงโรมด้วย ปีต่อมา เข้าศึกษาต่อในสมณเนติบัณฑิตยสถาน
 
เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1923 ได้รับการแต่งตั้งให้ไปอยู่ประจำสถานเอกอัครสมณทูตที่วอร์ซอ  ประเทศโปแลนด์ ปลายปีเดียวกัน กลับมาศึกษาต่อในสมณเนติบัณฑิตยสถานที่โรมและได้รับแต่งตั้งเป็นเสมียนตราประจำสำนักงานเลขาธิการแห่งรัฐวาติกันในเดือนเมษายน ค.ศ. 1925
 
ปลายปี ค.ศ.1929 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 1 ทรงแต่งตั้งให้เป็นจิตตาธิการประจำสหพันธ์นักศึกษาคาทอลิกอิตาเลียน ซึ่งมีนามย่อว่า  FUCI จน ถึงวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1933  สมเด็จพระสันตะปาปาทรงอนุมัติให้ลาออกจากตำแหน่งนี้ เนื่องจากมีงานล้นมือในสำนักเลขาธิการรัฐวาติกัน
 
ปลายปี ค.ศ. 1937 เป็นรองเลขาธิการ ประจำสำนักเลขาธิการดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นพระคาร์ดินัลปาแชลลี (สมเด็จพระสันตาปาปาปีโอที่ 12 ในอนาคต) กำลังดำรงตำแหน่งเลขาธิการอยู่ ปี ค.ศ. 1944 พระคาร์ดินัล มัลลีโอเน ผู้สืบตำแหน่งพระคาร์ดินัลปาแชลลี ถึงแก่มรณภาพ สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12  จึงทรงแต่งตั้งให้มอนสิญอร์ มอนดีนี  รักษาการแทน พร้อมกับมอนสิญอร์ ดาร์ดีนี 
 
ตราขณะดำรงตำแหน่งพระคาร์ดินัล
 
วันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1953  สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 12 ทรงประกาศในคำปราศรัยตั้งพระคาร์ดินัลว่า พระองค์ทรงปรารถนาจะตั้งมอนสิญอร์ มอนคีนี และตาร์ดีนี เป็นพระคาร์ดินัล แต่ท่านทั้งสองได้ขอปฏิเสธ  และ ในวัน ที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ.1954 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราชแห่งเมืองมิลาน รับพิธีอภิเษกวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1954 และในปี ค.ศ. 1957 สมเด็จพระสันตะปาปา ยวง ที่ 23 ทรงแต่งตั้งท่านเป็นพระคาร์ดินัล
 
สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงมีพระสรีรรูปสูงโปร่ง คิ้วหนา ดวงพระเนตรคมคายลึกเข้าไป ทอดพระเนตรใครคล้ายกับเห็นทะลุปรุโปร่งถึงดวงใจ เป็นผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ทั้งด้านสติปัญญาและการงานต่างๆ  เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1958 แม้ว่ามอนสิญอร์ มอนดีนี ยังมิได้เป็นพระคาร์ดินัล แต่ความสามารถรอบรู้ทางปัญญาและการงาน  รวมทั้งคุณสมบัติฝ่ายสงฆ์ของท่าน ทำให้มีเสียงเล่าลือกันว่า ท่านจะได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา...
 
ระหว่างทรงปกครองอัครสังฆมณฑลมิลาน ทรงติดต่อกับประชาชนทุกชั้นสนพระทัยต่อพวกกรรมกรเป็นพิเศษจนได้รับสมณาว่า  “พระสังฆราชของกรรมกร” ทรงเอาพระทัยใส่วิญญาณที่ห่างไกลจากวัด เช่น เมื่อปลายปี ค.ศ. 1957ทรงจัดให้มีการเข้าเงียบครั้งใหญ่ สำหรับสัตบุรุษทั่วไปที่มิลาน ทรงเกณฑ์นักเทศน์มากกว่า 1,000 องค์ และได้รับความร่วมมือจากพระสังฆราชราว 20 และพระคาร์ดินัล 2 องค์
 
เมื่อทรงทราบข่าวพระอาการประชวร เพียบของสมเด็จพระสันตะปาปา ยวง ที่ 23 พระคาร์ดินัล มอนดีนี รีบมากรุงโรม พร้อมกับน้องชาย 3 คน และ น้องสาวของสมเด็จพระสันตะปาปา ยวง ที่ 23  ทรงดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ขอบพระคุณพระคาร์ดินัลที่มาเยี่ยม และก่อนจะจากกันทรงฝากพระศาสนจักร และพระสังคายนาวาติกันไว้แก่พระคาร์ดินัลองค์นี้
 
