คาโรล เกิดเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1920 ที่วาโดวิเช เมืองเล็กๆ ห่างจากคาร์คูฟประมาณ 50 กิโลเมตร เป็นบุตรชายคนที่สองในจำนวนพี่น้องสองคน ของนายคาโรล วอยติวาและนางเอมิเลีย แคกโซรอฟสกา นางเอมิเลียนถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1929 เอ็ดมูนด์ พี่ชายเพียงคนเดียวซึ่งเป็นหมอถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1932 และบิดาซึ่งเป็นทหารถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1941 คาโรลจึงกำพร้าบิดามารดาตั้งแต่อายุยังไม่ครบ 21 ปี
คาโรลรับศีลมหาสนิทครั้งแรกขณะอายุได้ 9 ปี และรับศีลกำลังอายุ 18 ปี เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนมาร์แซง วาโดวิตา (Marcin Wabowita) ก็ได้สมัครเรียนระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัย จาเยโลเนียน (Jagiellonian University) ใน ค.ศ. 1938 โดยเลือกเรียนคณะวิชาการละคร
ปี ค.ศ. 1939 ทหารนาซีเยอรมันครอบครองโปแลนด์ มหาวิทยาลัยถูกปิด คาโรลจึงไปทำงานในเหมืองถ่านหิน(ค.ศ. 1940-44) และต่อมาย้ายงานไปทำในโรงงานเคมีภัณฑ์ซอลเวย์ (Solvay Chemical Factory) เพื่อหาเลี้ยงชีพและเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกควบคุมตัวส่งไปยังเยอรมนี
ปี ค.ศ. 1942 คาโรลรู้สึกถึงการได้รับเรียกให้เป็นพระสงฆ์ จึงสมัครเรียนกับพระคาร์ดินัล อดัม สเตฟาน ซาปีเอฮา พระอัครสังฆราชแห่งคาร์คูฟ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ คาโรลได้เรียนวิชาเทววิทยา ที่มหาวิทยาลัยจาเยโลเนียน จนกระทั่งบวชเป็นพระสงฆ์ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 1946 ที่เมืองคาร์คูฟ
จากนั้นไม่นาน พระคาร์ดินัลปีเอฮา ได้ส่งคุณพ่อคาโรล ไปศึกษาต่อที่กรุงโรมให้อยู่ในความดูแลของคุณพ่อการ์ริกูว-ลากรังเช (Garrigou-Lagrange) คณะโดมินิกัน จนสำเร็จปริญญาเอกทางเทววิทยา ใน ค.ศ. 1948 ระหว่างปิดภาคเรียนได้มีโอกาสอภิบาลผู้อพยพชาวโปลิช ที่อาศัยในฝรั่งเศส เบลเยี่ยม และฮอลแลนด์
ปี ค.ศ. 1948 คุณพ่อคาโรล วอยติวา เดินทางกลับโปแลนด์ ได้อภิบาลงานที่วัดหลายแห่งในคาร์คูฟ และเป็นจิตตาภิบาลนักศึกษาในมหาวิทยาลัย จน ค.ศ. 1951 จึงเรียนต่อวิชาปรัชญาและเทววิทยาที่มหาวิทยา ลัยลูบลิน (Lublin University)
วันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1958 สมเด็จพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 ทรงแต่งตั้งคุณพ่อคาโรล โจเซฟ วอยติวา ให้เป็นพระสังฆราชผู้ช่วยแห่งคาร์คูฟ โดย พระอัครสังฆราชบาซิแอค (Archbishop Baziak) ประกอบพิธีอภิเษก ณ อาสนวิหารวาเวล (Wawel Cathedral) เมืองคาร์คูฟ ในวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1958
วันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1964 สมเด็จพระสันตะปาปาเปาโล ที่ 6 ทรงแต่งตั้งพระสังฆราชผู้ช่วย วอยติวา ให้ดำรงตำแหน่งพระอัครสังฆราชแห่งคาร์คูฟ พระองค์ยังทรงสถาปนาท่านเป็นพระคาร์ดินัล ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1967
ตั้งแต่เริ่มสมัยปกครองในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1978 จนปัจจุบัน สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ทางเดินทางเพื่ออภิบาลงานนอกประเทศอิตาลี 104 ครั้ง เดินทางภายในอิตาลี 146 ครั้ง และในฐานะพระสังฆราชแห่งโรม พระองค์เสด็จไปยังวัดต่างๆ 317 แห่ง จากจำนวนทั้งสิ้น 333 แห่ง
งานด้านการเขียน สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงออก Encyclical 14 ฉบับ, Apostolic Exhortation 15 ฉบับ Apostolic constitutions 11 ฉบับ และ Apostolic letter 44 ฉบับ
พระองค์ยังทรงประพันธ์ หนังสือ 5 เล่ม ดังนี้
- Crossing The Threshold of Hope ตีพิมพ์ เดือนตุลาคม ค.ศ. 1994
- Gift and Mystery ตีพิมพ์เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1996 โอกาสครบ 50 ปี ชีวิตสงฆ์
- Roman Triptych – Meditations บทร้อยกรอง – ตีพิมพ์เดือนมีนาคม ค.ศ. 2003
- Rise, Let Us Be On Our Way ตีพิมพ์เดือนมีนาคม ค.ศ. 2004
