องค์ที่ 235 สมเด็จพระสันตะปาปาอูรบัน ที่ 8 (Pope Urban VIII ค.ศ. 1623-1644) (2)

สมเด็จพระสันตะปาปาอูรบัน ที่ 8
(Pope Urban VII ค.ศ. 1623-1644)

พระองค์มีพระนามเดิมว่า มาเฟโอ บาร์แบรินิ เกิดที่เมืองฟลอเรนซ์ จากตระกูลบาร์แบรินิ ได้รับการศึกษาที่ฟลอเรนซ์ จากนั้นก็ไปศึกษาที่โรมและปิซา ได้รับปริญญาเอกทางกฎหมายในปี ค.ศ. 1589 เข้ารับตำแหน่งสำคัญในสันตะสำนักหลายตำแหน่ง เช่น เป็นทูตประจำฝรั่งเศส และเป็นพระสังฆราชแห่งสโปเลโต พระสันตะปาปาเปาโล ที่ 5 ได้แต่งตั้งท่านให้เป็นพระคาร์ดินัลในปี ค.ศ. 1606 ได้รับการเลือกให้เป็นผู้สืบตำแหน่งต่อจากพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 15 ในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1623 โดยใช้พระนามว่า พระสันตะปาปาอูรบัน ที่ 8 พระองค์ได้ชื่อว่าเป็นพระสันตะปาปาที่อยู่ในช่วงสมัยคลาสสิกบารอค พระองค์ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ์ของพระสันตะปาปาและพยายามเร่งให้มีการปฏิรูปพระศาสนจักร แต่ข้อเสียของพระองค์คือ ทรงสนใจพรรคพวกและญาติพี่น้องมากเกินไป (Nepotism) ทำให้บรรดาญาติพี่น้องของพระองค์ร่ำรวยไปตามๆ กัน ในวันที่ได้รับเลือกนั้นพระองค์ได้แต่งตั้งนักบุญที่สำคัญๆ คือ นักบุญเอลิซาเบธ แห่งโปรตุเกส นักบุญฟรันซิส บอร์เจีย และนักบุญยอห์นแห่งพระเจ้า (John of God) พระองค์เป็นผู้ส่งเสริมให้ธรรมทูตไปต่างแดน
 
ในสมัยของพระองค์นั้นมีเหตุการณ์สำคัญสองประการที่น่าจดจำคือ การไต่สวนกรณีของกาลิเลโอ และสงคราม 30 ปี กาลิเลโอถูกไต่สวนและถูกประณามเป็นครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1633 โดยพระสันตะปาปาอูรบันเอง ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วพระองค์ก็ไม่แน่ใจว่าที่ทำไปนั้นถูกต้องหรือไม่ เพราะพระองค์กับกาลิเลโอเคยเป็นเพื่อนกันมาก่อนนั่นเอง ดังนั้น พระองค์จึงสั่งไม่ให้เฆี่ยนหรือทรมานกาลิเลโออย่างที่เคยทำมา และให้ควบคุมตัวไว้ในที่สบายๆ ไม่ใช่คุก การไต่สวนนี้ต่อมาได้กลายเป็นรอยบาดแผลต่อภาพพจน์ของพระศาสนจักรอีกหลายร้อยปี จนมาถึงสมัยพระสันตะปาปายอห์น ปอล ที่ 2 จึงได้มีการประกาศรับผิดอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1992 นอกนั้นสงคราม 30 ปี ในยุโรป ก่อให้เกิดความแตกร้าวในพระศาสนจักรเช่นกัน พระสันตะปาปาอูรบันเข้าข้างฝรั่งเศสที่นำโดยคาร์ดินัลริเชอร์ลิเออร์ มากกว่ากลุ่มอำนาจอื่นในยุโรป เป็นต้นเยอรมัน โดยหวังเพียงว่าอำนาจจะกลับคืนมาสู่อิตาลีอีกครั้ง ขณะเดียวกันพระองค์ได้ทรงสร้างความมั่นคงทางการทหารแก่สถาบันพระสันตะปาปา โดยสร้างป้อมปราการกัสแตล ซัง อันเยโล (Castel Sant Angelo) ในกรุงโรม (ค.ศ.1624-41) สร้างป้อมปราการอูรบาโนที่กัสแตล ฟรันโก สร้างท่าเรือทางการทหาร และขยายคลังสรรพาวุธที่ติโวลี แต่ดูเหมือนนโยบายการเมืองเช่นนี้  ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไรกับพระศาสนจักรมากนัก
 
ในอิตาลีเองพระสันตะปาปาอูรบันสนับสนุนงานศิลปะ และชุบเลี้ยงบรรดาศิลปินทั้งหลายพระองค์เป็นศิลปินและนักการศึกษาคนหนึ่งเหมือนกัน ศิลปินที่พระองค์ชื่นชอบมากที่สุดคือ สถาปนิกที่ชื่อจีอัน โลเรนโซ แบร์นินิ
 
ในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1626 พระสันตะปาปาอูรบันได้เฉลิมฉลองพิธีเปิดพระมหาวิหารนักบุญเปโตรหลังใหม่ที่ก่อสร้างเสร็จและได้ตกแต่งวิหารด้วยทองแดงที่ส่วนหนึ่งเอามาจากวิหารเทพเทพีปันเธออน และทำให้มีการขโมยทองแดงจากวิหารนั้นมากขึ้น เพื่อเอามาทำเป็นลูกปืนใหญ่
 
เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ประชาชนชาวโรมไม่พอใจพระสันตะปาปาอูรบันมากขึ้น ถามว่าทำไมต้องการปืนใหญ่ คำตอบก็คือ เพราะหลานของพระสันตะปาปาอูรบันเป็นผู้นำทัพของโรมเข้าสงครามกับดยุคแห่งปามาร์ ระหว่างปี ค.ศ. 1642-44 เลยทำให้ท้องพระคลังของวาติกันร่อยหรอ ค.ศ. 1643 ทรงประณามข้อคำสอนของแจนเซนนิซึม (Jansenism) ลัทธิสอนศาสนาในฝรั่งเศส ชาวโรมเกลียดพระองค์มากขึ้นไปอีกคือ  การเห็นแก่ประโยชน์ของญาติพี่น้องมากเกินไป พระองค์ได้แต่งตั้งหลานชายสองคนเป็นพระคาร์ดินัล เพื่อนๆ และญาติคนอื่นๆ ก็ได้ ตำแหน่งสูงในสันตะสำนักมากมาย
 
พระสันตะปาปาอูรบันสิ้นพระชนม์ในวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1644 โลงศพที่ประดับประดาด้วยศิลปะงดงามของพระองค์ ฝังไว้ ณ พระมหาวิหารนักบุญเปโตร