...แต่พอได้รับเลือก สมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 6 ก็ทรงแสดงให้เห็นว่า ทรงพอพระทัยปฏิบัติตามแบบอย่างของยวงที่ 23 ผู้ล่วงลับไปแล้วเมื่อทรง อำนวยพระพร “แก่กรุงโรมและโลก” (Urbi et orbi) แก่มหาชนในลาน ทันทีหลังจากได้รับเลือกตั้ง ทรงใช้สูตรยืดยาวตามประเพณีสำหรับพระสันตะ ปาปา) การประกาศให้พระการุญบริบูรณ์สำหรับพระพร  Urbi et orbi ก็ประกาศเป็นภาษาอิตาเลียน (แทนภาษาลาติน)   ในการเสวยพระกระยาหาร หลังจากการเลือกตั้งเวลา 13.00 น. ก็ประทับอยู่ ณ ที่เดิม แทนที่จะประทับหัวโต๊ะ ทรงประกาศให้พระคาร์ดินัลชีโกญานี และมอนสิญอร์  อัลเยโลแดล ลากวา เป็นเลขาธิการ และรองเลขาธิการแห่งรัฐวาติกันสืบต่อไป หลังจากทรงรับเลือกตั้งเพียงวันเดียวก็เสด็จโดยรถยนต์ออกจากวาติกัน   ไปเยี่ยมพระคาร์ดินัลสเปนองค์หนึ่ง ซึ่งอาพาธอยู่ที่วิทยาลัยสเปนในกรุงโรม
 
สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6
 
สมเด็จพระสันตะปาปาใหม่มิได้ทรงให้เหตุผลว่าทำไมจึงทรงเลือกพระนาม “เปาโล” แต่ส่วนใหญ่คาดว่าพระองค์ปรารถนาดำเนินตามจิตตารมณ์ของ นักบุญเปาโล ผู้ได้ชื่อว่า “อัครสาวกแห่งชนต่างศาสนา” และ “Omnia omnibus factus sum” คือ “เป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน” แน่นอนสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงมั่นหมายพระทัยจะรวบรวมมวลมนุษย์ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้พระราชัยของพระคริสตเจ้า
 
พระองค์ทรงเข้มแข็งและทรงมีประสบการณ์มากทั้งด้านการปกครองสัตบุรุษเพราะทรงเป็นอัครสังฆราชที่มิลาน เมืองอุตสาหกรรมทางเหนือของอิตาลี ถึง 8 ปีครึ่ง ส่วนในด้านติดต่อกับต่างประเทศ ก็ทรงดำรงตำแหน่งในสำนักเลขาธิการ แห่งรัฐวาติกันถึง 25 ปี ขอทรงพระเจริญพิธีสมณาภิเษก
 
พิธีอันยิ่งใหญ่มโหฬารนี้ กระทำที่ลานกลางแจ้ง หน้าพระมหาวิหารนักบุญเปโตร เมื่อเวลา 18.00 น. วันอาทิตย์ที่ 30 มิถุนายน ท่ามกลางมหาชนราว 250,000 คน ผู้แทนจากประเทศต่างๆ 90 ประเทศ และประมุขประเทศต่างๆ 5 ประเทศ คือ พระมหากษัตริย์ และพระราชินีแห่งเบลเยี่ยม ประธานาธิบดีแห่งบราซิล, ไอร์แลนด์, อิตาลี และผู้สำเร็จราชการแห่งซานมารีโน อากาศวันนั้นอบอ้าว มหาชนต้องใช้หนังสือพิมพ์พัด และสมเด็จพระสันตะปาปาเอง ทรงเช็ดพระพักตร์หลายครั้ง
 
ที่ต้องกระทำพิธีกลางแจ้ง เนื่องจากเนื้อที่ส่วนใหญ่ภายในพระมหาวิหารจัดเป็นที่ประชุมสังคายนาสากล... พิธีครั้งนี้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงตัดทอนให้เหลือเพียง 3 ชั่วโมง (สมณพิธีตามประเพณียาวราว 5 ชั่วโมง) ดังนั้น เริ่มพิธี เวลา 18.00 น. ขณะที่ยังสว่างอยู่ จึงเสร็จ เวลา 21.00 น.  ซึ่งที่โรม พอดีพลบค่ำ
 
สมเด็จพระสันตะปาปาประทับคานหาม Sedia Gestatoria มาถึงที่กระทำพิธี เวลา18.00 น. ทรงถวายมิสซามโหฬาร เมื่อสวดที่เชิงพระแท่นและเสกพระแท่นแล้ว พระองค์เสด็จขึ้นประทับบนพระสมณอาสน์ รับคารวะจากบรรดาพระคาร์ดินัล, อัครสังฆราช, สังฆราช, อธิการฤษีและพระสงฆ์ประจำพระมหาวิหาร พิธีสวมไตรมงกุฎกระทำหลังมิสซาแล้ว โดยมีพระคาร์ดินัลอ๊อตตาเวียนี เป็นผู้สวม
 
หลังพิธี ทรงปราศรัยสั้นๆเป็นภาษาต่างๆ 9 ภาษา เริ่มด้วยภาษาลาติน, อิตาเลียน, ฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมัน, สเปน, โปรตุเกส, โปแลนด์ และรัสเซีย ทรงขอร้องให้ชาวโลกสมัครสมานกันรักษาสันติภาพ และให้ปฏิบัติคุณธรรมคริสตังค์ ในโลกเทคนิคยุคปัจจุบัน ต่อจากนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาทรง อำนวยพระพรและประทานพระการุณย์บริบูรณ์ แล้วเสด็จกลับพระราชวัง