- Memory and Identity จะตีพิมพ์ในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ. 2005
- Easter Vigil and other Poems “อ้อมกอดนวกาล” แปล : นิลพันชั่ง, อุชเชนี : บรรณาธิการ
ทรงสถาปนาบุญราศี 1,338 องค์ (147 ครั้ง) ทรงประกาศแต่งตั้งนักบุญ 482 องค์ (51 ครั้ง) ทรงเรียกประชุมคณะพระสังฆราชเพื่อแต่งตั้งพระคาร์ดินัล (ประชุมคอนซิสตอรี่) 9 ครั้ง และสถาปนาพระคาร์ดินัล 231 องค์ กับอีก 1 องค์ ที่ทรงสงวนชื่อเป็นความลับ
ไม่มีพระสันตะปาปาพระองค์ใดจะมีผู้แสวงบุญมาเฝ้ามากเท่าสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งมีผู้แสวงบุญมาเฝ้า ณ ลานพระมหาวิหารนักบุญเปโตร ทุกวันพุธ (กว่า 1,160 ครั้ง) จำนวนมากกว่า 17,600,000 คน เฉพาะในปี “ปิติมหาการุญ” ค.ศ. 2000 ปีเดียวมีผู้แสวงบุญมาเฝ้ามากถึง 8 ล้านคน และประชาชนหลายล้านคนมาเฝ้าพระองค์ระหว่างการเสด็จเยือนสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศอิตาลี นอกนั้นยังมีผู้นำรัฐบาลจาก 38 ประเทศ ที่มาเยือนเป็นทางการ และมีผู้นำประเทศมาเฝ้าพระองค์มากถึง 737 ครั้ง และประธานาธิบดีประเทศต่างๆ เฝ้า 245 คน อย่างไม่เป็นทางการ
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1983 สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงเรียกประชุมคอนซิสตอรี เพื่อสถาปนาพระคาร์ดินัลใหม่ 18 องค์ (ในจำนวนนี้ได้แก่ พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ประเทศไทย)
เสด็จเยือนประเทศไทย
10 พฤษภาคม ค.ศ. 1984
14.00 น. (โดยประมาณ) เครื่องบินพระที่นั่งของสมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 และคณะผู้ติดตาม ลงจอด ณ ท่าอากาศยานทหาร กองบัญชาการกองทัพอากาศ ดอนเมือง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้แทนพระองค์ในการต้อนรับสมเด็จพระสันตะปาปาที่ท่าอากาศยาน
15.00 น.สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง
หลังจากนั้นเสด็จเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
16.45 น. เสด็จไปยังสนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อทรงเป็นประธานในพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณสำหรับคริสตศาส
นิกชนไทย
11 พฤษภาคม ค.ศ. 1984
07.30 น. (โดยประมาณ) เสด็จไปยังศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยชาวอินโดจีน ที่ อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี
11.30 น. เสด็จถึงอาสนวิหารอัสสัมชัญ บางรัก บรรดาพระสงฆ์ นักบวช และฆราวาสชาย-หญิงคาทอลิกเข้าเฝ้า
14.30 น. เสด็จไปประกอบพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณ และทรงเป็นประธานในพิธีบวชพระสงฆ์ใหม่จำนวน 23 องค์ พร้อมกับทรงปิดปีศักดิ์สิทธิ์สำหรับประเทศไทย ณ สามเณราลัยนักบุญยอแซฟ อ.สามพราน จ.นครปฐม
19.00 น. สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 เสด็จไปในงานสโมสรสันนิบาตที่รัฐบาลจัดถวายพระเกียรติ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
20.30 น. เสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ถนนสาทรใต้ เพื่อประสาทพรผู้ป่วยและเสวยพระกระยาหารค่ำ
23.00 น. เสด็จจากสถานเอกอัครสมณทูตวาติกัน สู่สนามบินดอนเมือง
23.59 น. เครื่องบินพระที่นั่งออกจากสนามบินดอนเมืองสู่กรุงโรม
สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 ทรงสิ้นพระชนม์อย่างสงบด้วยพระชนมายุ 84 ชันษา ในพระราชวังวาติกัน เมื่อเวลา 21.37 น. วันเสาร์ที่ 2 เมษายน ค.ศ. 2005 ตามเวลาที่กรุงโรม หลังจากที่ได้ทรงปกครองพระศาสนจักรมายาวนาน 26 ปี 5 เดือน 15 วัน ยาวนานเป็นอันดับ 3 พระองค์ทรงเป็นพระสันตะปาปาที่มีพระชนมายุน้อยที่สุดในรอบ 132 ปี พระสมณสมัยของพระองค์เริ่มต้นเมื่อทรงตอบรับตำแหน่ง บ่ายวันที่ 21 ตุลาคม 1978 (58 ชันษา) และทรงสืบต่อตำแหน่งพระสันตะปาปาในลำดับที่ 264
สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรังซิส ทรงเป็นประธานในมิสซาสถาปนานักบุญยอห์น ที่ 23 และ นักบุญ ยอห์น ปอล ที่ 2 ณ ลานหน้ามหาวิหารนักบุญเปโตร วาติกัน วันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 2014