ไตรมงกุฎ
 
ไตรมงกุฎที่ใช้ในพิธีครั้งนี้ สัตบุรุษชาวเมืองมิลานได้ช่วยกันบริจาคจัดทำขึ้นถวาย เป็นมงกุฎทำด้วยเงิน ประดับด้วยเพชร และพลอยส่วนดอกไม้ที่ตรา ของพระองค์เป็นทองคำ นอกจากนี้สัตบุรุษเหล่านี้ ยังช่วยกันบริจาคสร้างวัดใหม่ 1 หลัง ถวายสมเด็จพระสันตะปาปาด้วย
 
เพื่อให้บรรดาผู้ตกทุกข์ได้ยากได้มีส่วนในความยินดีของพระศาสนจักรคาทอลิกทั่วโลก สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ได้ทรงจัดเลี้ยงอาหารเที่ยงในวันอาทิตย์แก่ผู้ถูกคุมขังในเรือนจำทุกแห่งทั่วประเทศอิตาลี และโปรดให้แจกขนมแก่เด็กที่มารักษาตัวในโรงพยาบาลพระกุมารเยซูที่กรุงโรม และเด็กพิการทุพพลภาพในสถานพยาบาล เด็กเหล่านี้อีก 4 แห่งด้วย
 
หนังสือพิมพ์ปราฟดา ได้ตีพิมพ์ข้อความของโทรเลข ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 ทรงตอบนายครุสเชฟ  ที่ได้แสดงความยินดีในโอกาสที่พระองค์ทรงรับเลือกตั้งว่า “สารของท่านได้สะกิดใจเราให้ระลึกถึงประชากรรัสเซีย ถึงประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ และเกี่ยวกับคริสต์ศาสนาของประชากรนี้ เราวิงวอนขอพระเป็นเจ้า โปรดให้ประชากรรัสเซีย อาศัยความก้าวหน้าและชีวิตสังคมอันมีระเบียบ ได้สามารถให้ความร่วมมืออย่างมากมาย ในการก้าวหน้าอันแท้จริงของมนุษยชาติ และช่วยบันดาลให้เกิดสันติภาพอันเที่ยงธรรมแก่โลกด้วย”
 
การเลือกตั้งพระสันตะปาปา 
การประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา เป็นการประชุมลับสูงสุด มีการกำหนดเขตให้ผู้เข้าประชุมอยู่มิให้ติดต่อกับโลกภายนอก ทางเข้าออกในบริเวณนั้น ถูกตีตราและลั่นกุญแจอย่างแข็งแรง เพราะเหตุนี้การประชุมเช่นนี้ จึงเรียกว่า  Conclave ในภาษาลาติน แปลว่า “ (ปิด) ด้วยกุญแจ”
 
 
วันพุธที่ 19 มิถุนายน เวลา 9.30 น. พระคาร์ดินัลผู้จะเข้าประชุม 80 องค์ เฝ้าฟังมิสซาพระจิต ในพระมหาวิหารนักบุญเปโตร มีพระคาร์ดินัลที่ไม่สามารถมาเข้าประชุม 2 องค์ คือ พระคาร์ดินัลมินเซตี ของฮังการี และพระคาร์ดินัลเดลาตอเร ของเอกวาดอร์ (อเมริกาใต้) 
 
เวลา 17.30 น. บรรดาพระคาร์ดินัลมาประชุมที่โบสถ์ซิกสติน เพื่อขับร้องเพลง Veni Creator ขอความสว่างจากพระจิต ได้เวลาเจ้าพนักงานประกาศ “ Extra omnes” เชิญทุกคนที่ไม่มีสิทธิ์อยู่ให้ออกข้างนอกหมด เหลือแต่พระคาร์ดินัล 80 องค์ และผู้ช่วยเหลือ 190 องค์ คนเท่านั้น เจ้าหน้าที่ตรวจดู ความเรียบร้อยทั่วบริเวณให้แน่ใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการเลือกตั้ง แล้วลั่นกุญแจตีตราทางเข้าบริเวณเลือกตั้งทุกแห่ง
 
 
วันพฤหัสบดีที่ 20 มิถุนายน เวลา 9.00 น. บรรดาพระคาร์ดินัลเฝ้าฟังมิสซาขอความสว่างจากพระจิตในโบสถ์ซิกสติน เวลา 9.30 น. ขับร้องเพลง Veni Creator แล้วเริ่มลงคะแนนเลือกตั้ง ผู้ที่ไม่สามารถเข้าประชุมในโบสถ์ซิกสตินได้หรือไม่สามารถลุกขึ้นจากที่ของตนได้สะดวก จะมีเจ้าหน้าที่มารับบัตรลงคะแนนของตนไปรวมกับของคนอื่น เมื่อมีผู้ใดได้รับคะแนนถึงสองในสามของคะแนนทั้งหมดก็ได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปา แล้วจัดการเผาบัตรลงคะแนนปนกับผงเคมีเพื่อให้ควันที่ออกไปทางปล่องเป็นสีขาว หากยังไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้งควันก็จะเป็นสีดำ
 
ที่ลานนักบุญเปโตร มหาชนโห่ร้องแสดงความยินดี
 เมื่อเห็นควันสีขาว


 
ภายในลานหน้าพระมหาวิหารนักบุญเปโตร ขณะนั้นเต็มไปด้วยผู้คนทุกชาติ ทุกภาษา เดินไปมาขวักไขว่คล้ายกับมีงานออกร้านณที่นั้น รถบัสคันใหญ่ นำนักทัศนาจรชาติต่างๆมาจอดอยู่รอบๆลาน พระสงฆ์ สามเณร และภคินีมีจำนวนนับไม่ถ้วนเดินปะปนอยู่กับฝูงชนนั้น ทุกคนหันหน้าไปทางเดียวกัน คือหันไปด้าน โบสถ์ซิกสตินเพื่อดูควันที่จะออกมาจากปล่องไฟที่โผล่ขึ้นมาจากที่นั้นนักถ่ายรูปสมัครเล่นพร้อมทั้งรูปอัดเสียงสำหรับอัดคำประกาศการ เลือกตั้ง ช่างหนังสือพิมพ์ ภาพหนังสือพิมพ์ นักข่าว วิทยุ โทรทัศน์ ยกทัพกันมาตั้งกล้องเรียงราย หันหน้าสู่โบสถ์ซิกสติน     ดูคล้ายปืนบาซูก้าตั้งจังก้า เรียงเป็นแถว
 
ระหว่างที่รอเวลาอยู่นั้น   บางคนก็ไปเข้าแถวอันเหยียดยาวเพื่อเข้าไปถวายความเคารพพระศพ ของสมเด็จพระสันตะปาปายวงที่ 23 ที่หลุมศพมีพวง  หรีดและดอกไม้สดอยู่เสมอ  ทุกคนอยากคุกเข่าสวดให้นานตามความศรัทธาของตน แต่มีเจ้าหน้าที่เตือนว่า “กรุณาหยุดเพียงครู่เดียวเท่านั้นครับ” ดัง  อยู่ไม่ขาด
 
เรากลับออกมาที่ลานหน้าพระมหาวิหารอีก ที่นั่นมีพวกหนุ่มๆ เที่ยวเร่ขายแสตมป์ Sede Vacante    ซึ่งออกใช้เฉพาะเวลาสมณสมัยว่าง คือระหว่างที่ไม่มีพระสันตะปาปา แต่พวกนี้ขายเอากำไรแพง คือชุดหนึ่ง 3 ดวง ขาย 500 ลีร์ ซึ่งหากเราไปซื้อเอง ณ ที่ทำการไปรษณีย์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆนั้นจะได้ในราคาเพียง 150 ลี ร์ เท่านั้น แต่ต้องเข้าคิวเบียดเสียด รอกันตั้งชั่วโมงสองชั่วโมง
 
ควันดำ เวลา 11.54 น. ของวันพฤหัสบดี เริ่มมีควันออกมาจากปล่องไฟ ช้ากว่ากำหนดตั้งเกือบชั่วโมง ครั้งแรกมหาชนต่างถกเถียงกันบางคนว่าสีดำ บ้างก็ว่าสีขาว แต่ในที่สุดก็ปรากฏเป็นควันสีดำสนิทเป็นอันว่ายังไม่มีผู้ใดได้รับเลือก เวลา 17.30 น. ครั้งนี้ควันก็เป็นสีดำอีก เช่น เดียวกับตอนเช้า
 
ควันขาว เวลา11.22 น. ควันขาวพุงขึ้นจากปล่อง มหาชนต่างโห่ร้องต่อๆกันไปว่า “Bianco, bianco” (แปลว่า ขาว) และควันนั้นเป็นสีขาวสนิท  และพลุงออกมาเป็นเวลาประมาณ 20 นาที เป็นการประกาศอย่างแน่ชัดว่าการเลือกตั้งพระสันตะปาปาสิ้นสุดลงแล้ว ชั้วครู่เดียวข่าวนี้ก็รู้ไปทั่วโลก ชาวกรุงโรมวิ่งกระหืดกระหอบมาจากจุดต่างๆมุ่งหน้าตรงไปยังพระมหาวิหารนักบุญเปโตร
 

เสด็จออกแสดงพระองค์เป็นครั้งแรก
 
ภายในโบสถ์ซิกสติน
เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลงแล้ว ฯพณฯ หัวหน้าพิธีกร และพิธีกรอื่นๆ ก็ช่วยกันลดกลดเหนือศรีษะของพระคาร์ดินัลอื่นลง เหลือไว้เพียงกลดของพระคาร์ดิ นัลที่ได้รับเลือกตั้งเป็นพระสันตะปาปาเท่านั้น ต่อจากนั้นพระคาร์ดินัลติสเวอรังต์ ผู้อาวุโสแห่งคณะพระคาร์ดินัล จึงถามผู้ได้รับเลือก เป็นภาษาลาตินว่า “ท่านยินยอมรับการเลือกตั้งอันถูกต้องคลองธรรมให้ท่านเป็นพระสันตะปาปานี้ไหม?” ผู้ได้รับเลือกตอบใจความว่าแม้ท่านรู้สึกว่าไม่สมควรแก่ตำแหน่งสูงส่งเช่นนี้ แต่ก็แต่ยินดีรับตามน้ำพระทัยของพระเป็นเจ้า “ท่านปรารถนาจะใช้นามอะไร?”ได้รับคำตอบว่า “เปาโล” ต่อจากนั้นพระสันตะปาปาผู้รับเลือกใหม่ก็ไปยังซากริสเตียของโบสถ์ซิกสตินเพื่อสวมเครื่องทรงซึ่งเตรียมไว้ 3 ชุด คือ ชุดใหญ่ กลาง และเล็ก สมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ทรงสวม ชุดใหญ่ เพราะพระองค์สูง 5 ฟุต10 นิ้ว แล้วเสด็จประทับที่นั่ง Sedia Gestatoria ให้บรรดาพระคาร์ดินัลเข้าถวายคารวะ คือ จูบพระหัตถ์ พระธำมรงค์ และพระปราง (แก้ม) ต่อจากนั้นพระคาร์ดินัลผุ้สูงอาวุโส คือ พระคาร์ดินัล ติสเซอรังต์ ถวายพระธำมรงค์ชาวประมงแด่พระสันตะปาปา แล้วสมเด็จพระสันตะปาปาก็เสด็จตามขบวนแห่ออกไปอวยพระพรที่มุขของพระมหาวิหารนักบุญเปโตร
 
 
ข่าวอันน่าชื่นชมยินดีสำหรับทุกคน
เวลา 12.05 น. ประตูบานใหญ่หน้ามุขเด็จเปิดกว้าง เสียงมหาชนโห่ร้องด้วยความยินดี เจ้าหน้าที่มาปล่อยผ้าผืนใหญ่สีขาวขอบแดง  มีตราพระสันตะปาปายวง ที่ 23 อยู่ตรงกลาง แสดงว่าพระสันตะปาปาองค์ใหม่ จะเสด็จออกมา ณ ที่นั้น เวลา 12.12 น. ขบวนแห่นำด้วยกางเขนโผล่ออกมาทางประตูนั้น พระคาร์ดินัลอ็อตตาเวียนี ในฐานะหัวหน้าพระคาร์ดินัล คณะเดียโกโนออกมาประกาศเป็นภาษาลาติน ด้วยเสียงอันแจ่มใสชัดเจนว่า “ข้าพเจ้าขอบอก ข่าวชื่นชมยินดียิ่งแก่ท่านทั้งหลาย เรามีพระสันตะปาปาแล้ว” เสียงมหาชนโห่ร้องกลบเสียงพระคาร์ดินัลหมด แต่ครู่เดียวก็เงียบกริบ เพราะต่างกระหายอยากจะทราบว่าพระสันตะปาปาองค์ใหม่ คือใคร พระคาร์ดินัลประกาศต่อไปว่า คือ พระคาร์ดินัลยวง บัปติสตา” ถึงตอนนี้มหาชนจึงร้องต่อเติมว่า “มอนตีนี” (เพราะไม่มีตัวเก็งคนอื่นแล้วที่ชื่อนักบุญยวงบัปติสตา นอกจากพระคาร์ดินัล มอนตีนี) เสียงประกาศซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า พระคาร์ดินัล ยวงบัปติสตา มอนตีนี ที่เคารพยิ่ง” เสียงโห่ร้องค่อยจางหายวันไปเสียงประกาศต่อไปอีกว่า “พระองค์ทรงเลือกพระนามเปาโลที่ 6” มีเสียงปรบมือและโห่ร้องกันอีก แล้วพระคาร์ดินัลอ๊อตตาเวียนีก็หายกลับเข้าไปข้างใน ระฆังทุกใบของพระมหาวิหารส่งเสียงเหง่งหง่างร่วมยินดีกับคริสตังค์ทั่วโลก
 
ต่อมาอีกครู่หนึ่ง มหาชนเริ่มตื่นเต้น กองทหารระวังตรงทำความเคารพ สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 เสด็จออกแสดงพระองค์เป็นครั้งแรกแก่มหาชนที่มุขเด็จ ทรงอำนวยพระพร Urbiet Orbi (แก่กรุงโรมและโลก) เสียงมหาชนโห่ร้อง อวยชัยให้พรแก่พระสันตะปาปา พระองค์ประทับอยู่ครู่หนึ่ง แล้วจึงเสด็จกลับ ประตูใหญ่ที่หน้ามุขเด็จปิดสนิทแล้ว ฝูงชนต่างบ่ายหน้าที่อยู่ของตน ทุกคนมีใบหน้าร่าเริง 
 
พระบุคลิกลักษณะของสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6
ทรงชำนาญภาษา
มอนสิญอร์ บีโซนี อดีตผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ ลิตาลีอา แถลงว่า เมื่อครั้งมอนสิญอร์ มอนตีนี ยังเป็นจิตตาธิการของนักศึกษาคาทอลิกอยู่ ท่านชอบเดินทางไปตามประเทศต่างๆกับนักศึกษาเหล่านี้ “ท่านรู้จักภาษาเยอรมัน, อังกฤษ และฝรั่งเศสเป็นอย่างดี” ในวันสมณาภิเษก สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ได้ทรงปราศรัยถึง 9 ภาษา
 
ทรงเมตตา
อันตน โปแมลลี คนขับรถและคนใช้ประจำพระคาร์ดินัล มอนตีนี เล่าว่า “คำสั่งสุดท้ายขิงพระคาร์ดินัล  คือ ให้ผมเที่ยวสืบถามราคาของลา มีชายชราชาวเขาคนหนึ่งเขียนจดหมายมาขอความช่วยเหลือ เพราะลาของตนหายไป เมื่อทราบราคาของลาแล้ว พระคาร์ดินัลก็เซ็นเช็คให้ทันที”
 
วันอาทิตย์ที่ 16 มิถุนายน อันตน” ปแมลลี ตามไปส่งพระคาร์ดินัลถึงสนามบินมิลาน เพื่อไปประชุมเลือกตั้งพระสันตะปาปา “ขอให้ พณฯ เดินทางไปและกลับโดยปลอดภัย” พระคาร์ดินัลจับมือคนใช้แล้วพูดว่า “ฉันจะกลับมาอีก, จะกลับมาอีก”
 
พระทัยดีเลิศ
พระคาร์ดินัลใจดียอดเยี่ยม ท่านยินดีต้อนรับทุกคนที่อย่าเข้าหา และตอบจดหมายแม้กระทั่งของเด็กๆ 
 
“ผมรู้จักนิสัยของพระคาร์ดินัลดี เพราะผมเป็นคนเซิฟโต๊ะของท่าน ท่านรับประทานน้อย ซุปหรือข้าวจานหนึ่ง, เนื้อชิ้นหนึ่ง, เหล้าองุ่นถ้วยครึ่ง ภคินีที่ ทำครัวทำขนมเฉพาะเวลาที่พระคาร์ดินัลมีแขกเท่านั้น ท่านนอนน้อยที่สุดเพียงคืนละสี่ชั่วโมง ในห้องนอนมีโต๊ะเล็กๆตัวหนึ่ง เวลาเช้าเมื่อผมไปจัดห้อง ผมต้องพบจดหมาย ที่พระคาร์ดินัลเขียนเวลากลางคืน 7 หรือ 8 ฉบับเสมอ”
 
ฉันนอนไม่หลับ
สำหรับผู้ที่ไม่ค่อยรู้จักพระคาร์ดินัล รู้สึกว่าท่านเป็นคนเย็นชา เคร่งครัด ไม่เห็นใจผู้อื่น แต่ วันหนึ่งมารดาของคุณพ่อมักกี เลขานุการของพระคาร์ดินัล ป่วย คืนวันหนึ่ง คุณพ่อมักกี ไปเยี่ยมมารดาแล้วกลับมาดึกเลยเที่ยงคืนไปแล้ว ท่านพบพระคาร์ดินัลกำลังนั่งรออยู่ ท่านกล่าวว่า “ฉันนอนไม่หลับ เพราะเป็นห่วงมารดาของคุณพ่อ” 
 
ผมได้เห็นพระคาร์ดินัลคุกเข่าต่อหน้าคนจนและคนเจ็บ ท่านเองได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “พระเยซูเจ้าเวลาเสด็จมาในโลกนี้ ได้ทรงแสดงความรักต่อบุคคลบางชนิดเป็นพิเศษ เช่น คนยากจน, คนเจ็บ, คนที่ถูกเบียดเบียน”
 
อัครสังฆราชของกรรมกร
สมณะผู้ทรงศักดิ์ผู้หนึ่งเล่าว่า ทุกๆวันศุกร์ในมหาพรต พระคาร์ดินัลจะสวมเสื้อสีดำแบบพระสงฆ์ธรรมดา ออกเดินไปตามชานเมืองรอบๆกรุงมิลาน เพื่อเยี่ยมผู้ที่ไม่มีบ้านอยู่หรือผู้ที่อพยพมาจากทางใต้ของอิตาลี พระคาร์ดินัลเข้าไปถึงกระท่อมซอมซ่อของคนเหล่านี้ หรือบางทีก็เข้าไปเยี่ยม ณ ที่ซึ่งเขากำลังทำงานอยู่
 
ปราศรัยกับกลุ่มกรรมกร
 
 
เมื่อคราวสัตบุรุษเข้าเงียบครั้งใหญ่ที่มิลาน ใน ปี ค.ศ. 1957 พระคาร์ดินัลเองได้เทศน์ในโรงงานถึง 170 แห่ง และเป็นพวกกรรมกรเองที่เชิญท่านไปเทศน์ พระคาร์ดินัลเป็นห่วงวิญญาณของคน 3 ล้านคน ซึ่งเจริญชีวิตอยู่อย่างแสนเข็ญ และกำลังรอพระธรรมของพระเป็นเจ้า.... บุคคลเหล่านี้รู้จักแต่งานและความเหน็ดเหนื่อยและมีความหวังน้อยที่สุด เพราะเหตุนี้เอง พระคาร์ดินัลจึงมีโครงการสร้างวัดใหม่ให้มาก จนถึงกับขายที่ดินอันเป็นสมบัติของอัครสังฆมณฑล ครั้งหนึ่งมีผู้แนะนำท่านให้รอเวลาขายที่ดิน จะได้ราคาเพิ่มขึ้น ท่านตอบว่า “ฉันปลูกวิญญาณ ไม่ใช่ปลูกข้าว”
 
ผู้ที่ไม่รู้จักพระองค์
พระสงฆ์ชราองค์หนึ่งกล่าวว่า “ผู้ที่ไม่รู้จักพระคาร์ดินัล มอนตีนี ไม่อาจทราบได้ว่า ท่านมีความเคารพต่อเพื่อนมนุษย์สักเพียงไร และท่านเกรงอยู่เสมอ ว่า จะไม่ปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างมีมารยาทดี เพียงพอ”
 
ในพิธีทางศาสนา ครั้งหนึ่ง เด็กช่วยมิสซาคนหนึ่งถือถุงขอบริจาคทานมาหยุดต่อหน้าท่าน พระคาร์ดินัลขณะนั้นไม่มีเงินติดตัวเลย จึงถอดแหวนใส่ไปในถุงนั้น ต่อมา มีผู้ติว่า ท่านใจดีเกินไป พระคาร์ดินัลตอบว่า “เราต้องรู้จักตัดใจ ขาด (จากข้าวของโลกนี้)”
 
ที่คอนเซซีโอ ตำบลที่สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 สมภพ ขณะนั้นมีผู้ตกแต่งห้องที่หนูน้อยยวงบัปติสตา มอนตีนี เกิด เสียอย่างงดงาม พร้อมทั้งที่ ล้างบาปที่ทำให้หนูน้อยเกิดเป็นลูกของพระเป็นเจ้าด้วย ยวงบัปติสตา มอนตีนี ได้รับศีลลางบาป วันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1897 ตรงกับวันที่นักบุญเทเรซา แห่งพระกุมารเยซู ถึงแก่กรรมพอดี
 
15 ปี แห่งสมณสมัย
ในระหว่าง 15 ปีแห่งสมณสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโลที่ 6 ทานได้ตัดสินใจขายมงกุฎประจำตำแหน่งให้กับชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่ง ในราคา 1 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 33 ล้านบาท และมอบเงินจำนวนนี้ ให้กับคุณแม่เทเรซาแห่งกัลกัตตา ซึ่งปัจจุบันมงกุฎนี้ อยู่ในสักการสถานแม่พระฏิสนธินิรมล ในกรุงวอซิงตันดีซี
 
เหตุการณ์สำคัญในสมณสมัยของท่านคือ ระหว่างการประชุมสภาสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1962-1965) และยุคหลังสภาสังคายนา พระองค์ทรงเสนอข้อกำหนดและแนวทางสู่การเปลี่ยนแปลงพระศาสนจักรคาทอลิก จึงเผชิญปัญหาและความไม่มั่นคงของพระศาสนจักรกับบทบาทใหม่ในโลกสมัยปัจจุบัน
 
พระองค์ทางดำเนินการประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ต่อจากสมเด็จพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 จนสำเร็จ ในวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1965 พระองค์ทรงรับภารกิจนำการตัดสินใจของสภาสังคายนาไปสู่การปฏิบัติในชีวิตของพระศาสนจักรต้องเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและการปฏิบัติ ทั้งในสภาพสังคม จิตวิทยา และการเมือง
 
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1968 ท่านได้ออกสมณสาส์น ชีวิตมนุษย์ (Humanae Vitae- of Human Life) ห้ามการคุมกำเนิดแบบวิทยาศาสตร์
 
เดือนมิถุนายน ค.ศ. 1967 ยืนยันเรื่องการถือโสดในชีวิตพระสงฆ์
 
ทรงเน้นการศึกษาและการแก้ไขปัญหาสังคม โดยให้ความสนใจผู้ใช้แรงงานและคนจน
 
วันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 1965 ทรงริเริ่มการประชุมสมัชชาพระสังฆราชเพื่อเสนอความเห็นต่อสมเด็จพระสันตะปาปา โดยมีวาระการประชุมทุกๆ 3 ปี
 
พระสันตะปาปาผู้จาริกแสวงบุญ
พระองค์ทรงเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่เสด็จไปสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆ รวม 20 ประเทศ คือ จอร์แดน อิสราแอล เลบานอน อินเดีย ฟาติมา โปรตุเกส ตุรกี โคลอมเบีย เบอร์มิวดา สวิส ยูกันดา อิหร่าน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อเมริกันซามัว ซามัวตะวันตก ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง และซีลอน-ศรีลังกา
 
พระสันตะปาปาแห่งศาสนสัมพันธ์
ในปี ค.ศ. 1964 พระองค์ทรงเข้าพบกับท่านอาเธนากอรัส ประมุขของศาสนจักรออร์โธดอกซ์ ซึ่งขาดความสัมพันธ์กันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1050
 
ทรงเริ่มมีความสัมพันธ์กับพี่น้องแองกลีกัน ตั้งสำนักงานส่งเสริมเอกภาพคริสตชน ร่วมงานกับพี่น้องโปรเตสแตนท์ จัดสัปดาห์ภาวนาเพื่อเอกภาพ และแปลพระคัมภีร์ร่วมกัน 
 
  
ฉลอง 15 ปี แห่งสมณาภิเษก ของสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโลที่ 6 ที่วัดเซนต์หลุยส์ ถนนสาธรใต้ กรุงเทพฯ โดยพระอัครสังฆราชมีชัย กิจบุญชู เป็น ประธานในพิธีสหบูชามิสซา พร้อมด้วยเลขาสถานสมณทูตวาติกัน และบรรดาพระสังฆราช 10 องค์ พระสงฆ์จากทุกสังฆมณฑลประมาณ 60 องค์ และนักบวชคณะต่างๆจำนวนมาก
 
พระบรมศพเต็มยศในตำแหน่งพระสันตะปาปา 
 พระมาลาทรงสูง-เสื้อคลุม-ถุงพระหัตถ์ และรองพระบาท
 
ประชาชนกว่าหนึ่งแสนคน ชุมนุมกันที่ลานหน้า
 มหาวิหารนักบุญเปโตร เพื่อไว้อาลัยและอำลา พระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์
 

พระบรมศพของสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 
หน้าพระแท่นใหญ่ และพลับพลาแบร์นีนี่ 
ในมหาวิหารนักบุญเปโตร
 
 
สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 ได้เสด็จสวรรคตที่พระราชวังพักร้อน คัสเตล กอนดอลโฟ ประเทศอิตาลี เมื่อค่ำวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1978 เวลาประมาณ 21.00 น. (ตรงกับเวลาประมาณ 2 น. ของวันจันทร์ที่ 7 ประเทศไทย) พระชนม์ 80 พรรษา 10 เดือน 10 วัน ทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขของพระศาสนจักรคาทอลิกเป็นเวลา 15 ปี 
 
 

นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ ไปร่วมใน 
พิธีบูชามิสซาไว้อาลัยถวายพระกุศลแด่พระวิญญาณของ
สมเด็จพระสันตะปาปา เปาโลที่ 6 ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก
 
วันพุธที่ 16 สิงหาคม ค.ศ. 1978 เวลา 17.30 น.ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ ได้มีการประกอบพิธีถวายสหบูชามิสซาเป็นทางการ เพื่ออุทิศส่วนกุศล แด่พระวิญญาณของสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโลที่ 6 ซึ่งสวรรคตเมื่อคำ่วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม ณ พระราชวังพักร้อนคัสเตล กอนดอนโฟ ประเทศอิตาลี 
 
 ในพิธีครั้งนี้ ได้มีผู้แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี ผู้แทนรัฐบาลและส่วนราชการ คณะทูตานุทูตประเทศ ต่างๆ และผู้แทนองค์การระหว่างชาติ ผู้นำและผู้แทนองค์การศาสนาต่างๆตลอดจนคณะพระสงฆ์ นักบวชชายหญิง และประชาสัตบุรุษไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก จนล้นออกมาเต็มลานหน้าอาสนวิหาร รวมทั้งสิ้นประมาณสี่พันคน 
 
อัศจรรย์ที่ได้รับการรับรอง
อัศจรรย์ซึ่งทำให้ท่านได้รับการสถาปนาเป็นบุญราศี เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1990 ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นเรื่องราวของสตรีมีครรภ์คนหนึ่ง ซึ่งแพทย์ให้ความเห็นว่าทารกในครรภ์มีสุขภาพไม่ดี เก็บไว้จะมีอันตราย แพทย์จึงขอให้เอาทารกออก แต่เธอได้ให้ซิสเตอร์ชาวอิตาเลียนคนหนึ่ง จากครอบครัวของเพื่อน ช่วยสวดภาวนาให้เธอ ซิสเตอร์ได้เอารูปและพระธาตุของสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 มาวางไว้ที่ท้องของสตรีคนนั้น เมื่อครบกำหนด ทารกก็ได้คลอดออกมา มีสุขภาพและร่างกายที่สมบูรณ์ แต่คณะแพทย์ยังติดตามผลอย่างต่อเนื่อง จนเด็กมีอายุ 12 ปี และได้สรุปว่า เด็กมีสุขภาพดีทุกอย่าง จนในที่สุด วันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2014 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส จึงได้ลงนามกฤษฎีการับรองอัศจรรย์นี้ และถือว่ามาจากการเสนอวิงวอน ของสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6
 

วันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 2014 สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงเป็นประธานในพิธีบูชาขอบพระคุณ โอกาสปิดการประชุมสมัชชาพระสังฆราชคาทอลิก ในเรื่องครอบครัว และยังเป็นมิสซาสถาปนาสมเด็จพระสันตะปาปา เปาโล ที่ 6 เป็นบุญราศี พิธีนี้ จัด ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร วาติกัน ท่ามกลางสัตบุรุษที่มาร่วมกว่า 90,000 คน นอกจากนี้ ความพิเศษของพิธีนี้ สมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณ เบเนดิกต์ ที่ 16 ก็เสด็จมาร่วมด้วย

ละในระหว่างสมัชชาพระสังฆราช ปี ค.ศ. 2018 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส ได้ประกาศสถาปนาบุญราศีสมเด็จพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 เป็นนักบุญ โดยมีพิธีสถาปนาในวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 2018 ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงวาติกัน เวลา 10.00 น. (ตรงกับเวลาประเทศไทยคือ 15.00 น.)

                                                                                                                 ข้อมูลจากหนังสือสารสาสน์ ปี ค.ศ. 1963 
                                                                                                                   และหนังสืออุดมสารรายสัปดาห์ ปี ค.ศ. 1978